อัพเดทและเที่ยวชมงาน
‘สำรับบ้านครัว’: เปิดบ้านชุมชนมุสลิมเก่าแก่
‘สำรับบ้านครัว’: เปิดบ้านชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยของอร่อยและประวัติศาสตร์แขกจามไม่ไกลจากแหล่งรวมวัยรุ่นอย่างสยามสแควร์เป็นที่ตั้งของ ‘ชุมชนบ้านครัว’ ชุมชนมุสลิมเก่าแก่เชื้อสายแขกจามอายุกว่า 235 ปี ซึ่งพี่ติ๋ม – สุพิชฌาย์ วงศ์ยุติธรรม ประธานกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบ้านครัว และรองประธานอนุสตรีประจำมัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ ให้คำนิยามชุมชนที่เธออยู่มาตั้งแต่เกิดว่า “พวกเราคือชาวจามและเป็นนักสู้” หากย้อนประวัติศาสตร์กลับไปสมัยต้นรัตนโกสินทร์ บรรพบุรุษของชาวชุมชนบ้านครัวคือ ‘กองอาสาแขกจาม’ ที่ร่วมรบปกป้องดินแดนสยามในสงครามเก้าทัพ จึงได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 1 และเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งถิ่นฐานบริเวณเชิงสะพานเจริญผลมาจนถึงปัจจุบัน เวลาต่อมาชาวชุมชนบ้านครัวต้องลุกขึ้นต่อสู้อีกครั้ง เพื่อปกป้องบ้านของตนจากการถูกเวนคืนพื้นที่สร้างทางด่วนซึ่งยืดเยื้อยาวนานถึง 28 ปี และปัจจุบันพวกเขาก็กำลังต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ที่ค่อยๆ กลืนกินวิถีชีวิตดั้งเดิมให้สูญหาย จึงเกิดเป็นโครงการฟื้นฟูคุณค่าพัฒนาชุมชนที่ทางสถาบันอาศรมศิลป์ทำร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และต่อยอดมาสู่กิจกรรมเปิดบ้านต้อนรับผู้มาเยือนทุกศาสนาทุกความเชื่อที่สนใจศึกษาเรียนรู้อัตลักษณ์ของชาวชุมชนบ้านครัว สัมผัสเสน่ห์ชุมชนเก่าและเรื่องราวเล่าขานกิจกรรม ‘สำรับบ้านครัว’ ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม, สถาบันอาศรมศิลป์, อุทยานการเรียนรู้ TK Park, GalileOasis และชุมชนบ้านครัว โดยมีทั้งหมด 18 โปรแกรมที่นำเสนอทั้งนิทรรศการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม เวิร์กชอปทำอาหาร ทัวร์นำเที่ยว และสำรับอาหารพื้นถิ่นมุสลิมจาม ไฮไลต์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือกิจกรรม ‘เดินเที่ยว…ย้อนรอยตำนานผ้าไหมบ้านครัว’ ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า ยุคแรกเริ่มที่ ‘จิม ทอมป์สัน’ ก่อตั้งธุรกิจผ้าไหม ช่างทอผ้าในชุมชนบ้านครัวคือกำลังสำคัญที่ทำให้ผ้าไหมไทยมีชื่อเสียงโด่งดัง โดยพี่ติ๋มบอกเล่าว่า “ตอนพี่ติ๋มเป็นเด็กเดินไปตรงไหนก็จะได้ยินเสียงกี่กระตุกจากการทอผ้าไหม พายเรือผ่านจะเห็นโรงย้อมตากไหมหลากสีสัน เราเลยนำเรื่องราวนี้กลับมาเล่าใหม่อีกครั้ง พี่ติ๋มดีใจนะที่มีคนมาเดินทัวร์กับเรา แล้วเขากลับมาทำเวิร์กชอปอีก มีคนนึงมาสามวันเลยเขาบอกว่าอาหารอร่อย ผู้คนอบอุ่นน่ารัก เวลาพาเดินทัวร์เราใส่ชุดชาวจามนุ่งผ้าถุงคลุมฮิญาบ ร้องเพลงสนุกสนานเป็นกันเอง แล้วพอเขากลับมาอีกครั้ง เขาก็ใส่ผ้าปาเต๊ะมาให้เข้ากับเราด้วย” “เราต้อนรับทุกคนแบบเป็นธรรมชาติ เล่าประวัติศาสตร์ในสไตล์เรา พาไปกินอาหารและขนมที่ไม่เหมือนที่อื่น มีทั้งข้าวแขก แกงส้มเขมร บอบอสะแด๊ก ก๋วยเตี๋ยวแกง น้ำอินทผลัม” พี่ติ๋มบรรยายถึงเมนูบางส่วนที่จัดเสิร์ฟในช่วงเทศกาล โดยมีการนำเสนอ ‘สำรับบ้านครัว’ ทั้งบริเวณงานระดมทุนการกุศลประจำปีที่มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ เรือนแม่ทรัพย์ ร้านอาหารไทยมุสลิมในเรือนไม้เก่าอายุ 200 กว่าปี ร้านบังมินที่สืบทอดสะเต๊ะสูตรเด็ดกันมานับร้อยปี และร้านอื่นๆ อีกมากมายที่กระจายตัวอยู่ทั่วชุมชนอันรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอาหารแห่งนี้ ส่วนในแง่ของการพัฒนาชุมชน โปรแกรมสำรับบ้านครัวยังมี Youth Photo Exhibition ‘Signature of Bankrua’ ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ The Momentum ชวนเด็กๆ ในชุมชนมาจัดนิทรรศการภาพถ่าย และต่อยอดไปสู่การจัดวงเสวนาเรื่องเล่าหลังภาพถ่าย โดยพี่ติ๋มมองว่ากิจกรรมนี้ไม่ใช่แค่การปลูกฝังให้เยาวชนมีความรู้สึกผูกพันกับชุมชนเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ด้วยว่าเด็กมองภาพชุมชนของตัวเองยังไง ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างกระบวนการส่งต่อชุมชนให้กับคนรุ่นต่อไป เปิดประตูสู่พื้นที่ใหม่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกจากกิจกรรมหลักส่วนใหญ่ที่กระจายตัวอยู่รอบชุมชนบ้านครัวแล้ว ยังมีอีก 4 โปรแกรมที่ขยับขยายมาจัดบริเวณ GalileOasis ครีเอทีฟสเปซเพื่อนบ้านของชุมชน ได้แก่ ตลาดแห่งศรัทธา, เวิร์กชอปสอนเขียนอักษรอารบิก, มุสลิม มุ-สลิม YOGA คลาสโยคะสำหรับคนในชุมชน และนิทรรศการศิลปะ กาล(ะ) | สถาน(ะ) ซึ่งนับเป็นการเชื่อมประสานพื้นที่ทำกิจกรรมที่เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ากับการวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยดา – ณัฐพร ธนะไพรินทร์ ผู้ดูแลกิจกรรมประจำ GalileOasis บอกเล่าถึงการทำโปรเจกต์ร่วมกับชุมชนบ้านครัวว่า “เราอยากให้คนในชุมชนรู้สึกว่าเขาสามารถมาใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ ก่อนหน้านี้เราก็เคยชวนร้านในชุมชนมาขายของในโครงการ แนะนำลูกค้าที่เช่าสถานที่ให้ใช้บริการของว่างจากชุมชน และในดีไซน์วีคเราก็มีตลาดแห่งศรัทธา ซึ่งปกติกาลิเลโอจัดตลาดทุกเดือนอยู่แล้วโดยเปลี่ยนธีมไปไม่ซ้ำกัน เดือนที่มีเทศกาลดีไซน์วีคเราเลยจัดธีม ‘ตลาดแห่งศรัทธา’ เพราะเรามองว่าคนส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านครัวเป็นมุสลิม แต่ละแวกโดยรอบก็มีผู้คนหลายความเชื่อหลายศาสนา เลยลองทำเป็นตลาดที่รวบรวมสินค้าสายมูทุกความเชื่อ และเชิญร้านขนมของพี่ๆ ในชุมชนบ้านครัวเข้าร่วมมาด้วย” “หรืออย่างกิจกรรม มุสลิม มุ-สลิม YOGA เราก็ต้องการเน้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจริงๆ ที่มัสยิดเขามีการออกกำลังกายอย่างโยคะ แอโรบิกกันอยู่แล้ว แต่กลุ่มพี่ๆ ที่มาเข้าร่วมจะค่อนข้างใหม่กับการเล่นโยคะและปกติไม่ค่อยออกกำลังกาย เราเลยอยากชวนเขามายืดเส้นยืดสาย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการออกกำลังกายโดยไม่ขัดต่อหลักศาสนา แล้วเราก็มีเสื่อโยคะให้เขานำกลับไปฝึกต่อที่บ้านด้วย” “ส่วนเวิร์กชอปเขียนอักษรอารบิกจะสอนโดยพี่ป่องจากชุมชนบ้านครัว ซึ่งในมุมนึงวิทยากรเขาก็ได้มาสัมผัสมุมมองใหม่ๆ จากวัยรุ่น ส่วนคนที่มาเรียนก็ได้รู้จักภาษาใหม่ที่ไม่คุ้นเคยและได้ฝึกสมาธิ เพราะพี่ป่องเขาจะสอนตัดสติกเกอร์ด้วย หรือถ้าเป็นคนที่เรียนดีไซน์มาก็สามารถนำสิ่งนี้ไปประยุกต์ใช้กับงานไทโปหรืองานออกแบบอื่นๆ ได้ สามารถมองให้เป็นงานศิลปะได้” ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/BankruaOfficial–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
04 เม.ย. BBBB
เปลี่ยนภาพจำให้กิจการเก่าแก่และตำนานย่านหัวลำโพง โดย CEA x RTUS-Bangkok
