The Making of Sense of Nang Loeng
เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
Sense of Nang Loeng
เปิดย่าน เปิดสัมผัสใหม่ ให้เข้าใจนางเลิ้งอย่างถึงแก่น
ช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพฯ ไม่สู้ดีนัก รัฐ เปลี่ยนสุข นักออกแบบวัฒนธรรมร่วมสมัยและผู้ร่วมก่อตั้ง Sumphat Gallery มีโอกาสลงพื้นที่ชุมชน ‘นางเลิ้ง’ และพบว่าย่านนี้มีคาแรกเตอร์พิเศษที่ไม่สามารถหาจากที่อื่นได้ นางเลิ้งไม่ใช่แค่ตลาดที่มีของกินขาย แต่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราวของศิลปะการละครอันน่าทึ่ง ทว่าย่านเก่าแก่แห่งนี้กลับกำลังทรุดโทรมอย่างน่าใจหาย
“เราพบสิ่งที่ว้าว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องน่าเศร้า” รัฐเล่าถึงความทรุดโทรมของย่านนางเลิ้งที่พบเจอ “เราเจอแม่ครู นางรำ คณะละครชาตรี คุณลุงที่เคยเล่นดนตรีไทยในวงฟองน้ำกับบรูซ แกสตัน คนเหล่านี้คือตัวแทนของชาติที่นำเสนอความเป็นไทยผ่านวัฒนธรรม แต่ทุกวันนี้เขาอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ไม่มีอาชีพและการจ้างงานตลอดกว่า 3 ปีในช่วงโควิด คุณแม่นางรำยังไม่สะดวกให้เราเข้าไปหาที่บ้านเลย มันน่าเศร้าที่เรามานั่งภูมิใจว่าชาติของฉันดีกว่าชาติอื่น เรามีรูปแบบการรำที่พิเศษกว่า แต่เมื่อกลับมาดูคนที่กำลังรำอยู่และเป็นตัวแทนอัตลักษณ์ของชาติ เขากลับไม่ได้รับการทะนุถนอมดูแลหรือให้โอกาส พวกเขาขาดการเหลียวแลและมีสภาพชีวิตที่ยากลำบากอย่างยิ่ง”
การรวมตัวเฉพาะกิจเพื่อย่านนางเลิ้ง
จากปัญหาที่พบ รัฐจึงชักชวนมิตรสหายในวงการออกแบบมารวมตัวกันในชื่อกลุ่ม Sense of Nang Loeng เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของนางเลิ้งในมิติที่หลากหลาย ให้คนที่มาเที่ยวชมเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าซึมซับความเป็นย่านเก่าแก่คู่กรุงเทพฯ โดยตัวเขาเลือกทำโปรเจกต์ซาโทเรียล (Sartorial) ที่นำการแสดงละครชาตรีมาจัดแสดงในรูปแบบใหม่ร่วมสมัยยิ่งขึ้น ส่วนการปรับปรุงพื้นที่ว่างให้ชุมชนได้ใช้งานและจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราว ได้รับความร่วมมือจากมืออาชีพอย่าง คุณจูน เซคิโน สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Junsekino Architect and Design อาจารย์ขวัญพร บุนนาค และอาจารย์ชานนท์ วาสิงหน จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม มาช่วยกันแปลงโฉมนางเลิ้งให้น่าเดินยิ่งขึ้นในเชิงกายภาพ
นอกจากนี้ ยังมีการชูจุดเด่นของนางเลิ้งในแง่ศูนย์รวมความอร่อย โดยมี อาจารย์อุฬารพัชร นิธิอุทัย จาก Amy Nithi Studio มาร่วมสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารจุบจิบจับใจ อาจารย์สุถี เสริฐศรี และอาจารย์ดารณี อาจหาญ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทำโปรเจกต์กินเพลิน…เลินเลิ้ง นำเมนูดั้งเดิมประจำย่านมาดัดแปลงให้แปลกใหม่ชวนลิ้มลอง และคุณสุวัน แววพลอยงาม ผู้นำชุมชนที่จับมือกับกลุ่มอีเลิ้ง ร้อยเรียงเรื่องราวของศิลปะ ชุมชน และเมืองออกมาเป็นหลากหลายกิจกรรม ทั้งทัวร์สำรวจย่าน เวิร์กช็อป ชิมอาหารจากเชฟชุมชน และจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย เพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาดีได้อย่างยั่งยืน
