ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

DIPROM พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการ

DIPROM พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้ดีพร้อมสู่เมือง-มิตร-ดี การสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ คือเป้าหมายสำคัญของดีพร้อม (DIPROM: ย่อมาจาก Department of Industrial Promotion ชื่อภาษาอังกฤษของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) ซึ่งช่วยให้เกิดเน็ตเวิร์กและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการออกแบบ ก่อนนำไปสู่การใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการ ในปีนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงนำผลิตภัณฑ์จากโครงการดีพร้อมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Creative DIPROM in Circular Economy 2022) มาจัดแสดงที่ TCDC ร่วมกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และจุดประกายไอเดียให้ผู้ที่มาร่วมชมงานได้เห็นว่าสินค้าแบรนด์ไทยก็มีศักยภาพในการแข่งขันไม่แพ้ใคร ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อใจและดีต่อโลกผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ถูกเลือกมาจัดแสดงในงานครั้งนี้ตอบรับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า BCG Model หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยผลิตภัณฑ์จะเน้นไปที่การลดขยะหรือของเสียจากกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างความยั่งยืนแก่สิ่งแวดล้อมจากแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยกระบวนการ Upcycling โดยใช้การออกแบบ วิจัย และพัฒนา แปลงโฉมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรม วัสดุรีไซเคิล และวัสดุท้องถิ่น ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงสร้างสรรค์ ทั้งสินค้าแฟชั่น สินค้าไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์ และของแต่งบ้านนอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมออกบูทใน Creative Market ตลาดนัดสร้างสรรค์ 2 แบรนด์แบรนด์เพียงใจ (Pheangjai) ที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นดัดแปลงเศษโฟมยางพาราและเศษผ้าให้กลายเป็นเครื่องนอนที่สามารถกระจายจุดรับน้ำหนักได้ทั่วผืน ช่วยลดแรงกดทับเวลานอน และทำให้รู้สึกสบายตัวเหมือนกำลังถูกนวดด้วยน้ำหนักของตัวเอง แบรนด์เฮมพ์ไทย (HempThai) ผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากเส้นใยกัญชงรายแรกๆ ของไทย ที่พยายามรักษาสมดุลระหว่างการทำธุรกิจและมิติด้านการดูแลสังคม โดยนำภูมิปัญญาชาวม้งมาต่อยอดและใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ชวนมิตรมารับชมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับเมืองและโลกได้ที่ TCDC อาคารไปรษณีย์กลาง กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566–Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zationเมือง-มิตร-ดี4 – 12 FEB 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

สุขภาพออกแบบได้

สุขภาพออกแบบได้งานออกแบบที่ช่วยดูแลสุขภาพและส่งเสริมคุณภาพชีวิต การดูแลสุขภาพคือจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างสรรค์สังคม ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหน ประกอบอาชีพอะไร ก็ต้องมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงพร้อมลุย จึงจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ดีได้ และเนื่องจากผู้คนมีความหลากหลายจึงมีความท้าทายด้านสุขภาพที่ต่างกันไป โดยคนเมืองก็มักจะเผชิญกับโรคจากการทำงาน เช่น ออฟฟิศซินโดรม ภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ เครียดลงกระเพาะ ฯลฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองให้ตอบโจทย์ urban‘NICE’zation เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จับมือกับโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพสุดพิเศษขึ้นที่สวนกรมประชาสัมพันธ์ในย่านอารีย์ โดยมีทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญและนักกายภาพบำบัดมืออาชีพ มาช่วยแนะนำการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมเฉพาะบุคคลเพื่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ทั้งยังมีโปรแกรมตรวจประเมินและปรับสมดุลสมรรถภาพร่างกาย ให้คำแนะนำด้านการออกกำลังกายที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล ให้คำแนะนำด้านการปรับสมดุลร่างกายเพื่อบุคลิกภาพที่ดีขึ้น และภายในงานยังมีการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อการดูแลผู้ป่วยที่พัฒนาขึ้นจากความใส่ใจ เพื่อยกระดับแนวทางการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นไปอีกขั้น  จาก Pain Point สู่ Gain Pointโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ให้บริการด้วยความใส่ใจและยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด ซึ่งจากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยมากว่า 50 ปี พบว่ามีปัญหาหลายอย่างที่ผู้มาใช้บริการทางการแพทย์ต้องพบเจอ แม้บางปัญหาอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น เสื้อผ้าที่ผู้ป่วยใส่แล้วขาดความมั่นใจ หากนำความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดด้านการออกแบบมาพัฒนาต่อยอด ก็จะสามารถออกแบบชุดที่เพิ่มความสบายใจให้กับผู้ป่วยมากขึ้น หรือบรรดาคุณแม่หลังคลอดที่ต้องปั๊มนมและให้นมลูกน้อยตลอดทั้งวัน หากมีเสื้อคลุมปั๊มนมที่เหมาะสมก็จะช่วยให้คุณแม่ปั๊มนมได้ไม่สะดุดแม้มีแขกมาเยี่ยม อีกทั้งยังมีนวัตกรรมน่าสนใจอย่างรถเข็นอาบน้ำทารกที่ช่วยลดอุบัติเหตุ เตียงนอนทารกที่บันทึกภาพความทรงจำล้ำค่าไว้ให้กลับมาย้อนดูได้ ไอเดียเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยที่เกิดขึ้นจากความใส่ใจใน Patient’s Experience และพยายามคิดวิธีแก้ปัญหา เพื่อเปลี่ยน Pain Point ให้เป็น Gain Point ยิ่งกว่าการดูแลรักษา แต่ยังคำนึงถึงความปลอดภัย และความสบายกาย สบายใจของผู้ป่วยด้วยออกแบบเพื่อวันพรุ่งนี้ที่สุขภาพดีกว่าบทบาทของงานออกแบบในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากขึ้น เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงถือเป็นพื้นที่สำคัญที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบได้แสดงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ออกมาในหลายมิติ กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ จากผู้คนหลากหลายวงการ ซึ่งจะนำไปสู่การใช้นวัตกรรมการออกแบบสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้างได้ และตอบโจทย์การสร้าง ‘เมือง-มิตร-ดี’ ในแบบที่พวกเราทุกคนอยากเห็น การนำนวัตกรรมการออกแบบเชิงสร้างสรรค์มาใช้ในทางการแพทย์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างสังคมสุขภาพดีแนวใหม่ ซึ่งทางโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน มุ่งหวังว่าเมื่อคนคนหนึ่งได้รับการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจเป็นอย่างดี ก็จะส่งผลไปถึงคนในครอบครัวและคนรอบข้าง นำไปสู่การใส่ใจดูแลกันและกันที่เริ่มขยายจากระดับครอบครัวไปสู่ชุมชน และสร้างสังคมสุขภาพดีขึ้นมาได้ในที่สุด –Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zationเมือง-มิตร-ดี4 – 12 FEB 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

