ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

พาวิลเลียนแห่งการต่อ-เติมสีสัน โดย One Bangkok

พาวิลเลียนแห่งการต่อ-เติมสีสันและเพิ่มความเป็นมิตรให้เมืองน่าอยู่ โดย One Bangkok คงจะดีไม่น้อยหากศิลปะสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนวงกว้าง เพื่อช่วยแต่งเติมสีสัน จุดประกายไอเดีย และยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเมืองทั้งในเชิงกายภาพและสร้างคุณค่าทางจิตใจอย่างยั่งยืน เพราะเข้าใจดีว่าศิลปะและการออกแบบมีความสำคัญกับเมืองมากแค่ไหน วัน แบงค็อก จึงร่วมกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ยกเอา One Bangkok Pavilion มาไว้บริเวณลานหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง เพื่อสื่อสารข้อความสำคัญนี้ให้แก่ทุกคนต่อ-เติมเมืองให้น่าอยู่พาวิลเลียนที่มองแล้วชวนนึกถึงปราสาทชิ้นนี้ ออกแบบโดยสตูดิโอที่เคยสร้างสรรค์พื้นที่ว้าวๆ และยูนีคในเทศกาลฯ มาแล้วหลายต่อหลายปีอย่าง Supermachine Studio ซึ่งนำแรงบันดาลใจมาจากของเล่นตัวต่อบล็อกไม้ (Wooden Block) ที่เป็นการนำชิ้นส่วนทรงเรขาคณิตหลากหลายรูปแบบมาผสมผสานรวมกัน เปรียบได้กับความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายในการช่วยกันต่อเติมเมืองให้น่าอยู่ นอกจากนี้ ประสบการณ์ในพาวิลเลียนยังได้มัลติมีเดียเอเจนซีรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง Kids Bloom และ Yimsamer มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟ ที่นำไอเดียการละเล่น ‘ตั้งเต’ มาดัดแปลงเป็นเกมกระโดดบนจออินเทอร์แอ็กทีฟ ซึ่งคนทุกวัยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและสนุกสนานไปกับการสำรวจพาวิลเลียนแห่งนี้ได้ เปิดประสบการณ์ทางศิลปะผ่านสารพัดกิจกรรมสร้างสรรค์พลังความคิดสร้างสรรค์คือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองให้เติบโตไปข้างหน้า วัน แบงค็อก จึงคัดสรรโปรแกรมทางศิลปะ วัฒนธรรม และดนตรี 11 โปรแกรม ที่ตอบโจทย์ความต้องการอันหลากหลายมานำเสนอ เพื่อเป็นแบบจำลองของการใช้ชีวิตในเมืองที่ศิลปะและวัฒนธรรมเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างกลมกลืน ใครสนใจกิจกรรมไหนอย่าลืมปักหมุดวันและเวลาไว้ จะได้ไม่พลาดความสนุกที่รออยู่ ตัวอย่างกิจกรรมบางส่วน เช่น– Live Paint โดย BIGDEL และ MRKREME สองศิลปินสตรีทอาร์ตจาก Bridge Art Agency– เวิร์กช็อปศิลปะสำหรับสายคราฟต์ ที่ได้ TNT SCREEN และ Tosmile28 มาสอนอัดลายแม่พิมพ์ด้วยเทคนิคซิลก์สกรีน– พลิ้วไหวไปกับคลาสสวิงแดนซ์ โดย Jelly Roll Dance Club และ The Stumbling Swingout– เพลินใจไปกับเพลงหลากหลายแนวที่คัดมาแบบเน้นๆ โดยดีเจจาก Bangkok Community Radio– การแสดงกลองเพอร์คัชชั่นสุดเร้าใจ โดยกลุ่ม Tiger Drum Thailand พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการสร้างชุมชนศิลปะที่ยั่งยืน วัน แบงค็อก ร่วมสนับสนุนเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ด้วยความเชื่อว่าศิลปะและวัฒนธรรมคือส่วนสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อเมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น ผู้คนก็จะสามารถดื่มด่ำกับความสวยงามของการใช้ชีวิต และก่อให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการลุกขึ้นมามีส่วนร่วมพัฒนาเมือง ซึ่งการจะทำให้ผู้คนในวงกว้างเข้าถึงศิลปะและวัฒนธรรมได้ง่ายไม่ต่างจากปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายในการระดมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาชุมชนศิลปะให้มีศักยภาพ เพื่อผลักดันให้เกิด ‘เมืองน่าอยู่’ ที่มีโอกาสเปิดกว้างสำหรับทุกความฝันและทุกความเป็นไปได้ โดยปราศจากกรอบหรือกำแพงมาขวางกั้น–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

ออกแบบสีสันของกรุงเทพฯ แบบที่คุณอยากเห็น กับ ‘กรุงสี’ by กรุงศรี

ออกแบบสีสันของกรุงเทพฯ แบบที่คุณอยากเห็น กับ ‘กรุงสี’ by กรุงศรี หากถามว่า “กรุงเทพฯ ในแบบของคุณเป็นสีอะไร?” แน่นอนว่าคำตอบของแต่ละคนคงแตกต่างกันไป เพราะเราทุกคนต่างมีประสบการณ์และความทรงจำเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ในแบบฉบับของตัวเอง และตีความเรื่องราวเหล่านั้นออกมาเป็นสีสันที่หลากหลายไม่ซ้ำกันแน่ๆและจะเป็นอย่างไร หากเราสามารถออกแบบสีสันให้กรุงเทพฯ ตามที่อยากให้เป็นได้? ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ‘กรุงศรี’ มาพร้อมแนวคิด Make Life Simple ชีวิตง่ายได้ทุกวัน สร้างสรรค์เป็นกิจกรรมพิเศษที่ลานจตุรัสไปรษณีย์ อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง ภายใต้คอนเซปต์ ‘กรุงสี by กรุงศรี’ หรือ ‘The City of Colours’  ที่ต้อนรับทุกคนด้วยคาแรกเตอร์ ‘น้องกล้วยกรุงศรี’  ที่เห็นแล้วต้องยิ้ม  เลือกสีที่ใช่ ออกแบบเมืองที่ชอบ ในแบบของคุณผู้เข้าชมงานสามารถร่วมตอบคำถามในโซนกิจกรรมถ่ายภาพ จากนั้นก็เพลิดเพลินไปกับการถ่ายภาพเก๋ๆ พร้อมเลือกสีสันของกรุงเทพฯ ที่คุณอยากเห็น พร้อมรับภาพถ่ายทั้งแบบพรินต์และไฟล์เก็บไว้เป็นที่ระลึก นำไปแชร์ผ่านสื่อโซเชียลได้เลย นอกจากนั้นเรายังจะได้เห็นคำตอบของทุกคนแบบเรียลไทม์ว่า ผู้เข้าร่วมเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ อยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นสีอะไร สีไหนมีคนเลือกมากที่สุด เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ทุกคนมีต่อเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่  กรุงศรีมีความเชื่อว่าจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากกิจกรรมง่ายๆ เหล่านี้ ช่วยเปิดโอกาสให้เราทุกคนได้ขยายมุมมอง เพื่อฉุกคิดถึงภาพเมืองน่าอยู่ในแบบที่เราอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งสามารถกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งต่อพลังสร้างสรรค์และต่อยอดไปสู่การลงมือทำให้กรุงเทพฯ สดใสน่าอยู่ยิ่งขึ้นได้ ความสุขเกิดขึ้นได้ เมื่อชีวิตง่ายขึ้นใจความสำคัญที่กรุงศรีต้องการสื่อสารผ่านกิจกรรมภายในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ คือ เราอยากให้ทุกคนใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ได้สะดวกสบายและง่ายขึ้น เมื่อชีวิตง่ายขึ้น ทุกคนก็จะมีความสุขกันมากขึ้น จึงต้องการสร้างแรงบันดาลใจผ่านการสื่อสารที่สนุกสนานและเข้าใจง่าย รวมถึงอยากมอบช่วงเวลาดีๆ ให้ทุกคนได้มาเปิดประสบการณ์ร่วมกันในเทศกาลฯ ที่มีจุดประสงค์หลักในการพัฒนาเมืองและชุมชนให้น่าอยู่ เอื้อประโยชน์และส่งเสริมการใช้ชีวิตของผู้คนทุกกลุ่มทุกวัยอย่างครอบคลุมดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/92332–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

