ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : เยาวราช

เผยแพร่เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : เยาวราช

สานต่อตำนานย่านสตรีทฟู้ดระดับโลกที่เต็มอิ่มไปด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมจีนจากรุ่นสู่รุ่น


ในวันนี้ “เยาวราช” ไม่ได้เป็นเพียงไชน่าทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยซึ่งเปี่ยมล้นไปด้วยวัฒนธรรมจีนจากหลากหลายยุคสมัย แต่ยังได้แนะนำตัวบนแผนที่โลกในฐานะย่านสตรีทฟู้ดยามราตรีชื่อดังที่พลาดไม่ได้ แถมด้วยการเช็กอินในใจชาวไทยมากมายในฐานะของทั้งย่านคูลที่กิจการใหม่ๆ พร้อมจะแจ้งเกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และย่านมูที่คนทุกเพศทุกวัยต้องมาแก้ชงเป็นประจำทุกปี


หนึ่งในโจทย์การทำงานกับย่านที่โหดหินที่สุด คือการทำงานกับย่านที่ ‘พร้อมสมบูรณ์อยู่แล้ว’ และถ้าถามต่อว่าย่านไหนในกรุงเทพฯ ที่จะเป็นตัวแทนของคำนิยามนี้ได้ดีที่สุด ย่านเยาวราชแห่งนี้ก็คงหนีไม่พ้นอย่างแน่นอน เพราะที่นี่คือย่านท่องเที่ยวที่มีชีวิตชีวาเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองซึ่งคึกคักไปด้วยทั้งนักท่องเที่ยว นักกิน และนักช้อปแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน


ในย่านเศรษฐกิจระดับมงกุฎเพชรที่ทุกคนมีสิ่งที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลาจนใครหลายคนอาจมองว่างานดีไซน์ไม่ใช่คำตอบที่พวกเขาตามหา ‘คุณอุ้ม-วิภาวี กิตติเธียร’ CEO จากบริษัท SATARANA ผู้เป็น Co-Host ในการจัดงาน Bangkok Design Week ย่านเยาวราชในปีนี้เป็นปีที่ 2 จะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร วันนี้เธอจะมาแชร์ให้เราฟังถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานเมื่อปีก่อน รวมถึงแผนการรับมือรูปแบบใหม่ๆ ในปีนี้



‘เยาวราช’ ดินแดนแห่งพลวัตและโอกาสที่ไม่เคยหยุดนิ่ง


เมื่อพูดถึงเยาวราช คุณอุ้มเล่าย้อนกลับไปให้เห็นภาพว่าสาเหตุในปีที่แล้วทีม SATARANA เลือกทำงานกับพื้นที่นี้เกิดจากการที่พวกเขาได้ย้ายออฟฟิศจากบริเวณเสาชิงช้ามาอยู่ที่นี่ ด้วยสายตาของคนนอกที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ พวกเขามองเห็นปัญหาซึ่งใครหลายคนอาจมองข้ามไปเมื่อคลุกคลีอยู่ในพื้นที่มาจนเคยชิน


“การที่เราเป็นคนที่เข้ามาใหม่ เราเห็น Gap ของเมืองชัดกว่าคนในมาก ด้วยความที่เยาวราชเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความวุ่นวายมากๆ แน่นอนเลยว่าทำให้ Facilities ของเมืองบางส่วนยังไม่ตอบโจทย์ ยังมีความต้องการทางด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการดีไซน์หรือวิธีคิดแบบครีเอทีฟ เราเลยเลือกที่นี่เป็นโจทย์ในการทำงานดีไซน์วีค”


แต่แน่นอนว่านอกจากปัญหาในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่ทางทีมมองว่าเยาวราชยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ พวกเขายังมองเห็นโอกาสและเสน่ห์ของพื้นที่ โดยเฉพาะในด้านความหลากหลายและพลวัตทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง


“ความน่าสนใจของไชน่าทาวน์คือ มันเป็นย่านที่คนจีนมาอยู่อาศัยรวมกันในบริเวณนี้ แต่ความเป็นจีนที่ว่ามันก็มีจีนหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ยุคเสื่อผืนหมอนใบ จนถึงจีนยุคใหม่ๆ ที่ยังเข้ามาเติบโตในพื้นที่จนถึงทุกวันนี้ เราเลยคิดว่าพลวัตเหล่านั้นมันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างมีความน่าสนใจ