สร้างสรรค์ Space เมืองให้สนุกด้วยหลักคิด Seatscape & Beyond

สร้างสรรค์ Space เมืองให้สนุกด้วยหลักคิด Seatscape & Beyondเชื่อหรือไม่ว่าการนั่งที่เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันของคนเมืองสามารถเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับและเปลี่ยนแปลงพื้นที่สาธารณะให้เกิดประโยชน์หรือมีความสร้างสรรค์ที่ดีขึ้นได้ ปีนี้ วัน แบงค็อก โครงการพัฒนาอหังสาริมทรัพย์แห่งอนาคตที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาเมือง ที่มีเป้าหมายการทำงานเพื่อสร้างเมืองมิตรดีที่ดีต่อสังคม เศรษฐกิจ และคนเมือง ให้ชีวิตสะดวกสบายและมีความสุขกันมากยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจผลักดันโครงการใหญ่ที่ช่วยให้นักคิดและนักสร้างสรรค์ทุกคนเกิดการร่วมมือกัน เปลี่ยนการนั่งธรรมดาๆ ของผู้คนให้กลายเป็นกระบวนการสร้าง Public Space หรือ พื้นที่สาธารณะที่มีประโยชน์กับคนเมืองในรูปแบบต่างๆ นำมาสู่การเกิดโครงการประกวด One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 “Seatscape & Beyond” ขึ้นมาในที่สุดประกวดเพื่อต่อยอดไอเดียสร้างสรรค์ สร้างพื้นที่สาธารณะที่ดีให้คนเมืองงาน One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 “Seatscape & Beyond” นี้เป็นความร่วมมือระหว่างวัน แบงค็อก และ THINKK Studio ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ eisa (Education Institute Support Activity) โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เหล่านักศึกษาและคนรุ่นใหม่ไฟแรงกว่า 23 สถาบันการศึกษาทั่วไทย ที่พร้อมระเบิดความคิดสร้างสรรค์และสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ได้เข้าร่วมปรึกษากับกลุ่มนักออกแบบมืออาชีพอย่าง THINKK Studio และ STUDIO150 เพื่อร่วมเข้าประกวดออกแบบเฟอร์นิเจอร์และสร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ กระตุ้นให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองสนุกกับการนั่งและเพิ่มจำนวนพื้นที่สาธารณะที่ดีให้มากขึ้น สุดท้ายจากผลงานประกวดกว่า 247 ผลงานก็สามารถเฟ้นหา 10 ทีมสุดท้ายที่เป็นว่าที่นักออกแบบมือฉมัง พร้อมทั้งไอเดียเฟอร์นิเจอร์โดดเด่นที่ใช้วัสดุแปลกใหม่ มาร่วมผลิตเป็นผลงานจริงออกสู่สังคม และติดตั้งให้ผู้คนได้เข้าไปร่วมสัมผัสประสบการณ์การนั่งรูปแบบใหม่ ภายในพื้นที่ของโครงการ วัน แบงค็อก How to Think? How to Sit? โดยภายในเทศกาล Bangkok Design Week 2023 ปีนี้ วัน แบงค็อกจะนำเสนองานถึง 2 ส่วน ส่วนแรกคือนิทรรศการที่เล่าเบื้องหลังการทำงานของ 10 ทีมผู้ชนะการประกวดและ THINKK Studio ว่าพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ต้นแบบกันอย่างไรบ้าง ซึ่งทุกคนสามารถเห็นตั้งแต่ภาพสเก็ตซ์ แบบจำลอง ตัวอย่างวัสดุต่างๆ จนไปถึงรับชมภาพยนตร์สารคดีที่ติดตามการเวิร์กชอปพวกเขาตลอดระยะเวลา 5 เดือน อีกส่วนจะเป็นกิจกรรมที่รประกาศผลผู้ชนะใน 10 ทีมที่ได้รับรางวัลพิเศษและกิจกรรมพูดคุยที่ จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ วัน แบงค็อก จะมาแบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ นอกจากนั้นยังได้รับฟังประสบการณ์ของ เดชา อรรจนานันท์กับพลอยพรรณ ธีรชัย สองผู้ก่อตั้ง THINKK Studio ที่จะมาแชร์เรื่องราวระหว่างการทำงานในนิทรรศการการประกวดครั้งนี้ด้วยไฮไลท์สำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ไม่อยากให้พลาดคือชุดเฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่จะตั้งอยู่รอบโครงการ วัน แบงค็อก ที่คราวนี้จะโผล่มาตั้งอยู่ที่บริเวณลานหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง บางรักแทน ซึ่งนี่เป็นความตั้งใจที่ทาง THINKK Studio ได้นำพฤติกรรมการนั่ง 4 รูปแบบในสังคมที่เป็นโจทย์ในการประกวดโครงการนี้ คือ Sit to Linger การนั่งพักผ่อนทิ้งความคิดอยู่กับตัวเอง , Sit to Gather การนั่งที่ทำให้เกิดการร่วมกลุ่ม การทำความรู้จักของผู้คน, Sit to Play การนั่งที่ได้ละเล่นและทำกิจกรรมรูปแบบต่างๆ และ Sit to Transfer การนั่งเพื่อที่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านของการเดินทางในชีวิตประจำวัน มาตีความและผลิตเป็นชิ้นผลงานขึ้นใหม่ เป็นการชักชวนให้ทุกคนที่เข้าร่วมเทศกาลฯ สามารถค้นพบประสบการณ์นั่งรูปแบบใหม่ ที่สามารถนั่งพักผ่อนไปพร้อมๆ กับสำรวจความหมายของการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพพื้นที่สาธารณะคือหัวใจของเมืองมิตรดีต่อผู้คนหนึ่งในปัจจัยในการสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้คนและสังคมให้เกิดขึ้นได้นั้น การพัฒนาและเพิ่มจำนวนพื้นที่สาธารณะในเมืองเป็นส่วนสำคัญ การสร้างแนวคิดและกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ ของนักสร้างสรรค์ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพัฒนาพื้นที่ในเมืองให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและวัฒนธรรมมากขึ้น และคงดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเกิดเครือข่ายนักออกแบบที่มีเป้าหมายและความฝันเดียวกัน เพื่อผลักดันให้เกิดเมืองมิตรดีต่อผู้อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนในอนาคต สำหรับใครที่สนใจอยากชมไอเดียความคิดสร้างสรรค์และร่วมกันต่อยอดความเป็นไปได้ในการสร้างเมืองกรุงเทพฯ ที่ดีแบบยั่งยืน ห้ามพลาดมาเยี่ยมชมที่งาน Bangkok Design Week 2023 ปีนี้เลย ระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์​นี้เท่านั้น –Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zationเมือง-มิตร-ดี4 – 12 FEB 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