เปลี่ยนภาพจำใหม่ให้กิจการเก่าแก่และตำนานคู่ย่านหัวลำโพง ด้วยพลังการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ โดย CEA x RTUS-Bangkok ‘ย่านหัวลำโพง’ เป็นที่รู้จักดีในฐานะที่ตั้งของสถานีรถไฟเก่าแก่ที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ต่อมาเมื่อระบบขนส่งมวลชนของเมืองเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ในฐานะศูนย์กลางการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ก็ค่อยๆ มีบทบาทลดลงในสายตาของคนรุ่นใหม่แต่เรื่องราวของหัวลำโพงยังคงดำเนินต่อไป เบื้องหลังอาคารหัวลำโพงทรงครึ่งวงกลมที่ผู้คนสัญจรผ่านไปมาที่เป็นเสมือนภาพจำของย่าน ยังมีร้านอาหารรสเด็ด ธุรกิจเก่าแก่ที่สานต่อมาหลายรุ่น และงานช่างฝีมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ซุกซ่อนไว้และหลายคนยังไม่เคยเข้าไปทำความรู้จัก ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จึงร่วมกับกลุ่มเยาวชนริทัศน์บางกอก (ReThink Urban Spaces Bangkok) กลุ่มคนรุ่นใหม่และโฮสต์ประจำย่านหัวลำโพงที่เห็นความสำคัญของย่านนี้ในแง่มุมของการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และแหล่งเรียนรู้ เปิดประตูให้ผู้คนเข้ามาสำรวจและทำความรู้จักพื้นที่แห่งนี้มากกว่าแค่ในมุมของที่ตั้งดั้งเดิมของสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ และหนึ่งในกิจกรรมที่เราอยากหยิบยกมาเล่าถึงคือ Made in Hua Lamphong เพราะย่านหัวลำโพงที่เต็มไปด้วยร้านรวงที่อยู่คู่ชุมชนมานานหลายรุ่น ร้านอาหารเก่าแก่ และงานช่างฝีมือที่หาที่ไหนไม่ได้ เป็นแง่มุมที่หลายคนไม่เคยรู้ โปรเจกต์ Made in Hua Lamphong จึงเกิดขึ้นเพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ ให้คนเกิดภาพจำที่ต่างออกไปต่อหัวลำโพง และเพื่อให้กิจการเก่าแก่เหล่านี้สามารถปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ตามยุคสมัยได้ โดยริทัศน์บางกอกได้คัดสรร 5 ทีมนักสร้างสรรค์ จับมือกับ 6 กิจการดั้งเดิมในพื้นที่หัวลำโพง เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์และเรื่องราวอันทรงคุณค่า ออกมาเป็นงานสร้างสรรค์สุดเจ๋งที่เห็นแล้วชวนให้เราอยากออกไปเดินสำรวจย่านหัวลำโพงขึ้นมาบ้างทันที ทั้ง 5 Collaboration คืออะไรบ้าง ไปดูกันเลย!1. ศิลป์เมือง x ease studioร้านศิลป์เมืองตั้งอยู่บนถนนรองเมือง ผลิต จำหน่ายปลีก-ส่ง รับซ่อม และขายวัสดุเกี่ยวกับร่มแม่ค้าและร่มสนามมานานกว่า 60 ปี แต่ละขั้นตอนทำด้วยมืออย่างพิถีพิถันใส่ใจทุกรายละเอียด และปัจจุบันทางร้านยังรับผลิตร่มให้กับงานอีเวนต์ รวมถึงบริษัททั่วไปที่ต้องการร่มเพื่อการโฆษณาด้วย ในการจับมือกันครั้งนี้ ease studio สตูดิโอออกแบบงานคราฟต์ ที่สนุกกับการเล่นกับวัสดุต่างๆ ด้วยเทคนิคใหม่ ได้นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาร่มแม่ค้าคอลเล็กชันใหม่ ที่มีฟังก์ชันการใช้งานตอบโจทย์มากขึ้น กลายเป็นร่มสีสันสะดุดตาที่มีฐานเป็นขาโต๊ะหรือเก้าอี้ในตัว ช่วยลดภาระในการขนของและเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน แถมยังประกอบง่ายและประหยัดพื้นที่มากกว่าเก่า2. โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง x Ek Thongprasertสำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง ก่อตั้งโดยซินแสเฮียง แซ่โง้ว ในปี พ.ศ. 2499 ที่อำเภอหาดใหญ่ ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ซอยพระยาสิงหเสนี (ตรอกสลักหิน) และเป็นเพื่อนคู่ใจสายมูมาตั้งแต่รุ่นอากง อาม่า ซึ่งนิยมดูฤกษ์มงคลผ่านปฏิทินจีน ทั้งยังปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยด้วยการทำแอปพลิเคชัน Num Eiang Astrolendar เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ด้านโหราศาสตร์จีนไปยังรุ่นหลาน เหลน โหลน เอก ทองประเสริฐ แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดัง เป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นความสำคัญของโหราศาสตร์จีนในฐานะที่พึ่งทางจิตใจในช่วงเวลาสำคัญของชีวิต เขาจึงร่วมกับธนวัฒน์ คล่องวิชา ทำโปรเจกต์ ‘Only Good Days’ รวบรวมวันมงคลดีๆ ที่การันตีโดยน่ำเอี๊ยงมาออกแบบเป็นปฏิทินแขวนผนังและปฏิทินพกพา ที่มีสีสันสดใส ปรับภาพลักษณ์ให้โดนใจคนรุ่นใหม่ เป็นเสมือนงานศิลปะที่ใช้ตกแต่งห้องได้3. โรงงานกระดาษชัยกิจ x Likaybinderyจุดเริ่มต้นของโรงงานกระดาษชัยกิจมาจากความขยันขันแข็งของอากงใช่กี่ ที่เคยปั่นจักรยานขายส่งกระดาษในย่านยศเส และต่อยอดสู่การเป็นเจ้าของโรงงานกระดาษและโกดังใหญ่ในย่านหัวลำโพง โดยในช่วงแรกอากงใช้ชื่อตนเอง ‘ใช่กี่’ ที่แปลว่า ‘โชคดี’ มาเป็นชื่อกิจการ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อชัยกิจในยุคทายาทรุ่นที่ 2 สินค้าหลักขายดีคือกระดาษสีน้ำเงิน ที่นิยมนำไปใช้ม้วนห่อสำลีเพื่อจำหน่าย รวมถึงห่อสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น ไม้ขีดไฟ เทียน และเสื้อผ้า นอกจากนี้ยังมีกระดาษสีน้ำตาล กระดาษรีมขาว และกระดาษรียูสจากกระดาษข้อสอบ ที่ทางโรงงานนำมาตัดให้ได้ขนาดพอดีและขายต่อให้คนนำไปพับถุงกระดาษ ต่อมาการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้กระดาษได้รับความนิยมน้อยลง โรงงานจึงต้องปิดตัวลงในรุ่นที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2540 แม้ปัจจุบันจะไม่มีโรงงานกระดาษอีกต่อไปแล้ว แต่ทายาทรุ่นที่ 3 ยังคงเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ครอบครัว จึงนำพื้นที่เดิมมาเปิดเป็นร้าน Play Space คอมมูนิตี้ของคนรักกาแฟและงานศิลป์ ซึ่งนำกระดาษสีน้ำเงินมาใช้ห่อแก้วเครื่องดื่ม เพื่อส่งต่อเรื่องราวให้คนได้รู้ว่าย่านหัวลำโพงเคยมีโรงงานกระดาษชัยกิจตั้งอยู่ พันทิพา ตันชูเกียรติ Paper Artist ผู้ร่วมก่อตั้ง Likaybindery ได้มาพบเห็นและสะดุดตากับกระดาษสีน้ำเงินที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวนี้ จึงนำมาใช้ออกแบบเป็นธงราวลายฉลุเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลประจำย่านหัวลำโพง และจัดเวิร์กช็อปทำตัวแสตมป์ให้ทุกคนสามารถสร้างลวดลายบนกระดาษสีน้ำเงินได้ด้วยตนเอง4. บ้านอิตาลี x COTH Studioร้านขายและผลิตอุปกรณ์ประตูที่ในยุคแรกเน้นนำเข้าของตกแต่งประตูแนวยุโรปผ่านชาวอิตาลีท่านหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อร้านว่า ‘บ้านอิตาลี’ ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายของสินค้าที่ประณีตและสวยงาม บางอย่างหาซื้อยากตามท้องตลาดทั่วไปก็สามารถมาซื้อได้ที่ร้านนี้ บ้านอิตาลีจึงมีชื่อเสียงมายาวนานมากกว่า 30 ปี กลุ่มนักออกแบบจาก COTH Studio ซึ่งมีความถนัดในงานโลหะและชื่นชอบเรื่องราวชุมชน จึงนำจุดเด่นเรื่องความใส่ใจและบริการที่เป็นมิตรมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ โดยหยิบเอาสินค้าภายในร้านมาจัดเรียงเป็นงานศิลปะที่สื่อถึงรอยยิ้มพิมพ์ใจ เพื่อแต่งเติมสีสันและชักชวนผู้คนเหลียวมอง และอยากเดินเข้ามาอุดหนุนร้านค้าท้องถิ่นตามย่านชุมชนกันมากขึ้น 5. ขนมผักกาดอาม่าชอเค็งและเบ๊โอชา x Witti Studioเนื่องจากเป็นชุมชนจีนอายุมากกว่าร้อยปี รอบย่านหัวลำโพงจึงเต็มไปด้วยร้านอาหารเก่าแก่ที่เสิร์ฟความอร่อยมายาวนาน ในโปรเจกต์ริเริ่มทดลองพัฒนาย่าน Witti Studio จึงนำทักษะการออกแบบมาช่วยปรับปรุงป้ายชื่อร้านให้ดึงดูดสายตาและสื่อสารถึงความอร่อยดั้งเดิม โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ของแต่ละร้านไว้เป็นอย่างดี ด้วยการนำลายมือเจ้าของร้านมาดัดแปลงเป็น Typo Logo อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ ป้ายเมนู และออกแบบผ้าอเนกประสงค์ที่มีแผนที่นำทางไปตามหาความอร่อยร้านที่เลือกมามี 2 ร้าน ได้แก่ ขนมผักกาดอาม่าชอเค็ง สตรีทฟู้ดรถเข็นของอาม่าสองพี่น้องที่สืบทอดสูตรลับความอร่อยของขนมผักกาดสไตล์แต้จิ๋วมาจากรุ่นแม่ เปิดขายมานานกว่า 40 ปี โดดเด่นที่รสกลมกล่อม กรอบนอกนุ่มใน กลิ่นหอมฟุ้ง และมีเมนูลับอย่างขนมถังแตกที่ไม่ควรพลาดลิ้มลองเช่นกัน ส่วนอีกร้านคือเบ๊โอชา สภากาแฟเก่าแก่อายุกว่า 80 ปีประจำย่านหัวลำโพง มีจุดเริ่มต้นมาจากกาแฟหาบเร่สมัยรุ่นอากง ก่อนจะมาเปิดหน้าร้านขายก๋วยเตี๋ยวเป็ดและเครื่องดื่ม เบ๊โอชาปรับตัวตามยุคสมัยเรื่อยมา จนปัจจุบันมีเมนูกาแฟ น้ำชง น้ำปั่น มากถึง 60 เมนู และมีอาหารเช้าง่ายๆ ให้บริการในราคาย่อมเยาด้วยทั้งหมดนี้คือความตั้งใจที่จะทำให้ชุมชนดั้งเดิมได้สืบทอดภูมิปัญญาไว้ในแบบที่คนรุ่นใหม่ก็เข้าใจและเข้าถึง อยากให้การทำงานร่วมกันระหว่างร้านค้าดั้งเดิมและช่างฝีมือดั้งเดิม ได้ทำให้สินทรัพย์ดีๆ ในพื้นที่มีคนรู้จักมากขึ้น นักออกแบบเองก็ได้ใช้ความเชี่ยวชาญ ร้านค้าดั้งเดิมเองก็ได้มีไอเดียใหม่ๆ เกิดเป็นความเกื้อหนุนกันดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/rtusbangkok–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
