The Making of Common Air-rea
เผยแพร่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
Common Air-rea
CEA X Cloud Floor
“พื้นฐานเชิงประสบการณ์ที่จะได้คือ อากาศจะบริสุทธิ์กว่าภายนอก มั่นใจว่าในพื้นที่นี้สามารถสูดหายใจได้ดีขึ้น เต็มปอดขึ้น ประสบการณ์จากรูป รส กลิ่น เสียง เดินเข้าไปใกล้ๆ ที่นั่งก็จะได้กลิ่นของพืชพรรณที่ช่วยให้รีแลกซ์ เห็นถึงความร่วมมือทางเทคโนโลยี เช่น การนำแผงโซลาร์เซลมาใช้ในการหมุนเวียนพลังงานภายใน เป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาได้ส่วนหนึ่ง ทั้งยังเป็นต้นแบบการออกแบบต่อไปในอนาคต”
แนะนำแนวคิดของโปรเจ็กต์ที่ออกแบบสำหรับงานบางกอกดีไซน์วีคปีนี้
โปรเจ็กต์พื้นที่ส่วนกลางสำหรับให้ข้อมูลหลักของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2564 เดิมตำแหน่งถูกวางไว้หน้าอาคารไปรษณีย์กลาง ซึ่งทุกปีหรือปีที่ผ่านๆ มา จุดให้ข้อมูลจะเป็นซุ้มเล็กๆ แต่เนื่องจากปีนี้ไม่ได้มีพาวิลเลียนหลักจึงขยายให้ใหญ่ขึ้น ส่วนชื่อ Common Air-rea หมายถึงพื้นที่ส่วนกลางแบบปิด และจุดให้ข้อมูลที่ผู้ใช้งานสามารถมานั่งพัก นั่งคอย พร้อมมีคุณภาพอากาศภายในที่ดีกว่าภายนอก เพราะมีการออกแบบและเทคโนโลยีฟอกอากาศที่ช่วยให้มีอากาศที่บริสุทธิ์ ทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับพื้นที่สาธารณะในอนาคต ครั้งนี้เราได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562
เลือกหยิบจับไอเดียจากมาจากไหน แรงบันดาลใจ ต้นทุนทางความคิด
แนวคิดหลักมาจากกรุงเทพฯ เป็นโครงการต่อเนื่องที่เราทำร่วมกับ CEA มาช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนจะมีงาน BKKDW ทั้งยังสืบเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่ CEA ร่วมมือกับทางทีมฉมาเริ่มต้นทำพาวิลเลียน ‘หลุมหลบภัยทางอากาศ’ หรือ Bangkok #Safezone Shelter เป็นหลุมหลบภัยจำลองที่ทำในช่วงที่กรุงเทพฯ อากาศไม่ดี เช่น ช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ ให้คนกรุงเทพฯ สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยในพื้นที่กึ่งสาธารณะ จึงพัฒนาโมเดลดังกล่าวมาสู่ปีนี้ มีการทดลองหลากหลายเพื่อที่จะสามารถนำไปใช้กับพื้นที่หลากรูปแบบขึ้น เช่น ป้ายรถเมล์ จุดพักคอยในสถานที่ต่างๆ เลยมาสร้างต้นแบบที่งาน BKKDW ก่อนเพราะหากมีการใช้งานจริง จะมีลักษณะการออกแบบอย่างไรได้บ้าง และเฝ้าดูผลลัพธ์ที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ก่อนมีการต่อยอดในรูปแบบการใช้งานจริงในอนาคต
ขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ ย่านที่จัดแสดง วัสดุที่เลือกใช้ มีความพิเศษอย่างไร ความยากง่าย ความท้าทายในการติดตั้งผลงาน
องค์ความรู้ที่ถอดได้จากการตั้งต้นทำ Bangkok #Safezone Shelter ในปีที่แล้ว คือ หลักการในการออกแบบจากทีมอาจารย์หลายท่านที่ให้คำปรึกษา พื้นที่ที่สามารถบรรเทาอากาศที่เป็นมลพิษให้คนอยู่แล้วมีความปลอดภัยขึ้น อย่างแรกเลยต้องสร้างพื้นที่ระบบปิดเสมือนการอยู่ในห้องแอร์ ถ้าเปิดในที่โล่งแอร์ก็จะไม่เย็น เช่นเดียวกันถ้ามีเทคโนโลยีกึ่งภายในมาช่วย เราก็ต้องมีพื้นที่ปิดล้อมเพื่อไม่ให้เครื่องฟอกอากาศกระจายฟุ้งจนเกินไป ทำให้การวัดผลเป็นไปได้ยาก ทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้คนที่เข้าไปใช้งานในพื้นที่สัมผัสกับอากาศที่ดีกว่าภายนอก อีกข้อคือ การปรับเข้ากับพื้นที่ที่มนุษย์มีการใช้งานจริง ต้องมีทางเข้า-ออก นั่นหมายถึงต้องคำนึงถึงหลักการออกแบบและนำเทคโนโลยีอื่นเข้ามาช่วยคือ ม่านอากาศที่ช่วยปิดพื้นที่ในขณะที่คนสามารถเดินเข้าออกได้ตามปกติโดยไม่รู้สึกว่ากำลังเข้าประตูอยู่