ขยายโอกาสและความเป็นไปได้สู่ความร่วมมือกับนานาประเทศ

ขยายโอกาสและความเป็นไปได้สู่ความร่วมมือกับนานาประเทศ นอกจากโปรแกรมน่าสนใจกว่า 500 โปรแกรมจากกลุ่มนักสร้างสรรค์ไทยที่กระจายอยู่ในย่านต่างๆ รอบกรุงเทพฯ แล้ว ปีนี้ Bangkok Design Week 2023 ยังมี ‘มิตร’ จากนานาประเทศเข้าร่วมมากถึง 14 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย เป็นการขยายความร่วมมือไปสู่ระดับสากล ที่ทำให้เราได้สนุกไปกับการแลกเปลี่ยนมุมมองทางวัฒนธรรมและแนวคิดด้านการออกแบบที่แตกต่าง โดยมีกิจกรรมสุดว้าวหลากหลายรูปแบบมากกว่า 20 โปรแกรม ทั้งนิทรรศการน่าสนใจ เช่น โชว์เคส Moscow Creative Tech Highlights จากประเทศรัสเซียที่นำเทคโนโลยีแห่งอนาคตล้ำๆ มาจัดแสดงที่ TCDC พร้อมจัดเสวนา รวมถึงมีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านกรณีศึกษาจากทั่วโลก เกี่ยวกับการเป็นมิตรกับเมืองในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้ไทยพร้อมก้าวสู่การเป็น Urban’NICE’zation ที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กันนอกจากนี้ โปรแกรมแสนสนุกยังอัดแน่นไปด้วยเวิร์กช็อป การแสดง ตลาดนัดสินค้าดีไซน์จาก Pinkoi.com มีแม้กระทั่งทัวร์สำรวจวัฒนธรรมอาหารในย่านหัวลำโพง ซึ่งจัดโดยกลุ่มเยาวชนในโครงการริทัศน์ ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันเกอเธ่ และอีเวนต์น่าสนใจอย่าง หมู่ฮ้องหา… (Friends Call) ที่ SUPH Art Space จัดร่วมกับกลุ่มศิลปินจาก 5 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อินโดนีเซีย และอินเดีย เทศกาล Bangkok Design Week 2023 จึงเปรียบเสมือนเป็นแพลตฟอร์มเพื่อแลกเปลี่ยนงานด้านการออกแบบจากหลากหลายประเทศ นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในอนาคต การพัฒนาเมืองที่ดีอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากนักคิดสร้างสรรค์และการสนับสนุนจากหลากหลายส่วน ไม่ใช่แค่ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการร่วมมือระหว่างภูมิภาคและประเทศต่างๆ ในโลก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แชร์ประสบการณ์ที่เคยลองผิดลองถูก รวมถึงชวนกันตั้งคำถามถึงคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต เพราะเมืองจะดีได้ต้องเริ่มจากการมีมิตรที่ดีก่อน และเราจะมาร่วมสร้าง ‘เมือง-มิตร-ดี’ ไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ แต่เป็นทั่วทุกหนทุกแห่งบนโลกใบนี้–Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zationเมือง-มิตร-ดี4 – 12 FEB 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

The Making of Haroon Food Market

เรียนรู้อดีต สานต่อปัจจุบัน พาอาหารฮารูณสู่อนาคตจุดเริ่มต้นจากการเดินทางไปฟู้ดทัวร์ที่ภาคอีสาน แล้วพบกับเกลือท้องถิ่นรสชาติดีแต่ขายได้เพียงกิโลกรัมละไม่ถึงหนึ่งบาท ทำให้ โบ – สลิลา ชาติตระกูลชัย อดีตนักจัดอีเวนต์และปาร์ตี้ เริ่มตั้งคำถามถึงเหตุผลที่วัตถุดิบท้องถิ่นไทยถูกประเมินค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และคิดทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง NOSH NOSH ที่แปลว่าหม่ำๆ ขึ้นในปี 2018 โดยตั้งใจให้เป็น Educative Dining Experience พื้นที่ของการกินไปเรียนรู้ไป ให้คนเมืองหันมาสนใจแหล่งที่มาของอาหาร และให้คุณค่ากับผู้คนที่อยู่ในวงจรการผลิตวัตถุดิบอาหารท้องถิ่นมากขึ้น Hidden Gems ที่ซุกซ่อนอาหารฮาลาลระดับตำนานไว้งานล่าสุดของ NOSH NOSH คือการจับมือกับชุมชนมัสยิดฮารูณ ซอยเจริญกรุง 36 จัดงานตลาดนัดอาหารฮาลาลเวอร์ชันพิเศษสำหรับ Bangkok Design Week 2023 โดยภายในงานมีเมนูเด็ดให้เลือกชิมกว่า 30 ร้าน ส่วนใหญ่เป็นสูตรอาหารประจำครอบครัวที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นนับร้อยปี ชุมชนมัสยิดฮารูณเป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ในย่านถนนเจริญกรุง ซึ่งก่อนหน้านี้คนในชุมชนรวมตัวจัดงานตลาดนัดอาหารมาแล้วหลายครั้ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้คึกคัก และอยากเชิญชวนให้มิตรต่างถิ่นเข้ามาทำความรู้จักวัฒนธรรมอาหารในย่านนี้ ภารกิจแรกของโบคือการสำรวจชุมชนและพูดคุยกับคนในพื้นที่ ทำให้พบว่าคนในชุมชนฮารูณส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากทางอินเดียใต้ จึงมีอาหารหลายชนิดที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทว่าสูตรอาหารดั้งเดิมเหล่านี้กลับกำลังค่อยๆ สูญหายไปโดยไม่มีใครสืบทอด “สูตรอาหารประจำครอบครัวของแต่ละบ้านน่าสนใจมาก เป็นอาหารที่หาทานยาก บางอย่างโบไม่เคยทาน เพิ่งมาได้ทานที่นี่ครั้งแรก