ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

The Making of Bangkok City Trooper

กองกำลังพัฒนาเมืองบุกย่านเยาวราช

 

นอกจากสตรีทฟู้ดเลิศรสและสีสันย่านการค้าที่ไม่เคยหลับใหลแล้ว เยาวราชยังเปี่ยมล้นไปด้วยเสน่ห์จากความเข้มข้นทางวัฒนธรรมจีนที่เดินทางผ่านกาลเวลามาหลายยุคสมัย เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่และหมุดหมายของนักท่องเที่ยว ย่านนี้จึงมีความหนาแน่นของการใช้งานพื้นที่มากเป็นพิเศษ การออกแบบเมืองให้สอดคล้องและรองรับกับเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ จึงเป็นประเด็นที่ SATARANA (สาธารณะ) เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมที่สนใจเรื่องการพัฒนาชุมชนและเมืองให้ความสำคัญ

 

อุ้ม – วิภาวี กิตติเธียร ตัวแทนจากกลุ่ม SATARANA บอกเล่าถึงโปรเจกต์ Bangkok City Trooper ที่ทำร่วมกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ว่า ปีนี้เธอดูแลในส่วนของ Academic Program ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือกับ 25 ภาควิชา จากมหาวิทยาลัย 12 แห่งที่สนใจด้านการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ คำว่า Trooper จึงสื่อความหมายถึง ‘กองกำลังนิสิตนักศึกษา’ ที่อาสามาตะลุยสำรวจเยาวราชและแฮ็กเมืองไปด้วยกัน ซึ่งนับรวมๆ แล้วกองกำลังนี้มีสมาชิกมากถึง 500 คนเลยทีเดียว


ตั้งต้นจากคำถามว่าเมืองต้องการอะไร

“เราทำการรีเสิร์ชหาโจทย์จากพื้นที่ก่อนว่าเมืองต้องการอะไร โดยการสอบถามจากคนในย่านและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ว่ายังมีอะไรที่ควรถูกแก้ไขหรือพัฒนาเพิ่มขึ้น แล้วรวบรวมประเด็นที่แก้ได้ด้วยการออกแบบอย่างสร้างสรรค์เข้าไปคุยกับแต่ละสถาบันว่าเขามีความสนใจอยากเข้าร่วมแค่ไหน ไม่ใช่แค่ภาควิชาการออกแบบอย่างเดียว มีคณะอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ โบราณคดีด้วย บางภาควิชาไม่เคยร่วมงานกับดีไซน์วีคมาก่อน แต่เราคิดว่าถ้านำประเด็นเหล่านั้นไปใช้ในการเรียนการสอน จะได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นแน่นอน พื้นที่ของเมืองจะเป็นโจทย์ที่น้องๆ นิสิตนักศึกษาได้ลงมือทำโปรเจกต์กันจริงๆ เราไม่ได้มีพาวิเลียนใหญ่โตให้คนมาถ่ายรูป งานส่วนใหญ่เป็นผลงานชิ้นงานเล็กๆ ที่เอาโจทย์ของเมืองเป็นที่ตั้ง”

 

“เวลามองภาพรวมของเยาวราช สิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือความเป็นไชน่าทาวน์หรือสตรีทฟู้ด แต่จากการทำรีเสิร์ชเราพบว่า วัฒนธรรมจีนในย่านนี้มีหลายยุคสมัยและยังมีหลายเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับเยาวราช เช่น ถนนเส้นนี้มีโรงหนังที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้มากถึง 6 โรง แปลว่าเมื่อก่อนที่นี่มีประวัติความรุ่มรวยของการฉายหนัง มันยิ่งใหญ่มากเลยนะถนนเส้นเดียวมีโรงหนัง 6 โรง หรือบางวัฒนธรรมก็ถูกละเลยไป เช่น งิ้ว ที่คนรุ่นใหม่มองว่าเข้าถึงยากเพราะฟังไม่รู้เรื่อง แต่จริงๆ เนื้อหาบทละครมันสนุกมาก อาจจะแค่ขาดช่องว่างของการแปลซับไตเติลหรือเปล่า ถ้าเราทำให้งิ้วเข้าถึงง่ายขึ้น ความสวยงามของศิลปะเหล่านี้ก็จะไม่สูญหายไป”

 

