The Making of Hotel in•ter•rim
เผยแพร่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
Hotel in•ter•rim
By MÆWTĀY x CLOUD-FLOOR X SP/N X NOSESTORY X DECUS
“ผมมองว่าถนนประดิพัทธ์น่าสนใจตรงที่ถนนจะเชื่อมกับรัฐสภาที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ถ้าพ้นไปอีกแยกหนึ่งก็จะเป็นสถานีกลางบางซื่อ เราเลยมามองความสำคัญของสินทรัพย์หรือทรัพยากรในย่านนี้ว่าถนนเส้นนี้จะพาคนรุ่นใหม่ไปในทิศทางไหนดี จะไปรัฐสภาซึ่งสร้างเสร็จแล้ว หรือจะไปสถานีกลางบางซื่อซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่เกือบเสร็จสมบูรณ์ คิดว่าน่าจะเป็นถนนที่มีความสำคัญในอนาคต” -แชมป์-วิธวินท์ ลีลาวนาชัย หนึ่งในทีมของโปรเจ็กต์ in•ter•rim
โปรเจ็กต์ปีนี้ที่ชื่อว่า in•ter•rim มีที่มาที่ไปจากไหน
เราทำงานอยู่ในซอยประดิพัทธ์ 17 และอยู่แถวประดิพัทธ์มาหลายปี จึงมองเห็นตรงกันว่าถนนประดิพัทธ์มีโรงแรมเยอะ ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมเก่าที่ยังไม่ได้รีโนเวททำเป็นธุรกิจสมัยใหม่ โรงแรมบางโรงแรมก็มีชื่อแปลกๆ รวมทั้งกลุ่มโรงแรมม่านรูด ซึ่งในสายตามองว่าโรงแรมแถวประดิพัทธ์มันจะมีความงงๆ อยู่ และถนนเส้นประดิพัทธ์ก็มีความแปลกตรงที่ถ้าลองเดินดูจะมีร้านแลกเงินเยอะพอๆ กับโรงแรม ผมก็เลยคุยกับทีมว่าอยากจะทำเรื่องนี้ ดังนั้น คำว่า in•ter•rim มันมาจากสิ่งที่เราสนใจเกี่ยวกับโรงแรม และโจทย์เบื้องต้นของชื่อ in•ter•rim ก็คือโรงแรม
อะไรคือแนวคิดหลักที่ทำให้เกิดโปรเจ็กต์นี้ขึ้น
เราอยากจะเล่าเรื่องโรงแรม ที่เลือกย่านอารีย์กับย่านประดิพัทธ์เพราะดูเป็นยุคเก่า จริงๆ แล้วประดิพัทธ์มีความเจริญมาก่อนอารีย์ แต่อารีย์จะมีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาอย่างโฮสเทลหรือโรงแรมน่ารักๆ เราก็เลยเลือกหัวข้อ ‘โรงแรม’ ทีแรกเราลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์คนที่ทำธุรกิจโรงแรมย่านประดิพัทธ์ก่อน ที่น่าสนใจคือไม่ค่อยมีใครรู้ว่าย่านนี้มีคนทำธุรกิจโรงแรม แต่โชคดีที่เรามีข้อมูลเบื้องต้นจากงานบางกอกดีไซน์วีคปีที่แล้ว พอสัมภาษณ์ก็รู้ว่าย่านประดิพัทธ์เคยมีชาวตะวันออกกลางอาศัยอยู่ในย่านนี้จำนวนมาก เพราะมีสถานทูตอิรัก และมีร้านแลกเงินหลายร้าน ซึ่งเมื่อก่อนคนมักนิยมมาแลกเงินที่นี่เพราะได้ราคาดีกว่าที่อื่น สาเหตุที่มีร้านแลกเงินเยอะเพราะเมื่อก่อนประดิพัทธ์มีที่เที่ยวกลางคืน ที่สำคัญคือมีโรงแรมเปิดรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว ธุรกิจนี้เลยเติบโตขึ้นมา เราก็เลยสนใจเรื่องโรงแรม ว่าทำไมโรงแรมในยุคเก่ายังดำเนินการมาได้จนถึงทุกวันนี้