28 มี.ค. BBBB
Academic Program - เล่าเรื่องย่านให้เพื่อนบ้านรู้
Academic Program “เล่าเรื่องย่านให้เพื่อนบ้านรู้” พื้นที่ปล่อยของที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน ทุกๆ ปีเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จะมี Academic Program ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาหลากหลายสาขาวิชา ได้มาร่วมปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์และส่งต่อไอเดียในการพัฒนาเมืองด้วยการออกแบบในหัวข้อที่สอดคล้องกับธีมในแต่ละปี โดยมีนักสร้างสรรค์มืออาชีพมากประสบการณ์คอยช่วยดูแล สนับสนุน และให้คำปรึกษา โดยในปีนี้ทาง Cloud-floor (คลาวด์ฟลอร์) บริษัทสถาปนิกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ รับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์หลักประจำโครงการ เราจึงชวน ฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย ผู้ร่วมก่อตั้ง Cloud-floor มาพูดคุยถึงกระบวนการและผลงานน่าสนใจที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลที่ผ่านมา“โจทย์ของ Academic Program ในปีนี้คือ ‘เล่าเรื่องย่านให้เพื่อนบ้านรู้’ เราเลยชวนนักศึกษา 10 กลุ่มมาร่วมทำโปรเจกต์ Storytelling 10 โปรแกรม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของย่านหัวลำโพง นางเลิ้ง และบางโพ ในแง่มุมที่คนนอกอาจจะยังไม่เคยรับรู้หรือช่วยขยายสิ่งที่เคยถูกบอกเล่าไปแล้วให้มีความพิเศษมากขึ้น ซึ่งเราทำการคัดเลือกย่านที่อยากนำเสนอร่วมกับ CEA โดยเลือกจากพื้นที่ที่คิดว่า Academic Program น่าจะเข้าไปช่วยส่งเสริมคอนเทนต์ในย่านนั้นๆ ที่เพิ่งเข้าร่วมดีไซน์วีกได้ไม่นาน ยังมีโปรแกรมหรือชิ้นงานไม่เยอะมาก”เรียนรู้แบบ ‘ข้ามศาสตร์’ เห็นโลกมากกว่าแค่สิ่งที่เรียน นอกจาก Cloud-floor ที่เป็นคิวเรเตอร์หลักแล้ว งานนี้ยังได้รับความร่วมมือจากนักสร้างสรรค์หลายวงการทั้งช่างภาพ ผู้กำกับภาพยนตร์ แฟชั่นดีไซเนอร์ และสตูดิโอออกแบบมัลติมีเดีย ที่มาร่วมเป็นเมนเทอร์ให้กับเหล่านักศึกษาด้วย ซึ่งฟิวส์อธิบายว่า “เรามีความรู้สึกว่าการเรียนรู้ข้ามศาสตร์จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เลยคุยกับทาง CEA ว่าอยากนำเสนอกระบวนการทำงานที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลองเอาความสามารถที่เรียนจากคณะมาผสมผสานกับศาสตร์อื่นที่ไม่ได้มีอยู่ในภาควิชา เราเลยไปชวนนักสร้างสรรค์มืออาชีพในสาขาต่างๆ มาเป็นเมนเทอร์จับคู่ทำงานร่วมกับนักศึกษา เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้านักศึกษาคณะสถาปัตย์ได้ทำงานร่วมกับแฟชั่นดีไซเนอร์หรือผู้กำกับภาพยนตร์ ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้เอาความรู้มาผสมกัน เมนเทอร์ที่มาแชร์ประสบการณ์ก็จะได้เรียนรู้จากน้องๆ ด้วย” “เราอยากให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่และทำงานร่วมกับชุมชน อยากให้เขาได้รับประสบการณ์ในการจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมที่จับต้องได้ ปีนี้เลยวางกรอบเอาไว้ว่า Academic Program จะไม่ใช่งานที่อยู่แค่ในกระดาษ แต่จะถูกนำเสนอออกมาในเชิงกายภาพจริงๆ นี่คือสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ แต่เราไม่ได้กำหนดว่าผลงานจะต้องเป็นอะไร อันนี้ขึ้นอยู่กับประเด็นที่เขาพบเจอจากกระบวนการลงพื้นที่และทำงานกับเมนเทอร์ เขาจะนำเสนอในมุมมองที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชน หรือนำเสนอสิ่งที่ตรงกันข้ามก็ได้ อาจจะไม่ได้พูดถึงความน่าอยู่เสมอไป แต่เราอยากให้โปรเจกต์นี้เป็นเสียงสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของเมือง เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้พิจารณาว่าพื้นที่ชุมชนตรงนั้นควรพัฒนาในแง่มุมไหน โปรเจกต์นี้อาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาของสิ่งที่เป็นอยู่ เพราะนักศึกษาไม่ได้มีอำนาจในการแก้ปัญหานั้นโดยตรง แต่เขาสามารถเล่าเรื่องเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ เล่าถึงสิ่งที่คนในชุมชนอยากเล่า หรือเล่าเรื่องเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบริบทในชีวิตประจำวันของแต่ละพื้นที่” สร้างคุณค่าให้พื้นที่ด้วยเรื่องราวเล็กๆ ที่จับใจ“เสียงตอบรับหลังจัดแสดงงานค่อนข้างหลากหลาย แต่โดยรวมเรียกได้ว่าเกินคาดครับ ตัวอย่างเช่นโปรเจกต์ ‘Voice หัวลำโพง’ ที่จัดแสดงในโรงแรมสเตชั่น มีหลายคนบอกว่าเรื่องที่นำมาเล่ามันสะท้อนถึงความเป็นชุมชนโดยไม่ได้ปรุงแต่ง ผลงานนี้เป็นการรวบรวมเสียงของคนในชุมชนว่าหลังจากสถานีรถไฟย้ายไปอยู่บางซื่อ การที่ชุมชนหัวลำโพงมีทางด่วนตัดผ่าน หรือมีสถานีรถไฟใต้ดิน MRT เข้ามาตั้ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันอย่างไรทั้งแง่บวกและแง่ลบ เป็นการเล่าเรื่องของชุมชนที่ไม่ได้นำเสนอแต่ด้านดี เรานำเสนอว่าความจริงคืออะไร ให้คนได้พิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงของเมืองไม่ได้มีแต่ข้อดีหรือข้อเสียเสมอไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนมีหลายด้านนะ อยู่ที่ว่าเราได้ฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนครบถ้วนแล้วหรือยัง” “หรืออีกโปรเจกต์หนึ่งคือการถ่ายรูปชุดแฟชั่นของคนในชุมชน แล้วถามว่าเสื้อผ้าที่ใส่ทุกวันนี้มีความสำคัญกับเขาอย่างไร เสื้อตัวนี้มีความประทับใจยังไง เป็นแง่มุมน่ารักๆ ของคนในพื้นที่ ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในเชิงมิติต่างๆ และคนภายนอกก็รับรู้เรื่องราวของหัวลำโพงมากขึ้น เป็นการแสดงความเข้าใจผ่านการเล่าเรื่องชีวิตประจำวันในเชิงคุณค่าต่างๆ” “ส่วนย่านนางเลิ้งก็มีกิจกรรม ‘ลาน-รื่น-เลิ้ง’ ที่นักศึกษาเขาเห็นว่าในอดีตนางเลิ้งเคยเป็นย่านเอนเตอร์เทนเมนต์ มีบ้านเต้นรำหรือชื่อทางการคือโรงเรียนสามัคคีลีลาศ เป็นโรงเรียนสอนเต้นรำให้เซเลบฯ และดาราสมัยก่อน แต่ปัจจุบันบ้านไม้หลังนี้ผุพังไปแล้ว เขาเลยอยากชวนครูที่เคยสอนเต้นรำมารื้อฟื้นความทรงจำ และเปิดสอนอีกครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ บนดาดฟ้าโรงเรียน เป็นกิจกรรมที่น่ารักและมีคุณค่าทางจิตใจ” “กระบวนการตรงนี้จะทำให้นักศึกษาเขามีความละเอียดอ่อนในการทำงานมากขึ้น โดยเมนเทอร์ก็จะนำประสบการณ์มาช่วยสอนว่า เวลาลงพื้นที่พูดคุยกับคนในชุมชนมีสิ่งไหนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ควรพูดคุยแบบไหนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญแทบจะที่สุดเลย เราไม่ได้เห็นคนในชุมชนเป็น Object ในการจัดแสดงงาน แต่เรากำลังร่วมกันสร้างคุณค่าให้กับพื้นที่ ซึ่งบางทีมองจากภายนอกอาจไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ที่จับต้องได้ เช่น ไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่คนนอกไม่ค่อยได้สัมผัสคือความรู้สึกของคนในพื้นที่ เพราะมันจับต้องไม่ได้และวัดผลยาก แต่ทุกครั้งที่ทำงานกับชุมชน เราได้เห็นว่าหลายคนเขามีความสุขที่ได้ร่วมทำกิจกรรม ได้เล่าเรื่อง ได้จัดแสดงงาน ฟังแล้วอาจดู Romanticize แต่เป็นเรื่องจริง” ทั้ง 10 โปรแกรม โดย 10 กลุ่มนักศึกษา ประกอบด้วย 1. ย่านหัวลำโพง : การเดินทางของความทรงจำ (Journey Memory) โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ x วีระพล สิงห์น้อย (Fotomomo) ความทรงจำในอดีตที่มิอาจหวนคืน ถูกบันทึกไว้เป็นภาพถ่ายและนำมาออกแบบลายพิมพ์เพื่อพิมพ์ลงบนผ้าฝ้ายเนื้อธรรมชาติด้วยเทคนิค Cyanotype2. ย่านหัวลำโพง : Diito! Hua Lamphong โดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงบูรณาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ x ชยนพ บุญประกอบ ภาพยนตร์สั้นกึ่งทดลองที่นำเสนอเรื่องราว ร่องรอย และการเปลี่ยนผ่าน โดยการมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส 3. ย่านหัวลำโพง : voice หัวลำโพง โดยคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง x Cloud-floor หัวลำโพงเป็นย่านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของเมืองมากที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ เราจึงอยากให้ผู้ชมได้ฟังเสียงของคนในชุมชนและนอกชุมชนเพื่อเปิดมุมมองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้น 4. ย่านหัวลำโพง : 88/610 โดยสาขาครีเอทีฟอาร์ตและกราฟิกครีเอทีฟ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา x ม๊าเดี่ยว-อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ ซีรีส์ภาพถ่ายประกอบคำบอกเล่าและผลงานศิลปะจัดวางที่ชวนผู้คนมาบอกเล่าเรื่องการแต่งตัว เสื้อผ้า ทรงผม เครื่องประดับ ข้าวของเครื่องใช้ ที่แสดงถึงทักษะอาชีพของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 5. ย่านบางโพ : ภาพแปะสลักโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ x วีระพล สิงห์น้อย (Fotomomo) ผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อสื่อสารวิถีชีวิตของอาชีพแกะสลักไม้ที่บางโพ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นย่านแห่งไม้6. ย่านบางโพ : Soul of the Craftsman โดยคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ สาขาสถาปัตยกรรม และสาขาออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ x XD49 นิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของช่างฝีมือบางโพ ที่สะท้อนความแข็งแรงและโดดเด่นของย่าน โดยเล่าผ่านการรับรู้ทั้ง 5 คือ เห็น ฟัง สัมผัส ได้กลิ่น และลงมือทำ7. ย่านนางเลิ้ง : ลาน-รื่น-เลิ้ง (Lan-Ruen-Loeng) โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต x ชยนพ บุญประกอบ เปิดพื้นที่สะท้อนการมีอยู่ของบ้านเต้นรำที่เคยเป็นที่รู้จักของคนในย่าน ให้ผู้คนได้กลับมาร่วมเต้นรำอีกครั้ง และมีการสอนเต้นลีลาศให้เหล่าหนุ่มสาวยุคใหม่ด้วย8. ย่านนางเลิ้ง : นางเลิ้ง รื่นเริง ไม่เลือนราง โดยสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ (หลักสูตรนานาชาติ) CommDe จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย x XD49 พาทุกคนหวนสู่ความรื่นเริงจากย่านบันเทิงเก่า ผ่านตั๋วกระดาษที่เป็นตัวกลางสู่ความบันเทิงและโชว์เรื่องราวประวัติศาสตร์อันน่าจดจำ9. ย่านนางเลิ้ง : จักรวาลกล้วยเเขก โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ x Cloud-floor นำจุดเด่นของถุงกล้วยเเขกเมนูขึ้นชื่อประจำย่าน มาออกเเบบลวดลายเเละลงสีให้สามารถประกอบกันเป็นภาพของย่านโดยมีการใช้สีของนางเลิ้งที่เป็นจุดเด่น 10. ย่านนางเลิ้ง : Scrawl เส้นสมมติ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี x ม๊าเดี่ยว-อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ สื่อสิ่งพิมพ์นับเป็นประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งของนางเลิ้ง ผู้แสดงงานจึงอยากเชิญชวนผู้คนให้มาเขียน วาด ละเลง ปลดปล่อยความรู้สึกและความคิดสร้างสรรค์ออกมาอย่างเต็มที่บนกระดาษแผ่นใหญ่ที่จัดเตรียมไว้–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
21 มี.ค. BBBB
Community Vibes คุยกับคนรุ่นใหม่จากย่านนางเลิ้ง
Community Vibes คุยกับคนรุ่นใหม่จากย่านนางเลิ้ง ที่ใช้การออกแบบ ‘จูนคลื่น’ ให้ชุมชนดั้งเดิม ศิลปะร่วมสมัย และผู้ชมงานแฮปปี้ไปด้วยกัน‘ย่านนางเลิ้ง’ คือชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีเรื่องราวน่าสนใจซุกซ่อนอยู่มากมาย ในอดีตย่านนี้เคยเป็นศูนย์กลางความเจริญ โดยมีตลาดนางเลิ้งเป็นตลาดบกแห่งแรกของไทย นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของละครชาตรีที่เป็นตำนานคู่ย่าน โดยมีบ้านครูดนตรีไทยและคณะละครในอดีตรวมตัวกันอยู่หลายแห่ง ทว่าเมื่อเวลาผันผ่าน บทบาทความสำคัญของนางเลิ้งกลับเลือนรางจางหาย จนเกิดคำถามว่าเราจะทำอย่างไรให้ผู้คนรับรู้เสน่ห์ของย่านเก่าและหันมาร่วมกันพัฒนาย่านให้น่าอยู่ไปพร้อมๆ กับรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้ไม่ให้สูญหายตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงชวน น้ำมนต์-นวรัตน์ แววพลอยงาม ผู้นำชุมชนรุ่นใหม่แห่งย่านนางเลิ้งที่ขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนด้วยศิลปะมานานหลายปี มาร่วมสร้าง Community Vibes กระบวนการจูนคลื่นให้ตรงกันระหว่างชุมชนและเทศกาล หาจุดบรรจบที่ลงตัวระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับศิลปะร่วมสมัย โดยน้ำมนต์วางเป้าหมายไว้ง่ายๆ ว่าดีไซน์วีกที่นางเลิ้งจะต้องทำให้ทุกคนแฮปปี้ ทั้งชุมชน ศิลปิน และผู้เข้าชมงาน เรียนรู้อดีต พัฒนาปัจจุบัน เพื่อสร้างอนาคตให้นางเลิ้ง “ก่อนน้ำมนต์เกิด นางเลิ้งเคยเป็นย่านที่เจริญรุ่งเรืองเหมือนสยามสแควร์ของคนยุคนี้ ตลาดเปิดทั้งวันทั้งคืนไม่เคยหลับ เราเติบโตมากับเรื่องเล่าเหล่านี้ ส่วนยุคที่น้ำมนต์เกิดอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคมืด ตลาดซบเซา ศูนย์ราชการย้ายออกไป โรงหนังที่มีความทรงจำของผู้คนมากมายถูกปิด แล้วเราเติบโตมาในครอบครัวที่คุณแม่เป็นผู้นำชุมชน คนนางเลิ้งส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิมผู้คนรู้จักกันหมด เวลามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นคนในชุมชนจะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อบ้านเกิดตามสไตล์ของตัวเอง ทุกคนทำงานเพื่อชุมชน ไม่ได้มาอาศัยอยู่เพื่อทำงานเก็บเงินเลิกงานกลับเข้าบ้าน” “แล้วก็ส่งต่อมาถึงยุคที่น้ำมนต์เริ่มเข้ามาทำงานชุมชนจริงจัง ประมาณปี 2007 เราตั้งกลุ่มชื่อ อีเลิ้ง (E-Lerng) ชวนเพื่อนๆ ศิลปินทั้งไทยและต่างชาติมาช่วยกันทำโปรเจกต์ โดยที่เรายังไม่รู้ว่านางเลิ้งจะอยู่หรือไปจากการถูกไล่ที่รื้อถอน แต่ชุมชนก็พยายามสร้างโซเชียลมูฟเมนต์ให้คนรู้สึกหวงแหนนางเลิ้งร่วมกัน สิบกว่าปีที่แล้วคนยังไม่ค่อยเก็ตว่างานชุมชนคืออะไร แต่พอมีการจัดเทศกาล มีศิลปินทำงานชุมชน มีการท่องเที่ยวชุมชน ก็ทำให้คนเข้าใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น เด็กๆ รุ่นใหม่เริ่มสนใจคำว่าชุมชน เริ่มเป็น Active Citizen ทุกวันนี้ยังไม่ได้ฟันธงว่าชุมชนนางเลิ้งจะได้อยู่ต่อไปไหม แต่น้ำมนต์คิดว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น คนเริ่มเห็นความสำคัญของชุมชนเก่าในประเทศไทยมากขึ้น เริ่มเห็นภาพว่าการพัฒนากับการเก็บรักษาต้องทำคู่กันยังไงจากบทเรียนของหลายๆ ชุมชนที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่านางเลิ้งจะต้องอยู่แบบห้ามเปลี่ยนแปลง แต่น้ำมนต์คิดว่าการพัฒนาควรทำคู่ไปกับการเก็บรักษาบางอย่างไว้” ต่อมาน้ำมนต์ได้ก่อตั้ง COMMUNITY LAB ขึ้นมา เป็นองค์กรที่ทำงานด้านศิลปะเชิงพัฒนาสังคมซึ่งต่อยอดมาจากอีเลิ้ง โดยเพิ่มเติมระบบการจัดการฐานข้อมูลทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อทำหน้าที่บันทึกอดีต ขับเคลื่อนปัจจุบัน และรวบรวมทรัพยากรไว้สำหรับอนาคต ซึ่งน้ำมนต์อธิบายเพิ่มเติมว่า “น้ำมนต์ทำงานชุมชนและอีกพาร์ตหนึ่งก็เป็นศิลปิน เราเลยสนใจประวัติศาสตร์ที่ค่อยๆ หายไปในแต่ละย่าน และอยากทำแพลตฟอร์มที่เก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงการศึกษาวิจัย ยกตัวอย่างเช่น เราใช้เทคโนโลยี 3D สแกน เก็บท่ารำของครูนางรำชาตรีแบบดั้งเดิมคนสุดท้ายไว้ ใครอยากทำโปรเจกต์เกี่ยวกับละครชาตรีก็มาศึกษาข้อมูลได้ เรามีฐานข้อมูล 12 ท่ารำที่หมุนดูได้ 360 องศาเลย”ปรับจูนสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชนกับศิลปะร่วมสมัย ส่วน Community Vibes คือโปรแกรมทดลองที่น้ำมนต์ออกแบบขึ้นโดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Local Studio, COMMUNITY {art} LAB และ Immersive Exhibition ซึ่งน้ำมนต์เล่าถึงแต่ละส่วนไว้อย่างน่าสนใจ “ส่วนแรก Local Studio จะมีโปรแกรมทัวร์เดินชุมชนลัดเลาะตรอกซอกซอย พากินอาหารร้านคุณป้าคนนั้นคนนี้ มีเวิร์กช็อปต่างๆ ที่ศิลปินสามารถใช้โปรแกรมเหล่านี้ได้ ศิลปินบางคนอยากทำเรื่องละครชาตรีมากเลย หรือสนใจการทำบาตรพระแบบดั้งเดิมในชุมชนบ้านบาตร ถ้าไม่มีคอมมูนิตี้คอยซัพพอร์ต เขาอาจจะเข้ามาเดินถ่ายรูปกลับไปมโนที่บ้าน ซึ่งผลงานมันอาจจะไม่สามารถดึงสกิลของศิลปินออกมาได้เท่าที่ควร ขณะเดียวกันข้อมูลที่เขามีอย่างจำกัดก็ไม่ได้มาจากรากวัฒนธรรมจริงๆ ของชุมชน น้ำมนต์เลยอยากคิดโปรแกรมที่ทำให้ผลงานในดีไซน์วีกดีทั้งต่อตัวศิลปินเอง ดีทั้งต่อชุมชน และตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของเทศกาล” “ส่วนที่สอง COMMUNITY {art} LAB เป็นสเปซห้องแอร์เย็นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก FREC Bangkok หลังจากศิลปินได้แรงบันดาลใจมาแล้วก็มาทำงานตรงนี้จะได้ไม่รบกวนชุมชน เพราะพวกศิลปินส่วนใหญ่ทำงานกันดึกถึงสี่ห้าทุ่ม โดยกลุ่มเป้าหมายแรกคือเราอยากดึงคนรุ่นใหม่ที่ทำงานสายศิลปะมาร่วมโปรเจกต์ ซึ่งได้น้องๆ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เข้ามาทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มแรก แล้วพอเราเปิดตัวโปรเจกต์ออกไปก็มีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่อยากเข้าร่วมทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้เราเห็นว่านักออกแบบหรือศิลปินเขาต้องการพื้นที่แบบนี้ในการสร้างผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้น” “ส่วนที่สาม Immersive Exhibition จะสัมพันธ์กับสองส่วนแรก คือการจัดแสดงผลงานของศิลปินโดยมีคนในชุมชนคอยให้คำแนะนำ อย่างศิลปินกลุ่มหนึ่งเดินเข้าไปสลัมแล้วเห็นว่ามีบ้านหนึ่งแบ่งโซนบ้านด้วยกองผ้า เขาสนใจเล่าเรื่องนี้ โลเคชันจัดแสดงงานก็ควรอยู่ใกล้ในสลัม COMMUNITY LAB จะช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดแสดงงาน ช่วยจูนการทำงานระหว่างศิลปินกับชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดข้อขัดแย้ง”“เรานำโมเดลนี้มาทำงานในฐานะผู้นำชุมชน ไม่ได้ทำในฐานะนักออกแบบ เราอยากให้คนในชุมชนได้มีโอกาสคิวเรตงานร่วมกับศิลปิน น้ำมนต์คิดว่าการมีโปรแกรมแบบ Community Vibes ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างคนในกับคนนอก ระหว่างเทศกาลกับชุมชน มันน่าจะดีต่อทุกฝ่าย” น้ำมนต์กล่าวทิ้งท้ายไว้ถึงความสำคัญของ ‘การจูนคลื่น’ ที่เธอกำลังขับเคลื่อนและอยากส่งต่อแนวคิดให้ชุมชนอื่นที่มีนิเวศการอยู่อาศัยใกล้เคียงกับนางเลิ้งสามารถนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/communitylab.co–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
14 มี.ค. BBBB
เปิดบ้านศาลพระภูมิ นิทรรศการเวรี่ไทยที่อยากชวนตั้งคำถามถึงการเป็นเจ้าของพื้นที่
‘เปิดบ้านศาลพระภูมิ’ นิทรรศการเวรี่ไทยที่อยากชวนตั้งคำถามถึงการเป็นเจ้าของพื้นที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้ People of Ari กลุ่มนักสร้างสรรค์ประจำย่านอารีย์ นำเรื่องราวของ ‘ศาลพระภูมิ’ ที่เราคุ้นเคยมาบอกเล่าในมุมมองใหม่ โดยชวนแก่น – สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ ศิลปินเจ้าของเพจ Uninspired by Current Events ผู้สร้างงานศิลปะแนว 3D เนื้อหาเสียดสีสถานการณ์บ้านเมืองอย่างเฉียบคมมาร่วมเป็นดีไซเนอร์ จำลองศาลพระภูมิขนาดยักษ์ขึ้นมาในบ้านเก่าของอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และได้กลุ่มละคร AT Theatre มาเปิดการแสดงพิเศษ เพื่อพาคนดูก้าวเข้าไปสู่โลกอีกมิติหนึ่ง เปียโน – ธันยพร รักษ์เถา คิวเรเตอร์จาก People of Ari บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ว่า “People of Ari เป็นโรงละครและครีเอทีฟสเปซที่ต่อยอดมาจาก Yellow Lane ซึ่งเราอยากแบ่งปันสเปซในการทำงานศิลปะให้เกิดขึ้นในย่านอารีย์ และเรามองหาศิลปินหลายๆ แขนงอยู่ตลอดเวลา แล้วเราชอบงาน Politic ที่มีความเสียดสีเบาๆ ดูมีชั้นเชิง เลยติดต่อพี่แก่นไปว่าสนใจอยากร่วมงานด้วย”ระดมไอเดียก่อร่างสร้างศาลพระภูมิหลังจากนั้นก็นำมาสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกัน โดยแก่นสนใจภูมิหลังของสถานที่ในแง่ที่เคยเป็นบ้านของอดีตนายกรัฐมนตรี และในอดีตอารีย์ก็เคยได้ชื่อว่าเป็นย่านที่อยู่อาศัยของขุนนางและชนชั้น ก่อนจะกลายมาเป็นย่านสุดชิคแบบทุกวันนี้ “อารีย์เป็นย่านที่ค่อนข้างจะถูก Gentrification ไปแล้ว มีฝรั่ง Expat มาอยู่เยอะ เลยคิดว่าเรื่องราวของศาลพระภูมิน่าจะตอบโจทย์ หนึ่งคือมันแมสมาก มันเวรี่ไทยในมุมของ Expat แต่เขาอาจจะยังสงสัยว่าสิ่งที่เห็นมาตลอดคืออะไร เลยอยากให้เขาได้มารับประสบการณ์นอกเหนือจากสิ่งที่คุ้นเคยในประเทศนี้ ขณะเดียวกันมันก็ทำงานกับสถานที่ที่เป็นบ้านของคนเก่าคนแก่ ในทางฟังก์ชั่นมันก็คล้ายๆ กับศาลพระภูมิในตัวของมันเองอยู่แล้ว” “เบื้องหลังก็มีการพูดคุยกันหลายแง่มุมว่า เราจะเล่าเรื่องศาลพระภูมิในแง่ไหน เราจะเสียดสีแค่ไหน เราจะพูดถึงชนชั้นปกครองหนักแค่ไหน สุดท้ายงานที่ออกมาคือการมองศาลพระภูมิตามธรรมชาติ เช่น การที่ของไหว้บางชิ้นเละเทะเน่าเสียไปตามธรรมชาติ เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เราอยากมองสิ่งนี้ตามความเป็นจริง ไม่ได้เอามาทำในลักษณะของการล้อเลียน ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นบทสนทนาที่น่าสนใจกว่า” “นอกจากนี้ไอเดียบางส่วนก็มาจากดีไซน์วีคปีที่แล้ว เราแวะมาเดิน Yellow Lane แล้วเห็นงาน The Forbidden Marsh ที่ให้คนลุยน้ำได้ เลยอยากทำนิทรรศการที่ใช้สเปซได้คุ้มแบบนั้นบ้าง ก็ออกมาเป็นศาลพระภูมิแบบ Immersive ที่คนดูสามารถมีส่วนร่วมและหยิบจับชิ้นงานมาไหว้ขอพรได้ ขณะเดียวกันก็อยากให้ภาพรวมดูเหมือนงานที่ปกติเราทำลงเพจด้วย” โดยงานนี้ได้ ลูกตาล – สรวรรณ บุญยะพุกกะนะ มาเป็นโปรดิวเซอร์ในการผลิตชิ้นงาน เพื่อทำให้ภาพร่างสำเร็จออกมาเป็นองค์ประกอบต่างๆ ภายในศาลพระภูมิที่จับต้องได้ “พี่เขาดีไซน์มายังไงเราก็ยึดตามนั้นไว้ก่อนเลย แล้วมาดูว่าจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ของบางอย่างมีวิธีประดิษฐ์อยู่แล้วในสเกลเล็ก ถ้าจะทำให้เป็นสเกลใหญ่ต้องหาวัสดุที่แตกต่างออกไปเพื่อให้สามารถคงตัวคงรูปได้มากขึ้น แล้วก็เอาพวกเท็กซ์เจอร์มาเลือกกับพี่ๆ อีกทีว่าใช้กระดาษอันนี้ภาพที่ออกมาจะเหมือนของจริงไหม ต้องให้คนหยิบจับแล้วไม่เสียหายง่าย อย่างดอกไม้ก็จะใช้กระดาษว่าวกับกระดาษไขแบบขุ่นมาทำ” ซึ่งเปียโนช่วยเสริมว่านอกจากความสวยงามสมจริงแล้ว อีกประเด็นที่ทีมให้ความสำคัญคือการหาจุดสมดุลที่ลงตัวระหว่างการทำงานให้ตรงตามโจทย์การดีไซน์และเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นโฟมเป็นวัสดุที่ราคาถูกมากแต่ยากต่อการนำไปรีไซเคิล ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นแทนสร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อตั้งคำถามกับ ‘การเป็นเจ้าของที่’นอกจากเป็นนิทรรศการแล้ว บ้านศาลพระภูมิยังถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า ด้วยการเป็นฉากของการแสดงแบบ Interactive ภายใต้คอนเซปต์ไอเดียเดียวกันแต่เล่าเรื่องราวในมิติที่ลึกขึ้น และในระหว่างเทศกาลกิจกรรมหลักของ People of Ari อย่างการแสดงดนตรีและการเต้นสวิงก็ยังคงดำเนินไปภายใต้ฉากศาลพระภูมิ โดยออกัส – ปวริศร กิจวานิชรุ่งเรือง หนึ่งในทีมผู้สร้างสรรค์การแสดงขยายความเพิ่มเติมว่า “โจทย์หลักคือเราอยากให้เป็นการแสดงที่คนดูสามารถมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับศาลพระภูมิขนาดใหญ่ได้ เราเลยให้นักแสดงและคนดูรับบทเป็นของถวายที่เห็นกันบ่อยๆ อย่างไก่ ม้าลาย และนางรำ โดยนักแสดงคือของถวายที่อยู่มานานกว่า เขาเลยเป็นแคนดิเดตที่จะได้รับเลือกให้เป็นเจ้าที่คนต่อไป ส่วนคนดูคือของถวายที่มาใหม่ ซึ่งหลักๆ เราต้องการพูดถึงประเด็นการเป็นเจ้าของพื้นที่” ส่วนในพาร์ตของการแสดงดนตรีและกิจกรรมอื่นๆ เมี่ยง – ปานมาศ ทองปาน คิวเรเตอร์จาก People of Ari ช่วยเล่าเสริมดังนี้ “People of Ari จัดกิจกรรมดนตรีเป็นประจำอยู่แล้ว ช่วงที่มีนิทรรศการเราจึงพยายามคิวเรตธีมหรือเลือกกิจกรรมให้ส่งเสริมการเล่าเรื่องด้วย อย่าง Jazz Night ที่อยู่ในบ้านศาลพระภูมิก็จะเป็นเพลงแจ๊สที่มีกลิ่นอายเข้ากับนิทรรศการ ซึ่งงานอื่นๆ ของ People of Ari ก็มีจุดประสงค์ประมาณนี้ นอกจากนิทรรศการที่เป็นอีเวนต์หลักแล้ว เราอยากให้เซตติ้งถูกใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างความหมายอื่นให้กับการแสดงที่จัดขึ้นในพื้นที่เดียวกันด้วย เราเลยวางตัวเองเป็น Theatre เพื่อให้ตอบรับกับจุดประสงค์หลายๆ อย่างในการใช้การพื้นที่”ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/peopleofaribkk–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
07 มี.ค. BBBB
mapmap GO! แผนที่เดินเท้าเพื่อทุกคนที่อยากสนิทกับเมืองมากขึ้น
mapmap GO! แผนที่เดินเท้าเพื่อทุกคนที่อยากสนิทกับเมืองมากขึ้น เวลาอยากเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง คนส่วนใหญ่มักค้นหาเส้นทางผ่านกูเกิลแมป ที่ช่วยพาเราไปถึงสถานที่นั้นโดยไม่หลง และแนะนำวิธีการพาเราไปถึงจุดหมายให้เร็วที่สุด แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเดินทางอันรวดเร็วที่ทำให้เราโฟกัสเพียงต้นทางกับปลายทาง ก็อาจทำให้เราพลาดการทำความรู้จักเส้นทางนั้นอย่างใกล้ชิดไปโดยปริยาย รวมถึงไม่อนุญาตให้เราสนใจและดื่มด่ำสิ่งที่อยู่ระหว่างทางมากนัก ด้วย Pain point นี้ที่ลงล็อกเหมาะเจาะกับยุคสมัยที่คนหันมาสนใจสำรวจเมืองที่ตัวเองอยู่มากขึ้น แผนที่เดินเท้า mapmap GO! จึงเกิดขึ้นเพื่อเขย่ามุมมองของคุณที่มีต่อเมืองให้เปลี่ยนไปกว่าจะมาเป็น mapmap GO! mapmap GO! เกิดจากความร่วมมือระหว่าง mor and farmer กลุ่มนักออกแบบที่นำข้อมูลวิจัยมาสร้างเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลและสื่อใหม่เพื่อปรับปรุงเมืองให้ดีขึ้น และ Refield Lab กลุ่มภูมิสถาปนิกที่สนใจการวางแผนและออกแบบพื้นที่ โดยเชื่อมโยงความรู้ด้านงานออกแบบเข้ากับการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ mor and farmer และภาคีเครือข่าย ได้พัฒนาแพลตฟอร์มชื่อ mapmap ขึ้นมาเป็นฐานข้อมูล เพื่อทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานครในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียว โดยนำฐานข้อมูลมาวิเคราะห์หาพื้นที่ที่มีศักยภาพและวางแนวทางในการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ หลังจากรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่มาได้จำนวนหนึ่ง พวกเขาก็เริ่มเกิดความคิดอยากเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ออกไปให้ผู้คนรับรู้ในวงกว้าง แต่ถ้านำข้อมูลจำนวนมหาศาลออกมากางแบบทื่อๆ คงยากที่จะดึงดูดความสนใจของคนทั่วไปได้ ทีมงานจึงสรุปย่อข้อมูลเหล่านั้นออกมาเป็นแผนที่กระดาษขนาดใหญ่ที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลส่งเสริมการเดินเท้าสำรวจ ‘บางกอกใหญ่’ ย่านต้นแบบที่เลือกมาเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อบอกเล่าถึงเส้นทางน่าเดินสำหรับนักเดินท่องเมืองที่สนใจเรื่องราวเชิงลึก และร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมเดินย่านกับ mapmap GO! ขึ้น ในช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ‘บางกอกใหญ่’ ย่านนำร่องที่รุ่มรวยด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์เมื่อถามว่าทำไมจึงเลือกย่านบางกอกใหญ่มาเป็นพื้นที่นำร่อง ทีมงานได้อธิบายเหตุผลประการแรกไว้อย่างน่าสนใจว่า ย่านบางกอกใหญ่เป็นพื้นที่เมืองเก่าที่มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ทั้งโบราณสถาน วัดเก่าแก่ และชุมชนดั้งเดิมกระจายตัวอยู่มากมาย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สีเขียวอย่าง สวนบางกอกใหญ่ สวนสาธารณะใจกลางฝั่งธนฯ ที่มีร่องสวนอยู่ในนั้นด้วย และสวนลุงสรณ์ สวนเกษตรของปราชญ์ชุมชนที่เป็นต้นแบบของแหล่งอาหารใกล้บ้าน จัดว่าเป็นอีกหนึ่งย่านที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสำรวจวิถีชีวิตชุมชน ส่วนเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ เนื่องจากมีภาคีเครือข่ายที่เคยทำงานร่วมกัน ทั้งกลุ่มยังธน CROSSs and Friends และชุมชนภายในย่าน ซึ่งสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การลงพื้นที่พูดคุยกับวินมอเตอร์ไซค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นทางลับประจำย่าน การเยี่ยมชมพื้นที่เกษตรและพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ชวนเดินเท้าสำรวจบางกอกใหญ่จุดประสงค์หลักของ mapmap GO! คือการเชิญชวนทุกคนมาเดินเท้าสำรวจเมืองศึกษารายละเอียดที่ซุกซ่อนอยู่ โดยในแผนที่จะสอดแทรกข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์และคุณค่าย่านนั้นๆ เอาไว้ด้วย ทั้งในแง่มุมของชุมชนและตลาด ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมเมื่อเราเริ่มสัมผัสเมืองในระดับที่ใกล้ชิดขึ้น เราก็จะได้เห็นสิ่งที่อาจไม่เคยเห็นในชีวิตประจำวันที่รีบเร่ง ประสบการณ์ที่เราได้จากการเดินเท้า จึงอาจนำไปสู่การตั้งคำถามที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาเมืองในแมปยังมีการแนะนำ 5 เส้นทางไว้เป็นไอเดียให้สามารถเลือกหรือลองออกแบบเส้นทางเดินเท้าในแบบของตัวเอง ได้แก่เส้นทางที่ 1 “นิเวศเกษตรร่องสวน” สำรวจความสัมพันธ์ของสายน้ำกับพื้นที่เกษตรกรรมในย่านเส้นทางที่ 2 “ลัดเลาะริมแม่น้ำ” เส้นทางริมน้ำที่เดินเล่นจากถนนจรัญสนิทวงศ์ไปถึงวัดอรุณได้เส้นทางที่ 3 “วัดวาอาราม” เส้นทางสำรวจวัดและศาสนสถานสำคัญที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เส้นทางที่ 4 “พิพิธภัณฑ์ชีวิต” พาชมงานศิลปะและพิพิธภัณฑ์ภายในย่าน ไปจนถึงตลาดของกินขึ้นชื่อเส้นทางที่ 5 “บางกอกใหญ่ใหญ่” สำรวจบางกอกใหญ่ทั้งเขตเพื่อเข้าใจภาพรวมของย่านในหนึ่งวัน โดยเส้นทางเหล่านี้ทีมงานลงพื้นที่เดินสำรวจมาแล้วทั้งหมด ข้อมูลในแผนที่จึงมีทั้งมิติทางสิ่งแวดล้อม จุดหมายปลายทางที่ควรแวะ รวมถึงแนะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเดินเท้า เช่น สิ่งกีดขวางที่เป็นอุปสรรค เส้นทางที่มีร่มเงาไม้ เส้นทางเลียบชายคลองใกล้ชิดธรรมชาติ พื้นที่ที่อากาศร้อนควรหลีกเลี่ยง เส้นทางที่มีไฟส่องสว่างริมถนนเพิ่มความปลอดภัยในยามค่ำคืน และในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา mor and farmer และ Refield Lab ได้จัดกิจกรรมชวนเดินสำรวจย่านบางกอกใหญ่ ด้วยแผนที่ mapmap GO! โดยเน้นไฮไลต์อย่างสวนเกษตร วัดเก่าแก่สมัยอยุธยา และชุมชนตลาด เพื่อชวนผู้คนมาทำความรู้จักย่านนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง นอกจากนี้ทีมงานยังอยากฟังเสียงตอบรับจากคนที่มาร่วมทดลองใช้แผนที่ว่าได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพื่อนำความคิดเห็นไปพัฒนาโปรเจกต์ต่อไป รวมถึงต้องการสร้างบทสนทนาชวนคิดชวนคุยระหว่างทาง ซึ่งหากเป็นไปได้ในอนาคตทีมงานก็อยากจัดโปรแกรมพิเศษให้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตมาร่วมเดินด้วย เพื่อรับรู้ปัญหาของพื้นที่ร่วมกันและนำไปสู่การแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม พวกเขาทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความเชื่อว่า การมีข้อมูลที่ดีจะช่วยให้นักพัฒนามองเห็นศักยภาพและปัญหาของเมืองได้ตรงจุด สามารถวางแผนฟื้นฟูเมืองให้น่าอยู่น่าเดินเที่ยวเล่นต่อไปได้ในอนาคต ส่วนการชวนคนจากภายนอกเข้ามาทำความรู้จักพื้นที่และซึมซับวิถีชีวิตของคนในย่าน ก็สามารถกระตุ้นการมีส่วนร่วมและขยายเครือข่ายไปสู่การทำโปรเจกต์ใหม่ๆ ร่วมกันในอนาคตได้ โดยแผนที่ลักษณะนี้สามารถนำไปปรับใช้กับย่านอื่นๆ ที่มีความน่าสนใจในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย แต่ยังไม่ถูกค้นพบหรือยังไม่ได้รับการสื่อสารนำเสนอออกไปให้แพร่หลายในวงกว้างดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/CANCommunityActNetwork –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