ในแง่ของเศรษฐกิจก็เหมือนกัน เรารู้สึกว่าเยาวราชเป็นเหมือนแหล่งกำเนิดของเศรษฐีเมืองไทยเลย หลายคนมักจะมีต้นกำเนิดหรือเรื่องราวที่ผูกพันกับย่านเยาวราชมาก่อน หลายคนที่ยังอาศัยอยู่ที่เยาวราชทุกวันนี้ ภายนอกดูเหมือนเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ แต่จริงๆ ใน Shophouse หนึ่งหลังนั้นแทบจะ Distribute สินค้าออกไปทั่วประเทศไทย หรือในขณะเดียวกันก็ยังมีกิจการใหม่ๆ พร้อมจะเติบโตขึ้นมาอีกเรื่อยๆ เราเลยรู้สึกว่าที่นี่มันมีมิติที่น่าสนใจมาก”


งานเทศกาลอาจไม่ใช่โซลูชั่นในฝันของทุกคน


สิ่งสำคัญที่ทีม SATARANA ได้เรียนรู้จากการจัดงาน Bangkok Design Week ในย่านเยาวราชเมื่อปีที่ผ่านมาคือ การทำงานดีไซน์ให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตและการทำมาหากินที่ไม่มีวันหยุดพักของชาวเยาวราชนั้นไม่ง่าย และงานเทศกาลอาจไม่ใช่โซลูชั่นในฝันของทุกคน


“อย่างที่เราเล่าให้ฟังคือคนในตลาดมีความยุ่งมาก เขาไม่มีเวลาให้เราเลย อีกอย่างคือเยาวราชเป็นพื้นที่ที่มีอีเวนต์บ่อย ตรุษจีน กินเจ เขาก็มีเทศกาลประจำปีของเขาอยู่แล้วประมาณนึง การที่เราจะเอางานของเราเข้าไปแทรก มันเลยเหลือช่องว่างแค่นิดเดียว เพราะว่าเราเหมือนเข้าไปเป็นตัวละครเสริมในวันนึงที่เขายุ่งกันมากอยู่แล้ว แต่เราต้องเข้าไปวิเคราะห์และสร้างสรรค์ต่อ อันนี้ก็เป็นความท้าทายของเยาวราชที่พอผ่านมาแล้วเราก็รู้สึกว่าเมืองมี Gap จริง แต่การจะทำงานออกมาให้ตรงกับวิถีชีวิตเขา อันนี้น่าจะเป็นความท้าทายที่สูงที่สุดที่เจอในปีที่แล้ว


ซึ่งพอในปีนี้ สิ่งที่เรานำกลับมาเรียนรู้และต่อยอดจากสิ่งเดิมคือ สิ่งเดิมเราพยายามที่จะเอาเส้นเรื่องวัฒนธรรมของเยาวราชที่กำลังจะกลืนหายไปกลับมาเล่าให้ได้เยอะที่สุด แต่ในปีนี้เราเรียกได้ว่า เราหาช่องในการเล่าที่เฉียบคมมากขึ้น เราตั้งใจออกแบบความร่วมมือของคนในพื้นที่ให้เขาได้ Input ในปริมาณที่โอเค และเป็นความร่วมมือที่เขาพึงพอใจในระดับที่ไม่รบกวนชีวิตประจำวันของเขา” 


Same Old Life, but Better


เมื่อตั้งเป้าหมายได้แบบนั้นแล้ว ภารกิจของทีม SATARANA ในครั้งนี้จึงเปลี่ยนบทบาทจากนักออกแบบมากไอเดียมาเป็น ‘ผู้สนับสนุน’ ที่ไม่ได้คาดหวังในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือความเป็นไปภายในย่าน แต่พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนในสิ่งที่พวกเขาทำอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับเปิดเวทีความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไปพร้อมกัน


“การแทรกตัวในครั้งนี้ของเราเป็นการแทรกตัวที่เขาไม่ต้องเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมอะไรในวิถีชีวิตเขาเลย แต่ว่าเราไปสนับสนุนสิ่งที่เขาทำอยู่แล้วมากกว่า แล้วเขาก็เอาสิ่งเหล่านั้นไปเติมเมืองในจุดที่มันยังไม่งาม ไปเพิ่ม Aesthetic ไปเอาเรื่องราวที่เขามีอยู่แล้วมาเล่าในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ได้รบกวนการทำงานของเขา แต่ในทางเดียวกันคือการรวมย่านให้มี Branding มี Identity ที่ชัดขึ้นได้”


อีกสิ่งที่คุณอุ้มมองว่าเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จในปีที่แล้วและอยากทำต่อไป คือการดึงคนใหม่ๆ ที่ไม่เคยคลุกคลีกับงานเมืองหรืองานออกแบบให้เข้ามาช่วยกันทำงานพัฒนาเมืองมากขึ้น


