BANGKOK DESIGN WEEK 2025, 8 –23 FEB

ส่องเทรนด์โลกเพื่อรับมือกับความโกลาหล

เผยแพร่เมื่อ 19 วันที่แล้ว

ส่องเทรนด์โลกเพื่อรับมือกับความโกลาหล


โลกเพิ่งจะฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ไม่นาน ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ถาโถมเข้ามา ทั้งการเมืองที่ผันผวน สงคราม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ วิกฤตสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตรอบด้าน ส่งผลให้ผู้คนต้องค้นหาวิธีที่จะรักษาสมดุล ระหว่างความวิตกกังวล กับการมองโลกในแง่ดี เพื่อหาหนทางก้าวผ่านความท้าทายไปได้ มาดูกันว่ามีเทรนด์อะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพื่อตอบรับกับความโกลาหลของโลกยุคนี้


สรรหานิยามใหม่ เพื่อเข้าใจโลกที่ยากจะเข้าใจ

จาก VUCA สู่ BANI 

หลายสิบปีที่ผ่านมา ทั่วโลกคุ้นเคยกับคำว่า VUCA หรือ คำนิยามสถานการณ์โลกที่ผันผวน (Volatility) ไม่แน่นอน (Uncertainty) ซับซ้อน (Complexity) และ คลุมเครือ (Ambiguity) ซึ่งถูกคิดค้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เริ่มใช้กันในกองทัพสหรัฐ เพื่อนิยามสถานการณ์ในยุคสงครามเย็น หลังจากนั้นก็เริ่มแพร่หลายไปในวงการอื่นๆ โดยเฉพาะช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งหลายองค์กรทั่วโลกนำมาใช้เป็น framework เพื่อเตรียมพร้อมปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง


จนยุคหลังโควิด-19 ที่โลกเริ่มปั่นป่วนในทุกมิติ จึงเกิดนิยามใหม่ว่า BANI หรือ เปราะบาง (Brittle) น่าวิตกกังวล (Anxious) คาดเดายาก (Nonlinear) และเข้าใจได้ยาก (Incomprehensible) ซึ่งถูกบัญญัติขึ้นใหม่โดยนักมานุษยวิทยา และนักอนาคตศาสตร์ชาวอเมริกัน เพื่อเสริม VUCA โดยไม่ได้พูดถึงสถานการณ์โลกเพียงอย่างเดียว แต่พูดถึงความรู้สึกที่เรามีต่อสถานการณ์โลก เพื่อเตือนใจให้เราไม่ประมาทในการประเมินวิกฤต และเตรียมพร้อม หาวิธีรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต



PolyCrisis วิกฤตรอบด้าน

อีกหนึ่งคำที่มาแรงในช่วง 1-2 ปีนี้ คือ Polycrisis หรือ วิกฤตหลากมิติ วิกฤตซ้อนวิกฤต ซึ่งถูกพูดถึงใน Global Risks Reports โดย World Economic Forum ในรอบ 1-2 ปีนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตใหญ่หลายมิติพร้อมๆ กัน อย่างประเทศไทยเอง ตามรายงานก็ระบุว่า มีความเสี่ยงเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัญหามลพิษทางอากาศ น้ำ ดิน การขาดแคลนแรงงาน หนี้ครัวเรือน และความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงภาวะสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว



Gen AI คือที่พึ่ง

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน Generative AI จึงกลายเป็นเป็นที่พึ่งเพื่อช่วยรับมือกับความท้าทาย ที่เกินขีดความสามารถและการควบคุมของมนุษย์ ในช่วง 2-3 ปีนี้ เราจึงเห็น AI เข้ามามีบทบาทในหลายมิติ ตั้งแต่การทำงานอัตโนมัติ สร้างคอนเทนต์ทุกรูปแบบภาพ เสียง วิดิโอ สกัดข้อมูลเชิงลึก ไปจนถึงเป็นตัวแทนของมนุษย์ และเพิ่มความสามารถของมนุษย์ ในระดับที่สามารถช่วยย้อนอดีต ตัดสินใจปัจจุบัน และทำนายอนาคตได้เลย จึงเกิดข้อถกเถียงต่างๆ นานาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จาก AI 


