BANGKOK DESIGN WEEK 2025, 8 –23 FEB

เผยแพร่เมื่อ 2 วันที่แล้ว

เบื้องหลัง Key Visual ของ Bangkok Design Week 2025 

ที่บวก+ ทุกความเป็นไทยเข้าไว้ด้วยกัน

กับทีม Pink Blue Black & Orange


เมื่อพูดถึง Bangkok Design Week 2025 ภายใต้ธีม “Design Up Rising+: ออกแบบพร้อมบวก” เชื่อว่าหลายคนคงสะดุดตากับ Key Visual ของงานที่อัดแน่นไปด้วยสีสันและเอกลักษณ์แบบไทย ๆ ตั้งแต่แรกเห็น ไม่ว่าจะเป็นลายเส้นสนุก ๆ รายละเอียด หรือแม้กระทั่ง easter egg เล็ก ๆ ที่ชวนให้ได้อมยิ้ม แต่นอกเหนือจากความสนุกแล้วนั้น เบื้องหลังของงานดีไซน์สุดจัดจ้านนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวและกระบวนการสร้างสรรค์ที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด


วันนี้เราขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับทีม Pink Blue Black & Orange สตูดิโอดีไซน์ย่านพระราม 9 ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง Key Visual ของปีนี้ นำทีมโดย สยาม อัตตะริยะ, ธีรภัทร์ ล้อสุวรรณวงศ์, ปพุทธ นิมเชื้อ, สายอิศรา ธนวิสุทธิ์ และพชรภา พิพัฒน์นัดดา ที่เริ่มจากโจทย์ของ CEA ที่ต้องการขยายขอบเขตของงานออกแบบให้เข้าถึงคนทั่วไป 


การรวมตัวกันห้าคนที่ผสมความหลากหลายไว้ในทีมเดียว ทำให้การออกแบบครั้งนี้ไม่ได้เพียงแค่โดดเด่นเรื่องไอเดียการออกแบบ แต่ยังมีกระบวนการทำงานที่เปิดกว้าง ชอบทดลองสิ่งใหม่ ๆ และเปลี่ยนสิ่งธรรมดารอบตัว เขย่ารวมกันจนกลายเป็นชิ้นงานที่สนุก ซุกซน “เข้าถึงง่าย” และพูดคุยกับทุกคน 


เบื้องหลังการทำงานแบบ Pink Blue Black & Orange จะเกิดการบวก+ ไอเดียแบบมันเวอร์ชันแดนซ์รีมิกซ์ขนาดไหน ไปแอบส่องเบื้องหลังการทำงานของพวกเขากันในบทสัมภาษณ์นี้ 


และติดตามเวอร์ชั่น final_ok_finish_approve_v15.jpg ของ Bangkok Design Week 2025 Design Up Rising+: ออกแบบพร้อมบวก เร็ว ๆ นี้


Bangkok Design Week 2025

Design Up+ Rising

8-23 February 2025

#BKKDW2025

#BangkokDesignWeek

#DesignUpRising

#ออกแบบพร้อมบวก



Q: ทำไมทีม PBBO ได้รับมอบหมายจาก CEA ให้เป็นผู้ออกแบบ Key Visual ของ Bangkok Design Week นี้ 


สยาม: รอบนี้ CEA อยากจะขยาย กลุ่มเป้าหมาย ให้กว้างกว่าตัว อุตสาหกรรมออกแบบ หรือวงการนักออกแบบ เพราะเขารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วดีไซน์มันเป็นเครื่องมือสำหรับคนทั่วไป เพราะว่าพอไปคุยกับชาวบ้านแล้วบอกว่า แล้วเราจะทำดีไซน์แบบ มินิมอล หรือ อิตาเลียน หรืออะไรอย่างนี้ มันคงไม่เป็นกันเองกับเขา ซึ่งพอหลังจากทีม CEA เขาตั้งธีมขึ้นมาแล้วเนี่ย ทุกคนบอกค่อนข้างเอกฉันท์ว่า หน้าทีมพวกเราลอยมาทันที (หัวเราะ) ก็ถือว่าเราโชคดีที่บุคลิกลักษณะของงานที่มันอาจทำให้เขานึกถึงเรา


