อยากขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า อย่าแช่แข็งวัฒนธรรม
ปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้คือมูฟเมนต์ของคนเจนใหม่ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามท้าทายสังคมในหลายประเด็น แน่นอนว่ารวมถึงประเพณี ความเชื่อ และวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่มีมาแต่ดั้งเดิม เพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลและเปลี่ยนแปลงไปตามสังคม การจะรักษาวัฒนธรรมให้ยืนระยะอยู่ได้ยาวนานจึงไม่ใช่การคงสภาพเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ควรทำให้วัฒนธรรมยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย และเปิดพื้นที่ให้ความคิดของผู้คนเติบโต ผู้คนสามารถหยิบสิ่งเก่ามาปัดฝุ่น ตีความ หรือปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องไปกับสังคมได้ วัฒนธรรมนั้นจึงจะสามารถมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เติบโตตามไปด้วย เช่นตัวอย่างที่เราหยิบยกมาต่อไปนี้ ล้าสมัยกลายเป็นล้ำ ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นจากการสั่งสมประสบการณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวที่เราซึมซับ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ หลายอย่างที่ดูล้าสมัยกลับกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่หยิบจับมาเป็นไอเดียในการออกแบบได้อย่างไม่มีใครคาดคิด เหมือนอย่าง “หิมพานต์มาร์ชเมลโล่” ไวรัลดังทางโซเชียลช่วงปี 2020 ที่มีจุดเริ่มต้นจากการที่คนสังเกตเห็นว่ารูปปั้นสัตว์หิมพานต์บางวัดโดยเฉพาะแถบภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง ไม่ได้มีหน้าวิจิตรบรรจงมากนัก เพราะทำขึ้นง่าย ๆ ด้วยฝีมือช่างท้องถิ่นที่มีจิตศรัทธา ทว่าไม่ได้ร่ำเรียนวิชามาเหมือนช่างหลวง แต่มองไปมองมาก็น่ารักน่าเอ็นดูไปอีกแบบ ชาวเน็ตจึงกระหน่ำวาดแฟนอาร์ตน้อง ๆ กันอย่างคึกคัก และเกิดการต่อยอดนำไปผลิตเป็นคุกกี้ สติกเกอร์ พวงกุญแจ โมเดล ฯลฯ ที่ปลุกกระแสให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเที่ยวชมวัดวาตามรอยน้อง หรือบางคนอินถึงขั้นไปศึกษาความเป็นมาของสัตว์หิมพานต์เพิ่มเติมเลยก็มี ทุกวันนี้แม้กระแสจะไม่ได้แรงเท่าช่วงพีก แต่ในกรุ๊ปหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ก็ยังมีคนนำภาพน้องตามที่ต่าง ๆ มาแบ่งปันกันอยู่เรื่อย ๆ และทำให้เราไม่หยุดที่จะสังเกตวัตถุดิบรอบตัวที่ดูธรรมดามาทำให้เกิดคุณค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ หยิบของใกล้ สร้างสรรค์ให้ไกล หนึ่งในฟังก์ชั่นสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ คือการชุบชีวิตให้ของบางอย่างที่อาจไม่เคยมีมูลค่า กลับกลายเป็นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมา โดยเฉพาะของที่เป็นวัตถุดิบและภูมิปัญญาเฉพาะตัวของท้องถิ่นที่ไม่ค่อยมีคนให้คุณค่าและกำลังจะเลือนหาย ร้านค้าอย่าง Citizen of Nowhere คือร้านขายของดีไซน์ร่วมสมัย ด้วยสโลแกนที่ว่า “Artisanal Products made by local craftsmen” เน้นของที่ผลิตโดยวัตถุดิบท้องถิ่นหรือช่างฝีมือท้องถิ่นในประเทศไทย อย่างกระเป๋าถือที่นำ “สาดกก” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเฉพาะตัวของช่างในจังหวัดจันทบุรีมาอยู่ในดีไซน์ที่แสบสันและร่วมสมัย นอกจากจะทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของภูมิปัญญาดั้งเดิม ยังช่วยกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังไอเดียของร้านค้าที่ว่าก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบที่ถนัดการหยิบของใกล้ตัวที่เห็นได้ตามท้องถนนมาเล่าเรื่องใหม่ผ่านงานออกแบบที่หลากหลาย แต่มีจุดร่วมคือความแสบสันแกมน้ำเสียงประชดประชัน อย่างที่หลายคนอาจจะรู้จักเขาจากผลงาน “Cheap Ass Elites” ที่นำตะกร้าพลาสติกใส่ผลไม้ที่เห็นได้ตามตลาดสดมาดัดแปลงเป็นเก้าอี้ดีไซน์หรูนั่นเอง สื่อบันเทิงสอดไส้วัฒนธรรมที่ทั้งปังและทำเงิน หากยังจำซีรีส์ดังอย่าง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” กันได้ คงพอนึกออกว่าอิทธิพลของคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีใต้จากซีรีส์เรื่องนั้น ขับเคลื่อนให้การท่องเที่ยวและวงการอาหารเกาหลีเฟื่องฟูมากขนาดไหน ตัดภาพมาในปี 2021 ซีรีส์จากเกาหลีใต้ยังคงเป็นเครื่องมือชั้นยอดที่สอดไส้วัฒนธรรมเกาหลีไปนำเสนอสู่คนทั่วโลกเช่นเคย และยังคงฟอร์มดีไม่มีแผ่ว ซีรีส์อย่าง Squid Game ที่จู่ ๆ ก็ทำให้ขนมน้ำตาลแผ่นเก่าแก่ของเกาหลีใต้ที่ไม่มีใครเหลียวมองมาร่วมทศวรรษอย่าง “ขนมทัลโกนา” ให้กลับมาระเบิดระเบ้ออีกครั้งจนมีคนทดลองทำตามกันเต็มยูทูบ หรือซีรีส์ที่ฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองอย่าง Hometown Cha-Cha-Cha เรื่องราวของหมอฟันสาวที่ตัดสินใจย้ายจากกรุงโซลไปอยู่กงจิน หมู่บ้านชายทะเลเล็ก ๆ ที่อบอวลไปด้วยความโรแมนติกและอบอุ่นของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นอกจากขายความอบอุ่นชวนฝันของตัวละครอย่าง “หัวหน้าฮง” ไปครองใจสาวทั่วโลก เนื้อหาของซีรีส์ยังช่วยผลักดันการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ให้ขยายออกไปนอกกรุงโซลที่กำลังอยู่ในจุดอิ่มตัว ซึ่งก็ดูจะประสบความสำเร็จไม่น้อย เพราะมีรายงานว่าช่วงวันหยุดชูซอก มีนักท่องเที่ยวแห่ไปเที่ยวเมืองโพฮังที่เป็นโลเคชันหลักของซีรีส์เรื่องนี้มากเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว หากสนใจความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในหลากหลายมิติ ต้องไม่พลาดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 เรามีงานออกแบบน่าสนใจที่นำวัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่นมาตีความและนำเสนอใหม่ให้เลือกชมเพียบ รับรองว่าชิ้นงานสร้างสรรค์เหล่านี้จะทำให้คุณได้รับแรงบันดาลใจกลับไปเต็มเปี่ยมแน่นอน #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation
โควิดเร่งให้นักออกแบบยิ่งต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