การวิจัยโดย Ipsos ระบุว่าผู้คนทั่วโลกยังคงทั้งตื่นเต้นและกังวลต่อ AI โดยมีความเห็นที่กระจัดกระจายในประเด็นต่างๆ เช่น AI จะช่วยงานหรือแย่งงานมนุษย์ AI บิดเบือนความจริง ความน่าเชื่อถือของ AI ไปจนถึง AI จะมาส่งเสริม หรือ ด้อยค่าความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน 


อย่างไรก็ตาม AI จะมาเป็นเพื่อนหรือคู่แข่ง จะช่วยแก้ปัญหา ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ได้อย่างไร ก็ล้วนขึ้นอยู่การนำมาใช้ของมนุษย์นั่นเอง



สะสมสกิล คือ ทางรอด

เมื่อ AI ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน มนุษย์จึงต้องเพิ่มทักษะของตัวเองไปพร้อมๆ กัน ในยุคนี้ เราจึงได้ยินคำว่า Upskill/ Reskill/ Newskill/ Futureskill กันอย่างแพร่หลาย ไปจนถึง Green Skills หรือทักษะ ความรู้ ความใส่ใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และที่สำคัญคือ Cross-skill หรือ บูรณาการข้ามศาสตร์ เพราะความเชี่ยวชาญเฉพาะเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยให้เอาตัวรอดได้ในยุคนี้ 


และไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่เท่านั้นที่ต้องสะสมสกิลเพิ่ม วัยเด็กก็เริ่มต้องสั่งสมการเรียนรู้ทักษะหลากหลาย และเข้าใจความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน อย่างหลักสูตร STEM education หรือ การบูรณาการความรู้ 4 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ซึ่งกำลังแพร่หลายในหลายโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อปลูกฝังทักษะที่จำเป็นในการนำทางชีวิตในโลกที่จะซับซ้อนขึ้นอีกในอนาคต



มองบวกแบบพอดี หนทางฮีลใจแบบไม่ไร้เหตุผล

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกระแส Toxic Positivity หรือ การห้ามตัวเองไม่ให้คิดลบ จนกลายเป็นโลกสวยเกินไป จนทำให้เสียศูนย์ เพราะมองข้ามปัญหาที่แท้จริงไป แต่ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ งานวิจัยพบว่าสิ่งที่ทำให้คนกลับมาเข้มแข็ง และจัดการกับความเครียดท่ามกลางปัญหาหนักๆ ได้ดี คือ ความคิดแบบ Tragic Optimism หรือ คิดบวกแบบยอมรับความจริง ยอมรับปัญหา ยอมรับอารมณ์ด้านลบนั้น แล้วพร้อมลุกขึ้นมาสู้กับมัน


นอกจากนี้ยังมี #HopeCore เทรนด์ใหม่บน TikTok ในช่วง 1-2 ปีนี้ เน้นวิดิโอเชิงบวก ที่อาจจะตัดต่อซีนต่างๆ จากหนัง แล้วนำมาใส่ข้อความฮีลใจ สร้างแรงบันดาลใจและความหวัง เพื่อดึงผู้คนออกจากเรื่องราวลบๆ รอบตัว ในหลายประเทศพบว่าคอนเทนต์ #Hopecore เหล่านี้ สามารถช่วยดึงผู้คนออกจากความซึมเศร้าได้จริง


ทำให้ผลการสำรวจในหลายประเทศโดย Ipsos Global Advisor Predictions 2024 พบว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ ผู้คนมีแนวโน้มจะมองโลกในแง่ดีมากขึ้น ยังมีความหวังว่าแม้จะมีความกังวลต่อสถานการณ์รอบตัวที่ไม่แน่นอน แต่ก็ยังมีความหวัง โดยเฉพาะกับชีวิตของตัวเอง และมองหาสินค้าและบริการที่ช่วยฮีลใจ ชักจูงให้คิดบวก รวมไปถึงคาดหวังให้บริษัท แบรนด์ต่างๆ มีส่วนผลักดันที่ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น ช่วยส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะ และทำให้เห็นอนาคตที่มีความหวัง 