ปพุทธ: เราคิดว่ามันเป็น Pain Point ของ CEA ที่เขาได้รับ Feedback ด้วยครับ เขาก็เลยรู้สึกว่าอยากทำอะไรให้มัน ครอบคลุม คนในพื้นที่หรือว่าคนธรรมดาที่เดินผ่านงานดีไซน์วีคแล้วอยากให้เขาสนใจมากขึ้น รู้สึกว่าดีไซน์มันอยู่รอบตัว




Q: การทำงานเพื่อค้นหาและพัฒนาไอเดียในช่วงแรก ๆ เป็นอย่างไรบ้าง


สายอิศรา: พวกเรามีการ Brainstorm กันตั้งแต่แรกค่ะ ใครมีไอเดียอะไรก็ช่วยกันเข้ามา แล้วก็สรุปออกมาว่าเราจะมีทิศทางประมาณนี้ที่พอไปได้ จากนั้นก็ลุยในแต่ละทางที่เราเจอต่อไป


ปพุทธ: ตอนเราสำรวจไอเดียกัน มันก็จะไปเจอพวกดีไซน์ของชาวบ้าน หรือการแก้ปัญหาง่าย ๆ จากของรอบตัว เช่น ท่อแป๊บ หรือ เศษขยะที่เหลืออยู่ในบ้าน แล้วเขานำมาปรับปรุงสร้างอะไรใหม่ ๆ เราก็เลยมองไปที่คนธรรมดา ที่แก้ปัญหาด้วยไอเดียของตัวเอง 


สยาม: เราเลือกที่จะหยิบจับของที่มันคุ้นตาของรอบตัวของที่เรารู้สึกว่ามันอาจจะแบบไม่มีคุณค่า ถ้าเกิดว่าทำงานออกแบบเนี่ยทุกคนอาจจะรู้สึกแบบมันต้องฝรั่ง มันต้องเท่ มันต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็จะเลือกว่าเราจะเอาภาษาแบบที่เราคุ้นกัน ภาษาแบบบ้าน ๆ ภาษาแบบที่มันไม่ได้ต้องมานั่งประดิดประดอยอะไรมากมาย


พชรภา: การแก้ปัญหาของคนที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ มันเป็นทั้งการที่เขาประยุกต์ใช้จากสิ่งที่เขามี เขาก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่เขาเข้าใจ แล้วเราก็มองความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นเหมือนการแก้ปัญหาค่ะ เราแบบไม่ได้มองว่ามันคือความสวยหรือความไม่สวย เลยทำให้เวลาไป Explore มันเหมือนเราได้เปิดมุมมอง ของตัวเองให้กว้างขึ้นกว่าเดิมค่ะ




Q: แล้ว “ความเป็นไทย” มันเข้ามาในงานได้อย่างไร


ปพุทธ: เริ่มมาจากที่เราเห็นทั่วไปบนถนน พวกสติกเกอร์ ป้ายอะไรต่าง ๆ ที่มันดูไม่ใช่ดีไซเนอร์ทำ เป็นแบบคนทั่วไปทำจะมีความสนุกมีอะไรที่มันแบบบ้าน ๆ มีความน่าสนใจ สีของไทย ไทยโทน ความวิจิตรของมันความหลากหลาย ความเอามายํา อะไรพวกนี้ เป็นวิธีการใช้ภาพและอารมณ์ขัน ที่สะท้อนเอกลักษณ์บางอย่างของคนไทยออกมาได้อย่างโดดเด่นครับ


สยาม: คุณไปดูผนังวัดที่มันประดับกระเบื้องหรือชุดลิเกชุดหนึ่งอะคุณ มันมีตรงไหนที่เป็นที่ว่างบ้าง แม่งถ้าไม่ทองก็เขียวระยิบระยับทุกอณู นิ้วทุกนิ้วมีแหวนเยอะแยะไปหมดถูกไหม จนเรารู้สึกว่าเราจะเล่นเบาไม่ได้ เราต้องเป็นยำรสแซ่บเลยแหละ

