รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : หัวลำโพง
เผยแพร่เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว
รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : หัวลำโพง
“วาดอนาคตย่านสร้างสรรค์รอบสถานีรถไฟใจกลางเมือง จากเรื่องราวในอดีตที่ไม่เคยถูกบันทึก”
ใครหลายคนมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เวลา 24 ชั่วโมงในสถานีรถไฟหมุนเร็วกว่าโลกภายนอกมากนักจากบรรยากาศที่พลุกพล่านขวักไขว่ไปด้วยทั้งบรรดานักเดินทางหน้าใหม่ พ่อค้ามือฉมังที่เข้ามาติดต่อธุรกิจใจกลางกรุง ชาวต่างจังหวัดที่เข้ามาตามหาความฝัน และชาวเมืองหลวงที่ต้องลาจากบ้านเกิดไปเรียนหรือทำงานที่อื่น แน่นอนว่า ‘หัวลำโพง’ ก็ปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นอย่างดีมาตลอดกว่า 100 ปีที่ผ่านมาในฐานะ ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ หรือศูนย์กลางการสัญจรที่สำคัญประเทศไทย
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อย่านที่เคยเป็นกำลังสำคัญในการนำพาผู้คนมากมายให้เดินทางเชื่อมถึงกันได้จำเป็นต้องออกเดินทางกับเขาบ้างในวันที่บริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ตามมาหาคำตอบไปด้วยกันกับ ‘คุณมิว-ญาณิน ธัญกิจจานุกิจ’ และ ‘คุณจับอิก-ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์’ สมาชิกกลุ่ม ริทัศน์บางกอก (ReThink Urban Spaces หรือ RTUS) ในฐานะ Co-host ผู้ร่วมจัดงาน Bangkok Design Week 2024 ย่านหัวลำโพง
การเดินทางครั้งใหม่ของ ‘อดีตศูนย์กลางการเดินทาง’
‘หัวลำโพง’ และซอยพระยาสิงหเสนี คือย่านที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในยุคที่สถานีรถไฟกรุงเทพยังคงเปิดทำการ คุณมิวอธิบายว่าที่นี่เคยเป็นทั้งที่หลับนอนและแหล่งพักท้องของคนเดินทางไกล ซึ่งอัดแน่นไปด้วยลูกค้ามากหน้าหลายตาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาใช้บริการตลอดทั้งวันทั้งคืน
“เช่นแบบว่า ถ้านักเดินทางนั่งรถไฟไกลๆ มาจากทางใต้ คนใต้ก็จะบอกกันปากต่อปากว่าในซอยนี้มีร้านอาหารฮาลาลเจ้าอร่อยอยู่นะ หรือว่าในยุคก่อนก็จะมีโรงแรมดังๆ ที่เวลาคนเดินทางไกลมาถึงก็จะมาพักก่อนไปทำธุระในย่านอื่นๆ ในโรงแรมก็จะมีร้านอาหารดังๆ อยู่ข้างใต้ เช่น ข้าวหมูแดงไอเตี้ยไอสูง คนแถวนั้นเขาก็จะเรียกกัน ซึ่งปัจจุบันมันก็หายไปพร้อมกับการตัดทางด่วนและการย้ายสถานีแล้ว”
คุณมิวและคุณจับอิกอธิบายต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของหัวลำโพงมีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน หนึ่ง คือการขยายตัวของเมืองที่ส่งผลต่อทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมือง รวมถึงเปลี่ยนผู้ใช้งานหน้าเก่าให้ห่างหาย และ สอง คือสถานการณ์โควิด-19 ที่เหมือนเลือกจังหวะในการเข้ามาซ้ำเติมได้ถูกเวลาซะเหลือเกิน