Joyconomy เศรษฐกิจความสุข

จากเทรนด์การมองโลกในแง่ดีแบบพอดี เชื่อมโยงสู่การหาจุดลงตัวที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข การศึกษาเทรนด์ของ The Future 100 by VML Intelligence 2023 พบว่าผู้คนมองหาความเบิกบาน ความสุข และเสียงหัวเราะ มากเป็นพิเศษในช่วงนี้ เห็นได้ชัดจากคอนเทนต์ออนไลน์ที่เน้นเนื้อหา Feel good คลิปตลก สินค้า แพคเกจจิ้ง ลวดลายสีสันสดใส ไปจนถึง Art Toy ที่กำลังเป็นที่นิยม จากคาแรกเตอร์น่ารักๆ และความสนุกที่ได้ลุ้นว่าในกล่องสุ่มจะเป็นตัวอะไร ก็สามารถบ่งบอกถึงการมองหาสิ่งเล็กๆ ที่ช่วยชุบชูใจ ที่จับต้องได้ง่ายขึ้น และช่วยเบนความสนใจออกจากความเครียดได้ ไปจนถึงการ์ตูนเรื่อง Inside Out 2 ตัวละคร Joy ก็มีบทบาทในการดึงสติตัวละคร Anxiety ให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน เพื่อบอกคนดูเป็นนัยว่าเราว้าวุ่น วิตกได้เพื่อเป็นกลไกเตรียมพร้อมกับปัญหา แต่ก็จำเป็นต้องสร้างสมดุลด้วยความสุข



โหยหาการรวมกลุ่ม สานสัมพันธ์กับผู้คนที่หลากหลาย

ผลต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้ผู้คนเหงาและโดดเดี่ยวมากขึ้น จึงทำให้คนโหยหาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนหมู่มาก งานวิจัยพบว่า ยิ่งได้เจอกลุ่มคนใหม่ๆ ที่แตกต่างจากตัวเอง ยิ่งจะช่วยเติมเต็มความรู้สึก 


ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราจึงเห็นกิจกรรม เทศกาลต่างๆ ที่พยายามเป็นตัวกลาง ดึงดูดผู้คนหลากหลายให้ได้มาเจอกัน และมีประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นผลดีในทั้งระดับสุขภาพจิตของตัวบุคคลเอง แต่ยังขยายผลในเชิงสังคมและเศรษฐกิจด้วย และแน่นอนว่าการต่อสู้กับความท้าทายในโลกยุคนี้ จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่ม เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนในปริมาณมากพอ ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ได้


จากทิศทางเทรนด์โลกในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่าผู้คน องค์กร และเมืองต่างๆ พยายามเรียนรู้ ปรับตัว และขบคิดหาวิธีที่จะรับมือกับโลกที่ไม่แน่นอนอย่างสร้างสรรค์ โดยมีหัวใจหลักอยู่ที่ การเลือกที่จะอยู่กับพลังบวก+ และสร้างความหวังว่าทุกคนจะสามารถช่วยให้โลกนี้ดีขึ้นได้ 

เชื่อว่าในปีนี้ น่าจะเห็นเทรนด์งานออกแบบและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างมาเพื่อตอบโจทย์ผู้คน และรับมือกับวิกฤต อีกมากมายอย่างแน่นอน


มาร่วมสำรวจเทรนด์ใหม่ๆ ที่จะทำให้เห็นว่างานสร้างสรรค์และงานออกแบบ มีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับโลกนี้ไ้ด้อย่างไรบ้าง ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 ภายใต้ธีม ‘Design Up+Rising ออกแบบพร้อมบวก+’ ระหว่างวันที่ 8-23 กุมภาพันธ์ 2568 นี้



อ้างอิง:

https://stephangrabmeier.de/bani-versus-vuca/#infographic

https://techsauce.co/sustainable-focus/the-global-risks-report-2024-from-world-economic-forum

https://www.marketingoops.com/reports/world-economic-forum-2024-lesson/

https://www.ipsos.com/sites/default/files/ct/news/documents/2024-06/Ipsos-AI-Monitor-2024-key-findings.pdf

https://www.theatlantic.com/family/archive/2021/08/tragic-optimism-opposite-toxic-positivity/619786/

https://metro.co.uk/2024/03/24/a-pessimistic-world-need-hopecore-save-us-doomscrolling-20496012/

https://www.ipsos.com/en-th/ipsos-global-predictions-2024

https://www.vml.com/insight/the-future-100-2024

https://article.tcdc.or.th//uploads/file/ebook/2566/11/desktop_th/EbookFile_34204_1699259829.pdf




BKKDW2025 Open Call เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลฯ

หมดเขต 30 กันยายน 2567 เวลา 23.59 น.

สมัครเข้าร่วมจัดเทศกาลฯ ได้ที่ https://www.bangkokdesignweek.com/apply


#BKKDW2025

#BangkokDesignWeek

#DesignUpRising

#ออกแบบพร้อมบวก

แชร์