เราชอบความเปิดกว้างของคนไทย เพราะเรารู้สึกว่าคนไทยตั้งแต่สมัยไหนคือพร้อมรับวัฒนธรรมศิลปะวิถีชีวิตต่างๆ ไปหมด ไม่ว่าจะญี่ปุ่น หนังอินเดีย เกาหลี อะไรทุกอย่างเรารับหมดแล้ว เราก็ผสมจนมันกลายเป็นเรา มันคือความสนุกแบบ Free Form ความเป็นไปได้ที่หลากหลาย 


สายอิศรา: พวกเราตั้งใจให้ Element แต่ละอย่างรู้สึกเข้าถึงสำหรับทุกคน ทั้งชาวบ้าน ชุมชน สมมติว่าอาจจะมีอาชีพของเขาขึ้นไปอยู่ใน Key Visual ทำให้เขารู้สึกว่า เขาก็เป็นส่วนหนึ่งในสิ่งนี้เหมือนกันนะ ชอบที่งานเหมือนมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ดู




Q: อยากให้อธิบายแนวคิดว่าทำไมถึงใช้วิธีการเผยแพร่ Key Visual แบบนี้ 


สยาม: อยากจะสื่อสารกับชาวบ้านครับว่าดีไซน์สำหรับเรามันคือกระบวนการที่ทำงานนี้ คือเราไม่รู้หรอกว่าปลายทางมันคืออะไร เหมือนชาวบ้านเขาหยิบของโน่นนี่มาทำ แต่ว่าเฮ้ยมันใช้ได้ว่ะ แต่ถามว่าแบบเขามีภาพในหัวไหม ถ้าเขามีก็คงไปเขียนแบบไปนั่งจ้างคนทำแล้ว แต่นี่คือเขาทำแล้วก็ด้นสดไปเรื่อย ๆ อะไรอย่างนี้


พชรภา: มันมีความยากเหมือนที่พี่สยามบอกว่า เราไม่มีภาพสุดท้ายของงานเหมือนที่เราเคยเห็นกัน สมมติภาพที่เห็นคือมินิมอล ทุกคนก็จะมีแบบมินิมอลมันจะประมาณนี้ หรือว่าแบบสีสัน ๆ ก็จะเป็น Pop Art  แต่ว่ารอบนี้มันคือการทำให้ของจริงมันผสมทุกอย่างรวมกัน แล้วภาพสุดท้ายนั้นมันยังไม่ค่อยถูกทำให้เห็นเยอะค่ะ


ปพุทธ: มันก็คือ Character ของงานออกแบบ คือถ้าเวลามันไม่จํากัด งบประมาณไม่จํากัด งานมันก็ไปเรื่อย ๆ แต่ทีนี้ทุกงานออกแบบมันจะต้องมี Timeline มันจะต้องมีจุดสิ้นสุด ถือว่าจุดนั่นแหละเป็นจุดสิ้นสุดของการทำงานเวอร์ชั่นนั้น


สยาม: เราเริ่มจากตุลาคม กว่าจะมีงานน่ะกุมภาพันธ์ ถ้าเราปล่อยตัว Key Visual ที่มันสําเร็จรูปไป แล้วใช้มันซ้ำ ๆ ไปอีก 3-4 เดือน เราว่ามันก็อาจจะไม่ค่อยมีประโยชน์นักกับการกระตุ้นการสื่อสารที่เรามีเวลา พอมันมีเวลาเราก็ค่อย ๆ ให้มันโตไปเหมือนต้นไม้ ถึงวันหนึ่งมันดอกออกพอดีกัน เราก็ได้เก็บเกี่ยวได้กินอะไรแบบนี้




Q: ความท้าทายของในการสื่อสารงาน Key Visual ชิ้นนี้ 


สยาม: ถ้าถอยออกมามองไกล ๆ หน่อย เราอาจจะมองว่า คนทั่วไปอาจจะคิดว่าดีไซน์คือต้องสวยต้องเนี้ยบ ต้องหรู ต้องแพง แต่เราอยากจะเชื้อเชิญให้ทุกคนหันมามองว่า ของทุกอย่างที่เราเห็น ที่มนุษย์ทำ มันล้วนถูกดีไซน์มา เพียงแต่ว่า อันไหนเป็นมืออาชีพดีไซน์ อันไหนเป็นนักออกแบบจบเมืองนอก อันไหนชาวบ้านดีไซน์กันเองอะไรแบบนี้