อย่างขนมบาเยีย ขนมซูยี หรือแกงกะหรี่ปลาที่ตามร้านอาหารอินเดียทั่วไปส่วนใหญ่ไม่ค่อยมี บางเมนูเขาจะมีเคล็ดลับ เช่น เวลาทอดต้องมีสองกระทะ กระทะนี้ร้อนหน่อย กระทะนี้ไฟอ่อน ต้องทอดกระทะนี้ก่อนแล้วค่อยลงอีกกระทะถึงจะได้สีที่สวยงาม” โจทย์แรกในการออกแบบจึงเริ่มจากการตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้สูตรอาหารเหล่านี้คงอยู่ต่อไป เพิ่มเสน่ห์ให้ตลาดนัดอาหารด้วยงานออกแบบนอกจากนี้ ยังมีส่วนของงานอาร์ตส่วนต่างๆ ที่โบคิดว่าน่าจะปรับให้สื่อความหมายได้ดียิ่งขึ้นได้ “ก่อนหน้านี้แต่ละร้านเขาต่างคนต่างออกแบบ ไม่ได้มีดีไซเนอร์จริงจัง เราเลยเข้ามาช่วยดูเรื่องงานอาร์ตในภาพรวม ทำโลโก้ ทำสื่อต่างๆ เช่น วิดีโอโปรโมต หนังสือสูตรลับมรดกอาหาร The Haroon Cook Book เพื่อให้คนที่ยังไม่เคยมาตลาดนัดฮารูณเกิดความสนใจมากขึ้นว่า อาหารแต่ละอย่างปรุงยังไง มีประวัติความเป็นมายังไง ซึ่งอาจจะทำให้เขาสนใจมาเดินตลาดในครั้งหน้าได้” เพื่อให้งานนี้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น โบจึงชักชวนสองดีไซเนอร์มาร่วมโปรเจกต์ คนแรกคือ แม่น – จิรวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อย เจ้าของแบรนด์ The Only Market Bangkok ช่วงโควิดเขาใช้เวลาว่างเรียนรู้เทคนิคการเขียนตัวหนังสือไทยด้วยปากกาหัวตัด และรวบรวมผลงานไว้ในอินสตาแกรม thaipologic โบซึ่งเป็นแฟนคลับงานออกแบบของแม่นอยู่แล้ว จึงชักชวนให้เขามาร่วมออกแบบคำว่า ‘ฮารูณ’ เพื่อนำไปใช้ประกอบร่างเป็นโลโก้ตลาดนัดชุมชน “แม่นรู้สึกว่าอะไรที่สร้างออกมาจากมือเรา โดยที่เป็นซิกเนเจอร์หรือเป็นลายเซ็นของเรามัน endless สมมติจะเขียนคำว่ารัก แม่นสามารถเขียนได้ร้อยครั้งโดยไม่ซ้ำกันเลยแล้วยังดูเป็นตัวเราอยู่ ต่างกับการใช้ฟอนต์ทั่วไปพิมพ์คำว่ารักออกมา ซึ่งก็แล้วแต่ผู้รับสารว่าเขาจะชอบแบบไหน แต่ในฐานะที่ต้องเป็นคนสร้างสิ่งใหม่เสมอ แม่นรู้สึกว่าฉันต้องสร้างอะไรของฉันขึ้นมาเอง เลยรู้สึกว่าตัวหนังสือที่เขียนด้วยตัวเองมัน unique” ดีไซเนอร์ชื่อดังอธิบายถึงที่มาของความหลงใหลในการเขียนตัวหนังสือไทยด้วยมือ จากสูตรประจำบ้านสู่ The Haroon Cook Bookอีกคนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในโปรเจกต์นี้คือ ต้น – อาสาศักดิ์ อัศวหิรัญสิริ สถาปนิกฟรีแลนซ์ไฟแรง ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มการออกแบบหนังสือ The Haroon Cook Book และอุปกรณ์ตกแต่งสถานที่ให้มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น “ตอนลงพื้นที่สำรวจตลาดนัดฮารูณ สิ่งที่ต้นชอบคืออาหารที่เขาทำขายเป็นอาหารแบบเดียวกับที่เขาทำกินที่บ้าน บางอย่างใส่เครื่องเยอะมากแต่ขายไม่แพงเลย ยิ่งได้สัมภาษณ์คนในชุมชนยิ่งทำให้รู้สึกว่ากระบวนการกว่าจะได้อาหารแต่ละเมนูมันน่าทึ่งมาก” โบเสริมเพิ่มเติมว่า ความพิถีพิถันคือเสน่ห์ของอาหารในชุมชนฮารูณ บางเมนูต้องตื่นมาเตรียมตั้งแต่ตี 3 และคนทำจะมีชื่อเรียกว่าช่างแกง “เวลาทำข้าวหมกหรือทำแกง เขาทำเป็นหม้อใหญ่ๆ ใส่ไก่ประมาณ 200 ชิ้น ต้องออกแรงเยอะเลยเป็นหน้าที่ของผู้ชาย การทำอาหารแต่ละอย่างมีความละเอียดประณีตมากๆ ทั้งในการเตรียมเครื่องปรุง ทำความสะอาด หนึ่งในกฎของอาหารฮาลาลคืออาหารต้องสะอาดมากๆ ต้องล้างยังไง ตัดส่วนไหนออกจากเนื้อ ห้ามกินส่วนไหน จะมีคนที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ เลยเป็นที่มาของคำว่าช่างแกง” นอกจากลงพื้นที่ชุมชนแล้ว โบและต้นยังค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและศิลปะเก่าแก่ของทางอินเดียใต้เพิ่มเติม เพื่อนำมาออกแบบ Key Visual โดยนำดีไซน์ของช่องหน้ามัสยิดต่างๆ มาจัดวางในลักษณะของ Geometric Graphic Art และเลือกใช้สีหลักที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของชาวมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นสีเขียวที่หมายถึงพระเจ้าและความอุดมสมบูรณ์ สีน้ำเงินที่สะท้อนถึงความลึกของจักรวาล สีทองที่สื่อถึงพระจันทร์และเป็นสีหลังคามัสยิดด้วย สีขาวคือความสะอาดบริสุทธิ์ สีดำเป็นขั้วตรงข้ามเพื่อเตือนสติว่าทุกอย่างมีสองด้าน และสีแดงเปรียบได้กับสัญลักษณ์ของการมีชีวิตอยู่ “งานทุกชิ้นที่ออกแบบในโปรเจกต์ NOSH NOSH เราจะคิดเผื่อให้ชุมชนสามารถนำไปใช้งานต่อได้ อย่างสารคดีที่เล่าเรื่องราวของอาหารและถ่ายทอดบรรยากาศของตลาด ถ้าเผื่อมีงานครั้งต่อๆ ไปแล้วอยากโปรโมต ก็เปิดหรือโพสต์ลงโซเชียลให้คนเห็นภาพแล้วอยากมาเดินได้” โบกล่าวทิ้งท้าย–Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zationเมือง-มิตร-ดี4 – 12 FEB 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

