ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : ปากคลองตลาด

เผยแพร่เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : ปากคลองตลาด

“สร้างประสบการณ์ใหม่ เพื่อยกระดับการค้าให้ ‘ตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย’ ด้วยการออกแบบ” 


ก่อนหน้านี้ สาเหตุที่ทำให้ใครหนึ่งคนจะตัดสินใจเดินทางไปที่ปากคลองตลาดอาจเกิดขึ้นในบางโอกาสพิเศษของปี ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ต้องช้อปกุหลาบแดงช่อใหญ่ให้แฟนในวันวาเลนไทน์ หรือตอนต้องซื้อใบตอง ธูปเทียน และดอกไม้มาทำกระทงหรือพานไหว้ครูในวันสำคัญ ถ้าย้อนกลับไปในวันนั้น คงไม่มีใครจินตนาการออกว่าปากคลองตลาดในวันนี้จะกลายมาเป็นสถานที่ออกเดตยอดฮิต ซึ่งอัดแน่นไปด้วยหนุ่มสาวพร้อมช่อดอกไม้ที่ยืนถ่าย Tiktok กันจนแน่นสะพานพุทธฯ เหมือนที่เราคุ้นตาเป็นอย่างดี


ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่น่าสนใจนี้ ‘อาจารย์หน่อง-สุพิชชา โตวิวิชญ์’ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะ Co-host ผู้ร่วมจัดงาน Bangkok Design Week 2024 และผู้ที่ทำงานคลุกคลีกับย่านปากคลองตลาดมานานกว่า 8 ปี มองเห็นความท้าทาย โอกาส และอนาคตของที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง ตามมาหาคำตอบไปด้วยกัน



เมื่อ ‘ตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย’ ถูกดิสรัปต์โดยเทคโนโลยี


‘ปากคลองตลาด’ ตลาดค้าส่งดอกไม้ที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือหนึ่งในพื้นที่ที่ผ่านการปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมมาแล้วหลายต่อหลายครั้งตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดคือการจัดระเบียบพื้นที่รุกล้ำบนทางเท้าในปี 2559 ที่ส่งผลให้กลุ่มผู้ค้าบริเวณปากคลองตลาดที่เคยวางขายบนทางเท้าไม่สามารถวางขายได้อีกต่อไป จากตลาดที่คึกคักและละลานตาไปด้วยดอกไม้ล้นแน่นออกมาเกือบทั้งถนนจักรเพชร ต้องเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นตลาดปิดด้วยการย้ายร้านค้าเกือบทั้งหมดเข้าไปอยู่ในตลาด


หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเป็นช่วงเดียวกันกับการเข้ามาทำงานในพื้นที่ของอาจารย์หน่องและทีมอย่างพอดิบพอดี ในช่วงเวลานั้นเราจึงได้เห็นแนวทางใหม่ๆ ในการทดลองนำความคิดสร้างสรรค์หลากหลายเข้ามาฉายไฟให้กับย่านที่ซบเซาลงจนกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง


และวันนี้ก็คืออีกครั้งที่ปากคลองตลาดกำลังจะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ เมื่อการซื้อขายออนไลน์และช่องทางการขายส่งในรูปแบบใหม่ๆ เริ่มเข้ามาส่งผลกระทบ


“ด้วยความที่สังคมมันเปลี่ยนไป ถ้าจะขายแบบเดิมที่เป็นการขายส่งเยอะๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจากการดิสรัปต์ (disrupt) ด้วยเทคโนโลยี หรือการที่เดี๋ยวนี้มันมีตลาดสี่มุมเมือง หรือมีตลาดที่ตอบโจทย์ในภูมิภาค มันอาจจะไม่ได้มีดีมานด์แบบค้าส่งเยอะเท่าเดิมแล้ว แต่ถามว่ายังเยอะไหม ยังเยอะอยู่นะคะ แต่ดูด้วยตาเปล่าก็รู้สึกว่า เอ ถ้าเกิดปล่อยให้เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ คือให้ค้าขายกันแบบเดิมไปเรื่อยๆ เราก็ไม่มั่นใจว่ามันจะยังดีอย่างนี้ไปอีกนานๆ 10 หรือ 20 ปีได้ไหม


ผู้ค้าเจ้าใหญ่ๆ หลายๆ คนก็พูดเหมือนกันว่าอีกหน่อยการซื้อดอกไม้มันจะง่ายมากแล้ว เพราะอย่างจะมีบางร้านที่เขาจะสั่ง แล้วเราก็สั่งพ่วงไปกับเขา เราก็จะสามารถสั่งดอกไม้จากจีนร้านเดียวกับที่ร้านใหญ่สั่งได้ในราคาที่ไม่ได้บวกมากเลย ถูกมาก และสามารถซื้อใน portion ที่เล็กได้ด้วย เพราะฉะนั้นการจะเปิดร้านดอกไม้ในอนาคตเนี่ยมันง่ายมาก”