“หัวลำโพงเจอการเปลี่ยนแปลงมาหลายอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนึงคือเจอทางด่วนผ่ากลางชุมชน คือตรงกลางชุมชนก็หายไปเลย กลายเป็นลานปูนใต้ทางด่วน มันก็เกิดผลกระทบครั้งใหญ่ไปรอบหนึ่ง แล้วพอมาเจอโควิด หัวลำโพงก็โดนผลกระทบอีก และมันก็ทำให้ซบเซาลงไปเรื่อยๆ
เพราะช่วงโควิดที่ผ่านมามันเงียบมาก ยิ่งมาเจอเรื่องย้ายสถานีอีก ร้านค้าก็หาย เขาก็ย้ายรถไฟจำนวนมากไปไว้ที่บางซื่อ พนักงานก็หาย นักเดินทางก็หาย ส่งผลกระทบต่อพื้นที่นี้อย่างมาก เพราะที่หายไปคือคน 2 กลุ่มหลักๆ ที่หล่อเลี้ยงย่านนี้
เราเห็นกับตาเลยอย่างช่วงที่ผ่านมามีร้านอาหารฮาลาลร้านหนึ่งถูกปิดตัวไป เพราะรถไฟสายใต้ไม่มาแล้ว จาก 50 กว่าคนต่อวัน เหลือแค่ 5 คน เลยทำให้เขาอยู่ไม่ได้ แล้วต้องปิดตัวลงกลับไปอยู่ต่างจังหวัด พอเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ร้านที่ยังอยู่ก็อยู่ได้แหละ แต่รายได้ก็หายไปมาก”
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่ส่งผลต่อย่านนับครั้งไม่ถ้วน คุณมิวและคุณจับอิกไม่ได้มองว่าเรื่องนั้นเป็นจุดจบ แต่คือการเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่ของย่านหัวลำโพง
ต้นทุนอันล้ำค่า มาจาก ‘เรื่องราวที่ไม่เคยถูกจดบันทึก’
เมื่อลองปรับมุมมองเพียงไม่มาก ด้วยการเปลี่ยนจุดศูนย์กลางของเรื่องเล่ากลับมาสู่สิ่งที่เป็นหัวลำโพงจริงๆ เมื่อสถานีรถไฟย้ายออกไป สิ่งที่พวกเขาได้ค้นพบคือต้นทุนทางสถานที่ตั้งและเรื่องราวมากมายที่ไม่เคยถูกใครจดบันทึก และแน่นอนว่าไม่มีใครเคยบอกเล่าออกไปยังโลกภายนอกเช่นกัน
“ตัดเรื่องสถานีรถไฟเดิมออกไปแล้วลองมองแบบ science analysis ในแง่กายภาพคือโลเคชันมันดีมาก นอกจากมันจะอยู่ใกล้หัวลำโพง มันยังอยู่ติดกับ MRT ซึ่ง MRT นี้จะเป็นเหมือนตัวเชื่อมจากเมืองฝั่งจุฬาเป็นต้นไปเข้าไปยังพื้นที่เมืองเก่า เช่น ถ้าจะไปตลาดน้อย เจริญกรุง ก็จะสามารถต่อรถเข้าไปได้ ไปเยาวราชก็ได้ ในแง่ที่ตั้ง มันมีศักยภาพ
นอกจากนี้เรายังพบว่าในชุมชนก็ยังมีเรื่องเล่าอื่นๆ อีกเยอะมาก มีคนในชุมชนที่ทำกระดุมจีน พับกระดาษไหว้เจ้า รับจ้างต่างๆ มีการทำโคมเต็งลั้ง มีอะไรอีกเยอะแยะที่มันเป็นเรื่องเล่า มีกิจการที่อยู่รอบๆ ทั้งงานเหล็ก งานคราฟต์ ที่เขาทำนำเข้าเหล็กมาจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นจุดที่ผู้รับเหมาจะมาติดต่อหาลายแปลกๆ นำไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ เราก็เลยได้รู้ว่า หัวลำโพงมันก็มีเรื่องเล่าอีกมากมายที่เราไม่จำเป็นต้องไปเชื่อมโยงกับสถานีรถไฟ และกลุ่มคนกลุ่มเดิมที่ย้ายออกไปแล้วก็ได้”
คุณมิวและคุณจับอิกอธิบายว่าการค้นพบใหม่นี้มาพร้อมกับความท้าทายของการต่อสู้กับเวลา เพราะถึงแม้ว่าพวกเขาจะได้เจอเรื่องราวมากมาย แต่หลายเรื่องกำลังใกล้จะกลายเป็นเพียงความทรงจำ