The Making of Sense of Nang Loeng

Sense of Nang Loengเปิดย่าน เปิดสัมผัสใหม่ ให้เข้าใจนางเลิ้งอย่างถึงแก่น ช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพฯ ไม่สู้ดีนัก รัฐ เปลี่ยนสุข นักออกแบบวัฒนธรรมร่วมสมัยและผู้ร่วมก่อตั้ง Sumphat Gallery มีโอกาสลงพื้นที่ชุมชน ‘นางเลิ้ง’ และพบว่าย่านนี้มีคาแรกเตอร์พิเศษที่ไม่สามารถหาจากที่อื่นได้ นางเลิ้งไม่ใช่แค่ตลาดที่มีของกินขาย แต่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราวของศิลปะการละครอันน่าทึ่ง ทว่าย่านเก่าแก่แห่งนี้กลับกำลังทรุดโทรมอย่างน่าใจหาย “เราพบสิ่งที่ว้าว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องน่าเศร้า” รัฐเล่าถึงความทรุดโทรมของย่านนางเลิ้งที่พบเจอ “เราเจอแม่ครู นางรำ คณะละครชาตรี คุณลุงที่เคยเล่นดนตรีไทยในวงฟองน้ำกับบรูซ แกสตัน คนเหล่านี้คือตัวแทนของชาติที่นำเสนอความเป็นไทยผ่านวัฒนธรรม แต่ทุกวันนี้เขาอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ไม่มีอาชีพและการจ้างงานตลอดกว่า 3 ปีในช่วงโควิด คุณแม่นางรำยังไม่สะดวกให้เราเข้าไปหาที่บ้านเลย มันน่าเศร้าที่เรามานั่งภูมิใจว่าชาติของฉันดีกว่าชาติอื่น เรามีรูปแบบการรำที่พิเศษกว่า แต่เมื่อกลับมาดูคนที่กำลังรำอยู่และเป็นตัวแทนอัตลักษณ์ของชาติ เขากลับไม่ได้รับการทะนุถนอมดูแลหรือให้โอกาส พวกเขาขาดการเหลียวแลและมีสภาพชีวิตที่ยากลำบากอย่างยิ่ง” การรวมตัวเฉพาะกิจเพื่อย่านนางเลิ้งจากปัญหาที่พบ รัฐจึงชักชวนมิตรสหายในวงการออกแบบมารวมตัวกันในชื่อกลุ่ม Sense of Nang Loeng เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของนางเลิ้งในมิติที่หลากหลาย ให้คนที่มาเที่ยวชมเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าซึมซับความเป็นย่านเก่าแก่คู่กรุงเทพฯ โดยตัวเขาเลือกทำโปรเจกต์ซาโทเรียล (Sartorial) ที่นำการแสดงละครชาตรีมาจัดแสดงในรูปแบบใหม่ร่วมสมัยยิ่งขึ้น ส่วนการปรับปรุงพื้นที่ว่างให้ชุมชนได้ใช้งานและจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราว ได้รับความร่วมมือจากมืออาชีพอย่าง คุณจูน เซคิโน สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Junsekino Architect and Design อาจารย์ขวัญพร บุนนาค และอาจารย์ชานนท์ วาสิงหน จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม มาช่วยกันแปลงโฉมนางเลิ้งให้น่าเดินยิ่งขึ้นในเชิงกายภาพ นอกจากนี้ ยังมีการชูจุดเด่นของนางเลิ้งในแง่ศูนย์รวมความอร่อย โดยมี อาจารย์อุฬารพัชร นิธิอุทัย จาก Amy Nithi Studio มาร่วมสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารจุบจิบจับใจ อาจารย์สุถี เสริฐศรี และอาจารย์ดารณี อาจหาญ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทำโปรเจกต์กินเพลิน…เลินเลิ้ง นำเมนูดั้งเดิมประจำย่านมาดัดแปลงให้แปลกใหม่ชวนลิ้มลอง และคุณสุวัน แววพลอยงาม ผู้นำชุมชนที่จับมือกับกลุ่มอีเลิ้ง ร้อยเรียงเรื่องราวของศิลปะ ชุมชน และเมืองออกมาเป็นหลากหลายกิจกรรม ทั้งทัวร์สำรวจย่าน เวิร์กช็อป ชิมอาหารจากเชฟชุมชน และจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย เพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาดีได้อย่างยั่งยืน โจทย์หลักคือการพัฒนาย่าน“การทำ Sense of Nang Loeng มีความท้าทายมากเพราะมีการทับซ้อนในการเป็นเจ้าของพื้นที่หลายระดับ พื้นที่เช่าอยู่ในการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นอกถนนก็เป็นของเขต มีหัวหน้าชุมชนแต่ละชุมชนคอยดูแลอีกที ในพื้นที่อาคารมีผู้เช่าและผู้ให้เช่าที่ต้องประสานงานด้วย และยังมีพื้นที่ในชุมชนที่แออัดอีก พื้นที่จัดงานมันซับซ้อนหลายด้านมาก ซึ่งเป็นหน้าที่และความท้าทายของนักออกแบบในการแก้ปัญหาที่ไม่สามารถใช้องค์ความรู้เดียว แต่ต้องนำความรู้หลากหลายมาบูรณาการ ไม่ใช่แค่สร้างงานออกแบบที่เน้นเพียงด้านความงาม หรือใช้โอกาสนี้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวตนศิลปิน แต่การทำโปรเจกต์แบบนี้เราต้องนำ Design Thinking มาใช้ ต้องเข้าใจปัญหาชุมชน ต้องร่วมมือกับผู้นำชุมชนในการพัฒนา ที่สำคัญคือต้องวางวัตถุประสงค์ให้ชัดว่าคุณทำเพื่อใคร คุณจะทำเพื่อนำงานออกแบบใหม่ของตัวเองมาวางในชุมชน หรือเพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มีช่องทางแสดงออก