จาก ‘ไวรัล’ สู่การ Transform อย่างยั่งยืน


ถือเป็นโชคดีของปากคลองตลาดที่สิ่งที่เกิดขึ้นในย่านในเวลาใกล้เคียงกับการดิสรัปต์ด้วยช่องทางการขายออนไลน์ คือโอกาสใหม่ซึ่งกำลังจะกลายมาเป็นแบรนดิ้งที่สำคัญอีกอย่างของย่านอย่าง ‘วัฒนธรรมวัยรุ่นซื้อดอกไม้ ถ่ายรูปที่สะพานพุทธ’ 


“อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นว่ามันเกิดเป็นไวรัลโดยธรรมชาติ คือไม่ได้ไวรัลแบบฟลุกนะคะ คือคนที่เป็นวัยรุ่นซื้อดอกไม้ ถ่ายรูปที่สะพานพุทธ มันมีมาก่อนดีไซน์วีคอยู่แล้วแต่ไม่ได้เยอะ แต่พอมีการจัดงานบ่อยๆ เข้า ทีนี้พอวัยรุ่นคนอื่นๆ เขาเริ่มมากัน แล้วก็มาถ่ายรูป คนก็เริ่มตามมากันเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนที่นี่กลายเป็นที่เที่ยวดังในกลุ่มวัยรุ่นไปเลย”


ในสายตาคนนอกอาจมองว่ากระแสที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ฉาบฉวยชั่ววูบ แต่อาจารย์หน่องอธิบายว่าสำหรับเธอและคนในย่าน สิ่งนี้คือโอกาสครั้งใหม่ซึ่งส่งผลถึงแนวการทางปรับตัวของย่านในขั้นตอนต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ  


“คือช่วงแรกมันก็มีฟีลแบบว่า พอคนข้างนอกที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้าไปก็มีเสียงเหมือนกันว่า โอย เด็กมาเยอะแต่ไม่ได้ซื้อของ ซึ่งเราก็คิดว่า เออ ก็จริงนะ คิดอยู่เหมือนกันว่าแล้วมันจะมีประโยชน์อะไร แต่สักพักพอมันเริ่มเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่างเป็นธรรมชาติ ใครคิดว่าถ่ายรูปดูไร้สาระ มันไม่ไร้สาระนะคะ เพราะตั้งแต่กุมภาพันธ์มาจนถึงพฤศจิกายน ยังมีวัยรุ่นจำนวนมากอยู่เลย จากเมื่อก่อนที่มาแล้วแค่มาซื้อดอกไม้ถ่ายรูป ตอนนี้ก็เริ่มรู้จักคาเฟ่แถวนั้น อุดหนุนร้านแถวนั้น แล้วพี่ที่เป็นร้านใหญ่ๆ ก็พูดขึ้นมาอย่างนึงที่น่าสนใจมากคือในระยะสั้นที่เห็นว่าน้องๆ ซื้อกัน 60 บาท 100 บาทเนี่ย ปรากฏว่าเขาขายแค่เสาร์อาทิตย์ เอาเฉพาะที่ขายวัยรุ่นนะ ไม่นับดอกไม้ส่วนอื่น เขาขายได้ ‘ห้าหมื่นกว่าบาท’ นี่เฉพาะแค่ช่อจิ๋วๆ 60 บาท 100 บาทนะ คือในระยะสั้นมันไม่แย่เลย


ที่น่าสนใจกว่านั้นคือดอกไม้ที่เด็กวัยรุ่นซื้อไป จริงๆ มันเป็นดอกที่บานแล้วนิดนึงด้วย คือถ้าเป็นรุ่นอาจารย์ก็อาจจะอยากได้แบบที่ตูมหน่อย เพราะอยากให้ไปบานที่บ้าน แต่เด็กเขาเอาแบบที่บานแล้ว ซึ่งปกติถ้าอยู่บน shelf ถือว่ามันไม่ได้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับร้านขนาดนั้นเพราะมันเก่าแล้ว แต่มันกลับตอบโจทย์ของวัยรุ่นที่เขาอยากได้แบบที่บานแล้ว สวยแล้ว ถ่ายรูปได้เลย แล้วเอาไปไว้ที่บ้านได้อีกสัก 2 วัน ซึ่งมันกลายเป็นว่าก็เป็นอะไรที่แก้ pain point กันเองไปในตัวน่ะ แบบเด็กเขาต้องการแบบนี้ ในขณะที่ปกติดอกแบบนี้ต้องขายถูกๆ ก็เอามาขายถูกได้ แล้วก็ขายเน้นจำนวน”


