ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : นางเลิ้ง

เผยแพร่เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : นางเลิ้ง

ต่อยอดภูมิปัญญาในย่านวัฒนธรรมมีชีวิต ผ่านการร่วมมือกันระหว่างคนดั้งเดิมกับนักออกแบบผู้ย้ายเข้ามาใหม่


เมื่อพูดถึง ‘ย่านนางเลิ้ง’ ภาพจำแรกที่หลายคนนึกถึงมักจะเป็นตึกแถวโบราณสีชมพูหวาน และบรรดาอาหารและขนมไทยละลานตาที่อัดแน่นอยู่ใน ‘ตลาดนางเลิ้ง’ ตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทย ก่อนจะตามมาด้วยภาพความสวยงามของ ‘ศาลาเฉลิมธานี’ โรงหนังไม้โบราณอายุร่วม 90 ปี ที่บรรจุเรื่องราวของพระเอกตลอดกาลอย่าง ‘มิตร ชัยบัญชา’ ซึ่งผูกพันกับที่นี่อย่างลึกซึ้งเอาไว้เต็มเปี่ยม 


ภายใต้ภาพจำของนางเลิ้งในวันวานที่เคยคึกครื้นไปด้วยผู้คนและเรื่องราวมากมาย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘วันเวลาที่รุ่งเรืองที่สุด’ ของนางเลิ้ง อาจไม่ใช่ปัจจุบันนี้ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่อีกแล้ว เมื่อการท่องเที่ยวในรูปแบบเดิม ๆ อาจไม่ได้ตอบโจทย์อีกต่อไป และตลาดนางเลิ้งอาจไม่ใช่ช่องทางในการเลือกซื้ออาหารที่สะดวกสบายที่สุดเหมือนเคย ความซบเซาที่ทวีคูณขึ้นนี้ คือโจทย์สำคัญที่ผู้อยู่อาศัยหน้าใหม่อย่างชาว ‘ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง’ (Urban Studies Lab) ซึ่งมีออฟฟิศตั้งอยู่ภายในย่าน ณ อดีตโรงเรียนสตรีจุลนาค อยากลองนำวิธีการใหม่ ๆ อย่างความคิดสร้างสรรค์เและงานเทศกาลเข้ามาลองสร้างความเปลี่ยนแปลง


จุดเริ่มต้น แนวคิด และปลายทางของภารกิจฟื้นชีวิตให้นางเลิ้งกลับมาบันเทิงอีกครั้งภายในงาน Bangkok Design Week 2024 จะเป็นอย่างไร ก่อนที่วันจริงจะมาถึง เราอยากชวนมาหาคำตอบไปด้วยกันผ่านคำบอกเล่าของ ‘คุณเกฟ-วิรากานต์ ระคำมา’ Design Manager จาก Urban Studies Lab ในฐานะ Co-Host ผู้ร่วมจัด Bangkok Design Week ย่านนางเลิ้งในปีนี้  



ย่านประวัติศาสตร์จากมุมมองของ ‘คนธรรมดา’


พื้นที่ประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ส่วนใหญ่ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ มักจะเป็นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวพันการเป็นศูนย์กลางการปกครองที่รุ่มรวยด้วยศิลปะชั้นสูง สถาปัตยกรรมวัดวังที่ปราณีต และงานประเพณีโบราณ ในขณะที่ห่างออกมาเพียงไม่ไกล สิ่งที่ ‘ย่านนางเลิ้ง’ บันทึกเอาไว้กลับเป็นเสมือนตัวแทนเรื่องราวชีวิตประจำวันของคนธรรมดา คนที่หาเช้ากินค่ำ เข้าวัด ปรุงอาหาร ชมมหรสพ เล่นดนตรี และสิ่งนี้คือสิ่งที่คุณเกฟมองว่าทำให้ 

‘นางเลิ้ง’ เป็นย่านประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกับที่ไหน ๆ


“นางเลิ้งไม่ได้เป็นย่านอนุรักษ์มาก ๆ โบราณมาก ๆ มันเก่าแก่ก็จริงแต่ก็เป็นวิถีชีวิตของคนธรรมดา เรามีจุดเด่นในด้านของ Gastronomy มาก ๆ มีร้านอาหารที่เยอะมาก มีวัฒนธรรมบางอย่างที่เป็น Hidden Gems เช่น ละครชาตรีหรือว่าการทำแป้งพวง หัวหน้าชุมชนเองก็ดึงสิ่งเหล่านี้ออกมาทำให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวในย่านของเราอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่านางเลิ้งคือย่านประวัติศาสตร์ มันก็คือประวัติศาสตร์ผ่านสายตาของคนที่อยู่ในชุมชน และจากการได้ทำงานกับชุมชน ชุมชนก็มีความภูมิใจที่นางเลิ้งเป็นย่านกลางเก่ากลางใหม่ที่ไม่เหมือนใครแบบนี้”