“หรือจากการเดินสำรวจเยาวราชตามซอกหลืบ เราก็พบพื้นที่โล่งที่ไม่ถูกใช้งานอยู่เยอะ เป็นที่ดินราคาแพงที่เจ้าของยังไม่อยากลงทุนก่อสร้างอะไรขึ้นมา ทีมเราก็ลองติดต่อขอเอาหนังกลางแปลงเข้าไปฉาย เพื่อเปิดโอกาสให้คนเห็นว่าเราสามารถใช้พื้นที่แบบเดิมที่เป็นอยู่ แต่คิดสร้างสรรค์ให้มีประโยชน์มากกว่าทิ้งร้างไว้เฉยๆ”


ไอเดียที่จุดประกายจากคนรุ่นใหม่

“สิ่งที่เห็นชัดมากจากการทำงานร่วมกับน้องๆ รุ่นใหม่คือ ไอเดียของทีมเราอาจจะ Out of Date ในเร็ววัน เพราะหลักสูตรของแต่ละคณะเปลี่ยนไปเยอะมาก เครื่องมือ เทคนิค วิธีการ นวัตกรรมที่เด็กยุคนี้ใช้มีความเป็นดิจิทัลและน่าสนใจมาก ยกตัวอย่างเช่นโปรเจกต์ที่สนุกมากจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เขาใช้เมตาเวิร์สจำลองโรงหนังเก่าขึ้นมาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เราว่าเป็นงานที่เราทำเองไม่ได้ หรืออย่างธูปรักษ์โลกก็น่าสนใจ เราคุยกันมานานแล้วว่าควันจากธูปก่อให้เกิดมลภาวะ ซึ่งในย่านเยาวราชมีศาลเจ้าเต็มไปหมด คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาเล็งเห็นไอเดียนี้ เลยเอามาเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรให้การจุดธูปไหว้เจ้าตามความเชื่อส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด” 

 

Small Change, Big Move

แนวคิดหนึ่งที่ SATARANA เชื่อมาโดยตลอดคือ Small Change, Big Move บางโปรเจกต์อาจดูเป็นผลงานชิ้นเล็กๆ แต่ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังเป็นแนวคิดที่สามารถนำไปต่อยอดทำซ้ำได้ง่าย อย่างเช่นเยาวราชเนวิเกเตอร์ โดยวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเกิดจากไอเดียว่าหลายครั้งแม้จะใช้กูเกิลแมปแต่ก็ยังเดินหลงในเยาวราชอยู่ดี เพราะแทบไม่มีป้ายบอกทางในพื้นที่นี้เลย ป้ายนำทางจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นโปรแกรมติดตั้งถาวรที่จะอยู่คู่เยาวราชต่อไปแม้งานดีไซน์วีคจะสิ้นสุดลงแล้ว หรือนานาม้านั่งสำหรับทุกคน โดยคณะสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่จะติดตั้งถาวรอยู่ในชุมชนเลื่อนฤทธิ์เช่นกัน

 

“SATARANA ทำหน้าที่เป็น Facilitator เชื่อมทุกคนเข้ามาอยู่ด้วยกัน” อุ้มอธิบายถึงบทบาทของตนเองในโปรเจกต์นี้ “เราพยายามทำเท่าที่จะทำได้ เช่น เพิ่มป้ายให้ตรงนี้ไม่เดินหลง ทำป้ายรถเมล์ใหม่ให้มีความชัดเจนขึ้น มีการกั้นเลนสำหรับคนที่มาเดินเที่ยว ปรับปรุงระบบการสัญจรอย่างไรให้การมาเยาวราชสะดวกขึ้น เป็นการเติมเต็มช่องว่างไปทีละเล็กละน้อยให้พื้นที่เมืองมันเกิดขึ้นได้” จะเห็นได้ว่า Bangkok City Trooper นำการออกแบบมาใช้ทดลองแนวคิดในการพัฒนาเมืองหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถวัดผลและผลักดันไปสู่การใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“เมือง-มิตร-ดี ในแบบของอุ้มคือเราอยากเห็นพื้นที่สาธารณะหลายๆ ที่สามารถถูกใช้งานได้โดยกลุ่มคนทุกแบบ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ให้เขารู้สึกว่ามันซัพพอร์ตไลฟ์สไตล์หรือความต้องการในการใช้ชีวิตในเมืองได้ งานออกแบบที่ดีทุกคนต้องเข้าถึงได้ เราไม่ได้ดีไซน์แค่เพื่อให้ใครบางคนชื่นชมผลงาน แต่ต้องการดีไซน์ให้ทุกคนสามารถใช้ฟังก์ชั่นของมันได้”



Bangkok Design Week 2023

urban‘NICE’zation

เมือง-มิตร-ดี

4 – 12 FEB 2023


#BKKDW2023

#BangkokDesignWeek

#urbanNICEzation

แชร์