Urban Ally
Power of Design
อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทยประกอบด้วย 15 อุตสาหกรรม แล้วทั้งหมดนี้จะมีส่วนทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองของเราดีขึ้นอย่างไรบ้าง Urban Ally จะพาทุกคนมาร่วมสัมผัสกับโครงการ Power of Design ที่จะบอกเล่าเรื่องราวพลังของการออกแบบ ผ่านกิจกรรมดังต่อไปนี้
1. Foodscape on the wall โดย Harid (Infinite Riot)
ด้วยความที่ย่านพระนครเปรียบเสมือน ‘ครัวของกรุงเทพฯ’ มีร้านค้า ร้านอาหาร และร้านข้างทางมากมายที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ให้มาลิ้มลองรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เราจึงอยากใช้โอกาสนี้ ทำให้ย่านเก่าแก่เป็นย่านน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุนมากยิ่งขึ้น จึงเกิดไอเดีย ‘FOODSCAPE ON THE WALL’ นำเสนอจุดเด่นของร้านอาหารในย่านพระนคร ผ่านรูปแบบศิลปะบนกำแพง โดยใช้กระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการในชุมชน
2. Nature-best survival ธรรมชาติต้องรอด โดย Wan Chantavilasvong, Nature and City Scape Analytics x Pitchapa Jular, Local Dialects
Nature-best survival เป็นงานสื่อผสม (mixed-media) ผสานภาพถ่ายธรรมชาติบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ พร้อมเย็บปักเรื่องราวสิ่งมีชีวิตที่คนในพื้นที่โหยหาสอดแทรกกลับลงไป โดยมีประติมากรรมล้อเลียนธรรมชาติขนาดยักษ์ให้คนได้มาปฏิสัมพันธ์ด้วยการนั่ง/นอน/เล่นเพื่อรับชมภาพถ่ายบนผ้าใบ เสมือนว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติทดลองในเมือง โดยผลงานชิ้นนี้ต้องการดึงเอาความเป็นธรรมชาติรกร้างเดียวที่เหลืออยู่ในพื้นที่ให้กลับมาสู่จินตนาการของคนเมือง พร้อมนำเสนอข้อท้าทายไว้ว่า ‘หากเราเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคต ธรรมชาติที่สูญหายไปจะต้องกลับมา’
3. Cut-up the Harmonies โดย Kittiphan Janbuala, Faculty of Music, Silpakorn University
หาก ‘อาคารบ้านเรือน’ ต้องการจะเปล่งเสียงร้อง คงมีเรื่องราวและช่วงเวลาหลากหลายที่อยากบอกเล่ากับผู้คนที่แวะเวียนเข้ามา แต่ในความเป็นจริง บ้านไม่อาจส่งเสียงได้ เพราะฉะนั้นเมื่อกาลเวลาผ่านพ้น เรื่องราวต่างๆ จึงค่อยๆ ลบเลือนไป จนผู้คนอาจหลงลืมว่าที่แห่งนี้เคยมีความทรงจำมากมายที่เกิดขึ้น โปรเจกต์จึงนำเสนอผลงาน audiovisual Installation ผ่านการ Projection Mapping เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่ จากการตีความเสียงและกราฟิกใหม่ เสมือนบ้านที่กำลังส่งเสียงออกมา
4. Undercurrent โดย SARATHMAYTHISA and FRIENDS
ในเมืองหลวงที่แทบทุกการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ ผลงานชิ้นนี้ต้องการนำเสนอสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกับความแน่นอนนี้ ผ่านพื้นผิวที่มีความลื่นไหลและยืดหยุ่น โดยตั้งใจที่จะเปลี่ยนพื้นที่บริเวณด้านหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ให้กลายเป็นสนามเด็กเล่นที่เด็กเล่นได้ ผู้ใหญ่เล่นดี เป็นสนามเด็กเล่นที่ทุกคนสามารถใช้งาน และมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ไปในเวลาเดียวกัน รวมถึงการเลือกใช้สิ่งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อไปหลังจากนี้ได้อีกด้วย
5. ถนน - คน - เดิน Street Story โดย Theerawat Pojvibulsiri, Faculty of Decorative Arts, Silpakorn University
ถนน - คน - เดิน บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับถนน 3 สาย ผ่านป้ายนิทรรศการที่ติดตั้งตามผนัง หรือตามที่สาธารณะต่างๆ โดยใช้ภาพประกอบและการจัดวางเพื่อนำเสนอเรื่องราว วิถีชีวิต ความเป็นไปบนถนนทั้ง 3 สาย รวมทั้งมีกิจกรรมประทับตรายางตามจุดต่างๆ ลงในเล่มพาสปอร์ต เพื่อแลกรับ Zine ถนน - คน - เดิน
6. บำรุงเมือง บำรุงพุง Yummy City - Yummy Tummy โดย อ. ดร. นิพัทธ์ชนก นาจพินิจ ร่วมกับทีมอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยสวนดุสิต
อาหารขับเคลื่อนชีวิตผู้คนให้มีพลังงาน ร่างกายแข็งแรง และยังสร้างเมืองที่เข้มแข็ง เป็นพื้นที่ชีวิตที่เปี่ยมด้วยความสุขด้วยศาสตร์และศิลปะอาหาร แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้คนในเมืองต่างเร่งรีบ ทำให้หลายคนไม่อาจเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น เราจึงอยากชวนดีไซเนอร์ เชฟ และผู้ประกอบการร้านอาหาร มาร่วมกันสร้างสรรค์อาหารที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของผู้คนในเมือง
7. Beneath Symphony โดย Nerd Studio ft. Siravith Kongbandalsuk
‘Beneath Symphony’ เป็นงานที่ Nerd Studio ร่วมกับ สิรวิชญ์ คงบันดาลสุข อาจารย์จากสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา นำเสนอการนำวัสดุต่างๆ มาสร้างเสียง แล้วทดลองเล่นให้สอดประสานเป็นท่วงทำนองดนตรีจากวัสดุที่หลากหลายเหล่านั้น เพลงที่ออกมาจึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ได้มีการประพันธ์เพลงไว้ล่วงหน้า แต่เน้นความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เล่นและผู้ชมในการแสดงครั้งนี้