BANGKOK DESIGN WEEK 2024, 27 JAN–4 FEB

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : เจริญกรุง - ตลาดน้อย

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : เจริญกรุง – ตลาดน้อยเปิดเวทีแห่งความเป็นไปได้ ในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบแห่งแรกของประเทศย่านสร้างสรรค์ย่านแรกที่เราจะมาแนะนำให้รู้จักนั้นเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 1 สถานทูตแห่งแรก โรงแรมแห่งแรก ธนาคารแห่งแรก ไปจนถึงเป็นถนนสายแรกของประเทศไทย และที่นี่คือ ‘ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย’ถึงแม้ว่าที่นี่จะเป็นจุดกำเนิดของประวัติศาสตร์ที่มีอายุยาวนานกว่า 120 ปี แต่ถนนที่เคยถูกขนานนามว่าเป็น ‘ถนนสายแรก’ เส้นนี้ ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นเส้นทางสัญจรทางความคิดซึ่งลำเลียงไอเดียใหม่ๆ ของเหล่านักสร้างสรรค์ไปสู่อนาคตอยู่เสมอ จากวันแรกที่ ‘เจริญกรุง’ เริ่มแนะนำตัวเองในฐานะห้องทดลองเฉพาะกิจ ที่นักออกแบบนักสร้างสรรค์จะได้ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางนำเสนอผลงานผ่านเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week) ซึ่งนำไปสู่การเริ่มต้นของกิจการสร้างสรรค์ ความร่วมมือ โอกาสในการต่อยอด รวมไปถึงทิวทัศน์และวิธีการแก้ปัญหาเมืองใหม่ๆ ในหลากหลายรูปแบบ วันนี้ย่านเจริญกรุงยังคงก้าวเดินในฐานะย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งแรกของประเทศไทยสู่สเต็ปถัดไปก้าวต่อไปของเจริญกรุงจะเป็นอย่างไร วันนี้ตัวแทนจากสำนักพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ แห่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จะพาเราย้อนรอยกลับไปสู่วันแรกของการทำงานขับเคลื่อนย่านสร้างสรรค์ต้นแบบ ณ ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย รวมถึงการขยายผลสู่ย่านต่างๆ ทั่วประเทศไทยตลอด 6 ปีที่ผ่านมา พร้อมเล่าถึงความตั้งใจ วิธีการทำงาน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย ในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ย่านประวัติศาสตร์ที่รุ่มรวยด้วยวัตถุดิบชั้นดีสำหรับนักสร้างสรรค์ถนนสายแรกของประเทศอย่าง ‘เจริญกรุง’ เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งค้าขายที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่ในอดีต นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรม ซึ่งผู้คนหลากหลายสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็น จีน ฝรั่ง อินเดีย ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่เดินทางเข้ามาติดต่อซื้อขายกับประเทศไทย ได้มาตั้งรกรากและอาศัยอยู่ร่วมกัน ก่อร่างสร้างตัวผ่านกาลเวลากลายมาเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไม่เหมือนย่านไหนๆการมาถึงของ TCDC ไปรษณีย์กลาง พร้อมภารกิจใหม่ในการขยายขอบเขตตัวเองให้กลายเป็น ‘สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ หรือ Creative Economy Agency (CEA) ในปี 2018 รวมถึงการเริ่มต้นขึ้นของสนามทดลองของเหล่านักสร้างสรรค์ อย่าง Bangkok Design Week จึงเป็นเสมือนการลงมือขุดสมบัติครั้งแรก ที่สร้างคุณค่าใหม่ให้เจริญกรุงจาก ‘ย่านประวัติศาสตร์’ ให้กลายมาเป็น ‘แหล่งวัตถุดิบ’ ชั้นดี สร้างแรงบันดาลใจและรวมส่วนผสมสำหรับการต่อยอดให้กับนักออกแบบได้อย่างหลากหลายTCDC ไปรษณีย์กลาง ตัวกลางส่งต่องานออกแบบสู่ย่านและผู้คนถึงแม้ว่า ‘ไปรษณีย์กลาง’ ในวันนี้จะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการส่งต่อจดหมายไปยังที่ต่างๆ อีกต่อไป แต่เมื่อมี CEA เป็นผู้อยู่อาศัยหน้าใหม่ สิ่งที่ถูกส่งออกไปจากอาคารเก่าแก่หลังนี้กลายเป็นบรรยากาศที่สดใหม่ ไอเดียสร้างสรรค์ และความเป็นไปได้ไม่รู้จบซึ่งถูกจุดขึ้นในสายตาของทั้งคนนอกและคนในชุมชน“ช่วง 3 ปีแรกที่ย้ายมาเป็นปีที่สนุกมาก ทุกอย่างสดใหม่สำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาอยู่มารู้จัก มีอะไรที่น่าตื่นเต้นเยอะมาก ตอนนั้นเราเองก็ไม่เคยตั้งข้อสังเกตว่าก่อนเรามาอยู่เจริญกรุงเคยเป็นยังไง แต่คนที่เขาอยู่มาก่อนก็จะเล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้ไม่นานย่านมันก็เงียบ พอมาถึงตอนนี้มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง มีความคึกคักมากขึ้น มีชีวิตชีวา มันเลยเหมือนเป็นช่วงเวลาที่หลายๆ อย่างที่ซุกซ่อนอยู่ในเจริญกรุงมันถูกหยิบออกมาทำให้เป็นที่รู้จักและน่าสนใจขึ้น แล้วก็มีโมเดลการทดลองเยอะมากๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น”และสิ่งที่มารับช่วงต่อบรรยากาศที่ตื่นเต้นนี้ ก็คือเหล่าธุรกิจสร้างสรรค์ที่ต่างพากันมาจับจองพื้นที่อาคารเก่ามีคาแรกเตอร์ อาคารว่างที่ไม่เคยถูกเปิดใช้งาน เปิดธุรกิจร้านค้า คาเฟ่ ไปจนถึง Creative Space จากแต่เดิมที่อาคารว่างมีจำนวนมาก มาจนวันนี้เราได้เห็นซอยเล็กๆ ในย่านต่างถูกเติมเต็มอาคารว่างเป็นร้านรวงตลอดทั่วย่าน ตามต่อมาด้วยการถือกำเนิดขึ้นของบรรดาเทศกาลงานออกแบบและศิลปะ ที่นำเอาแนวคิดต่างๆ เหล่านั้นมาเปลี่ยนให้เป็นรูปธรรม ด้วยการเปิดโอกาสให้นักออกแบบได้ทดลองลงมือทำงานในพื้นที่จริงนั่นเอง“พอเราเริ่มมีงาน Bangkok Design Week และในย่านก็ยังมี Awakening Bangkok มี Gallery Hopping หรือเวลาที่สื่อทำคอนเทนต์ออกไปก็มักจะพูดถึงย่านเชิงศิลปะ เช่น ไปดูงานอาร์ต แวะคาเฟ่ ถ่ายรูปตรงจุดที่มีศิลปะในชุมชน ไปที่ตลาดน้อยก็จะมีพวก Street Art ที่เป็นตัวแทนเล่าเรื่องวัฒนธรรมในชุมชน เลยกลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาก็จะรับรู้เอกลักษณ์ของย่านนี้ในมุมมองใหม่ และถ้านึกถึงศิลปะก็จะนึกถึงย่านนี้ และจากจุดตั้งต้นที่เคยรุ่มรวยประวัติศาสตร์เลยค่อยๆ เปลี่ยนไป แต่ของเดิมก็ยังคงอยู่ ยังมีคุณค่าอยู่ นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ เพียงแค่มาหยิบเอาของเดิมไปต่อยอดในเชิงศิลปะ งานออกแบบ และสร้างการรับรู้ในมุมมองใหม่”‘CO-CREATE’ หัวใจสำคัญในการทำงานขับเคลื่อนย่านนอกจากการต่อยอดจากสินทรัพย์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในการทำงานในพื้นที่ย่าน คือการทำงานร่วมกับ ‘คน’ เพราะย่านคือที่อยู่อาศัยของคน การแต่งเติมสิ่งใหม่เข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัยจึงต้องคำนึงถึงความต้องการและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่เป็นหลัก ในการทำโปรเจกต์ทุกครั้งของ CEA จึงตั้งต้นมาจากการสำรวจและทำวิจัยทั้งก่อนและหลังจบงาน เพื่อเก็บผลลัพธ์ไปปรับปรุงแก้ไข รวมถึงให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับคนในย่านอย่างใกล้ชิดเสมอ“อย่างตอนที่ทำโปรเจกต์ Made in Charoenkrung ต่อเนื่องกันมา 3 ปีกับร้านค้าดั้งเดิมในย่าน เราก็จะถามฟีดแบ็กเขาตลอด เหมือนเป็นการติดตามการวัดผล ช่วง 9 วันที่ผ่านมามันเป็นอย่างไร และช่วง 2 เดือนหลังจากงานเขามองมันอย่างไรต่อ ส่วนใหญ่ก็ได้รับผลตอบรับที่ดี ไม่ได้บอกว่าถึงขั้นประสบความสำเร็จ แต่ก็อยู่ในขั้นทดลองที่ค่อนข้างมีประโยชน์ต่อพวกเขา ทำให้คนในย่านมองเห็นว่างานออกแบบเข้ามามีประโยชน์กับชีวิตของพวกเขาได้อย่างไร มันจับต้องได้จริงๆ ในขณะเดียวกันนักออกแบบเองก็ได้ลองทำงานภายใต้ข้อจำกัดอีกแบบตามบริบทของชุมชน พอลูกหลานของธุรกิจร้านค้าดั้งเดิมเห็นความเป็นไปได้ เขาก็ยื่นมือเข้ามาช่วยอากงอาม่ามีความสนใจในธุรกิจของครอบครัวมากขึ้นจากที่ตอนแรกเขาอาจจะไม่ได้สนใจเลย”สู่ความมุ่งมั่นที่จะผลักดันระดับนโยบายให้นักสร้างสรรค์ ‘อยู่ได้จริง’นอกจากการพัฒนาในเชิงโปรเจกต์และงานเทศกาลแล้ว โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ไม่ว่าจะเป็น ท้องถนน ทางเท้า ระบบขนส่งสาธารณะ กฎระเบียบ มาตรการและสิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์ รวมถึงระบบพื้นฐานอื่นๆ ในเมือง ยังคงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ CEA ตั้งใจอยากขับเคลื่อนและพัฒนาควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะผลักดันไปให้ถึงระดับนโยบายที่นักสร้างสรรค์สามารถ ‘อยู่ได้จริง’ ในเมืองนี้หนึ่งในสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดใน Bangkok Design Week ปีนี้ คือการถือกำเนิดขึ้นของโจทย์ใหม่อย่าง ‘HACK BKK’ ที่ CEA ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อท้าทายเหล่านักสร้างสรรค์ให้ได้ทดลองออกไอเดียแก้ปัญหาเมืองจากโจทย์ที่มีอยู่จริง โดยหวังว่าแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดปรับใช้งานจริงในเมืองต่อไป“ในปีนี้ Bangkok Design Week จะพูดในเชิงนโยบายมากขึ้น เป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ที่จริงขึ้น เราอยากทำให้พื้นที่นี้สามารถรองรับนักสร้างสรรค์ที่อยากจะเข้ามาอยู่และมาใช้ชีวิตอยู่ได้จริง ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำลายความเป็นธรรมชาติของชุมชนที่อยู่เดิม วิถีชีวิต ธุรกิจช่างฝีมือ วัฒนธรรมประเพณีเดิมก็จะต้องได้ด้วย ด้วยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวก หรือสิทธิประโยชน์มาตรการต่างๆ สำหรับนักสร้างสรรค์ที่จะเข้ามาอยู่ ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดช่วง Bangkok Design Week แต่อยู่ในแผนที่เราจะทำมันให้เป็นจริงขึ้นมา และจะเป็นแนวทางอีกสเต็ปที่ก้าวไปกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา”“ไฮไลต์ที่รอเซอร์ไพรส์ในงาน Bangkok Design Week 2024”ในปีนี้ผู้แทนย่านเจริญกรุงเล่าว่าอยากเปิดพื้นที่ให้ผลงานใหม่ที่ไม่เหมือนกับปีก่อนๆ ซึ่งมาจากทั้งฝีมือนักออกแบบหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยจัดแสดงงานที่ไหนมาก่อน หรือนักออกแบบเดิมที่ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ในพื้นที่ และเราอยากช่วยซัพพอร์ตให้เกิดขึ้นจริงได้ในเทศกาลฯ“สำหรับโปรเจกต์เด่นของปีนี้คือ Pocket Oasis Garden งานออกแบบเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก และ Street Furniture ที่ติดตั้งเคลื่อนย้ายได้สะดวก เหมาะสมกับพื้นที่ย่านที่มีพื้นที่สีเขียวค่อนข้างน้อย และโปรเจกต์ที่ตอบโจทย์ Hack BKK อย่างระบบป้ายนำทางจักรยานที่อาจจะนำมาสู่โมเดลทดลองที่ถูกนำมาใช้งานจริงก็เป็นได้”“ยิ่งไปกว่านั้นคือ ปีนี้จะมีพื้นที่เปิดใหม่ที่เป็นพื้นที่ไฮไลต์อีกประมาณ 2-3 แห่ง ซึ่งถ้าได้เห็นแล้วรับรองว่าต้องเซอร์ไพร์สแน่ๆ ตึกที่หลายๆ คนน่าจะเคยผ่านแต่ไม่รู้ว่าข้างในทำอะไร ไปจนถึงการเปิด Night Gallery อีกหลายๆ แห่งที่จะร่วมจัดแสดงงานกับเรา และโปรแกรมตลาดตะลักเกี๊ยะที่เราช่วยกันสร้างสรรค์ร่วมกับชุมชนตลาดน้อย ซึ่งรับรองว่าคุณจะได้เห็นวิธีการคิดของชุมชนที่ต่างไปจากเดิมแน่นอน”รู้จักกับ ‘ย่านเจริญกรุง’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่านระบบป้ายนำทางจักรยานwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/73525One Bangkok Pavilionwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/69453 กับข้าวมาแล้วครับ… กับข้าวwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71214 NEXUSwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/72717 PDM Supervisionwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/74914 POCKET OASIS GARDENwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/91843คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย ที่นี่www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=280  –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : พระนคร