“จากที่คุยกันและรวมตัวเป็นเครือข่ายหัวลำโพง เราอยากรีบเก็บข้อมูลก่อนที่มันจะไม่ทันคนรุ่นนี้ เพราะหลายๆ เรื่องเวลาที่เขาเล่ามา มันมักจะจบด้วยคำว่าคนที่ทำสิ่งนี้ได้ไม่อยู่แล้ว เป็นต้น ก็คือเราไม่ทันรุ่นนั้นแล้ว หลายเรื่องมันกลายเป็นเหลืออยู่แค่ในความทรงจำของคนแก่ไปแล้ว ไม่มีการจดบันทึกไว้ด้วย เพราะในยุคก่อน ภาพเก่ามันหายากมากๆ เพราะคนในพื้นที่ก็ไม่ได้มีรายได้มาซื้อกล้องถ่ายภาพ แต่จากที่ไปคุยไปย้อนให้ทุกคนช่วยเล่า มันก็ยังเป็นสิ่งที่น่าเก็บเอาไว้เป็นทุนทางวัฒนธรรมของย่าน และสำหรับรุ่นที่เรายังทันอยู่ เราก็อยากรีบบันทึกเอาไว้และทำเป็นฐานข้อมูล”
ฉายแสงให้คนในเห็นคุณค่าของตัวเองผ่านความคิดสร้างสรรค์
เมื่อมองเห็นโอกาสในการนำเรื่องราวที่ไม่เคยถูกเล่ากลับมาปรับใช้ ก่อนจะเริ่มทำงานกับใครที่ไหนไกล สิ่งที่คุณมิวและคุณจับอิกมองว่าสำคัญที่สุดคือการฉายไฟให้คนในพื้นที่เริ่มมองเห็นคุณค่าของตัวเองและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่มี เมื่อมองเห็นคุณค่าแล้วจึงจะสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างบทสนทนาและโอกาสใหม่ๆ ในพื้นที่ได้
“เหมือนตอนนี้ในพื้นที่ก็ขาด sense of belonging อะไรบางอย่างอยู่เหมือนกัน แต่พอได้เริ่มลงไปทำกิจกรรมที่เป็นเชิง placemaking หรือการลองพูดถึงเรื่องราวเก่าๆ มากขึ้น เราก็เริ่มเห็นบทสนทนาที่ว่า ทำไมเราจะเป็นเหมือนย่านเก่าแก่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ชุมชนเราก็มีความเก่าแก่เหมือนกัน เรามีต้นทุนวัฒนธรรมตั้งเยอะ แต่ทำไมพื้นที่ตรงนี้ไม่ถูกพูดถึงในเชิงวัฒนธรรมเลย เพราะส่วนใหญ่เวลาพูดถึงหัวลำโพงคนจะนึกถึงแต่ส่วนกลาง เราเลยหวังว่า อยาก keep energy แบบนี้ต่อไปให้ได้ ให้ในชุมชนมันมี sense of belonging อะไรบางอย่าง และอยากจะ push ให้ชุมชนไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้
มันอาจจะเริ่มต้นจากคนแค่กลุ่มเดียว แต่เรารู้สึกว่ามันจะเป็น snowball effect ที่ช่วยบอกต่อและส่งต่อความรู้สึกแบบนี้ให้กระจายไปสู่คนที่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในชุมชน และหวังว่ามันน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะ 3 ปีนี้แหละ พอคนในชุมชนมองเห็น เราก็จะค่อยมาดูกันต่อว่าเราจะสามารถพูดถึงต้นทุนวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วเอาไปสื่อสารให้เป็นภาพจำให้กับคนนอกยังไงได้บ้าง ว่าหัวลำโพงไม่ได้มีแค่สถานีรถไฟ แต่มีทั้งผู้คนและต้นทุนทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่จะทำให้ย่านถูกพูดถึงใหม่ ว่าหัวลำโพงมันมีมากกว่านั้น”
แน่นอนว่า Bangkok Design Week ในครั้งนี้ก็จะเป็นหนึ่งครั้งที่พวกเขาตั้งใจอยากทำให้คนในพื้นที่ได้มองเห็น value ของตนเองมากยิ่งขึ้น
“เรามองว่าการจะอยากให้พื้นที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง เขาอาจจะต้องพึ่งพาคนกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้นตามรูปแบบการใช้งานพื้นที่ที่เปลี่ยนไป เลยอยากนำเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคิดความสร้างสรรค์ต่างๆ มาจับกับพื้นที่เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆ เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างคนเจนเก่า เจนใหม่ รวมถึงเด็กที่อาจจะยังไม่ได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดในพื้นที่ ให้ได้มาทำความรู้จักกัน เพื่อให้คนข้างในเข้มแข็งก่อนที่จะออกมาต่อยอดศักยภาพที่ตัวเองมี ให้พื้นที่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง”
