ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : พระนคร

เผยแพร่เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : พระนคร

ผสานความเก่าเข้ากับความล้ำสมัย เพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่จะทำให้ย่านนี้ไม่มีวันเก่า


ถ้าคุณลองถามเพื่อนชาวต่างชาติว่าเวลามากรุงเทพฯ จะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง? คำตอบยอดฮิตคงหนีไม่พ้นการไปดู Reclining Buddha หรือพระนอนที่สวยเด่นแห่งวัดโพธิ์ เที่ยวชม The Grand Palace ต่อคิวอีสเจ๊ไฝและผัดไทยประตูผี ก่อนจะปิดท้ายวันดีๆ ด้วยการไปแฮฟฟันที่ข้าวสารโร้ด ในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างกรุงเทพมหานคร ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าย่านเมืองเก่า ‘พระนคร’ ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักของเหล่านักเดินทางมาอย่างยาวนาน


ท่ามกลางสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังเหล่านี้ สิ่งที่ย่านพระนครกำลังเผชิญอยู่ในขณะเดียวกัน คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานพื้นที่เมืองซึ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อย่านอยู่อาศัยเดิมแปรสภาพเป็นย่านท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว ผู้อยู่อาศัยและคนทำงานหาเช้ากินค่ำก็จำต้องย้ายออกไปตามการขยายตัวของเมือง สิ่งที่หลงเหลืออยู่มากมายจากสถานการณ์เช่นนี้ คือกลุ่มอาคารเก่าที่ถูกปิดร้างไร้การดูแล ซึ่งยังคงเฝ้ารอการถูกนำกลับมาใช้ใหม่ (repurpose) ในรูปแบบที่เข้ากับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเดิม


ในฐานะเจ้าบ้าน พวกเขาจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร มาร่วมหาคำตอบไปด้วยกันกับ ‘ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์’ ตัวแทนจาก Urban Ally ในฐานะ Co-Host คนสำคัญแห่งย่านพระนครใน Bangkok Design Week ปีนี้ 


‘ย่านเมืองเก่า’ ที่เอื้อต่อการเกิด ‘ธุรกิจใหม่’


เมื่อคุณค่าที่สั่งสมมายาวนานกว่า 240 ปี ประกอบร่างสร้าง ‘พระนคร’ ให้กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ต้นทุนทางวัฒนธรรม และบรรยากาศเก่าๆ ซึ่งชวนให้โหยหาอดีต สิ่งหนึ่งที่เมืองเก่าแห่งนี้มีอยู่เต็มเปี่ยมอย่างแน่นอนก็คืออัตลักษณ์ที่หลอมรวมความเก่าและใหม่เข้าด้วยกันอย่างลงตัว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ ดร.พีรียามองว่าเป็นจุดแข็งของที่นี่คือโครงสร้างของเมืองที่เล็กกะทัดรัด แต่กลับมีสถานที่สำคัญต่างๆ อยู่ครบจบในระยะที่เดินถึง คล้ายกับว่าถูกออกแบบเอาไว้เป็นอย่างดีมากกว่าเมืองใหม่บางย่านเสียอีก


“จริงๆ แล้ว คาแรกเตอร์ของเมืองเก่าคือมันเป็นเมืองที่เดินได้จริงๆ มีทางเท้า บล็อกเล็ก เดินเชื่อมโยงได้ เป็นเมือง 15 นาที อันนี้คาแรกเตอร์ชัด แล้วเราก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับสตาร์ตอัพใหม่ๆ ที่เข้ามาอยู่ในย่าน พอเขาลองเข้ามาอยู่ได้สักพัก เขาบอกว่า มันหาของกินก็ง่าย อยากจะซื้อของอะไรก็สะดวก ไปไหนก็หาทุกอย่างได้ในเมืองเก่า อันนี้เป็นต้นทุนเดิมของโครงสร้างเมืองที่มันดี สุดท้ายคือ identity ของเมืองเก่ามันชัดเจน มันมีสินทรัพย์ที่ชัดเจน มันเป็นพื้นที่ตั้งต้นของเมือง มีอาคารที่มีคุณค่า มีพื้นที่ว่างที่รอการพัฒนาอยู่เยอะ มีลักษณะของความเป็น shophouse (ตึกแถว) ที่สเกลเหมาะกับการพัฒนา Micro Business หรือ Creative Business มากๆ”


‘บำรุงเมือง’ ด้วยความคิดสร้างสรรค์


กระบวนการ ‘บำรุงรักษา’ หมายถึงขั้นตอนในการดูแลรักษาสิ่งต่างๆ ให้กลับมามีสภาพพร้อมใช้และสามารถทำงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้อีกครั้ง คำว่า ‘บำรุงเมือง’ ในที่นี้ จึงหมายถึงการดูแลรักษาพื้นที่ต่างๆ ภายในเมืองที่อาจถูกละเลยไป ให้กลับมาถูกใช้งานได้จริงอีกครั้งเช่นกัน


“15 ปีที่ผ่านมา ย่านพระนครมีการเปลี่ยนแปลง มีการใช้อาคารเก่ากลับมาใช้ทำกิจกรรมต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอาคารอีกกลุ่มหนึ่งที่ปิดร้างไป มีธุรกิจประเภทธุรกิจทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจสร้างสรรค์ปิดตัวลงไปเยอะมากประมาณครึ่งนึงได้ เราพบว่าธุรกิจในย่านนี้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวซะเยอะ และก็ไม่ได้มีการออกแบบในพื้นที่ หรือว่าผลิตในพื้นที่อีกต่อไป แต่เป็นในลักษณะซื้อมาขายไป เพราะฉะนั้นย่านมันกำลังเป็นเมืองธุรกิจปลายน้ำ ถ้าเป็นแบบนี้เรื่อยๆ อัตลักษณ์ที่เคยมีในย่านก็จะหายไป”


และสิ่งที่ Urban Ally เลือกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลรักษาและฟื้นฟูเมืองเก่าในครั้งนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ นั่นเอง โดย ดร.พีรียาอธิบายเพิ่มเติมว่าเป้าหมายใหญ่ของพวกเขาไม่ใช่แค่การเข้ามาจัดอีเวนต์สร้างสรรค์ภายในย่านเป็นครั้งคราว แต่เป็นการสร้างพระนครให้กลายเป็น ‘เมืองธุรกิจหัวดี’ ซึ่งสามารถดึงดูดให้เหล่านักสร้างสรรค์อยากย้ายเข้ามาใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่นี่ในระยะยาว


“ความเป็นเมืองหัวดีที่พูดถึง หมายถึงการเป็นเมืองสร้างสรรค์ที่มีงานออกแบบเป็นแกน เป็นย่านที่มีสตาร์ตอัพใหม่ๆ กิจการใหม่ๆ อยากย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเกิดขึ้น มีผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตในย่านมากขึ้น ไม่ใช่แค่การใช้งานออกแบบหรือศิลปะสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่คนมาเที่ยวแล้วกลับ แต่คือการสร้างปัจจัยที่ชวนให้นักสร้างสรรค์อยากย้ายเข้ามาอยู่ในย่านเลย เราอยากให้ปลายทางเป็นแบบนั้น” 


รวม ‘มิตร’ มา ‘บำรุงเมือง’


การพัฒนาย่านไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ด้วยการทำงานตัวคนเดียว โดยเฉพาะในย่านสำคัญที่เต็มไปด้วย Stakeholder หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ชุมชนเก่าแก่ นักออกแบบ ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว ฯลฯ อย่างย่านพระนคร อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยในกระบวนการของ Urban Ally จึงเป็นการรวมผู้คนที่หลากหลายให้กลายมาเป็น ‘พันธมิตร’ ที่พร้อมจะร่วมบำรุงเมืองไปด้วยกัน


“เราทำมา 3 ปีแล้วในการ matching ดีไซเนอร์ ราชการ และชุมชน เราก็พอเข้าใจว่าราชการต้องการอะไร แล้วดีไซเนอร์ไม่ชอบทำอะไร เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นบทบาทของเรา คือเราลิงก์ทุกอย่างให้ทุกคนเพื่อให้ทุกอย่างมันไปได้ แล้วก็เป็นพื้นที่ให้ดีไซเนอร์รู้สึก comfortable ที่จะมีอิสระในการทำงาน ส่วนราชการก็เห็นภาพว่าทำแล้วเขาได้อะไร ชุมชนเห็นภาพว่าพองานเหล่านี้เข้าไปแล้วเขาสามารถมาร่วมอะไรได้บ้าง” 


นอกจากการประสานความร่วมมือของผู้คนหลายฝ่ายเข้าด้วยกันจะเป็นแกนสำคัญในการทำงานภาพใหญ่ของย่านแล้ว ในงาน Bangkok Design Week ครั้งนี้ ดร.พีรียาอธิบายว่าบทบาทของการ ‘รวมมิตร’ เช่นนี้ก็ยังมีความสำคัญไม่แพ้กัน


“งานในครั้งนี้เองเราก็ไม่ใช่ดีไซเนอร์กลุ่มเดียว แต่จะเป็นการรวมศาสตร์หลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ซึ่งนี่ก็สะท้อนเรื่องการทำงานเมืองด้วยเหมือนกันค่ะ ว่าการทำงานเมืองทำคนเดียวไม่ได้ และไม่มีศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งทำงานด้วยตัวของมันเองได้ มันต้องผสมผสานหลายอย่าง ซึ่งถือว่า DNA ที่เราพยายามผลักดันมาตลอด ว่ามันจะต้องมีหลายๆ คนเข้ามาทำด้วยกัน สิ่งที่เราหวังมันถึงจะเกิดขึ้นมาได้จริง”


รวมหลายศาสตร์ สร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ให้เมืองเก่า ใน BKKDW 2024


จากประสบการณ์ 3 ปีในฐานะ Co-Host ย่านพระนคร ดร.พีรียาเปิดเผยว่า หมุดหมายใหม่ที่ Urban Ally อยากจะทำให้เกิดขึ้นได้ภายในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ คือสร้างภาพจำใหม่ให้กับย่าน ผ่านการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ผู้มาเยือนอาจไม่เคยได้สัมผัส รวมถึงแนวทางใหม่ๆ ในการทดลองใช้งานพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกใช้ด้วยวิธีต่างๆ มากมาย


“ปัญหาหนึ่งของย่านพระนครคือมีหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้ถูกใช้อยู่ หลังจากที่เราทำปีที่แล้ว เราเห็นคนที่เคยรู้สึกผูกพันกับพื้นที่ตรงนี้ ไม่ว่าจะเคยทำงานที่นี่ หรือบ้านอยู่แถวนี้ ได้กลับมาทำความรู้จักมันอีกครั้งในมุมใหม่ หรือแม้แต่บางคนที่ไม่เคยรู้จักที่นี่เลย ก็ได้เข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้และเข้าใจความรู้สึกของคนที่เข้ามาอยู่ในเมืองเก่ามากขึ้น ซึ่งมันน่าสนใจมาก ปีนี้เราเลยอยากโฟกัสไปที่การทดลองสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในการใช้งานพื้นที่เก่าผ่านกระบวนการต่างๆ ที่หลากหลายขึ้น


ยกตัวอย่างเช่น เรามีการทำงานร่วมกับกลุ่มที่ทำเรื่องของ Projection Mapping และ Moving Image ที่จะมาสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในพื้นที่ ว่างานอาร์ตในอีกรูปแบบหนึ่งมันสามารถเปลี่ยนภาพจำด้วยวิธีไหนได้บ้าง ก็จะมีที่ประปาแม้นศรี สวนรมณีนาถ ที่ป้อมมหากาฬ รวมถึงที่คอร์ตข้างในศาลาว่าการกรุงเทพฯ


ส่วนในคอร์ตกลางของศาลาว่าการฯ ก็จะมี People Pavilion ปีนี้เราจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่กึ่งสาธารณะในพื้นที่ของราชการ เพื่อสื่อถึงความเป็นเมือง 15 นาที พูดถึงบทบาทในอนาคตของอาคารศาลาว่าการฯ จากการที่อาจารย์ชัชชาติมีแผนที่จะย้ายข้าราชการและศาลาว่าการออกไปอยู่ที่ดินแดงอย่างสมบูรณ์ งานนี้ก็จะเป็นหนึ่งในการตั้งคำถามว่าพื้นที่นี้จะถูกเปลี่ยนแปลงมันเป็นอะไรได้บ้าง คนเมืองอยากได้อะไร และชุมชนอยากได้อะไร


งาน ‘พระนคร Audio Guide’ ก็จะเป็น experience ในอีกรูปแบบหนึ่งที่จะมีการนำทางด้วยเสียง คล้ายกับการเดินชมงานในมิวเซียม แต่เรามองว่าพื้นที่ทั้งหมดในย่านคือพื้นที่จัดแสดง ทั้งอินดอร์ เอาต์ดอร์ คนสามารถเดินด้วยตัวเองได้ แล้วก็จะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านเสียงที่คอยแนะนำ คุณไม่ต้องเปิดแผนที่นะ คุณลองฟังและเดินตามคำบอกคน แบบเห็นอาคารนี้มั้ย เลี้ยวขวา เลี้ยวซ้าย เจอร้านอะไร ลองเข้าไปซื้อของสิ อันนี้ก็จะเป็น experience ใหม่ที่เราพยายามจะ introduce ไปในย่าน


แล้วก็มีงาน Lighting Design ของทีม FOS คือชื่อ Bangkok Nostalgia อยู่ที่ป้อมมหากาฬ ตอนนี้เป็นสวนสาธารณะที่ไม่มีคนใช้ ทำยังไงให้คนรู้สึกว่าอยากเข้าไปใช้ ทีม FOS ก็เลยขอทำตรงนี้ เราก็ยินดีมาก เพราะหลังจากที่มันเกิดเหตุการณ์มากมายแล้วไม่ได้ถูกใช้ มันก็จะอยู่แค่นั้น เราควรกล้าที่จะเข้าไปทำอะไรกับมัน แล้วก็จะมีงาน Projection Mapping อยู่ตรงป้อมมหากาฬด้วยจากทีม The Motion House”


ยิ่งฟัง ดร.พีรียาบรรยายถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในย่านพระนคร นอกจากความตื่นเต้นและน่าสนใจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกฉายภาพให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านกระบวนการเตรียมงานที่เข้มข้นนี้ก็คือ การรวมตัวกันของเหล่านักออกแบบจากหลากหลายทีมและศาสตร์หลากหลายแขนง ซึ่งผนึกกำลังกันเป็นทีมเดียว เป็น (การรวม) มิตร (มาช่วยกัน) บำรุงเมืองสมชื่อจริงๆ


รู้จักกับ ‘ย่านพระนคร’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่าน

People Pavilion

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/76271 


พระนคร Audio Guide

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/76296 


“มา/หา/กัน” Join (joy) together

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/76265 


ExperienceScape: The Legendary Scape

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/73204 


คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านพระนคร ที่นี่

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=49828 


Bangkok Design Week 2024

Livable Scape

คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

27 Jan – 4 Feb 2024


#BKKDW2024

#BangkokDesignWeek

#LivableScape

แชร์