ความท้าทายจากอัตลักษณ์ที่หลากหลายของผู้คน


เมื่อจุดแข็งของนางเลิ้งคือวิถีชีวิตของผู้คน และย่านก็ไม่ใช่เรื่องของคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่คือพื้นที่การใช้ชีวิตที่ทุกคนต่างแบ่งปันร่วมกัน การโอบรับและผสานมุมมองที่แตกต่างหลากหลายของคนในย่าน ในการตีความ ‘ขอบเขตพื้นที่’ และ ‘อัตลักษณ์’ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่เสมอเมื่อ Urban Studies Lab ทำงานกับพื้นที่นางเลิ้ง


“คำว่า ‘ย่านนางเลิ้ง’ แอบเป็นคำถามสำหรับคนในชุมชนมาตลอด ว่าคำว่า ‘ย่านนางเลิ้ง’ มันหมายถึงตรงไหน ขอบเขตของนางเลิ้งคือตรงไหนกันแน่ บางคนบอกว่าอยู่ถึงแค่รอบ ๆ ตลาด บางคนบอกว่าถึงผ่านฟ้าเลย บางคนบอกถึงคลองผดุง บางคนบอกถึงวัดญวณ แต่ละคนก็มองไม่เหมือนกัน ซึ่งก็เป็นถือประเด็นที่น่าสนใจนะ เพราะเหมือนชุมชนก็ไม่ได้พยายามจะนิยามว่านางเลิ้งเป็นพื้นที่ตรงไหนแบบเฉพาะเจาะจง แล้วพอพื้นที่ไม่ได้ถูกนิยาม สิ่งที่ตามมาก็เลยเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ที่มันหลากหลายตามพื้นที่ไปด้วย คือถ้าจะให้พูดเรื่องเอกลักษณ์ของนางเลิ้ง มันท้าทายมากที่จะหยิบอะไรมาแค่หนึ่งอย่าง แล้วพูดว่า นางเลิ้ง = สิ่งนั้น เป็นอาหารอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้มีแต่อาหาร ยิ่งในพื้นที่ย่านนางเลิ้งมีหลายชุมชน แต่ละชุมชนก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เราก็ต้องเป็นคนกลางในความหลากหลายนี้”


เปิดประตูความเป็นไปได้ใหม่ด้วย ‘งานเทศกาล’


เพื่อฟื้นชีวิตให้กับย่านท่ามกลางอัตลักษณ์หลากหลายที่ยากจะผสานรวมกันให้เป็นหนึ่งเดียว คุณเกฟสรุปแนวทางการทำงานของทีมเอาไว้อย่างเรียบง่าย ว่าพวกเขาต้องการเปิดประตูความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพื่อให้คนในย่านมองเห็นศักยภาพในพื้นที่ของตัวเอง โดยไม่จำกัดนิยามว่านางเลิ้งจะต้องมีอัตลักษณ์เป็นอย่างไร แต่ด้วยการมองพื้นที่ให้เป็น Blank Space ซึ่งพร้อมสำหรับการทดลองใหม่ ๆ อย่างไม่รู้จบ


“ด้วยความที่นางเลิ้งถือว่าเป็น Very First Beginning มาก ๆ สำหรับการเอาแนวคิดการจัดเทศกาลมาจับกับการพัฒนาพื้นที่ทางวัฒนธรรม ในทีมก็คุยกันว่าเราคาดหวังว่าอย่างน้อยนางเลิ้งจะได้กลับมามีพื้นที่สื่อใน Social Media สำหรับคนรุ่นใหม่มากขึ้น แน่นอนว่าในระยะสั้นก็เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับ Micro Economy ให้ร้านค้าได้มีคนใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น แต่ในระยะยาวเราตั้งใจอยากให้ชุมชนได้มองเห็นความเป็นไปได้และศักยภาพในตัวเอง รวมถึงโอกาสใหม่ ๆ ในการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน


ตอนนี้หลาย ๆ ร้านก็มีแพลนว่าจะปิดตัวเองเพราะรู้สึกว่าย่านนี้เหงามากแล้ว เขาไม่รู้ว่าทำต่อแล้วจะมีลูกค้ามามั้ย เราเลยอยากใช้โอกาสนี้เพื่อสื่อสารให้ชุมชนเองรู้ว่าเรายังมีศักยภาพ มีคนสนใจ มี Storytelling แบบใหม่ ๆ ในย่าน ผ่านกิจกรรมที่อาจจะไม่ต้องเป็นการเข้าวัดทำบุญเล่าเรื่องผีแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่มีกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง ที่นอกจากจะสามารถดึงดูดคนได้หลายกลุ่มมากขึ้นแล้ว ยังแมทช์กับความหลากหลายของชุมชนเองได้ด้วย”


คืนชีวิตให้ย่านผ่านความบันเทิงที่ทำให้ชาวชุมชนและคนข้างนอกใจฟู


จากการทำงานอย่างหนักไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ทำงานวิจัย พูดคุยและทำกระบวนการร่วมกับคนในชุมชน รวมถึงการระดมไอเดียกันขนานใหญ่ใน Townhall ของออฟฟิศ Urban Studies Lab ตัดสินใจตั้งโจทย์ของการทำงานใน Bangkok Design Week ปีนี้ให้กว้าง หลากหลาย และสื่อถึงความเป็นนางเลิ้งให้ได้มากที่สุด และได้ออกมาเป็นคอนเซ็ป ‘Entertainment in Everyday’ พร้อมเป้าหมายในการฟื้นคืนความบันเทิงที่หายไปของนางเลิ้งกลับมาอีกครั้ง


