ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

เกี่ยวกับ

เทศกาลงานออกแบบที่นำเสนอวิสัยทัศน์และผลงานที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพใหม่ให้กับกรุงเทพฯ

 

 

 

 

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week (BKKDW) มุ่งนำเสนองานออกแบบและงานสร้างสรรค์ ที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผ่านงานสร้างสรรค์ตั้งแต่ระดับของงานทดลองไปจนถึงผลงานที่ส่งผลด้านธุรกิจและเพื่อสังคม ที่จัดแสดงผ่านการใช้งานพื้นที่ในเมืองในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Districts) ต่างๆ ที่กลมกลืนไปกับบริบทอันเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ พร้อมด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสีสันและประสบการณ์ที่สนุกสนานและน่าจดจำให้กับชาวเมือง อีกทั้งยังดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสกับความเคลื่อนไหวล่าสุดของกรุงเทพฯ โดยมีแนวคิดหลักครอบคลุมทั้งสามมิติ ได้แก่ อยู่ดี (City & Living) กินดี (Well-Being & Gastronomy) และธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business)

 

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เป็นเทศกาลสำคัญที่ได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการผลักดันให้กรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network) ในสาขาด้านการออกแบบ (Bangkok City of Design) เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ดำเนินการโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับผู้ร่วมจัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 60 หน่วยงาน รวมถึงนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย โดยมียอดผู้เข้าชมงานทั้งไทยและต่างประเทศรวมแล้วมากกว่า 400,000 คน ในแต่ละปี 

ด้วยจำนวนผู้เข้าชมเทศกาลฯ กว่า 1,750,000 คน และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างเทศกาลฯ รวมเป็นจำนวนสูงถึง 1,368,000,000 บาท ในการจัดเทศกาลฯ 5 ครั้ง เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ และศักยภาพสำคัญของนักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ หน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ไปจนถึงหน่วยงานความร่วมมือต่างๆ ทั้งจากในและต่างประเทศ

 

การจัดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ทั้งในแง่ของการเป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังส่งผลกระทบเชิงบวกที่ขยายผลสู่ธุรกิจแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การตลาด การพิมพ์ สื่อออนไลน์ แกลเลอรี ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ธุรกิจของฝาก-ของที่ระลึก ลอจิสติกส์ การท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม และบริการขนส่งมวลชน ฯลฯ อีกด้วย

 

เกี่ยวกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) : สศส. หรือ Creative Economy Agency (Public Organization) : CEA จัดตั้งขึ้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2561 โดยการยกระดับ TCDC ขึ้นเป็นองค์การมหาชน ในกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืนในระยะยาว

หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของ CEA คือ การสร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง โดยการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ตลอดจนมีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงสู่ชุมชนโดยรอบให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ CEA ยังทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เติบโตจากการพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือยกระดับธุรกิจและคุณภาพชีวิตของคนไทย

 

ติดต่อเทศกาลฯ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)

อาคารไปรษณีย์กลาง 1160 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500

(66) 2 105 7400 (วันอังคาร – อาทิตย์ | 10.30 – 19.00)

hello.bkkdw@cea.or.th

urban‘NICE’zation

เมือง – มิตร – ดี

 

4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566

 

การขยายตัวของเมือง (Urbanization) ตามการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายเมืองเติบโตกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ (Megacity) ที่มาพร้อมกับความท้าทายด้านต่าง ๆ ทั้งความแออัด ความซับซ้อนในการจัดการทรัพยากรและบริหารเมือง ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อม จนเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายเมืองทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงแนวทางการพัฒนาเมืองที่เน้นการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม โดยมี “คน” เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เมืองเป็นสถานที่ที่อยู่ดีมีสุข สามารถรับมือกับความท้าทายจากภายในและภายนอก 

การพัฒนากรุงเทพฯ ให้เกิดความสมดุลมากขึ้นนั้น จำเป็นต้องอาศัยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนจากหลากหลายสาขา ที่มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อค้นหาแนวทางฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนกรุงเทพฯ​ ให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความเป็นไปของสภาพแวดล้อมใหม่ และพยายามตอบสนองความต้องการของผู้คนให้ได้มากที่สุด 

เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 (BKKDW2023) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้ธีม “urban‘NICE’zation เมือง – มิตร – ดี” จึงเป็นพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์จากสาขาต่าง ๆ ในการนำเสนอแนวคิดที่มีเป้าหมายในการ “ทำเมืองให้ดีขึ้น” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพัฒนาให้กรุงเทพฯ​ ดีขึ้นสำหรับวันข้างหน้า 

 

มาร่วมเป็น ‘มิตร’ ทำ ‘เมือง’ ให้เป็น ‘มิตรที่ดี’ สำหรับเราทุกคน

urban ’NICE’ zation – Let’s make ‘Urban’ nice for us all. 


urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี คืออะไร?