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : พระนครผสานความเก่าเข้ากับความล้ำสมัย เพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่จะทำให้ย่านนี้ไม่มีวันเก่าถ้าคุณลองถามเพื่อนชาวต่างชาติว่าเวลามากรุงเทพฯ จะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง? คำตอบยอดฮิตคงหนีไม่พ้นการไปดู Reclining Buddha หรือพระนอนที่สวยเด่นแห่งวัดโพธิ์ เที่ยวชม The Grand Palace ต่อคิวอีสเจ๊ไฝและผัดไทยประตูผี ก่อนจะปิดท้ายวันดีๆ ด้วยการไปแฮฟฟันที่ข้าวสารโร้ด ในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างกรุงเทพมหานคร ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าย่านเมืองเก่า ‘พระนคร’ ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักของเหล่านักเดินทางมาอย่างยาวนานท่ามกลางสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังเหล่านี้ สิ่งที่ย่านพระนครกำลังเผชิญอยู่ในขณะเดียวกัน คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานพื้นที่เมืองซึ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อย่านอยู่อาศัยเดิมแปรสภาพเป็นย่านท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว ผู้อยู่อาศัยและคนทำงานหาเช้ากินค่ำก็จำต้องย้ายออกไปตามการขยายตัวของเมือง สิ่งที่หลงเหลืออยู่มากมายจากสถานการณ์เช่นนี้ คือกลุ่มอาคารเก่าที่ถูกปิดร้างไร้การดูแล ซึ่งยังคงเฝ้ารอการถูกนำกลับมาใช้ใหม่ (repurpose) ในรูปแบบที่เข้ากับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเดิมในฐานะเจ้าบ้าน พวกเขาจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร มาร่วมหาคำตอบไปด้วยกันกับ ‘ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์’ ตัวแทนจาก Urban Ally ในฐานะ Co-Host คนสำคัญแห่งย่านพระนครใน Bangkok Design Week ปีนี้ ‘ย่านเมืองเก่า’ ที่เอื้อต่อการเกิด ‘ธุรกิจใหม่’เมื่อคุณค่าที่สั่งสมมายาวนานกว่า 240 ปี ประกอบร่างสร้าง ‘พระนคร’ ให้กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ต้นทุนทางวัฒนธรรม และบรรยากาศเก่าๆ ซึ่งชวนให้โหยหาอดีต สิ่งหนึ่งที่เมืองเก่าแห่งนี้มีอยู่เต็มเปี่ยมอย่างแน่นอนก็คืออัตลักษณ์ที่หลอมรวมความเก่าและใหม่เข้าด้วยกันอย่างลงตัว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ ดร.พีรียามองว่าเป็นจุดแข็งของที่นี่คือโครงสร้างของเมืองที่เล็กกะทัดรัด แต่กลับมีสถานที่สำคัญต่างๆ อยู่ครบจบในระยะที่เดินถึง คล้ายกับว่าถูกออกแบบเอาไว้เป็นอย่างดีมากกว่าเมืองใหม่บางย่านเสียอีก“จริงๆ แล้ว คาแรกเตอร์ของเมืองเก่าคือมันเป็นเมืองที่เดินได้จริงๆ มีทางเท้า บล็อกเล็ก เดินเชื่อมโยงได้ เป็นเมือง 15 นาที อันนี้คาแรกเตอร์ชัด แล้วเราก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับสตาร์ตอัพใหม่ๆ ที่เข้ามาอยู่ในย่าน พอเขาลองเข้ามาอยู่ได้สักพัก เขาบอกว่า มันหาของกินก็ง่าย อยากจะซื้อของอะไรก็สะดวก ไปไหนก็หาทุกอย่างได้ในเมืองเก่า อันนี้เป็นต้นทุนเดิมของโครงสร้างเมืองที่มันดี สุดท้ายคือ identity ของเมืองเก่ามันชัดเจน มันมีสินทรัพย์ที่ชัดเจน มันเป็นพื้นที่ตั้งต้นของเมือง มีอาคารที่มีคุณค่า มีพื้นที่ว่างที่รอการพัฒนาอยู่เยอะ มีลักษณะของความเป็น shophouse (ตึกแถว) ที่สเกลเหมาะกับการพัฒนา Micro Business หรือ Creative Business มากๆ”‘บำรุงเมือง’ ด้วยความคิดสร้างสรรค์กระบวนการ ‘บำรุงรักษา’ หมายถึงขั้นตอนในการดูแลรักษาสิ่งต่างๆ ให้กลับมามีสภาพพร้อมใช้และสามารถทำงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้อีกครั้ง คำว่า ‘บำรุงเมือง’ ในที่นี้ จึงหมายถึงการดูแลรักษาพื้นที่ต่างๆ ภายในเมืองที่อาจถูกละเลยไป ให้กลับมาถูกใช้งานได้จริงอีกครั้งเช่นกัน“15 ปีที่ผ่านมา ย่านพระนครมีการเปลี่ยนแปลง มีการใช้อาคารเก่ากลับมาใช้ทำกิจกรรมต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอาคารอีกกลุ่มหนึ่งที่ปิดร้างไป มีธุรกิจประเภทธุรกิจทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจสร้างสรรค์ปิดตัวลงไปเยอะมากประมาณครึ่งนึงได้ เราพบว่าธุรกิจในย่านนี้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวซะเยอะ และก็ไม่ได้มีการออกแบบในพื้นที่ หรือว่าผลิตในพื้นที่อีกต่อไป แต่เป็นในลักษณะซื้อมาขายไป เพราะฉะนั้นย่านมันกำลังเป็นเมืองธุรกิจปลายน้ำ ถ้าเป็นแบบนี้เรื่อยๆ อัตลักษณ์ที่เคยมีในย่านก็จะหายไป”และสิ่งที่ Urban Ally เลือกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลรักษาและฟื้นฟูเมืองเก่าในครั้งนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ นั่นเอง โดย ดร.พีรียาอธิบายเพิ่มเติมว่าเป้าหมายใหญ่ของพวกเขาไม่ใช่แค่การเข้ามาจัดอีเวนต์สร้างสรรค์ภายในย่านเป็นครั้งคราว แต่เป็นการสร้างพระนครให้กลายเป็น ‘เมืองธุรกิจหัวดี’ ซึ่งสามารถดึงดูดให้เหล่านักสร้างสรรค์อยากย้ายเข้ามาใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่นี่ในระยะยาว“ความเป็นเมืองหัวดีที่พูดถึง หมายถึงการเป็นเมืองสร้างสรรค์ที่มีงานออกแบบเป็นแกน เป็นย่านที่มีสตาร์ตอัพใหม่ๆ กิจการใหม่ๆ อยากย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเกิดขึ้น มีผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตในย่านมากขึ้น ไม่ใช่แค่การใช้งานออกแบบหรือศิลปะสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่คนมาเที่ยวแล้วกลับ แต่คือการสร้างปัจจัยที่ชวนให้นักสร้างสรรค์อยากย้ายเข้ามาอยู่ในย่านเลย เราอยากให้ปลายทางเป็นแบบนั้น” รวม ‘มิตร’ มา ‘บำรุงเมือง’การพัฒนาย่านไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ด้วยการทำงานตัวคนเดียว โดยเฉพาะในย่านสำคัญที่เต็มไปด้วย Stakeholder หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ชุมชนเก่าแก่ นักออกแบบ ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว ฯลฯ อย่างย่านพระนคร อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยในกระบวนการของ Urban Ally จึงเป็นการรวมผู้คนที่หลากหลายให้กลายมาเป็น ‘พันธมิตร’ ที่พร้อมจะร่วมบำรุงเมืองไปด้วยกัน“เราทำมา 3 ปีแล้วในการ matching ดีไซเนอร์ ราชการ และชุมชน เราก็พอเข้าใจว่าราชการต้องการอะไร แล้วดีไซเนอร์ไม่ชอบทำอะไร เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นบทบาทของเรา คือเราลิงก์ทุกอย่างให้ทุกคนเพื่อให้ทุกอย่างมันไปได้ แล้วก็เป็นพื้นที่ให้ดีไซเนอร์รู้สึก comfortable ที่จะมีอิสระในการทำงาน ส่วนราชการก็เห็นภาพว่าทำแล้วเขาได้อะไร ชุมชนเห็นภาพว่าพองานเหล่านี้เข้าไปแล้วเขาสามารถมาร่วมอะไรได้บ้าง” นอกจากการประสานความร่วมมือของผู้คนหลายฝ่ายเข้าด้วยกันจะเป็นแกนสำคัญในการทำงานภาพใหญ่ของย่านแล้ว ในงาน Bangkok Design Week ครั้งนี้ ดร.พีรียาอธิบายว่าบทบาทของการ ‘รวมมิตร’ เช่นนี้ก็ยังมีความสำคัญไม่แพ้กัน“งานในครั้งนี้เองเราก็ไม่ใช่ดีไซเนอร์กลุ่มเดียว แต่จะเป็นการรวมศาสตร์หลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ซึ่งนี่ก็สะท้อนเรื่องการทำงานเมืองด้วยเหมือนกันค่ะ ว่าการทำงานเมืองทำคนเดียวไม่ได้ และไม่มีศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งทำงานด้วยตัวของมันเองได้ มันต้องผสมผสานหลายอย่าง ซึ่งถือว่า DNA ที่เราพยายามผลักดันมาตลอด ว่ามันจะต้องมีหลายๆ คนเข้ามาทำด้วยกัน สิ่งที่เราหวังมันถึงจะเกิดขึ้นมาได้จริง”รวมหลายศาสตร์ สร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ให้เมืองเก่า ใน BKKDW 2024จากประสบการณ์ 3 ปีในฐานะ Co-Host ย่านพระนคร ดร.พีรียาเปิดเผยว่า หมุดหมายใหม่ที่ Urban Ally อยากจะทำให้เกิดขึ้นได้ภายในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ คือสร้างภาพจำใหม่ให้กับย่าน ผ่านการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ผู้มาเยือนอาจไม่เคยได้สัมผัส รวมถึงแนวทางใหม่ๆ ในการทดลองใช้งานพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกใช้ด้วยวิธีต่างๆ มากมาย“ปัญหาหนึ่งของย่านพระนครคือมีหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้ถูกใช้อยู่ หลังจากที่เราทำปีที่แล้ว เราเห็นคนที่เคยรู้สึกผูกพันกับพื้นที่ตรงนี้ ไม่ว่าจะเคยทำงานที่นี่ หรือบ้านอยู่แถวนี้ ได้กลับมาทำความรู้จักมันอีกครั้งในมุมใหม่ หรือแม้แต่บางคนที่ไม่เคยรู้จักที่นี่เลย ก็ได้เข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้และเข้าใจความรู้สึกของคนที่เข้ามาอยู่ในเมืองเก่ามากขึ้น ซึ่งมันน่าสนใจมาก ปีนี้เราเลยอยากโฟกัสไปที่การทดลองสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในการใช้งานพื้นที่เก่าผ่านกระบวนการต่างๆ ที่หลากหลายขึ้นยกตัวอย่างเช่น เรามีการทำงานร่วมกับกลุ่มที่ทำเรื่องของ Projection Mapping และ Moving Image ที่จะมาสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในพื้นที่ ว่างานอาร์ตในอีกรูปแบบหนึ่งมันสามารถเปลี่ยนภาพจำด้วยวิธีไหนได้บ้าง ก็จะมีที่ประปาแม้นศรี สวนรมณีนาถ ที่ป้อมมหากาฬ รวมถึงที่คอร์ตข้างในศาลาว่าการกรุงเทพฯส่วนในคอร์ตกลางของศาลาว่าการฯ ก็จะมี People Pavilion ปีนี้เราจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่กึ่งสาธารณะในพื้นที่ของราชการ เพื่อสื่อถึงความเป็นเมือง 15 นาที พูดถึงบทบาทในอนาคตของอาคารศาลาว่าการฯ จากการที่อาจารย์ชัชชาติมีแผนที่จะย้ายข้าราชการและศาลาว่าการออกไปอยู่ที่ดินแดงอย่างสมบูรณ์ งานนี้ก็จะเป็นหนึ่งในการตั้งคำถามว่าพื้นที่นี้จะถูกเปลี่ยนแปลงมันเป็นอะไรได้บ้าง คนเมืองอยากได้อะไร และชุมชนอยากได้อะไรงาน ‘พระนคร Audio Guide’ ก็จะเป็น experience ในอีกรูปแบบหนึ่งที่จะมีการนำทางด้วยเสียง คล้ายกับการเดินชมงานในมิวเซียม แต่เรามองว่าพื้นที่ทั้งหมดในย่านคือพื้นที่จัดแสดง ทั้งอินดอร์ เอาต์ดอร์ คนสามารถเดินด้วยตัวเองได้ แล้วก็จะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านเสียงที่คอยแนะนำ คุณไม่ต้องเปิดแผนที่นะ คุณลองฟังและเดินตามคำบอกคน แบบเห็นอาคารนี้มั้ย เลี้ยวขวา เลี้ยวซ้าย เจอร้านอะไร ลองเข้าไปซื้อของสิ อันนี้ก็จะเป็น experience ใหม่ที่เราพยายามจะ introduce ไปในย่านแล้วก็มีงาน Lighting Design ของทีม FOS คือชื่อ Bangkok Nostalgia อยู่ที่ป้อมมหากาฬ ตอนนี้เป็นสวนสาธารณะที่ไม่มีคนใช้ ทำยังไงให้คนรู้สึกว่าอยากเข้าไปใช้ ทีม FOS ก็เลยขอทำตรงนี้ เราก็ยินดีมาก เพราะหลังจากที่มันเกิดเหตุการณ์มากมายแล้วไม่ได้ถูกใช้ มันก็จะอยู่แค่นั้น เราควรกล้าที่จะเข้าไปทำอะไรกับมัน แล้วก็จะมีงาน Projection Mapping อยู่ตรงป้อมมหากาฬด้วยจากทีม The Motion House”ยิ่งฟัง ดร.พีรียาบรรยายถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในย่านพระนคร นอกจากความตื่นเต้นและน่าสนใจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกฉายภาพให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านกระบวนการเตรียมงานที่เข้มข้นนี้ก็คือ การรวมตัวกันของเหล่านักออกแบบจากหลากหลายทีมและศาสตร์หลากหลายแขนง ซึ่งผนึกกำลังกันเป็นทีมเดียว เป็น (การรวม) มิตร (มาช่วยกัน) บำรุงเมืองสมชื่อจริงๆรู้จักกับ ‘ย่านพระนคร’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่านPeople Pavilionwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/76271 พระนคร Audio Guidewww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/76296 “มา/หา/กัน” Join (joy) togetherwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/76265 ExperienceScape: The Legendary Scapewww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/73204 คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านพระนคร ที่นี่www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=49828 –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : ปากคลองตลาด

