BANGKOK DESIGN WEEK 2025, 8 –23 FEB

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

ส่องเทรนด์โลกเพื่อรับมือกับความโกลาหล

ส่องเทรนด์โลกเพื่อรับมือกับความโกลาหลโลกเพิ่งจะฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ไม่นาน ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ถาโถมเข้ามา ทั้งการเมืองที่ผันผวน สงคราม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ วิกฤตสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตรอบด้าน ส่งผลให้ผู้คนต้องค้นหาวิธีที่จะรักษาสมดุล ระหว่างความวิตกกังวล กับการมองโลกในแง่ดี เพื่อหาหนทางก้าวผ่านความท้าทายไปได้ มาดูกันว่ามีเทรนด์อะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพื่อตอบรับกับความโกลาหลของโลกยุคนี้สรรหานิยามใหม่ เพื่อเข้าใจโลกที่ยากจะเข้าใจจาก VUCA สู่ BANI หลายสิบปีที่ผ่านมา ทั่วโลกคุ้นเคยกับคำว่า VUCA หรือ คำนิยามสถานการณ์โลกที่ผันผวน (Volatility) ไม่แน่นอน (Uncertainty) ซับซ้อน (Complexity) และ คลุมเครือ (Ambiguity) ซึ่งถูกคิดค้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เริ่มใช้กันในกองทัพสหรัฐ เพื่อนิยามสถานการณ์ในยุคสงครามเย็น หลังจากนั้นก็เริ่มแพร่หลายไปในวงการอื่นๆ โดยเฉพาะช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งหลายองค์กรทั่วโลกนำมาใช้เป็น framework เพื่อเตรียมพร้อมปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงจนยุคหลังโควิด-19 ที่โลกเริ่มปั่นป่วนในทุกมิติ จึงเกิดนิยามใหม่ว่า BANI หรือ เปราะบาง (Brittle) น่าวิตกกังวล (Anxious) คาดเดายาก (Nonlinear) และเข้าใจได้ยาก (Incomprehensible) ซึ่งถูกบัญญัติขึ้นใหม่โดยนักมานุษยวิทยา และนักอนาคตศาสตร์ชาวอเมริกัน เพื่อเสริม VUCA โดยไม่ได้พูดถึงสถานการณ์โลกเพียงอย่างเดียว แต่พูดถึงความรู้สึกที่เรามีต่อสถานการณ์โลก เพื่อเตือนใจให้เราไม่ประมาทในการประเมินวิกฤต และเตรียมพร้อม หาวิธีรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่จะเข้ามาในอนาคตPolyCrisis วิกฤตรอบด้านอีกหนึ่งคำที่มาแรงในช่วง 1-2 ปีนี้ คือ Polycrisis หรือ วิกฤตหลากมิติ วิกฤตซ้อนวิกฤต ซึ่งถูกพูดถึงใน Global Risks Reports โดย World Economic Forum ในรอบ 1-2 ปีนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตใหญ่หลายมิติพร้อมๆ กัน อย่างประเทศไทยเอง ตามรายงานก็ระบุว่า มีความเสี่ยงเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัญหามลพิษทางอากาศ น้ำ ดิน การขาดแคลนแรงงาน หนี้ครัวเรือน และความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงภาวะสภาพภูมิอากาศสุดขั้วGen AI คือที่พึ่งท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน Generative AI จึงกลายเป็นเป็นที่พึ่งเพื่อช่วยรับมือกับความท้าทาย ที่เกินขีดความสามารถและการควบคุมของมนุษย์ ในช่วง 2-3 ปีนี้ เราจึงเห็น AI เข้ามามีบทบาทในหลายมิติ ตั้งแต่การทำงานอัตโนมัติ สร้างคอนเทนต์ทุกรูปแบบภาพ เสียง วิดิโอ สกัดข้อมูลเชิงลึก ไปจนถึงเป็นตัวแทนของมนุษย์ และเพิ่มความสามารถของมนุษย์ ในระดับที่สามารถช่วยย้อนอดีต ตัดสินใจปัจจุบัน และทำนายอนาคตได้เลย จึงเกิดข้อถกเถียงต่างๆ นานาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จาก AI การวิจัยโดย Ipsos ระบุว่าผู้คนทั่วโลกยังคงทั้งตื่นเต้นและกังวลต่อ AI โดยมีความเห็นที่กระจัดกระจายในประเด็นต่างๆ เช่น AI จะช่วยงานหรือแย่งงานมนุษย์ AI บิดเบือนความจริง ความน่าเชื่อถือของ AI ไปจนถึง AI จะมาส่งเสริม หรือ ด้อยค่าความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน อย่างไรก็ตาม AI จะมาเป็นเพื่อนหรือคู่แข่ง จะช่วยแก้ปัญหา ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ได้อย่างไร ก็ล้วนขึ้นอยู่การนำมาใช้ของมนุษย์นั่นเองสะสมสกิล คือ ทางรอดเมื่อ AI ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน มนุษย์จึงต้องเพิ่มทักษะของตัวเองไปพร้อมๆ กัน ในยุคนี้ เราจึงได้ยินคำว่า Upskill/ Reskill/ Newskill/ Futureskill กันอย่างแพร่หลาย ไปจนถึง Green Skills หรือทักษะ ความรู้ ความใส่ใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และที่สำคัญคือ Cross-skill หรือ บูรณาการข้ามศาสตร์ เพราะความเชี่ยวชาญเฉพาะเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยให้เอาตัวรอดได้ในยุคนี้ และไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่เท่านั้นที่ต้องสะสมสกิลเพิ่ม วัยเด็กก็เริ่มต้องสั่งสมการเรียนรู้ทักษะหลากหลาย และเข้าใจความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน อย่างหลักสูตร STEM education หรือ การบูรณาการความรู้ 4 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ซึ่งกำลังแพร่หลายในหลายโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อปลูกฝังทักษะที่จำเป็นในการนำทางชีวิตในโลกที่จะซับซ้อนขึ้นอีกในอนาคตมองบวกแบบพอดี หนทางฮีลใจแบบไม่ไร้เหตุผลแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกระแส Toxic Positivity หรือ การห้ามตัวเองไม่ให้คิดลบ จนกลายเป็นโลกสวยเกินไป จนทำให้เสียศูนย์ เพราะมองข้ามปัญหาที่แท้จริงไป แต่ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ งานวิจัยพบว่าสิ่งที่ทำให้คนกลับมาเข้มแข็ง และจัดการกับความเครียดท่ามกลางปัญหาหนักๆ ได้ดี คือ ความคิดแบบ Tragic Optimism หรือ คิดบวกแบบยอมรับความจริง ยอมรับปัญหา ยอมรับอารมณ์ด้านลบนั้น แล้วพร้อมลุกขึ้นมาสู้กับมันนอกจากนี้ยังมี #HopeCore เทรนด์ใหม่บน TikTok ในช่วง 1-2 ปีนี้ เน้นวิดิโอเชิงบวก ที่อาจจะตัดต่อซีนต่างๆ จากหนัง แล้วนำมาใส่ข้อความฮีลใจ สร้างแรงบันดาลใจและความหวัง เพื่อดึงผู้คนออกจากเรื่องราวลบๆ รอบตัว ในหลายประเทศพบว่าคอนเทนต์ #Hopecore เหล่านี้ สามารถช่วยดึงผู้คนออกจากความซึมเศร้าได้จริงทำให้ผลการสำรวจในหลายประเทศโดย Ipsos Global Advisor Predictions 2024 พบว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ ผู้คนมีแนวโน้มจะมองโลกในแง่ดีมากขึ้น ยังมีความหวังว่าแม้จะมีความกังวลต่อสถานการณ์รอบตัวที่ไม่แน่นอน แต่ก็ยังมีความหวัง โดยเฉพาะกับชีวิตของตัวเอง และมองหาสินค้าและบริการที่ช่วยฮีลใจ ชักจูงให้คิดบวก รวมไปถึงคาดหวังให้บริษัท แบรนด์ต่างๆ มีส่วนผลักดันที่ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น ช่วยส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะ และทำให้เห็นอนาคตที่มีความหวัง Joyconomy เศรษฐกิจความสุขจากเทรนด์การมองโลกในแง่ดีแบบพอดี เชื่อมโยงสู่การหาจุดลงตัวที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข การศึกษาเทรนด์ของ The Future 100 by VML Intelligence 2023 พบว่าผู้คนมองหาความเบิกบาน ความสุข และเสียงหัวเราะ มากเป็นพิเศษในช่วงนี้ เห็นได้ชัดจากคอนเทนต์ออนไลน์ที่เน้นเนื้อหา Feel good คลิปตลก สินค้า แพคเกจจิ้ง ลวดลายสีสันสดใส ไปจนถึง Art Toy ที่กำลังเป็นที่นิยม จากคาแรกเตอร์น่ารักๆ และความสนุกที่ได้ลุ้นว่าในกล่องสุ่มจะเป็นตัวอะไร ก็สามารถบ่งบอกถึงการมองหาสิ่งเล็กๆ ที่ช่วยชุบชูใจ ที่จับต้องได้ง่ายขึ้น และช่วยเบนความสนใจออกจากความเครียดได้ ไปจนถึงการ์ตูนเรื่อง Inside Out 2 ตัวละคร Joy ก็มีบทบาทในการดึงสติตัวละคร Anxiety ให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน เพื่อบอกคนดูเป็นนัยว่าเราว้าวุ่น วิตกได้เพื่อเป็นกลไกเตรียมพร้อมกับปัญหา แต่ก็จำเป็นต้องสร้างสมดุลด้วยความสุขโหยหาการรวมกลุ่ม สานสัมพันธ์กับผู้คนที่หลากหลายผลต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้ผู้คนเหงาและโดดเดี่ยวมากขึ้น จึงทำให้คนโหยหาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนหมู่มาก งานวิจัยพบว่า ยิ่งได้เจอกลุ่มคนใหม่ๆ ที่แตกต่างจากตัวเอง ยิ่งจะช่วยเติมเต็มความรู้สึก ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราจึงเห็นกิจกรรม เทศกาลต่างๆ ที่พยายามเป็นตัวกลาง ดึงดูดผู้คนหลากหลายให้ได้มาเจอกัน และมีประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นผลดีในทั้งระดับสุขภาพจิตของตัวบุคคลเอง แต่ยังขยายผลในเชิงสังคมและเศรษฐกิจด้วย และแน่นอนว่าการต่อสู้กับความท้าทายในโลกยุคนี้ จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่ม เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนในปริมาณมากพอ ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ได้จากทิศทางเทรนด์โลกในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่าผู้คน องค์กร และเมืองต่างๆ พยายามเรียนรู้ ปรับตัว และขบคิดหาวิธีที่จะรับมือกับโลกที่ไม่แน่นอนอย่างสร้างสรรค์ โดยมีหัวใจหลักอยู่ที่ การเลือกที่จะอยู่กับพลังบวก+ และสร้างความหวังว่าทุกคนจะสามารถช่วยให้โลกนี้ดีขึ้นได้ เชื่อว่าในปีนี้ น่าจะเห็นเทรนด์งานออกแบบและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างมาเพื่อตอบโจทย์ผู้คน และรับมือกับวิกฤต อีกมากมายอย่างแน่นอนมาร่วมสำรวจเทรนด์ใหม่ๆ ที่จะทำให้เห็นว่างานสร้างสรรค์และงานออกแบบ มีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับโลกนี้ไ้ด้อย่างไรบ้าง ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 ภายใต้ธีม ‘Design Up+Rising ออกแบบพร้อมบวก+’ ระหว่างวันที่ 8-23 กุมภาพันธ์ 2568 นี้อ้างอิง:https://stephangrabmeier.de/bani-versus-vuca/#infographichttps://techsauce.co/sustainable-focus/the-global-risks-report-2024-from-world-economic-forumhttps://www.marketingoops.com/reports/world-economic-forum-2024-lesson/https://www.ipsos.com/sites/default/files/ct/news/documents/2024-06/Ipsos-AI-Monitor-2024-key-findings.pdfhttps://www.theatlantic.com/family/archive/2021/08/tragic-optimism-opposite-toxic-positivity/619786/https://metro.co.uk/2024/03/24/a-pessimistic-world-need-hopecore-save-us-doomscrolling-20496012/https://www.ipsos.com/en-th/ipsos-global-predictions-2024https://www.vml.com/insight/the-future-100-2024https://article.tcdc.or.th//uploads/file/ebook/2566/11/desktop_th/EbookFile_34204_1699259829.pdfBKKDW2025 Open Call เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลฯหมดเขต 30 กันยายน 2567 เวลา 23.59 น.สมัครเข้าร่วมจัดเทศกาลฯ ได้ที่ https://www.bangkokdesignweek.com/apply #BKKDW2025#BangkokDesignWeek#DesignUpRising#ออกแบบพร้อมบวก

