The Making of CREATIVE VIRUS EXHIBITION
The Making of CREATIVE VIRUS EXHIBITION By Art4d “เสน่ห์ของงานเหล่านี้คือเราจะเห็นพลังของศิลปิน นักออกแบบ และนักสร้างสรรค์ ที่ลงไปสู่ชิ้นงานและสะท้อนเอกลักษณ์งานออกแบบได้อย่างเด่นชัด สิ่งนี้มันคือ Landscape ของความคิดสร้างสรรค์ของคนในประเทศเราที่เต็มไปด้วยผู้ที่มีความสามารถ” แนะนำแนวคิดของโปรเจ็กต์ที่ออกแบบสำหรับงานบางกอกดีไซน์วีคปีนี้ สืบเนื่องจากการที่เราได้เชิญเหล่าศิลปิน นักออกแบบ และนักสร้างสรรค์ในหลากหลายสาขามาร่วมออกแบบผลงานใน ‘art4d 273 We will meet again’ ตั้งแต่ในช่วงของการระบาดเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเป็นการออกแบบและตีความผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ ภายใต้โจทย์ใน 4 หัวข้อ คือ Creative Solution, Design from Home, What Art Can Do?- Art in the Age of Global Pandemic และ Covid Diary ซึ่งถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปถึงหนึ่งปีแล้วก็ตาม แต่เรายังคงต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ของโรคระบาด จึงได้รวบรวมผลงานเหล่านี้มาจัดแสดงในนิทรรศการ Creative Virus ในงาน BKKDW 2021 นี้ ผลงานที่นำมาจัดแสดงจะสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่พวกเราต้องเผชิญตลอดระยะเวลาของการระบาด ทั้งในด้านของการทำงาน การกินอยู่ บรรยากาศการใช้ชีวิตประจำวันหรือการรักษาระยะห่างทางสังคม โดยตีความผ่านมุมมองของศิลปินและความถนัดของเจ้าของผลงานในด้านที่แตกต่างกันออกไป เลือกหยิบจับไอเดียจากมาจากไหน แรงบันดาลใจ ต้นทุนทางความคิด เราจะสังเกตได้ว่าผลงานเกือบทุกชิ้นที่นำมาจัดแสดงเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินและนักออกแบบแต่ละท่านในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไปโดยผลงานที่ออกมาจะเชื่อมโยงกับทักษะของศิลปินแต่ละท่าน อาทิ ผลงานการออกแบบสบู่แบบพกพา จาก O-D-A ที่ทำให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมการล้างมือที่มาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน หรือผลงานการออกแบบของ Studiotofu ในการปรับเปลี่ยนรถถังที่ไม่ได้ถูกใช้งานในช่วงการระบาดให้สามารถใช้งานแบบอื่นได้ หรือผลงานภาพถ่ายของ Soopakorn Srisakul ที่นำเสนอภาพของกล่องอาหารสำเร็จรูปจากร้านสะดวกซื้อในช่วงที่จำเป็นต้องอยู่แต่ในบ้าน รวมถึงผลงานภาพถ่ายของ Ketsinee Wongwan ในช่วงการระบาดซึ่งเป็นภาพชุดที่แสดงให้เห็นความเงียบเหงาของกรุงเทพมหานคร ขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ ย่านที่จัดแสดง วัสดุที่เลือกใช้ มีความพิเศษอย่างไร ความยากง่าย ความท้าทายในการติดตั้งผลงาน ด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นหรือแม้กระทั้งมาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้การทำงานค่อนข้างมีอุปสรรคเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่แรกที่เราคาดหวังว่าผลงานการออกแบบจะถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ในรูปแบบของเล่มนิตยสาร จนต้องปรับเปลี่ยนมาทำเป็นรูปแบบของ E-magazine และ Online Exhibition ที่ถือว่าเป็นของแรกของ art4d ในการทดลองนำเสนอรูปแบบคอนเทนต์ใหม่ๆ ของเราให้กับผู้อ่าน ถึงแม้ว่า นิทรรศการ Creative Virus ใน BKKDW2021 ครั้งนี้ จะนำเสนอในรูปแบบ on-ground แต่การทำงานของเราต้องคิดภายใต้มาตรการทางสาธารณสุขต่างๆ การออกแบบหน้าตาของนิทรรศการจึงถูกปรับเปลี่ยนมาเพื่อเอื้อต่อการรักษาระยะห่าง การจำกัดจำนวนผู้เข้าชม และมาตรการทางสาธารณสุขด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคและความท้าทายของการจัดงานในครั้งนี้ สรุปความพิเศษของโปรเจ็กต์นี้ นอกจากในเรื่องความน่าสนใจในการออกแบบนิทรรศการให้เป็นรูปแบบของเกมบันไดงูเพื่อเอื้อให้มีการรักษาระยะห่างระหว่างผู้เข้าชมผลงาน เสน่ห์ที่สำคัญของนิทรรศการนี้คือ เราจะได้เห็นพลังของศิลปิน นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ในแวดวงต่างๆ ที่ทุ่มเทลงไปในผลงานและสะท้อนเอกลักษณ์ ผ่านชิ้นงานได้อย่างเด่นชัดมาก สิ่งนี้มันคือ ‘Landscape’ ของความคิดสร้างสรรค์ของคนในประเทศเราที่เต็มไปด้วยผู้ที่มีความสามารถ สะท้อนให้เห็นมุมมองทางความคิด สุนทรียะ อารมณ์ขัน และมุมมองที่ทำให้เราได้ไปคิดต่อหลังจากได้รับชมผลงาน ผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ผู้เข้าชมงานได้รับกลับไปหลังจากได้สัมผัสประสบการณ์จากผลงาน เราอยากให้เกิดคำถามว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาเหมือนถูกหยุดเวลาไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเหมือนสิ่งที่ได้เกิดขึ้นไปเมื่อปีที่แล้ว สถานการณ์การระบาดยังคงอยู่และวนกลับมาสู่จุดเดิม ทิศทางต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร และพวกเรากลุ่มศิลปิน นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ หรือกลุ่มฟรีแลนซ์ จะวางแผนกันอย่างไรต่อไปและสามารถใช้ทักษะในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในการจัดการกับตัวเอง สังคม หรือเมืองให้สามารถอยู่ร่วมกับโรคระบาดนี้ได้ต่อไปอย่างไร #THEMAKINGOFBKKDW2021 #CREATIVEVIRUS #BKKDW2021 #BANGKOKDESIGNWEEK
The Making of Design PLANT 2021 - DOMESTIC
The Making of Design PLANT 2021 – DOMESTIC By DesignPLANT Design Plant เป็นชื่อที่วงการออกแบบรู้จักกันเป็นอย่างดี เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไทยที่ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2013 เปิดเป็นพื้นที่กลางในการรวบรวบและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่หลากหลายให้นักออกแบบ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตวัสดุในประเทศไทยมาเชื่อมต่อโอกาสและสร้างความร่วมมือใหม่ๆ ทั้งในเชิงธุรกิจ การบริการ รวมทั้งการนำเสนอผลงานภายใต้โจทย์ที่ท้าทายแตกต่างกันไปในแต่ละปี ในปี 2021 ผลกระทบจากภาวะโรคระบาดยังไม่หายไปไหน ในภาวะที่พลเมืองโลกต่างต้องติดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานานนับปี Design Plant จึงเลือกคำว่า “DOMESTIC” มาเป็นโจทย์ใหญ่ ชวนนักออกแบบมาร่วมตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ใกล้ตัว