BANGKOK DESIGN WEEK 2025, 8 –23 FEB

เผยแพร่เมื่อ 4 วันที่แล้ว

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าในชีวิตประจำวันเราต้องการ “การออกแบบ” มากแค่ไหน บางคนอาจมองว่าการออกแบบเป็นเรื่องสิ้นเปลืองหรือไม่จำเป็น แต่ถ้าลองสังเกตดู ทุกสิ่งรอบตัวเราล้วนมีการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่เราใส่ บ้านที่เราอยู่ ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ การออกแบบมีบทบาทกับชีวิตประจำวันของเรามากกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะสร้างความสะดวกสบายแล้ว การออกแบบที่ดียังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้จริง เพียงแค่เราอาจยังไม่ค่อยได้สังเกต

วันนี้เรามี 3 เรื่องราวที่อยากมาเล่า เป็นกรณีศึกษาจากกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม ที่สะท้อนให้เห็นว่าการออกแบบสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาได้มากขนาดไหน ซึ่งทำให้เห็นว่าการออกแบบนั้นมีพลังมากกว่าที่คิด

#BKKDW2025 

#BangkokDesignWeek 

#DesignUpRising 

#ออกแบบพร้อมบวก


ดีไซน์บ้านใหม่ให้ชุมชนคลองเตย


“สถาปัตยกรรมที่เป็นมากกว่าสิ่งปลูกสร้างคือการได้เยียวยาชุมชน” สถาปนิกกลุ่ม Vin Varavan Architects ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ออกแบบที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ชุมชนคลองเตย โดยการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ 

ด้วยรูปแบบบ้านกว่า 7 รูปแบบ แปลนบ้านแต่ละประเภทถูกปรับให้เหมาะกับจำนวนสมาชิกและสภาพแวดล้อมที่แออัด วัสดุเน้นความทนทาน พร้อมคิดเผื่อสำหรับการต่อเติมเมื่อมีสมาชิกเพิ่ม และปรับแก้ไขได้ง่าย เพื่อให้บ้านเป็นที่อยู่ที่แท้จริงของพวกเขา


ดีไซน์เพื่อให้คนตาบอดเล่นกีฬาได้


แม้ว่าพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน จะยังไม่ได้ออกแบบมาเอื้อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เหมือนคนปกติได้ทุกแห่ง แต่สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้ใช้การออกแบบเพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงมีให้กับคนพิการ จนนำไปสู่การออกแบบศูนย์ฝึกกีฬาเพื่อให้คนตาบอดมีสิทธิใช้พื้นที่สาธารณะอย่างปลอดภัยและพัฒนาศักยภาพตนเอง จนสามารถกลับมายืนหยัดในชีวิตได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของสังคม 

ศูนย์นี้จะมีสนามและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น สนามฟุตบอลในร่ม ฟิตเนส ห้องหมากรุกและยูโด ห้องพักเก็บตัวนักกีฬา โรงอาหารและห้องสมุด ที่เอื้อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันในเมืองได้อย่างเท่าเทียม


ดีไซน์สุขภาวะเพื่อคนไร้บ้าน


เพราะคุณภาพชีวิตควรเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งคนไร้ที่อยู่ โครงการ ‘สดชื่นสถาน’ ของมูลนิธิกระจกเงา จัดบริการซักผ้า ห้องอาบน้ำ และน้ำดื่มฟรีสำหรับคนไร้บ้าน อีกทั้งยังจ้างงานคนไร้บ้านที่ได้รับการฟื้นฟูแล้วมาช่วยดูแล ที่เบื้องหน้าอาจจะมองดูว่าเป็นเพียงสถานที่อำนวยความสะดวก แต่แท้จริงแล้วนี่คือจุดเริ่มต้นของการออกแบบสวัสดิการพื้นฐานของรัฐ ให้เปลี่ยนคนไร้บ้านไปสู่คนมีบ้าน และกลับสู่สังคมได้ในที่สุด

ยังมีอีกหลายโครงการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการออกแบบเพื่อคนกลุ่มนี้ รวมถึงเด็กพิเศษ เพื่อให้พวกเขามีสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างเท่าเทียมกับทุกคน และถ้าโครงการเหล่านี้ถูกนำมาขยายผลจริงในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ก็จะช่วยทำให้เมืองของเราน่าอยู่ขึ้น และกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

#BKKDW2025 

#BangkokDesignWeek 

#DesignUpRising 

#ออกแบบพร้อมบวก

แชร์