พื้นที่สนุกๆ ที่ชวนมาฟังไอเดีย ‘ชีวิตที่ดี’ โดย centralwOrld และ CENTRAL PATTANA

พื้นที่สนุกๆ ที่ชวนมาฟังไอเดีย ‘ชีวิตที่ดี’ จากคนทุกเจเนอเรชัน โดย centralwOrld และ CENTRAL PATTANA“สำหรับคุณ… ชีวิตที่ดีต้องเป็นอย่างไร?” หากถามคำถามนี้กับเด็ก วัยรุ่น คนทำงาน หรือผู้สูงวัย คำตอบที่ได้คงไม่เหมือนกัน และจะเป็นอย่างไร หากเรามีโอกาสฟังไอเดียนี้จากคนทุกเจเนอเรชัน ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้ เซ็นทรัลพัฒนา และเซ็นทรัลเวิลด์ สร้างสรรค์พื้นที่ให้เรามาค้นหาความหมาย ด้วยความเชื่อที่ว่า งานดีไซน์มีพลังช่วยสร้างสรรค์เมืองให้น่าอยู่ขึ้น พร้อมสนุกไปกับการเซลฟี่กับ Giant Characters ในโปรเจกต์ Friends of Bangkok x Co-Creating City บริเวณลานหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง ผลงานการออกแบบโดย projecttSTUDIO สตูดิโอออกแบบที่โดดเด่นเรื่องความครีเอทีฟที่เป็นเอกลักษณ์ และ Glow Creative เอเจนซี่นักเล่าเรื่องที่สร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการทำความเข้าใจมนุษย์ พร้อมพาร์ตเนอร์อย่างทีม IDF ที่มาร่วมกันสร้างพื้นที่แห่งศิลปะที่มีความหมายให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นค้นหาตัวตนใน ‘โลก’ แห่งการใช้ชีวิตที่น่าอยู่โซนแรก “Friends of Bangkok” ต้อนรับทุกคนด้วย Giant Characters คาแรกเตอร์ขนาดยักษ์ที่ยกขบวนกันมาสร้างความคึกคักให้คุณได้เซลฟี่กันจนเมมเต็ม พร้อมทั้งบอกเล่าการใช้ชีวิตที่น่าอยู่ในไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง ในโซนนี้คุณจะได้ค้นหาตัวตนจากการเลือกตัวต่อ 3 ชิ้นที่บ่งบอกความเป็นคุณ และนำไปประกอบรวมกับเพื่อนเจนเดียวกันตลอด 9 วัน เสมือนเป็นงานศิลปะ Data Visualization ชิ้นใหญ่ที่สะท้อนตัวตนของคนทุกวัยในเมืองนี้แชร์ไอเดีย ‘ชีวิตดีๆ’ ในแบบของคุณโซนที่สอง “Co-Creating City” เซ็นทรัลพัฒนาชวนคุณมาแชร์ไอเดีย ‘ชีวิตดีๆ’ ในแบบของตัวเองผ่านกิจกรรม Interactive ที่คุณจะได้เลือกภาพพื้นที่ที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ และตอบคำถามว่า “สำหรับคุณ… ชีวิตที่ดีต้องเป็นอย่างไร?” ก่อนที่ทุกข้อความจะไปปรากฏอยู่บน Interactive Wall เมืองน่าอยู่ ให้คุณได้มองเห็นและรับฟังเรื่องราวและไลฟ์สไตล์ของเพื่อนร่วมเมือง ไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศการนั่งล้อมวงกินอาหาร, คนรักสัตว์จูงสุนัขเดินเล่นในสวน, สายปาร์ตี้ที่ครื้นเครงไปกับเสียงดนตรี, ศิลปินที่เพลิดเพลินกับการสร้างสรรค์ผลงาน, คนรักสุขภาพที่ออกไปวิ่ง และถ่ายภาพคู่ไอเดียของคุณแชร์ในโซเชียลออกแบบเมืองที่น่าอยู่ด้วยการฟังเสียงของผู้คนเซ็นทรัลพัฒนาและเซ็นทรัลเวิลด์มีเป้าหมายในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนให้กับผู้คน โดยเชื่อว่า พื้นที่ที่ดีต่อการใช้ชีวิตนั้นต้องเกิดจากการฟังเสียงของทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ที่ต้องการสร้างเมืองให้ ‘น่าอยู่’ โปรเจกต์นี้จึงเป็นเสมือนพื้นที่ที่ให้ทุกคนมาร่วมออกแบบเมืองร่วมกัน เพื่อเห็นศักยภาพของงานออกแบบที่ช่วยสะท้อนความต้องการที่หลากหลายและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เมืองของเราได้–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