พร้อมเปิดบ้านแนะนำ ‘หัวลำโพง’ ที่คุณอาจไม่เคยรู้จักใน BKKDW 2024
ในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ พวกเขามาพร้อมกับธีมง่ายๆ อย่าง ‘การเปิดบ้าน’ เพราะนอกจากการเปิดบ้านจะเป็น Meaning ของการเปิดต้อนรับคนใหม่ๆ และโอกาสใหม่ๆ แล้ว ยังหมายถึงโอกาสแรกในการรวมชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวผ่านการเริ่มเปิดประตูบ้านออกมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนอีกด้วย
“เราตั้งใจกันว่าจะมาเปิดบ้านครั้งแรกกัน หลังจากที่มันซบเซาลงไปในช่วงโควิด ดีไซน์วีคปีนี้ในย่านก็มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง เราเลยอยากถือโอกาสนี้ให้ต่างคนได้ต่างโชว์ของที่ตัวเองมี ไม่ว่าจะเป็น Hostel ใหม่ๆ ที่มาเปิด หรือคาเฟ่และสตูดิโอต่างๆ ที่เมื่อก่อนเขาอาจจะจัดดีไซน์วีคเองคนเดียวมาทุกปี แต่ปีนี้จะถือเป็นครั้งแรกที่ทุกคนร่วมกันเปิดบ้านออกมานำเสนอเรื่องราวในภาพใหม่ของความเป็นย่าน มาใส่หมวกย่านหัวลำโพงไปด้วยกัน”
“พื้นที่จัดงานจะมีตั้งแต่ MRT ทางออก 3 ตรงข้ามฮ่องกงนูเดิ้ล เข้าไปในซอยพระยาสิงหเสนี ซึ่งซอยนี้จะติดอยู่กับทางด่วนข้างหัวลำโพง เป็นขอบเขตตรงนี้ยาวไปจนถึงใต้ทางด่วน ลอดใต้ทางด่วนไป ทะลุกับอีกฝั่งที่ชิดกับกำแพงที่มีรถไฟ ถนนรองเมือง ไปสุดตรงเส้นหน้าวัดดวงแข เป็นกรอบข้างๆ หัวลำโพง มองเข้าหัวลำโพง จะอยู่ฝั่งขวา
คนที่เข้าร่วมก็จะมีตั้งแต่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ที่ทำงานในพื้นที่มา 40 กว่าปีแล้ว ซึ่งปกติทางมูลนิธิจะจัดงานทุกปีอยู่แล้ว แต่ปีนี้ก็ได้ย้ายช่วงเวลาจัดงานให้มาเป็นส่วนหนึ่งของ BKKDW จัดแสดงงานของ 4 ชุมชนที่เขาดูแล เป็นงานฝีมือ งานคราฟต์ในชุมชน โชว์ภาพถ่าย มีกิจกรรมให้เข้าร่วม ดำเนินการโดยกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มรองเมืองเรืองยิ้ม ที่เป็น active citizen ที่บ่มเพาะกันมานาน ซึ่งกลุ่มเด็กเยาวชนเหล่านี้ก็ลุกขึ้นมา take action และสื่อสารเรื่องราวของ 4 ชุมชน ซึ่ง 4 ชุมชนนี้ก็จะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป
มีโปรเจกต์ Made in Hua Lamphong ที่เป็นการ Collaboration การทำงานของธุรกิจร้านค้าดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์ในย่านหัวลำโพง 6 ธุรกิจ ทำงานร่วมกับนักออกแบบ 5 สตูดิโอ เพื่อสื่อสารเรื่องราวของดีในย่าน และต่อยอดธุรกิจว่าชุมชนในหัวลำโพงก็มีดีในแบบของตัวเอง