เปิดตลาดใหม่ ด้วยการสร้างประสบการณ์น่าประทับใจให้พื้นที่ 


เมื่อรูปแบบการใช้งานและความสัมพันธ์ของผู้มาเยือนกับพื้นที่ย่านเริ่มเปลี่ยนแปลงไป อาจารย์หน่องอธิบายว่าสิ่งสำคัญที่พ่อค้าแม่ค้าชาวปากคลองตลาดได้เรียนรู้จากสถานการณ์นี้เพื่อนำมาปรับใช้คือแนวคิดของ ‘การออกแบบประสบการณ์’ (experience design) 


“เมื่อก่อนปากคลองตลาดขายดีโดยที่เขาไม่ต้องมาง้อการสร้างประสบการณ์ (experience) อะไร แต่เดี๋ยวนี้ถ้าไปปากคลองฯ เนี่ย บรรยากาศเปลี่ยนไปเยอะมาก ลุงๆ ป้าๆ ที่ดุยังเหลืออยู่แน่นอนแหละ เป็นธรรมชาติ แต่เดี๋ยวนี้พวกเขาก็เปิดกว้างขึ้นมาก จากที่เมื่อก่อนสนใจแต่ลูกค้าขายส่งเป็นหลัก ตอนนี้ก็จะมีแบบเห็นน้องยืนอยู่หน้าร้านก็จะทักทายเลยว่า อ้าวหนู เลือกดอกไม้เลยลูก เดี๋ยวจัดให้ คือเมื่อก่อนไม่มีแบบนี้เลยนะ


พอเริ่มทำๆ ไปเราก็ค้นพบอินไซต์นึงว่า คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้อยากมาซื้อดอกไม้แบบเป็นกำๆ ร้อยสองร้อยดอกแล้วเอาไปจัดที่บ้าน มันไม่ใช่เนเจอร์เขา อันนั้นเป็นเนเจอร์คนรุ่นป้า แบบอาจารย์อาจจะชอบ ซื้อมาเยอะๆ แล้วมาจัดที่บ้าน ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก อันนี้คือยุคแบบ 40 อัพ แต่คนรุ่นใหม่เขาอยากมาสร้างประสบการณ์กับพื้นที่ คือเขาอยากมาใช้เวลาที่นี่ เราก็ต้องออกแบบประสบการณ์ให้มันตอบโจทย์เขา


จนตอนนี้ก็เริ่มมีคนที่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของร้านดอกไม้แบบดั้งเดิมในย่านตัดสินใจต่อยอดแบรนด์ของที่บ้านเปิดเป็นร้านที่ขายแบบเลือกดอกไม้เองได้ แก้ pain point ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยากซื้อเยอะๆ แบบขายส่ง แต่ซื้อทีละดอกมาจัดช่อเอง”


ถัดจากเรื่องประสบการณ์ก็จะมาเป็นเรื่องของการสร้างอัตลักษณ์ ซึ่งอาจารย์หน่องเล่าว่าชาวปากคลองเองก็กำลังพยายามผลักดันเรื่องนี้ควบคู่กันไปอยู่เช่นกัน


“ผู้ค้าส่วนนึงเขาก็อยากสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับตลาดและตัวพวกเขาเองให้มันดูเปิดมากขึ้นเหมือนกัน คือให้ดูเป็นกลุ่มคนและย่านพร้อมที่จะคอลแลบ (collab) และสร้างความร่วมมือกับคนกลุ่มใหม่ๆ และโอกาสใหม่ๆ ของโลก


คือเขาก็คิดแบบนักธุรกิจนะคะ เขาก็ไม่รู้หรอกว่าที่คอลแลบไปมันจะได้อะไรโดยตรง แต่ก็มองมันเป็นโอกาสใหม่ๆ เลยคิดว่าอย่างนั้นเรามาร่วมกันทดลองค้นหาอัตลักษณ์แบบร่วมสมัยใหม่ๆ ของปากคลองฯ กันดีกว่า มันก็เลยมีกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำ ทั้ง Projection Mapping, Photo Exhibition, Flower Installation และก็ Workshop ด้วย ก็พยายามจะทดลองอะไรหลายๆ อย่างว่าอันไหนมันทำตอนนี้ได้เลย อันไหนมันควรเป็นโปรแกรมในอนาคต”


มอบดอกไม้แทนความหมายแบบ I flower you


สำหรับธีมงาน Bangkok Design Week ย่านปากคลองตลาดในปีนี้ อาจารย์หน่องบอกว่าตั้งใจอยากให้ขยับจากงานปีก่อนที่เน้นการดึงคนเข้ามาสู่ย่านด้วยวิธีต่างๆ หลากหลาย ไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับดอกไม้อย่างมีความหมายมากยิ่งขึ้น 