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : ปากคลองตลาด“สร้างประสบการณ์ใหม่ เพื่อยกระดับการค้าให้ ‘ตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย’ ด้วยการออกแบบ” ก่อนหน้านี้ สาเหตุที่ทำให้ใครหนึ่งคนจะตัดสินใจเดินทางไปที่ปากคลองตลาดอาจเกิดขึ้นในบางโอกาสพิเศษของปี ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ต้องช้อปกุหลาบแดงช่อใหญ่ให้แฟนในวันวาเลนไทน์ หรือตอนต้องซื้อใบตอง ธูปเทียน และดอกไม้มาทำกระทงหรือพานไหว้ครูในวันสำคัญ ถ้าย้อนกลับไปในวันนั้น คงไม่มีใครจินตนาการออกว่าปากคลองตลาดในวันนี้จะกลายมาเป็นสถานที่ออกเดตยอดฮิต ซึ่งอัดแน่นไปด้วยหนุ่มสาวพร้อมช่อดอกไม้ที่ยืนถ่าย Tiktok กันจนแน่นสะพานพุทธฯ เหมือนที่เราคุ้นตาเป็นอย่างดีท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่น่าสนใจนี้ ‘อาจารย์หน่อง-สุพิชชา โตวิวิชญ์’ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะ Co-host ผู้ร่วมจัดงาน Bangkok Design Week 2024 และผู้ที่ทำงานคลุกคลีกับย่านปากคลองตลาดมานานกว่า 8 ปี มองเห็นความท้าทาย โอกาส และอนาคตของที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง ตามมาหาคำตอบไปด้วยกันเมื่อ ‘ตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย’ ถูกดิสรัปต์โดยเทคโนโลยี‘ปากคลองตลาด’ ตลาดค้าส่งดอกไม้ที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือหนึ่งในพื้นที่ที่ผ่านการปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมมาแล้วหลายต่อหลายครั้งตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดคือการจัดระเบียบพื้นที่รุกล้ำบนทางเท้าในปี 2559 ที่ส่งผลให้กลุ่มผู้ค้าบริเวณปากคลองตลาดที่เคยวางขายบนทางเท้าไม่สามารถวางขายได้อีกต่อไป จากตลาดที่คึกคักและละลานตาไปด้วยดอกไม้ล้นแน่นออกมาเกือบทั้งถนนจักรเพชร ต้องเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นตลาดปิดด้วยการย้ายร้านค้าเกือบทั้งหมดเข้าไปอยู่ในตลาดหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเป็นช่วงเดียวกันกับการเข้ามาทำงานในพื้นที่ของอาจารย์หน่องและทีมอย่างพอดิบพอดี ในช่วงเวลานั้นเราจึงได้เห็นแนวทางใหม่ๆ ในการทดลองนำความคิดสร้างสรรค์หลากหลายเข้ามาฉายไฟให้กับย่านที่ซบเซาลงจนกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้งและวันนี้ก็คืออีกครั้งที่ปากคลองตลาดกำลังจะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ เมื่อการซื้อขายออนไลน์และช่องทางการขายส่งในรูปแบบใหม่ๆ เริ่มเข้ามาส่งผลกระทบ“ด้วยความที่สังคมมันเปลี่ยนไป ถ้าจะขายแบบเดิมที่เป็นการขายส่งเยอะๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจากการดิสรัปต์ (disrupt) ด้วยเทคโนโลยี หรือการที่เดี๋ยวนี้มันมีตลาดสี่มุมเมือง หรือมีตลาดที่ตอบโจทย์ในภูมิภาค มันอาจจะไม่ได้มีดีมานด์แบบค้าส่งเยอะเท่าเดิมแล้ว แต่ถามว่ายังเยอะไหม ยังเยอะอยู่นะคะ แต่ดูด้วยตาเปล่าก็รู้สึกว่า เอ ถ้าเกิดปล่อยให้เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ คือให้ค้าขายกันแบบเดิมไปเรื่อยๆ เราก็ไม่มั่นใจว่ามันจะยังดีอย่างนี้ไปอีกนานๆ 10 หรือ 20 ปีได้ไหมผู้ค้าเจ้าใหญ่ๆ หลายๆ คนก็พูดเหมือนกันว่าอีกหน่อยการซื้อดอกไม้มันจะง่ายมากแล้ว เพราะอย่างจะมีบางร้านที่เขาจะสั่ง แล้วเราก็สั่งพ่วงไปกับเขา เราก็จะสามารถสั่งดอกไม้จากจีนร้านเดียวกับที่ร้านใหญ่สั่งได้ในราคาที่ไม่ได้บวกมากเลย ถูกมาก และสามารถซื้อใน portion ที่เล็กได้ด้วย เพราะฉะนั้นการจะเปิดร้านดอกไม้ในอนาคตเนี่ยมันง่ายมาก”จาก ‘ไวรัล’ สู่การ Transform อย่างยั่งยืนถือเป็นโชคดีของปากคลองตลาดที่สิ่งที่เกิดขึ้นในย่านในเวลาใกล้เคียงกับการดิสรัปต์ด้วยช่องทางการขายออนไลน์ คือโอกาสใหม่ซึ่งกำลังจะกลายมาเป็นแบรนดิ้งที่สำคัญอีกอย่างของย่านอย่าง ‘วัฒนธรรมวัยรุ่นซื้อดอกไม้ ถ่ายรูปที่สะพานพุทธ’ “อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นว่ามันเกิดเป็นไวรัลโดยธรรมชาติ คือไม่ได้ไวรัลแบบฟลุกนะคะ คือคนที่เป็นวัยรุ่นซื้อดอกไม้ ถ่ายรูปที่สะพานพุทธ มันมีมาก่อนดีไซน์วีคอยู่แล้วแต่ไม่ได้เยอะ แต่พอมีการจัดงานบ่อยๆ เข้า ทีนี้พอวัยรุ่นคนอื่นๆ เขาเริ่มมากัน แล้วก็มาถ่ายรูป คนก็เริ่มตามมากันเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนที่นี่กลายเป็นที่เที่ยวดังในกลุ่มวัยรุ่นไปเลย”ในสายตาคนนอกอาจมองว่ากระแสที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ฉาบฉวยชั่ววูบ แต่อาจารย์หน่องอธิบายว่าสำหรับเธอและคนในย่าน สิ่งนี้คือโอกาสครั้งใหม่ซึ่งส่งผลถึงแนวการทางปรับตัวของย่านในขั้นตอนต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ  “คือช่วงแรกมันก็มีฟีลแบบว่า พอคนข้างนอกที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้าไปก็มีเสียงเหมือนกันว่า โอย เด็กมาเยอะแต่ไม่ได้ซื้อของ ซึ่งเราก็คิดว่า เออ ก็จริงนะ คิดอยู่เหมือนกันว่าแล้วมันจะมีประโยชน์อะไร แต่สักพักพอมันเริ่มเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่างเป็นธรรมชาติ ใครคิดว่าถ่ายรูปดูไร้สาระ มันไม่ไร้สาระนะคะ เพราะตั้งแต่กุมภาพันธ์มาจนถึงพฤศจิกายน ยังมีวัยรุ่นจำนวนมากอยู่เลย จากเมื่อก่อนที่มาแล้วแค่มาซื้อดอกไม้ถ่ายรูป ตอนนี้ก็เริ่มรู้จักคาเฟ่แถวนั้น อุดหนุนร้านแถวนั้น แล้วพี่ที่เป็นร้านใหญ่ๆ ก็พูดขึ้นมาอย่างนึงที่น่าสนใจมากคือในระยะสั้นที่เห็นว่าน้องๆ ซื้อกัน 60 บาท 100 บาทเนี่ย ปรากฏว่าเขาขายแค่เสาร์อาทิตย์ เอาเฉพาะที่ขายวัยรุ่นนะ ไม่นับดอกไม้ส่วนอื่น เขาขายได้ ‘ห้าหมื่นกว่าบาท’ นี่เฉพาะแค่ช่อจิ๋วๆ 60 บาท 100 บาทนะ คือในระยะสั้นมันไม่แย่เลยที่น่าสนใจกว่านั้นคือดอกไม้ที่เด็กวัยรุ่นซื้อไป จริงๆ มันเป็นดอกที่บานแล้วนิดนึงด้วย คือถ้าเป็นรุ่นอาจารย์ก็อาจจะอยากได้แบบที่ตูมหน่อย เพราะอยากให้ไปบานที่บ้าน แต่เด็กเขาเอาแบบที่บานแล้ว ซึ่งปกติถ้าอยู่บน shelf ถือว่ามันไม่ได้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับร้านขนาดนั้นเพราะมันเก่าแล้ว แต่มันกลับตอบโจทย์ของวัยรุ่นที่เขาอยากได้แบบที่บานแล้ว สวยแล้ว ถ่ายรูปได้เลย แล้วเอาไปไว้ที่บ้านได้อีกสัก 2 วัน ซึ่งมันกลายเป็นว่าก็เป็นอะไรที่แก้ pain point กันเองไปในตัวน่ะ แบบเด็กเขาต้องการแบบนี้ ในขณะที่ปกติดอกแบบนี้ต้องขายถูกๆ ก็เอามาขายถูกได้ แล้วก็ขายเน้นจำนวน”เปิดตลาดใหม่ ด้วยการสร้างประสบการณ์น่าประทับใจให้พื้นที่ เมื่อรูปแบบการใช้งานและความสัมพันธ์ของผู้มาเยือนกับพื้นที่ย่านเริ่มเปลี่ยนแปลงไป อาจารย์หน่องอธิบายว่าสิ่งสำคัญที่พ่อค้าแม่ค้าชาวปากคลองตลาดได้เรียนรู้จากสถานการณ์นี้เพื่อนำมาปรับใช้คือแนวคิดของ ‘การออกแบบประสบการณ์’ (experience design) “เมื่อก่อนปากคลองตลาดขายดีโดยที่เขาไม่ต้องมาง้อการสร้างประสบการณ์ (experience) อะไร แต่เดี๋ยวนี้ถ้าไปปากคลองฯ เนี่ย บรรยากาศเปลี่ยนไปเยอะมาก ลุงๆ ป้าๆ ที่ดุยังเหลืออยู่แน่นอนแหละ เป็นธรรมชาติ แต่เดี๋ยวนี้พวกเขาก็เปิดกว้างขึ้นมาก จากที่เมื่อก่อนสนใจแต่ลูกค้าขายส่งเป็นหลัก ตอนนี้ก็จะมีแบบเห็นน้องยืนอยู่หน้าร้านก็จะทักทายเลยว่า อ้าวหนู เลือกดอกไม้เลยลูก เดี๋ยวจัดให้ คือเมื่อก่อนไม่มีแบบนี้เลยนะพอเริ่มทำๆ ไปเราก็ค้นพบอินไซต์นึงว่า คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้อยากมาซื้อดอกไม้แบบเป็นกำๆ ร้อยสองร้อยดอกแล้วเอาไปจัดที่บ้าน มันไม่ใช่เนเจอร์เขา อันนั้นเป็นเนเจอร์คนรุ่นป้า แบบอาจารย์อาจจะชอบ ซื้อมาเยอะๆ แล้วมาจัดที่บ้าน ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก อันนี้คือยุคแบบ 40 อัพ แต่คนรุ่นใหม่เขาอยากมาสร้างประสบการณ์กับพื้นที่ คือเขาอยากมาใช้เวลาที่นี่ เราก็ต้องออกแบบประสบการณ์ให้มันตอบโจทย์เขาจนตอนนี้ก็เริ่มมีคนที่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของร้านดอกไม้แบบดั้งเดิมในย่านตัดสินใจต่อยอดแบรนด์ของที่บ้านเปิดเป็นร้านที่ขายแบบเลือกดอกไม้เองได้ แก้ pain point ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยากซื้อเยอะๆ แบบขายส่ง แต่ซื้อทีละดอกมาจัดช่อเอง”ถัดจากเรื่องประสบการณ์ก็จะมาเป็นเรื่องของการสร้างอัตลักษณ์ ซึ่งอาจารย์หน่องเล่าว่าชาวปากคลองเองก็กำลังพยายามผลักดันเรื่องนี้ควบคู่กันไปอยู่เช่นกัน“ผู้ค้าส่วนนึงเขาก็อยากสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับตลาดและตัวพวกเขาเองให้มันดูเปิดมากขึ้นเหมือนกัน คือให้ดูเป็นกลุ่มคนและย่านพร้อมที่จะคอลแลบ (collab) และสร้างความร่วมมือกับคนกลุ่มใหม่ๆ และโอกาสใหม่ๆ ของโลกคือเขาก็คิดแบบนักธุรกิจนะคะ เขาก็ไม่รู้หรอกว่าที่คอลแลบไปมันจะได้อะไรโดยตรง แต่ก็มองมันเป็นโอกาสใหม่ๆ เลยคิดว่าอย่างนั้นเรามาร่วมกันทดลองค้นหาอัตลักษณ์แบบร่วมสมัยใหม่ๆ ของปากคลองฯ กันดีกว่า มันก็เลยมีกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำ ทั้ง Projection Mapping, Photo Exhibition, Flower Installation และก็ Workshop ด้วย ก็พยายามจะทดลองอะไรหลายๆ อย่างว่าอันไหนมันทำตอนนี้ได้เลย อันไหนมันควรเป็นโปรแกรมในอนาคต”มอบดอกไม้แทนความหมายแบบ I flower youสำหรับธีมงาน Bangkok Design Week ย่านปากคลองตลาดในปีนี้ อาจารย์หน่องบอกว่าตั้งใจอยากให้ขยับจากงานปีก่อนที่เน้นการดึงคนเข้ามาสู่ย่านด้วยวิธีต่างๆ หลากหลาย ไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับดอกไม้อย่างมีความหมายมากยิ่งขึ้น “ธีมที่เป็นส่วนกลางก็ตั้งชื่อไว้ว่า I flower you. เหมือนแบบ I love you. I like you. I miss you. แต่ว่าจะใช้เป็น I flower you. จะเป็น flower อะไรก็ไปเลือกเอาที่ปากคลองฯ คืออยากให้เริ่มแบบมี meaning ที่มันผูกมากับความเป็นดอกไม้มากขึ้น จากคราวที่แล้วเป็นธีม Pop-Up คือ Pop it up ที่เราอยากเอาคนเข้ามาเยอะๆ ก่อน ด้วยทุกอย่างเลย แสง สี ไฟ แต่ปีนี้จะเริ่มให้มัน meaningful ขึ้นอีกนิดนึง คือพยายามให้คนลองคิดว่าเขารู้สึกยังไงกับดอกไม้นั้น