เบื้องหลังการปรับดีไซน์ ‘พัดลมไทย’ โดย ฮาตาริ และ Habits Design Studio

เบื้องหลังการปรับดีไซน์ ‘พัดลมไทย’ ให้ชีวิตประจำวันรื่นรมย์ขึ้น โดย ฮาตาริ และ Habits Design Studioประเทศเมืองร้อนอย่างเรา ‘พัดลม’ คือของคู่บ้านที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะมีไลฟ์สไตล์แบบไหน พัดลมถือเป็นหนึ่งในงานออกแบบที่แฝงตัวอยู่ในชีวิตประจำวันจนเราอาจไม่ทันได้สังเกต และพาลไม่เคยตั้งคำถามว่า เบื้องหลังกว่าที่พัดลมตัวหนึ่งจะถูกออกแบบ ผลิต จนถึงมาตั้งคลายความร้อนในบ้านเรานั้นมีเส้นทางเป็นอย่างไรในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ฮาตาริ แบรนด์พัดลมที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 30 ปีจึงถือโอกาสนี้เปิดบ้าน เผยเบื้องหลังกว่าจะเป็นพัดลมหนึ่งตัว ตั้งแต่คอนเซปต์ กระบวนการออกแบบ ให้ตรงความต้องการผู้คน ไปจนถึงการทำการตลาดเพื่อสื่อสารให้ไปถึงใจผู้บริโภค ผ่านประสบการณ์การทำงานกว่า 5 ปี ร่วมกับ Habits Design Studio สตูดิโอออกแบบผลิตภัณฑ์ชั้นนำจากอิตาลี นักออกแบบที่อยากเติมไฟ หรือคนทั่วไปที่อยากเปิดโลกการออกแบบโดยเริ่มต้นจากของใกล้ตัว เราขอชวนปักหมุดนิทรรศการ Hatari x Habits Design Studio: Designing the Wind ณ บ้านตรอกถั่วงอก เมื่อเทรนด์เปลี่ยน พัดลมจึงต้องปรับแม้ฮาตาริจะเป็นแบรนด์พัดลมคู่คนไทยมายาวนานกว่า 30 ปีที่ขึ้นชื่อเรื่องความอึด ถึก ทน จนกลายเป็นยี่ห้อพัดลมที่ต้องมีในทุกบ้าน แต่เมื่อโลกหมุนไป ไลฟ์สไตล์ผู้คนเปลี่ยนตาม ที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนจากบ้านกลายเป็นคอนโด ดีไซน์และการแต่งบ้านคือเรื่องใหญ่ที่คนให้ความสำคัญ แบรนด์พัดลมที่เคยเน้นจุดขายเรื่องฟังก์ชั่นมายาวนานอย่างฮาตาริ ก็ถึงคราวต้องปรับตัวตามด้วยเหตุนี้เอง ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ฮาตาริจึงเริ่มต้นจับมือกับ Habits Design Studio สตูดิโอออกแบบจากอิตาลีที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และมีประสบการณ์ออกแบบให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมาแล้วมากมาย ซึ่งพวกเขาเพิ่งโยกย้ายเข้ามาตั้งสาขาในกรุงเทพฯ เพื่อใช้ ‘การออกแบบ’ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างองค์ความรู้ดั้งเดิมของฮาตาริด้านการผลิตสินค้าที่เข้าใจคนไทย เข้ากับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการออกแบบ พลิกโฉมแบรนด์ให้กลายเป็นมากกว่าแค่ผู้ผลิต แต่กลายเป็น ‘นักสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์’ ที่เข้าใจคนรุ่นใหม่ เบื้องหลังการ ‘ออกแบบสายลม’ เพื่อคนไทยเรื่องราวตลอดเส้นทางการทำงานร่วมกันของฮาตาริและ Habits Design Studio เพื่อ ‘ออกแบบสายลม’ ให้คนไทย คือสิ่งที่เราจะได้สำรวจไปด้วยกันในนิทรรศการครั้งนี้ โดยนิทรรศการแบ่งออกเป็น 4 โซน มีรูปแบบการจัดแสดงเป็นบริเวณชั้น 1: ‘WIND EMOTION’ พบกับ PANORAMA แผงไฟ LED ขนาดใหญ่ที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้เข้าเยี่ยมชมบริเวณชั้น 2: ‘TECHNOLOGICAL HEART’ ที่จะเล่าเรื่องราวของขบวนการวิจัยและพัฒนา กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างสายลมแห่งความสุขบริเวณชั้น 3: ‘PERFORMING WIND’ งานศิลปะติดตั้งที่ได้แรงบันดาลใจจาก Colosseum ผู้เข้าเยี่ยมชมจะได้พบกับ Interactive Art จากพัดลมฮาตาริรุ่นใหม่ล่าสุดบริเวณชั้น 4: ‘DESIGN FOR MODERN LIVING’ เป็นชั้นที่ตีแผ่คอลเล็กชันผลิตภัณฑ์ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ Hatari และ Habits Design Studio เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ทั้งนี้ภายในนิทรรศการยังมีกิจกรรมน่าสนใจที่ซ่อนอยู่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมุมถ่ายรูปสุดพิเศษ กิจกรรมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ และ Customized พัดลมรุ่นใหม่จากฮาตาริในเแบบของคุณเข้าใจคุณค่าของการ ‘ออกแบบดี’ ผ่านพัดลมในฐานะนักออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีทุกบ้าน ฮาตาริ มองว่า ‘พัดลม’ คือสื่อใกล้ตัวที่สามารถบอกเล่าถึงความสำคัญของการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ได้ หากคนเข้าใจว่า การออกแบบที่ดีสร้างคุณค่าให้พัดลมหนึ่งตัวอย่างไร อาจขยายมุมมองไปสู่ความเข้าใจในระดับที่ใหญ่ขึ้น อย่างการออกแบบเมืองที่ดี ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ในปีนี้ ที่ชวนทุกคนมาคิดร่วมกัน–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : หัวลำโพง

