ExperienceScape ชุบชีวิตเมืองเก่าย่านพระนคร โดย Urban Ally และ DecideKit
เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว
ExperienceScape ชุบชีวิตเมืองเก่าย่านพระนคร สร้างความเป็นไปได้ใหม่ในการพัฒนาพื้นที่ โดย Urban Ally และ DecideKit
‘ย่านพระนคร’ ถือเป็นอีกหนึ่งย่านที่โดดเด่นและถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ Urban Ally หรือ ศูนย์มิตรเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้งขึ้นในปี 2564 ทางศูนย์ได้ทำการศึกษาวิจัยและลงพื้นที่สำรวจเมืองอย่างจริงจัง อีกทั้งยังจับมือกับพันธมิตรหลายฝ่าย ร่วมกันออกแบบเมืองให้น่าอยู่และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ย่านประวัติศาสตร์ ผ่านโปรเจกต์พัฒนาเมืองหลากหลายรูปแบบ รวมถึงรับหน้าที่เป็นโฮสต์ประจำย่านพระนคร ซึ่งครั้งนี้ Urban Ally ใช้ชื่อเทศกาลว่า ‘มิตรบำรุงเมือง LIVE’ ภายใต้ธีม Everyday-life Festival โดยมีจุดจัดกิจกรรมกระจายตัวรอบย่านพระนครมากถึง 19 สถานที่
จากกิจกรรมมากมายที่ Urban Ally ตะลุยทำทั่วย่านพระนคร ไฮไลต์สำคัญที่โดดเด่นจนไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ‘ExperienceScape’ โปรเจกต์สร้างสีสันให้กับสถาปัตยกรรมและพื้นที่รกร้างในย่านเมืองเก่า ให้พื้นที่เหล่านี้กลับมามีชีวิตชีวาและได้รับความสนใจจากผู้คนอีกครั้ง ผ่านงานศิลปะ New Media Art และ Projection Mapping โดยมี DecideKit บริษัทออกแบบโมชันกราฟิกสัญชาติไทยที่โด่งดังไกลระดับโลกมาร่วมเป็นคิวเรเตอร์ รวมถึงได้รับความร่วมมือจากสตูดิโออื่นๆ อีกหลายแห่ง อาทิ Kor.Bor.Vor, The Motion House, Yellaban, Yimsamer และดีไซเนอร์ต่างชาติทั้งจากฝรั่งเศส มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไฮไลต์สำคัญที่โดดเด่นจนไม่พูดถึงไม่ได้ของย่านพระนครในปีนี้ คือ ‘ExperienceScape’ โปรเจกต์สร้างสีสันให้กับสถาปัตยกรรมและพื้นที่รกร้างในย่านเมืองเก่า
เปลี่ยนประสบการณ์เมืองเก่า สร้างบทสนทนาใหม่เรื่อง ‘พื้นที่สาธารณะ’
อาจารย์พี – ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์มิตรเมือง เผยถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ ExperienceScape ว่า “โปรเจกต์นี้เราทำขึ้นจากสองมุมมอง มุมแรกคือทำยังไงให้พื้นที่ในชีวิตประจำวันมีเสน่ห์มากขึ้น เราสามารถยืดเวลาการใช้งานสวนสาธารณะตอนกลางคืนได้ไหม ส่วนอีกมุมคือเราอยากทำให้คนสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ปิดร้างอย่างประปาแม้นศรี หรือพื้นที่ราชการบางแห่ง เราสามารถทำให้เป็นพื้นที่พลเมืองนอกเวลาราชการได้ไหม เราจึงทดลองผ่านเทศกาลว่าจะนำพื้นที่เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ยังไงบ้าง”
“จุดมุ่งหมายของ ExperienceScape คือเราต้องการสร้างภาพจำและประสบการณ์ใหม่ให้กับย่านพระนคร โดยยังยึดโยงอยู่กับประวัติศาสตร์เดิมของพื้นที่ ซึ่ง Urban Ally รับหน้าที่รวบรวมเนื้อหาและวิเคราะห์คัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ส่วนบทบาทการคิวเรตจะเป็นทีม DecideKit กับ Kor.Bor.Vor ที่ชักชวนเครือข่ายศิลปินมาร่วมงาน เนื้อหาของแต่ละสถานที่ก็จะพูดถึงอดีต ปัจจุบัน อนาคต ที่ศิลปินนำมาขยายความหรือตีความใหม่”
“แนวคิดการพัฒนาเมืองผ่านเทศกาลทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อคนทั่วไปมากขึ้น เทศกาลเปิดโอกาสให้เราได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ ในพื้นที่เหล่านี้ได้ อย่างศาลาว่าการกรุงเทพมหานครที่เป็นพื้นที่ปิด แต่เทศกาลทำให้เราเข้าไปจัดกิจกรรมในนั้นได้และสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับพื้นที่เมืองได้มากขึ้น”
เล่าประวัติศาสตร์พื้นที่ด้วยศิลปะและเทคโนโลยี
จิ๊บ – จันทร์เพ็ญ กูลแก้ว ผู้ก่อตั้ง DecideKit เล่าเสริมในมุมของการเป็นคิวเรเตอร์ผู้คัดสรรผลงานศิลปะ New Media Art และ Projection Mapping ในโปรเจกต์นี้ว่า “ปีนี้เรามีหัวเรือใหญ่อีกคนที่ทำงานร่วมกันคือ กบ Kor.Bor.Vor (พงษ์ภาสกร กุลถิรธรรม) และเราก็เลือกกลุ่มศิลปินที่ทำ Projection Mapping ทั้งในแง่คอมเมอร์เชียลและสายประกวดในต่างประเทศมาร่วมงาน ซึ่งแต่ละทีมมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันและเก่งทุกทีม ถ้าเขาทำงานไปโชว์ในต่างประเทศได้ ก็น่าจะมีพื้นที่ให้เขาได้โชว์งานในประเทศด้วยเหมือนกัน อย่าง DecideKit เราลองทำงานในตลาดต่างประเทศมาหลายปี เวลาเอางานไปโชว์ที่ต่างประเทศ คนมาดูงานกันเยอะมาก ในญี่ปุ่นขายบัตรก็เต็มทุกรอบ ยุโรปคนก็มาดูกันหนาแน่นทุกประเทศ ซึ่งคนไทยก็น่าจะอยากดูงานแบบนี้แต่ไม่ค่อยมีศิลปะให้เสพ เราเลยอยากกลับมาทำให้คนไทยเสพบ้าง”
“ศิลปินแต่ละคนเขาพยายามเอาประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่มาสร้างงานเพื่อส่งต่ออนาคต อย่างเช่น ป้อมมหากาฬ The Motion House ก็ไปรีเสิร์ชมาว่าตรงนี้เคยเป็นโรงลิเก ผลงานเขาก็จะใช้แรงบันดาลใจจากสีของลิเก หรืออย่างอีกโปรเจกต์ที่เราทำร่วม Urban Ally ที่จังหวัดตรัง เราก็เอาเรื่องราวในท้องถิ่นขึ้นมาชู ทำให้คนที่มาดูงานสัมผัสได้เข้าใจง่าย ไม่แอ็บสแตร็กต์เกินจนเข้าไม่ถึง วันหนึ่งเราอาจจะทำงานที่หลากหลายกว่านี้ได้ แต่วันนี้ที่เราเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน การสื่อสารแบบตรงไปตรงมาน่าจะช่วยเปิดใจผู้รับสารได้มากกว่า”
เรียนรู้อดีตเพื่อส่งต่ออนาคต
เมื่อถามถึงครั้งแรกที่ลงพื้นที่ประปาแม้นศรี และได้เห็นหอเก็บน้ำคู่ที่ถูกปิดร้างมานาน ในมุมมองของนักออกแบบมีความรู้สึกอย่างไร จิ๊บตอบทันทีว่า “ทำเถอะ มันยูนีคมาก มันไม่ใช่โบสถ์ ไม่ใช่ตึก แต่เป็นสัญลักษณ์ที่เจ๋งมาก เราไม่เคยรู้เลยว่าตรงนี้มีแท็งก์ประปาสองแท็งก์ ถ้าอาจารย์พีไม่ชวนเข้ามาดู พอนั่งอ่านประวัติยิ่งทำให้รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างให้คนรับรู้ ที่นี่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ถึงเราสร้างสถาปัตยกรรมแบบนี้ขึ้นมาใหม่ก็ไม่ได้มีเรื่องราวและคุณค่าแบบนี้”
“อย่างน้อยการเปิดพื้นที่นี้ขึ้นมาก็ทำให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่ารากเหง้าของเราเป็นยังไง ถ้าเราเข้าใจรากเหง้าของตัวเองดี เราก็จะส่งต่อไปถึงอนาคตได้ดี สถานที่ทุกแห่งในเมืองเก่ามีคุณค่ามาก เพียงแค่เรามองเห็นหรือเปล่า เราเคยหันกลับไปมองไหม คุณค่าของสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถใช้เงินสร้างได้ มันคือเรื่องราวที่ผ่านกาลเวลา แล้วเวลาเป็นสิ่งที่ซื้อไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะมีเงินเท่าไหร่ก็ไม่สามารถสร้างสถานที่ที่มีความหมายแบบนี้ขึ้นมาได้”
–
Bangkok Design Week 2024
Livable Scape
คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
27 Jan – 4 Feb 2024
#BKKDW2024
#BangkokDesignWeek
#LivableScape