โจทย์หลักคือการพัฒนาย่าน
“การทำ Sense of Nang Loeng มีความท้าทายมากเพราะมีการทับซ้อนในการเป็นเจ้าของพื้นที่หลายระดับ พื้นที่เช่าอยู่ในการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นอกถนนก็เป็นของเขต มีหัวหน้าชุมชนแต่ละชุมชนคอยดูแลอีกที ในพื้นที่อาคารมีผู้เช่าและผู้ให้เช่าที่ต้องประสานงานด้วย และยังมีพื้นที่ในชุมชนที่แออัดอีก พื้นที่จัดงานมันซับซ้อนหลายด้านมาก ซึ่งเป็นหน้าที่และความท้าทายของนักออกแบบในการแก้ปัญหาที่ไม่สามารถใช้องค์ความรู้เดียว แต่ต้องนำความรู้หลากหลายมาบูรณาการ ไม่ใช่แค่สร้างงานออกแบบที่เน้นเพียงด้านความงาม หรือใช้โอกาสนี้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวตนศิลปิน แต่การทำโปรเจกต์แบบนี้เราต้องนำ Design Thinking มาใช้ ต้องเข้าใจปัญหาชุมชน ต้องร่วมมือกับผู้นำชุมชนในการพัฒนา ที่สำคัญคือต้องวางวัตถุประสงค์ให้ชัดว่าคุณทำเพื่อใคร คุณจะทำเพื่อนำงานออกแบบใหม่ของตัวเองมาวางในชุมชน หรือเพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มีช่องทางแสดงออก มีโอกาสหารายได้ และเขามีโอกาสที่จะได้แก้ปัญหาในชุมชนจริงๆ นี่คือสิ่งที่กลุ่ม Sense of Nangloeng นำเสนอในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ”
ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นใน Sense of Nang Loeng จึงเริ่มคิดจากโจทย์ในการแก้ปัญหาของชุมชน แต่ไม่ใช่เพียงการทำความเข้าใจปัญหาในปัจจุบันเท่านั้น “เราต้องมองรากในอดีตและดูความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต งานดีไซน์คือการมองอดีต ปัจจุบัน อนาคต จากทางแก้ปัญหาร้อยแปดพันเก้าที่คิดมาได้ เราต้องมาเลือกว่าอันไหนมีศักยภาพในการเติบโต ดูประวัติศาสตร์ ดูแนวโน้มการใช้งานพื้นที่ในอนาคต และสุดท้ายคือดูเรื่องงบประมาณว่าตัวเลือกไหนเหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหา ไปพร้อมๆ กับสร้างการขับเคลื่อนเล็กๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม”
เมือง-มิตร-ดี ต้องมีวัฒนธรรม
“ถ้าเข้าไปเกาะรัตนโกสินทร์ตอนนี้ จะเห็นว่าพื้นที่ตรงนั้นกำลังกลายเป็นดิสนีย์แลนด์ไปแล้ว พื้นที่กำลังขาดรากฐานวัฒนธรรม จริงๆ เราไม่ขัดว่าคนต่างชาติจะเข้าไปแต่งกายถ่ายรูปให้เหมือนคนในอดีต แต่การที่พื้นที่นั้นไม่มีราก ไม่มีวิถีชีวิตอะไรที่สอดคล้องในพื้นที่นั้นเลย ทำให้พื้นที่ของเรากลายเป็น Theme Park เข้าไปทุกที” รัฐพูดถึงปัญหาของแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเมืองไทย
“ถ้าจะเป็นเมืองมิตรดี ผมคิดว่าเราต้องเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรม คำว่าวัฒนธรรมอย่าไปมองว่าต้องโบราณอย่างเดียว แต่ต้องมีพื้นที่สาธารณะที่เราสามารถแสดงออกได้ ใช้ชีวิตอย่างมีอิสระ มีความสุข ทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะได้ อย่างเราไปฝรั่งเศสเห็นคนเต้นฮิปฮอปในพื้นที่สาธารณะ เล่นดนตรี ออกกำลังกาย เรียกร้องประเด็นสังคมเพราะเมืองคือพื้นที่ใช้ชีวิต เราก็หวังว่าเวลาเดินไปในพระนครจะมีเสียงดนตรีไทย มีคนไทยฝรั่งนั่งดู ชุมชนเอาลูกมาป้อนข้าวทานอาหาร วิ่งเล่น ความสุขที่ขยายตัวไม่ใช่เพียงในเคหสถานของตน เมืองจึงไม่ควรเป็นเพียงสถานที่ตื่นเช้าออกจากที่พัก นั่งรถไปทำงาน เมืองต้องเป็นพื้นที่ให้คนแสดงออก คนที่ผ่านไปมาได้มีปฏิสัมพันธ์กัน เป็นเมืองที่ผู้คนสามารถแสดงออกถึงความสุขของตนเองได้ในพื้นที่สาธารณะ วัฒนธรรมจึงมองได้ทั้งในแง่ของวิถีชีวิตและการทำกิจกรรมที่กลุ่มคนร่วมกันสร้างความสุขในพื้นที่ อันนี้คือเมืองมิตรดี เป็นเหตุผลว่าทำไมวัฒนธรรมถึงสำคัญ ถ้าขาดวัฒนธรรม เมืองนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากโรงงานหรือพื้นที่ท่องเที่ยวที่ต้องการดึงเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวอย่างเดียว”
ก้าวต่อไปของนางเลิ้งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
“หลังจากจบงานแล้ว ผลงานของพวกเราจะถูกย้ายไปไว้ในสวนสาธารณะของชุมชน เราอยากให้มันกลายเป็นพื้นที่สำหรับชุมชน เกิดการจัดทัวร์ในชุมชนโดยผู้นำชุมชน ทั้งการแสดงละคร ดนตรีไทย ด้วยความร่วมมือกับเอกชนในพื้นที่ อาคารเก่าที่ถูกปรับปรุงขึ้นระหว่างเทศกาลจะถูกส่งต่อ เราเสนอไอเดียการจัด Chef Table เชิญแขกมารับประทานเมนูพิเศษที่บ้านนางเลิ้ง โดยต่อยอดเพิ่มมูลค่านำเมนูโบราณจากร้านในตลาดมาดัดแปลงเป็นเมนูใหม่ มีกิจกรรม Food Tasting จุบจิบจับใจ ซึ่งจัดทัวร์ชิมอาหารในตลาด สิ่งเหล่านี้ชาวนางเลิ้งสามารถเอาไปทำโครงการท่องเที่ยวชุมชนต่อได้ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาค้นพบย่าน ถ้ามีการโปรโมตที่ดีก็จะช่วยกระจายรายได้และกลายเป็นอีกหนึ่งความเป็นไปได้ของนางเลิ้ง”
“แต่ละย่านในกรุงเทพฯ มีความพิเศษของตัวเอง ผมหวังว่าหลังจากโครงการนี้จบลง ผู้คนจะรู้จักนางเลิ้งดีขึ้น เราอยากรื้อฟื้นภาพจำของนางเลิ้งที่เป็นบ้านของครูดนตรีไทยและคณะละครในอดีตขึ้นมาใหม่ เพราะนี่คือคาแรกเตอร์ที่ทำให้ย่านนี้มีความพิเศษ ซึ่งท่านผู้ว่าชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เคยให้ความคิดเห็นไว้ว่า อยากสร้างความเป็นย่านของกรุงเทพฯ แต่ละแหล่งให้มันชัดเจนขึ้น ผมคิดว่ากิจกรรมที่เราทำก็ช่วยตอกย้ำนโยบายของกรุงเทพมหานครได้อย่างชัดเจน”
–
Bangkok Design Week 2023
urban‘NICE’zation
เมือง-มิตร-ดี
4 – 12 FEB 2023
#BKKDW2023
#BangkokDesignWeek
#urbanNICEzation