จากความหลงใหลในโรงแรมยุคเก่า ถูกนำมาต่อยอดเป็นขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ ย่านที่จัดแสดง ความยากง่าย ความท้าทายในการติดตั้งผลงานเป็นอย่างไร
ด้วยความที่เราเดินผ่านทุกวันเราเลยเห็นว่าโรงแรมมันมีความประหลาดและงงงวยในตัวของมันอยู่ เราก็เลยสนใจว่าด้านในโรงแรมเขาทำอะไรบ้าง แล้วก็เกิดการเปรียบเทียบว่าทำไมคนรุ่นใหม่ไปอยู่โรงแรมเล็กๆ ย่านอารีย์ แต่ทำไมโรงแรมย่านประดิพัทธ์จากที่เคยรุ่งเรือง แต่พอผ่านไปอีกยุคหนึ่งก็ดาวน์ลงไปเยอะเลยหลังจากที่ธุรกิจใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งเราไปสัมภาษณ์มาปีที่แล้วเขายังบอกเลยว่า “ถนนเส้นนี้ตายไปแล้ว” เลยเกิดความสนใจเรื่องของโรงแรมในอนาคตว่าจะมีฟังก์ชันไหนบ้างที่จะทำให้ “ถนนเส้นนี้พัฒนาต่อไปยังไง”
โดยไอเดียแรกที่เกิดขึ้น คือเราได้เข้าไปคุยกับคนในโรงแรม ที่ ‘จอช โฮเทล’ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานบางกอกดีไซน์วีคปีนี้ แล้วต่อยอดด้วยการไปคุยกับคนที่ทำธุรกิจโรงแรมทั่วประดิพัทธ์ ประจวบกับช่วงนั้นเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดพอดี สิ่งที่เราเห็นคือ โรงแรมกำลังจะตาย-พื้นที่ไม่ได้ถูกใช้งาน เลยเกิดไอเดียว่า ในงานบางกอกดีไซน์วีคจะเข้าไปมีส่วนช่วยอะไรได้บ้างเพื่อใช้โรงแรมในฟังก์ชันอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่การเช็กอินเข้าพัก เลยอยากจะจัดนิทรรศการเกี่ยวกับ จอช โฮเทล ที่ใช้วิธีเล่าเรื่องของพื้นที่โรงแรมโดยรวม
ส่วนเนื้อหาในนิทรรศการคือความเป็นโรงแรมชั่วคราว หรือเป็นจุดแวะพัก ซึ่งเราทั้งสี่ (วิธวินท์ ลีลาวนาชัย, นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย, กิตติธร เกษมกิจวัฒนา และญาธิป ฐานิชธนาภัทร) ลงพื้นที่ทำรีเสิร์ชของโรงแรมแล้วตีโจทย์ออกมาเป็นธีมที่ชื่อ ‘ความชั่วคราว’ ก็คือมาแล้วก็ไป และจะถูกเล่าผ่านตัวละครคือแม่บ้าน เพราะด้วยความเป็นแม่บ้านพวกเรามองว่าเป็นบุคคลที่(น่าจะ)รู้ความลับทุกอย่างในโรงแรม เหมือนแม่บ้านจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงแรมทั้งหมด
อีกไอเดียหนึ่งของโปรเจ็กต์นี้ขอย้อนไปก่อนหน้าที่เล่าให้ฟังเกี่ยวกับ in•ter•rim คือจะมีงานชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับ Zero step นั่นคือเวลาเราเข้าไปพักโรงแรมเราจะเห็นว่าทุกอย่างถูกจัดให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อให้ห้องพักดูใหม่และไม่เคยผ่านการใช้งาน ซึ่งจริงๆ แล้วสเต็ปที่เราจะใช้แสดงในงานนี้คือการจำลองห้องของผู้เข้าพักก่อนหน้าที่ไร้ระเบียบ ก่อนจะเปลี่ยนโฉมจนกลายเป็นห้องที่ดูเป็นระเบียบ หรือพูดอีกอย่างเป็นการเล่าเรื่องของช่องว่างในช่วงสเต็ปที่อยู่ระหว่างความไร้ระเบียบจนไปสู่ความเป็นระเบียบ เลยใช้คำว่า in•ter•rim ซึ่งสื่อสารให้ช่องว่างตรงนั้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะช่วงสเต็ปนั้นคนที่เข้ามาพักใหม่จะไม่เห็นว่าก่อนหน้าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขาจะเห็นแค่ห้องพักในส่วนที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งหมดนี้จัดเป็นนิทรรศการซึ่งเป็นงานออกแบบผสมกับการเล่าเรื่องระหว่าง ‘แม่บ้าน’ ความเป็นโรงแรม และการนำเสนอในช่วงเวลาที่เรียกว่า in•ter•rim หรือช่องว่างระหว่างก่อนและหลัง
อะไรคือความพิเศษของโปรเจ็กต์นี้
ถ้าด้านเทคนิคพิเศษเราทำเป็น Virtual Exhibition ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 3-11 กรกฎาคมนี้ จะเป็นการชมนิทรรศการบนเว็บไซต์ แต่จริงๆ แล้วงานจริงไม่ได้ถูกรื้อถอน แต่ด้วยกฎของทางโรงแรม รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ จะเปิดให้เข้าชมในรูปแบบของ Virtual Exhibition และ VR360° ไปก่อน อีกความพิเศษของโปรเจ็กต์นี้คงเป็นเรื่องของ ‘สกิล’ ของคนที่ดูแลโรงแรมนี้ สกิลที่ว่าเป็นเรื่องของเทคนิคการพับปลายกระดาษทิชชู่เป็นชั้นๆ ซึ่งบางโรงแรมเขาจะใส่ใจรายละเอียดในเรื่องนี้ แล้วก็ชักชวนคนในโรงแรมที่ใช้สกิลนี้มาทำ Sculpture ติดตั้งในโรงแรมด้วย
หากชมนิทรรศการทางออนไลน์น่าจะให้ประสบการณ์ที่แตกต่างจากชมในสถานที่จริง มีวิธีการรับมือกับความท้าทายนี้อย่างไร
ยากครับ ยกตัวอย่างเลยแล้วกันว่าจะมีห้องหนึ่งที่ Wrap ทั้งห้องเป็นสีดำ เพื่อให้คนที่มาชมรับรู้ถึง in•ter•rim หรือช่องว่างของระยะเวลาระหว่างทำห้องเสร็จแล้วกับทำห้องยังไม่เสร็จ พอเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นบนเว็บไซต์เราก็เสียประสบการณ์ตรงนี้ไปเลย เพราะเราเห็นเป็นแผ่นสีดำปรากฏอยู่ในจอ นี่ก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่ง แต่ศิลปินนักออกแบบจะกลับไปคิดอีกทีว่า ถ้าเป็นรูปแบบ Virtual Exhibition มันจะมีวิธีการยังไงที่อย่างน้อยต้องมองเห็นตัวเท็กซ์เจอร์นั่นคือการ Wrap ห้อง ไม่ใช่เห็นเป็นกระดาษสีดำมาแปะ ต่อมาก็ต้องทำยังไงให้เกิดประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับการดูนิทรรศการจริงมากที่สุด
ใครคือกลุ่มเป้าหมาย และผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ผู้เข้าชมงานได้รับกลับไป