“ปีที่แล้วเราเริ่มต้นขึ้นภายใต้โปรแกรมที่เป็น Academic Program ร่วมกันกับทาง CEA ด้วยความที่เราอยากให้เมืองเป็นโจทย์ของสถาบันการศึกษา เราไม่อยากให้ดีไซน์วีคเป็นแค่การเอางานของแต่ละสถาบันตัวเองมาโชว์เป็น Open House อย่างเดียว แต่เราอยากให้พวกวิชาเรียนต่างๆ มันสามารถ Hack เมืองได้ด้วย อันนี้ก็เป็นสมมติฐานที่เราตั้งขึ้นมาก่อนเริ่มโครงการในปีที่แล้ว แล้วก็ชวนกลุ่มภาควิชาต่างๆ ที่เราไม่เคยคิดว่าเขาจะมาอยู่ในงานดีไซน์วีคได้ เช่น กลุ่มวิชาภาควิทยาศาสตร์ โบราณคดี หรือว่าทางวิศวกรรมศาสตร์ มาทำงานด้วยกัน


ปรากฏว่ามันเวิร์กมากๆ โซลูชั่นเหล่านั้นมันกลายมาเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในเยาวราชทำกันเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว ยกตัวอย่างที่เรารู้สึกว่ามัน Impact มากๆ คือ “ธูปรักษ์โลก” ที่ทางคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ให้ว่าเราจะทำอย่างไรให้การจุดธูปสามารถช่วยลดมลภาวะได้ ซึ่งก็มีน้องไปนั่งคุยกับที่ศาลเจ้ามาว่า ธูปพอถูกจุดไปได้นิดเดียวก็ต้องกวาดทิ้งแล้ว เนื่องจากคนที่ศาลเจ้าเยอะมากๆ ทำให้ไม่มีที่ปักธูปพอ เขาเลยไปทำธูปที่เหลือเพียงแต่ด้านบนนิดเดียว โรงงานธูปก็ได้ทำตาม รวมถึงเจ้าอาวาสก็ยอมทดลองใช้ อันนี้ก็เป็นโซลูชั่นใหม่ๆ ที่สนุก ในปีนี้เราเลยอยากเอาคอนเซปต์เดิมนี้ไปต่อยอดเพิ่มกับคนกลุ่มใหม่ๆ แต่ยังคงเส้นเรื่องเดิมไว้ แค่อาจเปลี่ยนรูปแบบวิธีการเล่า”


การเดินทางครั้งใหม่ใน Bangkok Design Week 2024


ต่อยอดจากไอเดียเดิมในการเชื่อมคนและศาสตร์ใหม่ๆ ที่ไม่คาดคิดเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้กับเมือง ในครั้งนี้คุณอุ้มเล่าว่าทีมอยากขยายเรื่องราวของวัฒนธรรมจีนและเยาวราชไปสู่เจเนอเรชั่นที่หลากหลายยิ่งขึ้นด้วยการเจาะกลุ่ม ‘เด็กวัยมัธยมต้น’ และศาสตร์ที่พวกเขามองว่าตอบโจทย์ที่สุดในครั้งนี้คือสิ่งที่เรียกว่า Comic หรือ หนังสือการ์ตูน


“สิ่งที่ทางทีมตั้งใจทำกันมากในปีนี้ก็จะเป็นในส่วนของ Comic ที่อยากให้ทุกคนได้รอติดตามกัน เพราะว่านักวาดแต่ละคนเป็นนักวาดไทย เรารู้สึกว่าตลาด Comic เติบโตมากกว่าที่เราคิดไว้มาก เราเพิ่งเข้าใจระบบ Webtoon ของนักวาดแต่ละคน เราเลยอยากสนับสนุนศิลปินไทยให้เยอะขึ้นด้วย เพราะว่าใน Webtoon ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินเกาหลี ศิลปินญี่ปุ่น เราก็อยากเชียร์ให้การที่เราพูดเรื่องย่านในครั้งนี้มันไม่ใช่แค่งานชุมชนดีจังเลย น่ารักจังเลย แต่อยากให้ Entertain คนผ่านเรื่องราวเหล่านั้นไปด้วย เป็นพาร์ตที่ทีมตั้งใจทำกันมากๆ ก็อยากฝากให้รอติดตามกัน 