หรือดอกไม้นั้นให้ความรู้สึกยังไง และเขาอยากเอาดอกไม้นี้ให้ตัวเองหรือให้คนอื่น เราอยากจะพูดถึงเรื่องความรู้สึกของคนกับดอกไม้ ให้มันลึกขึ้นนิดนึง อันนี้คาดหวังนะคะว่ามันจะเป็นการซื้อดอกไม้แบบมีความหมายมากขึ้น ไม่ได้แค่ซื้อถ่ายรูปสวยๆ (แต่ใครจะซื้อถ่ายรูปสวยๆ ก็ไม่ว่านะคะ อุดหนุนแม่ค้าได้เลย)”“ในธีม I flower you มันก็จะมีส่วนที่เป็น Photo Exhibition ก็ให้ช่างภาพสองคนมาช่วย คือน้องนุ้ยเป็นลูกศิษย์ที่จบไปแล้ว ในธีมที่ว่าคนจะใช้ดอกไม้ในการบอกความรู้สึกกันยังไง ซึ่งนุ้ยก็ตั้งใจจะลงไปสำรวจที่คนปลูกดอกไม้ด้วย แล้วก็จะมีช่างภาพอีกคนคือ น้องก๊อปแก๊ป ซึ่งเป็นเด็กเข็นของในปากคลองตลาดที่เขาถ่ายรูปเก่งมาก ปีที่แล้วก็เอางานของเขามาแสดงด้วย ก็ให้โจทย์เขาไปว่า อยากรู้ว่าคนในปากคลองฯ นี่ ถ้าจะซื้อดอกไม้ในธีม I flower you จะซื้อกันยังไง อันนี้คืออาจารย์ตื่นเต้นส่วนตัว อยากรู้ว่าน้องก๊อปแก๊ปจะถ่ายอะไรมาให้นอกจากนี้ก็จะมีงาน Interactive ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นยังไง แต่ก็ได้คนเดิมมาช่วยคือ 27 June ก็คิดว่าน่าจะน่ารักค่ะ แล้วก็จะมีเวิร์กช็อป มี How are you doing? ที่ร้าน Sunflower ที่เขาคิดธีมมาแล้วบังเอิญตรงกันพอดีคือ How are you feeling today? ที่ใช้ดอกไม้บอกความรู้สึกในแต่ละวัน รวมถึงจะมีงานที่พูดถึงเรื่อง waste ของดอกไม้เพิ่มขึ้นนิดนึง เพราะเรื่อง waste ของดอกไม้เนี่ยเป็นโจทย์ที่ยากมาก ยังไม่ค่อยมีคนเอาไปทำอะไรได้ แต่ปีนี้ก็ยังทำ scale up ไม่ได้นะคะ แต่ก็เริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่เสนอดีไซน์เข้ามา คือเอาดอกไม้ไปทำกระดาษ แล้วเอามาห่อดอกไม้อีกที เรื่องขยะดอกไม้นี่ยาก ไม่ง่าย ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ต้องค่อยๆ ทำไป”แล้วความรู้สึกของคุณล่ะจะใช้ดอกอะไรแทนความหมายได้? ตามมาเลือกดอกไม้กันต่อได้ที่ Bangkok Design Week 2024 ย่านปากคลองตลาดรู้จักกับ ‘ย่านปากคลองตลาด’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่านI Flower You: Street Photo Exhibitionwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/67998 I Flower You: Pak Khlong Collective Bloomswww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/67976 How are you doing?www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/69296 คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านปากคลองตลาด ที่นี่ :www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=50632 –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : เยาวราช

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : เยาวราชสานต่อตำนานย่านสตรีทฟู้ดระดับโลกที่เต็มอิ่มไปด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมจีนจากรุ่นสู่รุ่นในวันนี้ “เยาวราช” ไม่ได้เป็นเพียงไชน่าทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยซึ่งเปี่ยมล้นไปด้วยวัฒนธรรมจีนจากหลากหลายยุคสมัย แต่ยังได้แนะนำตัวบนแผนที่โลกในฐานะย่านสตรีทฟู้ดยามราตรีชื่อดังที่พลาดไม่ได้ แถมด้วยการเช็กอินในใจชาวไทยมากมายในฐานะของทั้งย่านคูลที่กิจการใหม่ๆ พร้อมจะแจ้งเกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และย่านมูที่คนทุกเพศทุกวัยต้องมาแก้ชงเป็นประจำทุกปีหนึ่งในโจทย์การทำงานกับย่านที่โหดหินที่สุด คือการทำงานกับย่านที่ ‘พร้อมสมบูรณ์อยู่แล้ว’ และถ้าถามต่อว่าย่านไหนในกรุงเทพฯ ที่จะเป็นตัวแทนของคำนิยามนี้ได้ดีที่สุด ย่านเยาวราชแห่งนี้ก็คงหนีไม่พ้นอย่างแน่นอน เพราะที่นี่คือย่านท่องเที่ยวที่มีชีวิตชีวาเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองซึ่งคึกคักไปด้วยทั้งนักท่องเที่ยว นักกิน และนักช้อปแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันในย่านเศรษฐกิจระดับมงกุฎเพชรที่ทุกคนมีสิ่งที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลาจนใครหลายคนอาจมองว่างานดีไซน์ไม่ใช่คำตอบที่พวกเขาตามหา ‘คุณอุ้ม-วิภาวี กิตติเธียร’ CEO จากบริษัท SATARANA ผู้เป็น Co-Host ในการจัดงาน Bangkok Design Week ย่านเยาวราชในปีนี้เป็นปีที่ 2 จะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร วันนี้เธอจะมาแชร์ให้เราฟังถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานเมื่อปีก่อน รวมถึงแผนการรับมือรูปแบบใหม่ๆ ในปีนี้‘เยาวราช’ ดินแดนแห่งพลวัตและโอกาสที่ไม่เคยหยุดนิ่งเมื่อพูดถึงเยาวราช คุณอุ้มเล่าย้อนกลับไปให้เห็นภาพว่าสาเหตุในปีที่แล้วทีม SATARANA เลือกทำงานกับพื้นที่นี้เกิดจากการที่พวกเขาได้ย้ายออฟฟิศจากบริเวณเสาชิงช้ามาอยู่ที่นี่ ด้วยสายตาของคนนอกที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ พวกเขามองเห็นปัญหาซึ่งใครหลายคนอาจมองข้ามไปเมื่อคลุกคลีอยู่ในพื้นที่มาจนเคยชิน“การที่เราเป็นคนที่เข้ามาใหม่ เราเห็น Gap ของเมืองชัดกว่าคนในมาก ด้วยความที่เยาวราชเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความวุ่นวายมากๆ แน่นอนเลยว่าทำให้ Facilities ของเมืองบางส่วนยังไม่ตอบโจทย์ ยังมีความต้องการทางด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการดีไซน์หรือวิธีคิดแบบครีเอทีฟ เราเลยเลือกที่นี่เป็นโจทย์ในการทำงานดีไซน์วีค” แต่แน่นอนว่านอกจากปัญหาในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่ทางทีมมองว่าเยาวราชยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ พวกเขายังมองเห็นโอกาสและเสน่ห์ของพื้นที่ โดยเฉพาะในด้านความหลากหลายและพลวัตทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง“ความน่าสนใจของไชน่าทาวน์คือ มันเป็นย่านที่คนจีนมาอยู่อาศัยรวมกันในบริเวณนี้ แต่ความเป็นจีนที่ว่ามันก็มีจีนหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ยุคเสื่อผืนหมอนใบ จนถึงจีนยุคใหม่ๆ ที่ยังเข้ามาเติบโตในพื้นที่จนถึงทุกวันนี้ เราเลยคิดว่าพลวัตเหล่านั้นมันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างมีความน่าสนใจในแง่ของเศรษฐกิจก็เหมือนกัน เรารู้สึกว่าเยาวราชเป็นเหมือนแหล่งกำเนิดของเศรษฐีเมืองไทยเลย หลายคนมักจะมีต้นกำเนิดหรือเรื่องราวที่ผูกพันกับย่านเยาวราชมาก่อน หลายคนที่ยังอาศัยอยู่ที่เยาวราชทุกวันนี้ ภายนอกดูเหมือนเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ แต่จริงๆ ใน Shophouse หนึ่งหลังนั้นแทบจะ Distribute สินค้าออกไปทั่วประเทศไทย หรือในขณะเดียวกันก็ยังมีกิจการใหม่ๆ พร้อมจะเติบโตขึ้นมาอีกเรื่อยๆ เราเลยรู้สึกว่าที่นี่มันมีมิติที่น่าสนใจมาก” งานเทศกาลอาจไม่ใช่โซลูชั่นในฝันของทุกคนสิ่งสำคัญที่ทีม SATARANA ได้เรียนรู้จากการจัดงาน Bangkok Design Week ในย่านเยาวราชเมื่อปีที่ผ่านมาคือ การทำงานดีไซน์ให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตและการทำมาหากินที่ไม่มีวันหยุดพักของชาวเยาวราชนั้นไม่ง่าย และงานเทศกาลอาจไม่ใช่โซลูชั่นในฝันของทุกคน“อย่างที่เราเล่าให้ฟังคือคนในตลาดมีความยุ่งมาก เขาไม่มีเวลาให้เราเลย อีกอย่างคือเยาวราชเป็นพื้นที่ที่มีอีเวนต์บ่อย ตรุษจีน กินเจ เขาก็มีเทศกาลประจำปีของเขาอยู่แล้วประมาณนึง การที่เราจะเอางานของเราเข้าไปแทรก มันเลยเหลือช่องว่างแค่นิดเดียว เพราะว่าเราเหมือนเข้าไปเป็นตัวละครเสริมในวันนึงที่เขายุ่งกันมากอยู่แล้ว แต่เราต้องเข้าไปวิเคราะห์และสร้างสรรค์ต่อ อันนี้ก็เป็นความท้าทายของเยาวราชที่พอผ่านมาแล้วเราก็รู้สึกว่าเมืองมี Gap จริง แต่การจะทำงานออกมาให้ตรงกับวิถีชีวิตเขา อันนี้น่าจะเป็นความท้าทายที่สูงที่สุดที่เจอในปีที่แล้วซึ่งพอในปีนี้ สิ่งที่เรานำกลับมาเรียนรู้และต่อยอดจากสิ่งเดิมคือ สิ่งเดิมเราพยายามที่จะเอาเส้นเรื่องวัฒนธรรมของเยาวราชที่กำลังจะกลืนหายไปกลับมาเล่าให้ได้เยอะที่สุด แต่ในปีนี้เราเรียกได้ว่า เราหาช่องในการเล่าที่เฉียบคมมากขึ้น เราตั้งใจออกแบบความร่วมมือของคนในพื้นที่ให้เขาได้ Input ในปริมาณที่โอเค และเป็นความร่วมมือที่เขาพึงพอใจในระดับที่ไม่รบกวนชีวิตประจำวันของเขา” Same Old Life, but Betterเมื่อตั้งเป้าหมายได้แบบนั้นแล้ว ภารกิจของทีม SATARANA ในครั้งนี้จึงเปลี่ยนบทบาทจากนักออกแบบมากไอเดียมาเป็น ‘ผู้สนับสนุน’ ที่ไม่ได้คาดหวังในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือความเป็นไปภายในย่าน แต่พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนในสิ่งที่พวกเขาทำอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับเปิดเวทีความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไปพร้อมกัน“การแทรกตัวในครั้งนี้ของเราเป็นการแทรกตัวที่เขาไม่ต้องเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมอะไรในวิถีชีวิตเขาเลย แต่ว่าเราไปสนับสนุนสิ่งที่เขาทำอยู่แล้วมากกว่า แล้วเขาก็เอาสิ่งเหล่านั้นไปเติมเมืองในจุดที่มันยังไม่งาม ไปเพิ่ม Aesthetic ไปเอาเรื่องราวที่เขามีอยู่แล้วมาเล่าในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ได้รบกวนการทำงานของเขา แต่ในทางเดียวกันคือการรวมย่านให้มี Branding มี Identity ที่ชัดขึ้นได้”อีกสิ่งที่คุณอุ้มมองว่าเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จในปีที่แล้วและอยากทำต่อไป คือการดึงคนใหม่ๆ ที่ไม่เคยคลุกคลีกับงานเมืองหรืองานออกแบบให้เข้ามาช่วยกันทำงานพัฒนาเมืองมากขึ้น“ปีที่แล้วเราเริ่มต้นขึ้นภายใต้โปรแกรมที่เป็น Academic Program ร่วมกันกับทาง CEA ด้วยความที่เราอยากให้เมืองเป็นโจทย์ของสถาบันการศึกษา เราไม่อยากให้ดีไซน์วีคเป็นแค่การเอางานของแต่ละสถาบันตัวเองมาโชว์เป็น Open House อย่างเดียว แต่เราอยากให้พวกวิชาเรียนต่างๆ มันสามารถ Hack เมืองได้ด้วย อันนี้ก็เป็นสมมติฐานที่เราตั้งขึ้นมาก่อนเริ่มโครงการในปีที่แล้ว แล้วก็ชวนกลุ่มภาควิชาต่างๆ ที่เราไม่เคยคิดว่าเขาจะมาอยู่ในงานดีไซน์วีคได้ เช่น กลุ่มวิชาภาควิทยาศาสตร์ โบราณคดี หรือว่าทางวิศวกรรมศาสตร์ มาทำงานด้วยกันปรากฏว่ามันเวิร์กมากๆ โซลูชั่นเหล่านั้นมันกลายมาเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในเยาวราชทำกันเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว ยกตัวอย่างที่เรารู้สึกว่ามัน Impact มากๆ คือ “ธูปรักษ์โลก” ที่ทางคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ให้ว่าเราจะทำอย่างไรให้การจุดธูปสามารถช่วยลดมลภาวะได้ ซึ่งก็มีน้องไปนั่งคุยกับที่ศาลเจ้ามาว่า ธูปพอถูกจุดไปได้นิดเดียวก็ต้องกวาดทิ้งแล้ว เนื่องจากคนที่ศาลเจ้าเยอะมากๆ ทำให้ไม่มีที่ปักธูปพอ เขาเลยไปทำธูปที่เหลือเพียงแต่ด้านบนนิดเดียว โรงงานธูปก็ได้ทำตาม รวมถึงเจ้าอาวาสก็ยอมทดลองใช้ อันนี้ก็เป็นโซลูชั่นใหม่ๆ ที่สนุก ในปีนี้เราเลยอยากเอาคอนเซปต์เดิมนี้ไปต่อยอดเพิ่มกับคนกลุ่มใหม่ๆ แต่ยังคงเส้นเรื่องเดิมไว้ แค่อาจเปลี่ยนรูปแบบวิธีการเล่า”การเดินทางครั้งใหม่ใน Bangkok Design Week 2024ต่อยอดจากไอเดียเดิมในการเชื่อมคนและศาสตร์ใหม่ๆ ที่ไม่คาดคิดเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้กับเมือง ในครั้งนี้คุณอุ้มเล่าว่าทีมอยากขยายเรื่องราวของวัฒนธรรมจีนและเยาวราชไปสู่เจเนอเรชั่นที่หลากหลายยิ่งขึ้นด้วยการเจาะกลุ่ม ‘เด็กวัยมัธยมต้น’ และศาสตร์ที่พวกเขามองว่าตอบโจทย์ที่สุดในครั้งนี้คือสิ่งที่เรียกว่า Comic หรือ หนังสือการ์ตูน“สิ่งที่ทางทีมตั้งใจทำกันมากในปีนี้ก็จะเป็นในส่วนของ Comic ที่อยากให้ทุกคนได้รอติดตามกัน เพราะว่านักวาดแต่ละคนเป็นนักวาดไทย เรารู้สึกว่าตลาด Comic เติบโตมากกว่าที่เราคิดไว้มาก เราเพิ่งเข้าใจระบบ Webtoon ของนักวาดแต่ละคน เราเลยอยากสนับสนุนศิลปินไทยให้เยอะขึ้นด้วย เพราะว่าใน Webtoon ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินเกาหลี ศิลปินญี่ปุ่น เราก็อยากเชียร์ให้การที่เราพูดเรื่องย่านในครั้งนี้มันไม่ใช่แค่งานชุมชนดีจังเลย น่ารักจังเลย แต่อยากให้ Entertain คนผ่านเรื่องราวเหล่านั้นไปด้วย เป็นพาร์ตที่ทีมตั้งใจทำกันมากๆ ก็อยากฝากให้รอติดตามกัน ซึ่งหลักๆ ตัว Comic ก็จะถูก Publish ในแพลตฟอร์ม แต่ในกิจกรรม Ep.1 จะเป็นเหมือนการตั้งต้นโดยเราจะจัดเป็น Exhibition ให้ทุกคนสามารถมาเดินอ่านกันในงานในย่านได้เลยว่าเรื่องราวของ Comic นี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งก็จะถูก Develop มาจากบทละครงิ้วเหมือนกัน เชื่อมหลายเรื่องเลย โดยตอนนี้มีนักวาดทั้งหมด 5 คน” งานไฮไลต์อีกส่วนหนึ่งที่ทีม SATARANA อยากฝากให้ติดตามกันต่อก็คือกิจกรรม Street Art ในธีมของกิจการเสื่อผืนหมอนใบภายในถนนทรงวาด“เนื่องจากพื้นที่ย่านครอบคลุมไปถึงทรงวาดซึ่งเป็นย่านค้าขายเก่าแก่ เราก็จะมีกิจกรรมที่พูดถึงเรื่องราวของกิจการเสื่อผืนหมอนใบ ที่เขาเริ่มกิจการในสมัยนั้นด้วย สิ่งที่ทีมค้นพบระหว่างเตรียมงานคือโลโก้และตราร้านค้าของแต่ละร้าน ซึ่ง Illustrator ทุกคนเห็นแล้วรู้สึกสนุกมากเลย วุ้นกรอบบ้าง หรือสาคูตรามังกร ลายมังกร ในขณะเดียวกัน บนถนนทรงวาดมันก็มีจุดที่ไม่งามอยู่เยอะ พื้นที่ทิ้งขยะ กำแพงเปลือยว่างๆ เราก็เลยอยากเปลี่ยนกำแพงพวกนั้นให้เป็นตราสัญลักษณ์ร้านค้าของแต่ละร้าน เอามาขยายใหญ่ เหมือนเพิ่มสตรีทอาร์ตในเมืองเข้าไปให้มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่มันตั้งอยู่ คิดว่านี่เป็นไฮไลต์อีกอันนึงเลยของปีนี้ เราอยากให้คนได้มาเดินดู เพราะว่าตัวสัญลักษณ์เหล่านั้นสามารถเล่าความเป็นย่านออกมาได้เยอะมาก ตั้งแต่วิธีคิด การเลือกสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เป็นสัตว์มงคล เราก็จะเล่าผ่านเรื่องราวของตราป้ายแต่ละร้าน ตั้งใจทำเป็นสตรีทอาร์ตแปะกำแพงเลย แต่จะมีคอนเทนต์แยกแต่ละชิ้นมาให้ดูว่าแต่ละชิ้นมาจากอะไร ส่วนใหญ่ก็จะมาจากการสัมภาษณ์ร้านค้า ซึ่งบอกเลยว่าก็อาจจะมีข้อมูลไม่ตรงกันบ้าง แต่ก็สนุกดีค่ะ ซึ่งพวกนี้ก็จะกระจายอยู่ตามพื้นที่ซอย เนื่องจากบางร้านอาจจะไม่ได้กำแพงข้างๆ บ้านตัวเอง อาจจะไปอยู่ที่กำแพงอีกที่นึง แต่เราตั้งใจจะกระจายๆ ให้การเดินเที่ยวเยาวราชสนุกขึ้น มันมีจุดที่ไม่ใช่แค่การถ่ายรูปกับกำแพง แต่กำแพงนี้มีเรื่องราวอะไรบางอย่างด้วย โดยชื่องานของย่านเยาวราชในปีนี้คือ “เจริญรุ่ง ‘เมือง’ ยิ่งๆ ขึ้นไป”จากตำนานการเปิดฟลอร์เต้นรำใจกลางย่านตลาดเก่าและเนรมิตเอางิ้วจีนมาให้เสียงภาษาไทย การเดินเที่ยวเยาวราชในงาน Bangkok Design Week ปีนี้จะให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร และมีอะไรใหม่ๆ รอให้ค้นพบอีกบ้าง อย่าลืมมาตามหาคำตอบด้วยตัวคุณเอง! รู้จักกับ ‘ย่านเยาวราช’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่านหนังสือนิทานงิ้วและนิทรรศการwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/83667 Yunnan Arts University-School Local Cooperative Creative Series Activitieswww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/84034 Waste Life สายมู Workshopwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/83680 Local Gallery of local shopwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/83655 คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านเยาวราช ที่นี่ : www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=49827 –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : นางเลิ้ง

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : นางเลิ้งต่อยอดภูมิปัญญาในย่านวัฒนธรรมมีชีวิต ผ่านการร่วมมือกันระหว่างคนดั้งเดิมกับนักออกแบบผู้ย้ายเข้ามาใหม่เมื่อพูดถึง ‘ย่านนางเลิ้ง’ ภาพจำแรกที่หลายคนนึกถึงมักจะเป็นตึกแถวโบราณสีชมพูหวาน และบรรดาอาหารและขนมไทยละลานตาที่อัดแน่นอยู่ใน ‘ตลาดนางเลิ้ง’ ตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทย ก่อนจะตามมาด้วยภาพความสวยงามของ ‘ศาลาเฉลิมธานี’ โรงหนังไม้โบราณอายุร่วม 90 ปี ที่บรรจุเรื่องราวของพระเอกตลอดกาลอย่าง ‘มิตร ชัยบัญชา’ ซึ่งผูกพันกับที่นี่อย่างลึกซึ้งเอาไว้เต็มเปี่ยม ภายใต้ภาพจำของนางเลิ้งในวันวานที่เคยคึกครื้นไปด้วยผู้คนและเรื่องราวมากมาย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘วันเวลาที่รุ่งเรืองที่สุด’ ของนางเลิ้ง อาจไม่ใช่ปัจจุบันนี้ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่อีกแล้ว เมื่อการท่องเที่ยวในรูปแบบเดิม ๆ อาจไม่ได้ตอบโจทย์อีกต่อไป และตลาดนางเลิ้งอาจไม่ใช่ช่องทางในการเลือกซื้ออาหารที่สะดวกสบายที่สุดเหมือนเคย ความซบเซาที่ทวีคูณขึ้นนี้ คือโจทย์สำคัญที่ผู้อยู่อาศัยหน้าใหม่อย่างชาว ‘ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง’ (Urban Studies Lab) ซึ่งมีออฟฟิศตั้งอยู่ภายในย่าน ณ อดีตโรงเรียนสตรีจุลนาค อยากลองนำวิธีการใหม่ ๆ อย่างความคิดสร้างสรรค์เและงานเทศกาลเข้ามาลองสร้างความเปลี่ยนแปลงจุดเริ่มต้น แนวคิด และปลายทางของภารกิจฟื้นชีวิตให้นางเลิ้งกลับมาบันเทิงอีกครั้งภายในงาน Bangkok Design Week 2024 จะเป็นอย่างไร ก่อนที่วันจริงจะมาถึง เราอยากชวนมาหาคำตอบไปด้วยกันผ่านคำบอกเล่าของ ‘คุณเกฟ-วิรากานต์ ระคำมา’ Design Manager จาก Urban Studies Lab ในฐานะ Co-Host ผู้ร่วมจัด Bangkok Design Week ย่านนางเลิ้งในปีนี้  ย่านประวัติศาสตร์จากมุมมองของ ‘คนธรรมดา’พื้นที่ประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ส่วนใหญ่ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ มักจะเป็นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวพันการเป็นศูนย์กลางการปกครองที่รุ่มรวยด้วยศิลปะชั้นสูง สถาปัตยกรรมวัดวังที่ปราณีต และงานประเพณีโบราณ ในขณะที่ห่างออกมาเพียงไม่ไกล สิ่งที่ ‘ย่านนางเลิ้ง’ บันทึกเอาไว้กลับเป็นเสมือนตัวแทนเรื่องราวชีวิตประจำวันของคนธรรมดา คนที่หาเช้ากินค่ำ เข้าวัด ปรุงอาหาร ชมมหรสพ เล่นดนตรี และสิ่งนี้คือสิ่งที่คุณเกฟมองว่าทำให้ ‘นางเลิ้ง’ เป็นย่านประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกับที่ไหน ๆ“นางเลิ้งไม่ได้เป็นย่านอนุรักษ์มาก ๆ โบราณมาก ๆ มันเก่าแก่ก็จริงแต่ก็เป็นวิถีชีวิตของคนธรรมดา เรามีจุดเด่นในด้านของ Gastronomy มาก ๆ มีร้านอาหารที่เยอะมาก มีวัฒนธรรมบางอย่างที่เป็น Hidden Gems เช่น ละครชาตรีหรือว่าการทำแป้งพวง หัวหน้าชุมชนเองก็ดึงสิ่งเหล่านี้ออกมาทำให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวในย่านของเราอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่านางเลิ้งคือย่านประวัติศาสตร์ มันก็คือประวัติศาสตร์ผ่านสายตาของคนที่อยู่ในชุมชน และจากการได้ทำงานกับชุมชน ชุมชนก็มีความภูมิใจที่นางเลิ้งเป็นย่านกลางเก่ากลางใหม่ที่ไม่เหมือนใครแบบนี้”ความท้าทายจากอัตลักษณ์ที่หลากหลายของผู้คนเมื่อจุดแข็งของนางเลิ้งคือวิถีชีวิตของผู้คน และย่านก็ไม่ใช่เรื่องของคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่คือพื้นที่การใช้ชีวิตที่ทุกคนต่างแบ่งปันร่วมกัน การโอบรับและผสานมุมมองที่แตกต่างหลากหลายของคนในย่าน ในการตีความ ‘ขอบเขตพื้นที่’ และ ‘อัตลักษณ์’ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่เสมอเมื่อ Urban Studies Lab ทำงานกับพื้นที่นางเลิ้ง“คำว่า ‘ย่านนางเลิ้ง’ แอบเป็นคำถามสำหรับคนในชุมชนมาตลอด ว่าคำว่า ‘ย่านนางเลิ้ง’ มันหมายถึงตรงไหน ขอบเขตของนางเลิ้งคือตรงไหนกันแน่ บางคนบอกว่าอยู่ถึงแค่รอบ ๆ ตลาด บางคนบอกว่าถึงผ่านฟ้าเลย บางคนบอกถึงคลองผดุง บางคนบอกถึงวัดญวณ แต่ละคนก็มองไม่เหมือนกัน ซึ่งก็เป็นถือประเด็นที่น่าสนใจนะ เพราะเหมือนชุมชนก็ไม่ได้พยายามจะนิยามว่านางเลิ้งเป็นพื้นที่ตรงไหนแบบเฉพาะเจาะจง แล้วพอพื้นที่ไม่ได้ถูกนิยาม สิ่งที่ตามมาก็เลยเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ที่มันหลากหลายตามพื้นที่ไปด้วย คือถ้าจะให้พูดเรื่องเอกลักษณ์ของนางเลิ้ง มันท้าทายมากที่จะหยิบอะไรมาแค่หนึ่งอย่าง แล้วพูดว่า นางเลิ้ง = สิ่งนั้น เป็นอาหารอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้มีแต่อาหาร ยิ่งในพื้นที่ย่านนางเลิ้งมีหลายชุมชน แต่ละชุมชนก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เราก็ต้องเป็นคนกลางในความหลากหลายนี้”เปิดประตูความเป็นไปได้ใหม่ด้วย ‘งานเทศกาล’เพื่อฟื้นชีวิตให้กับย่านท่ามกลางอัตลักษณ์หลากหลายที่ยากจะผสานรวมกันให้เป็นหนึ่งเดียว คุณเกฟสรุปแนวทางการทำงานของทีมเอาไว้อย่างเรียบง่าย ว่าพวกเขาต้องการเปิดประตูความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพื่อให้คนในย่านมองเห็นศักยภาพในพื้นที่ของตัวเอง โดยไม่จำกัดนิยามว่านางเลิ้งจะต้องมีอัตลักษณ์เป็นอย่างไร แต่ด้วยการมองพื้นที่ให้เป็น Blank Space ซึ่งพร้อมสำหรับการทดลองใหม่ ๆ อย่างไม่รู้จบ“ด้วยความที่นางเลิ้งถือว่าเป็น Very First Beginning มาก ๆ สำหรับการเอาแนวคิดการจัดเทศกาลมาจับกับการพัฒนาพื้นที่ทางวัฒนธรรม ในทีมก็คุยกันว่าเราคาดหวังว่าอย่างน้อยนางเลิ้งจะได้กลับมามีพื้นที่สื่อใน Social Media สำหรับคนรุ่นใหม่มากขึ้น แน่นอนว่าในระยะสั้นก็เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับ Micro Economy ให้ร้านค้าได้มีคนใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น แต่ในระยะยาวเราตั้งใจอยากให้ชุมชนได้มองเห็นความเป็นไปได้และศักยภาพในตัวเอง รวมถึงโอกาสใหม่ ๆ ในการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนตอนนี้หลาย ๆ ร้านก็มีแพลนว่าจะปิดตัวเองเพราะรู้สึกว่าย่านนี้เหงามากแล้ว เขาไม่รู้ว่าทำต่อแล้วจะมีลูกค้ามามั้ย เราเลยอยากใช้โอกาสนี้เพื่อสื่อสารให้ชุมชนเองรู้ว่าเรายังมีศักยภาพ มีคนสนใจ มี Storytelling แบบใหม่ ๆ ในย่าน ผ่านกิจกรรมที่อาจจะไม่ต้องเป็นการเข้าวัดทำบุญเล่าเรื่องผีแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่มีกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง ที่นอกจากจะสามารถดึงดูดคนได้หลายกลุ่มมากขึ้นแล้ว ยังแมทช์กับความหลากหลายของชุมชนเองได้ด้วย”คืนชีวิตให้ย่านผ่านความบันเทิงที่ทำให้ชาวชุมชนและคนข้างนอกใจฟูจากการทำงานอย่างหนักไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ทำงานวิจัย พูดคุยและทำกระบวนการร่วมกับคนในชุมชน รวมถึงการระดมไอเดียกันขนานใหญ่ใน Townhall ของออฟฟิศ Urban Studies Lab ตัดสินใจตั้งโจทย์ของการทำงานใน Bangkok Design Week ปีนี้ให้กว้าง หลากหลาย