เราชวนทีมงานจาก Thinkk Studio ผู้เป็นแม่งานในปีนี้ มาเล่าให้เราฟังถึงที่มาและกระบวนการทำงานของนิทรรศการซึ่งพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์เปลี่ยนข้อจำกัดเป็นงานออกแบบที่คุณอาจคาดไม่ถึง “เนื่องจากปีที่แล้ว เราแทบทุกคนต่างต้องติดอยู่ในประเทศของตัวเอง ข้อจำกัดนี้ส่งผลกระทบต่อคนทุกบทบาท รวมถึงดีไซเนอร์เองด้วย เราจึงชวนทุกคนมาหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในประเทศ” ลูกตาล – จารวี ทองบุญเรือง Exhibition Content & Project Coordination ของ Thinkk Studio เล่าให้เราฟังถึงการตีความบริบทที่ว่าด้วยภายใน ว่าสามารถเป็นได้หลายระดับตั้งแต่ต้นทุนทางธรรมชาติตามภูมิศาสตร์ วิถีชีวิตในละแวกที่อยู่อาศัย ปฏิสัมพันธ์ของนักออกแบบกับผู้คนอื่นๆ ไปจนถึงการตั้งคำถามกับความเชื่อที่ไม่อาจจับต้องได้แต่แฝงอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวันที่ใช้ชีวิต กระบวนการสู่ความเป็นไปได้ใหม่ เมื่อได้โจทย์ประจำปีที่ชัดเจนแล้ว Design Plant ก็โพสต์ประกาศเปิดรับผลงาน หรือไอเดียในการพัฒนางานออกแบบทางเพจเฟซบุ๊ก โดยในครั้งนี้มีโปรเจ็กต์ทดลอง Emerging Plant เพิ่มขึ้นมาเป็นพิเศษคัดเลือกนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ยังเป็นนักศึกษาและหรือคนทำงานที่เพิ่งจบการศึกษามาไม่ถึง 2 ปี ทั้งหมด 10 กลุ่ม ซึ่งเต็มไปด้วยไอเดียสดใหม่ มาทำงานร่วมกับนักออกแบบมืออาชีพที่พกความชำนาญมาเต็มกระเป๋า และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่มากด้วยองค์ความรู้จากประสบการณ์ทำงานจริง 49 ผลงานที่ได้รับคัดเลือก ถูกนำมาแบ่งเป็น 5 หมวดหมู่ จัดแสดงโดยทีมนิทรรศการ เนรมิตพื้นที่ใน ATT 19 เจริญกรุง 30 ด้วยวัสดุจากสปอนเซอร์อย่างไม้อัดดัดโค้ง ตราเข็มทิศ จัดการพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนและสร้างความน่าสนใจให้ผลงานที่นำมาจัดแสดงได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ทีมงานยังจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปทำเก้าอี้จากไม้อัดดัดโค้ง ให้ผู้เข้าชมงานได้ลงมือทำแล้วนำกลับไปใช้จริง ตามคอนเซ็ปต์ของความเป็น Domestic ที่นอกจากหมายถึง ในประเทศแล้วยังหมายถึง ในครัวเรือนได้อีกด้วย ส่วนโปสเตอร์สีเขียวสดใสที่เป็น Key Visual หลักของนิทรรศการครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือกับ Studio 150 ซึ่งต่อยอดแนวคิดหลักของนิทรรศการ ออกมาเป็นตัวหนังสือคำว่า Domestic ที่ยืดหดได้ภายในระยะเส้นกริด เพื่อสื่อสารถึงความเป็นไปได้ภายในกรอบจำกัดนั่นเอง จากไกลเข้ามาใกล้ ผลงานเด่นจากทั้ง 5 หมวดหมู่ไล่เรียงจากสิ่งที่ดูยิ่งใหญ่ห่างไกลตัวเราที่สุด แล้วค่อยๆ ขยับเข้ามาใกล้ตัวเราที่สุด ตามระยะความรู้สึกของมนุษย์ จากภายนอกสู่ภายใน Nation เป็นหมวดหมู่ของงานที่ไม่ได้จำกัดพื้นที่เป็นการเฉพาะเจาะจงแต่ส่งผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง เช่น Domestic Alternative Materials โดย Thinkk Studio ทดลองนำวัสดุเหลือทิ้ง 12 แบบ มาดัดแปลง เพื่อหาแนวทางในการนำไปใช้ทดแทนวัสดุเดิมๆ ต่อไป อีกชิ้นในหมวดนี้คือ SPIRULINA SOCIETY โดย ANYA MUANGKOTE นักออกแบบผู้สนใจด้านความยั่งยืน เลือกใช้วัสดุที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มาสร้างเป็นชุดปลูกสาหร่ายสำหรับคนเมือง ทั้งช่วยผลิตอาหาร ลดการผลิตของเสีย และแสงไฟที่เปิดให้กับสาหร่ายยังนำมาใช้แทนโคมไฟได้อีกด้วย Local เป็นหมวดหมู่ของงานออกแบบที่ได้รับอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรม ความถนัด หรือวัตถุดิบในย่าน เขต ชุมชน จังหวัด ที่นักออกแบบคุ้นเคย งานที่โดดเด่นน่าจับตาที่สุดในหมวดนี้คือ Work From Phrakanong โดย Work From Phrakanong ฝาแฝดนักออกแบบผลิตภัณฑ์กับนักออกแบบกราฟิก ที่ร่วมกันทดสอบศักยภาพของย่านพระโขนง ผ่านการสร้างสรรค์กระเป๋าร่วมกับช่างเย็บผ้า อีกผลงานคือ MITI Screen designed โดย SARNSARD ที่นำใบของเตยทะเล พืชท้องถิ่นในภาคใต้มาสานเป็นฉากกั้นห้องที่แอบซ่อนฟังก์ชันลูกเล่นการใช้งานไว้ได้อย่างน่าสนใจ Community เป็นหมวดหมู่การสร้างสรรค์ผลงานที่มีที่มาจากการพึ่งพาอาศัย ความคุ้นเคยใกล้ชิดกันระหว่างนักออกแบบกับผู้คนอื่นๆ เช่น VANZTER โดย น้ำเย็น-พัทธมน ศุขเกษม ที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมชายขอบ (Subculture) ของ ‘เด็กแว้น’ โดยร่วมกันทดลองนำทักษะการแต่งท่อ ทำสีเหลือบรุ้งออกมาเป็นแจกันสีสันแปลกตา เทคนิคชวนแปลกใจ อีกชิ้นคือ Fat boy and Nigma โดย kitt.ta.khon เก้าอี้จากงานจักสานที่ให้ผู้ซื้อสร้างลวดลายเองได้ และเปิดโอกาสให้ช่างฝีมือได้ใส่ความเป็นตัวตนลงบนผลงานอย่างเต็มที่ Residence เป็นหมวดหมู่งานออกแบบสำหรับที่พักอาศัย ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ เพิ่มความสะดวกและความรู้สึกที่สบายใจ เช่น Canvas – Fine(art) Dining Table โดย PDM ซึ่งพัฒนาโต๊ะญี่ปุ่นให้มีลวดลายที่ออกแบบโดยศิลปินไทย พิมพ์ด้วยความละเอียดสูงลงบนวัสดุกันน้ำ เมื่อพับเก็บแล้วแขวนบนผนังก็กลายเป็นงานศิลปะที่จับต้องได้ อีกชิ้นคือ JOINT (T) โดย Studio YAK ผลิตแผ่นกระเบื้องเซรามิกที่มีขนาดเท่ากับแผ่นกระเบื้องที่มีขายอยู่ในท้องตลาด แต่มีตัวตะขอ มีจุดเกี่ยวแขวนที่หล่อขึ้นมาพร้อมกับตัวกระเบื้องจึงไม่ต้องติดกาวหรือตอกตะปูอีกต่อไป Feeling เป็นหมวดหมู่งานออกแบบจากสิ่งที่อยู่ภายในของนักออกแบบเป็นหลัก ตั้งแต่รสนิยม ความหลงใหล ความสนใจของแต่ละบุคคล ไปจนถึงความเชื่อ อารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัวด้วย ผลงานที่น่าสนใจคือ Emotion Collector โดย CO-DE ที่สร้างอุปกรณ์จดบันทึกอารมณ์ประจำวัน (Mood Tracker) ด้วยการใช้มือกดเลือกสีของอารมณ์ ปรบมือเพื่อส่งข้อมูลเข้าไปในเครื่อง แสดงผลการสะสมอารมณ์ในแต่ละเดือนออกมาเป็น Color lighting อีกชิ้นที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ P(S)OLUTION โดย 11:11 ออกแบบเป็นกระถางธูปไหว้เจ้าด้วยดีไซน์ใหม่ในแบบของยุค 2020 ของฝากจากนิทรรศการ “สิ่งที่ได้กลับไปแน่ๆ คือไอเดียที่หลากหลายมากเลยค่ะ แล้วที่สำคัญไอเดียของทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในประเทศ ในช่วงที่เราต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน รวมถึงจะได้เห็นแนวโน้มของงานออกแบบในปัจจุบันที่นักออกแบบไทยให้ความสำคัญกับเรื่องวัสดุ และกระบวนการผลิตที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” ลูกตาล ในฐานะ Exhibition Content & Project Coordination กล่าวย้ำว่า แม้คุณจะไม่ได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปทำเก้าอี้ ไม่ได้ติดต่อขอซื้องานออกแบบบางชิ้นติดมือกลับบ้าน รับรองว่าทุกคนที่ได้มีโอกาสเข้ามาชมนิทรรศการครั้งนี้จะได้ความคิดบางอย่างกลับไปด้วยแน่นอน #THEMAKINGOFBKKDW2021 #DOMESTIC #BKKDW2021 #BANGKOKDESIGNWEEK
