NICE FOR CULTURE ‘เป็นมิตรที่ดีต่อวัฒนธรรม’
เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
NICE FOR CULTURE ‘เป็นมิตรที่ดีต่อวัฒนธรรม’
ไม่แช่แข็งวัฒนธรรม ด้วยพลังซอฟต์พาวเวอร์
เมืองเป็นแหล่งที่รวมหลากหลายความคิดและหลากหลายวัฒนธรรมเอาไว้ด้วยกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบริบททางสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองเป็นอย่างดี บางคนอาจคิดว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่รู้หรือไม่ว่าวัฒนธรรมเองก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ช่วยฟื้นฟูปัญหาทางเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ในท้องถิ่น เพราะสามารถเป็นสินค้าส่งออกที่เข้มแข็งและน่าสนใจ เพียงพอที่จะผลักดันให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน!
ดังนั้น urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดีต่อวัฒนธรรมในฝันของเราทุกคน จึงควรเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ทุกวัฒนธรรมได้แสดงฝีมือที่แท้จริง เปิดโอกาสให้ผู้คนในเมืองสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงออกหรือชื่นชมวัฒนธรรมต่างๆ โดยไม่แช่แข็ง สามารถศึกษาและปรับวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อต่อยอดแรงบันดาลใจได้ มีทั้งวัฒนธรรมเก่าดั้งเดิมให้ปกป้องดูแลและศึกษาต่อยอด วัฒนธรรมใหม่และวัฒนธรรมรอง หรือคำว่า Soft power ที่รู้จักกัน หยิบมาสร้างสรรค์ให้เป็นสิ่งที่น่าสนใจและสร้างมูลค่าต่อ
ซึ่งวันนี้ Bangkok Design Week 2023 ก็อยากชวนทุกคนมาดูว่ามีไอเดียอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่เคยเกิดขึ้นในเมืองเราไปแล้วบ้าง กลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ในไทยกลุ่มไหนที่ต่อยอดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมกันอย่างน่าสนใจ เผื่อจะได้รับแรงบันดาลใจไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กรุงเทพฯ กัน!
ผลักดันเพลงไทยสู้กระแสวัฒนธรรมเพลงต่างประเทศ
การมาของ T-Pop เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นจริงๆ เมื่อยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมและผู้คนทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์หันมาให้ความสนใจและผลักดันให้เกิดศิลปินเดี่ยวหน้าใหม่เกิร์ลกรุ๊ปและบอยแบนด์สัญชาติไทยกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหล่าศิลปินอย่าง 4EVE, PiXXiE, PROXIE, ATLAS, MATCHA หรือ ALLY รวมถึงรายการที่ให้ศิลปินไทยแนวป๊อปมาปล่อยของอย่าง T-Pop Stage ขึ้นมาด้วย ก่อให้เกิดวัฒนธรรมแบบ T-Pop ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก และด้วยการแข่งขันเรื่องคุณภาพ ก็ยิ่งทำให้กระแสนี้ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ทำให้มีโอกาสที่กระแสวัฒนธรรม T-Pop นี้ต่อยอดเป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศด้วย
ไม่ใช่แค่เพลงป๊อปที่เป็นกระแสหลักจะได้รับการสนับสนุนอย่างเดียว เพลงไทยนอกกระแสก็ยังมี Fungjai หรือ ฟังใจ คอมมูนิตี้ที่คอยสนับสนุนนักร้องและวงดนตรีด้วยการจัดคอนเสิร์ตและรูปแบบกิจกรรมทั้งออฟไลน์และช่องทางออนไลน์ต่างๆ ด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถทำให้ผู้คนเข้าถึงการเสพดนตรีแปลกใหม่ด้วยใจที่เปิดกว้าง ถ้าใครสนใจอยากลองเปิดประสบการณ์ดนตรีใหม่ๆ ให้หูตัวเองก็สามารถแวะเวียนเข้าไปฟังได้ที่ https://www.fungjai.com/home
นอกจากนั้นยังมีกลุ่ม Hear and Found ที่ให้ความสำคัญกับเพลงท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษของแต่ละภูมิภาคหรือแต่ละชุมชน ด้วยการสนับสนุนวัฒนธรรมดนตรีชาติพันธุ์ ก่อให้เกิดเป็นธุรกิจที่นำเพลงท้องถิ่นมาต่อยอดให้คนทั่วไปสามารถสนับสนุนในการซื้อลิขสิทธิ์ มีการสร้าง library เอาไว้สำรวจและศึกษาทำความรู้จักท่วงทำนองอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์ได้ ใครที่สนใจอยากลองศึกษาก็สามารถเข้าไปสำรวจกันได้ที่ https://hearandfound.com
สร้าง Route ใหม่ สร้างประสบการณ์ใหม่