ธีรภัทร์: เราอยู่บริษัทเราก็ต้องทำงานตามลูกค้านะครับ มันต้องเพอร์เฟกต์ ต้องเนี้ยบต้องดี แล้วพอเรามาทำอันนี้เรามีความไม่แน่ใจว่า เราอยากให้มันดี เราอยากให้มันเท่ มันจะก้ำกึ่งว่าอยากให้เขาเป็นแบบไหน ซึ่งพี่สยามที่เป็น Art Director เขาก็จะบอกว่าไม่ได้ คือเพราะมันเกี่ยวกับคอนเซปต์ที่เราตั้งใจให้งานมันต้องเข้าถึงทุกคน เราต้องเอาจุดของเราออกไปให้ได้ก่อน แต่กว่าจะออกให้ได้น่ะมันนานว่าจะทำอย่างไร


ปพุทธ: ล่าสุดเล่าให้พี่สยามฟังว่า ไปเจอพี่คนหนึ่งที่เป็นแบบกราฟิกดีไซเนอร์ แล้วเขาก็บอกว่าชอบมากเลย Key Visual ของบางกอกดีไซน์วีค ผมก็เล่าว่าเราตั้งใจให้มันไม่เท่ ให้มันดูชาวบ้าน ๆ อะไรแบบนี้ เขาตอบผมกลับมาว่า “มันเท่มาก” ผมก็เลยงงๆ ว่า จริงเหรอ (หัวเราะ) เขาคงไปมองว่าเออมันคงเท่ในมุมอื่นอะไรแบบนี้




Q: งาน Key Visual ชิ้นนี้ ได้สะท้อนหรือให้บทเรียนแก่ตัวเองในฐานะนักออกแบบอย่างไรบ้าง


พชรภา: เป็นเรื่องการมองดีไซน์ที่กว้างขึ้น ถ้าเราลองมาดูจริง ๆ แล้ว การดีไซน์มันอยู่ในชีวิตของคนทุกคนค่ะ แค่เราจะเลือกว่าเราวันนี้เราจะใส่เสื้ออะไร มันก็เป็นการดีไซน์อย่างหนึ่งแล้ว เราเลยรู้สึกว่าถ้าเราสังเกตมันมากพอ สังเกตของรอบตัว เราจะเห็นว่าการดีไซน์มันช่วยทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร และเราสามารถหยิบยืมบางอย่างมาปรับใช้กับชีวิตเราได้ไหม


สยาม: เรามองว่าเหมือนพูดกับคนทั่วไปนะ ว่าอยากให้เขาเปิดโอกาสให้ดีไซน์หรืองานออกแบบ ให้เหมือนกับการที่เขาเชื่อเรื่องมู คือมันอาจจะพิสูจน์ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกว่าการมีดีไซน์หรือการมูเนี่ย มันจะช่วยให้ธุรกิจเขาสำเร็จไหม แต่ผมคิดว่าถ้ามันมี มันสร้างความมั่นใจ ดังนั้นถ้ามันมีดีไซน์ที่ดีเนี่ย มันก็จะการันตีผลลัพธ์อะไรบางอย่างได้ อย่างน้อยก็เรื่องภายในจิตใจ ความมั่นใจ ความมั่นคง


เรากําลังนิยามดีไซน์ให้เขารู้สึกว่า การที่คุณเอาดีไซน์ไปทำอะไรบางอย่าง จัดการกับมันเพื่อเป้าหมายบางอย่าง ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากขวดพลาสติกหรือกระป๋องกลายเป็นกระถางต้นไม้ นี่คือดีไซน์ในนิยามของเรา เราอยากทำให้คนรู้สึกว่าเฮ้ยเขาก็ไปเป็นดีไซเนอร์ได้นะ เขาสามารถคิดเอาไอ้นู่นมาบวกไอ้นี่ เอาไอเดียใส่เข้าไป บวก ๆ กันแล้วมันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิต อาชีพ ธุรกิจของเขาได้


Bangkok Design Week 2025

Design Up+ Rising

8-23 February 2025


#BKKDW2025

#BangkokDesignWeek

#DesignUpRising

#ออกแบบพร้อมบวก


แชร์