BKKDW2021 Online Exhibition Tour
รวมลิสต์การจัดแสดงผลงานและนิทรรศการในรูปแบบออนไลน์ไว้ในที่เดียว โดยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับแนวความคิด ที่มา พร้อมเรื่องราวที่น่าสนใจในแต่ละผลงาน มีทั้งแบบใกล้ชิด 360° Exhibition Tour พาทัวร์โดยทีมผู้จัดแสดงบอกเล่าด้วยตนเอง และแบบ Virtual tour ที่สร้างประสบการณ์การรับชมเสมือนกับได้เดินชมงานจริง พบกับ 13 ผลงานการจัดแสดง Online Exhibition Tour ให้คุณได้รับชมจากที่บ้าน เพลิดเพลินได้ทุกมุม แบบไม่ต้องรีบ และจะกลับมาดูซ้ำเมื่อไหร่ก็ได้ ข้อมูลโปรแกรม Design and Object Association (D&O) ข้อมูลโปรแกรม SUMPHAT ข้อมูลโปรแกรม DESIGN PLANT ข้อมูลโปรแกรม CREATIVE ECONOMY AGENCY (CEA) ข้อมูลโปรแกรม MÆWTĀY X CLOUD-FLOOR X SP/N X NOSESTORY X DECUS ข้อมูลโปรแกรม CHANGE by CEA: Launchpad Showcase By Creative Economy Agency (CEA) ข้อมูลโปรแกรม 29.31 By Creative crews ร้าน Eastern Antiques – เครื่องประดับจากเศษกระเบื้องที่มีชิ้นเดียวในโลก ออกแบบ 3D Animation โดย คุณกิตติพัฒน์ พรมคำ Online Exhibition Link: https://bit.ly/3qY4itI ร้านก้วงเส็งล้ง – ถังไม้สักเพื่อชีวิต ออกแบบ 3D Animation โดย คุณปิยทัศน์ ลิ่มศิลา Online Exhibition Link: https://bit.ly/3jYCTq6 ข้อมูลโปรแกรม Creative Business AR Exhibition By AIS D.C. Comming Soon ข้อมูลโปรแกรม CREATIVE VIRUS By art4d ข้อมูลโปรแกรม TOMORROW LOW CARBON By SONTANA ข้อมูลโปรแกรม นิทรรศการหน้ากากอนาคต Mask Future by Bangkok Design Week X อิสรภาพ – Issaraphap ข้อมูลโปรแกรม Common Air-rea By CEA X Cloud-floor X UCCN, BKK City of Design ข้อมูลโปรแกรม Open: Come on, Calm on by SHMA #อยู่บ้านชมงานนิทรรศการ #เที่ยวเทศกาลแบบNewNormal #BKKDW2021 #BangkokDesignWeek #UnitedByDesign
The Making of Academic Exhibition and Showcase: Mask Future
Academic Exhibition & Showcase: Mask Future By Bangkok Design Week x ISSARAPHAP “การจัดแสดงผลงานการประกวดในครั้งนี้ เรามีการแบ่ง criteria ให้หลากหลายมาก ซึ่งในฐานะคนทำงานประกวดก็เปิดกว้างทางความคิดทุกๆ รูปแบบ ในบางชิ้นงานอาจมองว่าใช้ไม่ได้จริง แต่ก็เป็น Concept ที่แรงมาก เราอยากที่จะ Encourage ให้ผู้ที่มาชมผลงานได้เปิดใจ อยากให้ทุกคนสามารถ Explore ในสิ่งที่ตัวเองสนใจได้ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นหลักของกิจกรรมในครั้งนี้ และสามารถถกเถียงกันได้ รวมไปถึงชี้ให้เห็นว่า ชุดความคิดแบบนี้ในสังคมเป็นสิ่งที่ไม่ผิดและยังสามารถเติบโตไปในผลงานการออกแบบได้” แนะนำแนวคิดของโปรเจ็กต์ที่ออกแบบสำหรับงานบางกอกดีไซน์วีคปีนี้ จากการที่ได้รับโจทย์ในการทำ Academic Pavilion จากทาง CEA โดยหลังจากทีมได้พูดคุยกัน จึงมองว่าต้องการให้การจัดแสดงผลงานนิสิตนักศึกษามีความแตกต่างออกไปจากวิธีการของปีก่อนๆ และเป็นผลงานที่คิดภายใต้โจทย์เดียวกัน มีการทดลองทำขึ้นมาใหม่จริงๆ รวมถึงใช้รูปแบบของกิจกรรมเป็นการประกวด ซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยได้เห็นกิจกรรมลักษณะนี้สำหรับกลุ่มนักศึกษาหรือเด็กรุ่นใหม่มากนัก และอยากสร้างให้เกิดธรรมเนียมของเทศกาลงานออกแบบในการ ‘Motivate’ เด็กรุ่นใหม่ รวมไปถึงในอนาคต เราคาดหวังไปถึงขึ้นที่ว่าผลงานที่เกิดขึ้นจะสามารถไปผลิตเพื่อขายจริงได้ด้วย ด้วยรูปแบบการทำงานของทีมที่เป็นการตั้งประเด็นบางอย่างขึ้นมาและชวนผู้คนในแวดวงการออกแบบและงานสร้างสรรค์มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ในกิจกรรมนี้จึงเป็นเหมือนการเชิญชวนน้องๆ กลุ่มนักออกแบบและนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ให้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากกว่าการแข่งขันเพื่อหาผู้ชนะ โดยประเด็นที่ทีมเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ก็คือ “หน้ากากอนามัย” ซึ่งเป็นเรื่องสากลทั่วไปที่พวกเราประสบกันอยู่และมีการพูดถึงกันในวงกว้าง แต่เรายังไม่ได้เห็นมุมมองของเด็กรุ่นใหม่หรืออาจจะเห็นน้อยมากซึ่งพวกเขาต้องอยู่กับผลกระทบเหล่านี้ไปอีกยาวนาน ทีมเราจึงอยากเห็นมุมมองในเรื่องนี้ที่กลุ่มเด็กรุ่นใหม่คิดเห็นต่ออนาคตของพวกเขา นอกจากนี้เราได้เปิดโอกาสในการสมัครเข้าร่วมให้กับนักศึกษาในหลากหลายสาขาวิชาไม่เพียงแค่นักศึกษาจากภาควิชาการออกแบบหรือมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านออกแบบเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เกิดแนวคิดหลายมิติและเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนมากอีกด้วย เลือกหยิบจับไอเดียจากมาจากไหน แรงบันดาลใจ ต้นทุนทางความคิด การที่ทีมเราหยิบ หน้ากากอนามัย มาเพื่อใช้เป็นธีมของการจัดแสดงผลงาน เนื่องจากว่าหน้ากากอนามัยเป็นผลิตภัณฑ์ที่อาจจะมองได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้ต้องการการดีไซน์มากขนาดนั้น แต่เราจะเห็นประเด็นที่ซ่อนอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียวและสามารถตีความได้ในหลายมิติ อาทิ ด้านสังคม การเมือง การแพทย์ การสาธารณสุข หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน ที่สะท้อนให้เห็นแง่มุมด้านต่างๆ ในฐานะที่หน้ากากอนามัยกำลังกลายเป็นอวัยวะหนึ่งของเราและเป็นปัจจัยใหม่ที่สำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา รวมไปถึง ประเด็นของความเป็น ‘Norm’ ของสิ่งนี้ที่เหมือนเป็นค่ากลางที่ทุกคนสามารถเข้าใจมันได้และเป็นสิ่งสามัญธรรมดาทั่วไปที่มีอิทธิพลกับพวกเราทุกคนเป็นอย่างมาก ขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ ย่านที่จัดแสดง วัสดุที่เลือกใช้ มีความพิเศษอย่างไร ความยากง่าย ความท้าทายในการติดตั้งผลงาน หลังจากที่ทีมได้เปิดรับสมัครผลงานของนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ จำนวนผลงานที่สมัครเข้ามามีมากกว่า 400 ผลงาน ซึ่งถือว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมากๆ ดังนั้นในการคัดเลือกผลงานให้เหลือเพียงแค่ 30 ผลงาน เพื่อนำมาจัดแสดงจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายทีมเราเป็นอย่างมาก โดยในการคัดเลือกเราใช้เกณฑ์ที่สะท้อนให้ผู้มาชมได้เห็นถึงความหลากหลายและการตีความหน้ากากอนามัย ทั้งในเชิงการใช้งาน ความเป็นนวัตกรรม แนวคิดที่แปลกใหม่ หรือในแง่ของการแก้ปัญหาทางสังคม เนื่องจากทางทีมอิสรภาพมองว่าการประกวดในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการมองหาการออกแบบหน้ากากอนามัยที่ดีที่สุด แต่เรากำลังแสดงให้เห็นแนวคิดที่หลากหลายที่มีต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นว่าสามารถพัฒนาไปอย่างไรได้บ้าง นอกจากนี้ เรายังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาต่างๆ อาทิ แฟชั่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือศิลปะ มาร่วมกันคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นที่สุดจำนวน 3 ผลงาน โดยกระบวนการทำงานเกือบทั้งหมดผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งสิ้นซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายการทำงานในรูปแบบใหม่ของทีมเช่นเดียวกัน นอกจากการจัดงานประกวดจะเป็นสิ่งใหม่ของทีมแล้ว ความท้าทายสำคัญคือการที่เราต้องทำงานภายใต้สถานการณ์ล็อกดาวน์ที่ทุกคนไม่สามารถออกไปไหนได้อย่างปกติ น้องๆ ไม่สามารถผลิตต้นแบบที่จะนำมาจัดแสดงได้ หรือบางไอเดียมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้ จึงทำให้หลายๆ ทีมไม่ได้ทำงานกันต่อ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นการทำงานของเด็กรุ่นใหม่จะกำลังจะก้าวเข้ามาสู่สายอาชีพนักสร้างสรรค์ในอนาคต การเผชิญกับข้อจำกัดในการสร้างผลงานจึงเป็นสิ่งที่ทางทีมได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน อะไรคือความพิเศษของโปรเจ็กต์นี้ ผลงานที่ได้รับคัดเลือกมาจัดแสดงในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นกระบวนการคิดและการทำงานของน้องๆ นักสร้างสรรค์ในยุคปัจจุบัน กิจกรรมนี้จึงเปรียบเสมือนกับห้องเรียนใหม่อีกห้องหนึ่งที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้ฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน เราจะเห็นได้จากในหลายๆ ชิ้นงานที่โดดเด่นและสร้างความประหลาดใจให้กับทีมคัดเลือก และเป็นวิธีการคิดงานที่เราพบเห็นไม่บ่อยนักในผลงานการออกแบบของนักศึกษา เช่น หน้ากากอนามัยที่ระบุให้เห็นว่าเป็นหน้ากากอนามัยที่ผ่านการใช้งานแล้ว เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยและส่งเสริมในเรื่องของการจัดการ หรือเราจะได้เห็นผลงานที่หลุดออกไปจากกรอบคิดเดิมๆ ผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ผู้เข้าชมงานได้รับกลับไปหลังจากได้สัมผัสประสบการณ์จากผลงาน ข้อแรก เราอยากให้ผู้ที่มาชมได้ตั้งคำถามและฉุกคิดว่า ‘ทำไมผลงานชิ้นนี้จึงถูกคัดเลือกมาจัดแสดง?’ ซึ่งในบางชิ้นงานอาจจะมองว่าใช้วัสดุหรือวิธีคิดที่ไม่น่าเข้ากันได้ เราอยากให้ผู้มาชมมองออกไปจากขนบหรือวิธีการตัดสินแบบเดิมของงานประกวด เพื่อจะได้เห็นการผลิตงานสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ นอกจากนี้ เราคาดหวังให้กลุ่มน้องๆ เด็กรุ่นใหม่ชักชวนมาชมผลงานกัน เพราะจะได้เรียนรู้วิธีการคิดงานจากเพื่อนต่างสถาบันหรือสาขาวิชาที่มีหลากหลายมิติที่สามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานหรือสร้างผลงานของเราในอนาคต รวมถึงอยากให้กลุ่มผู้ใหญ่หรือคนทำงานทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องได้มาชมผลงาน ได้มาเรียนรู้มุมมองของเด็กรุ่นใหม่ที่มีต่อประเด็นต่างๆ ในสังคม และเห็นว่างานสร้างสรรค์สามารถแตกแขนงออกไปได้อย่างมากมายขนาดไหนแล้วในยุคปัจจุบันนี้ และช่วยส่งเสริมและสนับสนุนในการพัฒนาศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่ที่จะเติบโตมาเป็นคนที่ร่วมพัฒนาประเทศ ส่วนสุดท้าย เราไม่อยากให้ผู้ที่เข้ามาชมตัดสินงานจากชื่อของกิจกรรมที่เป็นรูปแบบงานประกวดเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้มองว่าเป็นพื้นที่ในการพูดคุยและเปิดบทสนทนาอย่างไม่มีกรอบหรือเงื่อนไข เพื่อเป็นการได้แลกเปลี่ยนมุมมองในการสร้างงานร่วมกัน #THEMAKINGOFBKKDW2021 #หน้ากากอนาคต #FWDcompetition #BKKDWAcadamicProgram #BKKDW2021 #BANGKOKDESIGNWEEK
The Making of Hotel in•ter•rim
Hotel in•ter•rim By MÆWTĀY x CLOUD-FLOOR X SP/N X NOSESTORY X DECUS “ผมมองว่าถนนประดิพัทธ์น่าสนใจตรงที่ถนนจะเชื่อมกับรัฐสภาที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ถ้าพ้นไปอีกแยกหนึ่งก็จะเป็นสถานีกลางบางซื่อ เราเลยมามองความสำคัญของสินทรัพย์หรือทรัพยากรในย่านนี้ว่าถนนเส้นนี้จะพาคนรุ่นใหม่ไปในทิศทางไหนดี จะไปรัฐสภาซึ่งสร้างเสร็จแล้ว หรือจะไปสถานีกลางบางซื่อซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่เกือบเสร็จสมบูรณ์ คิดว่าน่าจะเป็นถนนที่มีความสำคัญในอนาคต” -แชมป์-วิธวินท์ ลีลาวนาชัย หนึ่งในทีมของโปรเจ็กต์ in•ter•rim โปรเจ็กต์ปีนี้ที่ชื่อว่า in•ter•rim มีที่มาที่ไปจากไหน เราทำงานอยู่ในซอยประดิพัทธ์ 17 และอยู่แถวประดิพัทธ์มาหลายปี จึงมองเห็นตรงกันว่าถนนประดิพัทธ์มีโรงแรมเยอะ ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมเก่าที่ยังไม่ได้รีโนเวททำเป็นธุรกิจสมัยใหม่ โรงแรมบางโรงแรมก็มีชื่อแปลกๆ รวมทั้งกลุ่มโรงแรมม่านรูด ซึ่งในสายตามองว่าโรงแรมแถวประดิพัทธ์มันจะมีความงงๆ อยู่ และถนนเส้นประดิพัทธ์ก็มีความแปลกตรงที่ถ้าลองเดินดูจะมีร้านแลกเงินเยอะพอๆ กับโรงแรม ผมก็เลยคุยกับทีมว่าอยากจะทำเรื่องนี้ ดังนั้น คำว่า in•ter•rim มันมาจากสิ่งที่เราสนใจเกี่ยวกับโรงแรม และโจทย์เบื้องต้นของชื่อ in•ter•rim ก็คือโรงแรม อะไรคือแนวคิดหลักที่ทำให้เกิดโปรเจ็กต์นี้ขึ้น เราอยากจะเล่าเรื่องโรงแรม ที่เลือกย่านอารีย์กับย่านประดิพัทธ์เพราะดูเป็นยุคเก่า จริงๆ แล้วประดิพัทธ์มีความเจริญมาก่อนอารีย์ แต่อารีย์จะมีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาอย่างโฮสเทลหรือโรงแรมน่ารักๆ เราก็เลยเลือกหัวข้อ ‘โรงแรม’ ทีแรกเราลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์คนที่ทำธุรกิจโรงแรมย่านประดิพัทธ์ก่อน ที่น่าสนใจคือไม่ค่อยมีใครรู้ว่าย่านนี้มีคนทำธุรกิจโรงแรม แต่โชคดีที่เรามีข้อมูลเบื้องต้นจากงานบางกอกดีไซน์วีคปีที่แล้ว พอสัมภาษณ์ก็รู้ว่าย่านประดิพัทธ์เคยมีชาวตะวันออกกลางอาศัยอยู่ในย่านนี้จำนวนมาก เพราะมีสถานทูตอิรัก และมีร้านแลกเงินหลายร้าน ซึ่งเมื่อก่อนคนมักนิยมมาแลกเงินที่นี่เพราะได้ราคาดีกว่าที่อื่น สาเหตุที่มีร้านแลกเงินเยอะเพราะเมื่อก่อนประดิพัทธ์มีที่เที่ยวกลางคืน ที่สำคัญคือมีโรงแรมเปิดรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว ธุรกิจนี้เลยเติบโตขึ้นมา เราก็เลยสนใจเรื่องโรงแรม ว่าทำไมโรงแรมในยุคเก่ายังดำเนินการมาได้จนถึงทุกวันนี้ จากความหลงใหลในโรงแรมยุคเก่า ถูกนำมาต่อยอดเป็นขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ ย่านที่จัดแสดง ความยากง่าย ความท้าทายในการติดตั้งผลงานเป็นอย่างไร ด้วยความที่เราเดินผ่านทุกวันเราเลยเห็นว่าโรงแรมมันมีความประหลาดและงงงวยในตัวของมันอยู่ เราก็เลยสนใจว่าด้านในโรงแรมเขาทำอะไรบ้าง แล้วก็เกิดการเปรียบเทียบว่าทำไมคนรุ่นใหม่ไปอยู่โรงแรมเล็กๆ ย่านอารีย์ แต่ทำไมโรงแรมย่านประดิพัทธ์จากที่เคยรุ่งเรือง แต่พอผ่านไปอีกยุคหนึ่งก็ดาวน์ลงไปเยอะเลยหลังจากที่ธุรกิจใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งเราไปสัมภาษณ์มาปีที่แล้วเขายังบอกเลยว่า “ถนนเส้นนี้ตายไปแล้ว” เลยเกิดความสนใจเรื่องของโรงแรมในอนาคตว่าจะมีฟังก์ชันไหนบ้างที่จะทำให้ “ถนนเส้นนี้พัฒนาต่อไปยังไง” โดยไอเดียแรกที่เกิดขึ้น คือเราได้เข้าไปคุยกับคนในโรงแรม ที่ ‘จอช โฮเทล’ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานบางกอกดีไซน์วีคปีนี้ แล้วต่อยอดด้วยการไปคุยกับคนที่ทำธุรกิจโรงแรมทั่วประดิพัทธ์ ประจวบกับช่วงนั้นเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดพอดี สิ่งที่เราเห็นคือ โรงแรมกำลังจะตาย-พื้นที่ไม่ได้ถูกใช้งาน เลยเกิดไอเดียว่า ในงานบางกอกดีไซน์วีคจะเข้าไปมีส่วนช่วยอะไรได้บ้างเพื่อใช้โรงแรมในฟังก์ชันอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่การเช็กอินเข้าพัก เลยอยากจะจัดนิทรรศการเกี่ยวกับ จอช โฮเทล ที่ใช้วิธีเล่าเรื่องของพื้นที่โรงแรมโดยรวม ส่วนเนื้อหาในนิทรรศการคือความเป็นโรงแรมชั่วคราว หรือเป็นจุดแวะพัก ซึ่งเราทั้งสี่ (วิธวินท์ ลีลาวนาชัย, นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย, กิตติธร เกษมกิจวัฒนา และญาธิป ฐานิชธนาภัทร) ลงพื้นที่ทำรีเสิร์ชของโรงแรมแล้วตีโจทย์ออกมาเป็นธีมที่ชื่อ ‘ความชั่วคราว’ ก็คือมาแล้วก็ไป และจะถูกเล่าผ่านตัวละครคือแม่บ้าน เพราะด้วยความเป็นแม่บ้านพวกเรามองว่าเป็นบุคคลที่(น่าจะ)รู้ความลับทุกอย่างในโรงแรม เหมือนแม่บ้านจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงแรมทั้งหมด อีกไอเดียหนึ่งของโปรเจ็กต์นี้ขอย้อนไปก่อนหน้าที่เล่าให้ฟังเกี่ยวกับ in•ter•rim คือจะมีงานชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับ Zero step นั่นคือเวลาเราเข้าไปพักโรงแรมเราจะเห็นว่าทุกอย่างถูกจัดให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อให้ห้องพักดูใหม่และไม่เคยผ่านการใช้งาน ซึ่งจริงๆ แล้วสเต็ปที่เราจะใช้แสดงในงานนี้คือการจำลองห้องของผู้เข้าพักก่อนหน้าที่ไร้ระเบียบ ก่อนจะเปลี่ยนโฉมจนกลายเป็นห้องที่ดูเป็นระเบียบ หรือพูดอีกอย่างเป็นการเล่าเรื่องของช่องว่างในช่วงสเต็ปที่อยู่ระหว่างความไร้ระเบียบจนไปสู่ความเป็นระเบียบ เลยใช้คำว่า in•ter•rim ซึ่งสื่อสารให้ช่องว่างตรงนั้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะช่วงสเต็ปนั้นคนที่เข้ามาพักใหม่จะไม่เห็นว่าก่อนหน้าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขาจะเห็นแค่ห้องพักในส่วนที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งหมดนี้จัดเป็นนิทรรศการซึ่งเป็นงานออกแบบผสมกับการเล่าเรื่องระหว่าง ‘แม่บ้าน’ ความเป็นโรงแรม และการนำเสนอในช่วงเวลาที่เรียกว่า in•ter•rim หรือช่องว่างระหว่างก่อนและหลัง อะไรคือความพิเศษของโปรเจ็กต์นี้ ถ้าด้านเทคนิคพิเศษเราทำเป็น Virtual Exhibition ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 3-11 กรกฎาคมนี้ จะเป็นการชมนิทรรศการบนเว็บไซต์ แต่จริงๆ แล้วงานจริงไม่ได้ถูกรื้อถอน แต่ด้วยกฎของทางโรงแรม รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ จะเปิดให้เข้าชมในรูปแบบของ Virtual Exhibition และ VR360° ไปก่อน อีกความพิเศษของโปรเจ็กต์นี้คงเป็นเรื่องของ ‘สกิล’ ของคนที่ดูแลโรงแรมนี้ สกิลที่ว่าเป็นเรื่องของเทคนิคการพับปลายกระดาษทิชชู่เป็นชั้นๆ ซึ่งบางโรงแรมเขาจะใส่ใจรายละเอียดในเรื่องนี้ แล้วก็ชักชวนคนในโรงแรมที่ใช้สกิลนี้มาทำ Sculpture ติดตั้งในโรงแรมด้วย หากชมนิทรรศการทางออนไลน์น่าจะให้ประสบการณ์ที่แตกต่างจากชมในสถานที่จริง มีวิธีการรับมือกับความท้าทายนี้อย่างไร ยากครับ ยกตัวอย่างเลยแล้วกันว่าจะมีห้องหนึ่งที่ Wrap ทั้งห้องเป็นสีดำ เพื่อให้คนที่มาชมรับรู้ถึง in•ter•rim หรือช่องว่างของระยะเวลาระหว่างทำห้องเสร็จแล้วกับทำห้องยังไม่เสร็จ พอเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นบนเว็บไซต์เราก็เสียประสบการณ์ตรงนี้ไปเลย เพราะเราเห็นเป็นแผ่นสีดำปรากฏอยู่ในจอ นี่ก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่ง แต่ศิลปินนักออกแบบจะกลับไปคิดอีกทีว่า ถ้าเป็นรูปแบบ Virtual Exhibition มันจะมีวิธีการยังไงที่อย่างน้อยต้องมองเห็นตัวเท็กซ์เจอร์นั่นคือการ Wrap ห้อง ไม่ใช่เห็นเป็นกระดาษสีดำมาแปะ ต่อมาก็ต้องทำยังไงให้เกิดประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับการดูนิทรรศการจริงมากที่สุด ใครคือกลุ่มเป้าหมาย และผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ผู้เข้าชมงานได้รับกลับไป จริงๆ กลุ่มเป้าหมายคล้ายๆ กับปีที่แล้วคือ นักศึกษา จะได้รับความสนใจเยอะ ซึ่งค่อนข้างคาดหวังกับกลุ่มเป้าหมายนี้เหมือนกัน เพราะเกี่ยวเนื่องกับถนนประดิพัทธ์ที่อยากจะเล่าเรื่องให้ทุกคนฟังว่าถนนเส้นนี้ในอดีตมีความรุ่งเรือง และในยุคกลางๆ ที่เริ่มเสื่อมถอยลง แล้วจะพัฒนาต่อไปยังไง ซึ่งคล้ายๆ กับกลุ่มนักศึกษา หรือกลุ่มคนช่วงอายุ 25-26 ปี เพราะเป็นช่วงวัยซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่กำลังจะพัฒนาความเสื่อมถอยของโรงแรมยุคเก่าไปสู่โรงแรมยุคใหม่ และผมมองว่าถนนประดิพัทธ์น่าสนใจตรงที่ถนนจะเชื่อมกับรัฐสภาที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ถ้าพ้นไปอีกแยกหนึ่งก็จะเป็นสถานีกลางบางซื่อ เราเลยมามองความสำคัญของสินทรัพย์หรือทรัพยากรในย่านนี้ว่าถนนเส้นนี้จะพาคนรุ่นใหม่ไปในทิศทางไหนดี จะไปรัฐสภาซึ่งสร้างเสร็จแล้ว หรือจะไปสถานีกลางบางซื่อซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่เกือบเสร็จสมบูรณ์ คิดว่าน่าจะเป็นถนนที่มีความสำคัญในอนาคต นอกเหนือจากความคาดหวังของโปรเจ็กต์หลักอย่าง in•ter•rim สิ่งที่นักสร้างสรรค์ย่านประดิพัทธ์-อารีย์ ต้องการให้เกิดขึ้นจริงไปพร้อมๆ กับย่านแห่งนี้คืออะไร จริงๆ ในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ จะมีอีกโปรเจ็กต์หนึ่งที่ชื่อว่า AriAround คือทำเกี่ยวกับกลุ่มชุมชนเรียกว่า Ari Coin (ARIC.) เป็นการแลกเปลี่ยนความเอื้ออารีย์ที่พลิกแพลงคล้ายๆ กับการไปแลกเหรียญ แต่แลกเปลี่ยนเป็นความอารีย์ต่อกันแทน ไม่ว่าจะเป็นขยะรีไซเคิล ความช่วยเหลือ ความต้องการ หรือโปรโมชั่นร้านค้า ซึ่งตอนนี้ที่เปิดให้แลกเปลี่ยนกันได้คือ PET Bottles Exchange, Book Exchange, Can Exchange นอกจากนั้นยังมีการแลกเปลี่ยนเหรียญร่วมกับร้านค้าต่างๆ ในย่านอารีย์และพื้นที่รอบๆ ส่วนโปรเจ็กต์ของทีมเราจะทำเป็นกึ่งนิทรรศการเพื่อเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับถนนและโรงแรมในย่านประดิพัทธ์ สำหรับเรามองความคาดหวังในระยะยาวมากกว่า อย่างในกลุ่ม AriAround จะทำงานกับร้านค้าหรือกลุ่มชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดสินทรัพย์หรือเกิดเศรษฐกิจใหม่ๆ ทั้งร้านอาหาร นักออกแบบ โรงแรม ฯลฯ เราก็เลยคาดหวังว่าคนในพื้นที่นี้อย่างน้อยได้สร้าง ecosystem หรือทำอะไรบางอย่างจากสิ่งที่มีอยู่ในย่าน ส่วนอีกด้านหนึ่งเรามองว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้คนภายนอกเข้ามาดู เข้ามาเที่ยว ให้คนมารับรู้เรื่องถนนประดิพัทธ์อย่างโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า in•ter•rim สำหรับผู้สนใจ การเข้าชมแบบ Virtual exhibition เปิดให้เข้าชมได้วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 สามารถเข้าชมได้ที่ www.hotel-interim.com โดยจองผ่านเว็บไซต์ คลิกที่นี่ (จำกัดการดูรอบละ 8 ท่าน) #THEMAKINGOFBKKDW2021 #hotelinterim #BKKDW2021 #BANGKOKDESIGNWEEK
The Making of Common Air-rea
Common Air-rea CEA X Cloud Floor “พื้นฐานเชิงประสบการณ์ที่จะได้คือ อากาศจะบริสุทธิ์กว่าภายนอก มั่นใจว่าในพื้นที่นี้สามารถสูดหายใจได้ดีขึ้น เต็มปอดขึ้น ประสบการณ์จากรูป รส กลิ่น เสียง เดินเข้าไปใกล้ๆ ที่นั่งก็จะได้กลิ่นของพืชพรรณที่ช่วยให้รีแลกซ์ เห็นถึงความร่วมมือทางเทคโนโลยี เช่น การนำแผงโซลาร์เซลมาใช้ในการหมุนเวียนพลังงานภายใน เป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาได้ส่วนหนึ่ง ทั้งยังเป็นต้นแบบการออกแบบต่อไปในอนาคต” แนะนำแนวคิดของโปรเจ็กต์ที่ออกแบบสำหรับงานบางกอกดีไซน์วีคปีนี้ โปรเจ็กต์พื้นที่ส่วนกลางสำหรับให้ข้อมูลหลักของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2564 เดิมตำแหน่งถูกวางไว้หน้าอาคารไปรษณีย์กลาง ซึ่งทุกปีหรือปีที่ผ่านๆ มา จุดให้ข้อมูลจะเป็นซุ้มเล็กๆ แต่เนื่องจากปีนี้ไม่ได้มีพาวิลเลียนหลักจึงขยายให้ใหญ่ขึ้น ส่วนชื่อ Common Air-rea หมายถึงพื้นที่ส่วนกลางแบบปิด และจุดให้ข้อมูลที่ผู้ใช้งานสามารถมานั่งพัก นั่งคอย พร้อมมีคุณภาพอากาศภายในที่ดีกว่าภายนอก เพราะมีการออกแบบและเทคโนโลยีฟอกอากาศที่ช่วยให้มีอากาศที่บริสุทธิ์ ทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับพื้นที่สาธารณะในอนาคต ครั้งนี้เราได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562 เลือกหยิบจับไอเดียจากมาจากไหน แรงบันดาลใจ ต้นทุนทางความคิด แนวคิดหลักมาจากกรุงเทพฯ เป็นโครงการต่อเนื่องที่เราทำร่วมกับ CEA มาช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนจะมีงาน BKKDW ทั้งยังสืบเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่ CEA ร่วมมือกับทางทีมฉมาเริ่มต้นทำพาวิลเลียน ‘หลุมหลบภัยทางอากาศ’ หรือ Bangkok #Safezone Shelter เป็นหลุมหลบภัยจำลองที่ทำในช่วงที่กรุงเทพฯ อากาศไม่ดี เช่น ช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ ให้คนกรุงเทพฯ สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยในพื้นที่กึ่งสาธารณะ จึงพัฒนาโมเดลดังกล่าวมาสู่ปีนี้ มีการทดลองหลากหลายเพื่อที่จะสามารถนำไปใช้กับพื้นที่หลากรูปแบบขึ้น เช่น ป้ายรถเมล์ จุดพักคอยในสถานที่ต่างๆ เลยมาสร้างต้นแบบที่งาน BKKDW ก่อนเพราะหากมีการใช้งานจริง จะมีลักษณะการออกแบบอย่างไรได้บ้าง และเฝ้าดูผลลัพธ์ที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ก่อนมีการต่อยอดในรูปแบบการใช้งานจริงในอนาคต ขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ ย่านที่จัดแสดง วัสดุที่เลือกใช้ มีความพิเศษอย่างไร ความยากง่าย ความท้าทายในการติดตั้งผลงาน องค์ความรู้ที่ถอดได้จากการตั้งต้นทำ Bangkok #Safezone Shelter ในปีที่แล้ว คือ หลักการในการออกแบบจากทีมอาจารย์หลายท่านที่ให้คำปรึกษา พื้นที่ที่สามารถบรรเทาอากาศที่เป็นมลพิษให้คนอยู่แล้วมีความปลอดภัยขึ้น อย่างแรกเลยต้องสร้างพื้นที่ระบบปิดเสมือนการอยู่ในห้องแอร์ ถ้าเปิดในที่โล่งแอร์ก็จะไม่เย็น เช่นเดียวกันถ้ามีเทคโนโลยีกึ่งภายในมาช่วย เราก็ต้องมีพื้นที่ปิดล้อมเพื่อไม่ให้เครื่องฟอกอากาศกระจายฟุ้งจนเกินไป ทำให้การวัดผลเป็นไปได้ยาก ทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้คนที่เข้าไปใช้งานในพื้นที่สัมผัสกับอากาศที่ดีกว่าภายนอก อีกข้อคือ การปรับเข้ากับพื้นที่ที่มนุษย์มีการใช้งานจริง ต้องมีทางเข้า-ออก นั่นหมายถึงต้องคำนึงถึงหลักการออกแบบและนำเทคโนโลยีอื่นเข้ามาช่วยคือ ม่านอากาศที่ช่วยปิดพื้นที่ในขณะที่คนสามารถเดินเข้าออกได้ตามปกติโดยไม่รู้สึกว่ากำลังเข้าประตูอยู่ ทั้งยังมีการนำต้นไม้เข้ามาช่วยที่ในการฟอกอากาศและดักจับฝุ่นบางส่วน ให้ความร่มรื่น มีการคัดเลือกต้นไม้สายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติในการดักจับฝุ่นได้ดี ใบยาว เนื้อที่บนเนื้อใบเยอะ เนื่องจากเป็นพื้นที่กลางจึงต้องการให้ดูรีแลกซ์ขึ้น รวมทั้งพืชที่มีกลิ่น รวมทั้งพืชค่อนข้างมีความหลากหลายของระบบนิเวศ ตลอดจนรับประทานได้ ทั้งนี้ยังมีระบบวิธีการรดน้ำตลอดวันแบบอัตโมัติ เพื่อช่วยลดการเสียหายของต้นไม้ วัสดุหลักที่ใช้ ด้วยรูปแบบเป็นอาคารชั่วคราว จึงใช้วัสดุที่นำหนักเบาแต่โครงสร้างแข็งแรง เราจึงเลือกใช้วัสดุซันสกรีนสำหรับกรองแสง วัสดุแผ่นพลาสติกเหล่านี้ก็ยังช่วยป้องกันฝุ่นจากภายนอกสู่ภายในอาคารได้ ความท้าทายจากโจทย์ตั้งต้นยังมีเพิ่มเติมอีกไม่ว่าจะต้องกันฝุ่น กันฝน ไม่ร้อน น้ำหนักเบา เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก แต่จากการทดลองของทีมมองว่า คุณสมบัติของแผ่นซันสกรีนมีความเป็นไปได้ตามโจทย์ โดยวัสดุยังสามารถกรองแสงได้หลากหลายตั้งแต่ 80% 70% โดยเราเลือกวัสดุที่กรองแสงได้ราว 60% ซึ่งคุณสมบัติการกรองสอดคล้องไปด้วยกันกับราคา ยิ่งกรองได้มากราคาสูงตามไปด้วย ซึ่งขั้นต้นวางให้สมดุลตามงบประมาณตามลักษณะรูปแบบอาคารชั่วคราว สำหรับพาวิลเลียนเอง มีระบบที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ มีระบบไฟฟ้า จากแผงโซลาร์เซลที่วางอยู่บนส่วนหลังคา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า (กฟผ.) ทำงานร่วมกับบริษัทที่ทำด้านโซลาร์เซล เซอร์เนอจิส โดยพลังงานที่ได้ส่วนหนึ่งมาจากแผงโซลาร์เซลจะนำมาใช้ในระบบฟอกอากาศ ถ้าแสงอาทิตย์หมด ก็จะมีระบบไฟฟ้าเข้ามาเสริม เรียกว่าเป็นระบบไฮบริด นอกจากนี้ ความท้าทายยังมีอีกหลายจุด สำหรับคนทำงาน คือ ถ้าอยู่ในช่วงอากาศที่ไม่เลวร้าย ก็จะเป็นข้อเปรียบเทียบว่า เราทำส่วนนี้เพื่ออะไร แต่เราก็คิดอีกด้านหนึ่งว่า เป็นต้นแบบให้ดูว่า อาคารกึ่งสาธารณะเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ในพื้นที่ที่เป็นประโยชน์สาธารณะสามารถไปบริหารจัดการใช้ให้สมบูรณ์ขึ้นอย่างไรได้บ้าง เป็นโมเดลต้นแบบในการปรับใช้ อะไรที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นก็สามารถตัด ลดทอนได้ตามความเหมาะสม ตลอดจนด้านภูมิอากาศบ้านเราที่มีทั้งร้อน ทั้งฝุ่น เราจะสามารถเห็นทิศทางในการออกแบบให้ตอบโจทย์ที่สุด รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยในช่วง COVID-19 ยังมีการมองเรื่องจำนวนคนที่เข้าใช้กับการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยลักษณะเป็นพื้นที่เปิด ค่อนข้างยืดหยุ่น จึงมีการกระจายเฟอร์นิเจอร์เป็นช่องๆ ตามจุด ลดโอกาสในการนั่งใกล้กัน และมีการคัดกรองก่อนการเข้าใช้ สรุปความพิเศษของโปรเจ็กต์นี้ โปรเจ็กต์นี้อยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่ผสมผสานการออกแบบเข้ากับเทคโนโลยี ให้เห็นว่าโมเดลในสภาวะที่เราอยู่ในอากาศไม่บริสุทธิ์ เราจะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยบรรเทาหรือสร้างอากาศที่ดีขึ้นในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัด อีเวนต์ ป้ายรถเมล์ วิธีการเหล่านี้เป็นกรณีศึกษาให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ดูความเหมาะสมในการปรับใช้กัน และเป็นองค์ความรู้ที่จะถ่ายทอดกันต่อไป ผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ผู้เข้าชมงานได้รับกลับไปหลังจากได้สัมผัสประสบการณ์จากผลงาน อย่างแรกที่เป็นพื้นฐานเชิงประสบการณ์ที่จะได้คือ อากาศจะบริสุทธิ์กว่าภายนอก มั่นใจว่าในพื้นที่นี้สามารถสูดหายใจได้ดีขึ้น เต็มปอดขึ้น ประสบการณ์จากรูป รส กลิ่น เสียง เดินเข้าไปใกล้ๆ ที่นั่งก็จะได้กลิ่นของพืชพรรณที่ช่วยให้รีแลกซ์ เห็นถึงความร่วมมือทางเทคโนโลยี เช่น การนำแผงโซลาร์เซลมาใช้ในการหมุนเวียนพลังงานภายใน เป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาได้ส่วนหนึ่ง ทั้งยังเป็นต้นแบบการออกแบบต่อไปในอนาคต #THEMAKINGOFBKKDW2021 #CommonAirreaPAVILLION #BKKDW2021 #BANGKOKDESIGNWEEK
ทองหล่อ - เอกมัย — ย่านดีไซน์ผู้มาก่อนกาล
แหล่งรวมตัวของกลุ่มดีไซเนอร์ นักสร้างสรรค์ และธุรกิจหลายรูปแบบที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ขับเคลื่อนพื้นที่ย่านแห่งนี้ให้มีสีสันและความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ มาร่วมเรียนรู้บทบาทใหม่และก้าวต่อไปของย่านทองหล่อ-เอกมัยไปพร้อมกัน พื้นที่ตั้งย่านใจกลางสุขุมวิท พิกัดเชื่อมระหว่างถนนสำคัญสองเส้นคือถนนสุขุมวิทและถนนเพชรบุรี แวดล้อมด้วยศูนย์การค้าชั้นนำและอาคารสำนักงานหลากหลายขนาด ย่านแห่งนี้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้อย่างครบถ้วน มีทั้งร้านอาหารนานาชาติหรือร้านร้านอาหารเก่าแก่ที่อยู่คู่พื้นที่มานับสิบปี คาเฟ่จำนวนมากที่เปิดเพื่อเป็นตัวเลือกตอบโจทย์ผู้คนที่มาเยือน แกลเลอรี่ขนาดเล็ก พื้นที่ส่วนรวมที่ชวนคนทำกิจกรรมสร้างสรรค์หลายรูปแบบ ที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ที่เป็นสปอต์ไลท์ในเชิงการลงทุนต่อการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ด้วยการได้รับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เลือกใจกลางย่านแห่งนี้เป็นพื้นที่ต้นแบบอยู่เสมอ ทองหล่อ-เอกมัย คือย่านพี่น้องที่เชื่อมถึงกันด้วยถนนขนาดเล็กสามซอย ทั้งสองย่านสามารถเข้าถึงได้จากการเดินทางหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่รถไฟฟ้าตามแต่ละสถานี รถไฟใต้ดิน วินมอเตอร์ไซค์ที่มีกระจายอยู่อย่างทั่วถึง รถประจำทาง เรือ และที่สำคัญที่ย่านทองหล่อที่สามารถเดินเท้าเพื่อเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้ ทองหล่อ-เอกมัยกำลังเปลี่ยนเอกลักษณ์สู่การกลายเป็นพื้นที่ที่ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการออกแบบ ด้วยการเป็นที่ตั้งของสตูดิโอออกแบบหลากหลายสาขา ทั้งออกแบบเฟอร์นิเจอร์ กราฟิกดีไซน์ แฟชั่น ออกแบบผลิตภัณฑ์ สถาปัตยกรรม ไปจนถึงออกแบบประสบการณ์และรสชาติผ่านร้านอาหารและคาเฟ่มากมายที่กระจายตัวอยู่ทั้งพื้นที่ ถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางความเป็นเมืองที่แวดล้อมด้วยอาคารทันสมัย