“เราไปถามชุมชนหลาย ๆ ชุมชนว่าในฐานะที่เป็นคนในนางเลิ้งเขาคิดเห็นยังไงกับที่นี่ มีอะไรที่หายไปแล้วอยากให้กลับมาไหม เราพบว่าถึงพวกเขาจะมองอัตลักษณ์ที่มีอยู่แตกต่างกันไป แต่ทุกคนต่างก็รู้สึกว่านางเลิ้งเคยคึกคักกว่านี้ เคยเป็นย่านเอนเตอร์เทนเมนต์ที่คนมากิน มาเที่ยว มาเล่น ซึ่งตอนนี้มันหายไป เราเลยตั้งโจทย์เป็นเรื่องของ Entertainment in Everyday หรือการทำยังไงก็ได้ให้ย่านนางเลิ้งของเราที่ครั้งนึงเคยถูกเรียกว่าเป็นย่าน Entertatinment ของย่านพระนครกลับมาบันเทิงอีกครั้ง ซึ่งคำว่า ‘ความบันเทิง’ มันก็นิยามได้หลากหลายมาก มุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละชุมชนเลยสามารถทำงานร่วมกันภายใต้ธีมนี้ได้ด้วย


ในงานก็จะมีกิจกรรมหลายอย่าง ประมาณ 5 กิจกรรมย่อย ทัวร์ เวิร์กช็อป นิทรรศการ เกี่ยวกับกิจกรรมบันเทิง ยกตัวอย่างเช่น ทัวร์หนังสือ ซึ่งตอนเด็ก ๆ หลายคนที่เคยอยู่ในย่านนี้ก็คุ้นเคยกับการตามล่าหาการ์ตูนจากร้านของพวกสำนักพิมพ์ต่างๆ เขาก็อยากให้ภาพแบบนั้นกลับมา 


อันนึงที่ต่อจาก Lesson Learn ที่เราได้จาก Bangkok Design Week ครั้งที่แล้ว แล้วก็จะมีโปรเจกต์ที่ได้ทุนจาก CEA คือนางเลิ้งเมนู สิ่งนี้เกิดมาจากโจทย์ที่ว่านางเลิ้งมีอาหารเยอะมาก จะทำยังไงให้เรานำเสนออาหารนางเลิ้งได้ดีและครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพราะมันมีหลายสเกลมาก มีร้านที่เป็นร้านโบราณ ร้านที่ซ่อนในบ้าน แค่เปิดหน้าบ้านเป็นร้านอาหาร ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เข้ามาในย่าน ซึ่งปีนี้เราก็เอานางเลิ้งเมนูมาต่อยอดจากฟีดแบ็กจากร้านต่าง ๆ ที่เราเคยทำงานด้วย ซึ่งเราก็ได้รวบรวมความเห็นมาว่าเขาอยากจะพัฒนามันต่อยังไง อย่างบางร้านอยากให้เป็นการ์ดแต่อยากให้มีจำนวนร้านมากขึ้น บางคนก็บอกว่าอยากให้เป็นไกด์บุ๊กเลย คนจะได้มาทัวร์อาหารได้ด้วยตัวเองไม่ต้องมีใครเป็นตัวแทนเป็นนายหน้า ไกด์


อีกกิจกรรมก็คือ Graffiti for better city ซึ่งอันนี้เราได้ศิลปินกราฟิตี้ที่มีใจอยากช่วยปรับภูมิทัศน์ของนางเลิ้งและพื้นที่รอบ ๆ มาช่วย เขาผูกพันกับตลาดนางเลิ้ง เคยใช้ชีวิตอยู่แถวนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วเขาเองก็รู้สึกว่ามันเสื่อมโทรมลงไป ก็เลยอยากเข้ามาแล้วก็ทำในสิ่งที่เขาถนัดก็คือการทำกราฟิตี้ที่บอกเล่าเรื่องราวของย่านนางเลิ้ง”


สุดท้ายแล้วภารกิจฟื้นฟูความบันเทิงท่ามกลางอัตลักษณ์ที่หลากหลายจะถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบไหน ตามมาหาคำตอบด้วยตัวคุณเองได้ที่งาน Bangkok Design Week ย่านนางเลิ้งเท่านั้น !



รู้จักกับ ‘ย่านนางเลิ้ง’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่าน

กระดานล่าร้านอร่อย นางเลิ้ง 

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/67602 


Untitled Case : Learning from Tragedies 

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/76485 


Graffiti เพื่อเมืองที่ดีขึ้น

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/67032 


โต๊ะกินข้าวนอกบ้าน

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/73128 



คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านนางเลิ้ง ที่นี่ :

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=50628      


Bangkok Design Week 2024

Livable Scape

คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

27 Jan – 4 Feb 2024


#BKKDW2024

#BangkokDesignWeek

#LivableScape

แชร์