และสื่อถึงความเป็นนางเลิ้งให้ได้มากที่สุด และได้ออกมาเป็นคอนเซ็ป ‘Entertainment in Everyday’ พร้อมเป้าหมายในการฟื้นคืนความบันเทิงที่หายไปของนางเลิ้งกลับมาอีกครั้ง“เราไปถามชุมชนหลาย ๆ ชุมชนว่าในฐานะที่เป็นคนในนางเลิ้งเขาคิดเห็นยังไงกับที่นี่ มีอะไรที่หายไปแล้วอยากให้กลับมาไหม เราพบว่าถึงพวกเขาจะมองอัตลักษณ์ที่มีอยู่แตกต่างกันไป แต่ทุกคนต่างก็รู้สึกว่านางเลิ้งเคยคึกคักกว่านี้ เคยเป็นย่านเอนเตอร์เทนเมนต์ที่คนมากิน มาเที่ยว มาเล่น ซึ่งตอนนี้มันหายไป เราเลยตั้งโจทย์เป็นเรื่องของ Entertainment in Everyday หรือการทำยังไงก็ได้ให้ย่านนางเลิ้งของเราที่ครั้งนึงเคยถูกเรียกว่าเป็นย่าน Entertatinment ของย่านพระนครกลับมาบันเทิงอีกครั้ง ซึ่งคำว่า ‘ความบันเทิง’ มันก็นิยามได้หลากหลายมาก มุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละชุมชนเลยสามารถทำงานร่วมกันภายใต้ธีมนี้ได้ด้วยในงานก็จะมีกิจกรรมหลายอย่าง ประมาณ 5 กิจกรรมย่อย ทัวร์ เวิร์กช็อป นิทรรศการ เกี่ยวกับกิจกรรมบันเทิง ยกตัวอย่างเช่น ทัวร์หนังสือ ซึ่งตอนเด็ก ๆ หลายคนที่เคยอยู่ในย่านนี้ก็คุ้นเคยกับการตามล่าหาการ์ตูนจากร้านของพวกสำนักพิมพ์ต่างๆ เขาก็อยากให้ภาพแบบนั้นกลับมา อันนึงที่ต่อจาก Lesson Learn ที่เราได้จาก Bangkok Design Week ครั้งที่แล้ว แล้วก็จะมีโปรเจกต์ที่ได้ทุนจาก CEA คือนางเลิ้งเมนู สิ่งนี้เกิดมาจากโจทย์ที่ว่านางเลิ้งมีอาหารเยอะมาก จะทำยังไงให้เรานำเสนออาหารนางเลิ้งได้ดีและครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพราะมันมีหลายสเกลมาก มีร้านที่เป็นร้านโบราณ ร้านที่ซ่อนในบ้าน แค่เปิดหน้าบ้านเป็นร้านอาหาร ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เข้ามาในย่าน ซึ่งปีนี้เราก็เอานางเลิ้งเมนูมาต่อยอดจากฟีดแบ็กจากร้านต่าง ๆ ที่เราเคยทำงานด้วย ซึ่งเราก็ได้รวบรวมความเห็นมาว่าเขาอยากจะพัฒนามันต่อยังไง อย่างบางร้านอยากให้เป็นการ์ดแต่อยากให้มีจำนวนร้านมากขึ้น บางคนก็บอกว่าอยากให้เป็นไกด์บุ๊กเลย คนจะได้มาทัวร์อาหารได้ด้วยตัวเองไม่ต้องมีใครเป็นตัวแทนเป็นนายหน้า ไกด์อีกกิจกรรมก็คือ Graffiti for better city ซึ่งอันนี้เราได้ศิลปินกราฟิตี้ที่มีใจอยากช่วยปรับภูมิทัศน์ของนางเลิ้งและพื้นที่รอบ ๆ มาช่วย เขาผูกพันกับตลาดนางเลิ้ง เคยใช้ชีวิตอยู่แถวนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วเขาเองก็รู้สึกว่ามันเสื่อมโทรมลงไป ก็เลยอยากเข้ามาแล้วก็ทำในสิ่งที่เขาถนัดก็คือการทำกราฟิตี้ที่บอกเล่าเรื่องราวของย่านนางเลิ้ง”สุดท้ายแล้วภารกิจฟื้นฟูความบันเทิงท่ามกลางอัตลักษณ์ที่หลากหลายจะถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบไหน ตามมาหาคำตอบด้วยตัวคุณเองได้ที่งาน Bangkok Design Week ย่านนางเลิ้งเท่านั้น !รู้จักกับ ‘ย่านนางเลิ้ง’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่านกระดานล่าร้านอร่อย นางเลิ้ง www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/67602 Untitled Case : Learning from Tragedies www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/76485 Graffiti เพื่อเมืองที่ดีขึ้นwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/67032 โต๊ะกินข้าวนอกบ้านwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/73128 คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านนางเลิ้ง ที่นี่ : www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=50628      –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : พร้อมพงษ์

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : พร้อมพงษ์ย่านรวมนักออกแบบที่พร้อมพัฒนาพื้นที่ ให้ดีต่อกาย ดีต่อใจ สำหรับผู้มาอยู่และผู้มาเยือน‘พร้อมพงษ์’ ย่านเศรษฐกิจชั้นนำของไทยที่เต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้าหรูหราหลากหลาย แทรกสลับกับออฟฟิศที่ทันสมัย คอนโดมิเนียม และย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นนำและชาวต่างชาติ คือย่านใหม่ที่ดูเผินๆ อาจเหมือนไม่ได้มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่ชัดเจนอย่างย่านไหนๆ แต่กลับโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะของย่านใหม่แห่ง Bangkok Design Week ที่ผสมผสานเอาต้นทุนที่มีอยู่ในย่านอย่างการเป็นศูนย์รวมสตูดิโอออกแบบคุณภาพ เข้ากับการพัฒนาชีวิตประจำวันและพื้นที่สาธารณะได้อย่างลงตัวแนวคิดและเคล็ดลับการทำงานของเหล่านักสร้างสรรค์แห่งย่านพร้อมพงษ์จะเป็นอย่างไร และเราจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ ในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ ‘คุณแยม-สุทธิดา ธรณธรรม’ Partner บริษัท Landscape Architects 49 และตัวแทนของกลุ่มนักออกแบบแห่งย่านพร้อมพงษ์ในปีนี้ จะมาอธิบายให้ฟังชุมชนนักออกแบบแห่งย่านพร้อมพงษ์‘อัตลักษณ์ของย่านพร้อมพงษ์’ คือสิ่งที่ใครหลายคนตั้งคำถามอยู่เสมอว่าย่านเศรษฐกิจและความบันเทิงที่สำคัญของกรุงเทพฯ ย่านนี้ ควรมีอัตลักษณ์เป็นอย่างไรกันแน่ คุณแยมและเพื่อนๆ นักออกแบบสตูดิโอต่างๆ เองก็ตั้งคำถามนี้อยู่ในใจเสมอเช่นกัน และท่ามกลางมหาสมุทรของความเป็นไปได้ ในที่สุดพวกเขาก็ค้นพบว่าอัตลักษณ์ของย่าน อาจไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน แต่คือต้นทุนที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน และสิ่งนั้นก็คือการมีอยู่ของพวกเขาในฐานะ ‘ชุมชนนักออกแบบแห่งย่านพร้อมพงษ์’ ที่พร้อมจะนำความสามารถมาใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในย่านนั่นเอง“อัตลักษณ์ของย่านพร้อมพงษ์ จะแตกต่างจากย่านอื่นๆ พอสมควร เพราะย่านพร้อมพงษ์ไม่ได้เป็นย่านที่เป็น History place แต่เป็นย่านเกิดใหม่ เราเลยพยายามที่จะผลักดันอัตลักษณ์พื้นที่ของเราในแง่ของการมีสตูดิโอออกแบบหลากหลายรวมอยู่ที่นี่ และชูประเด็นที่ว่า พวกเราในฐานะนักออกแบบที่รวมกลุ่มกันจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้มันเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมได้ยังไงบ้างพอมาประกอบกับธีมงานในปีนี้ซึ่งเป็นธีม Livable Scape เราเลยอยากเอาความเป็นย่านนักออกแบบมาเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ย่านให้มากขึ้น และพัฒนาสิ่งนี้ให้กลายเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของย่าน คือถ้านึกถึงย่านพร้อมพงษ์ ก็อยากให้นึกออกว่าเป็นย่านนักออกแบบ” พื้นที่สร้างสัมพันธ์เพื่อสร้างสรรค์เมื่อตั้งเป้าหมายได้สำเร็จว่าพวกเขาตั้งใจอยากผลักดันอัตลักษณ์ความเป็น ‘ย่านนักออกแบบ’ ให้กับพื้นที่ โจทย์ที่สำคัญในขั้นต่อไป จึงเป็นการเชื่อมต่อและสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่าง ‘นักออกแบบด้วยกัน’ และการเชื่อมต่อระหว่าง ‘นักออกแบบกับย่าน’โดยสิ่งที่คุณแยมมองว่าสำคัญมากและยังคงขาดไปในกระบวนการนี้ คือการมี ‘พื้นที่สาธารณะ’ ภายในย่านที่เปิดโอกาสให้ผู้คนหลากหลายสามารถมาพักผ่อน พบปะและแลกเปลี่ยนกันได้“ปัญหาคือตอนนี้เราอยู่ร่วมกัน เราเดินผ่านกัน เรารู้จักกัน แต่เราไม่มีพื้นที่ที่เป็น gathering space สำหรับให้เราทำความรู้จักและสนิทสนมกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นการที่มี space หนึ่งเนี่ย มันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการที่เรา connect กัน มันทำให้สังคมเราแข็งแรงขึ้น ทำให้ย่านเราแข็งแรงขึ้น และการที่เราได้ทำงานร่วมกัน ได้ออกแบบร่วมกัน มันคือการสร้าง connection ให้แข็งแรงขึ้นอย่างหนึ่งเพราะในเชิงของการทำงาน สตูดิโอต่างๆ ก็จะอยู่ในสาขาหรือสายงานที่แตกต่างกัน เช่น บางท่านก็จะอยู่ในสาขาของการออกแบบเครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์ บางท่านก็เป็นการออกแบบสถาปัตย์ เพราะฉะนั้นจะมีหลายๆ term ที่เวลาทำงานเราอาจจะไม่ได้อยู่ร่วมกันเท่าไหร่ เราเลยอยากให้มีพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนได้มา gathering กันจริงๆ เพื่อทำให้ความเป็นอยู่มันดีขึ้น”เปลี่ยนที่ปิดร้างในช่วงสุดสัปดาห์ ให้เป็นพื้นที่พักใจของทุกคนเพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนในฝันให้เกิดขึ้นจริง คุณแยมอธิบายว่าการศึกษาและคิดต่อยอดจากอินไซท์ที่มีอยู่จริงในย่านเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และหนึ่งในอินไซท์ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันและมีโพเทนเชียลในการนำมาพัฒนาต่อเป็นโปรเจกต์ คือ พื้นที่ร้างในวัน-เสาร์อาทิตย์ หรือ rest space“พอเราเป็นย่านที่มี office building เยอะๆ เป็นโกดังเป็นหลัก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันจะมีพื้นที่ที่เป็น rest space ในช่วงที่เป็น weekend ค่อนข้างเยอะพอสมควร เพราะใน week-day พื้นที่นั้นจะถูกใช้เป็นที่จอดรถ พอเป็น weekend ก็จะกลายเป็นพื้นที่ลานกว้างคอนกรีตที่ไม่มีใครใช้งาน ทั้งที่คนในย่านหลายคนก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ตลอด 7 วันต่อสัปดาห์เราก็เลยคิดว่าแล้วทำไมเราไม่ทำพื้นที่ที่เป็น rest space ให้ดีขึ้นล่ะ ให้กลายเป็น rest space ของคนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เฉพาะเวลาที่มีคนเข้ามาจอดรถทำงาน เราอยากสร้างให้มันกลายเป็นพื้นที่ที่คนในย่านสามารถจะจูงหมา จูงลูกมาเล่นในบริเวณพื้นที่นี้ได้ ซึ่งพื้นที่นี้จะอยู่บริเวณ Warehouse 26โดยเราไม่ได้ออกแบบโดยนึกถึงแค่คนหรือสัตว์เลี้ยงอย่างหมา แมวเท่านั้น แต่เราอยากให้สัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติอย่างนกหรือกระรอก ก็สามารถเข้ามาอยู่ร่วมกันได้ เพราะเอกลักษณ์ของซอย 26 คือต้นไม้มันร่มรื่นมาก ถ้าอย่างนั้นเรามาเพิ่มเติม บ้านนก บ้านกระรอก ให้สัตว์ได้มีที่อยู่จริงๆ ด้วยก็น่าจะดี ด้วยความที่เราเป็นสถาปนิก เราทำบ้านให้คนอยู่ ในครั้งนี้เราก็เลยอยากทำบ้านให้สัตว์เล็กๆ เขาได้อยู่ด้วย”คุณแยมอธิบายว่า ถึงในครั้งนี้จะเริ่มต้นจากพื้นที่เดียว แต่พวกเขาก็อยากให้สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่ว่า พื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของหรือพื้นที่ส่วนบุคคลที่ waste ไปในเสาร์-อาทิตย์ ควรถูกนำมาพัฒนาให้กลายเป็น space หนึ่งของ community ซึ่งจะสามารถช่วยทำให้สังคมดีขึ้นและแข็งแรงขึ้นได้เปิดบ้าน เปิดย่าน ด้วยงานออกแบบสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ คุณแยมอธิบายว่าพวกเขาจะมาพร้อมกับคอนเซปต์ ‘Giving Matters, Living Better’ ซึ่งหมายถึงการตอบแทนให้คืนสู่สังคม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีไฮไลต์หลักอยู่ 3 จุดด้วยกัน ได้แก่“จุดแรกคือ Outdoor space ตั้งแต่หน้า A49 จนถึงหน้า A square เป็นช่วงสั้นๆ ที่เป็นงานสาธารณะแบบ 100% เลย คือมีส่วนที่เราเพิ่มเติมกลุ่มบ้านนกบ้านกระรอกเข้าไป รวมถึงมีการพัฒนาจุดจอดรถวินมอเตอร์ไซค์ (motorcycle station) แล้วทดลองติดตั้งเป็นงานต้นแบบ (prototype) ให้กับพี่ๆ วินมอเตอร์ไซค์ด้วย ซึ่งส่วนนี้ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเห็นแล้วรู้สึกว่ามันดูเป็นระเบียบมากขึ้น