มีโอกาสหารายได้ และเขามีโอกาสที่จะได้แก้ปัญหาในชุมชนจริงๆ นี่คือสิ่งที่กลุ่ม Sense of Nangloeng นำเสนอในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ” ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นใน Sense of Nang Loeng จึงเริ่มคิดจากโจทย์ในการแก้ปัญหาของชุมชน แต่ไม่ใช่เพียงการทำความเข้าใจปัญหาในปัจจุบันเท่านั้น “เราต้องมองรากในอดีตและดูความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต งานดีไซน์คือการมองอดีต ปัจจุบัน อนาคต จากทางแก้ปัญหาร้อยแปดพันเก้าที่คิดมาได้ เราต้องมาเลือกว่าอันไหนมีศักยภาพในการเติบโต ดูประวัติศาสตร์ ดูแนวโน้มการใช้งานพื้นที่ในอนาคต และสุดท้ายคือดูเรื่องงบประมาณว่าตัวเลือกไหนเหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหา ไปพร้อมๆ กับสร้างการขับเคลื่อนเล็กๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม” เมือง-มิตร-ดี ต้องมีวัฒนธรรม“ถ้าเข้าไปเกาะรัตนโกสินทร์ตอนนี้ จะเห็นว่าพื้นที่ตรงนั้นกำลังกลายเป็นดิสนีย์แลนด์ไปแล้ว พื้นที่กำลังขาดรากฐานวัฒนธรรม จริงๆ เราไม่ขัดว่าคนต่างชาติจะเข้าไปแต่งกายถ่ายรูปให้เหมือนคนในอดีต แต่การที่พื้นที่นั้นไม่มีราก ไม่มีวิถีชีวิตอะไรที่สอดคล้องในพื้นที่นั้นเลย ทำให้พื้นที่ของเรากลายเป็น Theme Park เข้าไปทุกที” รัฐพูดถึงปัญหาของแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเมืองไทย “ถ้าจะเป็นเมืองมิตรดี ผมคิดว่าเราต้องเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรม คำว่าวัฒนธรรมอย่าไปมองว่าต้องโบราณอย่างเดียว แต่ต้องมีพื้นที่สาธารณะที่เราสามารถแสดงออกได้ ใช้ชีวิตอย่างมีอิสระ มีความสุข ทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะได้ อย่างเราไปฝรั่งเศสเห็นคนเต้นฮิปฮอปในพื้นที่สาธารณะ เล่นดนตรี ออกกำลังกาย เรียกร้องประเด็นสังคมเพราะเมืองคือพื้นที่ใช้ชีวิต เราก็หวังว่าเวลาเดินไปในพระนครจะมีเสียงดนตรีไทย มีคนไทยฝรั่งนั่งดู ชุมชนเอาลูกมาป้อนข้าวทานอาหาร วิ่งเล่น ความสุขที่ขยายตัวไม่ใช่เพียงในเคหสถานของตน เมืองจึงไม่ควรเป็นเพียงสถานที่ตื่นเช้าออกจากที่พัก นั่งรถไปทำงาน เมืองต้องเป็นพื้นที่ให้คนแสดงออก คนที่ผ่านไปมาได้มีปฏิสัมพันธ์กัน เป็นเมืองที่ผู้คนสามารถแสดงออกถึงความสุขของตนเองได้ในพื้นที่สาธารณะ วัฒนธรรมจึงมองได้ทั้งในแง่ของวิถีชีวิตและการทำกิจกรรมที่กลุ่มคนร่วมกันสร้างความสุขในพื้นที่ อันนี้คือเมืองมิตรดี เป็นเหตุผลว่าทำไมวัฒนธรรมถึงสำคัญ ถ้าขาดวัฒนธรรม เมืองนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากโรงงานหรือพื้นที่ท่องเที่ยวที่ต้องการดึงเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวอย่างเดียว” ก้าวต่อไปของนางเลิ้งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง“หลังจากจบงานแล้ว ผลงานของพวกเราจะถูกย้ายไปไว้ในสวนสาธารณะของชุมชน เราอยากให้มันกลายเป็นพื้นที่สำหรับชุมชน เกิดการจัดทัวร์ในชุมชนโดยผู้นำชุมชน ทั้งการแสดงละคร ดนตรีไทย ด้วยความร่วมมือกับเอกชนในพื้นที่ อาคารเก่าที่ถูกปรับปรุงขึ้นระหว่างเทศกาลจะถูกส่งต่อ เราเสนอไอเดียการจัด Chef Table เชิญแขกมารับประทานเมนูพิเศษที่บ้านนางเลิ้ง โดยต่อยอดเพิ่มมูลค่านำเมนูโบราณจากร้านในตลาดมาดัดแปลงเป็นเมนูใหม่ มีกิจกรรม Food Tasting จุบจิบจับใจ ซึ่งจัดทัวร์ชิมอาหารในตลาด สิ่งเหล่านี้ชาวนางเลิ้งสามารถเอาไปทำโครงการท่องเที่ยวชุมชนต่อได้ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาค้นพบย่าน ถ้ามีการโปรโมตที่ดีก็จะช่วยกระจายรายได้และกลายเป็นอีกหนึ่งความเป็นไปได้ของนางเลิ้ง” “แต่ละย่านในกรุงเทพฯ มีความพิเศษของตัวเอง ผมหวังว่าหลังจากโครงการนี้จบลง ผู้คนจะรู้จักนางเลิ้งดีขึ้น เราอยากรื้อฟื้นภาพจำของนางเลิ้งที่เป็นบ้านของครูดนตรีไทยและคณะละครในอดีตขึ้นมาใหม่ เพราะนี่คือคาแรกเตอร์ที่ทำให้ย่านนี้มีความพิเศษ ซึ่งท่านผู้ว่าชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เคยให้ความคิดเห็นไว้ว่า อยากสร้างความเป็นย่านของกรุงเทพฯ แต่ละแหล่งให้มันชัดเจนขึ้น ผมคิดว่ากิจกรรมที่เราทำก็ช่วยตอกย้ำนโยบายของกรุงเทพมหานครได้อย่างชัดเจน”–Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zationเมือง-มิตร-ดี4 – 12 FEB 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