ก่อนหน้านี้สังคมไทยตื่นตัวกันมากกับการลดใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งจนเกิดเทรนด์หลายอย่างขึ้น เช่น การพกถุงผ้าไปชอปปิ้ง ร้านรีฟิลที่นำขวดเก่าไปเติมผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ แต่พอเกิดการระบาดของโควิด-19 ความจำเป็นก็ทำให้เราสร้างขยะเพิ่มขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ หน้ากากอนามัยที่ก็ทำมาจากเม็ดพลาสติกเช่นกัน แน่นอนว่าสถานการณ์เหล่านี้ยากจะหลีกเลี่ยง แต่สิ่งที่เราพอทำได้คือการเลือกสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อให้ง่ายต่อการกำจัดขยะติดเชื้อ และสามารถนำพลาสติกไปรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดอื่น ๆ ในอีกหลากหลายมิติที่ลงมือทำแล้วช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ มาดูกันว่ามีไอเดียและงานออกแบบอะไรน่าสนใจบ้าง ไม่ต้องสวมใส่ก็ปังลงโซเชียลได้ ฟาสต์แฟชั่นคือกระบวนการผลิตเสื้อผ้าต้นทุนต่ำที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายมหาศาล ทั้งยังมีประเด็นแรงงานทาสที่ได้รับค่าตอบแทนไม่เป็นธรรมด้วย จึงมีหลายแบรนด์ที่พยายามลดการทำลายโลกด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น หันมาผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุออร์แกนิก นำสินค้าเก่ามาดัดแปลงเป็นไอเท็มใหม่ นำวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิล และบางแบรนด์ก็เลือกที่จะไม่ผลิตเสื้อผ้าออกมาซะเลย นั่นคือแบรนด์ Carlings จากนอร์เวย์ที่ค้นพบอินไซต์ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยชอบสั่งเสื้อผ้าออนไลน์เพื่อถ่ายรูปลงโซเชียลแล้วส่งคืน สร้างทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและความปวดหัวให้กับร้าน ทางแบรนด์เลยเกิดปิ๊งไอเดียในการขายเสื้อผ้า 3D ให้ลูกค้าสั่งซื้อออนไลน์แล้วส่งรูปพอร์เทรตมา เขาจะรีทัชเสื้อผ้าเก๋ ๆ เท่ ๆ ส่งกลับไปให้ แค่นี้รูปของเราก็พร้อมลงโซเชียลเรียกยอดไลก์โดยไม่ต้องเปลืองทรัพยากรในการผลิตและขนส่ง เป็นไอเดียที่กวนและสนุกจนได้รางวัล Grand Prix สาขา Digital Craft ในงาน Cannes Lions 2019 รักษ์โลกตั้งแต่เริ่มออกแบบ เมื่อพูดถึงการรีไซเคิล เรามักนึกถึงการนำขยะไปดัดแปลงเพื่อให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง แต่ตอนนี้กำลังมีแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจคือ Circular Design ที่คิดมาตั้งแต่เริ่มออกแบบเลยว่าวงจรของผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นจะถูกหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ยังไงได้บ้างให้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงสุด ตัวอย่างเช่น PaperLab ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Epson เป็นเครื่องถ่ายเอกสารที่ผลิตกระดาษรีไซเคิลได้ครบจบในตัว แค่ใส่กระดาษเก่าเข้าไปก็ได้กระดาษใหม่พร้อมใช้งานในเวลาเพียงไม่กี่นาที ควรมีติดออฟฟิศไว้เป็นอย่างยิ่ง แนวคิด Circular Design สามารถนำไปปรับใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ในอุตสาหกรรมแฟชั่น หากโฟกัสที่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว ก็อาจมีการเลือกใช้วัสดุบางอย่างที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือต้องผลาญทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำมาผลิต แต่ถ้าให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนวัตถุดิบในระบบ โดยคิดตั้งแต่ต้นว่าเมื่อหมดอายุขัย เสื้อผ้าชิ้นนี้ต้องนำกลับมาหมุนเวียนผลิตสินค้าใหม่ได้ 100% เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและไม่สร้างขยะโดยไม่จำเป็น แบบนี้ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น วิกฤตขยะสู่วัสดุทดแทน ในงาน Virtual Design Festival ปี 2020 จัดโดยกลุ่ม New Designers ประเทศอังกฤษ มีผลงานนักศึกษาหลายชิ้นที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือบรรจุภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากวัสดุชีวภาพกินได้ เป็นผลงานของ Holly Grounds บัณฑิตจาก Ravensbourne University ที่ทำห่อบะหมี่ขึ้นจากแป้งมันฝรั่งที่ผสมเครื่องปรุงลงไปเสร็จสรรพ เวลากินก็แค่เทน้ำร้อนใส่ลงไปไม่ต้องฉีกซองให้ยุ่งยาก และที่สำคัญคือไม่สร้างขยะด้วย ซึ่งจริง ๆ ไอเดียคล้ายกันนี้ก็มีคนไทยเคยเผยแพร่ออกมาอยู่เหมือนกัน เช่น นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ค้นพบวิธีทำบรรจุภัณฑ์เครื่องปรุงจากเจลาตินหนังปลาเหลือทิ้งในโรงงานแปรรูป หรืออีกงานวิจัยหนึ่งของนักศึกษาสาขาวิชาวัสดุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่คิดค้นฟิล์มพลาสติกย่อยสลายได้จากใบสับปะรด เป็นนวัตกรรมที่ได้ประโยชน์สองต่อ ทั้งช่วยลดขยะพลาสติกและนำของเหลือทิ้งในระบบอุตสาหกรรมกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย แม้จะยังไม่มีการนำไปปรับใช้ในธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะต้องใช้ต้นทุนสูงในการลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ แต่สำหรับธุรกิจเล็ก ๆ ที่คล่องตัวกว่า นี่อาจเป็นไอเดียที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกได้ไม่ยาก “ฉลากคาร์บอน” สำคัญพอกับฉลากโภชนาการ ทุกวันนี้ความตระหนักเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนเป็นประเด็นใหญ่ที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญ หลายแบรนด์จึงพยายามนำเสนอวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ผ่านแคมเปญต่าง ๆ อย่าง Oatly บริษัทนมข้าวโอ๊ตยักษ์ใหญ่ที่สื่อสารว่าผลิตภัณฑ์จากพืชเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่านมวัว เพราะการเลี้ยงวัวเป็นตัวการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ Oatly ยังสนับสนุนการทำเกษตรอย่างยั่งยืน รวมถึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ง่ายต่อการรีไซเคิล และออกแคมเปญโชว์ “ฉลากคาร์บอน” ให้เห็นกันไปเลยว่า สินค้าแต่ละอย่างปล่อยคาร์บอนจากฟาร์ม โรงงาน และการขนส่งเท่าไหร่บ้าง เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจและชูจุดขายด้านความใส่ใจสิ่งแวดล้อม แบรนด์นี้จึงได้ใจผู้บริโภคไปแบบเต็ม ๆ แถมยังมีร้านกาแฟชื่อดังอย่าง Starbucks มาจับมือเป็นพาร์ตเนอร์อีกต่างหาก ยังมีนวัตกรรมและงานออกแบบน่าสนใจอีกมากมายที่ตอบโจทย์เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม สายกรีนทั้งหลายต้องไม่พลาดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ซึ่งกำลังจะจัดแสดงในวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ มาค้นหาคำตอบและเรียนรู้ไปด้วยกันว่า โลกเรากำลังเผชิญความท้าทายอะไรบ้าง และงานออกแบบจะเข้าไปแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation อ้างอิง https://www.canneslions.com/enter/awards/craft/digital-craft-lions/address-the-future-case-study https://www.epson.co.th/be-cool-paperlab https://www.dezeen.com/2020/07/13/holly-grounds-dissolvable-noodle-packaging-design
เมื่องานออกแบบช่วยชุบใจที่พังหลังโควิด