ซึ่งหลักๆ ตัว Comic ก็จะถูก Publish ในแพลตฟอร์ม แต่ในกิจกรรม Ep.1 จะเป็นเหมือนการตั้งต้นโดยเราจะจัดเป็น Exhibition ให้ทุกคนสามารถมาเดินอ่านกันในงานในย่านได้เลยว่าเรื่องราวของ Comic นี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งก็จะถูก Develop มาจากบทละครงิ้วเหมือนกัน เชื่อมหลายเรื่องเลย โดยตอนนี้มีนักวาดทั้งหมด 5 คน” 


งานไฮไลต์อีกส่วนหนึ่งที่ทีม SATARANA อยากฝากให้ติดตามกันต่อก็คือกิจกรรม Street Art ในธีมของกิจการเสื่อผืนหมอนใบภายในถนนทรงวาด


“เนื่องจากพื้นที่ย่านครอบคลุมไปถึงทรงวาดซึ่งเป็นย่านค้าขายเก่าแก่ เราก็จะมีกิจกรรมที่พูดถึงเรื่องราวของกิจการเสื่อผืนหมอนใบ ที่เขาเริ่มกิจการในสมัยนั้นด้วย สิ่งที่ทีมค้นพบระหว่างเตรียมงานคือโลโก้และตราร้านค้าของแต่ละร้าน ซึ่ง Illustrator ทุกคนเห็นแล้วรู้สึกสนุกมากเลย วุ้นกรอบบ้าง หรือสาคูตรามังกร ลายมังกร ในขณะเดียวกัน บนถนนทรงวาดมันก็มีจุดที่ไม่งามอยู่เยอะ พื้นที่ทิ้งขยะ กำแพงเปลือยว่างๆ เราก็เลยอยากเปลี่ยนกำแพงพวกนั้นให้เป็นตราสัญลักษณ์ร้านค้าของแต่ละร้าน เอามาขยายใหญ่ เหมือนเพิ่มสตรีทอาร์ตในเมืองเข้าไปให้มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่มันตั้งอยู่ คิดว่านี่เป็นไฮไลต์อีกอันนึงเลยของปีนี้ เราอยากให้คนได้มาเดินดู เพราะว่าตัวสัญลักษณ์เหล่านั้นสามารถเล่าความเป็นย่านออกมาได้เยอะมาก ตั้งแต่วิธีคิด การเลือกสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เป็นสัตว์มงคล เราก็จะเล่าผ่านเรื่องราวของตราป้ายแต่ละร้าน

 

ตั้งใจทำเป็นสตรีทอาร์ตแปะกำแพงเลย แต่จะมีคอนเทนต์แยกแต่ละชิ้นมาให้ดูว่าแต่ละชิ้นมาจากอะไร ส่วนใหญ่ก็จะมาจากการสัมภาษณ์ร้านค้า ซึ่งบอกเลยว่าก็อาจจะมีข้อมูลไม่ตรงกันบ้าง แต่ก็สนุกดีค่ะ ซึ่งพวกนี้ก็จะกระจายอยู่ตามพื้นที่ซอย เนื่องจากบางร้านอาจจะไม่ได้กำแพงข้างๆ บ้านตัวเอง อาจจะไปอยู่ที่กำแพงอีกที่นึง แต่เราตั้งใจจะกระจายๆ ให้การเดินเที่ยวเยาวราชสนุกขึ้น มันมีจุดที่ไม่ใช่แค่การถ่ายรูปกับกำแพง แต่กำแพงนี้มีเรื่องราวอะไรบางอย่างด้วย โดยชื่องานของย่านเยาวราชในปีนี้คือ “เจริญรุ่ง ‘เมือง’ ยิ่งๆ ขึ้นไป”


จากตำนานการเปิดฟลอร์เต้นรำใจกลางย่านตลาดเก่าและเนรมิตเอางิ้วจีนมาให้เสียงภาษาไทย การเดินเที่ยวเยาวราชในงาน Bangkok Design Week ปีนี้จะให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร และมีอะไรใหม่ๆ รอให้ค้นพบอีกบ้าง อย่าลืมมาตามหาคำตอบด้วยตัวคุณเอง! 


รู้จักกับ ‘ย่านเยาวราช’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่าน

หนังสือนิทานงิ้วและนิทรรศการ

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/83667 


Yunnan Arts University-School Local Cooperative Creative Series Activities

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/84034 


Waste Life สายมู Workshop

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/83680 


Local Gallery of local shop

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/83655 


คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านเยาวราช ที่นี่ :

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=49827 


Bangkok Design Week 2024

Livable Scape

คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

27 Jan – 4 Feb 2024


#BKKDW2024

#BangkokDesignWeek

#LivableScape

แชร์