เปลี่ยนภาพจำให้กิจการเก่าแก่และตำนานย่านหัวลำโพง โดย CEA x RTUS-Bangkok
เผยแพร่เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว
เปลี่ยนภาพจำใหม่ให้กิจการเก่าแก่และตำนานคู่ย่านหัวลำโพง
ด้วยพลังการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ โดย CEA x RTUS-Bangkok
‘ย่านหัวลำโพง’ เป็นที่รู้จักดีในฐานะที่ตั้งของสถานีรถไฟเก่าแก่ที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ต่อมาเมื่อระบบขนส่งมวลชนของเมืองเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ในฐานะศูนย์กลางการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ก็ค่อยๆ มีบทบาทลดลงในสายตาของคนรุ่นใหม่
แต่เรื่องราวของหัวลำโพงยังคงดำเนินต่อไป เบื้องหลังอาคารหัวลำโพงทรงครึ่งวงกลมที่ผู้คนสัญจรผ่านไปมาที่เป็นเสมือนภาพจำของย่าน ยังมีร้านอาหารรสเด็ด ธุรกิจเก่าแก่ที่สานต่อมาหลายรุ่น และงานช่างฝีมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ซุกซ่อนไว้และหลายคนยังไม่เคยเข้าไปทำความรู้จัก
ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จึงร่วมกับกลุ่มเยาวชนริทัศน์บางกอก (ReThink Urban Spaces Bangkok) กลุ่มคนรุ่นใหม่และโฮสต์ประจำย่านหัวลำโพงที่เห็นความสำคัญของย่านนี้ในแง่มุมของการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และแหล่งเรียนรู้ เปิดประตูให้ผู้คนเข้ามาสำรวจและทำความรู้จักพื้นที่แห่งนี้มากกว่าแค่ในมุมของที่ตั้งดั้งเดิมของสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ และหนึ่งในกิจกรรมที่เราอยากหยิบยกมาเล่าถึงคือ Made in Hua Lamphong
เพราะย่านหัวลำโพงที่เต็มไปด้วยร้านรวงที่อยู่คู่ชุมชนมานานหลายรุ่น ร้านอาหารเก่าแก่ และงานช่างฝีมือที่หาที่ไหนไม่ได้ เป็นแง่มุมที่หลายคนไม่เคยรู้ โปรเจกต์ Made in Hua Lamphong จึงเกิดขึ้นเพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ ให้คนเกิดภาพจำที่ต่างออกไปต่อหัวลำโพง และเพื่อให้กิจการเก่าแก่เหล่านี้สามารถปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ตามยุคสมัยได้ โดยริทัศน์บางกอกได้คัดสรร 5 ทีมนักสร้างสรรค์ จับมือกับ 6 กิจการดั้งเดิมในพื้นที่หัวลำโพง เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์และเรื่องราวอันทรงคุณค่า ออกมาเป็นงานสร้างสรรค์สุดเจ๋งที่เห็นแล้วชวนให้เราอยากออกไปเดินสำรวจย่านหัวลำโพงขึ้นมาบ้างทันที ทั้ง 5 Collaboration คืออะไรบ้าง ไปดูกันเลย!
1. ศิลป์เมือง x ease studio
ร้านศิลป์เมืองตั้งอยู่บนถนนรองเมือง ผลิต จำหน่ายปลีก-ส่ง รับซ่อม และขายวัสดุเกี่ยวกับร่มแม่ค้าและร่มสนามมานานกว่า 60 ปี แต่ละขั้นตอนทำด้วยมืออย่างพิถีพิถันใส่ใจทุกรายละเอียด และปัจจุบันทางร้านยังรับผลิตร่มให้กับงานอีเวนต์ รวมถึงบริษัททั่วไปที่ต้องการร่มเพื่อการโฆษณาด้วย
ในการจับมือกันครั้งนี้ ease studio สตูดิโอออกแบบงานคราฟต์ ที่สนุกกับการเล่นกับวัสดุต่างๆ ด้วยเทคนิคใหม่ ได้นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาร่มแม่ค้าคอลเล็กชันใหม่ ที่มีฟังก์ชันการใช้งานตอบโจทย์มากขึ้น กลายเป็นร่มสีสันสะดุดตาที่มีฐานเป็นขาโต๊ะหรือเก้าอี้ในตัว ช่วยลดภาระในการขนของและเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน แถมยังประกอบง่ายและประหยัดพื้นที่มากกว่าเก่า
2. โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง x Ek Thongprasert
สำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง ก่อตั้งโดยซินแสเฮียง แซ่โง้ว ในปี พ.ศ. 2499 ที่อำเภอหาดใหญ่ ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ซอยพระยาสิงหเสนี (ตรอกสลักหิน) และเป็นเพื่อนคู่ใจสายมูมาตั้งแต่รุ่นอากง อาม่า ซึ่งนิยมดูฤกษ์มงคลผ่านปฏิทินจีน ทั้งยังปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยด้วยการทำแอปพลิเคชัน Num Eiang Astrolendar เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ด้านโหราศาสตร์จีนไปยังรุ่นหลาน เหลน โหลน
เอก ทองประเสริฐ แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดัง เป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นความสำคัญของโหราศาสตร์จีนในฐานะที่พึ่งทางจิตใจในช่วงเวลาสำคัญของชีวิต เขาจึงร่วมกับธนวัฒน์ คล่องวิชา ทำโปรเจกต์ ‘Only Good Days’ รวบรวมวันมงคลดีๆ ที่การันตีโดยน่ำเอี๊ยงมาออกแบบเป็นปฏิทินแขวนผนังและปฏิทินพกพา ที่มีสีสันสดใส ปรับภาพลักษณ์ให้โดนใจคนรุ่นใหม่ เป็นเสมือนงานศิลปะที่ใช้ตกแต่งห้องได้
3. โรงงานกระดาษชัยกิจ x Likaybindery
จุดเริ่มต้นของโรงงานกระดาษชัยกิจมาจากความขยันขันแข็งของอากงใช่กี่ ที่เคยปั่นจักรยานขายส่งกระดาษในย่านยศเส และต่อยอดสู่การเป็นเจ้าของโรงงานกระดาษและโกดังใหญ่ในย่านหัวลำโพง โดยในช่วงแรกอากงใช้ชื่อตนเอง ‘ใช่กี่’ ที่แปลว่า ‘โชคดี’ มาเป็นชื่อกิจการ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อชัยกิจในยุคทายาทรุ่นที่ 2 สินค้าหลักขายดีคือกระดาษสีน้ำเงิน ที่นิยมนำไปใช้ม้วนห่อสำลีเพื่อจำหน่าย รวมถึงห่อสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น ไม้ขีดไฟ เทียน และเสื้อผ้า นอกจากนี้ยังมีกระดาษสีน้ำตาล กระดาษรีมขาว และกระดาษรียูสจากกระดาษข้อสอบ ที่ทางโรงงานนำมาตัดให้ได้ขนาดพอดีและขายต่อให้คนนำไปพับถุงกระดาษ ต่อมาการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้กระดาษได้รับความนิยมน้อยลง โรงงานจึงต้องปิดตัวลงในรุ่นที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2540
แม้ปัจจุบันจะไม่มีโรงงานกระดาษอีกต่อไปแล้ว แต่ทายาทรุ่นที่ 3 ยังคงเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ครอบครัว จึงนำพื้นที่เดิมมาเปิดเป็นร้าน Play Space คอมมูนิตี้ของคนรักกาแฟและงานศิลป์ ซึ่งนำกระดาษสีน้ำเงินมาใช้ห่อแก้วเครื่องดื่ม เพื่อส่งต่อเรื่องราวให้คนได้รู้ว่าย่านหัวลำโพงเคยมีโรงงานกระดาษชัยกิจตั้งอยู่ พันทิพา ตันชูเกียรติ Paper Artist ผู้ร่วมก่อตั้ง Likaybindery ได้มาพบเห็นและสะดุดตากับกระดาษสีน้ำเงินที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวนี้ จึงนำมาใช้ออกแบบเป็นธงราวลายฉลุเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลประจำย่านหัวลำโพง และจัดเวิร์กช็อปทำตัวแสตมป์ให้ทุกคนสามารถสร้างลวดลายบนกระดาษสีน้ำเงินได้ด้วยตนเอง
4. บ้านอิตาลี x COTH Studio
ร้านขายและผลิตอุปกรณ์ประตูที่ในยุคแรกเน้นนำเข้าของตกแต่งประตูแนวยุโรปผ่านชาวอิตาลีท่านหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อร้านว่า ‘บ้านอิตาลี’ ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายของสินค้าที่ประณีตและสวยงาม บางอย่างหาซื้อยากตามท้องตลาดทั่วไปก็สามารถมาซื้อได้ที่ร้านนี้ บ้านอิตาลีจึงมีชื่อเสียงมายาวนานมากกว่า 30 ปี
กลุ่มนักออกแบบจาก COTH Studio ซึ่งมีความถนัดในงานโลหะและชื่นชอบเรื่องราวชุมชน จึงนำจุดเด่นเรื่องความใส่ใจและบริการที่เป็นมิตรมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ โดยหยิบเอาสินค้าภายในร้านมาจัดเรียงเป็นงานศิลปะที่สื่อถึงรอยยิ้มพิมพ์ใจ เพื่อแต่งเติมสีสันและชักชวนผู้คนเหลียวมอง และอยากเดินเข้ามาอุดหนุนร้านค้าท้องถิ่นตามย่านชุมชนกันมากขึ้น
5. ขนมผักกาดอาม่าชอเค็งและเบ๊โอชา x Witti Studio
เนื่องจากเป็นชุมชนจีนอายุมากกว่าร้อยปี รอบย่านหัวลำโพงจึงเต็มไปด้วยร้านอาหารเก่าแก่ที่เสิร์ฟความอร่อยมายาวนาน ในโปรเจกต์ริเริ่มทดลองพัฒนาย่าน Witti Studio จึงนำทักษะการออกแบบมาช่วยปรับปรุงป้ายชื่อร้านให้ดึงดูดสายตาและสื่อสารถึงความอร่อยดั้งเดิม โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ของแต่ละร้านไว้เป็นอย่างดี ด้วยการนำลายมือเจ้าของร้านมาดัดแปลงเป็น Typo Logo อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ ป้ายเมนู และออกแบบผ้าอเนกประสงค์ที่มีแผนที่นำทางไปตามหาความอร่อย
ร้านที่เลือกมามี 2 ร้าน ได้แก่ ขนมผักกาดอาม่าชอเค็ง สตรีทฟู้ดรถเข็นของอาม่าสองพี่น้องที่สืบทอดสูตรลับความอร่อยของขนมผักกาดสไตล์แต้จิ๋วมาจากรุ่นแม่ เปิดขายมานานกว่า 40 ปี โดดเด่นที่รสกลมกล่อม กรอบนอกนุ่มใน กลิ่นหอมฟุ้ง และมีเมนูลับอย่างขนมถังแตกที่ไม่ควรพลาดลิ้มลองเช่นกัน
ส่วนอีกร้านคือเบ๊โอชา สภากาแฟเก่าแก่อายุกว่า 80 ปีประจำย่านหัวลำโพง มีจุดเริ่มต้นมาจากกาแฟหาบเร่สมัยรุ่นอากง ก่อนจะมาเปิดหน้าร้านขายก๋วยเตี๋ยวเป็ดและเครื่องดื่ม เบ๊โอชาปรับตัวตามยุคสมัยเรื่อยมา จนปัจจุบันมีเมนูกาแฟ น้ำชง น้ำปั่น มากถึง 60 เมนู และมีอาหารเช้าง่ายๆ ให้บริการในราคาย่อมเยาด้วย
ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจที่จะทำให้ชุมชนดั้งเดิมได้สืบทอดภูมิปัญญาไว้ในแบบที่คนรุ่นใหม่ก็เข้าใจและเข้าถึง อยากให้การทำงานร่วมกันระหว่างร้านค้าดั้งเดิมและช่างฝีมือดั้งเดิม ได้ทำให้สินทรัพย์ดีๆ ในพื้นที่มีคนรู้จักมากขึ้น นักออกแบบเองก็ได้ใช้ความเชี่ยวชาญ ร้านค้าดั้งเดิมเองก็ได้มีไอเดียใหม่ๆ เกิดเป็นความเกื้อหนุนกัน
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/rtusbangkok
–
Bangkok Design Week 2024
Livable Scape
คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
27 Jan – 4 Feb 2024
#BKKDW2024
#BangkokDesignWeek
#LivableScape