เราเลยอยากให้มันได้ถูกนำไปต่อยอดในจุดอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ ด้วย เพราะเราเองก็ไม่ได้อยากให้มันจบอยู่แค่เราจุดที่สองคือ ส่วนกลางของ Warehouse 26 ที่เราจะใช้สเปซตัวนี้ในรูปแบบการแชร์พื้นที่กัน เช่น วันทำงานสเปซก็จะมีประมาณนี้ และยังเป็นที่จอดรถเหมือนเดิม แต่ในวันเสาร์-อาทิตย์ มันสามารถที่จะขยายออกไปได้อีก รวมถึงร้านค้าในท้องที่ก็สามารถมาใช้ share space ในพื้นที่นี้ขายของได้ด้วย ทำให้พื้นที่มีความ lively ขึ้น friendly ขึ้น ต้อนรับทุกคนที่เข้ามาในย่าน รวมถึงลิงก์เข้าไปกับ K Village ซึ่งปีนี้ K Village ก็ได้เข้ามาเป็นเพื่อนกับเราด้วย และสุดท้ายคือ ‘การเปิดบ้าน’ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะไม่ได้เป็นเชิงโปรแกรม แต่เป็นในเชิงที่ว่า ย่านเราเป็นย่านออกแบบ แล้วจากผลสำรวจปีที่แล้ว หลายๆ คนที่เข้ามาเขาอยากทราบว่า ต้นไอเดีย มันเกิดมาจากอะไร ทำไมย่านนี้ถึงเป็นย่านออกแบบ ตอนแรกสุดเราว่าจะไม่เปิดบ้าน เพราะปีที่แล้วเราเปิดบ้านไปแล้ว แต่หลายคนก็บอกว่าจริงๆ ยังมีอีกหลายคนที่อยากเห็นนะ ว่าในออฟฟิศออกแบบมันเป็นยังไง ที่มาของงานเป็นยังไง ดูซีเรียสไหม หรือสบายๆ ไหม เราเลยยังคงไอเดียการเป็น open house อยู่ เปิดให้คนภายนอกสามารถเข้ามาดูได้ว่าเราทำงานกันยังไง โดยบางสตูดิโอก็จะมี exhibition เล็กๆ จัดแสดงด้วย”เข้ามาทดลองใช้พื้นที่สาธารณะใหม่ของย่านและแลกเปลี่ยนกับเหล่านักสร้างสรรค์แห่งย่านพร้อมพงษ์ได้ที่ Bangkok Design Week 2024รู้จักกับ ‘พร้อมพงษ์’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่าน49&FRIENDS : Play Matters, Pet Matterswww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71641 49&Friend : K Village neighbourhood mallwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/69951 49&FRIENDS : Social Matterswww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71369 คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านพร้อมพงษ์ ที่นี่:www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=54158 –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : อารีย์-ประดิพัทธ์

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : อารีย์-ประดิพัทธ์ถักทอสายสัมพันธ์ ผ่านพื้นที่สร้างสรรค์ที่ทำให้คน-ธรรมชาติ-เมือง ได้อยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออารีเมื่อพูดถึงย่าน ‘อารีย์-ประดิพัทธ์’ สิ่งแรกที่อาจ pop-up ขึ้นมาในหัวของใครหลายคนอาจเป็นภาพลักษณ์ของการเป็นย่านศูนย์รวมคาเฟ่สุดชิคที่อัดแน่นอยู่ทุกหัวมุมถนน ย่านออฟฟิศและที่พักอาศัยของกลุ่มหนุ่มสาววัยทำงาน รวมถึงร้านค้า ร้านอาหาร และกิจการสร้างสรรค์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบรับกับความต้องการอย่างไม่หยุดยั้งแต่เมื่อได้มาคุยกับ ‘คุณอรุณี อธิภาพงศ์’ ผู้ร่วมก่อตั้ง AriAround แพลตฟอร์มสร้างสรรค์แห่งย่านอารีย์ และ Co-Host ผู้ร่วมจัดงาน Bangkok Design Week ย่านอารีย์ เราก็พบว่าสำหรับคนในพื้นที่แล้ว อารีย์ยังมีเสน่ห์และอัตลักษณ์ในแง่มุมอื่นๆ อีกมากมายที่พวกเขาอยากจะนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นที่เกี่ยวพันกับการใช้พื้นที่ย่าน การเป็นศูนย์รวมหน่วยงานราชการสำคัญและถิ่นฐานของข้าราชการ ขุนนางและชนชั้นนำในอดีต สถาปัตยกรรมโบราณ ไปจนถึงการเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติในเมืองซึ่งทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัยอารีย์แบบที่คนในย่านมุ่งสร้างสรรค์จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และสิ่งเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานในเทศกาล Bangkok Design Week อย่างไรบ้าง ชวนมาค้นหาคำตอบไปด้วยกันในบทความนี้ย่านใจกลางเมือง ที่ ‘เพื่อนบ้าน’ มาสานสัมพันธ์กันผ่านพื้นที่สาธารณะสำหรับคุณอรุณี เสน่ห์ของ ‘อารีย์’ คือการเป็นย่านใจกลางเมืองที่ยังคงมีความเป็น neighborhood อยู่อย่างเต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัยเดิม เจ้าของกิจการหน้าใหม่ เครือข่ายเพื่อสังคม กลุ่ม expat หรือแม้แต่หน่วยงานราชการ“โดยธรรมชาติคนในย่านจะรู้จักกัน มีความเป็น neighborhood สูงมากๆ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันเพื่อพัฒนาย่านก็จะมีหลายกลุ่ม เช่น เพื่อนบ้านอารีย์, People of Ari หรือแม้แต่ AriAround เอง เรามีการพบเจอกัน มี connection กัน เวลามีอะไรก็จะช่วยเหลือกันตลอด แบ่งแชร์กันว่าคิดว่าโปรเจกต์นี้เหมาะกับคนไหนก็แบ่งกันไปในอดีตแถวนี้ถือเป็นเมืองใหม่ ก็จะมีบ้านใหญ่ๆ ในสมัยจอมพล ป. อยู่เยอะ มีหมู่บ้านพิบูลที่เป็นหมู่บ้านจัดสรรแห่งที่สองของประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อประมาณ 80-90 ปีที่แล้ว มีบ้านใหญ่ๆ สูงๆ ของชนชั้นขุนนาง ราชการอยู่เยอะ จะเห็นได้จากซอยเล็กๆ แถวนี้ก็จะเป็นชื่อพวกคนสำคัญซะเยอะแล้วในย่านนี้จะมีศูนย์ราชการเยอะ ไม่ว่าจะเป็นกรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงการคลัง การคลังทั้งหลาย พวกราชการแผ่นดิน กรมธนารักษ์ แล้วก็ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ หรือกรมที่เพิ่งออกใหม่เกี่ยวกับ Climate Change สรรพากรก็อยู่แถวนี้ คนทั่วไปส่วนใหญ่จะมาเจอกันตามสวนสาธารณะ ซึ่งในอารีย์เรามีพื้นที่ทางธรรมชาติอยู่เยอะ กรมประชาสัมพันธ์ก็แบ่งพื้นที่ให้เขตพญาไทใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ ให้เขตพญาไทดูแลพื้นที่ตรงนี้ คนก็ออกมาออกกำลังกายเยอะ เป็นสวนที่คนเดินรอบสวนได้ ทั้งเดิน ทั้งวิ่ง มีสนามเทนนิส มีเตะบอล มีคนที่มาเป็นประจำจนจำกันได้ คนที่เก่งเทนนิสก็จะสอนกันไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร ใครเข้าไปก็จะสอนให้ คนที่ไปก็เลยจะรู้จักกัน มีความถ้อยทีถ้อยอาศัย เราเข้าไปชวนคุย มีทั้ง family หรือ expat ที่มาทำงานชั่วคราวก็อยู่ที่นี่กัน”สมดุลของการเติบโต VS ตัวตนภายใต้การเติบโตและขยายตัวของอารีย์ นอกจากความคึกคักครึกครื้นที่มาพร้อมการเปิดตัวของกิจการใหม่ๆ มากมายแล้ว สิ่งที่โตขึ้นตามก็คือค่าครองชีพภายในย่านที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนเก่าแก่ในย่านหลายคนจึงค่อนข้างจะเป็นกังวลกับการเข้ามาของคนกลุ่มใหม่ๆ เพราะกลัวว่าตัวตนของความเป็นอารีย์ที่พวกเขาคุ้นเคยมานานจะจางหายไปตามกาลเวลา (และราคาที่ดิน)“พวกเขาจะมีความแบบ เอ๊ะ คนใหม่เข้ามาจะมาทำอะไร จะมาสร้างสิ่งใหม่ไหม คนที่อยู่เดิมจะมีความรู้สึกกลัวของเดิมมันหาย กลัวค่าเช่ามันแพงขึ้น แล้วร้านเดิมๆ ที่เคยกินมันก็จะหายไปเอาจริงๆ ก่อนที่มันจะบูมแบบทุกวันนี้ พื้นที่นี้มีความเป็นย่านของ Creative People มานานแล้ว คือตั้งแต่ปี 90 ในตอนนั้นก็จะมีกลุ่มคนที่ทำงานสร้างสรรค์ พวกศิลปินดีไซเนอร์มาอยู่เยอะ เพราะสมัยนั้นที่นี่ค่าที่มันยังถูกอยู่และอยู่ใกล้เมือง ทั้งพี่โน้ต Dude Sweet หรือ DuckUnit ก็มีออฟฟิศก็อยู่แถวนี้ เขาก็จะมีความรู้สึกว่า เออ มันถูกดี แต่พอไปๆ มาๆ ร้านที่เขาเคยกินประจำมันก็อยู่ไม่ได้ ค่าเช่ามันก็ค่อยๆ แพงขึ้น เขาก็รู้สึกเดือดร้อน” พัฒนาพื้นที่การใช้ชีวิต ผ่านสายตาชาวอารีย์ที่อยู่อาศัยจริงเพื่อให้การเติบโตของย่านเป็นไปในแนวทางที่ไม่ทำร้ายคนในพื้นที่ แต่สนับสนุนวิถีชีวิตเดิมที่มีอยู่แล้ว สิ่งที่ Ari Around และเครือข่ายตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นในย่านจึงเน้นไปที่การทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในพื้นที่ในการใช้ชีวิตหลักของย่านอย่าง ‘สวนสาธารณะกรมประชาสัมพันธ์’ “ประเด็นคือเราต้องการให้มีการทำงานกับพื้นที่ข้างในที่คนอารีย์ใช้งานอยู่จริงๆ ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด เพราะอย่าง Bangkok Design Week ปีก่อนๆ งานก็จะค่อนข้างเน้นการกระจายไปตามคาเฟ่ แต่สุดท้ายแล้วเอาจริงๆ คนที่อยู่ในย่านไปนั่งตามคาเฟ่น้อยมาก คือเขาก็จะมีพื้นที่ใช้ชีวิตของเขาอยู่ในสวน คนสูงอายุก็จะวิ่งรอบตรงนั้นเป็นปกติซึ่งธีมหลักๆ ของเมืองน่าอยู่ที่เรามองเห็นคือ เราอยากให้คนทั้งหมดทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่หลากหลายช่วงวัย มองเห็นความเป็นไปได้ในการใช้พื้นที่สาธารณะที่มีอยู่แล้วในย่านอารีย์มากขึ้น ผ่านการเติมความคิดสร้างสรรค์เข้าไป เช่น อยากให้มองว่าสวนเป็นได้มากกว่าแค่พื้นที่วิ่งออกกำลังกาย ได้เห็นโพเทนเชียลของการใช้พื้นที่ในรูปแบบอื่น เพราะว่าปกติเขาจะแค่วิ่ง แต่มันจะมีพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้เช่นตรงกลาง เขาจะวิ่งแค่รอบๆ สวน แต่ตรงกลางที่เป็นสวนเป็นต้นไม้ที่มันสามารถนั่งได้ เขาจะไม่ค่อยเข้าไปใช้กัน แล้วถ้าเกิดมันมีการใช้พื้นที่มากขึ้น มันก็จะมี attention ไปตรงส่วนนี้มากขึ้น เพราะเขายังไม่เห็นความเป็นไปได้ เราก็เลยจะพยายามดึงความเป็นไปได้มาแสดงให้คนเห็น เพื่อกระตุ้นให้เขาได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นว่าตรงนี้มันควรจะพัฒนาไปเป็นอะไร”เปลี่ยนสวนสาธารณะให้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของทุกคนสำหรับงาน Bangkok Design Week ปีนี้ คุณอรุณีอธิบายว่าคอนเซปต์ของเทศกาลฯ ในปีนี้คือการเปิดสวนสาธารณะกรมประชาสัมพันธ์ให้กลายเป็น ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของทุกคน’ “เราอยากให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่คนในย่านสามารถฝึกฝนตัวเอง explore ตัวเอง และ express ตัวเองได้ ไม่ว่าจะผ่านเครื่องมือไหนๆ เช่น จะมาแสดงงานศิลปะ หรือจะมาโชว์ผลงาน มาขายของ มาจัดนิทรรศการ คือมันเป็นไปได้ไปหมดเลยแล้วด้วยความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เราก็จะมีการจัดให้สถานที่เป็นแบบ shrine เหมือนเป็นศาลเจ้าเลย แล้วก็เอาพลาสติกรีไซเคิล ที่เราร่วมกับกลุ่ม Less Plastic Thailand เอาพลาสติกรีไซเคิลมาทำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นรูปแบบไหน แต่ก็คือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือมันก็จะรีเลตกับคอนเซปต์ที่เราทำ คือให้คนนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าไอ้ตัวพลาสติกเนี่ยมันก็ไม่ได้เป็นผู้ร้ายเสมอไปถ้าเราจัดการมันได้อย่างถูกวิธีกิจกรรมอื่นๆ ในย่านก็ยังมีเยอะเหมือนเดิม ปีก่อนก็จะมี kid space เพราะตรงนั้นเป็นสนามเด็กเล่นด้วย ก็จะมีกิจกรรมให้เด็กมาเล่น หรืออย่างคุณตั้มร้านสุขใจ ปีก่อนเขาก็มีการให้ไปเก็บพืชในย่านให้มาทำข้าวยำด้วยกัน ปีนี้เขาอยากชวนคนทำปิกนิก อาจจะมีดนตรี แล้วก็มี cacao ceremony ก็จะมาทำกิจกรรมในพื้นที่เหมือนกัน แล้วก็มีการคุยกันว่าอาจจะทำ tea ceremony ก็จะเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ แบบ sacred space อาจจะเอาพืชที่เก็บในย่านนี่แหละมาทำ tea ceremony ทำให้ดูเป็นเรื่องเป็นราว ในย่านก็มีคนปลูกกระท่อม อาจจะเอามาทำอะไรให้คนคอนเน็กต์กับธรรมชาติหรืออย่าง Ari Ecowalk เนี่ยเขาก็มีจัดทุกเดือนอยู่แล้ว แต่ว่าในงานดีไซน์วีค เขาก็อยากทำอะไรที่พิเศษขึ้น คืออยากชวนคนมาเดินสำรวจธรรมชาติในย่านแล้วเอาไปออกแบบเป็นมาสคอตย่านมาประกวดกันต่อไป ซึ่งอันนี้คอนเน็กต์กับ Thinkster ซึ่งออฟฟิศก็อยู่ในย่านเราด้วย”ไม่เพียงแต่สานสัมพันธ์เฉพาะกับคนในย่านเท่านั้น ในงาน Bangkok Design Week ย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์ ยังมีกิจกรรมอย่าง ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ ทัวร์สุ่มแบบไม่มีไกด์ ที่จะพาคนไม่รู้จักให้กลายมาเป็นเพื่อนกัน ผ่านการเดินสำรวจย่าน ตอกย้ำความเป็นพื้นที่แห่งการผูกมิตรในแบบฉบับอารีย์พื้นที่สีเขียวในย่านอารีย์จะกลายเป็นอะไรได้อีกบ้าง อย่าลืมตามมาหาคำตอบด้วยกันได้ที่ Bangkok Design Week 2024 ย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์!รู้จักกับ ‘ย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่านAri Shrine Onwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/84480 ARI ECOWALK – ส่องย่าน สร้างตัวแทนธรรมชาติwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/85241 เมืองเล่นได้www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/87412 Ari Picnicwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/85246 คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์ ที่นี่: www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=282 –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : วงเวียนใหญ่ - ตลาดพลู