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : หัวลำโพง“วาดอนาคตย่านสร้างสรรค์รอบสถานีรถไฟใจกลางเมือง จากเรื่องราวในอดีตที่ไม่เคยถูกบันทึก”ใครหลายคนมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เวลา 24 ชั่วโมงในสถานีรถไฟหมุนเร็วกว่าโลกภายนอกมากนักจากบรรยากาศที่พลุกพล่านขวักไขว่ไปด้วยทั้งบรรดานักเดินทางหน้าใหม่ พ่อค้ามือฉมังที่เข้ามาติดต่อธุรกิจใจกลางกรุง ชาวต่างจังหวัดที่เข้ามาตามหาความฝัน และชาวเมืองหลวงที่ต้องลาจากบ้านเกิดไปเรียนหรือทำงานที่อื่น แน่นอนว่า ‘หัวลำโพง’ ก็ปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นอย่างดีมาตลอดกว่า 100 ปีที่ผ่านมาในฐานะ ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ หรือศูนย์กลางการสัญจรที่สำคัญประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อย่านที่เคยเป็นกำลังสำคัญในการนำพาผู้คนมากมายให้เดินทางเชื่อมถึงกันได้จำเป็นต้องออกเดินทางกับเขาบ้างในวันที่บริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ตามมาหาคำตอบไปด้วยกันกับ ‘คุณมิว-ญาณิน ธัญกิจจานุกิจ’ และ ‘คุณจับอิก-ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์’ สมาชิกกลุ่ม ริทัศน์บางกอก (ReThink Urban Spaces หรือ RTUS) ในฐานะ Co-host ผู้ร่วมจัดงาน Bangkok Design Week 2024 ย่านหัวลำโพงการเดินทางครั้งใหม่ของ ‘อดีตศูนย์กลางการเดินทาง’‘หัวลำโพง’ และซอยพระยาสิงหเสนี คือย่านที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในยุคที่สถานีรถไฟกรุงเทพยังคงเปิดทำการ คุณมิวอธิบายว่าที่นี่เคยเป็นทั้งที่หลับนอนและแหล่งพักท้องของคนเดินทางไกล ซึ่งอัดแน่นไปด้วยลูกค้ามากหน้าหลายตาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาใช้บริการตลอดทั้งวันทั้งคืน“เช่นแบบว่า ถ้านักเดินทางนั่งรถไฟไกลๆ มาจากทางใต้ คนใต้ก็จะบอกกันปากต่อปากว่าในซอยนี้มีร้านอาหารฮาลาลเจ้าอร่อยอยู่นะ หรือว่าในยุคก่อนก็จะมีโรงแรมดังๆ ที่เวลาคนเดินทางไกลมาถึงก็จะมาพักก่อนไปทำธุระในย่านอื่นๆ ในโรงแรมก็จะมีร้านอาหารดังๆ อยู่ข้างใต้ เช่น ข้าวหมูแดงไอเตี้ยไอสูง คนแถวนั้นเขาก็จะเรียกกัน ซึ่งปัจจุบันมันก็หายไปพร้อมกับการตัดทางด่วนและการย้ายสถานีแล้ว” คุณมิวและคุณจับอิกอธิบายต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของหัวลำโพงมีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน หนึ่ง คือการขยายตัวของเมืองที่ส่งผลต่อทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมือง รวมถึงเปลี่ยนผู้ใช้งานหน้าเก่าให้ห่างหาย และ สอง คือสถานการณ์โควิด-19 ที่เหมือนเลือกจังหวะในการเข้ามาซ้ำเติมได้ถูกเวลาซะเหลือเกิน“หัวลำโพงเจอการเปลี่ยนแปลงมาหลายอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนึงคือเจอทางด่วนผ่ากลางชุมชน คือตรงกลางชุมชนก็หายไปเลย กลายเป็นลานปูนใต้ทางด่วน มันก็เกิดผลกระทบครั้งใหญ่ไปรอบหนึ่ง แล้วพอมาเจอโควิด หัวลำโพงก็โดนผลกระทบอีก และมันก็ทำให้ซบเซาลงไปเรื่อยๆเพราะช่วงโควิดที่ผ่านมามันเงียบมาก ยิ่งมาเจอเรื่องย้ายสถานีอีก ร้านค้าก็หาย เขาก็ย้ายรถไฟจำนวนมากไปไว้ที่บางซื่อ พนักงานก็หาย นักเดินทางก็หาย ส่งผลกระทบต่อพื้นที่นี้อย่างมาก เพราะที่หายไปคือคน 2 กลุ่มหลักๆ ที่หล่อเลี้ยงย่านนี้เราเห็นกับตาเลยอย่างช่วงที่ผ่านมามีร้านอาหารฮาลาลร้านหนึ่งถูกปิดตัวไป เพราะรถไฟสายใต้ไม่มาแล้ว จาก 50 กว่าคนต่อวัน เหลือแค่ 5 คน เลยทำให้เขาอยู่ไม่ได้ แล้วต้องปิดตัวลงกลับไปอยู่ต่างจังหวัด พอเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ร้านที่ยังอยู่ก็อยู่ได้แหละ แต่รายได้ก็หายไปมาก” ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่ส่งผลต่อย่านนับครั้งไม่ถ้วน คุณมิวและคุณจับอิกไม่ได้มองว่าเรื่องนั้นเป็นจุดจบ แต่คือการเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่ของย่านหัวลำโพงต้นทุนอันล้ำค่า มาจาก ‘เรื่องราวที่ไม่เคยถูกจดบันทึก’เมื่อลองปรับมุมมองเพียงไม่มาก ด้วยการเปลี่ยนจุดศูนย์กลางของเรื่องเล่ากลับมาสู่สิ่งที่เป็นหัวลำโพงจริงๆ เมื่อสถานีรถไฟย้ายออกไป สิ่งที่พวกเขาได้ค้นพบคือต้นทุนทางสถานที่ตั้งและเรื่องราวมากมายที่ไม่เคยถูกใครจดบันทึก และแน่นอนว่าไม่มีใครเคยบอกเล่าออกไปยังโลกภายนอกเช่นกัน“ตัดเรื่องสถานีรถไฟเดิมออกไปแล้วลองมองแบบ science analysis ในแง่กายภาพคือโลเคชันมันดีมาก นอกจากมันจะอยู่ใกล้หัวลำโพง มันยังอยู่ติดกับ MRT ซึ่ง MRT นี้จะเป็นเหมือนตัวเชื่อมจากเมืองฝั่งจุฬาเป็นต้นไปเข้าไปยังพื้นที่เมืองเก่า เช่น ถ้าจะไปตลาดน้อย เจริญกรุง ก็จะสามารถต่อรถเข้าไปได้ ไปเยาวราชก็ได้ ในแง่ที่ตั้ง มันมีศักยภาพ นอกจากนี้เรายังพบว่าในชุมชนก็ยังมีเรื่องเล่าอื่นๆ อีกเยอะมาก มีคนในชุมชนที่ทำกระดุมจีน พับกระดาษไหว้เจ้า รับจ้างต่างๆ มีการทำโคมเต็งลั้ง มีอะไรอีกเยอะแยะที่มันเป็นเรื่องเล่า มีกิจการที่อยู่รอบๆ ทั้งงานเหล็ก งานคราฟต์ ที่เขาทำนำเข้าเหล็กมาจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นจุดที่ผู้รับเหมาจะมาติดต่อหาลายแปลกๆ นำไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ เราก็เลยได้รู้ว่า หัวลำโพงมันก็มีเรื่องเล่าอีกมากมายที่เราไม่จำเป็นต้องไปเชื่อมโยงกับสถานีรถไฟ และกลุ่มคนกลุ่มเดิมที่ย้ายออกไปแล้วก็ได้”คุณมิวและคุณจับอิกอธิบายว่าการค้นพบใหม่นี้มาพร้อมกับความท้าทายของการต่อสู้กับเวลา เพราะถึงแม้ว่าพวกเขาจะได้เจอเรื่องราวมากมาย แต่หลายเรื่องกำลังใกล้จะกลายเป็นเพียงความทรงจำ“จากที่คุยกันและรวมตัวเป็นเครือข่ายหัวลำโพง เราอยากรีบเก็บข้อมูลก่อนที่มันจะไม่ทันคนรุ่นนี้ เพราะหลายๆ เรื่องเวลาที่เขาเล่ามา มันมักจะจบด้วยคำว่าคนที่ทำสิ่งนี้ได้ไม่อยู่แล้ว เป็นต้น ก็คือเราไม่ทันรุ่นนั้นแล้ว หลายเรื่องมันกลายเป็นเหลืออยู่แค่ในความทรงจำของคนแก่ไปแล้ว ไม่มีการจดบันทึกไว้ด้วย เพราะในยุคก่อน ภาพเก่ามันหายากมากๆ เพราะคนในพื้นที่ก็ไม่ได้มีรายได้มาซื้อกล้องถ่ายภาพ แต่จากที่ไปคุยไปย้อนให้ทุกคนช่วยเล่า มันก็ยังเป็นสิ่งที่น่าเก็บเอาไว้เป็นทุนทางวัฒนธรรมของย่าน และสำหรับรุ่นที่เรายังทันอยู่ เราก็อยากรีบบันทึกเอาไว้และทำเป็นฐานข้อมูล”ฉายแสงให้คนในเห็นคุณค่าของตัวเองผ่านความคิดสร้างสรรค์เมื่อมองเห็นโอกาสในการนำเรื่องราวที่ไม่เคยถูกเล่ากลับมาปรับใช้ ก่อนจะเริ่มทำงานกับใครที่ไหนไกล สิ่งที่คุณมิวและคุณจับอิกมองว่าสำคัญที่สุดคือการฉายไฟให้คนในพื้นที่เริ่มมองเห็นคุณค่าของตัวเองและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่มี เมื่อมองเห็นคุณค่าแล้วจึงจะสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างบทสนทนาและโอกาสใหม่ๆ ในพื้นที่ได้“เหมือนตอนนี้ในพื้นที่ก็ขาด sense of belonging อะไรบางอย่างอยู่เหมือนกัน แต่พอได้เริ่มลงไปทำกิจกรรมที่เป็นเชิง placemaking หรือการลองพูดถึงเรื่องราวเก่าๆ มากขึ้น เราก็เริ่มเห็นบทสนทนาที่ว่า ทำไมเราจะเป็นเหมือนย่านเก่าแก่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ชุมชนเราก็มีความเก่าแก่เหมือนกัน เรามีต้นทุนวัฒนธรรมตั้งเยอะ แต่ทำไมพื้นที่ตรงนี้ไม่ถูกพูดถึงในเชิงวัฒนธรรมเลย เพราะส่วนใหญ่เวลาพูดถึงหัวลำโพงคนจะนึกถึงแต่ส่วนกลาง เราเลยหวังว่า อยาก keep energy แบบนี้ต่อไปให้ได้ ให้ในชุมชนมันมี sense of belonging อะไรบางอย่าง และอยากจะ push ให้ชุมชนไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ มันอาจจะเริ่มต้นจากคนแค่กลุ่มเดียว แต่เรารู้สึกว่ามันจะเป็น snowball effect ที่ช่วยบอกต่อและส่งต่อความรู้สึกแบบนี้ให้กระจายไปสู่คนที่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในชุมชน และหวังว่ามันน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะ 3 ปีนี้แหละ พอคนในชุมชนมองเห็น เราก็จะค่อยมาดูกันต่อว่าเราจะสามารถพูดถึงต้นทุนวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วเอาไปสื่อสารให้เป็นภาพจำให้กับคนนอกยังไงได้บ้าง ว่าหัวลำโพงไม่ได้มีแค่สถานีรถไฟ แต่มีทั้งผู้คนและต้นทุนทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่จะทำให้ย่านถูกพูดถึงใหม่ ว่าหัวลำโพงมันมีมากกว่านั้น”แน่นอนว่า Bangkok Design Week ในครั้งนี้ก็จะเป็นหนึ่งครั้งที่พวกเขาตั้งใจอยากทำให้คนในพื้นที่ได้มองเห็น value ของตนเองมากยิ่งขึ้น “เรามองว่าการจะอยากให้พื้นที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง เขาอาจจะต้องพึ่งพาคนกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้นตามรูปแบบการใช้งานพื้นที่ที่เปลี่ยนไป เลยอยากนำเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคิดความสร้างสรรค์ต่างๆ มาจับกับพื้นที่เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆ เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างคนเจนเก่า เจนใหม่ รวมถึงเด็กที่อาจจะยังไม่ได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดในพื้นที่ ให้ได้มาทำความรู้จักกัน เพื่อให้คนข้างในเข้มแข็งก่อนที่จะออกมาต่อยอดศักยภาพที่ตัวเองมี ให้พื้นที่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง”พร้อมเปิดบ้านแนะนำ ‘หัวลำโพง’ ที่คุณอาจไม่เคยรู้จักใน BKKDW 2024ในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ พวกเขามาพร้อมกับธีมง่ายๆ อย่าง ‘การเปิดบ้าน’ เพราะนอกจากการเปิดบ้านจะเป็น Meaning ของการเปิดต้อนรับคนใหม่ๆ และโอกาสใหม่ๆ แล้ว ยังหมายถึงโอกาสแรกในการรวมชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวผ่านการเริ่มเปิดประตูบ้านออกมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนอีกด้วย “เราตั้งใจกันว่าจะมาเปิดบ้านครั้งแรกกัน หลังจากที่มันซบเซาลงไปในช่วงโควิด ดีไซน์วีคปีนี้ในย่านก็มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง เราเลยอยากถือโอกาสนี้ให้ต่างคนได้ต่างโชว์ของที่ตัวเองมี ไม่ว่าจะเป็น Hostel ใหม่ๆ ที่มาเปิด หรือคาเฟ่และสตูดิโอต่างๆ ที่เมื่อก่อนเขาอาจจะจัดดีไซน์วีคเองคนเดียวมาทุกปี แต่ปีนี้จะถือเป็นครั้งแรกที่ทุกคนร่วมกันเปิดบ้านออกมานำเสนอเรื่องราวในภาพใหม่ของความเป็นย่าน มาใส่หมวกย่านหัวลำโพงไปด้วยกัน”“พื้นที่จัดงานจะมีตั้งแต่ MRT ทางออก 3 ตรงข้ามฮ่องกงนูเดิ้ล เข้าไปในซอยพระยาสิงหเสนี ซึ่งซอยนี้จะติดอยู่กับทางด่วนข้างหัวลำโพง เป็นขอบเขตตรงนี้ยาวไปจนถึงใต้ทางด่วน ลอดใต้ทางด่วนไป ทะลุกับอีกฝั่งที่ชิดกับกำแพงที่มีรถไฟ ถนนรองเมือง ไปสุดตรงเส้นหน้าวัดดวงแข เป็นกรอบข้างๆ หัวลำโพง มองเข้าหัวลำโพง จะอยู่ฝั่งขวาคนที่เข้าร่วมก็จะมีตั้งแต่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ที่ทำงานในพื้นที่มา 40 กว่าปีแล้ว ซึ่งปกติทางมูลนิธิจะจัดงานทุกปีอยู่แล้ว แต่ปีนี้ก็ได้ย้ายช่วงเวลาจัดงานให้มาเป็นส่วนหนึ่งของ BKKDW จัดแสดงงานของ 4 ชุมชนที่เขาดูแล เป็นงานฝีมือ งานคราฟต์ในชุมชน โชว์ภาพถ่าย มีกิจกรรมให้เข้าร่วม ดำเนินการโดยกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มรองเมืองเรืองยิ้ม ที่เป็น active citizen ที่บ่มเพาะกันมานาน ซึ่งกลุ่มเด็กเยาวชนเหล่านี้ก็ลุกขึ้นมา take action และสื่อสารเรื่องราวของ 4 ชุมชน ซึ่ง 4 ชุมชนนี้ก็จะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปมีโปรเจกต์ Made in Hua Lamphong ที่เป็นการ Collaboration การทำงานของธุรกิจร้านค้าดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์ในย่านหัวลำโพง 6 ธุรกิจ ทำงานร่วมกับนักออกแบบ 5 สตูดิโอ เพื่อสื่อสารเรื่องราวของดีในย่าน และต่อยอดธุรกิจว่าชุมชนในหัวลำโพงก็มีดีในแบบของตัวเองกลุ่มอื่นๆ ก็จะเน้นไปที่การเปิดบ้านของผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น Play Space Cafe ซึ่งจะมีเครือข่ายชาวช่างภาพ นักถ่ายรูป มาจัดเดินเมือง ถ่ายรูป Nice Photo Walk, C house Hostel เปิดใหม่) ที่เอาโรงงานมุ้งเก่ามารีโนเวตใหม่ อยู่ใกล้ริมทางรถไฟ ที่จะจัดนิทรรศการ ปาจื่อ โหราศาสตร์ เชื่อมโยงกับโหราศาสตร์ น่ำเอี้ยง ที่เป็นต้นทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ตรอกหิน เล่าเกี่ยวกับเรื่องของธาตุในตัวคน และให้เดินในพื้นที่ตามหาพื้นที่ที่เสริมธาตุนั้นๆ โดยในงานก็จะมี Installation Art และ Interactive Art เพื่อกระจายคนเข้าไปในย่าน และเล่าเกี่ยวกับโหราศาสตร์ที่อยู่คู่กับชุมชนจีนนี้ด้วยตรงข้าม C house จะมีสตูดิโอของศิลปินชาวอเมริกันชื่อว่า Coby เขาเป็นคนทำงานเหล็ก ตอนแรกเขาอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเขามีครอบครัว แต่ไม่รู้ว่าติดใจอะไรในพื้นที่นี้ น่าจะเพราะมีงานเหล็กเยอะ เขาเลยมาเปิดสตูดิโอ เช่าบ้านและทำงานเหล็กอยู่ตรงนี้ โดยปกติถ้าเดินผ่านก็จะปิดบ้านทำงานอยู่ในบ้าน แต่ช่วง BKKDW เขาก็จะเปิดบ้านให้คนสามารถเข้าไปชมได้ ใต้บ้านคาเฟ่ ก็จะมีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปวาดรูปแคนวาส กิจกรรมเวิร์กช็อปพาเดิน EcoWalk ไปเก็บใบไม้ต่างๆ มาทำ Eco Printing และทำเครื่องหอม, มีผลงานของ Artist in Residency มาร่วมจัดแสดง มีศิลปินจากฟิลิปปินส์ รัสเซีย เป็นต้น มี Mami Papercraft และ ปิติ Studio ที่จะเปิดในช่วงมกราคม ก็จะใช้โอกาสจัดเวิร์กช็อปครั้งแรก แล้วแสดงงานรวมกัน 2 ศิลปินในตึกเดียวกัน และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายเลย สุดท้ายบริเวณใต้ทางด่วน ก็จะมีนิทรรศการของ ริทัศน์บางกอก ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงจัดกิจกรรม โดยที่เราต้องการเก็บข้อมูลในชุมชน โดยเอาศิลปิน 8 คนเข้ามาในพื้นที่ มาใช้พื้นที่ใต้ทางด่วน และให้เขาได้พูดคุย เก็บข้อมูลกับคนในชุมชนจริงๆ โดยจะให้ประเด็นที่แตกต่างออกไปสำหรับศิลปินแต่ละคน ไปในแนวงานที่เขาถนัด เช่น เรื่องความเชื่อ เรื่องตามหาประตูทางเข้าหินที่หายไปเพราะโดนทุบไปกับทางด่วน เป็นต้น”การเดินทางครั้งใหม่ของอดีตย่านแห่งการเดินทางจะเป็นอย่างไร ตามมาหาคำตอบไปด้วยกันได้ที่ Bangkok Design Week 2024 ย่านหัวลำโพงรู้จักกับ ‘ย่านหัวลำโพง’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่านMade in Hua Lamphongwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/70966 หัวลำโพง ไม่หิวลำพังwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71898 อรุณสวัสดิ์ หัวลำโพงwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71729 Photo Frame Papercraft Workshopwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/92461 คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านหัวลำโพง ที่นี่ : www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=49826 –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

