Academic Program - เล่าเรื่องย่านให้เพื่อนบ้านรู้
เผยแพร่เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว
Academic Program “เล่าเรื่องย่านให้เพื่อนบ้านรู้”
พื้นที่ปล่อยของที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน
ทุกๆ ปีเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จะมี Academic Program ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาหลากหลายสาขาวิชา ได้มาร่วมปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์และส่งต่อไอเดียในการพัฒนาเมืองด้วยการออกแบบในหัวข้อที่สอดคล้องกับธีมในแต่ละปี โดยมีนักสร้างสรรค์มืออาชีพมากประสบการณ์คอยช่วยดูแล สนับสนุน และให้คำปรึกษา โดยในปีนี้ทาง Cloud-floor (คลาวด์ฟลอร์) บริษัทสถาปนิกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ รับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์หลักประจำโครงการ เราจึงชวน ฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย ผู้ร่วมก่อตั้ง Cloud-floor มาพูดคุยถึงกระบวนการและผลงานน่าสนใจที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลที่ผ่านมา
“โจทย์ของ Academic Program ในปีนี้คือ ‘เล่าเรื่องย่านให้เพื่อนบ้านรู้’ เราเลยชวนนักศึกษา 10 กลุ่มมาร่วมทำโปรเจกต์ Storytelling 10 โปรแกรม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของย่านหัวลำโพง นางเลิ้ง และบางโพ ในแง่มุมที่คนนอกอาจจะยังไม่เคยรับรู้หรือช่วยขยายสิ่งที่เคยถูกบอกเล่าไปแล้วให้มีความพิเศษมากขึ้น ซึ่งเราทำการคัดเลือกย่านที่อยากนำเสนอร่วมกับ CEA โดยเลือกจากพื้นที่ที่คิดว่า Academic Program น่าจะเข้าไปช่วยส่งเสริมคอนเทนต์ในย่านนั้นๆ ที่เพิ่งเข้าร่วมดีไซน์วีกได้ไม่นาน ยังมีโปรแกรมหรือชิ้นงานไม่เยอะมาก”
เรียนรู้แบบ ‘ข้ามศาสตร์’ เห็นโลกมากกว่าแค่สิ่งที่เรียน
นอกจาก Cloud-floor ที่เป็นคิวเรเตอร์หลักแล้ว งานนี้ยังได้รับความร่วมมือจากนักสร้างสรรค์หลายวงการทั้งช่างภาพ ผู้กำกับภาพยนตร์ แฟชั่นดีไซเนอร์ และสตูดิโอออกแบบมัลติมีเดีย ที่มาร่วมเป็นเมนเทอร์ให้กับเหล่านักศึกษาด้วย ซึ่งฟิวส์อธิบายว่า “เรามีความรู้สึกว่าการเรียนรู้ข้ามศาสตร์จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เลยคุยกับทาง CEA ว่าอยากนำเสนอกระบวนการทำงานที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลองเอาความสามารถที่เรียนจากคณะมาผสมผสานกับศาสตร์อื่นที่ไม่ได้มีอยู่ในภาควิชา เราเลยไปชวนนักสร้างสรรค์มืออาชีพในสาขาต่างๆ มาเป็นเมนเทอร์จับคู่ทำงานร่วมกับนักศึกษา เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้านักศึกษาคณะสถาปัตย์ได้ทำงานร่วมกับแฟชั่นดีไซเนอร์หรือผู้กำกับภาพยนตร์ ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้เอาความรู้มาผสมกัน เมนเทอร์ที่มาแชร์ประสบการณ์ก็จะได้เรียนรู้จากน้องๆ ด้วย”
“เราอยากให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่และทำงานร่วมกับชุมชน อยากให้เขาได้รับประสบการณ์ในการจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมที่จับต้องได้ ปีนี้เลยวางกรอบเอาไว้ว่า Academic Program จะไม่ใช่งานที่อยู่แค่ในกระดาษ แต่จะถูกนำเสนอออกมาในเชิงกายภาพจริงๆ นี่คือสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ แต่เราไม่ได้กำหนดว่าผลงานจะต้องเป็นอะไร อันนี้ขึ้นอยู่กับประเด็นที่เขาพบเจอจากกระบวนการลงพื้นที่และทำงานกับเมนเทอร์ เขาจะนำเสนอในมุมมองที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชน หรือนำเสนอสิ่งที่ตรงกันข้ามก็ได้ อาจจะไม่ได้พูดถึงความน่าอยู่เสมอไป แต่เราอยากให้โปรเจกต์นี้เป็นเสียงสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของเมือง เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้พิจารณาว่าพื้นที่ชุมชนตรงนั้นควรพัฒนาในแง่มุมไหน โปรเจกต์นี้อาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาของสิ่งที่เป็นอยู่ เพราะนักศึกษาไม่ได้มีอำนาจในการแก้ปัญหานั้นโดยตรง แต่เขาสามารถเล่าเรื่องเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ เล่าถึงสิ่งที่คนในชุมชนอยากเล่า หรือเล่าเรื่องเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบริบทในชีวิตประจำวันของแต่ละพื้นที่”