จริงๆ กลุ่มเป้าหมายคล้ายๆ กับปีที่แล้วคือ นักศึกษา จะได้รับความสนใจเยอะ ซึ่งค่อนข้างคาดหวังกับกลุ่มเป้าหมายนี้เหมือนกัน เพราะเกี่ยวเนื่องกับถนนประดิพัทธ์ที่อยากจะเล่าเรื่องให้ทุกคนฟังว่าถนนเส้นนี้ในอดีตมีความรุ่งเรือง และในยุคกลางๆ ที่เริ่มเสื่อมถอยลง แล้วจะพัฒนาต่อไปยังไง ซึ่งคล้ายๆ กับกลุ่มนักศึกษา หรือกลุ่มคนช่วงอายุ 25-26 ปี เพราะเป็นช่วงวัยซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่กำลังจะพัฒนาความเสื่อมถอยของโรงแรมยุคเก่าไปสู่โรงแรมยุคใหม่
และผมมองว่าถนนประดิพัทธ์น่าสนใจตรงที่ถนนจะเชื่อมกับรัฐสภาที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ถ้าพ้นไปอีกแยกหนึ่งก็จะเป็นสถานีกลางบางซื่อ เราเลยมามองความสำคัญของสินทรัพย์หรือทรัพยากรในย่านนี้ว่าถนนเส้นนี้จะพาคนรุ่นใหม่ไปในทิศทางไหนดี จะไปรัฐสภาซึ่งสร้างเสร็จแล้ว หรือจะไปสถานีกลางบางซื่อซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่เกือบเสร็จสมบูรณ์ คิดว่าน่าจะเป็นถนนที่มีความสำคัญในอนาคต
นอกเหนือจากความคาดหวังของโปรเจ็กต์หลักอย่าง in•ter•rim สิ่งที่นักสร้างสรรค์ย่านประดิพัทธ์-อารีย์ ต้องการให้เกิดขึ้นจริงไปพร้อมๆ กับย่านแห่งนี้คืออะไร
จริงๆ ในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ จะมีอีกโปรเจ็กต์หนึ่งที่ชื่อว่า AriAround คือทำเกี่ยวกับกลุ่มชุมชนเรียกว่า Ari Coin (ARIC.) เป็นการแลกเปลี่ยนความเอื้ออารีย์ที่พลิกแพลงคล้ายๆ กับการไปแลกเหรียญ แต่แลกเปลี่ยนเป็นความอารีย์ต่อกันแทน ไม่ว่าจะเป็นขยะรีไซเคิล ความช่วยเหลือ ความต้องการ หรือโปรโมชั่นร้านค้า ซึ่งตอนนี้ที่เปิดให้แลกเปลี่ยนกันได้คือ PET Bottles Exchange, Book Exchange, Can Exchange นอกจากนั้นยังมีการแลกเปลี่ยนเหรียญร่วมกับร้านค้าต่างๆ ในย่านอารีย์และพื้นที่รอบๆ ส่วนโปรเจ็กต์ของทีมเราจะทำเป็นกึ่งนิทรรศการเพื่อเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับถนนและโรงแรมในย่านประดิพัทธ์
สำหรับเรามองความคาดหวังในระยะยาวมากกว่า อย่างในกลุ่ม AriAround จะทำงานกับร้านค้าหรือกลุ่มชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดสินทรัพย์หรือเกิดเศรษฐกิจใหม่ๆ ทั้งร้านอาหาร นักออกแบบ โรงแรม ฯลฯ เราก็เลยคาดหวังว่าคนในพื้นที่นี้อย่างน้อยได้สร้าง ecosystem หรือทำอะไรบางอย่างจากสิ่งที่มีอยู่ในย่าน ส่วนอีกด้านหนึ่งเรามองว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้คนภายนอกเข้ามาดู เข้ามาเที่ยว ให้คนมารับรู้เรื่องถนนประดิพัทธ์อย่างโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า in•ter•rim
สำหรับผู้สนใจ
การเข้าชมแบบ Virtual exhibition เปิดให้เข้าชมได้วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 สามารถเข้าชมได้ที่ www.hotel-interim.com
โดยจองผ่านเว็บไซต์ คลิกที่นี่ (จำกัดการดูรอบละ 8 ท่าน)