กลุ่มอื่นๆ ก็จะเน้นไปที่การเปิดบ้านของผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น Play Space Cafe ซึ่งจะมีเครือข่ายชาวช่างภาพ นักถ่ายรูป มาจัดเดินเมือง ถ่ายรูป Nice Photo Walk, C house Hostel เปิดใหม่) ที่เอาโรงงานมุ้งเก่ามารีโนเวตใหม่ อยู่ใกล้ริมทางรถไฟ ที่จะจัดนิทรรศการ ปาจื่อ โหราศาสตร์ เชื่อมโยงกับโหราศาสตร์ น่ำเอี้ยง ที่เป็นต้นทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ตรอกหิน เล่าเกี่ยวกับเรื่องของธาตุในตัวคน และให้เดินในพื้นที่ตามหาพื้นที่ที่เสริมธาตุนั้นๆ โดยในงานก็จะมี Installation Art และ Interactive Art เพื่อกระจายคนเข้าไปในย่าน และเล่าเกี่ยวกับโหราศาสตร์ที่อยู่คู่กับชุมชนจีนนี้ด้วย
ตรงข้าม C house จะมีสตูดิโอของศิลปินชาวอเมริกันชื่อว่า Coby เขาเป็นคนทำงานเหล็ก ตอนแรกเขาอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเขามีครอบครัว แต่ไม่รู้ว่าติดใจอะไรในพื้นที่นี้ น่าจะเพราะมีงานเหล็กเยอะ เขาเลยมาเปิดสตูดิโอ เช่าบ้านและทำงานเหล็กอยู่ตรงนี้ โดยปกติถ้าเดินผ่านก็จะปิดบ้านทำงานอยู่ในบ้าน แต่ช่วง BKKDW เขาก็จะเปิดบ้านให้คนสามารถเข้าไปชมได้
ใต้บ้านคาเฟ่ ก็จะมีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปวาดรูปแคนวาส กิจกรรมเวิร์กช็อปพาเดิน EcoWalk ไปเก็บใบไม้ต่างๆ มาทำ Eco Printing และทำเครื่องหอม, มีผลงานของ Artist in Residency มาร่วมจัดแสดง มีศิลปินจากฟิลิปปินส์ รัสเซีย เป็นต้น มี Mami Papercraft และ ปิติ Studio ที่จะเปิดในช่วงมกราคม ก็จะใช้โอกาสจัดเวิร์กช็อปครั้งแรก แล้วแสดงงานรวมกัน 2 ศิลปินในตึกเดียวกัน และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายเลย
สุดท้ายบริเวณใต้ทางด่วน ก็จะมีนิทรรศการของ ริทัศน์บางกอก ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงจัดกิจกรรม โดยที่เราต้องการเก็บข้อมูลในชุมชน โดยเอาศิลปิน 8 คนเข้ามาในพื้นที่ มาใช้พื้นที่ใต้ทางด่วน และให้เขาได้พูดคุย เก็บข้อมูลกับคนในชุมชนจริงๆ โดยจะให้ประเด็นที่แตกต่างออกไปสำหรับศิลปินแต่ละคน ไปในแนวงานที่เขาถนัด เช่น เรื่องความเชื่อ เรื่องตามหาประตูทางเข้าหินที่หายไปเพราะโดนทุบไปกับทางด่วน เป็นต้น”
การเดินทางครั้งใหม่ของอดีตย่านแห่งการเดินทางจะเป็นอย่างไร ตามมาหาคำตอบไปด้วยกันได้ที่ Bangkok Design Week 2024 ย่านหัวลำโพง
รู้จักกับ ‘ย่านหัวลำโพง’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่าน
Made in Hua Lamphong
www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/70966
หัวลำโพง ไม่หิวลำพัง
www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71898
อรุณสวัสดิ์ หัวลำโพง
www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71729
Photo Frame Papercraft Workshop
www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/92461
คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านหัวลำโพง ที่นี่ :
www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=49826
–
Bangkok Design Week 2024
Livable Scape
คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
27 Jan – 4 Feb 2024
#BKKDW2024
#BangkokDesignWeek
#LivableScape