อะไรคือ Design Up+rising?

อะไรคือ Design Up+rising? ทำไมต้อง ออกแบบพร้อมบวก+?ที่มาของแนวคิดประจำปี Bangkok Design Week 2025กลับมาพบกันอีกครั้งกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว เทศกาลฯ ยังคงมีเป้าหมายหลักที่จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบจับต้องได้จริง และเข้าถึงทุกคนได้ ไม่จำกัดเฉพาะคนในวงการออกแบบหรือวงการสร้างสรรค์เท่านั้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนผู้คน สังคม และเมืองไปข้างหน้าในทุกมิติ2 ปีที่ผ่าน เทศกาลฯ ได้ทดลองชวนทุกคนมาขบคิด และเปิดบทสนทนากัน เพื่อหาความเป็นไปได้ในการนำความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เข้ามาใช้พัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรและน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้เห็นถึงพลังของทุกคน และทุกภาคส่วนที่อยากเห็นกรุงเทพฯ ดีกว่าเดิม ทำให้เชื่อมั่นว่าเทศกาลฯ สามารถเป็นแพลตฟอร์มผสานความร่วมมือ หาแนวร่วม และจุดประกายให้เกิดความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้สำหรับปีนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญหลากหลายวิกฤตไปพร้อมๆ กัน และคาดว่าจะยังคงมีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาอีกมากในอนาคต ที่เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือ จึงเป็นโอกาสดีที่เทศกาลฯ จะเปิดพื้นที่ ชวนทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกันคิด ช่วยกันแสดงให้เห็นว่า “ความคิดสร้างสรรค์และงานออกแบบทำอะไรได้บ้าง” เพื่อช่วยให้เราปรับตัวและรับมือกับยุคโลกปั่นป่วนได้ และนี่คือจุดตั้งต้นของแนวคิดของเทศกาลฯ ในปีนี้Uprising คืออะไร Uprising (n.) คือคำจำกัดความกว้างๆ ของการเคลื่อนไหว ลุกฮือเพื่อต่อต้านบางอย่าง มักใช้ในบริบทเชิงการเมือง การปฏิวัติ ในขณะที่คำว่า Rise up (v.) สามารถหมายถึง การลุกขึ้นจากความล้มเหลว ลุกขึ้นจากปัญหาได้ เพราะตัวคำมีพลังและสามารถสื่อความหมายได้หลายมิติตามแต่จะตีความ จึงเป็นเหตุผลที่เทศกาลฯ เลือกนำมาใช้ส่งสารเพื่อปลุกพลัง ปลุกความร่วมมือของทุกคนในยุคสมัยนี้ ทำไมต้อง Design Up+Risingหากย้อนทบทวนประวัติศาสตร์โลก จะพบว่าในหลายๆ วิกฤต ภายใต้สภาวะกดดันมักจะเป็นขุมพลังพิเศษที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ ทำให้เราเห็นการเกิดของขบวนการศิลปะและการออกแบบ (Art and Design Movement) ในยุคต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อปลุกกระแสสังคม และหวังที่จะชี้นำทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสังคม ณ ขณะนั้น อย่างเช่น ศิลปะสัจนิยม (Realism) ที่เกิดขึ้นมาเพื่อสะท้อนสภาพความเป็นจริง ความเลื่อมล้ำของสังคมในยุค 1900’s และเพื่อโต้กลับแนวคิดของศิลปะจินตนิยม (Romanticism) ที่เน้นสื่อแต่อารมณ์ความรู้สึก โดยไม่อิงกับเหตุผลและความเป็นจริง จนอาจดูสุดโต่งจนเกินไป เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองและสังคม มีความสัมพันธ์กับศิลปะและการออกแบบอย่างแยกขาดออกจากกันไม่ได้ แต่คนส่วนมากยังกลับมองว่างานสร้างสรรค์เหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว ฟุ่มเฟือย และไม่มีความจำเป็นกับชีวิต จึงทำให้อาจลดทอนคุณค่าของงานสร้างสรรค์ไปอย่างน่าเสียดายเพราะเหตุนี้ เทศกาลฯ จึงอยากใช้โอกาสนี้ยกระดับและปลุกพลังให้กับวงการออกแบบโดยทำให้เห็นว่าการออกแบบมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงในหลายๆ ระดับ และยังช่วยเติมพลังให้ผู้คนลุกขึ้นสู้กับความท้าทายที่รายล้อมต่อไปได้พร้อมบวก+ แบบไหน?‘พร้อมบวก’ มาคู่กับ การรวมตัวลุกฮือแบบ ‘Uprising’ แน่นอนว่าใครได้ยินก็ต้องรู้สึกถึงพลัง ความฮึกเหิม แบบพุ่งเข้าชน แต่พลังการรวมตัวพร้อมสู้นี่แหละ คือพลังที่เทศกาลฯ ต้องการ เพราะเราจะมาชวนทุกคนรวมตัวกันพร้อมบวกกับทุกความท้าทายในโลกยุคนี้ โดยใช้การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เเปลี่ยนพลังงานลบให้เป็นพลังงานบวก เปลี่ยนความสิ้นหวังให้เป็นความหวัง มาดูกันว่าในเทศกาลฯ จะออกแบบพร้อมบวก+ แบบไหนกันบ้าง+ Optimism ออกแบบคิดบวก จากทิศทางเทรนด์โลกในช่วงนี้ จะเห็นว่าผู้คนเริ่มมองโลกในแง่ดีขึ้น เพราะเลือกที่จะโยนความเครียดทิ้งไป แล้วอยู่กับพลังบวก การออกแบบจะเข้ามาช่วยสร้างความสุข ความเบิกบาน ไปพร้อมกับสร้างความหวังว่าอะไรก็เป็นไปได้ และทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นได้อย่างไร+ Cross-disciplinarity ออกแบบบวกศาสตร์อื่น เพราะความเชี่ยวชาญเพียงศาสตร์เดียว ไม่เพียงพอต่อการรับมือความท้าทายที่ซับซ้อน การออกแบบมีความพิเศษตรงที่มีหลากหลายสาขา และยังสามารถลื่นไหลไปบวกกับศาสตร์ใดก็ได้ บริบทใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะงานสร้างสรรค์ด้วยกันเท่านั้น นักออกแบบก็เช่นเดียวกัน+ Positive Force ออกแบบพร้อมบวกทุกความท้าทายเมื่อความท้าทาย และข้อจำกัดมันเยอะจนอาจทำให้หมดไฟ มาดูว่าการออกแบบจะสาดพลังบวกพร้อมสู้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้คน ธุรกิจ สังคม และเมืองได้อย่างไรบ้าง+ Disruption ออกแบบฉีกกฎ ออกแบบตามเทรนด์ ไปในทิศทางเดียวกันมันก็ไม่สนุก จึงอยากปลุกดีไซน์กระแสใหม่ รวมไปถึงนักออกแบบคลื่นลูกใหม่ หรือคลื่นลูกเก่าที่พร้อมจะบวกความกล้า ท้าทายกฎเกณฑ์และรูปแบบเดิม เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในวงการ ที่ตอบโจทย์กว่าที่เคย+ Power of Design ออกแบบไม่ไร้ค่า ประกาศคุณค่าของการออกแบบและวิชาชีพออกแบบ ว่าไม่ใช่แค่สร้างความสวยงาม แต่ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด โดยเฉพาะสามารถการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลกนี้ได้ หากคุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงรอบตัวที่ดีขึ้นในเชิงบวก ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำอาชีพอะไร เป็นนักออกแบบ ศิลปิน นักสร้างสรรค์ หรือคนทั่วไป ก็สามารถมาทำความรู้จักกับงานออกแบบหลายหลายสาขา มาร่วมออกไอเดีย และมาเติมพลังบวกจากงานสร้างสรรค์บวกๆ กันได้ที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 ‘Design Up+Rising ออกแบบพร้อมบวก+’ ในวันที่ 8-23 กุมภาพันธ์ 2568 นี้BKKDW2025 Open Callเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลฯหมดเขต 30 กันยายน 2567 เวลา 23.59 น.สมัครเข้าร่วมจัดเทศกาลฯ ได้ที่https://www.bangkokdesignweek.com/apply#BKKDW2025#BangkokDesignWeek#DesignUpRising#ออกแบบพร้อมบวก

พร้อมบวก+ แบบไหนได้บ้าง?

