Community Vibes คุยกับคนรุ่นใหม่จากย่านนางเลิ้ง
เผยแพร่เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว
Community Vibes คุยกับคนรุ่นใหม่จากย่านนางเลิ้ง ที่ใช้การออกแบบ ‘จูนคลื่น’ ให้ชุมชนดั้งเดิม ศิลปะร่วมสมัย และผู้ชมงานแฮปปี้ไปด้วยกัน
‘ย่านนางเลิ้ง’ คือชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีเรื่องราวน่าสนใจซุกซ่อนอยู่มากมาย ในอดีตย่านนี้เคยเป็นศูนย์กลางความเจริญ โดยมีตลาดนางเลิ้งเป็นตลาดบกแห่งแรกของไทย นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของละครชาตรีที่เป็นตำนานคู่ย่าน โดยมีบ้านครูดนตรีไทยและคณะละครในอดีตรวมตัวกันอยู่หลายแห่ง ทว่าเมื่อเวลาผันผ่าน บทบาทความสำคัญของนางเลิ้งกลับเลือนรางจางหาย จนเกิดคำถามว่าเราจะทำอย่างไรให้ผู้คนรับรู้เสน่ห์ของย่านเก่าและหันมาร่วมกันพัฒนาย่านให้น่าอยู่ไปพร้อมๆ กับรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้ไม่ให้สูญหายตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงชวน น้ำมนต์-นวรัตน์ แววพลอยงาม ผู้นำชุมชนรุ่นใหม่แห่งย่านนางเลิ้งที่ขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนด้วยศิลปะมานานหลายปี มาร่วมสร้าง Community Vibes กระบวนการจูนคลื่นให้ตรงกันระหว่างชุมชนและเทศกาล หาจุดบรรจบที่ลงตัวระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับศิลปะร่วมสมัย โดยน้ำมนต์วางเป้าหมายไว้ง่ายๆ ว่าดีไซน์วีกที่นางเลิ้งจะต้องทำให้ทุกคนแฮปปี้ ทั้งชุมชน ศิลปิน และผู้เข้าชมงาน
เรียนรู้อดีต พัฒนาปัจจุบัน เพื่อสร้างอนาคตให้นางเลิ้ง
“ก่อนน้ำมนต์เกิด นางเลิ้งเคยเป็นย่านที่เจริญรุ่งเรืองเหมือนสยามสแควร์ของคนยุคนี้ ตลาดเปิดทั้งวันทั้งคืนไม่เคยหลับ เราเติบโตมากับเรื่องเล่าเหล่านี้ ส่วนยุคที่น้ำมนต์เกิดอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคมืด ตลาดซบเซา ศูนย์ราชการย้ายออกไป โรงหนังที่มีความทรงจำของผู้คนมากมายถูกปิด แล้วเราเติบโตมาในครอบครัวที่คุณแม่เป็นผู้นำชุมชน คนนางเลิ้งส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิมผู้คนรู้จักกันหมด เวลามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นคนในชุมชนจะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อบ้านเกิดตามสไตล์ของตัวเอง ทุกคนทำงานเพื่อชุมชน ไม่ได้มาอาศัยอยู่เพื่อทำงานเก็บเงินเลิกงานกลับเข้าบ้าน”
“แล้วก็ส่งต่อมาถึงยุคที่น้ำมนต์เริ่มเข้ามาทำงานชุมชนจริงจัง ประมาณปี 2007 เราตั้งกลุ่มชื่อ อีเลิ้ง (E-Lerng) ชวนเพื่อนๆ ศิลปินทั้งไทยและต่างชาติมาช่วยกันทำโปรเจกต์ โดยที่เรายังไม่รู้ว่านางเลิ้งจะอยู่หรือไปจากการถูกไล่ที่รื้อถอน แต่ชุมชนก็พยายามสร้างโซเชียลมูฟเมนต์ให้คนรู้สึกหวงแหนนางเลิ้งร่วมกัน สิบกว่าปีที่แล้วคนยังไม่ค่อยเก็ตว่างานชุมชนคืออะไร แต่พอมีการจัดเทศกาล มีศิลปินทำงานชุมชน มีการท่องเที่ยวชุมชน ก็ทำให้คนเข้าใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น เด็กๆ รุ่นใหม่เริ่มสนใจคำว่าชุมชน เริ่มเป็น Active Citizen ทุกวันนี้ยังไม่ได้ฟันธงว่าชุมชนนางเลิ้งจะได้อยู่ต่อไปไหม แต่น้ำมนต์คิดว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น คนเริ่มเห็นความสำคัญของชุมชนเก่าในประเทศไทยมากขึ้น เริ่มเห็นภาพว่าการพัฒนากับการเก็บรักษาต้องทำคู่กันยังไงจากบทเรียนของหลายๆ ชุมชนที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่านางเลิ้งจะต้องอยู่แบบห้ามเปลี่ยนแปลง แต่น้ำมนต์คิดว่าการพัฒนาควรทำคู่ไปกับการเก็บรักษาบางอย่างไว้”
ต่อมาน้ำมนต์ได้ก่อตั้ง COMMUNITY LAB ขึ้นมา เป็นองค์กรที่ทำงานด้านศิลปะเชิงพัฒนาสังคมซึ่งต่อยอดมาจากอีเลิ้ง โดยเพิ่มเติมระบบการจัดการฐานข้อมูลทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อทำหน้าที่บันทึกอดีต ขับเคลื่อนปัจจุบัน และรวบรวมทรัพยากรไว้สำหรับอนาคต ซึ่งน้ำมนต์อธิบายเพิ่มเติมว่า “น้ำมนต์ทำงานชุมชนและอีกพาร์ตหนึ่งก็เป็นศิลปิน เราเลยสนใจประวัติศาสตร์ที่ค่อยๆ หายไปในแต่ละย่าน และอยากทำแพลตฟอร์มที่เก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงการศึกษาวิจัย ยกตัวอย่างเช่น เราใช้เทคโนโลยี 3D สแกน เก็บท่ารำของครูนางรำชาตรีแบบดั้งเดิมคนสุดท้ายไว้ ใครอยากทำโปรเจกต์เกี่ยวกับละครชาตรีก็มาศึกษาข้อมูลได้ เรามีฐานข้อมูล 12 ท่ารำที่หมุนดูได้ 360 องศาเลย”
ปรับจูนสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชนกับศิลปะร่วมสมัย
ส่วน Community Vibes คือโปรแกรมทดลองที่น้ำมนต์ออกแบบขึ้นโดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Local Studio, COMMUNITY {art} LAB และ Immersive Exhibition ซึ่งน้ำมนต์เล่าถึงแต่ละส่วนไว้อย่างน่าสนใจ
“ส่วนแรก Local Studio จะมีโปรแกรมทัวร์เดินชุมชนลัดเลาะตรอกซอกซอย พากินอาหารร้านคุณป้าคนนั้นคนนี้ มีเวิร์กช็อปต่างๆ ที่ศิลปินสามารถใช้โปรแกรมเหล่านี้ได้ ศิลปินบางคนอยากทำเรื่องละครชาตรีมากเลย หรือสนใจการทำบาตรพระแบบดั้งเดิมในชุมชนบ้านบาตร ถ้าไม่มีคอมมูนิตี้คอยซัพพอร์ต เขาอาจจะเข้ามาเดินถ่ายรูปกลับไปมโนที่บ้าน ซึ่งผลงานมันอาจจะไม่สามารถดึงสกิลของศิลปินออกมาได้เท่าที่ควร ขณะเดียวกันข้อมูลที่เขามีอย่างจำกัดก็ไม่ได้มาจากรากวัฒนธรรมจริงๆ ของชุมชน น้ำมนต์เลยอยากคิดโปรแกรมที่ทำให้ผลงานในดีไซน์วีกดีทั้งต่อตัวศิลปินเอง ดีทั้งต่อชุมชน และตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของเทศกาล”
“ส่วนที่สอง COMMUNITY {art} LAB เป็นสเปซห้องแอร์เย็นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก FREC Bangkok หลังจากศิลปินได้แรงบันดาลใจมาแล้วก็มาทำงานตรงนี้จะได้ไม่รบกวนชุมชน เพราะพวกศิลปินส่วนใหญ่ทำงานกันดึกถึงสี่ห้าทุ่ม โดยกลุ่มเป้าหมายแรกคือเราอยากดึงคนรุ่นใหม่ที่ทำงานสายศิลปะมาร่วมโปรเจกต์ ซึ่งได้น้องๆ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เข้ามาทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มแรก แล้วพอเราเปิดตัวโปรเจกต์ออกไปก็มีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่อยากเข้าร่วมทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้เราเห็นว่านักออกแบบหรือศิลปินเขาต้องการพื้นที่แบบนี้ในการสร้างผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้น”
“ส่วนที่สาม Immersive Exhibition จะสัมพันธ์กับสองส่วนแรก คือการจัดแสดงผลงานของศิลปินโดยมีคนในชุมชนคอยให้คำแนะนำ อย่างศิลปินกลุ่มหนึ่งเดินเข้าไปสลัมแล้วเห็นว่ามีบ้านหนึ่งแบ่งโซนบ้านด้วยกองผ้า เขาสนใจเล่าเรื่องนี้ โลเคชันจัดแสดงงานก็ควรอยู่ใกล้ในสลัม COMMUNITY LAB จะช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดแสดงงาน ช่วยจูนการทำงานระหว่างศิลปินกับชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดข้อขัดแย้ง”
“เรานำโมเดลนี้มาทำงานในฐานะผู้นำชุมชน ไม่ได้ทำในฐานะนักออกแบบ เราอยากให้คนในชุมชนได้มีโอกาสคิวเรตงานร่วมกับศิลปิน น้ำมนต์คิดว่าการมีโปรแกรมแบบ Community Vibes ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างคนในกับคนนอก ระหว่างเทศกาลกับชุมชน มันน่าจะดีต่อทุกฝ่าย” น้ำมนต์กล่าวทิ้งท้ายไว้ถึงความสำคัญของ ‘การจูนคลื่น’ ที่เธอกำลังขับเคลื่อนและอยากส่งต่อแนวคิดให้ชุมชนอื่นที่มีนิเวศการอยู่อาศัยใกล้เคียงกับนางเลิ้งสามารถนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/communitylab.co
–
Bangkok Design Week 2024
Livable Scape
คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
27 Jan – 4 Feb 2024
#BKKDW2024
#BangkokDesignWeek
#LivableScape