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู“ต่อยอดวัฒนธรรมฝั่งธนฯ ด้วยการเชื่อมโยงคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่บนพื้นที่สองย่านที่เชื่อมกันด้วยเส้นทางรถไฟ”‘วงเวียนใหญ่’ ย่านประวัติศาสตร์อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวไทยและชาวจีนบริเวณพื้นที่ฝั่งธนบุรีมาอย่างยาวนาน และ ‘ตลาดพลู’ ย่านอาหารการกินเก่าแก่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตลาดและสถานีรถไฟซึ่งคึกคักไปด้วยร้านเด็ดตลอด 24 ชั่วโมง สองพื้นที่เชื่อมต่อที่โดดเด่นในเรื่องของสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของคนในย่าน คือหนึ่งในสนามโชว์ฝีมือของนักออกแบบในงาน Bangkok Design Week ในครั้งนี้ความท้าทายที่ย่านสร้างสรรค์เก่าแก่อย่างวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู กำลังเผชิญอยู่คืออะไร และพวกเขามีแผนในการออกแบบงานเทศกาลในปีนี้ในรูปแบบไหน ‘ดร.ณัฐฐา สววิบูลย์’ จากคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม Co-host ของ Bangkok Design Week ย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู จะมาเล่าให้ฟังดินแดนแห่งการอยู่อาศัยที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมอาหาร“จริงๆ ย่านวงเวียนใหญ่กับตลาดพลู เรื่องราวที่เป็นเรื่องเด่นๆ จริงๆ ในพาร์ตของตลาดพลู จะเป็นวัฒนธรรมในเรื่องของอาหาร ความเชื่อ วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน ความเชื่อของศาลเจ้า วัดวาอาราม สถาปัตยกรรม และภูมิปัญญาต่างๆ ส่วนวงเวียนใหญ่ปีที่แล้วเราพูดถึงเรื่องเครื่องหนัง การถลกหนัง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ปีนี้ก็เลยคิดว่าจะเล่ามิติของเรื่องหนังต่อไปเพื่อขยายผล”‘ย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู’ คือย่านวัฒนธรรมอาหารแห่งฝั่งธนฯ ที่โดดเด่นด้วยประวัติศาสตร์การตั้งรกรากอยู่อาศัยที่ยาวนาน สารพันร้านอาหารเจ้าดัง รวมไปถึงการเดินทางที่สะดวกสบาย ง่ายต่อการตะลุยกิน จากการเป็นที่ตั้งของวงเวียนใหญ่ที่มีถนนสำคัญมากถึง 4 สาย คือ ถนนประชาธิปก ถนนลาดหญ้า ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และถนนอินทรพิทักษ์ มาบรรจบกัน นอกจากนี้ยังมีทั้งสถานีรถไฟฟ้า BTS MRT และรถไฟไทยผ่านอีกด้วยด้วยองค์ประกอบที่ครบครันพร้อมทั้งการรวมกลุ่มของภาคประชาชนที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มตลาดพลูดูดี, ถามฉันสิ ดิฉันคนตลาดพลู, ยังธน ฯลฯ ย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลูจึงถือเป็นอีกหนึ่งย่านสร้างสรรค์ที่มีการทำงานทำพื้นที่ในทุกๆ ระดับอย่างสม่ำเสมอรักน้อยๆ แต่รักนานๆจะเรียกตลาดพลู – วงเวียนใหญ่ว่าเป็นย่านที่ ‘เนื้อหอม’ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะที่นี่มีผู้คนมากมายสนใจเข้ามาให้ความช่วยเหลือและทำงานด้วยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายภาคประชาชน องค์กร และมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่อาจารย์ณัฐฐาอธิบายว่าสิ่งนั้นมองในอีกแง่มุมกลับไม่ได้ส่งผลดีต่อย่านมากอย่างที่คิด เพราะยิ่งคนมากมายอยากเข้ามาทำงานในย่าน ความยากคือการทำอย่างไรให้ชุมชนสามารถรันโปรเจกต์ต่างๆ เหล่านั้นต่อด้วยตัวเองได้อย่างยั่งยืน“จริงๆ ในชุมชนก็อยากทำงานต่อเนื่องนะ แต่บางทีกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่มที่เข้ามาช่วย เขาก็เข้ามาเฉพาะแล้วแต่โครงการแต่ละโครงการไป พอหมดช่วงเวลาโครงการ คนในชุมชนก็ต้องหาทางดูแลกันต่อเอง แต่พอโครงการเยอะกว่าปริมาณที่คนในชุมชนเองดูแลไหว ชุมชนก็อาจจะขาดแรงงานหรือคนที่เข้าไปรันงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นเรื่องของงบประมาณด้วย อาจจะเป็นการรอจากภาครัฐ ความต่อเนื่องก็เลยหายไป แต่พอมีอีเวนต์ปีละหน หรือการที่เราเข้าไปทำเวิร์กช็อปเป็นระยะๆ ก็กระตุ้นได้เป็นครั้งเป็นคราว”เชื่อมชุมชนเข้ากับรายวิชา เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ของนักศึกษาอย่างยั่งยืนสำหรับมหาวิทยาลัยศรีปทุม ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ทำงานร่วมกับย่านตลาดพลูมายาวนาน อาจารย์ณัฐฐาอธิบายว่าทางทีมพยายามออกแบบการทำงานร่วมกับย่านให้เป็นระบบและมีกระบวนการมีส่วนร่วมมากที่สุด คือเริ่มต้นจากการเข้าไปรับโจทย์จากชุมชน ดีไซน์ออกมาเป็นหลักสูตรในรายวิชาเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำงานในพื้นที่จริงๆ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการประเมินฟีดแบ็กหลังวิชาจบเพื่อนำไปปรับปรุงรายวิชาในครั้งต่อไป และทำวนซ้ำไปเช่นนี้เรื่อยๆ“ในส่วนของนักศึกษา การเข้าไปส่วนใหญ่คือการที่เราเข้าไปรับโจทย์ก่อน เราก็มีวิชาดีไซน์ทำนิทรรศการ (exhibition) อยู่แล้ว และมีเรื่องของการทำเฟอร์นิเจอร์ เราคิดว่าเราน่าจะใช้ความรู้ที่เรามี สอนนักศึกษาด้วย เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานจริงด้วย เพราะเดี๋ยวนี้นักศึกษาก็ชอบเรียนนอกสถานที่มากกว่าในห้องเรียน ชอบที่จะลงมือทำส่วนชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะบางทีเขาอยากทำ แต่ไม่รู้จะทำยังไง อย่างทัวร์ในย่านเขาก็เคยมีแต่ไม่ได้ถูกทำให้ต่อเนื่อง พอเรารับโจทย์มาเราก็มาดูว่า เราจะเอาเด็กกลุ่มไหนเข้าไป หรือจะบูรณาการกับวิชาไหน จะบริหารเวลาในการนำนักศึกษาไปช่วยทำอย่างไร แต่ด้วยความที่เราทำพื้นที่นี้ต่อเนื่องมาหลายปี จึงได้รับความร่วมมืออย่างดี คุ้นเคยกับคนในย่านดี ชาวบ้านในชุมชนค่อนข้างเห็นประโยชน์ของการจัดกิจกรรม ค่อนข้างได้รับความร่วมมือที่ดี และทางเขตก็น่ารัก การทำงานก็เลยค่อนข้างราบรื่น”ชวนมา ‘ทัวร์ลง’ ที่วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลูอาจารย์ปิดท้ายด้วยการสปอยล์คอนเซปต์ของงาน Bangkok Design Week ย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู ในครั้งนี้ว่ามาในธีม ‘ทัวร์ลง’“ปีนี้เรามาในคอนเซปต์ ‘ทัวร์ลง’ แต่เป็นคำว่าทัวร์ลงในเชิงบวก คือเราอยากจะให้มีเรื่องการเดินทางของผู้คนเข้ามาในพื้นที่ เพื่อที่จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ เช่น คนรุ่นเก่า คนที่อยู่ในย่าน คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามา และหลักๆ เลยเราอยากจะต่อยอดทุนวัฒนธรรมเดิมที่ชุมชนมีอยู่แล้ว และเปิดพื้นที่ให้คนได้เข้ามาเรียนรู้ผ่านงานออกแบบสร้างสรรค์ และในส่วนของเวิร์กช็อปเองก็จะช่วยในเรื่องของการสร้างรายได้และปลุกชีวิตให้พื้นที่ตรงนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น” โดยกลุ่มของกิจกรรมจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ “หนึ่งคือ กลุ่มนิทรรศการ Exhibition Intallation รวมไปถึงพวก Street Furniture ที่ตอนจบงานแล้วเราก็ยังสามารถวางไว้ให้คนในพื้นที่ใช้ต่อได้ ในพวกนิทรรศการก็จะเป็น นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวพาร์ตตลาดพลูก็จะเล่าเรื่องวัฒนธรรมอาหาร ซึ่งตัวนิทรรศการจะอยู่ในพื้นที่ของสถานีรถไฟ เป็นแนวคิดของ ทัวร์ลงรถไฟ มาเชื่อมระหว่างตลาดพลูกับวงเวียนใหญ่ จากสถานีรถไฟก็จะมาเชื่อมกับส่วนตลาดพลู ซึ่งก็จะมีในส่วนของ Exhibition / Installation Art และ Street Furniture เลยจากส่วนตลาดพลู ก็จะเป็นส่วนของศาลเจ้า ก็จะมี Installation Art ที่พูดถึงเรื่องความเชื่อ ความมูนิดๆ ที่สามารถมาเช็กอินถ่ายรูปกันได้ ฝั่งวงเวียนใหญ่ก็จะมี Installation Art ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องเครื่องหนัง ตรงนี้เราใช้พื้นที่ตรงอุโมงค์ทางลอดที่ขึ้นมาบริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินที่คนจะชอบไปถ่ายรูป เราก็จะไปบอกเล่าเรื่องราวตรงนั้นเพื่อที่จะเชื่อมมาถึงบริเวณถนนเจริญรัถ ที่เป็นถนนสายหนัง ซึ่งตรงนี้จะมาควบคู่กับทริปเดินทัวร์ย่านที่เราได้ถามสิ อิฉันคนตลาดพลูมาเป็นคนนำเองสองคือ กลุ่มการประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ ที่เราจะร่วมกับพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และใช้พื้นที่ของ มจธ. ในส่วนของ KX innovation และสุดท้ายคือ กลุ่มเวิร์กช็อปที่ส่วนใหญ่จะเป็นเวิร์กช็อปที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว เช่น ในส่วนของเวิร์กช็อปของเล่นไม้ / การทำว่าวจุฬา / เวิร์กช็อปการทำหัวสิงโต ซึ่งค่อนข้างได้รับฟีดแบ็กที่ดี ซึ่งก็จะเป็นส่วนที่ชุมชนเข้ามาเป็นวิทยากร ซึ่งทางชุมชนก็ยินดีที่จะมาทำตรงนี้ ยินดีมากๆ ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาก็จะเป็นเวิร์กช็อปสมุดทำมือ หรือว่า craft beer ที่ได้วัตถุดิบมาจากโลคอล และฝั่งวงเวียนใหญ่ก็ยังคงมีเวิร์กช็อปเครื่องหนังและทำดอกไม้แห้ง”นั่งรถไฟเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมอาหารและงานฝีมือที่หลากหลายในย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู ได้ที่ Bangkok Design Week 2024 รู้จักกับ ‘วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่านทัวร์ลงตลาดพลูwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/73705 ทัวร์ศาลเจ้า: 7 8 9 ไฟ ถึง ไฟwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/73672 DIY: เครื่องหนังทำมือ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/74031 DIY: ว่าวบางสะแกลุงเบื้อกwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/73880 คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านวงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู ที่นี่ : www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=49829 –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape