ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : พร้อมพงษ์

เผยแพร่เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : พร้อมพงษ์

ย่านรวมนักออกแบบที่พร้อมพัฒนาพื้นที่ ให้ดีต่อกาย ดีต่อใจ สำหรับผู้มาอยู่และผู้มาเยือน


‘พร้อมพงษ์’ ย่านเศรษฐกิจชั้นนำของไทยที่เต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้าหรูหราหลากหลาย แทรกสลับกับออฟฟิศที่ทันสมัย คอนโดมิเนียม และย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นนำและชาวต่างชาติ คือย่านใหม่ที่ดูเผินๆ อาจเหมือนไม่ได้มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่ชัดเจนอย่างย่านไหนๆ แต่กลับโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะของย่านใหม่แห่ง Bangkok Design Week ที่ผสมผสานเอาต้นทุนที่มีอยู่ในย่านอย่างการเป็นศูนย์รวมสตูดิโอออกแบบคุณภาพ เข้ากับการพัฒนาชีวิตประจำวันและพื้นที่สาธารณะได้อย่างลงตัว


แนวคิดและเคล็ดลับการทำงานของเหล่านักสร้างสรรค์แห่งย่านพร้อมพงษ์จะเป็นอย่างไร และเราจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ ในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ ‘คุณแยม-สุทธิดา ธรณธรรม’ Partner บริษัท Landscape Architects 49 และตัวแทนของกลุ่มนักออกแบบแห่งย่านพร้อมพงษ์ในปีนี้ จะมาอธิบายให้ฟัง


ชุมชนนักออกแบบแห่งย่านพร้อมพงษ์


‘อัตลักษณ์ของย่านพร้อมพงษ์’ คือสิ่งที่ใครหลายคนตั้งคำถามอยู่เสมอว่าย่านเศรษฐกิจและความบันเทิงที่สำคัญของกรุงเทพฯ ย่านนี้ ควรมีอัตลักษณ์เป็นอย่างไรกันแน่ คุณแยมและเพื่อนๆ นักออกแบบสตูดิโอต่างๆ เองก็ตั้งคำถามนี้อยู่ในใจเสมอเช่นกัน และท่ามกลางมหาสมุทรของความเป็นไปได้ ในที่สุดพวกเขาก็ค้นพบว่าอัตลักษณ์ของย่าน อาจไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน แต่คือต้นทุนที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน และสิ่งนั้นก็คือการมีอยู่ของพวกเขาในฐานะ ‘ชุมชนนักออกแบบแห่งย่านพร้อมพงษ์’ ที่พร้อมจะนำความสามารถมาใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในย่านนั่นเอง


“อัตลักษณ์ของย่านพร้อมพงษ์ จะแตกต่างจากย่านอื่นๆ พอสมควร เพราะย่านพร้อมพงษ์ไม่ได้เป็นย่านที่เป็น History place แต่เป็นย่านเกิดใหม่ เราเลยพยายามที่จะผลักดันอัตลักษณ์พื้นที่ของเราในแง่ของการมีสตูดิโอออกแบบหลากหลายรวมอยู่ที่นี่ และชูประเด็นที่ว่า พวกเราในฐานะนักออกแบบที่รวมกลุ่มกันจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้มันเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมได้ยังไงบ้าง


พอมาประกอบกับธีมงานในปีนี้ซึ่งเป็นธีม Livable Scape เราเลยอยากเอาความเป็นย่านนักออกแบบมาเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ย่านให้มากขึ้น และพัฒนาสิ่งนี้ให้กลายเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของย่าน คือถ้านึกถึงย่านพร้อมพงษ์ ก็อยากให้นึกออกว่าเป็นย่านนักออกแบบ” 


พื้นที่สร้างสัมพันธ์เพื่อสร้างสรรค์


เมื่อตั้งเป้าหมายได้สำเร็จว่าพวกเขาตั้งใจอยากผลักดันอัตลักษณ์ความเป็น ‘ย่านนักออกแบบ’ ให้กับพื้นที่ โจทย์ที่สำคัญในขั้นต่อไป จึงเป็นการเชื่อมต่อและสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่าง ‘นักออกแบบด้วยกัน’ และการเชื่อมต่อระหว่าง ‘นักออกแบบกับย่าน’


โดยสิ่งที่คุณแยมมองว่าสำคัญมากและยังคงขาดไปในกระบวนการนี้ คือการมี ‘พื้นที่สาธารณะ’ ภายในย่านที่เปิดโอกาสให้ผู้คนหลากหลายสามารถมาพักผ่อน พบปะและแลกเปลี่ยนกันได้


“ปัญหาคือตอนนี้เราอยู่ร่วมกัน เราเดินผ่านกัน เรารู้จักกัน แต่เราไม่มีพื้นที่ที่เป็น gathering space สำหรับให้เราทำความรู้จักและสนิทสนมกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นการที่มี space หนึ่งเนี่ย มันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการที่เรา connect กัน มันทำให้สังคมเราแข็งแรงขึ้น ทำให้ย่านเราแข็งแรงขึ้น และการที่เราได้ทำงานร่วมกัน ได้ออกแบบร่วมกัน มันคือการสร้าง connection ให้แข็งแรงขึ้นอย่างหนึ่ง


เพราะในเชิงของการทำงาน สตูดิโอต่างๆ ก็จะอยู่ในสาขาหรือสายงานที่แตกต่างกัน เช่น บางท่านก็จะอยู่ในสาขาของการออกแบบเครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์ บางท่านก็เป็นการออกแบบสถาปัตย์ เพราะฉะนั้นจะมีหลายๆ term ที่เวลาทำงานเราอาจจะไม่ได้อยู่ร่วมกันเท่าไหร่ เราเลยอยากให้มีพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนได้มา gathering กันจริงๆ เพื่อทำให้ความเป็นอยู่มันดีขึ้น”


เปลี่ยนที่ปิดร้างในช่วงสุดสัปดาห์ ให้เป็นพื้นที่พักใจของทุกคน


เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนในฝันให้เกิดขึ้นจริง คุณแยมอธิบายว่าการศึกษาและคิดต่อยอดจากอินไซท์ที่มีอยู่จริงในย่านเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และหนึ่งในอินไซท์ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันและมีโพเทนเชียลในการนำมาพัฒนาต่อเป็นโปรเจกต์ คือ พื้นที่ร้างในวัน-เสาร์อาทิตย์ หรือ rest space


“พอเราเป็นย่านที่มี office building เยอะๆ เป็นโกดังเป็นหลัก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันจะมีพื้นที่ที่เป็น rest space ในช่วงที่เป็น weekend ค่อนข้างเยอะพอสมควร เพราะใน week-day พื้นที่นั้นจะถูกใช้เป็นที่จอดรถ พอเป็น weekend ก็จะกลายเป็นพื้นที่ลานกว้างคอนกรีตที่ไม่มีใครใช้งาน ทั้งที่คนในย่านหลายคนก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ตลอด 7 วันต่อสัปดาห์


เราก็เลยคิดว่าแล้วทำไมเราไม่ทำพื้นที่ที่เป็น rest space ให้ดีขึ้นล่ะ ให้กลายเป็น rest space ของคนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เฉพาะเวลาที่มีคนเข้ามาจอดรถทำงาน เราอยากสร้างให้มันกลายเป็นพื้นที่ที่คนในย่านสามารถจะจูงหมา จูงลูกมาเล่นในบริเวณพื้นที่นี้ได้ ซึ่งพื้นที่นี้จะอยู่บริเวณ Warehouse 26


โดยเราไม่ได้ออกแบบโดยนึกถึงแค่คนหรือสัตว์เลี้ยงอย่างหมา แมวเท่านั้น แต่เราอยากให้สัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติอย่างนกหรือกระรอก ก็สามารถเข้ามาอยู่ร่วมกันได้ เพราะเอกลักษณ์ของซอย 26 คือต้นไม้มันร่มรื่นมาก ถ้าอย่างนั้นเรามาเพิ่มเติม บ้านนก บ้านกระรอก ให้สัตว์ได้มีที่อยู่จริงๆ ด้วยก็น่าจะดี ด้วยความที่เราเป็นสถาปนิก เราทำบ้านให้คนอยู่ ในครั้งนี้เราก็เลยอยากทำบ้านให้สัตว์เล็กๆ เขาได้อยู่ด้วย”


คุณแยมอธิบายว่า ถึงในครั้งนี้จะเริ่มต้นจากพื้นที่เดียว แต่พวกเขาก็อยากให้สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่ว่า พื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของหรือพื้นที่ส่วนบุคคลที่ waste ไปในเสาร์-อาทิตย์ ควรถูกนำมาพัฒนาให้กลายเป็น space หนึ่งของ community ซึ่งจะสามารถช่วยทำให้สังคมดีขึ้นและแข็งแรงขึ้นได้


เปิดบ้าน เปิดย่าน ด้วยงานออกแบบ


สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ คุณแยมอธิบายว่าพวกเขาจะมาพร้อมกับคอนเซปต์ ‘Giving Matters, Living Better’ ซึ่งหมายถึงการตอบแทนให้คืนสู่สังคม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีไฮไลต์หลักอยู่ 3 จุดด้วยกัน ได้แก่


“จุดแรกคือ Outdoor space ตั้งแต่หน้า A49 จนถึงหน้า A square เป็นช่วงสั้นๆ ที่เป็นงานสาธารณะแบบ 100% เลย คือมีส่วนที่เราเพิ่มเติมกลุ่มบ้านนกบ้านกระรอกเข้าไป รวมถึงมีการพัฒนาจุดจอดรถวินมอเตอร์ไซค์ (motorcycle station) แล้วทดลองติดตั้งเป็นงานต้นแบบ (prototype) ให้กับพี่ๆ วินมอเตอร์ไซค์ด้วย ซึ่งส่วนนี้ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเห็นแล้วรู้สึกว่ามันดูเป็นระเบียบมากขึ้น เราเลยอยากให้มันได้ถูกนำไปต่อยอดในจุดอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ ด้วย เพราะเราเองก็ไม่ได้อยากให้มันจบอยู่แค่เรา


จุดที่สองคือ ส่วนกลางของ Warehouse 26 ที่เราจะใช้สเปซตัวนี้ในรูปแบบการแชร์พื้นที่กัน เช่น วันทำงานสเปซก็จะมีประมาณนี้ และยังเป็นที่จอดรถเหมือนเดิม แต่ในวันเสาร์-อาทิตย์ มันสามารถที่จะขยายออกไปได้อีก รวมถึงร้านค้าในท้องที่ก็สามารถมาใช้ share space ในพื้นที่นี้ขายของได้ด้วย ทำให้พื้นที่มีความ lively ขึ้น friendly ขึ้น ต้อนรับทุกคนที่เข้ามาในย่าน รวมถึงลิงก์เข้าไปกับ K Village ซึ่งปีนี้ K Village ก็ได้เข้ามาเป็นเพื่อนกับเราด้วย 


และสุดท้ายคือ ‘การเปิดบ้าน’ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะไม่ได้เป็นเชิงโปรแกรม แต่เป็นในเชิงที่ว่า ย่านเราเป็นย่านออกแบบ แล้วจากผลสำรวจปีที่แล้ว หลายๆ คนที่เข้ามาเขาอยากทราบว่า ต้นไอเดีย มันเกิดมาจากอะไร ทำไมย่านนี้ถึงเป็นย่านออกแบบ ตอนแรกสุดเราว่าจะไม่เปิดบ้าน เพราะปีที่แล้วเราเปิดบ้านไปแล้ว แต่หลายคนก็บอกว่าจริงๆ ยังมีอีกหลายคนที่อยากเห็นนะ ว่าในออฟฟิศออกแบบมันเป็นยังไง ที่มาของงานเป็นยังไง ดูซีเรียสไหม หรือสบายๆ ไหม เราเลยยังคงไอเดียการเป็น open house อยู่ เปิดให้คนภายนอกสามารถเข้ามาดูได้ว่าเราทำงานกันยังไง โดยบางสตูดิโอก็จะมี exhibition เล็กๆ จัดแสดงด้วย”


เข้ามาทดลองใช้พื้นที่สาธารณะใหม่ของย่านและแลกเปลี่ยนกับเหล่านักสร้างสรรค์แห่งย่านพร้อมพงษ์ได้ที่ Bangkok Design Week 2024


รู้จักกับ ‘พร้อมพงษ์’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่าน

49&FRIENDS : Play Matters, Pet Matters

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71641 


49&Friend : K Village neighbourhood mall

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/69951 


49&FRIENDS : Social Matters

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71369 


คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านพร้อมพงษ์ ที่นี่:

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=54158 


Bangkok Design Week 2024

Livable Scape

คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

27 Jan – 4 Feb 2024


#BKKDW2024

#BangkokDesignWeek

#LivableScape

แชร์