ประสบการณ์เดินทางของเราเวลาไปเที่ยวเมืองต่างๆ มักจะอยู่ที่การวางแผนว่าจะไปเยี่ยมชมสถานที่ไหนบ้าง เพราะฉะนั้นการสร้าง route ท่องเที่ยวใหม่ขึ้นมาก็เหมือนเป็นการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบใหม่ให้ผู้ที่มาเยี่ยมชม
อย่าง route ที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานและช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายประเทศให้มาเที่ยวใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ คือ 8 Shrines Route ราชประสงค์ เป็นการรวบรวมการเดินทางสำหรับสายบุญและสายมูเตลูทั้งหลายเอาไว้ในแมปเดียว แถมยังมีตำราบอกวิธีการไหว้เสร็จสรรพ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ถึง 8 แห่งภายในย่านเดียว เรียกได้ว่านอกจากจะดึงให้แต้มบุญย่านนั้นสูงขึ้นทั่วถึงแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจร้านอาหารและห้างสรรพสินค้าละแวกนั้นได้เป็นอย่างดี
หนึ่งใน route ที่น่าสนใจมากๆ ในกรุงเทพฯ ของเราที่หลายคนยังไม่ทราบคือ Pathumwan Art Route นั่นเอง เป็นโครงการในความร่วมมือของพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ปทุมวัน ที่สร้างแผนที่เดินทางผ่านหลากหลายมิวเซียมและชุมชนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อย่าง bacc, Yelo House, Jim Thompson House Museum ชุมชนมุสลิมบ้านครัวที่เป็นแหล่งผ้าทอมือและสถาปัตยกรรมท้องถิ่นโบราณ และ FAAMAI Dome ที่กำลังจะมีแผนเปิดให้ผู้คนสามารถเข้าชมกิจกรรมและศิลปะแบบดิจิทัลอาร์ตได้ในอนาคต เรียกได้ว่าเป็นการชักชวนให้ทุกคนไปลองฮอปปิ้งชื่นชมบรรยากาศทางศิลปะ วัฒนธรรม การสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิม ไปจนถึงงานศิลปะโมเดิร์นล้ำสมัยเลยทีเดียว
นำวัฒนธรรมดั้งเดิมไปต่อยอดในโลกดิจิทัล!
ณ ปัจจุบันด้วยช่องทางออนไลน์และความสะดวกสบายแบบคลิกเดียวเข้าถึงได้ทุกอย่างตามแบบฉบับโลก 4G ทำให้เกิดคอมมูนิตี้และการรวมกลุ่มมากมายที่ผลักดันและต่อยอดวัฒนธรรมแบบแปลกใหม่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล การเติบโตของวัฒนธรรมแขนงนี้แทบไม่มีขีดจำกัดเลยทีเดียว
อย่าง SoundKoh Collective ก็เป็นการขยับตัวอย่างน่าสนใจ เมื่อค่ายดนตรีนำ blockchain มาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ด้วยการทำแพลตฟอร์ม The Sandbox นำเสนอค่ายในโลกออนไลน์ให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมสร้างงานเพลงต่างๆ ร่วมกัน และนำผลงานไปขายเป็น NFT เพื่อกระจายผลงานและนำรายได้กลับมาสนับสนุนส่งเสริมศิลปินอิสระต่างๆ
Thai Ghost ก็เป็น NFT อีกอันที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเป็นการเอาผีไทยมาผสมผสานกับเรื่องเล่าตำนานทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ก่อนแล้ว เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและมูลค่าในตัวงานศิลปะ เช่น ผีตาโขน collection หรือ ผีแรร์ไอเทมสำหรับนักสะสม หรืออย่าง YAKYAKs ก็เป็น NFT ไทยที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีเก่าแก่อย่างรามเกียรติ์ ผสมกับดีไซน์แบบมินิมอล และแนวคิดแบบยุค Ethereum (2984) ทำให้เกิดผลงานที่น่าสนใจเป็นที่น่าจับตามองของนักลงทุน
จะเห็นได้ว่าการทำงานต่อยอดเชิงวัฒนธรรมนี้ทำได้หลากหลายมากๆ ขึ้นอยู่กับทักษะและความสนใจในพื้นเพเดิมของผู้คนว่าสนใจอยากหยิบเรื่องไหนมาพัฒนา ชื่นชอบเรื่องอาหารก็สามารถผลักดันเกี่ยวกับอาหารได้ ชื่นชอบงานศิลปะก็สามารถสร้างงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเมืองได้เช่นกัน
การที่ตัวเมืองเปิดกว้างให้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนตามเวลา และเข้าถึงได้ง่าย ก็เหมือนส่งเสริมให้ผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งขุมทรัพย์แห่งแรงบันดาลใจและปัญญา ที่ผู้คนในเมืองสามารถพัฒนาสร้างสีสัน สร้างชีวิตชีวาให้แก่เมือง และเกิดความสร้างสรรค์แบบใหม่ได้ไม่สิ้นสุด
–
Bangkok Design Week 2023
urban‘NICE’zation
เมือง-มิตร-ดี
4-12 February 2023
#BKKDW2023
#BangkokDesignWeek
#urbanNICEzation