การแพร่ระบาดยาวนานไม่จบสิ้นของโควิด-19 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสุขทางใจของผู้คนในสังคมถดถอย ไม่ว่าจะวัยรุ่น วัยทำงาน วัยเกษียณ ต่างเครียดสะสมกันทั้งนั้น เพราะต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้าและวิตกกังวลกับข่าวร้าย นอกจากนี้ยังมีหลายคนสูญเสียสมาชิกในครอบครัว จนเกิดความบอบช้ำในจิตใจยากจะเยียวยา โดยในปี 2020 Gallup หน่วยงานที่สำรวจเรื่องอารมณ์ของประชาคมโลกมาอย่างต่อเนื่อง เผยว่าผู้คนส่วนใหญ่มีระดับอารมณ์แง่ลบสูงที่สุดเท่าที่เคยสำรวจมาในรอบ 15 ปี อาการป่วยทางกายมักมีสัญญาณบ่งบอกให้รับรู้ได้ชัดเจน แต่อาการป่วยทางใจมักก่อตัวขึ้นช้า ๆ และสะสมอยู่ภายในโดยไม่รู้ตัว จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องหมั่นเช็กอารมณ์ความรู้สึก และประคับประคองใจให้มั่นคงในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาอาชีพก็ได้พยายามหาหนทางปลอบประโลมสังคม ด้วยการผสานงานออกแบบเข้ากับศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อสร้างสรรค์รูปแบบการฟื้นฟูความสุขสงบทางใจของผู้คนให้เป็นไปได้รู้จบ ลองมาดูกันว่ามีนวัตกรรมใดน่าสนใจบ้าง แอปดูแลใจที่เข้าใจหัวอกเรา สตาร์ตอัปเกี่ยวกับสุขภาพจิตได้รับการพัฒนามาพักใหญ่ และยิ่งเติบโตเป็นเท่าตัวในห้วงเวลาที่คนทั่วโลกเกิดความรู้สึกทางลบกันมากขึ้น นักวิจัยของ ORCHA เผยว่าในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ มีการใช้แอปสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นราว 200% โดยเหตุผลหลักที่หลายคนหันมาพึ่งพาแอปเหล่านี้คือเพื่อรองรับภาวะซึมเศร้าที่ทวีความรุนแรง และป้องกันการทำร้ายตัวเอง มองผ่านเลนส์ของนักออกแบบและนักลงทุน แม้ตลาดเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพจะมีผู้เล่นมากมาย แต่ก็ยังมีช่องว่างของความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น Exhale แอปฟื้นฟูสุขภาวะทางอารมณ์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้หญิงผิวดำ ผู้หญิงผิวสี ผู้หญิงพื้นเมืองโดยเฉพาะ ฟังก์ชันต่าง ๆ จึงเป็นการบำบัดด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงบาดแผลที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ เป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงผิวสีสามารถวางใจได้ว่าการเดินทางภายในจิตใจของพวกเธอจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม Exhale ชนะรางวัล Webby Award ในหมวดหมู่ Apps and Software Health & Fitness 2021 และในอนาคตทีมผู้พัฒนายังมีแผนเปิดตัวแอปสำหรับคอมมิวนิตี้อื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย ใจหนูโอเคไหมให้มอนสเตอร์ช่วยบอก มีการสำรวจพบว่าเด็กไทยเครียดและกังวลใจเพราะต้องเรียนออนไลน์มากถึงร้อยละ 74.6 และจากข่าวที่เห็นตามสื่อก็มีเด็กหลายคนเครียดจัดถึงขั้นตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้ผู้ใหญ่เลย จึงมีความพยายามจากผู้ใหญ่หลายกลุ่มที่ช่วยกันหาหนทางเยียวยาเด็ก ๆ เหล่านี้ หนึ่งในนั้นคือโปรเจ็กต์ Meet Your Monster ผลงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์, Glow Story และทีมนักจิตวิทยา MASTERPEACE ที่นำเครื่องมือทางจิตวิทยามาปัดฝุ่นใหม่ให้ดูเป็นมิตร และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายง่ายขึ้น ด้วยการครีเอต “มอนสเตอร์” 4 ประเภทที่สะท้อนบุคลิกและความกังวลใจที่แอบแฝงอยู่ขึ้นมา เพื่อส่งต่อกำลังใจและช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจตัวเองดีขึ้น จะได้หาวิธีรับมือกับภาวะอารมณ์อย่างเหมาะสม โปรเจ็กต์นี้เพิ่งได้รับรางวัลหมวด Creative for Sharing จากเวที Adman Awards & Symposium 2020-2021 มาหมาด ๆ วัยรุ่นทั้งหลายลองคลิกเข้าไปเช็กสุขภาพจิตเบื้องต้นกันได้เลยที่ https://meetyourmonster.paperform.co บำบัดวิถีใหม่ ไม่ต้องจับไม่ต้องทัช Mindbody ศึกษาแนวโน้มการดูแลสุขภาพของชาวอเมริกันในปี 2021 พบว่า 31% สนใจลองใช้บริการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องสัมผัสตัวกันท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ตัวอย่างบริการในกลุ่มนี้ เช่น การบำบัดด้วยความเย็น บำบัดด้วยการกดทับ บำบัดด้วยไฮเปอร์บาริก ถ้ำเกลือ ห้องซาวน่าอินฟราเรด และอ่างลอยน้ำ ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ และเริ่มมีผู้ให้บริการมากขึ้นในประเทศไทยแล้วเช่นกัน ในเมืองที่เต็มไปด้วยอะไรล้ำ ๆ อย่างนิวยอร์ก มีสตูดิโอชื่อ ReCOVER ที่เน้นผนวกเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับศาสตร์การฟื้นฟูสุขภาพ ก่อตั้งโดย Rick Richey และ Aaron Drogoszewski ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการฟิตเนสมากว่า 40 ปี พวกเขาเห็นช่องว่างระหว่างการสปาเพื่อผ่อนคลายและการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟู จึงทดลองนำสองสิ่งนี้มารวมเข้าด้วยกัน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เครื่องมือบำบัดสุขภาพจิตที่น่าสนใจคือ NuCalm ที่ช่วยลดความเครียด คลายความวิตกกังวล และปรับปรุงคุณภาพการนอน ด้วยกระบวนการกระตุ้นสมองควบคู่ไปกับซาวนด์แทร็กบำบัด เสริมสารบำรุงสมองกาบา และปิดตาเพิ่มความผ่อนคลาย ทำให้ร่างกายรู้สึกเหมือนได้งีบหลับลึก 2-3 ชั่วโมงภายในระยะเวลา 30 นาที ก่อนจะตื่นมาด้วยความสงบผ่อนคลาย ฟื้นฟูใจทางไกล อยู่ที่ไหนก็ทำได้ การล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้สถานที่หลายแห่งปิดทำการชั่วคราว แต่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนต่างทำงานไม่เคยหยุดนิ่ง จึงมีโปรเจ็กต์น่าสนใจมากมายผุดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเราขอหยิบยกบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ โปรเจ็กต์แรกเป็นของ The Rubin Museum of Art ที่สร้างโปรแกรมการบำบัดวิถีพุทธขึ้นมาเยียวยาจิตใจผู้คน โดยนิทรรศการออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือคลิปวิดีโอห้องสวดมนต์ของพระทิเบตความยาว 2 ชั่วโมง ที่ทางมิวเซียมตั้งใจให้ผู้คนใช้เป็นที่หลบภัยมาทำสมาธิในยามเคร่งเครียดวิตกกังวล โปรเจ็กต์ถัดมาเป็นของ Monterey Bay Aquarium ที่ชวนคนรักมหาสมุทรมาผ่อนคลายจิตใจและทำสมาธิผ่าน MeditOcean ซีรีส์คลิปวิดีโอความยาวประมาณคลิปละ 10-15 นาที ที่มีทั้งเสียงคลื่นซัดสาด แมงกะพรุนลอยน้ำ เต่าทะเลแหวกว่ายไปมา ฝูงปลากำลังเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ ภาพสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลที่ถ่ายทอดอย่างมีศิลปะมองแล้วเพลิดเพลินชวนผ่อนคลาย ประกอบกับเสียงบรรยายนุ่มละมุนที่ช่วยไกด์เรื่องการฝึกสมาธิ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการพาใจกลับสู่สภาวะสมดุล