แนวคิด Regenerative งานออกแบบดีๆ ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ โดย Ctrl+R Collective
เผยแพร่เมื่อ 9 months ago
ในขณะที่การออกแบบและสร้างสรรค์เป็นไปเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ อีกด้านหนึ่งเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกการสรรค์สร้างล้วนใช้ต้นทุนมาจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วเราจะหาสมดุลที่ดีต่อเราและดีต่อโลกได้อย่างไร?
Ctrl+R Collective คือชื่อกลุ่มนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขาอาชีพที่ชวนคุณมาหาคำตอบนั้น ด้วยความสนใจที่มีร่วมกันในแนวคิด Regenerative Design หรือการออกแบบเชิงปฏิรูปฟื้นฟู ซึ่งต่อยอดมาจากแนวคิดเรื่องความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นคืนสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานออกแบบสุดเจ๋งที่แสดงตัวอย่างให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ใหม่ๆ อะไรบ้างในการรักษ์โลกไปพร้อมๆ กับการใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์
เยล-อัญญา เมืองโคตร นักออกแบบที่ยึดหลักการออกแบบเชิงหมุนเวียนและเชี่ยวชาญด้านวัสดุชีวภาพ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการรวมตัวกันว่า “Ctrl+R Collective เกิดขึ้นมาจากโปรเจกต์ที่เยลกำลังทำสตาร์ตอัปไมซีเลียม (Mycelium) เส้นใยจากเห็ดราร่วมกับเพื่อน แล้วอยากเอามาโชว์ในงาน Bangkok Design Week จึงพกไอเดียนี้มาเสนอ พี่อิ๊บ-คล้ายเดือน สุขะหุต และพี่โต๋-นุติ์ นิ่มสมบุญ ผู้ก่อตั้งพื้นที่เพื่อจิตใจและสิ่งแวดล้อมที่สมดุลอย่าง Slowcombo เพื่อขอใช้สถานที่ พอฟังแล้วทั้งสองเก็ตและอินไปกับเรา จึงได้พื้นที่เป็นห้องนิทรรศการบนชั้นสาม ที่ใหญ่มากจนไม่สามารถจัดแสดงแค่งานเดียวได้
จากตรงนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เยลไปชวนคนที่มีมายด์เซ็ตเดียวกันมารวมกลุ่ม โดยไม่ได้คิดภาพเลยว่าการรวมตัวจะใหญ่ขนาดนี้ แต่เพราะประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่เลยมีพาร์ตเนอร์สนใจอยากเข้าร่วมกับเราเยอะ อย่างเช่นเราได้ GroundControl มาเป็นมีเดียพาร์ตเนอร์ แล้วเขาก็ชวนศิลปิน MY MAYO และ Pineapple Print Press Studio มาจัดกิจกรรมกับเราด้วย”
นิทรรศการที่รวมทุกมิติของ ‘การออกแบบ × สิ่งแวดล้อม’ ตลอดหนึ่งเดือนเต็ม!
ท็อท-ธรัฐ หุ่นจำลอง ผู้ร่วมก่อตั้ง Wasteland และมีความสนใจขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการอาหารและเครื่องดื่มรวมถึงอุตสาหกรรมบริการ คือหนึ่งในกำลังสำคัญของโปรเจกต์ Regenerative Commodities – Exhibition & Experiences เขาอธิบายเสริมว่า “สมาชิกตั้งต้นของ Ctrl+R Collective มีทั้งหมด 8 คน จุดประสงค์หลักในการรวมตัวก็เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเราตั้งใจนำเสนอสิ่งที่คนทั่วไปเห็นทุกวัน พวกวัสดุที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่ถูกมองข้ามไปในมุมของสิ่งแวดล้อม”
“เรามาเทคโอเวอร์พื้นที่ทั้งสามชั้นของ Slowcombo จัดงานหนึ่งเดือนเต็มตั้งแต่ 27 มกราคม ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2567 ชั้นแรกเน้นเรื่องการสร้างประสบการณ์เป็นหลัก มีเวิร์กช็อป เวทีเสวนา แล้วก็เป็นห้องโชว์เคสของพาร์ตเนอร์และสปอนเซอร์ เช่น โรงแรมศิวาเทลที่ยกพืชพรรณจากสวนลอยฟ้ามาจัดเวิร์กช็อปเบลนด์ชาและแชร์ประสบการณ์การจัดการขยะอาหารที่เขาทำมาเป็นสิบปีแล้ว หรือ Practika ที่ทำเฟอร์นิเจอร์จากการอัปไซเคิลวัสดุ ชั้นสองเป็นโซนที่แบ่งเป็นห้องของ Conscious Fashion Mini Market ที่รวมสินค้าแฟชั่นที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม มี Soho House มาจัดมุม Regenerative Community Corner และนิทรรศการ The Future of Shopping Bag โดยห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล”