Making of Re-Vendor เจริญกรุง 32

Re-Vendor เจริญกรุง 32สร้างนิเวศสตรีทฟู้ดใหม่ให้เป็นมิตรกับทุกคนสตรีทฟู้ดถือเป็นเสน่ห์และสีสันของกรุงเทพฯ ที่ดึงดูดใจนักชิมจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งยังเป็นแหล่งรวมอาหารราคาประหยัดสำหรับคนเดินถนน แต่อีกแง่มุมหนึ่งก็ยังมีข้อถกเถียงด้านการบริหารจัดการพื้นที่ระหว่างร้านค้า คนกิน และคนเดิน รวมถึงการจัดการของเสียและความสะอาดที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและเมือง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA จึงคิดทำโมเดลทดลองการจัดการสตรีทฟู้ดริมทางย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอยเจริญกรุง 32 โดยร่วมกับ Cloud-floor (คลาวด์ฟลอร์) บริษัทสถาปนิกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ ภาควิชา Communication Design หลักสูตรนานาชาติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อหาแนวทางในการจัดการสตรีทฟู้ดให้ดียิ่งขึ้นตามบริบทและข้อจำกัดต่างๆ ของพื้นที่ ฟิวส์ – นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย ผู้ร่วมก่อตั้ง Cloud-floor เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า “โครงการนี้ริเริ่มโดยทาง CEA ที่เห็นว่าพื้นที่ในซอยเจริญกรุง 32 ซึ่งอยู่ใกล้กับสำนักงาน คนในสำนักงานเองก็ไปกินข้าวกันอยู่บ่อยๆ ใช้ชีวิตเดินผ่านทุกวัน เรียกได้ว่าใช้ชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกัน เลยมีแนวคิดที่จะพัฒนาการจัดการสตรีทฟู้ดตรงนี้เพื่อให้มีระบบนิเวศที่ดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านความสะอาด การจัดการพื้นที่ ทัศนียภาพ ไปจนถึงการติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชนร้านค้าแห่งนี้ และเผื่อว่าจะเป็นโมเดลที่สามารถพัฒนาไปต่อได้ในการจัดการกับพื้นที่อื่นๆ ได้ในบางประเด็นอีกด้วย โครงการจึงทดลองดูว่าจะสามารถปรับปรุงปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้างเกี่ยวกับผู้ค้ารถเข็นที่อยู่ข้างซอย เราดึง Stakeholders ที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน ทั้งภาครัฐ ตัวแทนเทศกิจ ตัวแทนผู้ค้า และนิสิต CommDe จุฬาฯ กับคนของ CEA ที่เป็นตัวแทนผู้ซื้อ ผมเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเลยว่าสตรีทฟู้ดยังควรมีอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเปล่า ก็ได้คำตอบที่ค่อนข้างเป็นเอกฉันท์ว่า “ควรมีอยู่” เพราะเป็นแหล่งอาหารราคาประหยัด หาซื้อง่าย แต่จะมีในรูปแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับบริบทที่เฉพาะเจาะจงของสถานที่นั้นๆ” “พื้นที่ซอยเจริญกรุง 32 เป็นซอยตัน ปริมาณการเดินสัญจรของคนในซอยค่อนข้างน้อยมาก คนที่เข้ามาใช้พื้นที่หลักๆ คือเข้ามากินอาหารตอนกลางวัน หรือใช้เป็นทางลัดเดินทางไปย่านอื่นในซอยเจริญกรุง บริบทของพื้นที่จึงต่างจากฟุตพาทของถนนหลักที่มีผู้คนสัญจรค่อนข้างเยอะ แบบนั้นมักจะมีคอนฟลิกต์ว่าพื้นที่ตรงนี้ควรใช้สำหรับคนเดินเป็นหลัก ผู้ค้าควรจะเป็นรอง” ฟิวส์อธิบายถึงสภาพพื้นที่ Case Study น่าสนใจจากต่างประเทศ“ถ้าทุกคนอยากให้สตรีทฟู้ดยังมีอยู่ เราลองมาดูว่ามี Case Study อะไรที่จะส่งเสริมพื้นที่ตรงนี้ได้บ้าง อย่างโมเดล Hawker Centres ประเทศสิงคโปร์ ซอยเจริญกรุง 32 ทำไม่ได้ เพราะไม่มีพื้นที่เอกชนข้างเคียงที่สามารถทำกลไกในการเช่าได้ โดยหลักการเราต้องหาพื้นที่ที่ใกล้เคียงของเดิม ไม่งั้นถ้าไปไกลหรือเข้าซอยลึกขึ้น ผู้ซื้ออาจจะไม่สะดวก ผู้ขายก็ไม่มั่นใจในการขาย” “ถัดมาคือของไต้หวัน เขาจัดการโดยการย้ายผู้ค้าจากถนนเส้นหลักไปอยู่ในซอยหรือถนนเส้นรองช่วงกลางคืนแทน เพื่อไม่ให้รบกวนการเดินสัญจรของคนทั่วไป เรารู้สึกว่าถ้าเอามาปรับใช้กับกรุงเทพฯ โมเดลนี้จะเป็นการผ่อนผันในช่วงรอยต่อระหว่างที่ภาครัฐหาพื้นที่ทำ Hawker Centres ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี ก็ดันผู้ค้าทั้งหมดให้เข้าไปอยู่ในซอยและจัดระเบียบ” “แบบที่สามคือโมเดลของเกาหลีใต้ที่ใช้เรื่องการจัดการกับการออกแบบเข้ามาแก้ปัญหา สตรีทฟู้ดที่นั่นจะตั้งเป็นเต็นท์บาร์เรียกว่า โพจังมาจา ภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนมากๆ คือเขาจะกำหนดรูปแบบ สี และจุดที่สามารถตั้งได้ หน้าหนาวเอาผ้าใบลงมาปิดกันหนาวได้ หน้าร้อนก็เอาขึ้นไป คนที่จะมาขายของบนท้องถนนต้องลงทะเบียนกับรัฐก่อนเพื่อให้ติดตามได้ และผ่านการอบรมผู้ค้าก่อน 1 ปี เพื่อให้มีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตัวต่อพื้นที่สาธารณะ” นำโมเดลที่ศึกษามาปรับใช้ให้เหมาะกับพื้นที่“ทีมเรารู้สึกว่าโมเดลของเกาหลีใต้น่าสนใจ เพราะรูปแบบคล้ายเดิมที่พ่อค้าแม่ค้าในไทยทำกันอยู่แล้ว เต็นท์สำเร็จรูปหาซื้อได้ง่าย ผู้ค้าสามารถบำรุงรักษาเองได้ ส่วนผ้าใบที่เขาใช้กันหนาว เราก็เอามาใช้สำหรับการปิดร้านให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ประเด็นแรกที่เราให้ความสำคัญคือเรื่องการสื่อสาร เพราะปัญหาที่เจอจากการคุยกับผู้ค้าและภาครัฐคือกฎระเบียบในไทยค่อนข้างกำกวม บางทีมีคนใหม่เข้ามาค้าขายก็ใช้วิธีบอกต่อๆ กัน ซึ่งมันมีโอกาสคลาดเคลื่อน เราเลยลองออกแบบ ‘คู่มือผู้ค้าริมทาง’ ขึ้นมา ด้านในจะมีรายละเอียดของข้อตกลงร่วมกันและข้อปฏิบัติเพื่อชุมชนที่เป็นมิตรยิ่งขึ้น ข้อมูลการรักษาสุขอนามัย ข้อมูลการแยกขยะ ข้อมูลการจัดเก็บร้านเพื่อทัศนวิสัยของสาธารณะ” จัดระเบียบความสะอาดและส่งเสริมอัตลักษณ์“ถัดมาเป็นเรื่องการจัดการความสะอาดของพื้นที่ ปัญหาที่พบคือผู้ค้าส่วนใหญ่ล้างจานโดยเทลงพื้นเลย ไม่มีการบำบัดน้ำเสียหรือดักไขมันก่อน เราจึงเข้าไปให้ความรู้ในการลดและคัดแยกขยะ ให้ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อช่วยกันแยก ไม่ได้ผลักภาระไปที่ผู้ค้าอย่างเดียว มีการติดตั้งบ่อดักไขมันและที่กรองเศษอาหารเพื่อไม่ให้ท่ออุดตัน และส่วนอื่นๆ ก็เป็นเรื่องของกายภาพ เช่น ร่ม เต็นท์ จะทำยังไงให้ผู้ค้ารักษากฎร่วมกันได้ ไม่วางล้ำเขตที่กำหนดไว้ รถจะได้วิ่งสวนกันได้” “สุดท้ายเป็นเรื่องการปรับปรุงบริการและส่งเสริมอัตลักษณ์ด้วยงานออกแบบ เพื่อช่วยให้ร้านค้าพัฒนาตนเองได้ เช่น ใบรายการเมนูภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างชาติ ทำจุดยืนรอคิวให้ชัดเจน และเพิ่มการตกแต่งสถานที่ สร้างจุดเด่นส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับซอยเจริญกรุง 32 เพื่อเสริมการท่องเที่ยวและเสริมบรรยากาศ ซึ่งสิ่งที่เราทำก็คือการตกแต่งกำแพงและสกรีนผ้าใบ โดยงานออกแบบทั้งหมดมาจากนิสิต CommDe จุฬาฯ ที่มาร่วมทำโครงการกับเรา” สิ่งที่ Re-Vendor เจริญกรุง 32 ลงมือทำช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ถือเป็นเฟสแรกของโปรเจกต์เล็กๆ กึ่งทดลองที่ทำภายใต้ข้อจำกัดของระยะเวลาและงบประมาณ โดยในเฟสแรกได้ทำเรื่องการจัดการพื้นที่ให้ร้านค้าเข้าใจกติกาตั้งร้านและเก็บร้านให้อยู่ในขอบเขตที่ตกลงร่วมกัน มีการติดตั้งถังดักไขมันให้กับ 9 ร้านค้า เกิดพื้นที่ซักล้างร่วมกัน 1 จุด มีการเริ่มต้นให้แยกขยะทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจทีเดียว พ่อค้าแม่ค้าหลายคนเล่าว่าลูกค้าชมว่าร้านดูดีและสะอาดขึ้น เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ส่วนทางสำนักงานเขตที่รับผิดชอบพื้นที่ก็มีนโยบายจะผลักดันการจัดระเบียบสตรีทฟู้ดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชุมชน เพื่อมุ่งสู่การเป็น ‘เมือง-มิตร-ดี’ ที่ร้านค้าริมทางอยู่ร่วมกับเมืองได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย–Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zationเมือง-มิตร-ดี4 – 12 FEB 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation

The Making of Bangkok City Trooper

The Making of Bangkok City Trooperกองกำลังพัฒนาเมืองบุกย่านเยาวราช นอกจากสตรีทฟู้ดเลิศรสและสีสันย่านการค้าที่ไม่เคยหลับใหลแล้ว เยาวราชยังเปี่ยมล้นไปด้วยเสน่ห์จากความเข้มข้นทางวัฒนธรรมจีนที่เดินทางผ่านกาลเวลามาหลายยุคสมัย เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่และหมุดหมายของนักท่องเที่ยว ย่านนี้จึงมีความหนาแน่นของการใช้งานพื้นที่มากเป็นพิเศษ การออกแบบเมืองให้สอดคล้องและรองรับกับเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ จึงเป็นประเด็นที่ SATARANA (สาธารณะ) เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมที่สนใจเรื่องการพัฒนาชุมชนและเมืองให้ความสำคัญ อุ้ม – วิภาวี กิตติเธียร ตัวแทนจากกลุ่ม SATARANA บอกเล่าถึงโปรเจกต์ Bangkok City Trooper ที่ทำร่วมกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ว่า ปีนี้เธอดูแลในส่วนของ Academic Program ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือกับ 25 ภาควิชา จากมหาวิทยาลัย 12 แห่งที่สนใจด้านการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ คำว่า Trooper จึงสื่อความหมายถึง ‘กองกำลังนิสิตนักศึกษา’ ที่อาสามาตะลุยสำรวจเยาวราชและแฮ็กเมืองไปด้วยกัน ซึ่งนับรวมๆ แล้วกองกำลังนี้มีสมาชิกมากถึง 500 คนเลยทีเดียว ตั้งต้นจากคำถามว่าเมืองต้องการอะไร“เราทำการรีเสิร์ชหาโจทย์จากพื้นที่ก่อนว่าเมืองต้องการอะไร โดยการสอบถามจากคนในย่านและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ว่ายังมีอะไรที่ควรถูกแก้ไขหรือพัฒนาเพิ่มขึ้น แล้วรวบรวมประเด็นที่แก้ได้ด้วยการออกแบบอย่างสร้างสรรค์เข้าไปคุยกับแต่ละสถาบันว่าเขามีความสนใจอยากเข้าร่วมแค่ไหน ไม่ใช่แค่ภาควิชาการออกแบบอย่างเดียว มีคณะอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ โบราณคดีด้วย บางภาควิชาไม่เคยร่วมงานกับดีไซน์วีคมาก่อน แต่เราคิดว่าถ้านำประเด็นเหล่านั้นไปใช้ในการเรียนการสอน จะได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นแน่นอน พื้นที่ของเมืองจะเป็นโจทย์ที่น้องๆ นิสิตนักศึกษาได้ลงมือทำโปรเจกต์กันจริงๆ เราไม่ได้มีพาวิเลียนใหญ่โตให้คนมาถ่ายรูป งานส่วนใหญ่เป็นผลงานชิ้นงานเล็กๆ ที่เอาโจทย์ของเมืองเป็นที่ตั้ง” “เวลามองภาพรวมของเยาวราช สิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือความเป็นไชน่าทาวน์หรือสตรีทฟู้ด แต่จากการทำรีเสิร์ชเราพบว่า วัฒนธรรมจีนในย่านนี้มีหลายยุคสมัยและยังมีหลายเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับเยาวราช เช่น ถนนเส้นนี้มีโรงหนังที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้มากถึง 6 โรง แปลว่าเมื่อก่อนที่นี่มีประวัติความรุ่มรวยของการฉายหนัง มันยิ่งใหญ่มากเลยนะถนนเส้นเดียวมีโรงหนัง 6 โรง หรือบางวัฒนธรรมก็ถูกละเลยไป เช่น งิ้ว ที่คนรุ่นใหม่มองว่าเข้าถึงยากเพราะฟังไม่รู้เรื่อง แต่จริงๆ เนื้อหาบทละครมันสนุกมาก อาจจะแค่ขาดช่องว่างของการแปลซับไตเติลหรือเปล่า ถ้าเราทำให้งิ้วเข้าถึงง่ายขึ้น ความสวยงามของศิลปะเหล่านี้ก็จะไม่สูญหายไป” “หรือจากการเดินสำรวจเยาวราชตามซอกหลืบ เราก็พบพื้นที่โล่งที่ไม่ถูกใช้งานอยู่เยอะ เป็นที่ดินราคาแพงที่เจ้าของยังไม่อยากลงทุนก่อสร้างอะไรขึ้นมา ทีมเราก็ลองติดต่อขอเอาหนังกลางแปลงเข้าไปฉาย เพื่อเปิดโอกาสให้คนเห็นว่าเราสามารถใช้พื้นที่แบบเดิมที่เป็นอยู่ แต่คิดสร้างสรรค์ให้มีประโยชน์มากกว่าทิ้งร้างไว้เฉยๆ”ไอเดียที่จุดประกายจากคนรุ่นใหม่“สิ่งที่เห็นชัดมากจากการทำงานร่วมกับน้องๆ รุ่นใหม่คือ ไอเดียของทีมเราอาจจะ Out of Date ในเร็ววัน เพราะหลักสูตรของแต่ละคณะเปลี่ยนไปเยอะมาก เครื่องมือ เทคนิค วิธีการ นวัตกรรมที่เด็กยุคนี้ใช้มีความเป็นดิจิทัลและน่าสนใจมาก ยกตัวอย่างเช่นโปรเจกต์ที่สนุกมากจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เขาใช้เมตาเวิร์สจำลองโรงหนังเก่าขึ้นมาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เราว่าเป็นงานที่เราทำเองไม่ได้ หรืออย่างธูปรักษ์โลกก็น่าสนใจ เราคุยกันมานานแล้วว่าควันจากธูปก่อให้เกิดมลภาวะ ซึ่งในย่านเยาวราชมีศาลเจ้าเต็มไปหมด คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาเล็งเห็นไอเดียนี้ เลยเอามาเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรให้การจุดธูปไหว้เจ้าตามความเชื่อส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด”  Small Change, Big Moveแนวคิดหนึ่งที่ SATARANA เชื่อมาโดยตลอดคือ Small Change, Big Move บางโปรเจกต์อาจดูเป็นผลงานชิ้นเล็กๆ แต่ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังเป็นแนวคิดที่สามารถนำไปต่อยอดทำซ้ำได้ง่าย อย่างเช่นเยาวราชเนวิเกเตอร์ โดยวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเกิดจากไอเดียว่าหลายครั้งแม้จะใช้กูเกิลแมปแต่ก็ยังเดินหลงในเยาวราชอยู่ดี เพราะแทบไม่มีป้ายบอกทางในพื้นที่นี้เลย ป้ายนำทางจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นโปรแกรมติดตั้งถาวรที่จะอยู่คู่เยาวราชต่อไปแม้งานดีไซน์วีคจะสิ้นสุดลงแล้ว หรือนานาม้านั่งสำหรับทุกคน โดยคณะสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่จะติดตั้งถาวรอยู่ในชุมชนเลื่อนฤทธิ์เช่นกัน “SATARANA ทำหน้าที่เป็น Facilitator เชื่อมทุกคนเข้ามาอยู่ด้วยกัน” อุ้มอธิบายถึงบทบาทของตนเองในโปรเจกต์นี้ “เราพยายามทำเท่าที่จะทำได้ เช่น เพิ่มป้ายให้ตรงนี้ไม่เดินหลง ทำป้ายรถเมล์ใหม่ให้มีความชัดเจนขึ้น มีการกั้นเลนสำหรับคนที่มาเดินเที่ยว ปรับปรุงระบบการสัญจรอย่างไรให้การมาเยาวราชสะดวกขึ้น เป็นการเติมเต็มช่องว่างไปทีละเล็กละน้อยให้พื้นที่เมืองมันเกิดขึ้นได้” จะเห็นได้ว่า Bangkok City Trooper นำการออกแบบมาใช้ทดลองแนวคิดในการพัฒนาเมืองหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถวัดผลและผลักดันไปสู่การใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ “เมือง-มิตร-ดี ในแบบของอุ้มคือเราอยากเห็นพื้นที่สาธารณะหลายๆ ที่สามารถถูกใช้งานได้โดยกลุ่มคนทุกแบบ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ให้เขารู้สึกว่ามันซัพพอร์ตไลฟ์สไตล์หรือความต้องการในการใช้ชีวิตในเมืองได้ งานออกแบบที่ดีทุกคนต้องเข้าถึงได้ เราไม่ได้ดีไซน์แค่เพื่อให้ใครบางคนชื่นชมผลงาน แต่ต้องการดีไซน์ให้ทุกคนสามารถใช้ฟังก์ชั่นของมันได้”–Bangkok Design Week 2023urban‘NICE’zationเมือง-มิตร-ดี4 – 12 FEB 2023#BKKDW2023#BangkokDesignWeek#urbanNICEzation