“ธีมที่เป็นส่วนกลางก็ตั้งชื่อไว้ว่า I flower you. เหมือนแบบ I love you. I like you. I miss you. แต่ว่าจะใช้เป็น I flower you. จะเป็น flower อะไรก็ไปเลือกเอาที่ปากคลองฯ คืออยากให้เริ่มแบบมี meaning ที่มันผูกมากับความเป็นดอกไม้มากขึ้น จากคราวที่แล้วเป็นธีม Pop-Up คือ Pop it up ที่เราอยากเอาคนเข้ามาเยอะๆ ก่อน ด้วยทุกอย่างเลย แสง สี ไฟ แต่ปีนี้จะเริ่มให้มัน meaningful ขึ้นอีกนิดนึง คือพยายามให้คนลองคิดว่าเขารู้สึกยังไงกับดอกไม้นั้น หรือดอกไม้นั้นให้ความรู้สึกยังไง และเขาอยากเอาดอกไม้นี้ให้ตัวเองหรือให้คนอื่น เราอยากจะพูดถึงเรื่องความรู้สึกของคนกับดอกไม้ ให้มันลึกขึ้นนิดนึง อันนี้คาดหวังนะคะว่ามันจะเป็นการซื้อดอกไม้แบบมีความหมายมากขึ้น ไม่ได้แค่ซื้อถ่ายรูปสวยๆ (แต่ใครจะซื้อถ่ายรูปสวยๆ ก็ไม่ว่านะคะ อุดหนุนแม่ค้าได้เลย)”


“ในธีม I flower you มันก็จะมีส่วนที่เป็น Photo Exhibition ก็ให้ช่างภาพสองคนมาช่วย คือน้องนุ้ยเป็นลูกศิษย์ที่จบไปแล้ว ในธีมที่ว่าคนจะใช้ดอกไม้ในการบอกความรู้สึกกันยังไง ซึ่งนุ้ยก็ตั้งใจจะลงไปสำรวจที่คนปลูกดอกไม้ด้วย แล้วก็จะมีช่างภาพอีกคนคือ น้องก๊อปแก๊ป ซึ่งเป็นเด็กเข็นของในปากคลองตลาดที่เขาถ่ายรูปเก่งมาก ปีที่แล้วก็เอางานของเขามาแสดงด้วย ก็ให้โจทย์เขาไปว่า อยากรู้ว่าคนในปากคลองฯ นี่ ถ้าจะซื้อดอกไม้ในธีม I flower you จะซื้อกันยังไง อันนี้คืออาจารย์ตื่นเต้นส่วนตัว อยากรู้ว่าน้องก๊อปแก๊ปจะถ่ายอะไรมาให้


นอกจากนี้ก็จะมีงาน Interactive ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นยังไง แต่ก็ได้คนเดิมมาช่วยคือ 27 June ก็คิดว่าน่าจะน่ารักค่ะ แล้วก็จะมีเวิร์กช็อป มี How are you doing? ที่ร้าน Sunflower ที่เขาคิดธีมมาแล้วบังเอิญตรงกันพอดีคือ How are you feeling today? ที่ใช้ดอกไม้บอกความรู้สึกในแต่ละวัน รวมถึงจะมีงานที่พูดถึงเรื่อง waste ของดอกไม้เพิ่มขึ้นนิดนึง เพราะเรื่อง waste ของดอกไม้เนี่ยเป็นโจทย์ที่ยากมาก ยังไม่ค่อยมีคนเอาไปทำอะไรได้ แต่ปีนี้ก็ยังทำ scale up ไม่ได้นะคะ แต่ก็เริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่เสนอดีไซน์เข้ามา คือเอาดอกไม้ไปทำกระดาษ แล้วเอามาห่อดอกไม้อีกที เรื่องขยะดอกไม้นี่ยาก ไม่ง่าย ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ต้องค่อยๆ ทำไป”


แล้วความรู้สึกของคุณล่ะจะใช้ดอกอะไรแทนความหมายได้? ตามมาเลือกดอกไม้กันต่อได้ที่ Bangkok Design Week 2024 ย่านปากคลองตลาด


รู้จักกับ ‘ย่านปากคลองตลาด’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่าน

I Flower You: Street Photo Exhibition

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/67998 


I Flower You: Pak Khlong Collective Blooms

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/67976 


How are you doing?

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/69296 


คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านปากคลองตลาด ที่นี่ :

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=50632 


Bangkok Design Week 2024

Livable Scape

คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

27 Jan – 4 Feb 2024


#BKKDW2024

#BangkokDesignWeek

#LivableScape

แชร์