ทั้งยังมีการนำต้นไม้เข้ามาช่วยที่ในการฟอกอากาศและดักจับฝุ่นบางส่วน ให้ความร่มรื่น มีการคัดเลือกต้นไม้สายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติในการดักจับฝุ่นได้ดี ใบยาว เนื้อที่บนเนื้อใบเยอะ เนื่องจากเป็นพื้นที่กลางจึงต้องการให้ดูรีแลกซ์ขึ้น รวมทั้งพืชที่มีกลิ่น รวมทั้งพืชค่อนข้างมีความหลากหลายของระบบนิเวศ ตลอดจนรับประทานได้ ทั้งนี้ยังมีระบบวิธีการรดน้ำตลอดวันแบบอัตโมัติ เพื่อช่วยลดการเสียหายของต้นไม้
วัสดุหลักที่ใช้ ด้วยรูปแบบเป็นอาคารชั่วคราว จึงใช้วัสดุที่นำหนักเบาแต่โครงสร้างแข็งแรง เราจึงเลือกใช้วัสดุซันสกรีนสำหรับกรองแสง วัสดุแผ่นพลาสติกเหล่านี้ก็ยังช่วยป้องกันฝุ่นจากภายนอกสู่ภายในอาคารได้ ความท้าทายจากโจทย์ตั้งต้นยังมีเพิ่มเติมอีกไม่ว่าจะต้องกันฝุ่น กันฝน ไม่ร้อน น้ำหนักเบา เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก แต่จากการทดลองของทีมมองว่า คุณสมบัติของแผ่นซันสกรีนมีความเป็นไปได้ตามโจทย์ โดยวัสดุยังสามารถกรองแสงได้หลากหลายตั้งแต่ 80% 70% โดยเราเลือกวัสดุที่กรองแสงได้ราว 60% ซึ่งคุณสมบัติการกรองสอดคล้องไปด้วยกันกับราคา ยิ่งกรองได้มากราคาสูงตามไปด้วย ซึ่งขั้นต้นวางให้สมดุลตามงบประมาณตามลักษณะรูปแบบอาคารชั่วคราว
สำหรับพาวิลเลียนเอง มีระบบที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ มีระบบไฟฟ้า จากแผงโซลาร์เซลที่วางอยู่บนส่วนหลังคา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า (กฟผ.) ทำงานร่วมกับบริษัทที่ทำด้านโซลาร์เซล เซอร์เนอจิส โดยพลังงานที่ได้ส่วนหนึ่งมาจากแผงโซลาร์เซลจะนำมาใช้ในระบบฟอกอากาศ ถ้าแสงอาทิตย์หมด ก็จะมีระบบไฟฟ้าเข้ามาเสริม เรียกว่าเป็นระบบไฮบริด
นอกจากนี้ ความท้าทายยังมีอีกหลายจุด สำหรับคนทำงาน คือ ถ้าอยู่ในช่วงอากาศที่ไม่เลวร้าย ก็จะเป็นข้อเปรียบเทียบว่า เราทำส่วนนี้เพื่ออะไร แต่เราก็คิดอีกด้านหนึ่งว่า เป็นต้นแบบให้ดูว่า อาคารกึ่งสาธารณะเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ในพื้นที่ที่เป็นประโยชน์สาธารณะสามารถไปบริหารจัดการใช้ให้สมบูรณ์ขึ้นอย่างไรได้บ้าง เป็นโมเดลต้นแบบในการปรับใช้ อะไรที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นก็สามารถตัด ลดทอนได้ตามความเหมาะสม ตลอดจนด้านภูมิอากาศบ้านเราที่มีทั้งร้อน ทั้งฝุ่น เราจะสามารถเห็นทิศทางในการออกแบบให้ตอบโจทย์ที่สุด รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยในช่วง COVID-19 ยังมีการมองเรื่องจำนวนคนที่เข้าใช้กับการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยลักษณะเป็นพื้นที่เปิด ค่อนข้างยืดหยุ่น จึงมีการกระจายเฟอร์นิเจอร์เป็นช่องๆ ตามจุด ลดโอกาสในการนั่งใกล้กัน และมีการคัดกรองก่อนการเข้าใช้
สรุปความพิเศษของโปรเจ็กต์นี้
โปรเจ็กต์นี้อยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่ผสมผสานการออกแบบเข้ากับเทคโนโลยี ให้เห็นว่าโมเดลในสภาวะที่เราอยู่ในอากาศไม่บริสุทธิ์ เราจะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยบรรเทาหรือสร้างอากาศที่ดีขึ้นในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัด อีเวนต์ ป้ายรถเมล์ วิธีการเหล่านี้เป็นกรณีศึกษาให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ดูความเหมาะสมในการปรับใช้กัน และเป็นองค์ความรู้ที่จะถ่ายทอดกันต่อไป
ผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ผู้เข้าชมงานได้รับกลับไปหลังจากได้สัมผัสประสบการณ์จากผลงาน
อย่างแรกที่เป็นพื้นฐานเชิงประสบการณ์ที่จะได้คือ อากาศจะบริสุทธิ์กว่าภายนอก มั่นใจว่าในพื้นที่นี้สามารถสูดหายใจได้ดีขึ้น เต็มปอดขึ้น ประสบการณ์จากรูป รส กลิ่น เสียง เดินเข้าไปใกล้ๆ ที่นั่งก็จะได้กลิ่นของพืชพรรณที่ช่วยให้รีแลกซ์ เห็นถึงความร่วมมือทางเทคโนโลยี เช่น การนำแผงโซลาร์เซลมาใช้ในการหมุนเวียนพลังงานภายใน เป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาได้ส่วนหนึ่ง ทั้งยังเป็นต้นแบบการออกแบบต่อไปในอนาคต