สร้างคุณค่าให้พื้นที่ด้วยเรื่องราวเล็กๆ ที่จับใจ
“เสียงตอบรับหลังจัดแสดงงานค่อนข้างหลากหลาย แต่โดยรวมเรียกได้ว่าเกินคาดครับ ตัวอย่างเช่นโปรเจกต์ ‘Voice หัวลำโพง’ ที่จัดแสดงในโรงแรมสเตชั่น มีหลายคนบอกว่าเรื่องที่นำมาเล่ามันสะท้อนถึงความเป็นชุมชนโดยไม่ได้ปรุงแต่ง ผลงานนี้เป็นการรวบรวมเสียงของคนในชุมชนว่าหลังจากสถานีรถไฟย้ายไปอยู่บางซื่อ การที่ชุมชนหัวลำโพงมีทางด่วนตัดผ่าน หรือมีสถานีรถไฟใต้ดิน MRT เข้ามาตั้ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันอย่างไรทั้งแง่บวกและแง่ลบ เป็นการเล่าเรื่องของชุมชนที่ไม่ได้นำเสนอแต่ด้านดี เรานำเสนอว่าความจริงคืออะไร ให้คนได้พิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงของเมืองไม่ได้มีแต่ข้อดีหรือข้อเสียเสมอไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนมีหลายด้านนะ อยู่ที่ว่าเราได้ฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนครบถ้วนแล้วหรือยัง”
“หรืออีกโปรเจกต์หนึ่งคือการถ่ายรูปชุดแฟชั่นของคนในชุมชน แล้วถามว่าเสื้อผ้าที่ใส่ทุกวันนี้มีความสำคัญกับเขาอย่างไร เสื้อตัวนี้มีความประทับใจยังไง เป็นแง่มุมน่ารักๆ ของคนในพื้นที่ ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในเชิงมิติต่างๆ และคนภายนอกก็รับรู้เรื่องราวของหัวลำโพงมากขึ้น เป็นการแสดงความเข้าใจผ่านการเล่าเรื่องชีวิตประจำวันในเชิงคุณค่าต่างๆ”
“ส่วนย่านนางเลิ้งก็มีกิจกรรม ‘ลาน-รื่น-เลิ้ง’ ที่นักศึกษาเขาเห็นว่าในอดีตนางเลิ้งเคยเป็นย่านเอนเตอร์เทนเมนต์ มีบ้านเต้นรำหรือชื่อทางการคือโรงเรียนสามัคคีลีลาศ เป็นโรงเรียนสอนเต้นรำให้เซเลบฯ และดาราสมัยก่อน แต่ปัจจุบันบ้านไม้หลังนี้ผุพังไปแล้ว เขาเลยอยากชวนครูที่เคยสอนเต้นรำมารื้อฟื้นความทรงจำ และเปิดสอนอีกครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ บนดาดฟ้าโรงเรียน เป็นกิจกรรมที่น่ารักและมีคุณค่าทางจิตใจ”
“กระบวนการตรงนี้จะทำให้นักศึกษาเขามีความละเอียดอ่อนในการทำงานมากขึ้น โดยเมนเทอร์ก็จะนำประสบการณ์มาช่วยสอนว่า เวลาลงพื้นที่พูดคุยกับคนในชุมชนมีสิ่งไหนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ควรพูดคุยแบบไหนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญแทบจะที่สุดเลย เราไม่ได้เห็นคนในชุมชนเป็น Object ในการจัดแสดงงาน แต่เรากำลังร่วมกันสร้างคุณค่าให้กับพื้นที่ ซึ่งบางทีมองจากภายนอกอาจไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ที่จับต้องได้ เช่น ไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่คนนอกไม่ค่อยได้สัมผัสคือความรู้สึกของคนในพื้นที่ เพราะมันจับต้องไม่ได้และวัดผลยาก แต่ทุกครั้งที่ทำงานกับชุมชน เราได้เห็นว่าหลายคนเขามีความสุขที่ได้ร่วมทำกิจกรรม ได้เล่าเรื่อง ได้จัดแสดงงาน ฟังแล้วอาจดู Romanticize แต่เป็นเรื่องจริง”
ทั้ง 10 โปรแกรม โดย 10 กลุ่มนักศึกษา ประกอบด้วย
1. ย่านหัวลำโพง : การเดินทางของความทรงจำ (Journey Memory)
โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ x วีระพล สิงห์น้อย (Fotomomo) ความทรงจำในอดีตที่มิอาจหวนคืน ถูกบันทึกไว้เป็นภาพถ่ายและนำมาออกแบบลายพิมพ์เพื่อพิมพ์ลงบนผ้าฝ้ายเนื้อธรรมชาติด้วยเทคนิค Cyanotype
2. ย่านหัวลำโพง : Diito! Hua Lamphong
โดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงบูรณาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ x ชยนพ บุญประกอบ ภาพยนตร์สั้นกึ่งทดลองที่นำเสนอเรื่องราว ร่องรอย และการเปลี่ยนผ่าน โดยการมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส
3. ย่านหัวลำโพง : voice หัวลำโพง
โดยคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง x Cloud-floor หัวลำโพงเป็นย่านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของเมืองมากที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ เราจึงอยากให้ผู้ชมได้ฟังเสียงของคนในชุมชนและนอกชุมชนเพื่อเปิดมุมมองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้น
4. ย่านหัวลำโพง : 88/610
โดยสาขาครีเอทีฟอาร์ตและกราฟิกครีเอทีฟ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา x ม๊าเดี่ยว-อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ ซีรีส์ภาพถ่ายประกอบคำบอกเล่าและผลงานศิลปะจัดวางที่ชวนผู้คนมาบอกเล่าเรื่องการแต่งตัว เสื้อผ้า ทรงผม เครื่องประดับ ข้าวของเครื่องใช้ ที่แสดงถึงทักษะอาชีพของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
5. ย่านบางโพ : ภาพแปะสลัก
โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ x วีระพล สิงห์น้อย (Fotomomo) ผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อสื่อสารวิถีชีวิตของอาชีพแกะสลักไม้ที่บางโพ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นย่านแห่งไม้
6. ย่านบางโพ : Soul of the Craftsman
โดยคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ สาขาสถาปัตยกรรม และสาขาออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ x XD49 นิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของช่างฝีมือบางโพ ที่สะท้อนความแข็งแรงและโดดเด่นของย่าน โดยเล่าผ่านการรับรู้ทั้ง 5 คือ เห็น ฟัง สัมผัส ได้กลิ่น และลงมือทำ
7. ย่านนางเลิ้ง : ลาน-รื่น-เลิ้ง (Lan-Ruen-Loeng)
โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต x ชยนพ บุญประกอบ เปิดพื้นที่สะท้อนการมีอยู่ของบ้านเต้นรำที่เคยเป็นที่รู้จักของคนในย่าน ให้ผู้คนได้กลับมาร่วมเต้นรำอีกครั้ง และมีการสอนเต้นลีลาศให้เหล่าหนุ่มสาวยุคใหม่ด้วย
8. ย่านนางเลิ้ง : นางเลิ้ง รื่นเริง ไม่เลือนราง
โดยสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ (หลักสูตรนานาชาติ) CommDe จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย x XD49 พาทุกคนหวนสู่ความรื่นเริงจากย่านบันเทิงเก่า ผ่านตั๋วกระดาษที่เป็นตัวกลางสู่ความบันเทิงและโชว์เรื่องราวประวัติศาสตร์อันน่าจดจำ
9. ย่านนางเลิ้ง : จักรวาลกล้วยเเขก
โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ x Cloud-floor นำจุดเด่นของถุงกล้วยเเขกเมนูขึ้นชื่อประจำย่าน มาออกเเบบลวดลายเเละลงสีให้สามารถประกอบกันเป็นภาพของย่านโดยมีการใช้สีของนางเลิ้งที่เป็นจุดเด่น
10. ย่านนางเลิ้ง : Scrawl เส้นสมมติ
โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี x ม๊าเดี่ยว-อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ สื่อสิ่งพิมพ์นับเป็นประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งของนางเลิ้ง ผู้แสดงงานจึงอยากเชิญชวนผู้คนให้มาเขียน วาด ละเลง ปลดปล่อยความรู้สึกและความคิดสร้างสรรค์ออกมาอย่างเต็มที่บนกระดาษแผ่นใหญ่ที่จัดเตรียมไว้
–
Bangkok Design Week 2024
Livable Scape
คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
27 Jan – 4 Feb 2024
#BKKDW2024
#BangkokDesignWeek
#LivableScape