ย่านแห่งนี้ก็ยังมีพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กที่ซ่อนตัวให้คนในพื้นที่สามารถเข้าไปใช้งานและสูดอากาศพักผ่อนได้ เมื่อความสร้างสรรค์รวมพลังกับการออกแบบ ย่านทองหล่อ-เอกมัยจึงเต็มไปด้วยศักยภาพแห่งการเป็นศูนย์กลางในการนำเสนองานออกแบบให้เป็นเครื่องมือพัฒนาย่านอย่างเต็มรูปแบบ นำเสนอผลงานจากหลากหลายสตูดิโอที่จะพาไปสำรวจย่านในมุมมองใหม่ในแบบฉบับที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสำหรับผู้มาเยือนและผู้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่ ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการมองย่านด้วยสายตาใหม่ไปพร้อมกัน ย่านนี้มีอะไรน่าสนใจ มืออาชีพด้านการออกแบบครบห่วงโซ่การผลิต พื้นที่ย่านทองหล่อ-เอกมัยประกอบด้วยผู้คนที่มีความถนัดในการออกแบบหลากหลายด้าน หลากสาขาทั้งออกแบบเฟอร์นิเจอร์ กราฟิกดีไซน์ แฟชั่น ออกแบบผลิตภัณฑ์ และสถาปัตยกรรม ที่เรียกได้ว่าใช้บริการแบบครบวงจรจบที่เดียว นอกจากจะเป็นศูนย์รวมนักออกแบบแล้ว ย่านนี้ยังแวดล้อมไปด้วยผู้คนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมและชาวต่างชาติที่เลือกพื้นที่นี้เป็นที่พักอีกจำนวนมาก จุดสตาร์ทและศูนย์กลางธุรกิจ ทองหล่อ-เอกมัยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการออกแบบ ด้วยการเป็นที่ตั้งของสตูดิโอออกแบบที่เลือกย่านนี้เป็นสำนักงานใหญ่ในการทำธุรกิจ ผสมผสานผู้ประกอบเก่าปะทะใหม่ อย่างคาเฟ่ร่วมสมัยตอบโจทย์คนรุ่นใหม่และร้านกาแฟตอบโจทย์เช้าของคนรุ่นเก๋า จนธุรกิจใหม่ๆ ต่างเลือกย่านนี้เป็นจุดตั้งต้นก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยมูลค่าของพื้นที่สูงมากขึ้นทุกปีเพราะถือเป็นทำเลที่โดดเด่นที่สุดบนถนนสุขุมวิท ครบวงจรด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เชื่อมต่อได้สู่หลายพื้นที่อื่น หากว่ากันที่เอกมัย พื้นที่นี้เต็มไปด้วยซอยเล็กซอยน้อยที่ทะลุสัญจรไปสู่ถนนสายหลัก เชื่อมผู้คนด้วยซอยลัดอย่างสะดวก ย่านนี้ยังสามารถเข้าถึงด้วยการคมนาคมได้ถึง 4 ระบบ ทั้งทางรถไฟฟ้า รถยนต์วินมอเตอร์ไซค์ และเรือ โดยไม่ลืมเรื่องพื้นที่สีเขียวขนาดกว่า 9 ไร่ที่ซ่อนตัวอยู่เพื่อเป็นที่พักให้คนเมืองได้หายใจ #CreativeDistrictofBKKDW #BangkokCityOfDesign
อารีย์ - ประดิพัทธ์ — ชิคสุดไม่ตกเทรนด์
พื้นที่อารีย์-ประดิพัทธ์ ย่านที่กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับความท้าทายในที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โจทย์ใหม่ของย่านในวันนี้คือเชื่อมต่อทุกจุดให้อยู่ร่วมกัน ขับเคลื่อนพื้นที่ด้วยการหมุนเวียนทรัพยากร โดยมีการออกแบบเป็นเครื่องมือ ในอดีตที่ย่านอารีย์มีชื่อเล่นว่า “ย่านขุนน้ำขุนนางเก่า” สู่การจดจำที่หลายคนคุ้นเคยกับซอยราชครู ภาพจำอารีย์ในฐานะเมืองราชการ หรือบางคนอาจเคยไปเดินเล่นที่ตลาดหลังกระทรวงการคลัง จากการเป็นที่ตั้งของสำนักงานจำนวนมากที่เกิดขึ้นมาจากอดีต สู่การพัฒนาพื้นที่ให้ปรับตัวกับยุคสมัย อารีย์-ประดิพัทธ์ได้เป็นย่านที่อยู่อาศัยของผู้คนจำนวนมาก ทั้งอาคารคอนโด บ้านเดี่ยว ชุมชนขนาดเล็ก เป็นส่วนประกอบที่ขับเคลื่อนให้ย่านเกิดธุรกิจต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการ ทั้งร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจสร้างสรรค์ รวมถึงคอมมูนิตี้ของนักออกแบบ อารีย์-ประดิพัทธ์เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน มีถนนพหลโยธินและถนนพระราม 6 เป็นถนนหลักที่วิ่งคู่ขนานผ่านทั้งสองพื้นที่ สัดส่วนของการใช้ประโยชน์ที่ดินมากกว่า 70% เป็นที่อยู่อาศัย รองลงมาเป็นสำนักงาน และพื้นที่ราชการ ทั้งยังถนนพหลโยธินเป็นถนนสายสำคัญที่มีความสำคัญระดับเมือง เชื่อมต่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอารีย์ และสถานีสะพานควาย ที่ช่วยกระจายคนให้มาสู่ย่านอย่างทั่วถึง ย่านแห่งนี้ยังมีศักยภาพการ ‘เดินได้’ ดีเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ โดยมีจุดที่มี Good Walk Score สูงสุดถึง 72 จาก 100 คะแนน และไม่ใช่แค่การมีหมู่บ้านนักออกแบบที่ตั้งอยู่ใน 33 Space เท่านั้น แต่กลุ่มคนสร้างสรรค์และธุรกิจมากมายภายในย่านกำลังร่วมมือกันนำเสนอผลงานที่ช่วยกันสื่อสารและเป็นตัวกลางในการหาจุดร่วมที่อยู่กันอย่างลงตัว ทั้งผู้อยู่อาศัยเดิมและคนมาใหม่ เชื่อมโยงกันผ่านทั้งการทำงาน อาหาร การเดินทาง และการหมุนเวียนใช้พลังงานที่ครบจบทั้งพื้นที่ ขับเคลื่อนและผลักดันให้อารีย์-ประดิพัทธ์เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่โดยไม่ทิ้งเอกลักษณ์ของพื้นที่ให้หายไปตามกาลเวลา ย่านนี้มีอะไรน่าสนใจ ต่างขั้วอยู่รวมกัน สร้างความเห็นหลากหลาย เมื่อคนรุ่นใหม่ที่กล้าใส่พลังจับมือกับความกระตือรือร้นจากคนรุ่นเก่า ถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการกระตุ้นและริเริ่มโครงการใหม่ๆ ภายในย่าน เพื่อทั้งเป็นตัวตั้งคำถาม ลงมือทำ และนำไปปรับใช้ในวงกว้าง ตัวอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นการสะท้อนถึงการมีอยู่ของย่าน ผู้คน โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ตลอดจนปัญหาที่ไม่ถูกมองข้าม ระดมความคิดผลิตไอเดียเพื่อคนกลุ่มใหญ่ จากเรื่องการเดินเท้า สตรีทฟู้ด ทุกย่างก้าวคือ โจทย์ที่หลายฝ่ายร่วมกันผลักดันเป็นประเด็นขับเคลื่อนบ้านและย่านแห่งนี้ ไม่เว้นแม้แต่โครงการขยะอาหารที่จับพฤติกรรมบนจานอาหาร ธุรกิจยอดนิยมในย่านอย่างร้านอาหาร ค่าเฟ่ที่สลับสับเปลี่ยนมาเปิดให้บริการภายในย่านเพื่อเดินหน้าเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ทำเลสำหรับการพัฒนาสู่อนาคต ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์เต็มไปด้วยเส้นทางการคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมต่อการพัฒนาสู่เมกกะโปรเจ็คต์จำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือโครงการสถานีกลางบางซื่อ ที่จะช่วยยกระดับและเพิ่มมูลค่าของพื้นที่ จึงเป็นโอกาสอันดีของอุตสาหกรรมหลัก ทั้งอาหาร สถาปัตยกรรม การบริการ และอสังหาริมทรัพย์ ที่จะเลือกย่านนี้เป็นหมุดหมายสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจครั้งใหม่ #CreativeDistrictofBKKDW #BangkokCityOfDesign