พร้อมบวก+ แบบไหนได้บ้าง?ไอเดีย 5 แนวทาง ออกแบบพร้อมบวก+ออกแบบพร้อมบวก+ ในมุมมองของ Bangkok Design Week 2025 คืออะไร? บวกกับอะไร? บวกแบบไหนได้บ้าง?บวกแล้วมีประโยชน์ยังไง? ใครบวกได้บ้าง?ลองมาดูตัวอย่าง 5 แนวทาง ออกแบบพร้อมบวก+ เหล่านี้ดู แล้วลองมองเรื่องราวรอบตัว อาจจะเจอไอเดียออกแบบพร้อมบวก+ ที่มีประโยชน์ ที่อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด+ Optimism ออกแบบคิดบวกหากกำลังรู้สึกดิ่ง รู้สึกว่าโลกช่างเหวี่ยงปัญหาเข้ามาเยอะเหลือเกิน ลองหันมามองงานออกแบบ ที่สามารถช่วยเพิ่มพลังบวก เพิ่มความสดใส เบิกบานให้เราได้ หากยังนึกไม่ออก ลองดู Art Toy ยอดนิยมอย่างน้อง “Cry Baby” ออกแบบโดยมอลลี่ ศิลปินสาวชาวไทย จนโด่งดังใน POP MART ไปทั่วโลก กับคาแรกเตอร์เด็กน้อยน่ารัก ที่มาพร้อมน้ำตาคลอเบ้าอยู่ตลอดเวลา ถ่ายทอดแมสเสจที่อยากบอกทุกคนว่า เราแสดงความอ่อนแอออกมาได้ ร้องไห้ได้ไม่เป็นไร ใครที่กำลังมีเรื่องเศร้าอยู่ในใจ เห็นแล้วก็ต้องยิ้มออกอย่างแน่นอนเพราะน้อง Cry Baby ช่างเข้าอกเข้าใจ และสามารถเปลี่ยนความรู้สึกลบ ให้กลายเป็นพลังบวก ให้กับทั้งตัวศิลปินเอง และแฟนคลับได้อย่างไม่น่าเชื่อCry Me A River ที่มา: https://www.longtungirl.com/7031CRYBABY x Powerpuff Girls ที่มา: https://thestandard.co/life/crybaby-x-powerpuff-girls + Cross-disciplinarity ออกแบบบวกศาสตร์อื่น บวกในที่นี้ หมายถึงความร่วมมือข้ามสาขา ข้ามศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะงานออกแบบ หรืองานครีเอทีฟด้วยกันเอง แต่ยังสามารถไปบวกกับการแพทย์ วิทยาศาสตร์ ต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้ไม่รู้จบ อย่าง “DataWagashi” งานออกแบบดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น ที่นำเอา data ข้อมูลเชิงลึกที่ซับซ้อนเกี่ยวกับวิกฤตภูมิอากาศโลก มาทำให้เข้าใจง่าย สื่อสารผ่านการออกแบบโดยใช้ ขนมวากาชิ (Wagashi) ขนมญี่ปุ่นโบราณ เป็นตัวนำเสนอ ผ่านรูปทรง สี กลิ่น รสชาติ รสสัมผัส เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้และได้เช้าใจถึงวิกฤตโลกรวน ที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด ประเด็นที่นำมาสื่อสาร มีตั้งแต่เรื่องวิกฤตมหาสมุทรร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย คาร์บอนฟุตปรินท์ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว เรียกได้ว่าเป็นข้อมูลย่อยง่ายแบบ bitesize ที่ผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์ การออกแบบ และอาหารได้อย่างน่าสนใจอ้างอิง:https://www.datawagashi.comhttps://schedule.sxsw.com/2024/events/PP134332+ Positive Force ออกแบบพร้อมบวกทุกความท้าทายหัวใจสำคัญของการออกแบบ คือเป็นเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหา แต่กว่าที่จะได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ ก็ต้องผ่านความท้าทาย ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งบางครั้งก็อาจทำให้ดีไซเนอร์ท้อได้ เมื่อปี 2012 มีสวนสาธารณะ Superkilen Park ในโคเปนฮาเกนที่โด่งดังไปทั่วโลก ด้วยสีสัน หน้าตาและคอนเซปต์ที่ท้าทายนิยามของสวนสาธารณะ และกล้าบ้าบิ่นกว่าพื้นที่สาธารณะไหนๆ ในยุคเดียวกัน ถูกออกแบบขึ้นเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรม และจราจลในย่าน Norrebo รวมถึงเพื่อเชื่อมโยงชุมชนบริเวณนั้นที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน โดยออกแบบเป็น 3 โซน ที่มีฟังก์ชั่น สี หน้าตา แตกต่างกัน พื้นที่ยาวรวมกันเกือบ 1 กม. และคัดสรรพืชพันธ์ุและสิ่งประดิษฐ์จากทั่วโลก กว่า 100 ชนิด มาติดตั้งในพื้นที่ เพื่อเป็นตัวแทนความหลากหลายของผู้คนแต่ละประเทศ มีแม้กระทั่งเวทีมวยจากเมืองไทย และเป็นเสมือน art exhibition ขนาดใหญ่ใจกลางเมืองเบื้องหลังการออกแบบ การสร้าง และการมีส่วนร่วม กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ เป็นเวลากว่า 10 ปี โปรเจคต้องผ่านความท้าทายมากมายหลายรอบ ตั้งแต่ความร่วมมือจากชุมชน ความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างดีไซเนอร์ เมือง และชุมชน ไปจนถึงผลตอบรับของผู้ใช้งาน ซึ่งในระยะแรกก็เป็นที่ถกเถียงกันหลายแง่มุม และยังประสบปัญหาในการดูแลรักษา แม้จะผ่านทั้งคำชมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่ในวันนี้ สวนแห่งนี้ได้กลายเป็นพื้นที่ที่สร้างความสุข และต้อนรับทุกความหลากหลาย ของชุมชนและผู้มาเยือนจากทั่วโลกไปโดยปริยาย  อ้างอิง:https://thecityateyelevel.com/stories/beyond-being-nice/https://www.4cities.eu/which-public-square-and-for-whom/+ Disruption ออกแบบฉีกกฎ หนึ่งตัวอย่างของงานสร้างสรรค์ที่กล้าท้าทายขนบและความเชื่อที่เห็นได้ชัด คือซีรีย์เรื่อง ‘สาธุ’ ทาง Netflix ที่โด่งดังเมื่อปีที่แล้ว ที่หยิบเอาประเด็นพุทธพาณิชย์ มาตั้งคำถามกับวงการศาสนาและความศรัทธา เพื่อชวนให้สังคมได้กล้าเปิดบทสนทนาในประเด็นที่อ่อนไหว ซึ่งนอกจากเนื้อหาซีรีย์จะท้าทายแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่น่าจับตามอง คือ งานออกแบบกราฟฟิคประกอบซีรีย์ที่ใช้ขั้นแต่ละ Episode โดย กอล์ฟ-สราวุฒิ ปานหนู ที่หยิบเอาภาพศิลปะจิตรกรรมฝาผนังโบราณ ที่มักจะเป็นเรื่องราวของนรก สวรรค์ ตำนานคำสอนผิดชอบชั่วดี มาออกแบบใหม่ แทนที่ด้วยเรื่องราวความเป็นจริงของยุคสมัย ที่มองเผินๆ อาจจะดูเหมือนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดทั่วไป แต่หากดูให้ลึกซึ้งจะเห็นการตั้งคำถามระหว่างความเชื่อ กับ ความจริง ถือว่าเป็นการช่วยสร้างการเคลื่อนไหวเชิงบวกให้กับวงการคอนเทนต์ และวงการออกแบบ ให้กล้าลุกขึ้นมานำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่ช่วยผลักดันสังคมได้​สาธุ ที่มา : https://www.blockdit.com/posts/660d4d37fa27901af0a41a47 + Power of Design ออกแบบไม่ไร้ค่า งานออกแบบที่เห็นประโยชน์เชิงบวกได้ชัดในสเกลใหญ่ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับโลก คงหนีไม่พ้นการออกแบบสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำ City Branding Campaign แบบหนึ่งเลยก็ว่าได้ Olympics 2024 ปีล่าสุด เจ้าภาพอย่างปารีสซึ่งเป็นผู้นำด้านการออกแบบของโลก มาหลายทศวรรษ ก็จัดเต็มในทุกมิติ แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ออกแบบโลโก้ หรือ CI (Corporate Identity) แต่ทุกอนู ทุกประสบการณ์ของงานคือพื้นที่ showcase ‘ความเป็นปารีส’ ในยุค 2024 ให้โลกเห็น ที่ไม่ใช่แค่ความสวยงามและนำเสนอเทรนด์ออกแบบใหม่ๆ แต่สามารถบอกเล่าเรื่องราวตัวตนของปารีส ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปะ ค่านิยม รสนิยม ไปจนถึงเชิดชูดีไซเนอร์ของเมือง สื่อสารผ่านการออกแบบที่คิดมาครบ และสอดคล้องไปกับยุคสมัย แม้แต่เหรียญรางวัลยังทำมาจากชิ้นส่วนของหอไอเฟล งานออกแบบไอคอนของเมือง และที่พิเศษที่สุด คือการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการโอลิมปิค โดยการวางแนวคิดการออกแบบให้ตอบรับกับสถานการณ์โลก ตั้งเป้าลดคาร์บอนฟุตปรินท์ตลอดทั้งงาน จึงลดการก่อสร้างสนามกีฬาใหม่ แล้วใช้สถานที่สำคัญ แหล่งท่องเที่ยวของเมืองหลากหลายประเภท แม้กระทั่งพระราชวัง มาออกแบบใหม่ให้เป็นสถานที่แข่งกีฬาแต่ละประเภทแทน นอกจากจะนำเสนอวิธีรับมือกับวิกฤตโลกแล้ว ยังถือเป็นการโปรโมทเมืองไปด้วยในตัวถึงแม้ปารีสจะติดอันดับเมืองน่าเที่ยวอันดันต้นๆ อยู่แล้ว แต่เชื่อว่า การออกแบบครั้งนี้จะทำให้ทั่วโลกมองปารีสในมุมใหม่ และจะสามารถสร้างประโยชน์กลับสู่เมืองได้อีกมหาศาลParis 2024 Olympics ที่มา : https://www.dezeen.com/2024/03/08/paris-2024-poster-ugo-gattoni The Château de Versailles ที่มา : https://olympics.com/en/paris-2024/venues/chateau-de-versailles จากตัวอย่างเหล่านี้ น่าจะพอทำให้เห็นภาพว่ายังมีงานออกแบบอีกมากมาย ที่มาพร้อมพลังพร้อมบวก+ และพร้อมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับทุกคนได้ มาร่วมออกไอเดีย และมาเติมพลังบวกจากงานสร้างสรรค์บวกๆ กันได้ที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 ‘Design Up+Rising ออกแบบพร้อมบวก+’ ในวันที่ 8-23 กุมภาพันธ์ 2568 นี้BKKDW2025 Open Callเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลฯหมดเขต 30 กันยายน 2567 เวลา 23.59 น.สมัครเข้าร่วมจัดเทศกาลฯ ได้ที่https://www.bangkokdesignweek.com/apply#BKKDW2025#BangkokDesignWeek#DesignUpRising#ออกแบบพร้อมบวก

The Districts

พบกับย่านในกรุงเทพฯที่พร้อมบวกไปด้วยกันใน Bangkok Design Week 2025Bangkok Design Week 2025 ขอชวนทุกคนมา “พร้อมบวก” กับพลังสร้างสรรค์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง พร้อมงานศิลปะและดีไซน์สุดเท่จากหลากหลายพื้นที่ที่จะเปลี่ยนย่านต่าง ๆ ให้มีสีสันและแรงบันดาลใจแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนโดยในเทศกาลฯ ครั้งนี้ เราได้แบ่งกรุงเทพฯ ออกเป็น 7 ย่านหลัก ซึ่งมาพร้อมกับรูปแบบกิจกรรมที่แตกต่างออกไป 3 กลุ่ม เพื่อให้ทุกคนได้ลุยไปกับแต่ละย่านอย่างเจาะลึก ทั้งงานศิลปะ กิจกรรมสนุก ๆ และการออกแบบที่สะท้อนเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ในแบบที่ต้องมาสัมผัสด้วยตัวเองและนอกจากพื้นที่ย่านหลักที่เราหยิบยกมาลองให้ส่องกันในวันนี้ ยังมีพื้นที่อื่น ๆ อีกหลายพื้นที่และอีกหลายโปรแกรมที่รอให้สายบวกบุกไปสำรวจกัน ติดตามการประกาศจากหน้าเพจของเราไว้ให้มั่น เพราะถ้าพลาด หลวงปู่มั่นก็ช่วยไม่ได้นะงานนี้!เตรียมรองเท้าให้พร้อม แล้วมาสำรวจกันว่ามุมไหนของเมืองที่พร้อม “บวก” ไปกับคุณบ้าง แล้วพบกันในงาน Bangkok Design Week 2025!#BKKDW2025#BangkokDesignWeek#DesignUpRising#ออกแบบพร้อมบวกLegacy Project คือแนวคิดการพัฒนาย่านเมืองที่ผสมผสานพลังสร้างสรรค์จากหลายภาคส่วน เข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยใช้ช่วงเวลาของ Bangkok Design Week เป็นโอกาสทดสอบความเป็นไปได้ของโปรเจกต์ นำไปสู่โอกาสต่อยอด ขยายผลให้เกิดขึ้นจริงในกรุงเทพฯ โดยมีทีม Bangkok City Lab (ศูนย์การทดลองเมืองกรุงเทพมหานคร) เป็นหนึ่งในตัวกลางผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง+เจริญกรุง – ตลาดน้อย : ย่านเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของการผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น ไทย จีน คริสต์ และมุสลิม สถาปัตยกรรมโบราณ ร้านค้า และอาคารโบราณในย่านนี้ยังคงรักษาเสน่ห์แบบดั้งเดิม ผสมผสานกับศิลปะสตรีทอาร์ตและคาเฟ่ที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ งานออกแบบในเทศกาลฯ ครั้งนี้จะมีความร่วมสมัยที่เข้ามาผสานกับความขลังของประวัติศาสตร์ทำให้เจริญกรุง – ตลาดน้อยเป็นย่านที่สะท้อนถึงพลังของการพัฒนาพื้นที่เมือง ที่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และวัฒนธรรมดั้งเดิมในขณะที่เพิ่มสีสันใหม่ ๆ เข้าไป+พระนคร : ย่านศูนย์กลางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมสำคัญ ยังเป็นแหล่งรวมพิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ และตลาดท้องถิ่นที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด การจัด Bangkok Design Week ในย่านพระนคร ไม่เพียงแต่รักษาประวัติศาสตร์และศิลปะดั้งเดิม แต่ยังส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางที่ท่องเที่ยวและศิลปะที่คงความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองได้อย่างสมดุลCreative Cluster คือ กลุ่มย่านที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบและทรัพยากรสำหรับงานสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้คนทำงานร่วมกันและต่อยอดไอเดียใหม่ ๆ จนเกิดเป็นธุรกิจที่เติบโตและประสบความสำเร็จ ทำให้ย่านนี้กลายเป็น “ย่านสร้างสรรค์” ที่เต็มไปด้วยพลังและไอเดียใหม่ ๆ ตลอดเวลา+ปากคลองตลาด : ตลาดดอกไม้ที่เต็มไปด้วยสีสันและกลิ่นหอมของดอกไม้นานาชนิดทั้งไทยและต่างประเทศ ที่นี่เป็นศูนย์กลางการค้าดอกไม้ที่คนกรุงใช้ในงานบุญ งานพิธี และตกแต่งสถานที่ต่าง ๆ พร้อมด้วยพ่อค้าแม่ค้ารุ่นเก่าที่ส่งต่อความรู้และฝีมือในงานดอกไม้ ทำให้บรรยากาศของย่านนี้เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและกลิ่นอายความเป็นไทยที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน+บางโพ : ย่านที่รู้จักกันดีในด้านงานไม้ ที่นี่เต็มไปด้วยร้านค้าและโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ งานหัตถกรรม และของตกแต่งจากไม้หลายชนิด เป็นศูนย์รวมช่างฝีมือและผู้เชี่ยวชาญงานไม้ที่สืบทอดความรู้และทักษะจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ย่านนี้เป็นพื้นที่สำคัญสำหรับผู้ที่รักในงานไม้และต้องการพัฒนาผลงานที่มีความเป็นเอกลักษณ์+บางลำพู – ข้าวสาร : ย่านที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม ผสมผสานกับบรรยากาศสากลที่คึกคักจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก ย่านนี้เต็มไปด้วยอาหารอร่อยตั้งแต่สตรีทฟู้ดไปจนถึงร้านท้องถิ่น รวมถึงสถานบันเทิงที่ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบไทย ๆ พร้อมกับความสนุกสนานและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้บางลำพู – ข้าวสารเป็นอีกหนึ่งย่านที่พลังสร้างสรรค์ยังคงแผ่กระจายและเชื่อมโยงผู้คนให้ได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่Bangkok Vibe คือกลุ่มย่านที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวของกรุงเทพฯ รวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่วัดวาอารามและตลาดท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายความเก่าแก่ ไปจนถึงความมีชีวิตชีวาของย่านเมืองที่ทันสมัย ผสมผสานวิถีดั้งเดิมเข้ากับไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ที่มีสีสันและเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร +เยาวราช – ทรงวาด : ย่านที่มีความเป็นจีนผสมไทย เต็มไปด้วยร้านค้าและสตรีทฟู้ดที่คึกคัก มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ดึงดูดผู้คนทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทุกค่ำคืนถนนในย่านนี้จะเปลี่ยนเป็นศูนย์กลางของอาหารรสเลิศที่มาพร้อมกับบรรยากาศวัฒนธรรมจีนแท้ ๆ เหมาะสำหรับคนที่ชอบสัมผัสกลิ่นอายความเป็นเมืองแบบดั้งเดิม+หัวลำโพง : จุดเชื่อมต่อการเดินทางสำคัญที่เปรียบเสมือนประตูสู่กรุงเทพฯ ด้วยสถาปัตยกรรมโคโลเนียลคลาสสิกที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ของเมือง หัวลำโพงเป็นพื้นที่ที่ผู้คนหลากหลายจากทั่วประเทศมารวมตัวกัน ทั้งนักเดินทางและชุมชนดั้งเดิมที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตแบบไทย ๆ ทำให้ย่านนี้เต็มไปด้วยบรรยากาศที่บอกเล่าความทรงจำและเรื่องราวของกรุงเทพฯ ที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน—–#BKKDW2025#BangkokDesignWeek#DesignUpRising#ออกแบบพร้อมบวก

ดีไซน์พร้อมบวก แล้วปีนี้เราจะบวกกับอะไรบ้าง

ถ้า ‘ดีไซน์’ จะลุกขึ้นมา ‘พร้อมบวก’ แบบตัวต่อตัว จะบวกกับอะไรได้บ้าง? “พร้อมบวก!”อาจฟังดูเหมือนชวนทะเลาะ แต่ไม่ใช่! นี่คือการ ‘ปลุกไฟ’ ในตัวของทุกคนที่รักการออกแบบ กับธีม ‘Design Up+Rising: ออกแบบพร้อมบวก+’ ของงาน Bangkok Design Week 2025 (BKKDW2025) ที่ปีนี้เราจะพาทุกคนไปสัมผัสกับพลังบวกของงานออกแบบที่ไม่เพียงเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังมาพร้อมกับความมุ่งมั่นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงให้กับสังคมในโลกที่หมุนเร็วและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สิ่งต่าง ๆ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เร็วชนิดที่บางครั้งทำให้เราเองก็ตามไม่ทัน งานออกแบบจึงอาจถูกให้ค่าเพียงแค่เรื่องความสวยงาม แต่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม แต่จริง ๆ แล้ว งานออกแบบกลับมีพลังที่สามารถช่วยให้เราปรับตัวและอยู่รอดได้ท่ามกลางความท้าทายใหม่ ๆ ในโลก ‘ออกแบบพร้อมบวก+’ จึงเป็นการชวนให้เราเปิดรับความหวังและพลังงานใหม่ ๆ ผ่านการออกแบบที่ไม่ใช่แค่สวยงาม แต่ยังเป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนสังคมและเมืองในทางที่ดี แล้วถ้างานออกแบบจะลุกขึ้นมาพร้อมบวก มันจะบวกกับอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะสร้างโลกที่เราอยากจะอยู่ Bangkok Design Week 2025 พร้อมต้อนรับทุกคนไปสัมผัสพลังบวกของการออกแบบ มาลุกขึ้นบวกไปด้วยกัน!#BKKDW2025#BangkokDesignWeek#DesignUpRising#ออกแบบพร้อมบวก+ Optimism: บวกด้วยการคิดบวกเมื่อเราเริ่มเห็นคุณค่าของพลังบวก เราก็จะมองโลกในมุมใหม่ การออกแบบเป็นเสมือนเชื้อเพลิงที่จุดประกายความสุข ความสดใส และความเชื่อที่ว่า ‘ทุกสิ่งเป็นไปได้’ พลังนี้สามารถชักนำให้เราและคนรอบข้างพบกับความหวังและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาและชีวิตที่ดีขึ้น+ Cross-disciplinarity: บวกกับศาสตร์อื่นถ้ามีสิ่งใดที่ ‘พร้อมบวก’ ได้ทุกที่ทุกเวลา สิ่งนั้นก็คืองานออกแบบ ในยุคที่ความเชี่ยวชาญเพียงด้านเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป การออกแบบจึงเป็นเครื่องมือที่เชื่อมโยงกับศาสตร์และสาขาต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ธุรกิจ หรือวิทยาศาสตร์ งานออกแบบสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะทำให้ชีวิตเราและโลกนี้ดีขึ้น+ Positive Force: บวกทุกความท้าทายเมื่อต้องเจอกับความท้าทายที่จะทำให้ใครหลายคนหมดไฟ การออกแบบคือสิ่งที่ช่วยปลุกไฟขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดทางใหม่ ๆ หรือสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาสังคม ยิ่งมีปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัด ยิ่งต้องใช้การออกแบบเข้ามาสู้กับปัญหา และเมื่อพลังบวกจากการออกแบบสามารถสนับสนุนและส่งเสริมให้เราเอาชนะความท้าทาย ชีวิตที่ดีขึ้นก็กำลังรออยู่ เพียงแค่เราพร้อมที่จะบวก+ Power of Design: บวกด้วยคุณค่าการออกแบบไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงาม เพราะงานออกแบบยังมีศักยภาพที่จะสร้างความหมายและความลึกซึ้งให้กับการใช้ชีวิต การออกแบบยังสามารถเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเราและสังคมให้ยั่งยืนที่นักออกแบบทุกคนสามารถทำได้ หากเพียงแค่ลองมองให้กว้างขึ้นว่า การออกแบบคือวิธีที่สร้างสรรค์ซึ่งจะพาเราไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า+ Disruption: บวกแบบฉีกกฎการเดินตามแนวทางเดิม ๆ อาจทำให้รู้สึกปลอดถัย แต่ถ้าลองกล้าฉีกกฎและคิดนอกกรอบ เราอาจพบกับดีไซน์ใหม่ ๆ ที่ท้าทายความคิดเก่า นักออกแบบที่กล้าคิดต่างคือคนที่สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวใหม่ ๆ และสะท้อนถึงความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม#BKKDW2025#BangkokDesignWeek#DesignUpRising#ออกแบบพร้อมบวก

UCCN Article - Design for Life

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าในชีวิตประจำวันเราต้องการ “การออกแบบ” มากแค่ไหน บางคนอาจมองว่าการออกแบบเป็นเรื่องสิ้นเปลืองหรือไม่จำเป็น แต่ถ้าลองสังเกตดู ทุกสิ่งรอบตัวเราล้วนมีการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่เราใส่ บ้านที่เราอยู่ ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ การออกแบบมีบทบาทกับชีวิตประจำวันของเรามากกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะสร้างความสะดวกสบายแล้ว การออกแบบที่ดียังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้จริง เพียงแค่เราอาจยังไม่ค่อยได้สังเกตวันนี้เรามี 3 เรื่องราวที่อยากมาเล่า เป็นกรณีศึกษาจากกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม ที่สะท้อนให้เห็นว่าการออกแบบสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาได้มากขนาดไหน ซึ่งทำให้เห็นว่าการออกแบบนั้นมีพลังมากกว่าที่คิด#BKKDW2025 #BangkokDesignWeek #DesignUpRising #ออกแบบพร้อมบวกดีไซน์บ้านใหม่ให้ชุมชนคลองเตย“สถาปัตยกรรมที่เป็นมากกว่าสิ่งปลูกสร้างคือการได้เยียวยาชุมชน” สถาปนิกกลุ่ม Vin Varavan Architects ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ออกแบบที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ชุมชนคลองเตย โดยการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ ด้วยรูปแบบบ้านกว่า 7 รูปแบบ แปลนบ้านแต่ละประเภทถูกปรับให้เหมาะกับจำนวนสมาชิกและสภาพแวดล้อมที่แออัด วัสดุเน้นความทนทาน พร้อมคิดเผื่อสำหรับการต่อเติมเมื่อมีสมาชิกเพิ่ม และปรับแก้ไขได้ง่าย เพื่อให้บ้านเป็นที่อยู่ที่แท้จริงของพวกเขาดีไซน์เพื่อให้คนตาบอดเล่นกีฬาได้แม้ว่าพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน จะยังไม่ได้ออกแบบมาเอื้อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เหมือนคนปกติได้ทุกแห่ง แต่สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้ใช้การออกแบบเพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงมีให้กับคนพิการ จนนำไปสู่การออกแบบศูนย์ฝึกกีฬาเพื่อให้คนตาบอดมีสิทธิใช้พื้นที่สาธารณะอย่างปลอดภัยและพัฒนาศักยภาพตนเอง จนสามารถกลับมายืนหยัดในชีวิตได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของสังคม ศูนย์นี้จะมีสนามและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น สนามฟุตบอลในร่ม ฟิตเนส ห้องหมากรุกและยูโด ห้องพักเก็บตัวนักกีฬา โรงอาหารและห้องสมุด ที่เอื้อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันในเมืองได้อย่างเท่าเทียมดีไซน์สุขภาวะเพื่อคนไร้บ้านเพราะคุณภาพชีวิตควรเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งคนไร้ที่อยู่ โครงการ ‘สดชื่นสถาน’ ของมูลนิธิกระจกเงา จัดบริการซักผ้า ห้องอาบน้ำ และน้ำดื่มฟรีสำหรับคนไร้บ้าน อีกทั้งยังจ้างงานคนไร้บ้านที่ได้รับการฟื้นฟูแล้วมาช่วยดูแล ที่เบื้องหน้าอาจจะมองดูว่าเป็นเพียงสถานที่อำนวยความสะดวก แต่แท้จริงแล้วนี่คือจุดเริ่มต้นของการออกแบบสวัสดิการพื้นฐานของรัฐ ให้เปลี่ยนคนไร้บ้านไปสู่คนมีบ้าน และกลับสู่สังคมได้ในที่สุดยังมีอีกหลายโครงการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการออกแบบเพื่อคนกลุ่มนี้ รวมถึงเด็กพิเศษ เพื่อให้พวกเขามีสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างเท่าเทียมกับทุกคน และถ้าโครงการเหล่านี้ถูกนำมาขยายผลจริงในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ก็จะช่วยทำให้เมืองของเราน่าอยู่ขึ้น และกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง#BKKDW2025 #BangkokDesignWeek #DesignUpRising #ออกแบบพร้อมบวก

KV Interview with the designer

เบื้องหลัง Key Visual ของ Bangkok Design Week 2025 ที่บวก+ ทุกความเป็นไทยเข้าไว้ด้วยกันกับทีม Pink Blue Black & Orangeเมื่อพูดถึง Bangkok Design Week 2025 ภายใต้ธีม “Design Up Rising+: ออกแบบพร้อมบวก” เชื่อว่าหลายคนคงสะดุดตากับ Key Visual ของงานที่อัดแน่นไปด้วยสีสันและเอกลักษณ์แบบไทย ๆ ตั้งแต่แรกเห็น ไม่ว่าจะเป็นลายเส้นสนุก ๆ รายละเอียด หรือแม้กระทั่ง easter egg เล็ก ๆ ที่ชวนให้ได้อมยิ้ม แต่นอกเหนือจากความสนุกแล้วนั้น เบื้องหลังของงานดีไซน์สุดจัดจ้านนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวและกระบวนการสร้างสรรค์ที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดวันนี้เราขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับทีม Pink Blue Black & Orange สตูดิโอดีไซน์ย่านพระราม 9 ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง Key Visual ของปีนี้ นำทีมโดย สยาม อัตตะริยะ, ธีรภัทร์ ล้อสุวรรณวงศ์, ปพุทธ นิมเชื้อ, สายอิศรา ธนวิสุทธิ์ และพชรภา พิพัฒน์นัดดา ที่เริ่มจากโจทย์ของ CEA ที่ต้องการขยายขอบเขตของงานออกแบบให้เข้าถึงคนทั่วไป การรวมตัวกันห้าคนที่ผสมความหลากหลายไว้ในทีมเดียว ทำให้การออกแบบครั้งนี้ไม่ได้เพียงแค่โดดเด่นเรื่องไอเดียการออกแบบ แต่ยังมีกระบวนการทำงานที่เปิดกว้าง ชอบทดลองสิ่งใหม่ ๆ และเปลี่ยนสิ่งธรรมดารอบตัว เขย่ารวมกันจนกลายเป็นชิ้นงานที่สนุก ซุกซน “เข้าถึงง่าย” และพูดคุยกับทุกคน เบื้องหลังการทำงานแบบ Pink Blue Black & Orange จะเกิดการบวก+ ไอเดียแบบมันเวอร์ชันแดนซ์รีมิกซ์ขนาดไหน ไปแอบส่องเบื้องหลังการทำงานของพวกเขากันในบทสัมภาษณ์นี้ และติดตามเวอร์ชั่น final_ok_finish_approve_v15.jpg ของ Bangkok Design Week 2025 Design Up Rising+: ออกแบบพร้อมบวก เร็ว ๆ นี้ Bangkok Design Week 2025Design Up+ Rising8-23 February 2025#BKKDW2025#BangkokDesignWeek#DesignUpRising#ออกแบบพร้อมบวกQ: ทำไมทีม PBBO ได้รับมอบหมายจาก CEA ให้เป็นผู้ออกแบบ Key Visual ของ Bangkok Design Week นี้ สยาม: รอบนี้ CEA อยากจะขยาย กลุ่มเป้าหมาย ให้กว้างกว่าตัว อุตสาหกรรมออกแบบ หรือวงการนักออกแบบ เพราะเขารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วดีไซน์มันเป็นเครื่องมือสำหรับคนทั่วไป เพราะว่าพอไปคุยกับชาวบ้านแล้วบอกว่า แล้วเราจะทำดีไซน์แบบ มินิมอล หรือ อิตาเลียน หรืออะไรอย่างนี้ มันคงไม่เป็นกันเองกับเขา ซึ่งพอหลังจากทีม CEA เขาตั้งธีมขึ้นมาแล้วเนี่ย ทุกคนบอกค่อนข้างเอกฉันท์ว่า หน้าทีมพวกเราลอยมาทันที (หัวเราะ) ก็ถือว่าเราโชคดีที่บุคลิกลักษณะของงานที่มันอาจทำให้เขานึกถึงเราปพุทธ: เราคิดว่ามันเป็น Pain Point ของ CEA ที่เขาได้รับ Feedback ด้วยครับ เขาก็เลยรู้สึกว่าอยากทำอะไรให้มัน ครอบคลุม คนในพื้นที่หรือว่าคนธรรมดาที่เดินผ่านงานดีไซน์วีคแล้วอยากให้เขาสนใจมากขึ้น รู้สึกว่าดีไซน์มันอยู่รอบตัวQ: การทำงานเพื่อค้นหาและพัฒนาไอเดียในช่วงแรก ๆ เป็นอย่างไรบ้างสายอิศรา: พวกเรามีการ Brainstorm กันตั้งแต่แรกค่ะ ใครมีไอเดียอะไรก็ช่วยกันเข้ามา แล้วก็สรุปออกมาว่าเราจะมีทิศทางประมาณนี้ที่พอไปได้ จากนั้นก็ลุยในแต่ละทางที่เราเจอต่อไปปพุทธ: ตอนเราสำรวจไอเดียกัน มันก็จะไปเจอพวกดีไซน์ของชาวบ้าน หรือการแก้ปัญหาง่าย ๆ จากของรอบตัว เช่น ท่อแป๊บ หรือ เศษขยะที่เหลืออยู่ในบ้าน แล้วเขานำมาปรับปรุงสร้างอะไรใหม่ ๆ เราก็เลยมองไปที่คนธรรมดา ที่แก้ปัญหาด้วยไอเดียของตัวเอง สยาม: เราเลือกที่จะหยิบจับของที่มันคุ้นตาของรอบตัวของที่เรารู้สึกว่ามันอาจจะแบบไม่มีคุณค่า ถ้าเกิดว่าทำงานออกแบบเนี่ยทุกคนอาจจะรู้สึกแบบมันต้องฝรั่ง มันต้องเท่ มันต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็จะเลือกว่าเราจะเอาภาษาแบบที่เราคุ้นกัน ภาษาแบบบ้าน ๆ ภาษาแบบที่มันไม่ได้ต้องมานั่งประดิดประดอยอะไรมากมายพชรภา: การแก้ปัญหาของคนที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ มันเป็นทั้งการที่เขาประยุกต์ใช้จากสิ่งที่เขามี เขาก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่เขาเข้าใจ แล้วเราก็มองความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นเหมือนการแก้ปัญหาค่ะ เราแบบไม่ได้มองว่ามันคือความสวยหรือความไม่สวย เลยทำให้เวลาไป Explore มันเหมือนเราได้เปิดมุมมอง ของตัวเองให้กว้างขึ้นกว่าเดิมค่ะQ: แล้ว “ความเป็นไทย” มันเข้ามาในงานได้อย่างไรปพุทธ: เริ่มมาจากที่เราเห็นทั่วไปบนถนน พวกสติกเกอร์ ป้ายอะไรต่าง ๆ ที่มันดูไม่ใช่ดีไซเนอร์ทำ เป็นแบบคนทั่วไปทำจะมีความสนุกมีอะไรที่มันแบบบ้าน ๆ มีความน่าสนใจ สีของไทย ไทยโทน ความวิจิตรของมันความหลากหลาย ความเอามายํา อะไรพวกนี้ เป็นวิธีการใช้ภาพและอารมณ์ขัน ที่สะท้อนเอกลักษณ์บางอย่างของคนไทยออกมาได้อย่างโดดเด่นครับสยาม: คุณไปดูผนังวัดที่มันประดับกระเบื้องหรือชุดลิเกชุดหนึ่งอะคุณ มันมีตรงไหนที่เป็นที่ว่างบ้าง แม่งถ้าไม่ทองก็เขียวระยิบระยับทุกอณู นิ้วทุกนิ้วมีแหวนเยอะแยะไปหมดถูกไหม จนเรารู้สึกว่าเราจะเล่นเบาไม่ได้ เราต้องเป็นยำรสแซ่บเลยแหละเราชอบความเปิดกว้างของคนไทย เพราะเรารู้สึกว่าคนไทยตั้งแต่สมัยไหนคือพร้อมรับวัฒนธรรมศิลปะวิถีชีวิตต่างๆ ไปหมด ไม่ว่าจะญี่ปุ่น หนังอินเดีย เกาหลี อะไรทุกอย่างเรารับหมดแล้ว เราก็ผสมจนมันกลายเป็นเรา มันคือความสนุกแบบ Free Form ความเป็นไปได้ที่หลากหลาย สายอิศรา: พวกเราตั้งใจให้ Element แต่ละอย่างรู้สึกเข้าถึงสำหรับทุกคน ทั้งชาวบ้าน ชุมชน สมมติว่าอาจจะมีอาชีพของเขาขึ้นไปอยู่ใน Key Visual ทำให้เขารู้สึกว่า เขาก็เป็นส่วนหนึ่งในสิ่งนี้เหมือนกันนะ ชอบที่งานเหมือนมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ดูQ: อยากให้อธิบายแนวคิดว่าทำไมถึงใช้วิธีการเผยแพร่ Key Visual แบบนี้ สยาม: อยากจะสื่อสารกับชาวบ้านครับว่าดีไซน์สำหรับเรามันคือกระบวนการที่ทำงานนี้ คือเราไม่รู้หรอกว่าปลายทางมันคืออะไร เหมือนชาวบ้านเขาหยิบของโน่นนี่มาทำ แต่ว่าเฮ้ยมันใช้ได้ว่ะ แต่ถามว่าแบบเขามีภาพในหัวไหม ถ้าเขามีก็คงไปเขียนแบบไปนั่งจ้างคนทำแล้ว แต่นี่คือเขาทำแล้วก็ด้นสดไปเรื่อย ๆ อะไรอย่างนี้พชรภา: มันมีความยากเหมือนที่พี่สยามบอกว่า เราไม่มีภาพสุดท้ายของงานเหมือนที่เราเคยเห็นกัน สมมติภาพที่เห็นคือมินิมอล ทุกคนก็จะมีแบบมินิมอลมันจะประมาณนี้ หรือว่าแบบสีสัน ๆ ก็จะเป็น Pop Art  แต่ว่ารอบนี้มันคือการทำให้ของจริงมันผสมทุกอย่างรวมกัน แล้วภาพสุดท้ายนั้นมันยังไม่ค่อยถูกทำให้เห็นเยอะค่ะปพุทธ: มันก็คือ Character ของงานออกแบบ คือถ้าเวลามันไม่จํากัด งบประมาณไม่จํากัด งานมันก็ไปเรื่อย ๆ แต่ทีนี้ทุกงานออกแบบมันจะต้องมี Timeline มันจะต้องมีจุดสิ้นสุด ถือว่าจุดนั่นแหละเป็นจุดสิ้นสุดของการทำงานเวอร์ชั่นนั้นสยาม: เราเริ่มจากตุลาคม กว่าจะมีงานน่ะกุมภาพันธ์ ถ้าเราปล่อยตัว Key Visual ที่มันสําเร็จรูปไป แล้วใช้มันซ้ำ ๆ ไปอีก 3-4 เดือน เราว่ามันก็อาจจะไม่ค่อยมีประโยชน์นักกับการกระตุ้นการสื่อสารที่เรามีเวลา พอมันมีเวลาเราก็ค่อย ๆ ให้มันโตไปเหมือนต้นไม้ ถึงวันหนึ่งมันดอกออกพอดีกัน เราก็ได้เก็บเกี่ยวได้กินอะไรแบบนี้Q: ความท้าทายของในการสื่อสารงาน Key Visual ชิ้นนี้ สยาม: ถ้าถอยออกมามองไกล ๆ หน่อย เราอาจจะมองว่า คนทั่วไปอาจจะคิดว่าดีไซน์คือต้องสวยต้องเนี้ยบ ต้องหรู ต้องแพง แต่เราอยากจะเชื้อเชิญให้ทุกคนหันมามองว่า ของทุกอย่างที่เราเห็น ที่มนุษย์ทำ มันล้วนถูกดีไซน์มา เพียงแต่ว่า อันไหนเป็นมืออาชีพดีไซน์ อันไหนเป็นนักออกแบบจบเมืองนอก อันไหนชาวบ้านดีไซน์กันเองอะไรแบบนี้ธีรภัทร์: เราอยู่บริษัทเราก็ต้องทำงานตามลูกค้านะครับ มันต้องเพอร์เฟกต์ ต้องเนี้ยบต้องดี แล้วพอเรามาทำอันนี้เรามีความไม่แน่ใจว่า เราอยากให้มันดี เราอยากให้มันเท่ มันจะก้ำกึ่งว่าอยากให้เขาเป็นแบบไหน ซึ่งพี่สยามที่เป็น Art Director เขาก็จะบอกว่าไม่ได้ คือเพราะมันเกี่ยวกับคอนเซปต์ที่เราตั้งใจให้งานมันต้องเข้าถึงทุกคน เราต้องเอาจุดของเราออกไปให้ได้ก่อน แต่กว่าจะออกให้ได้น่ะมันนานว่าจะทำอย่างไรปพุทธ: ล่าสุดเล่าให้พี่สยามฟังว่า ไปเจอพี่คนหนึ่งที่เป็นแบบกราฟิกดีไซเนอร์ แล้วเขาก็บอกว่าชอบมากเลย Key Visual ของบางกอกดีไซน์วีค ผมก็เล่าว่าเราตั้งใจให้มันไม่เท่ ให้มันดูชาวบ้าน ๆ อะไรแบบนี้ เขาตอบผมกลับมาว่า “มันเท่มาก” ผมก็เลยงงๆ ว่า จริงเหรอ (หัวเราะ) เขาคงไปมองว่าเออมันคงเท่ในมุมอื่นอะไรแบบนี้Q: งาน Key Visual ชิ้นนี้ ได้สะท้อนหรือให้บทเรียนแก่ตัวเองในฐานะนักออกแบบอย่างไรบ้างพชรภา: เป็นเรื่องการมองดีไซน์ที่กว้างขึ้น ถ้าเราลองมาดูจริง ๆ แล้ว การดีไซน์มันอยู่ในชีวิตของคนทุกคนค่ะ แค่เราจะเลือกว่าเราวันนี้เราจะใส่เสื้ออะไร มันก็เป็นการดีไซน์อย่างหนึ่งแล้ว เราเลยรู้สึกว่าถ้าเราสังเกตมันมากพอ สังเกตของรอบตัว เราจะเห็นว่าการดีไซน์มันช่วยทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร และเราสามารถหยิบยืมบางอย่างมาปรับใช้กับชีวิตเราได้ไหมสยาม: เรามองว่าเหมือนพูดกับคนทั่วไปนะ ว่าอยากให้เขาเปิดโอกาสให้ดีไซน์หรืองานออกแบบ ให้เหมือนกับการที่เขาเชื่อเรื่องมู คือมันอาจจะพิสูจน์ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกว่าการมีดีไซน์หรือการมูเนี่ย มันจะช่วยให้ธุรกิจเขาสำเร็จไหม แต่ผมคิดว่าถ้ามันมี มันสร้างความมั่นใจ ดังนั้นถ้ามันมีดีไซน์ที่ดีเนี่ย มันก็จะการันตีผลลัพธ์อะไรบางอย่างได้ อย่างน้อยก็เรื่องภายในจิตใจ ความมั่นใจ ความมั่นคงเรากําลังนิยามดีไซน์ให้เขารู้สึกว่า การที่คุณเอาดีไซน์ไปทำอะไรบางอย่าง จัดการกับมันเพื่อเป้าหมายบางอย่าง ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากขวดพลาสติกหรือกระป๋องกลายเป็นกระถางต้นไม้ นี่คือดีไซน์ในนิยามของเรา เราอยากทำให้คนรู้สึกว่าเฮ้ยเขาก็ไปเป็นดีไซเนอร์ได้นะ เขาสามารถคิดเอาไอ้นู่นมาบวกไอ้นี่ เอาไอเดียใส่เข้าไป บวก ๆ กันแล้วมันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิต อาชีพ ธุรกิจของเขาได้Bangkok Design Week 2025Design Up+ Rising8-23 February 2025#BKKDW2025#BangkokDesignWeek#DesignUpRising#ออกแบบพร้อมบวก

ประกาศรายชื่อ Design Research Day

ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก นำเสนอผลงานโปรเจ็กต์และงานวิจัย Design Research Day ภายใต้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 25681. คุณณฐวลัญช์ เนียมถนอมหัวข้อ To what extent are service design tools adopted in the public sector when applied to virtual policy platforms?2.Eric Lung-Chi Linหัวข้อ Exploring the tactile elements for sustainable perfume packaging practice in art and design3.คุณญาณาริณ พากเพียรหัวข้อ นวัตกรรมการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเสมือนผสานความเป็นจริงเสริม ที่ใช้เกมเป็นฐานเพื่อส่งเสริมการเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยสำหรับวัยรุ่นตอนต้น4.คุณรักสิริ แก้วเทวีหัวข้อ Shophouse Façades on Ratchadamnoen Road in Southern Thailand: A Taxonomic Study to Produce a Dataset for AI modelling5.คุณเวธนี รุจิขจรหัวข้อ Flow: เก้าอี้บรรเทาปวดท้องประจำเดือนในที่ทำงาน6.คุณชลธิชา อรุณรุ่งก้าวไกลหัวข้อ Claycelium 3D Printing for Adaptive and Sustainable Architecture7.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชภูมิ ปัญส่งเสริมหัวข้อ การพัฒนาแบบตัวพิมพ์ไทยเพื่อทุกคน (Development of Thai Universal Design Font)8.คุณพงศ์ภัค สงวนดีกุลหัวข้อ ประสบการณ์มูเตลูในโลกเสมือนจริง9.คุณญาณพันธ์ กันเดชหัวข้อ การออกแบบเครื่องประดับที่สะท้อนถึงศาสตร์จารึกตำรายาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร10.คุณจุติกรานต์ อังคพนมไพรหัวข้อ A VR game-cards based on discovery learning to enhance environment literacyสำหรับผู้ผ่านการคัดเลือกทั้ง 10 ท่าน เจ้าหน้าที่จะติดต่อท่านเพื่อแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป#BKKDW2025#BangkokDesignWeek#DesignUpRising#ออกแบบพร้อมบวก