“ส่วนชั้นสามเป็นโชว์เคสของพวกเรา Ctrl+R Collective ซึ่งเราตั้งใจจะทำงานด้านนี้กันต่อไปเรื่อยๆ หลังงานนี้สิ้นสุดลงด้วย ไม่ได้มารวมตัวกันแค่ในช่วงเทศกาล ส่วนตัวผมไม่ได้เป็นดีไซเนอร์ก็เลยทำวิจัยเกี่ยวกับ Food Literacy เพื่อให้คนสนใจประเด็นนี้และเข้าใจว่ากระบวนการผลิตอาหารเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม สังคม ศิลปะ วัฒนธรรมยังไงได้บ้าง ไม่ใช่แค่ว่ากินแล้วดีหรือไม่ดี”
ร่วมสร้างสรรค์งานออกแบบที่ดีต่อโลกใบนี้
ฟ้าใส-หัสมา จันทรัตนา นักออกแบบที่สนใจการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงบวก อาสาพาเราเดินชมนิทรรศการ Regenerative Commodities บนพื้นที่ชั้นสาม และอธิบายถึงแนวคิดในการออกแบบชิ้นงานที่ให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้อย่างน่าสนใจว่า “เราและเพื่อนๆ ทดลองใช้วัสดุและวิธีการผลิตหลายแบบ อย่างเช่น Mycelium Unites! เป็นผลงานของคุณเยลกับคุณจีโน่-มาฆวีร์ สุขวัฒโน ที่ทำร่วมกับ Mush Composites ในนิทรรศการนี้จะได้เห็นขั้นตอนการเพาะไมซีเลียมซึ่งใช้ผลผลิตที่เหลือจากการเกษตรเป็นสารตั้งต้น ซึ่งเราจะโชว์กระบวนการงอกของเห็ดราและผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็นวัสดุคอมโพสิตที่น้ำหนักเบา ทนไฟ นำไปใช้กับงานตกแต่งภายใน ทำเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านได้”
“ส่วนของคุณอาย-ไอริณ ปุรสาชิต เป็นการนำขยะจากอุตสาหกรรมดอกไม้มาทำเป็นภาชนะใส่ดอกไม้ด้วยวิธีการผลิตหลากหลายรูปแบบ แล้วก็จะมีการจัดเวิร์กช็อปร่วมกับ Pica สอนทำเครื่องเขียนจากวัสดุธรรมชาติด้วย และของฟ้าใสเองเป็นงาน Installation ที่โชว์กระบวนการกู้คืนวัสดุกลับมา ซึ่งเรานำเศษวัสดุเหลือทิ้งหลังจากการก่อสร้าง พวกเศษหิน อิฐ ดิน ทราย ปูน มาทำเป็น Biomaterials หรือวัสดุชีวภาพ เพื่อพูดถึงมุมมองที่มีต่อวัสดุก่อสร้างในปัจจุบันว่าเราจะสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการนำสิ่งเหล่านี้มาทำอะไรได้บ้าง”
ทางด้านของท็อทได้ช่วยเล่าเสริมเกี่ยวกับผลงานของอุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี แฟชั่นดีไซเนอร์ที่ผลักดันเรื่องสโลว์แฟชั่น ผ่านการเป็นผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ไว้ดังนี้ “ผลงานในโปรเจกต์นี้คุณอุ้งเขาสำรวจเรื่องเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งย้อมด้วยสีที่สกัดจากก้อนหินและดินจากลุ่มแม่น้ำภาคเหนือ โดยมีการสอดแทรกวัฒนธรรมชุมชนและชนเผ่าต่างๆ ไว้ในผลงาน รวมถึงมีการเลือกใช้สีและดีไซน์ที่ช่วยส่งเสริมเรื่อง Mindfulness และมีการจัดเวิร์กช็อปสอนสกัดสีจากวัสดุธรรมชาติด้วย”
ผลงานอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ EXTRUDE จาก MORE แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่นำวัสดุเหลือใช้มาสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้ใช้ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน ซึ่งอัน-อภิสรา ห่อไพศาล สมาชิก Ctrl+R Collective และดีไซน์ไดเรกเตอร์ของแบรนด์อธิบายว่า “เราทำการแปรรูปพอลิเมอร์และพลาสติกรีไซเคิลให้คนรู้สึกสนใจอยากใช้งานมากขึ้น โดยนำขวดน้ำพลาสติกของใกล้ตัวที่คนทั่วไปใช้กันอยู่ทุกวันมาแยกสีแล้วทดลองขึ้นรูปเป็นท่อทรงกระบอก ที่นำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น ประกอบเป็นชั้นวางของ โคมไฟ ผนังกั้นห้อง และเก้าอี้สตูล”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของ Regenerative Commodities – Exhibition & Experiences เท่านั้น หากต้องการเปิดประสบการณ์ใหม่เกี่ยวกับงานออกแบบที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างความเปลี่ยนแปลง และทำความรู้จัก Ctrl+R Collective ให้มากขึ้น สามารถติดตามพวกเขาได้ทาง www.facebook.com/ctrlr.collective
–
Bangkok Design Week 2024
Livable Scape
คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
27 Jan – 4 Feb 2024
#BKKDW2024
#BangkokDesignWeek
#LivableScape