'ชุบชีวิต เพิ่มมูลค่าให้พื้นที่' ด้วยแสงสีและจินตนาการไร้ขีดจำกัด จาก Epson

‘ชุบชีวิต เพิ่มมูลค่าให้พื้นที่’ด้วยแสงสีและจินตนาการไร้ขีดจำกัด กับ 4 Projection Mapping เทคโนโลยีภาพจาก Epson‘Projection Mapping’ คือหนึ่งในรูปแบบงานที่เป็นภาพจำของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ อย่างปฏิเสธไม่ได้ ทุกๆ ปี งาน Projection Mapping คือพื้นที่สำคัญที่นักออกแบบและนักสร้างสรรค์หลากหลายศาสตร์มารวมตัวกันหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อขยายขีดจำกัดให้เทคนิคการฉายภาพลงบนวัตถุและพื้นที่พัฒนาไปอย่างไม่มีหยุดหย่อนโดยกระบวนการคัดเลือกสถานที่สำหรับสร้างสรรค์ศิลปะ Projection Mapping ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่องราวและประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของพื้นที่ เพื่อให้เทศกาลทำหน้าที่เป็นสนามทดลองค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสำหรับชุมชน ทั้งสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ถูกหลงลืม พื้นที่รกร้างที่ขาดการใช้ประโยชน์ หรือแม้กระทั่งสถานที่ราชการที่คนทั่วไปยากจะเข้าถึง หากมองให้ลึกซึ้งถึงจุดประสงค์ที่แท้จริง จะพบว่าศิลปินไม่ได้ตั้งใจนำเสนอเพียงความสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจเท่านั้น แต่พยายามสอดแทรกการเชื่อมโยงอดีตเข้ากับปัจจุบัน และชวนสร้างบทสนทนากระตุ้นให้เกิดการขบคิดร่วมกันว่าอนาคตของสถานที่เหล่านี้ควรดำเนินไปอย่างไรการออกแบบงานประเภทนี้ต้องอาศัยองค์ความรู้จากหลายศาสตร์ผสานกัน ทั้งการเล่าเรื่อง กราฟิก โมชั่น ดนตรี การออกแบบแสง สถาปัตยกรรม ฯลฯ โปรเจกต์ Projection Mapping จึงเป็นพื้นที่ที่ดีที่นักออกแบบจะได้ทดลองประยุกต์หลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยมี ‘เทคโนโลยี’ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ทุกไอเดียเกิดขึ้นจริง และในปีนี้เราก็มีผลงาน Projection Mapping ที่มาสร้างสีสันให้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ กระจายตัวอยู่หลายจุด ตัวอย่างผลงานบางส่วน ได้แก่1. I Flower You: Pak Khlong Collective Blooms เปิดประสบการณ์ตามหาเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ดิจิทัลในย่านปากคลองตลาดที่ผู้ชมสามารถนำมาปลูกร่วมกันที่กระถางดอกไม้ Interactive บริเวณอาคารไปรษณียาคาร โดยแต่ละดอกยังบ่งบอกความหมายที่แตกต่างตามสิ่งที่เราอยากสื่อสารดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/67976 2. “มา/หา/กัน” Join (joy) together หยิบผลงานศิลปะจากศิลปินท้องถิ่นมาเล่าใหม่ผ่านการฉายภาพบนสถาปัตยกรรมของป้อมมหากาฬ พร้อมแฝงลูกเล่นด้วยเทคนิคภาพลวงตาที่ใครผ่านไปมาต้องอยากหยุดดูและถ่ายรูปดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/76265 3. Bang Bua Live Stickers Book ศิลปะดิจิทัลออนไลน์ในรูปแบบสมุดสติกเกอร์เคลื่อนไหวได้ ที่ใครๆ ก็ สามารถร่วมสนุกผ่านเว็บไซต์ได้แบบเรียลไทม์ โดยผลงานสมุดสติกเกอร์ดิจิทัลที่ทุกคนร่วมกันทำจะถูกจัดแสดงที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/87945 4. ExperienceScape โปรเจกต์จากศูนย์มิตรเมือง (Urban Ally) ที่เชิญชวนศิลปินชั้นนำมาสร้างผลงานศิลปะด้วยเทคนิค New Media Art และ Projection Mapping ตามสถานที่ต่างๆ ในย่านพระนคร ไม่ว่าจะเป็นประปาแม้นศรี, หอพระ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า), สวนรมณีนาถ และป้อมมหากาฬดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/UrbanAlly.SU สร้างเมือง ‘ออกแบบดี’ ด้วยเทคโนโลยีไร้ขีดจำกัด ผลงาน Projection Mapping ทั้งในปีนี้และหลายปีที่ผ่านมาบอกเราว่า ศิลปะและการออกแบบช่วยทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นได้ ทั้งในมิติของการเพิ่มคุณค่าให้ย่านและสถานที่ที่ถูกหลงลืม เล่าเรื่องเมือง สร้างปฏิสัมพันธ์ให้ผู้คน สร้างแสงสีให้เมืองเกิดความเคลื่อนไหว และไอเดียดีๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มี ‘เทคโนโลยี’ ที่ช่วยต่อเติมจินตนาการให้เกิดขึ้นจริงEpson ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีการพิมพ์และการฉายภาพระดับโลก จึงเห็นความสำคัญเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มนี้ให้สามารถสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์และสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ ด้วยการชักชวนศิลปินและนักสร้างสรรค์ทั้งจากภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ มาร่วมกันสร้างผลงานศิลปะจากเทคโนโลยี Projection Mapping เพื่อนำไปสู่การเป็นต้นแบบของการออกแบบเมืองน่าอยู่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีไร้ขีดจำกัด–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