‘เมือง’ หรือ ถิ่นที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งสิ่งที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนเมืองแบบไม่พูดถึงไม่ได้ การจัดการหรือออกแบบเมืองที่ดีย่อมทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกแฮปปี้มีความสุขในชีวิตมากขึ้น แต่เมื่อเมืองยิ่งพัฒนา หรือ ก้าวตามความเจริญของโลกไปเท่าไร การขยายตัวในแง่ประชากรและความเจริญต่างๆ กลับกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่เหล่าคนเมืองต้องหาทางสร้างสมดุลและจัดการให้ได้ขึ้นมา แต่ถึงจะท้าทายและยากอย่างไร ก็เชื่อว่าไม่เหนือบ่ากว่าแรงไอเดียความคิดสร้างสรรค์และฝีไม้ลายมือของเหล่านักสร้างสรรค์ของไทยแน่นอน 

 

ปีนี้งาน Bangkok Design Week 2023 เลยอยากชวนทุกคนมาถกเถียงและจินตนาการกันว่า เราจะทำเมืองกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองที่ urban‘NICE’zation หรือเป็น เมือง-มิตร-ดี เมืองที่น่ารัก เป็นมิตรต่อทั้งผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบการสาขาอาชีพต่างๆ รวมถึงเราสามารถหาทางแก้ปัญหามิติต่างๆ หรือ ผลักดันให้เกิดธุรกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจหมุนเวียนในกรุงเทพฯ อย่างไร โดยอาศัยหลักการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับคน และสร้างคนที่เป็นมิตรกับเมือง ก่อให้เกิดเป็นความร่วมเมืองอันดีจากทั้งสองฝ่าย ระหว่างบุคคลที่เป็นฟันเฟืองตัวเล็กและกลไกจากรัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นฟันเฟืองตัวใหญ่ ร่วมกันขับเคลื่อนสร้างทางออกไปด้วยกัน

 

ซึ่งปีนี้เราได้ออกแบบและตีความคำว่า ‘เมือง-มิตร-ดี’ เอาไว้ว่าต้องตอบโจทย์มิติทางสังคมได้ทั้ง 6 มิติ นั่นคือ มิติทางสิ่งแวดล้อม มิติเรื่องการขนส่งสาธารณะ มิติการผลักดันและอนุรักษ์วัฒนธรรม มิติธุรกิจและเศรษฐกิจ มิติความเป็นอยู่ของชุมชน และสุดท้ายมิติความหลากหลายในสังคม

 

อ่านต่อเกี่ยวกับธีม

_____

BKKDW2023 จะจัดขึ้นใน 9 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ 1) ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย 2) เยาวราช 3) สามย่าน – สยาม 4) อารีย์ – ประดิพัทธ์ 5) พระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง 6) วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู / คลองสาน 7) บางโพ 8) พร้อมพงษ์ 9) เกษตรฯ และพื้นที่อื่น ๆ ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย


Showcase & Exhibition

การจัดแสดงผลงานและนิทรรศการจากนักสร้างสรรค์หลากหลายวงการ ที่นำเสนอแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งสามารถต่อยอดนำไปใช้ได้จริง

 

Talk & Workshop

การบรรยายและเวิร์กช็อปออนไลน์ เพื่อการเติมเต็มความรู้และแนวคิดใหม่จากนักสร้างสรรค์ และผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศ

 

Event & Program

กิจกรรมสร้างบรรยากาศและความเคลื่อนไหวให้กับเมืองในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การแสดงดนตรี การฉายภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง งานสังสรรค์ ไปจนถึงการเปิดบ้าน (Open House) 

 

Creative Market Platform & Promotion

ตลาดนัดสร้างสรรค์ในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เปิดกว้างสำหรับนักสร้างสรรค์ทุกวงการ เพื่อสร้างโอกาสในการขายสินค้า การทดลองตลาด ที่นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจและการสร้างรายได้จากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงกิจกรรมกระตุ้นการขายให้กับร้านค้าในย่าน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดได้ที่

#BKKDW2023  #BangkokDesignWeek  #UrbanNICEzation