29 ก.พ. BBBB
แนวคิด Regenerative งานออกแบบดีๆ ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ โดย Ctrl+R Collective
ในขณะที่การออกแบบและสร้างสรรค์เป็นไปเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ อีกด้านหนึ่งเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกการสรรค์สร้างล้วนใช้ต้นทุนมาจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วเราจะหาสมดุลที่ดีต่อเราและดีต่อโลกได้อย่างไร?Ctrl+R Collective คือชื่อกลุ่มนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขาอาชีพที่ชวนคุณมาหาคำตอบนั้น ด้วยความสนใจที่มีร่วมกันในแนวคิด Regenerative Design หรือการออกแบบเชิงปฏิรูปฟื้นฟู ซึ่งต่อยอดมาจากแนวคิดเรื่องความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นคืนสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานออกแบบสุดเจ๋งที่แสดงตัวอย่างให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ใหม่ๆ อะไรบ้างในการรักษ์โลกไปพร้อมๆ กับการใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์ เยล-อัญญา เมืองโคตร นักออกแบบที่ยึดหลักการออกแบบเชิงหมุนเวียนและเชี่ยวชาญด้านวัสดุชีวภาพ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการรวมตัวกันว่า “Ctrl+R Collective เกิดขึ้นมาจากโปรเจกต์ที่เยลกำลังทำสตาร์ตอัปไมซีเลียม (Mycelium) เส้นใยจากเห็ดราร่วมกับเพื่อน แล้วอยากเอามาโชว์ในงาน Bangkok Design Week จึงพกไอเดียนี้มาเสนอ พี่อิ๊บ-คล้ายเดือน สุขะหุต และพี่โต๋-นุติ์ นิ่มสมบุญ ผู้ก่อตั้งพื้นที่เพื่อจิตใจและสิ่งแวดล้อมที่สมดุลอย่าง Slowcombo เพื่อขอใช้สถานที่ พอฟังแล้วทั้งสองเก็ตและอินไปกับเรา จึงได้พื้นที่เป็นห้องนิทรรศการบนชั้นสาม ที่ใหญ่มากจนไม่สามารถจัดแสดงแค่งานเดียวได้ จากตรงนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เยลไปชวนคนที่มีมายด์เซ็ตเดียวกันมารวมกลุ่ม โดยไม่ได้คิดภาพเลยว่าการรวมตัวจะใหญ่ขนาดนี้ แต่เพราะประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่เลยมีพาร์ตเนอร์สนใจอยากเข้าร่วมกับเราเยอะ อย่างเช่นเราได้ GroundControl มาเป็นมีเดียพาร์ตเนอร์ แล้วเขาก็ชวนศิลปิน MY MAYO และ Pineapple Print Press Studio มาจัดกิจกรรมกับเราด้วย” นิทรรศการที่รวมทุกมิติของ ‘การออกแบบ × สิ่งแวดล้อม’ ตลอดหนึ่งเดือนเต็ม!ท็อท-ธรัฐ หุ่นจำลอง ผู้ร่วมก่อตั้ง Wasteland และมีความสนใจขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการอาหารและเครื่องดื่มรวมถึงอุตสาหกรรมบริการ คือหนึ่งในกำลังสำคัญของโปรเจกต์ Regenerative Commodities – Exhibition & Experiences เขาอธิบายเสริมว่า “สมาชิกตั้งต้นของ Ctrl+R Collective มีทั้งหมด 8 คน จุดประสงค์หลักในการรวมตัวก็เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเราตั้งใจนำเสนอสิ่งที่คนทั่วไปเห็นทุกวัน พวกวัสดุที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่ถูกมองข้ามไปในมุมของสิ่งแวดล้อม” “เรามาเทคโอเวอร์พื้นที่ทั้งสามชั้นของ Slowcombo จัดงานหนึ่งเดือนเต็มตั้งแต่ 27 มกราคม ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2567 ชั้นแรกเน้นเรื่องการสร้างประสบการณ์เป็นหลัก มีเวิร์กช็อป เวทีเสวนา แล้วก็เป็นห้องโชว์เคสของพาร์ตเนอร์และสปอนเซอร์ เช่น โรงแรมศิวาเทลที่ยกพืชพรรณจากสวนลอยฟ้ามาจัดเวิร์กช็อปเบลนด์ชาและแชร์ประสบการณ์การจัดการขยะอาหารที่เขาทำมาเป็นสิบปีแล้ว หรือ Practika ที่ทำเฟอร์นิเจอร์จากการอัปไซเคิลวัสดุ ชั้นสองเป็นโซนที่แบ่งเป็นห้องของ Conscious Fashion Mini Market ที่รวมสินค้าแฟชั่นที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม มี Soho House มาจัดมุม Regenerative Community Corner และนิทรรศการ The Future of Shopping Bag โดยห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล”“ส่วนชั้นสามเป็นโชว์เคสของพวกเรา Ctrl+R Collective ซึ่งเราตั้งใจจะทำงานด้านนี้กันต่อไปเรื่อยๆ หลังงานนี้สิ้นสุดลงด้วย ไม่ได้มารวมตัวกันแค่ในช่วงเทศกาล ส่วนตัวผมไม่ได้เป็นดีไซเนอร์ก็เลยทำวิจัยเกี่ยวกับ Food Literacy เพื่อให้คนสนใจประเด็นนี้และเข้าใจว่ากระบวนการผลิตอาหารเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม สังคม ศิลปะ วัฒนธรรมยังไงได้บ้าง ไม่ใช่แค่ว่ากินแล้วดีหรือไม่ดี” ร่วมสร้างสรรค์งานออกแบบที่ดีต่อโลกใบนี้ ฟ้าใส-หัสมา จันทรัตนา นักออกแบบที่สนใจการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงบวก อาสาพาเราเดินชมนิทรรศการ Regenerative Commodities บนพื้นที่ชั้นสาม และอธิบายถึงแนวคิดในการออกแบบชิ้นงานที่ให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้อย่างน่าสนใจว่า “เราและเพื่อนๆ ทดลองใช้วัสดุและวิธีการผลิตหลายแบบ อย่างเช่น Mycelium Unites! เป็นผลงานของคุณเยลกับคุณจีโน่-มาฆวีร์ สุขวัฒโน ที่ทำร่วมกับ Mush Composites ในนิทรรศการนี้จะได้เห็นขั้นตอนการเพาะไมซีเลียมซึ่งใช้ผลผลิตที่เหลือจากการเกษตรเป็นสารตั้งต้น ซึ่งเราจะโชว์กระบวนการงอกของเห็ดราและผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็นวัสดุคอมโพสิตที่น้ำหนักเบา ทนไฟ นำไปใช้กับงานตกแต่งภายใน ทำเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านได้” “ส่วนของคุณอาย-ไอริณ ปุรสาชิต เป็นการนำขยะจากอุตสาหกรรมดอกไม้มาทำเป็นภาชนะใส่ดอกไม้ด้วยวิธีการผลิตหลากหลายรูปแบบ แล้วก็จะมีการจัดเวิร์กช็อปร่วมกับ Pica สอนทำเครื่องเขียนจากวัสดุธรรมชาติด้วย และของฟ้าใสเองเป็นงาน Installation ที่โชว์กระบวนการกู้คืนวัสดุกลับมา ซึ่งเรานำเศษวัสดุเหลือทิ้งหลังจากการก่อสร้าง พวกเศษหิน อิฐ ดิน ทราย ปูน มาทำเป็น Biomaterials หรือวัสดุชีวภาพ เพื่อพูดถึงมุมมองที่มีต่อวัสดุก่อสร้างในปัจจุบันว่าเราจะสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการนำสิ่งเหล่านี้มาทำอะไรได้บ้าง” ทางด้านของท็อทได้ช่วยเล่าเสริมเกี่ยวกับผลงานของอุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี แฟชั่นดีไซเนอร์ที่ผลักดันเรื่องสโลว์แฟชั่น ผ่านการเป็นผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ไว้ดังนี้ “ผลงานในโปรเจกต์นี้คุณอุ้งเขาสำรวจเรื่องเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งย้อมด้วยสีที่สกัดจากก้อนหินและดินจากลุ่มแม่น้ำภาคเหนือ โดยมีการสอดแทรกวัฒนธรรมชุมชนและชนเผ่าต่างๆ ไว้ในผลงาน รวมถึงมีการเลือกใช้สีและดีไซน์ที่ช่วยส่งเสริมเรื่อง Mindfulness และมีการจัดเวิร์กช็อปสอนสกัดสีจากวัสดุธรรมชาติด้วย” ผลงานอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ EXTRUDE จาก MORE แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่นำวัสดุเหลือใช้มาสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้ใช้ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน ซึ่งอัน-อภิสรา ห่อไพศาล สมาชิก Ctrl+R Collective และดีไซน์ไดเรกเตอร์ของแบรนด์อธิบายว่า “เราทำการแปรรูปพอลิเมอร์และพลาสติกรีไซเคิลให้คนรู้สึกสนใจอยากใช้งานมากขึ้น โดยนำขวดน้ำพลาสติกของใกล้ตัวที่คนทั่วไปใช้กันอยู่ทุกวันมาแยกสีแล้วทดลองขึ้นรูปเป็นท่อทรงกระบอก ที่นำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น ประกอบเป็นชั้นวางของ โคมไฟ ผนังกั้นห้อง และเก้าอี้สตูล” ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของ Regenerative Commodities – Exhibition & Experiences เท่านั้น หากต้องการเปิดประสบการณ์ใหม่เกี่ยวกับงานออกแบบที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างความเปลี่ยนแปลง และทำความรู้จัก Ctrl+R Collective ให้มากขึ้น สามารถติดตามพวกเขาได้ทาง www.facebook.com/ctrlr.collective–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