ดีไซน์วีคแล้วไปไหน

ดีไซน์วีคแล้วไปไหน จากความตั้งใจของเทศกาลฯ ที่ให้โจทย์จริงจากกรุงเทพมหานคร (HACKBKK) และเปิด opencall เพื่อชวนนักสร้างสรรค์ มาร่วมกันคิด ทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาในมิติต่างๆ เพื่อให้เมืองน่าอยู่ยิ่งขึ้น มีหลากหลายผลงานนำเสนอแนวทางที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง จุดเสี่ยงภัย พื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ ขยะ มลพิษ กลุ่มเปราะบาง ไปจนถึงชุมชนเข้มแข็ง และสร้างจุดเด่นของย่านทาง Bangkok Design Week จึงได้ส่งต่อให้กับทาง Bangkok City Lab ของกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาต่อให้เกิดการใช้งานจริง โดยทุกท่านสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาต่อไป 1. การเดินทาง Go Go Bus บริการเดินรถไฟฟ้าขนาด 20 ที่นั่ง ที่มีการสำรวจเส้นทางใหม่เพื่อเชื่อมย่านเมืองเก่าจากเจริญกรุง-เยาวราช-พระนคร-นางเลิ้ง-ปากคลองตลาด ช่วยลดการใช้รถยนต์ในเขตเมืองเก่าที่มีที่จอดรถจำกัดและช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยเป็นความร่วมมือของกลุ่มนักออกแบบMayday เครือข่ายบัสซิ่งจากขอนแก่น และบริษัท อรุณพลัส จำกัดที่พัก และป้ายบอกคิววินมอเตอร์ไซค์ มอเตอร์ไซค์เป็นการขนส่งที่เป็นเหมือนเส้นเลือดของการเดินทางในกรุงเทพฯ จึงมีผู้ให้บริการกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ และมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เป็นที่มาของแนวคิดการปรับปรุงจุดพักคอยผู้ขับและผู้ใช้เพื่อความสะดวกและเกิดทัศนียภาพที่สวยงาม บริเวณซอยสุขุมวิท 26 โดยกลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบ A49 & Friends และการพัฒนาป้ายบอกคิวใช้บริการที่วินมอเตอร์ไซค์ คลองบางบัว โดย City Lab กรุงเทพมหานครระบบป้ายนำทางจักรยาน สภาพถนนของกรุงเทพฯ มีความหลากหลายสูง ทำให้การออกแบบเส้นทางสัญจรด้วยจักรยานในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน บางจุดควรเลี่ยงการปั่นบนถนนใหญ่ไปมุดตามซอกซอย บางจุดควรขึ้นบนฟุตบาท เป็นต้น ทำให้เกิดการทำลองทำข้อมูลเส้นทาง ข้อเสนอรูปแบบป้ายที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่แต่ละรูปแบบ พร้อมทั้งรับความคิดเห็นจากผู้ชม แล้วให้ข้อมูลเส้นทาง + ทำป้ายสัญลักษณ์จริงเพื่อชวนให้ผู้ใช้จักรยาน (ทั้งที่เอามาเอง และใช้ bike sharing ที่กทม.กำลังจะติดตั้ง) เดินทางในพื้นที่ที่กำหนดภายในเทศกาลเพื่อทดลองและรับ feedback และนำข้อมูลที่ได้รับไปพัฒนาต่อไป2. การทดลองปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ การทดลองใช้งานพื้นที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เป็นพื้นที่สาธารณะ จากนโยบายการย้ายสำนักงานศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จากเสาชิงช้าไปที่ทำการดินแดง กลุ่ม Urban Ally จึงทดลองทำพื้นที่สาธารณะให้มีการใช้งานที่หลากหลาย นอกเหนือจากการปรับปรุงพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์ โดยติดตั้ง People Pavilion – the elevated ground โดยกลุ่ม SP/N x Nerd studio ไว้ในพื้นที่ส่วนกลางของศาลาว่าการฯ เพื่อเป็นพื้นที่นั่งเล่นพักผ่อนและทำกิจกรรม สนามเดินเล่นแบบถอดประกอบได้ การออกแบบพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีนป่ายหรือเดินเล่นจากวัสดุที่สามารถถอดประกอบและปรับขนาดได้ตามพื้นที่ โดยกลุ่ม A49& Friend เพื่อให้ทางกรุงเทพมหานคร สามารถนำไปทดลองใช้งานในพื้นที่อื่น ๆ ที่ต้องการสิ่งปลูกสร้างที่ยืดหยุ่นตามขนาดพื้นที่และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โต๊ะพับ พร้อมร่ม ความร่วมมือระหว่างร้านผลิตร่ม ศิลป์เมือง และนักออกแบบ ease studio ภายใต้โครงการ Made in Hualampong โดยการเพิ่มฟังก์ชันให้เป็นที่นั่งที่ช่วยน้ำหนักขาตั้งของร่ม จึงไม่ต้องใช้แท่งปูนเป็นที่เสียบร่ม เมื่อร้านค้าริมทางเก็บร้าน จึงไม่เหลือแท่งปูนทิ้งไว้บนฟุตบาทหรือถนน เป็นทางเลือกสำหรับการพัฒนาร้านค้าริมทาง Pocket oasis gardenแนวคิดในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นสวนหย่อมขนาดเล็ก ผนวกกับ Street Furniture ใช้งานในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้สามารถ ติดตั้ง เคลื่อนย้ายได้สะดวก มีการออกแบบโครงสร้างรองรับไม้เลื้อย เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตจนปกคลุมโครงสร้างทำให้เกิด Green shading ที่ทำหน้าที่ช่วยบังแดดและ สร้างสภาวะน่าสบายให้กับพื้นที่ใช้งานด้านล่าง ซึ่งเหมาะสมกับสภาพอากาศแบบเมืองร้อนของประเทศไทยPuppup space (ปุ๊บปั๊บสเปซ) The live parklet (Intervention) การทดลองออกแบบพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กบนพื้นที่จอดรถ 2 – 3 ช่อง ภายใต้แนวคิด “การคืนพื้นที่สำหรับคนเดินเท้า” โดยการเปลี่ยนพื้นที่ของรถให้กลายเป็นพื้นที่กิจกรรมของชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะชั่วคราว สำหรับการพักผ่อน เป็นโครงการต่อยอดมาจากงานทดลองปรับปรุงพื้นที่ให้เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน โดยเพิ่มพื้นที่ทางเดิน กำหนดช่องจราจรให้ชัดเจน ช่วยลดความเร็วจราจรเพื่อความปลอดภัย ในชุมชนย่านเขตพระนคร3. การอยู่ร่วมกันของคนและสัตว์ อัณฑะเหมียวครองเมือง โดยจรจัดสรร นิทรรศการงานศิลปะเพื่อจัดการปัญหาน้องแมวจร โดยกลุ่มจรจัดสรร ที่นอกจากจะช่วยสร้างการรับรู้ถึงความจำเป็นในการทำหมันเพื่อคุมกำเนิดจำนวนประชากรแล้ว แต่ยังสามารถระดมทุนและช่วยหาบ้านอุปการะให้กับแมวอีกหลายตัว เป็นรูปแบบกิจกรรมที่กรุงเทพมหานครสามารถนำไปส่งเสริมให้เกิดขึ้นอีกในหลายพื้นที่บ้านนกบ้านกระรอก ถนนในกรุงเทพมหานครที่มีต้นไม้สองข้างทางมักเป็นที่อยู่ของนก กระรอก หรือสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ในเมือง A49& Friend จึงออกแบบบ้านเล็กๆ ที่ห้อยอยู่ตามต้นไม้ เพื่อเป็นที่อยู่ของสัตว์ตัวน้อยและสร้างความรื่นรมย์ให้กับผู้เดินเท้า–Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดีhard matters . heart matters . design matters27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape

RUNIVERSE BKK 2592

RUNIVERSE BKK 2592เบื้องหลังภารกิจวิ่งเพื่อกอบกู้กรุงเทพฯ ให้รอดในอีก 30 ปีข้างหน้า หากอยากเริ่มต้นออกกำลังกาย ‘การวิ่ง’ คงเป็นสิ่งแรกที่หลายคนนึกถึง เพราะเป็นกีฬาที่ไม่ต้องใช้ทักษะเฉพาะตัวและอุปกรณ์มากนัก สำหรับมือใหม่ขอแค่มีรองเท้าผ้าใบกับใจถึงๆ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว เฟียต-ธนพงศ์ พานิชชอบ ผู้ร่วมก่อตั้ง YIMSAMER สตูดิโอออกแบบประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับศิลปะและการออกแบบ ก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าสู่วงการวิ่งแบบเตาะแตะ ก่อนจะเอาจริงเอาจังมากขึ้น จนนำมาสู่การพัฒนาโปรเจกต์ RUNIVERSE BKK 2592 ที่เชิญชวนทุกคนมายืดเส้นยืดสายร่วมกันในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ครั้งนี้แต่ไม่ใช่งานวิ่งธรรมดา เพราะเป็นการวิ่งสำรวจกรุงเทพฯ ในอีก 30 ปีข้างหน้าที่ถูกเนรมิตขึ้นโดยเทคโนโลยีมัลติมีเดีย โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องสวมบทบาทเป็นหน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับองค์กร Bangkok Risk Zero ที่เดินทางไปยังโลกอนาคตในปี พ.ศ. 2592 เพื่อค้นหางานวิจัยที่สูญหายและหาวิธีกอบกู้เมืองจากวิกฤติสิ่งแวดล้อม ทั้งความแออัดของเมือง ภาวะโลกร้อน ปัญหาฝุ่น PM 2.5 พื้นที่ที่กลายเป็นชุมชนใต้น้ำ ซึ่งมีต้นตอมาจากการกระทำของพวกเราทุกคนที่จะส่งผลกระทบไปถึงอนาคตนักออกแบบที่ออกวิ่งเพื่อเยียวยาร่างกายและจิตใจ“ก่อนหน้านี้เฟียตทำงานหนักแล้วร่างกายกับสุขภาพจิตพังมาก จนกระทั่งเมื่อสามปีที่แล้วมีเพื่อนคนหนึ่งชวนไปวิ่ง ครั้งแรกวิ่งได้ประมาณสองกิโล เพซ 8-9 บางคนเดินยังไวกว่า แต่เราก็ซ้อมมาเรื่อยๆ และเริ่มจริงจังขึ้นในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เฟียตหันมาวิ่งเทรลและค้นพบว่ามันช่วยเติมพลังให้กับเราในหลายมิติ เลยอยากใช้งานนี้สื่อสารไปถึงเพื่อนๆ ศิลปินและนักออกแบบให้หันมาดูแลสุขภาพตัวเองกันบ้าง”“ตอนแรกเฟียตอยากจัดงานวิ่งในย่านเจริญกรุงแล้วมีภารกิจให้คนร่วมสนุก แต่จัดซิตี้รันไม่ได้เพราะมีฝุ่น PM 2.5 เลยเกิดไอเดียในการนำประเด็นนี้มาพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเอาการวิ่งมารวมกับประสบการณ์อิมเมอร์ซีฟผ่านภาพเคลื่อนไหวและมัลติมีเดีย แล้วเฟียตก็ไปเจองานวิจัยของหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขาคาดการณ์ว่ากรุงเทพฯ ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง ซึ่ง รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัย เขายินดีสนับสนุนข้อมูลส่วนนี้ ให้เราเอามาทำเป็นงานออกแบบประสบการณ์แบบที่เราถนัดได้”ร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่ทำให้วิ่งไปได้ไกลขึ้น“ชื่อเต็มๆ ของงานนี้คือ RUNIVERSE – IMMERSIVE RUNNING EXPERIENCE Powered by Amino Vital ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่ผลิตเจลเพิ่มพลังงานสำหรับนักวิ่ง เขาฟังโปรเจกต์แล้วซื้อเลย เขาอยากช่วยผลักดันให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะอยากสร้างความตระหนักในกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนที่เป็นนักออกแบบ ให้หันมาเห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย”“ผู้สนับสนุนรายต่อมาคือ Fitness First ฟังปุ๊บเขายินดีสนับสนุนลู่วิ่งทันทีเลยเหมือนกัน เพราะพวกศิลปินนักออกแบบเป็นกลุ่มที่เข้าถึงยากจริงๆ คนพวกนี้ดื้อมากหากจะชวนไปออกกำลังกายโดยไม่มีอะไรล่อ รูปแบบกิจกรรมจึงออกมาเป็นฟิตเนสเธียเตอร์ ที่เอาเรื่องการออกกำลังกายมาผนวกเข้ากับละครเวที ในห้อง Virtual Media Lab ของ CEA ซึ่งมีจอขนาดใหญ่มากๆ ที่วางระบบแสง สี เสียงเอาไว้ เราก็เอาลู่วิ่งเข้าไปวางและมีเทรนเนอร์มืออาชีพจาก Fitness First คอยนำกิจกรรมว่าตอนนี้ต้องวิ่งด้วยความเร็วเท่าไร ใช้ค่าความชันเท่าไร” “และเพื่อให้การสวมบทบาทเป็นหน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น เฟียตเลยชวนคุณงิ่ง-รัชชัย รุจิวิพัฒน์ จากคณะละครใบ้ Babymime มาช่วยเป็นแอ็กติ้งโค้ชให้กับเหล่าเทรนเนอร์ เพื่อให้เขาเข้าใจวิธีการสื่อสารแบบละครเวทีมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี AssetWise ที่สนับสนุนงบประมาณและภาพอาคารต่างๆ ที่เรานำมาใช้ประกอบฉากด้วย”RUNIVERSE ยังคงรันต่อบนความเป็นไปได้ใหม่ๆ“โปรเจกต์นี้ถูกคิดเมื่อเดือนตุลาคม 2566 แล้วจะต้องเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2567 เป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก ถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจากผู้สนับสนุนและทีมเบื้องหลังที่เก่งขนาดนี้ คงเป็นไปได้ยากมากที่จะเอาประสบการณ์อิมเมอร์ซีฟมาผสมผสานกับกีฬาและละครเวที สิ่งหนึ่งที่อยากแชร์ในฐานะนักออกแบบ คือ ถ้าเรารู้จักเครือข่ายต่างๆ ในวงกว้างมากขึ้น สิ่งนี้จะสามารถเพิ่ม Potential ให้กับนักออกแบบหน้าใหม่ได้ เฟียตดีใจมากที่มันเกิดขึ้นแล้ว”“เฟียตมีโอกาสคุยกับผู้สนับสนุนบางท่านว่าโปรเจกต์นี้จะต่อยอดไปในทิศทางไหน อาจจะเป็นแอปพลิเคชันที่สร้างประสบการณ์อิมเมอร์ซีฟ หรือประยุกต์ไปเป็นคลาสออกกำลังกาย ซึ่งส่วนใหญ่เราคุยกันในแง่ของเครื่องมือ โดยที่คอนเทนต์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่อง BKK 2592 เพราะคำว่า RUNIVERSE มันจะเป็นเวิร์สของยุคหิน ยุคไดโนเสาร์ หรือเวิร์สของอะไรก็ได้”ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/yimsamer–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape