ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

เปิดบ้านศาลพระภูมิ นิทรรศการเวรี่ไทยที่อยากชวนตั้งคำถามถึงการเป็นเจ้าของพื้นที่

เผยแพร่เมื่อ 9 เดือนที่แล้ว

‘เปิดบ้านศาลพระภูมิ’ นิทรรศการเวรี่ไทยที่อยากชวนตั้งคำถามถึงการเป็นเจ้าของพื้นที่

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้ People of Ari กลุ่มนักสร้างสรรค์ประจำย่านอารีย์ นำเรื่องราวของ ‘ศาลพระภูมิ’ ที่เราคุ้นเคยมาบอกเล่าในมุมมองใหม่ โดยชวนแก่น – สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ ศิลปินเจ้าของเพจ Uninspired by Current Events ผู้สร้างงานศิลปะแนว 3D เนื้อหาเสียดสีสถานการณ์บ้านเมืองอย่างเฉียบคมมาร่วมเป็นดีไซเนอร์ จำลองศาลพระภูมิขนาดยักษ์ขึ้นมาในบ้านเก่าของอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และได้กลุ่มละคร AT Theatre มาเปิดการแสดงพิเศษ เพื่อพาคนดูก้าวเข้าไปสู่โลกอีกมิติหนึ่ง

 

เปียโน – ธันยพร รักษ์เถา คิวเรเตอร์จาก People of Ari บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ว่า “People of Ari เป็นโรงละครและครีเอทีฟสเปซที่ต่อยอดมาจาก Yellow Lane ซึ่งเราอยากแบ่งปันสเปซในการทำงานศิลปะให้เกิดขึ้นในย่านอารีย์ และเรามองหาศิลปินหลายๆ แขนงอยู่ตลอดเวลา แล้วเราชอบงาน Politic ที่มีความเสียดสีเบาๆ ดูมีชั้นเชิง เลยติดต่อพี่แก่นไปว่าสนใจอยากร่วมงานด้วย”



ระดมไอเดียก่อร่างสร้างศาลพระภูมิ

หลังจากนั้นก็นำมาสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกัน โดยแก่นสนใจภูมิหลังของสถานที่ในแง่ที่เคยเป็นบ้านของอดีตนายกรัฐมนตรี และในอดีตอารีย์ก็เคยได้ชื่อว่าเป็นย่านที่อยู่อาศัยของขุนนางและชนชั้น ก่อนจะกลายมาเป็นย่านสุดชิคแบบทุกวันนี้

 

“อารีย์เป็นย่านที่ค่อนข้างจะถูก Gentrification ไปแล้ว มีฝรั่ง Expat มาอยู่เยอะ เลยคิดว่าเรื่องราวของศาลพระภูมิน่าจะตอบโจทย์ หนึ่งคือมันแมสมาก มันเวรี่ไทยในมุมของ Expat แต่เขาอาจจะยังสงสัยว่าสิ่งที่เห็นมาตลอดคืออะไร เลยอยากให้เขาได้มารับประสบการณ์นอกเหนือจากสิ่งที่คุ้นเคยในประเทศนี้ ขณะเดียวกันมันก็ทำงานกับสถานที่ที่เป็นบ้านของคนเก่าคนแก่ ในทางฟังก์ชั่นมันก็คล้ายๆ กับศาลพระภูมิในตัวของมันเองอยู่แล้ว”

 

“เบื้องหลังก็มีการพูดคุยกันหลายแง่มุมว่า เราจะเล่าเรื่องศาลพระภูมิในแง่ไหน เราจะเสียดสีแค่ไหน เราจะพูดถึงชนชั้นปกครองหนักแค่ไหน สุดท้ายงานที่ออกมาคือการมองศาลพระภูมิตามธรรมชาติ เช่น การที่ของไหว้บางชิ้นเละเทะเน่าเสียไปตามธรรมชาติ เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เราอยากมองสิ่งนี้ตามความเป็นจริง ไม่ได้เอามาทำในลักษณะของการล้อเลียน ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นบทสนทนาที่น่าสนใจกว่า”

 


“นอกจากนี้ไอเดียบางส่วนก็มาจากดีไซน์วีคปีที่แล้ว เราแวะมาเดิน Yellow Lane แล้วเห็นงาน The Forbidden Marsh ที่ให้คนลุยน้ำได้ เลยอยากทำนิทรรศการที่ใช้สเปซได้คุ้มแบบนั้นบ้าง ก็ออกมาเป็นศาลพระภูมิแบบ Immersive ที่คนดูสามารถมีส่วนร่วมและหยิบจับชิ้นงานมาไหว้ขอพรได้ ขณะเดียวกันก็อยากให้ภาพรวมดูเหมือนงานที่ปกติเราทำลงเพจด้วย”

 

โดยงานนี้ได้ ลูกตาล – สรวรรณ บุญยะพุกกะนะ มาเป็นโปรดิวเซอร์ในการผลิตชิ้นงาน เพื่อทำให้ภาพร่างสำเร็จออกมาเป็นองค์ประกอบต่างๆ ภายในศาลพระภูมิที่จับต้องได้ “พี่เขาดีไซน์มายังไงเราก็ยึดตามนั้นไว้ก่อนเลย แล้วมาดูว่าจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ของบางอย่างมีวิธีประดิษฐ์อยู่แล้วในสเกลเล็ก ถ้าจะทำให้เป็นสเกลใหญ่ต้องหาวัสดุที่แตกต่างออกไปเพื่อให้สามารถคงตัวคงรูปได้มากขึ้น แล้วก็เอาพวกเท็กซ์เจอร์มาเลือกกับพี่ๆ อีกทีว่าใช้กระดาษอันนี้ภาพที่ออกมาจะเหมือนของจริงไหม ต้องให้คนหยิบจับแล้วไม่เสียหายง่าย อย่างดอกไม้ก็จะใช้กระดาษว่าวกับกระดาษไขแบบขุ่นมาทำ”

 

ซึ่งเปียโนช่วยเสริมว่านอกจากความสวยงามสมจริงแล้ว อีกประเด็นที่ทีมให้ความสำคัญคือการหาจุดสมดุลที่ลงตัวระหว่างการทำงานให้ตรงตามโจทย์การดีไซน์และเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นโฟมเป็นวัสดุที่ราคาถูกมากแต่ยากต่อการนำไปรีไซเคิล ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นแทน



สร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อตั้งคำถามกับ ‘การเป็นเจ้าของที่’

นอกจากเป็นนิทรรศการแล้ว บ้านศาลพระภูมิยังถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า ด้วยการเป็นฉากของการแสดงแบบ Interactive ภายใต้คอนเซปต์ไอเดียเดียวกันแต่เล่าเรื่องราวในมิติที่ลึกขึ้น และในระหว่างเทศกาลกิจกรรมหลักของ People of Ari อย่างการแสดงดนตรีและการเต้นสวิงก็ยังคงดำเนินไปภายใต้ฉากศาลพระภูมิ

 

โดยออกัส – ปวริศร กิจวานิชรุ่งเรือง หนึ่งในทีมผู้สร้างสรรค์การแสดงขยายความเพิ่มเติมว่า “โจทย์หลักคือเราอยากให้เป็นการแสดงที่คนดูสามารถมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับศาลพระภูมิขนาดใหญ่ได้ เราเลยให้นักแสดงและคนดูรับบทเป็นของถวายที่เห็นกันบ่อยๆ อย่างไก่ ม้าลาย และนางรำ โดยนักแสดงคือของถวายที่อยู่มานานกว่า เขาเลยเป็นแคนดิเดตที่จะได้รับเลือกให้เป็นเจ้าที่คนต่อไป ส่วนคนดูคือของถวายที่มาใหม่ ซึ่งหลักๆ เราต้องการพูดถึงประเด็นการเป็นเจ้าของพื้นที่”

 

ส่วนในพาร์ตของการแสดงดนตรีและกิจกรรมอื่นๆ เมี่ยง – ปานมาศ ทองปาน คิวเรเตอร์จาก People of Ari ช่วยเล่าเสริมดังนี้ “People of Ari จัดกิจกรรมดนตรีเป็นประจำอยู่แล้ว ช่วงที่มีนิทรรศการเราจึงพยายามคิวเรตธีมหรือเลือกกิจกรรมให้ส่งเสริมการเล่าเรื่องด้วย อย่าง Jazz Night ที่อยู่ในบ้านศาลพระภูมิก็จะเป็นเพลงแจ๊สที่มีกลิ่นอายเข้ากับนิทรรศการ ซึ่งงานอื่นๆ ของ People of Ari ก็มีจุดประสงค์ประมาณนี้ นอกจากนิทรรศการที่เป็นอีเวนต์หลักแล้ว เราอยากให้เซตติ้งถูกใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างความหมายอื่นให้กับการแสดงที่จัดขึ้นในพื้นที่เดียวกันด้วย เราเลยวางตัวเองเป็น Theatre เพื่อให้ตอบรับกับจุดประสงค์หลายๆ อย่างในการใช้การพื้นที่”



ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/peopleofaribkk


Bangkok Design Week 2024

Livable Scape

คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

27 Jan – 4 Feb 2024


#BKKDW2024

#BangkokDesignWeek

#LivableScape

แชร์