ซึ่งสามารถทำเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน มันจึงเวิร์กมากสำหรับช่วงกักตัว และเป็นไอเดียน่าสนใจสำหรับการนำไปต่อยอดสร้างสรรค์กิจกรรมออนไลน์ใหม่ ๆ ในอนาคต หากสนใจศึกษาศาสตร์การบำบัดและเยียวยาจิตใจด้วยงานออกแบบให้ถึงแก่นยิ่งขึ้น ขอเชิญชวนมาร่วมชมงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ซึ่งกำลังจะจัดแสดงในวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ เรามีหลากหลายแง่มุมของงานออกแบบเพื่อเยียวยาสุขภาพจิตที่อยากชวนมาดูและ “Co” กันคิด เพื่อวางแผนรับมือกับความท้าทายในอนาคตด้วยใจที่แข็งแกร่งดุจหินผากันถ้วนหน้า ! #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation อ้างอิง https://www.creativethailand.org/new/magazine/187/Design-to-De-stress https://www.facebook.com/EEFthailand https://www.exhalesite.com https://rubinmuseum.org/landing/rubin-care-package-art-and-practices-for-navigating-your-world https://www.montereybayaquarium.org/stories/guided-mindfulness-meditations
เทรนด์การออกแบบพื้นที่ ในวันที่โควิดยังไม่มีวี่แววจะหาย
ห้วงเวลานี้หลายคนอาจยังวาดหวังถึงการกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 แต่ความจริงแล้วโลกไม่มีวันหมุนย้อนกลับสู่ช่วงเวลานั้นอีกต่อไป และถึงแม้วิกฤตินี้จะผ่านพ้นไปได้ก็ยังมีความท้าทายใหม่ ๆ รอเราอยู่เบื้องหน้าอีกมากมาย การวางแผนมุ่งสู่ทางเดินใหม่ในอนาคตจึงเป็นประเด็นสำคัญที่นักออกแบบทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะแวดวงการออกแบบพื้นที่ทั้งระดับพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ ที่มีการชูเรื่องความปลอดภัย การลดจุดสัมผัส และการเว้นระยะห่างขึ้นมาเป็นโจทย์หลัก เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคระบาด และเตรียมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจถูกค้นพบเพิ่มเติมในอนาคต เราจึงอยากชวนคุณมาสำรวจเทรนด์เกี่ยวกับพื้นที่กันสักหน่อยว่าตอนนี้มีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อะไรบ้างที่กำลังเกิดขึ้น ย่อโลกทั้งใบมาใส่ไว้ในบ้าน ทุกวันนี้นิยามของบ้านในใจหลาย ๆ คนเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง จากเมื่อก่อนที่เรามีบ้านไว้พักผ่อนหลับนอนเป็นหลัก แต่ในช่วงเวลาที่การออกไปนอกบ้านยากลำบากและมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรค หลายคนจึงหันมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ทำงาน ดูหนัง ช้อปปิ้ง ฯลฯ การออกแบบมุมโปรดในบ้านยุคใหม่จึงต้องลงลึกถึงไลฟ์สไตล์ที่แท้จริงของผู้อยู่อาศัยอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น มีมุมสำหรับออกกำลังกาย โรงหนังขนาดย่อม ครัวที่มีอุปกรณ์ครบครัน ห้องทำงานที่ส่งเสริมความโปรดักทีฟ เป็น Multifunctional Home ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตอย่างรอบด้าน และช่วยจุดประกายความสุขในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังมีการสำรวจโดยลุมพินี วิสดอม บริษัทวิจัยและพัฒนาในเครือบริษัท LPN ที่ระบุว่า บ้านอัจฉริยะ หรือ Smart Residence มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 40% ต่อปี โดยบ้านเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีฟังก์ชันตอบโจทย์ทั้งในแง่ของการอยู่อาศัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพิ่มความทันสมัยสะดวกสบาย รวมถึงมีการออกแบบที่ส่งเสริมความปลอดภัยด้านสุขอนามัย เช่น มีระบบไหลเวียนอากาศที่ดี มีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ทำงานด้วยระบบเซ็นเซอร์ ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคหลังโควิดให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มุมมองใหม่ของพื้นที่สาธารณะ นวัตกรรมการออกแบบพื้นที่สาธารณะให้ตอบโจทย์ความธรรมดานิยามใหม่ ไม่ได้หมายถึงการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเพียงอย่างเดียว แต่การนำ “การคิดเชิงระบบ” (System Thinking) มาปรับใช้ในการจัดสรรพื้นที่เดิมด้วยมุมมองใหม่ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน อย่างสวนโดมิโนพาร์ก (Domino Park) ย่านบรูคลิน กรุงนิวยอร์ก ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่แรก ๆ ของโลกที่ประชากรได้รับวัคซีนคุณภาพดีในสัดส่วนมากพอ จึงสามารถคลายล็อกดาวน์ให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติอีกครั้ง แต่ย้อนกลับไปในช่วงกลางปี 2020 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในนิวยอร์กยังไม่อาจวางใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่จึงขีดเส้นวงกลมไว้บนพื้นหญ้าและออกกฎเกณฑ์ให้ทุกคนดื่มด่ำสายลมแสงแดดกันแบบห่าง ๆ ไม่ล้ำเส้นเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน เป็นอีกไอเดียหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ที่ต้องการมีความสุขกับกิจวัตรประจำวัน แต่ก็ไม่ละเลยความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสให้ได้ อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในการออกแบบพื้นที่สาธารณะให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสบายใจยิ่งขึ้น คือโปรเจ็กต์ “Brief Encounters” ในฮ่องกง ที่พยายามตอบสนองความอยากมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันของผู้คนในพื้นที่สาธารณะ แต่ขณะเดียวกันความกังวลเรื่องโรคระบาดก็ยังมากโขอยู่ การพบปะกันของเราจึงควรมีฉากกั้นสักหน่อยเพื่อความอุ่นใจและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยนักออกแบบเลือกใช้โครงเหล็กและพลาสติกใสหลากสีมาประกอบเข้าด้วยกันในลักษณะคล้ายหีบเพลง เพื่อให้ง่ายต่อการขนย้ายไปติดตั้งตามที่ต่าง ๆ นอกจากนี้การจัดวางในรูปแบบที่คดเคี้ยวยังสร้างมิติใหม่ให้พื้นที่นั้นดูสนุกสนานมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น ประกอบกับความโปร่งแสงของวัสดุที่มองทะลุถึงกันได้ ทำให้ผู้คนไม่ถูกปิดกั้นจากบรรยากาศรอบตัว นับเป็นอีกเทรนด์หนึ่งของงานออกแบบพื้นที่สมัยใหม่ในยุคโควิด-19 ที่เราจะได้เห็นงานลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตแน่นอน ผสานธรรมชาติเข้ากับการออกแบบพื้นที่ การใช้ชีวิตในจังหวะเร่งรีบและไล่ตามเทคโนโลยีของโลกสมัยใหม่ตลอดเวลา ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เร่งปฏิกิริยาความเครียดสะสม ทำให้มนุษย์เราต้องหาหนทางเยียวยาจิตใจกันอย่างเร่งด่วน การฟื้นฟูใจด้วยพลังธรรมชาติบำบัดและนำพื้นที่สีเขียวกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเมือง จึงเป็นหนึ่งในเทรนด์งานออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในยุคโควิด-19 เช่น โปรเจ็กต์ Skylines ของบริษัท Lissoni Casal Ribeiro ที่ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวด Skyhive 2020 Skyscraper Challenge แนวคิดของงานออกแบบนี้คือการเนรมิต “สวนป่าแนวตั้ง” ขึ้นมาบนตึกระฟ้าใจกลางเมืองใหญ่ เพื่อใช้ประโยชน์จากต้นไม้ทั้งในแง่ฟังก์ชันการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยฟอกอากาศ และการหมุนเวียนพลังงานมาใช้ ส่วนอีกมิติหนึ่งก็แน่นอนว่าพื้นที่สีเขียวนั้นช่วยปลอบประโลมจิตใจมนุษย์ได้อย่างมากมายมหาศาล ชุบชูเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์ หลังจากเมืองและเศรษฐกิจซบเซาไปนาน กลยุทธ์หนึ่งที่หลายเมืองในโลกทำเพื่อฟื้นฟูชีวิตชีวาของเมือง ชุบชูใจคน และกระตุ้นเศรษฐกิจ คือการนำงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์มาดึงดูดคน หลายประเทศกลับมาจัดนิทรรศการศิลปะอีกครั้ง โดยเฉพาะในรูปแบบ Public Art นำงานศิลปะไปจัดวางตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้คนออกมาใช้ชีวิต และเน้นจัดในพื้นที่เปิดโล่ง ไม่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องโควิด เช่น การกลับมาจัดงาน Luma Festival เทศกาล Projection Mapping งานสร้างสรรค์ที่แต่งแต้มสถาปัตยกรรมด้วยแสง สี และแอนิเมชันน่าตื่นตาตื่นใจ บนเงื่อนไขใหม่คือจำกัดจำนวนผู้เข้าชมและเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัย หรืองานศิลปะในพื้นที่สาธารณะอย่าง การห่อคลุมประตูชัยในกรุงปารีส 16 วัน ตั้งแต่ 18 กันยายนถึง 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ผลงานนี้เป็นไอเดียของคริสโต ศิลปินนักห่อหุ้มที่วางแผนจะทำโปรเจ็กต์นี้ร่วมกับภรรยามานานกว่า 60 ปี แต่เขาเสียชีวิตลงในปี 2020 หลานชายและทีมงานจึงเข้ามาช่วยกันสานต่อชิ้นงานสำคัญที่สร้างความเคลื่อนไหวให้แวดวงศิลปะในกรุงปารีสอีกครั้ง เชื่อว่าอนาคตข้างหน้าเราคงได้เห็นงานออกแบบพื้นที่บนโจทย์ของโควิดและปัญหาใหม่ ๆ อีกมากมาย เพราะความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ทำงานไม่เคยหยุดนิ่ง อย่างเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ที่กำลังจะจัดขึ้นภายใต้ธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ในวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ก็เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งในการโชว์ศักยภาพของการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมและการออกแบบพื้นที่ที่น่าสนใจเอามาก ๆ ควรค่าแก่การแวะเวียนมาเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation
เตรียมพร้อม ! Co With 5 ประเด็นหลัก ใน Bangkok Design Week 2022
หลังจากที่เทศกาลฯ ได้พาทุกคนมองย้อนกลับไปยังเรื่องราวจากวิกฤติโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ตามมาด้วยการคาดการณ์อนาคตอันใกล้ สู่ความเข้าใจในธีมและแนวคิดสำคัญ “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” กันไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะพูดถึง 5 ประเด็นหลักของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ในปีนี้ เราอยากให้คุณทำความรู้จักไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะทุกประเด็นล้วนเป็นประเด็นสำคัญของโลกในปัจจุบัน และสั่นสะเทือนชีวิตของคุณไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เตรียมพร้อมเข้าไปสำรวจ 5 ประเด็นสำคัญด้วยตัวคุณเองในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ที่กำลังจะจัดขึ้น 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ในธีม “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” Co With Space “พื้นที่” คือประเด็นสำคัญที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ตั้งคำถามและทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปีแรก และในปีนี้แนวคิดของ “พื้นที่” เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจากผลกระทบจากวิกฤติในปีที่ผ่านมา พื้นที่อยู่อาศัยในยุคหลังโควิด-19 จะเป็นแบบไหน ? พื้นที่สาธารณะและพื้นที่ชุมชนจะเป็นอย่างไรในวันที่คนโหยหาการปฏิสัมพันธ์แต่ยังคงให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพ ? พื้นที่ธรรมชาติจะมีบทบาทในการฟื้นฟูเมืองและจิตใจของคนได้จริงหรือไม่ ? อะไรคือสมดุลระหว่างการอนุรักษ์สิ่งเก่าและพัฒนาสิ่งใหม่ในเมืองและย่านที่เราอยู่ ? ผลกระทบจากโควิดและเศรษฐกิจจะเปลี่ยนเมืองของเราไปเป็นแบบไหน ? พบหลากหลายโปรแกรมที่ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ของพื้นที่รูปแบบต่าง ๆ จากนักออกแบบที่ทำงานร่วมกับประเด็นพื้นที่และเมือง สำรวจโจทย์ที่ท้าทายของการออกแบบพื้นที่ในอนาคต ไปจนถึงตื่นตากับการชุบชีวิตพื้นที่เมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์ Co With Mental Health “งานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาทางใจ” คือประเด็นต่อมาที่เทศกาลฯ ปีนี้อยากนำเสนอ เพราะนี่คือเรื่องใหญ่ที่เป็นผลจากวิกฤติที่ต่อเนื่องและยาวนาน และเป็นเสมือนคลื่นใต้น้ำที่หลายคนอาจมองไม่เห็น แต่กลับสร้างผลกระทบให้สังคมมหาศาลหากไม่ได้รับการดูแล การออกแบบจะช่วยให้คนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความเจ็บป่วยทางใจที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบันได้อย่างไร ? งานออกแบบจะช่วยเยียวยาใจ บำบัดความตึงเครียด สร้างความสุขและความผ่อนคลายให้คนในภาวะวิกฤติได้หรือไม่ ? ออกแบบเมืองแบบไหนที่ช่วยสร้างเกราะป้องกันทางใจให้คนในสังคมมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน ? สัมผัสโปรแกรมที่ทำให้เราเห็นหลากหลายความเป็นไปได้ที่จะนำงานออกแบบเข้าไปทำงานร่วมกับปัญหาสุขภาพจิต ที่จะทำให้คุณกลับมาสำรวจใจตัวเองและเรียนรู้ที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางใจให้คนรอบข้าง Co With Eco วิกฤติสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องอนาคต แต่ ณ วันนี้มันอุบัติขึ้นแล้ว และยิ่งหนักขึ้นเป็นเท่าทวีคูณจากวิกฤติในสองปีที่ผ่านมา และนี่คือสิ่งที่เราทุกคนในฐานะพลเมืองโลกต้องรับผิดชอบร่วมกัน แล้วการออกแบบจะมีส่วนช่วยเหลือเพื่อบรรเทาวิกฤตินี้อย่างไร ? แนวคิดออกแบบจะช่วยสร้างการหมุนเวียนและความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ? นวัตกรรมการออกแบบจะช่วยลดขยะที่เป็นภาระแก่โลก และเปลี่ยนให้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ได้อย่างไร ? เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ ๆ จะมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนได้หรือไม่ ? ค้นพบแรงบันดาลใจและแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกันจากนักออกแบบและสร้างสรรค์หลากหลายโปรแกรมในเทศกาลฯ ปีนี้ เพื่อจะพบว่าคุณเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาระดับโลกได้ Co With Culture เมื่อวัฒนธรรมที่เคยแช่แข็งถูกละลายด้วยคำถาม เปิดพื้นที่ให้คนในสังคมเสนอไอเดีย ปรับปรุงให้ดีขึ้น เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย และต่อยอดกลายเป็นมูลค่า นำมาซึ่งความเป็นไปได้มากมาย คำถามสำคัญคือ การออกแบบจะช่วยนำเสนอวัฒนธรรม เล่าเรื่องย่านหรือท้องถิ่นให้ร่วมสมัยและเข้าถึงคนมากขึ้นได้อย่างไร ? วัตถุดิบทางวัฒนธรรม ทรัพยากร และภูมิปัญญาในท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม จะเพิ่มคุณค่าและเกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจจากความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร ? ตื่นตาไปกับโปรแกรมงานออกแบบที่ชวนถอดรหัสวัฒนธรรม ตีความและเล่าเรื่องใหม่โดยนักออกแบบและนักสร้างสรรค์หลากหลายที่จะทำให้คุณมองคำว่า “วัฒนธรรม” เปลี่ยนไปจากเดิม Co With Future ในวันที่สิ่งใหม่เกิดขึ้นทุกวัน แทนที่จะหยุดเรียนรู้และวิ่งหนีสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ลองทำความรู้จักกับมันดูสักตั้งเพื่อเตรียมรับการมาถึงของอนาคต และหากคุณเป็นหนึ่งในนักสร้างสรรค์ คุณคงอยากรู้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ จะช่วยต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของเราได้อย่างไร ? นวัตกรรมและเครื่องมือใหม่ ๆ จะเปลี่ยนทิศทางงานออกแบบในอนาคตไปเป็นแบบไหน ? แนวคิดด้านการออกแบบและกระบวนการสร้างสรรค์ในอนาคตจะปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบใด ? ชีวิตและการทำงานของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจากการมาถึงของเทคโนโลยีเหล่านี้ ? วาร์ปไปทำความรู้จักสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต กับโปรแกรมงานออกแบบที่ใช้เทคโนโลยีแห่งอนาคตเป็นส่วนผสมหลัก เตรียมความพร้อมให้คุณ “Co” กับอนาคตก่อนใคร #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation
READY made : New normal of culture เตรียมพร้อมเพื่อปรับตัวสู่ชีวิตปกติใหม่ จากไอเดียนักศึกษาออกแบบหลากหลายมหาวิทยาลัย
ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ทุกคนต่างต้องปรับตัวสู่การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ก็ทำให้วัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จนนำไปสู่คำถามว่าเอกลักษณ์ของย่านที่เคยรุ่งเรืองในอดีตจะถูกปรับเปลี่ยนและส่งต่ออย่างไรให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ Academic Program โปรแกรมโชว์เคสผลงานออกแบบจากนักศึกษาในปีนี้จึงมาพร้อมโจทย์ที่ชื่อว่า READY made : New normal of culture ซึ่ง หมี-พิบูลย์ อมรจิรพร สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Plural Designs มีบทบาทเป็นคิวเรเตอร์ของ Academic Program 2022 จะมาบอกเล่าที่มาที่ไปของคอนเซปต์ รวมถึงความพิเศษและน่าสนใจที่เขาพบจากการทำงานร่วมกับทีมนักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรงจาก 9 มหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นของ Academic Program “ปกติเทศกาล Bangkok Design Week เปิดโอกาสให้นักออกแบบส่งผลงานโชว์เคสเข้ามาร่วมจัดแสดงอยู่แล้ว ทุกปีจะมีการนำเสนอผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทางมหาวิทยาลัยจะส่งงานที่นักศึกษาทำระหว่างปีเข้ามา เมื่อก่อนใช้ชื่อโปรแกรมนี้ว่าปล่อยแสง ทีนี้พอเอางานที่มีอยู่แล้วมาจัดแสดง มีตั้งแต่งานสถาปัตย์ อินทีเรียร์ เฟอร์นิเจอร์ โปรดักต์ กราฟิก เรื่องราวของชิ้นงานมักจะโฟกัสไปคนละทางและไม่สอดคล้องกับธีมหลักของเทศกาลฯ เราจึงพูดคุยกับทีมเทศกาลฯ ว่าควรตั้งโปรเจกต์พิเศษขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยทำงานบนโจทย์เดียวกัน เวลาเอามาจัดแสดงร่วมกันจะได้ดูเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีความเชื่อมโยงกับธีมหลักของเทศกาลฯ มากขึ้น และส่งสารออกไปได้มีพลังมากกว่าการทำงานแยกส่วนกัน ความคิดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Academic Program ที่ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่สามแล้ว” กระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน “เราเริ่มจากการส่งโจทย์ให้แต่ละมหาวิทยาลัยดูว่าช่วงเวลาจัดงานประมาณนี้ ธีมเป็นแบบนี้ มีสถาบันไหนสนใจเข้าร่วมบ้าง ซึ่งกระบวนการทำงานก็ไม่ง่ายเพราะต้องทำชิ้นงานขึ้นมาใหม่ แล้วช่วงนี้แต่ละมหาวิทยาลัยเปิด-ปิดภาคเรียนไม่พร้อมกัน ต้องขอบคุณทุกมหาวิทยาลัยจริง ๆ ที่ตั้งใจส่งผลงานเข้ามามีส่วนร่วม ปีก่อนหน้านี้ภาควิชาที่เข้าร่วมส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นหลัก แต่ปีนี้เพิ่มคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เข้ามา เพราะเรามองไปถึงพื้นที่สาธารณะหรืองานสถาปัตยกรรมสเกลเล็ก ๆ อย่างเช่น พื้นที่กักตัว Home Isolation ด้วย หลังจากแจกโจทย์ไปแล้วก็จะมีวันนัดประชุมรวมให้แต่ละมหาวิทยาลัยพรีเซนต์งาน หลังจากนั้นเราก็ช่วยดูภาพรวมของงานไปเรื่อย ๆ ตลอดทาง บางทีก็มีคอมเมนต์ให้เขาไปปรับหรือให้คำแนะนำในเชิงการติดตั้งบ้าง เพราะสเกลงานค่อนข้างแตกต่างจากสิ่งที่เขาเคยทำกันในวิชาเรียน” “จากแนวทางการทำงานที่ผ่านมา บางทีงานของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยจะมีความเฉพาะทางหรืออิงกับงานวิจัยมาก ๆ และลงลึกไปในแต่ละสาขาวิชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่คนทั่วไปอาจจะเข้าถึงได้ไม่ง่ายนัก พอมาทำงานที่จัดแสดงในเทศกาลฯ มีธีมของเทศกาลและโจทย์ที่เฉพาะเจาะจง ผลงานของนักศึกษาก็มีทิศทางการสื่อสารชัดเจนมากขึ้น มีรูปแบบที่เข้าใจง่ายมากขึ้น” “โจทย์ของปีนี้คือ READY made : New normal of culture คำว่า READY made ความหมายแรกคือความพร้อมของพวกเราทุกคน ไม่ว่าเราจะพร้อมหรือไม่ ธรรมชาติไม่เคยมีแบบสอบถามส่งมาถึงเรา ทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเราต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ซึ่งการปรับตัวเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ บางทีต้องอาศัยการนำสิ่งของที่อยู่รอบตัวมาปรับใช้ในงานออกแบบ คล้าย ๆ กับแนวคิด READY made ในงานศิลปะ ความหมายที่สองจึงสื่อถึงการปรับเปลี่ยนบริบทรอบ ๆ ตัวของเราให้เข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ Work from home หรือ Home isolation” ปักหมุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในชุมชนเก่า พื้นที่หลักในการจัดแสดง Academic Program 2022 อยู่ที่ชุมชนฮารูณและชุมชนตลาดน้อย ซึ่งต่างก็เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่คู่กับถนนเจริญกรุงมานานกว่าร้อยปี การสะท้อนแนวคิด Co With Creation ที่พูดถึงการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซึ่งเป็นธีมหลักของเทศกาลฯ โดยในปีนี้เน้นการทำงานร่วมกับชุมชน จึงเน้นไปที่การดึงเอาจุดเด่นของย่านมาเป็นส่วนหนึ่งของงาน โดยมีทั้งงานสเกลใหญ่และสเกลเล็กกระจายอยู่ในพื้นที่ “ซึ่งปกติโปรเจกต์ของนักศึกษาส่วนใหญ่ก็มักเป็นงานเชิงทดลองที่มีความสดใหม่ของไอเดียอยู่แล้ว ปีนี้ที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับทีม Creative District จึงมีการจัดทริปพาลงพื้นที่เดินสำรวจย่านชุมชนตลาดน้อยและชุมชนฮารูณ แล้วมาเลือกกันว่าแต่ละมหาวิทยาลัยสนใจพื้นที่ไหน แต่ละย่านจะมีจุดเด่นและคาแรกเตอร์ของตัวเอง มีองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่แทรกซึมอยู่ในย่าน ชุมชนฮารูณเขาจะเป็นชุมชนมุสลิม ส่วนตลาดน้อยเป็นชุมชนจีน เราอยากให้นักศึกษาดึงองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้มาเป็นส่วนประกอบในงานออกแบบเพื่อสะท้อนความเป็นย่านนั้นออกมา” “ตอนนี้มี 1 โปรเจกต์อยู่ที่ชุมชนฮารูณ ส่วนอีก 8 โปรเจกต์อยู่ที่ตลาดน้อยเป็นหลัก ระหว่างกระบวนการทำงาน เราก็จะพูดคุยกับตัวแทนชุมชนในพื้นที่ ซึ่งงานที่ตลาดน้อยจะมีทั้งงานที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะของชุมชน เช่น ศาลเจ้าโรงเกือก ท่าน้ำภาณุรังษี นอกจากนี้ยังมีบางงานที่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ร้านค้า คาเฟ่ เราก็จะคุยกับเจ้าของพื้นที่เป็นหลัก” หากมีโอกาสได้มาเดินชม Academic Program สิ่งที่คุณจะได้พบคือผลงานของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่สะท้อนถึงความพร้อมในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในย่านเก่าอย่างชุมชนฮารูณและชุมชนตลาดน้อยให้เติบโตไปพร้อมกับโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ ๆ มากมาย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งโปรแกรมที่ไม่ควรพลาดในงาน Bangkok Design Week วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2022 Academic Program Website : bangkokdesignweek.com Facebook : facebook.com/BangkokDesignWeek Instagram : @bangkokdesignweek Plural Designs Website : pluraldesigns.net Facebook : facebook.com/pluraldesigns
Co With Garden: เติมชีวิตชีวาให้เมืองด้วยพื้นที่สีเขียว
ความจำเป็นที่ต้องกักตัวอยู่บ้านและความกังวลใจในช่วงที่โควิดแพร่ระบาดหนัก ทำให้ผู้คนโหยหาพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สันทนาการกลางแจ้งกันมากขึ้น การเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับธรรมชาติกลายเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมือง เทรนด์การออกแบบในยุคหลังโควิดจึงให้ความสำคัญเรื่องแลนด์สเคปมากขึ้นตามไปด้วย บวกกับกระแสการปลูกต้นไม้ในบ้านและคอนโดที่เติบโตจากช่วง Work From Home ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง “Co With Garden” จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในโปรแกรมที่สะท้อนธีมหลักของงาน Bangkok Design Week ครั้งนี้ เพื่อนำเสนอคุณค่าของพื้นที่สีเขียวในฐานะตัวกระตุ้นให้คนออกมาใช้พื้นที่สาธารณะ ที่ทั้งดีต่อใจ และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์อีกด้วย แปลงโฉมไปรษณีย์กลางให้กลายเป็นป่ากลางเมือง เคี้ยง-พลวัฒน์ ภูไท ภูมิสถาปนิกจาก Kernel Design บอกเล่าถึงเบื้องหลังแนวคิดในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ Co With Garden ว่า โจทย์หลักของโปรเจกต์นี้คือการสร้างพื้นที่สภาวะน่าสบายที่มีอุณหภูมิเหมาะสมและมอบความร่มรื่น รวมถึงมีชนิดพรรณต้นไม้ที่สามารถฟอกอากาศและดักฝุ่นให้กับคนที่มาชมงาน Bangkok Design Week หน้าอาคารไปรษณีย์กลาง โดยนำต้นไม้นานาพรรณมาเป็นตัวช่วยในการลดอุณหภูมิ เพิ่มพื้นที่สีเขียวสบายตา และแต่งเติมชีวิตชีวาเพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัดขายสินค้า บูธขายอาหาร การแสดงดนตรี และการแสดงเปิดหมวก “กระบะปลูกต้นไม้ที่นำมาตกแต่งพื้นที่ถูกออกแบบมาเป็นโมดูลขนาดต่าง ๆ ที่ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายและต่อกันเป็นจิ๊กซอว์ได้ หลังจบงาน Bangkok Design Week จึงสามารถนำไปใช้สร้างพื้นที่สีเขียวในสถานที่อื่นได้ด้วย นอกจากนี้เรายังมีป้ายให้ความรู้เรื่องต้นไม้กับคนที่มาเดินชมงาน เพื่อให้เขาเห็นความสำคัญของพื้นที่สีเขียวและนำไปต่อยอดหรือประยุกต์ใช้กับที่อยู่อาศัยของตัวเองได้” บ้าน-ป่าที่อยู่สบายผ่อนคลายบนความเขียวขจี “คอนเซปต์ที่เราคิดมาคือ Home-Forest หรือ บ้าน-ป่า ที่ทุกคนสามารถมาใช้พื้นที่ได้ตลอดระยะเวลาที่จัดงาน เราแบ่งพื้นที่สวนออกเป็นห้องต่าง ๆ ที่ตีความมาจากการใช้พื้นที่ภายในบ้าน และดึงคาแรกเตอร์ของพืชพรรณที่เหมาะสมกับพื้นที่ใช้สอยในแต่ละห้อง เข้ามาโซนแรกจะเจอกับสวนหน้าบ้านที่น้องหมาน้องแมวเข้ามาวิ่งเล่นได้ มีพืชพรรณที่ตอบโจทย์กับสัตว์เลี้ยง เช่น ต้นไผ่เงินที่น้องแมวชอบ ถัดมาคือห้องรับแขกและห้องทำงานที่จะอยู่ตรงกลางลานหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง จะมีมุมนั่งพักคอยใต้ร่มเงาต้นไม้ ตกแต่งด้วยดอกไม้สีสัน ดอกไม้กลิ่นหอมที่อยู่นอกแจกัน และไม้ฟอกอากาศที่เปรียบเสมือนเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน ส่วนมุมทำงานก็จะมีโต๊ะ เก้าอี้ จุดชาร์จไฟ สามารถมานั่งทำงานใต้ร่มไม้ได้ ห้องนี้จะปลูกไม้ฟอกอากาศ ปลูกไม้มงคล และมีไม้ดอกสีเหลืองซึ่งเป็นสีที่กระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้บรรยากาศน่าทำงานมากขึ้น ห้องนอนจะมีเนินหญ้าที่ทำหน้าที่เหมือนเตียงธรรมชาติ ที่ปลูกไม้ฟอกอากาศผสมกับดอกไม้สีโทนเย็นเช่นสีฟ้าให้ความรู้สึกผ่อนคลายนอนหลับสบาย ห้องรับประทานอาหารจะมีเก้าอี้ที่นั่งให้นั่งกินอาหาร เน้นตกแต่งด้วยต้นไม้ที่มีสีกระตุ้นความอยากอาหาร เช่น แดง เขียว เหลือง ส้ม และปลูกพืชสมุนไพรควบคู่ไปกับผักสวนครัวต่าง ๆ” เคี้ยงอธิบายเพิ่มเติมว่าแต่ละห้องจะเป็นคอนเซปต์ของการเอาพื้นที่ภายในบ้านมา Co With พืชพรรณที่มีคุณสมบัติต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้พื้นที่ ซึ่งทีมนักออกแบบอยากสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่มาเดินชมงานรู้สึกอยากกลับไปปลูกต้นไม้เหล่านี้ เพื่อสร้างสภาวะน่าสบายในพื้นที่บ้านของตนเอง โจทย์สำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง เมื่อชวนมองไปรอบ ๆ กรุงเทพฯ ว่าทุกวันนี้เรามีพื้นที่สีเขียวมากน้อยแค่ไหน เคี้ยงให้ความเห็นว่ากรุงเทพฯ ค่อนข้างมีสวนสาธารณะน้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปริมาณห้างสรรพสินค้าที่กระจายตัวอยู่แทบทุกหัวมุมเมือง ทั้งที่จริง ๆ แล้วคนเมืองทุกช่วงวัยต่างมีความต้องการใช้งานพื้นที่สันทนาการกลางแจ้งเหล่านี้เป็นจำนวนมาก โจทย์การพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิต จึงไม่ควรมองแค่มิติของการปลูกต้นไม้เพิ่มเพียงอย่างเดียว แต่ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่คนทุกระดับทุกชนชั้นสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้โควิดที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ปี 2019 จนเข้าสู่ปี 2022 ยังเป็นบทเรียนย้ำเตือนถึงความไม่แน่นอนของอนาคตที่นักออกแบบทุกสาขาวิชาชีพต้องเตรียมพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้า ภูมิสถาปนิกอย่างเคี้ยงเองก็เช่นกัน “เอาแบบที่เห็นชัด ๆ เลยคือการใช้งานพื้นที่สาธารณะ เมื่อก่อนเรานั่งชิดกันหรือนั่งรวมกันได้ แต่ตอนนี้ต้องมีระยะห่างเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เงื่อนไขพวกนี้ทำให้การออกแบบแลนด์สเคปเปลี่ยนไป เช่น ต้องมีไม้พุ่มคั่นกลางให้คนนั่งห่างกันเกินหนึ่งเมตร เพิ่มจุดออกกำลังกายคนเดียวเพื่อลดการรวมกลุ่ม มีจุดล้างมือภายในสวนสาธารณะเยอะขึ้น โดยเฉพาะในโซนที่ต้องมีการสัมผัส เช่น สนามเด็กเล่น สนามออกกำลังกาย บางสถานที่อาจจะต้องมีจุดวัดอุณหภูมิที่ทางเข้าออก หรือเพิ่มพื้นที่นั่งทำงานและประชุมกลางแจ้ง ซึ่งอากาศถ่ายเทได้ดีกว่าพื้นที่ปิดจึงลดโอกาสในการติดเชื้อได้” ลานหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง จะถูกเนรมิตให้เป็นป่ากลางเมืองในช่วงเทศกาล Bangkok Design Week วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2022 โดยมีกิจกรรมน่าสนใจมากมายให้เข้าร่วม ตั้งแต่เวลา 11.00-22.00 น. หากอยากสัมผัสความเขียวขจีแสนชุบชูใจอย่างเต็มอิ่ม ต้องลองมา Co With Garden แล้วจะรู้ว่าการอยู่ร่วมกับธรรมชาติคือยาวิเศษจริง ๆ Bangkok Design Week Website : bangkokdesignweek.com Facebook : facebook.com/BangkokDesignWeek Instagram : @bangkokdesignweek Kernel Design Website : https://kernellandscape.com Facebook : facebook.com/kernellandscape
ทำไมต้อง Co With Creation ? เข้าใจแนวคิด Bangkok Design Week 2022
กลับมาพบกันอีกครั้งกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ประจำปีที่มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพความคิดสร้างสรรค์มาโดยตลอด เทศกาลฯ ทำหน้าที่เป็นสนามปล่อยของของนักสร้างสรรค์และพื้นที่แห่งการสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงนักออกแบบและผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน รวมถึงชักชวนผู้คนมาตั้งคำถามและหาคำตอบกับประเด็นน่าสนใจที่ขับเคลื่อนสังคมและเมืองให้ก้าวหน้าด้วยงานออกแบบ เป้าหมายคือทำให้การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนในสายอาชีพออกแบบหรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์เท่านั้น สำหรับปีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาสำคัญที่โลกกำลังเผชิญคือผลกระทบจากโควิด-19 และเชื่อว่าในอนาคตก็จะยังคงมีความท้าทายใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครคาดคิดรออยู่อีก นำมาซึ่งคำถามที่ว่า “อะไรคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เรารอดจากปัญหาปัจจุบันและปัญหาใหม่ ๆ ในอนาคต ?” คำตอบที่ได้คือการ “Co” กัน และนั่นคือที่มาของแนวคิดของเทศกาลฯ ในปีนี้ ทำไมต้อง “Co” การเตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าและหาวิธีอยู่กับความปกติใหม่อย่างเป็นสุข คือโจทย์หลักของโลกในปีนี้ ยิ่งความท้าทายมากเท่าไหร่ ยิ่งไม่สามารถแก้ได้ด้วยความเชี่ยวชาญของคนใดคนหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต้องอาศัยการร่วมมือกันทำจากความเชี่ยวชาญและความคิดสร้างสรรค์ของศาสตร์ที่แตกต่างหลากหลาย ช่วยกัน “คิด สร้าง ทางรอด” บนโจทย์เดียวกัน เพราะนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบและทำให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ที่ไปไกลกว่าเดิม เทศกาลฯ ปีนี้ “Co” กับอะไรบ้าง ? ในบรรดาความท้าทายที่รายล้อม สรุปเป็นประเด็นสำคัญของเทศกาลฯ ในปีนี้ออกเป็น 5 ประเด็นด้วยกัน 1.Co with Space การออกแบบพื้นที่เพื่อรับมือกับความท้าทาย ทั้งปัญหาโควิด-19 ในปัจจุบันและปัญหาใหม่ ๆ ในอนาคต สำรวจความเป็นไปได้ใหม่ของพื้นที่อยู่อาศัยในวันที่คนยังห่วงความปลอดภัย และนิยามที่เปลี่ยนไปของพื้นที่สาธารณะในวันที่คนเริ่มโหยหาการพบปะสังสรรค์และธรรมชาติ 2.Co with Mental Health ในวันที่สุขภาพจิตเป็นเรื่องใหญ่พอกับสุขภาพกาย การออกแบบจะช่วยเยียวยา หรือสื่อสารประเด็นเรื่องใจสู่กลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง เพื่อบรรเทาปัญหาทางใจที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมได้อย่างไร 3.Co with Eco เมื่อโควิด-19 เร่งปฏิกิริยาให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักข้อเป็นทวีคูณ สิ่งที่เราต่างถามหาคือความคิดสร้างสรรค์เพื่อช่วยหาหนทางชะลอเวลาของวิกฤติให้ช้าลง และชดเชยให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 4.Co with Culture จากการแช่แข็งสู่การหยิบจับวัฒนธรรมมาตั้งคำถาม ตีความ และนำเสนอใหม่ให้น่าสนใจ ใช้งานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดทรัพยากรที่อยู่ใกล้ตัวที่อาจไม่เคยมีใครเหลียวมองและกำลังจะเลือนหายให้กลับมาเฉิดฉายและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกครั้ง 5.Co with Future ในวันที่เทคโนโลยีกำลังจะเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเราในทุกมิติ ท่ามกลางความเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว เราจะนำความคิดสร้างสรรค์เข้าไปจับเพื่อต่อยอดโอกาสและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ได้อย่างไร และที่ขาดไปไม่ได้คือการ “Co” กับคุณ เพราะทุกคนคือคนสำคัญที่เทศกาลฯ ปีนี้อยากชวนมาร่วมสำรวจและออกไอเดียไปด้วยกันใน เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ในวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ #BKKDW2022 #BangkokDesignWeek #CoWithCreation