22 ก.พ. BBBB
ExperienceScape ชุบชีวิตเมืองเก่าย่านพระนคร โดย Urban Ally และ DecideKit
ExperienceScape ชุบชีวิตเมืองเก่าย่านพระนคร สร้างความเป็นไปได้ใหม่ในการพัฒนาพื้นที่ โดย Urban Ally และ DecideKit‘ย่านพระนคร’ ถือเป็นอีกหนึ่งย่านที่โดดเด่นและถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ Urban Ally หรือ ศูนย์มิตรเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้งขึ้นในปี 2564 ทางศูนย์ได้ทำการศึกษาวิจัยและลงพื้นที่สำรวจเมืองอย่างจริงจัง อีกทั้งยังจับมือกับพันธมิตรหลายฝ่าย ร่วมกันออกแบบเมืองให้น่าอยู่และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ย่านประวัติศาสตร์ ผ่านโปรเจกต์พัฒนาเมืองหลากหลายรูปแบบ รวมถึงรับหน้าที่เป็นโฮสต์ประจำย่านพระนคร ซึ่งครั้งนี้ Urban Ally ใช้ชื่อเทศกาลว่า ‘มิตรบำรุงเมือง LIVE’ ภายใต้ธีม Everyday-life Festival โดยมีจุดจัดกิจกรรมกระจายตัวรอบย่านพระนครมากถึง 19 สถานที่ จากกิจกรรมมากมายที่ Urban Ally ตะลุยทำทั่วย่านพระนคร ไฮไลต์สำคัญที่โดดเด่นจนไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ‘ExperienceScape’ โปรเจกต์สร้างสีสันให้กับสถาปัตยกรรมและพื้นที่รกร้างในย่านเมืองเก่า ให้พื้นที่เหล่านี้กลับมามีชีวิตชีวาและได้รับความสนใจจากผู้คนอีกครั้ง ผ่านงานศิลปะ New Media Art และ Projection Mapping โดยมี DecideKit บริษัทออกแบบโมชันกราฟิกสัญชาติไทยที่โด่งดังไกลระดับโลกมาร่วมเป็นคิวเรเตอร์ รวมถึงได้รับความร่วมมือจากสตูดิโออื่นๆ อีกหลายแห่ง อาทิ Kor.Bor.Vor, The Motion House, Yellaban, Yimsamer และดีไซเนอร์ต่างชาติทั้งจากฝรั่งเศส มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไฮไลต์สำคัญที่โดดเด่นจนไม่พูดถึงไม่ได้ของย่านพระนครในปีนี้ คือ ‘ExperienceScape’ โปรเจกต์สร้างสีสันให้กับสถาปัตยกรรมและพื้นที่รกร้างในย่านเมืองเก่า เปลี่ยนประสบการณ์เมืองเก่า สร้างบทสนทนาใหม่เรื่อง ‘พื้นที่สาธารณะ’อาจารย์พี – ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์มิตรเมือง เผยถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ ExperienceScape ว่า “โปรเจกต์นี้เราทำขึ้นจากสองมุมมอง มุมแรกคือทำยังไงให้พื้นที่ในชีวิตประจำวันมีเสน่ห์มากขึ้น เราสามารถยืดเวลาการใช้งานสวนสาธารณะตอนกลางคืนได้ไหม ส่วนอีกมุมคือเราอยากทำให้คนสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ปิดร้างอย่างประปาแม้นศรี หรือพื้นที่ราชการบางแห่ง เราสามารถทำให้เป็นพื้นที่พลเมืองนอกเวลาราชการได้ไหม เราจึงทดลองผ่านเทศกาลว่าจะนำพื้นที่เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ยังไงบ้าง” “จุดมุ่งหมายของ ExperienceScape คือเราต้องการสร้างภาพจำและประสบการณ์ใหม่ให้กับย่านพระนคร โดยยังยึดโยงอยู่กับประวัติศาสตร์เดิมของพื้นที่ ซึ่ง Urban Ally รับหน้าที่รวบรวมเนื้อหาและวิเคราะห์คัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ส่วนบทบาทการคิวเรตจะเป็นทีม DecideKit กับ Kor.Bor.Vor ที่ชักชวนเครือข่ายศิลปินมาร่วมงาน เนื้อหาของแต่ละสถานที่ก็จะพูดถึงอดีต ปัจจุบัน อนาคต ที่ศิลปินนำมาขยายความหรือตีความใหม่”“แนวคิดการพัฒนาเมืองผ่านเทศกาลทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อคนทั่วไปมากขึ้น เทศกาลเปิดโอกาสให้เราได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ ในพื้นที่เหล่านี้ได้ อย่างศาลาว่าการกรุงเทพมหานครที่เป็นพื้นที่ปิด แต่เทศกาลทำให้เราเข้าไปจัดกิจกรรมในนั้นได้และสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับพื้นที่เมืองได้มากขึ้น” เล่าประวัติศาสตร์พื้นที่ด้วยศิลปะและเทคโนโลยีจิ๊บ – จันทร์เพ็ญ กูลแก้ว ผู้ก่อตั้ง DecideKit เล่าเสริมในมุมของการเป็นคิวเรเตอร์ผู้คัดสรรผลงานศิลปะ New Media Art และ Projection Mapping ในโปรเจกต์นี้ว่า “ปีนี้เรามีหัวเรือใหญ่อีกคนที่ทำงานร่วมกันคือ กบ Kor.Bor.Vor (พงษ์ภาสกร กุลถิรธรรม) และเราก็เลือกกลุ่มศิลปินที่ทำ Projection Mapping ทั้งในแง่คอมเมอร์เชียลและสายประกวดในต่างประเทศมาร่วมงาน ซึ่งแต่ละทีมมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันและเก่งทุกทีม ถ้าเขาทำงานไปโชว์ในต่างประเทศได้ ก็น่าจะมีพื้นที่ให้เขาได้โชว์งานในประเทศด้วยเหมือนกัน อย่าง DecideKit เราลองทำงานในตลาดต่างประเทศมาหลายปี เวลาเอางานไปโชว์ที่ต่างประเทศ คนมาดูงานกันเยอะมาก ในญี่ปุ่นขายบัตรก็เต็มทุกรอบ ยุโรปคนก็มาดูกันหนาแน่นทุกประเทศ ซึ่งคนไทยก็น่าจะอยากดูงานแบบนี้แต่ไม่ค่อยมีศิลปะให้เสพ เราเลยอยากกลับมาทำให้คนไทยเสพบ้าง” “ศิลปินแต่ละคนเขาพยายามเอาประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่มาสร้างงานเพื่อส่งต่ออนาคต อย่างเช่น ป้อมมหากาฬ The Motion House ก็ไปรีเสิร์ชมาว่าตรงนี้เคยเป็นโรงลิเก ผลงานเขาก็จะใช้แรงบันดาลใจจากสีของลิเก หรืออย่างอีกโปรเจกต์ที่เราทำร่วม Urban Ally ที่จังหวัดตรัง เราก็เอาเรื่องราวในท้องถิ่นขึ้นมาชู ทำให้คนที่มาดูงานสัมผัสได้เข้าใจง่าย ไม่แอ็บสแตร็กต์เกินจนเข้าไม่ถึง วันหนึ่งเราอาจจะทำงานที่หลากหลายกว่านี้ได้ แต่วันนี้ที่เราเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน การสื่อสารแบบตรงไปตรงมาน่าจะช่วยเปิดใจผู้รับสารได้มากกว่า” เรียนรู้อดีตเพื่อส่งต่ออนาคตเมื่อถามถึงครั้งแรกที่ลงพื้นที่ประปาแม้นศรี และได้เห็นหอเก็บน้ำคู่ที่ถูกปิดร้างมานาน ในมุมมองของนักออกแบบมีความรู้สึกอย่างไร จิ๊บตอบทันทีว่า “ทำเถอะ มันยูนีคมาก มันไม่ใช่โบสถ์ ไม่ใช่ตึก แต่เป็นสัญลักษณ์ที่เจ๋งมาก เราไม่เคยรู้เลยว่าตรงนี้มีแท็งก์ประปาสองแท็งก์ ถ้าอาจารย์พีไม่ชวนเข้ามาดู พอนั่งอ่านประวัติยิ่งทำให้รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างให้คนรับรู้ ที่นี่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ถึงเราสร้างสถาปัตยกรรมแบบนี้ขึ้นมาใหม่ก็ไม่ได้มีเรื่องราวและคุณค่าแบบนี้” “อย่างน้อยการเปิดพื้นที่นี้ขึ้นมาก็ทำให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่ารากเหง้าของเราเป็นยังไง ถ้าเราเข้าใจรากเหง้าของตัวเองดี เราก็จะส่งต่อไปถึงอนาคตได้ดี สถานที่ทุกแห่งในเมืองเก่ามีคุณค่ามาก เพียงแค่เรามองเห็นหรือเปล่า เราเคยหันกลับไปมองไหม คุณค่าของสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถใช้เงินสร้างได้ มันคือเรื่องราวที่ผ่านกาลเวลา แล้วเวลาเป็นสิ่งที่ซื้อไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะมีเงินเท่าไหร่ก็ไม่สามารถสร้างสถานที่ที่มีความหมายแบบนี้ขึ้นมาได้”–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
15 ก.พ. BBBB