Future Paradise: นิทรรศการชวนมองอนาคตงานออกแบบไทยในโรงพิมพ์ยุค ร.5

เผยแพร่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
การจินตนาการถึงอนาคตเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และผลักดันให้นักออกแบบมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในหลากหลายมิติ ป๋อง-อมรเทพ คัชชานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ (Design & Objects Association) นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และผู้ก่อตั้ง AMO ARTE แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่เน้นใช้วัสดุจากธรรมชาติและมีแนวคิดในการส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน จึงหยิบเอาแนวคิดที่ชวนนักออกแบบจินตนาการถึงอนาคตมาเป็นธีมหลักของการจัดแสดงงานโชว์เคส Future Paradise โดยสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ในงาน Bangkok Design Week 2022 ครั้งนี้
งานออกแบบไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า
“สมาชิกของสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ส่วนใหญ่เป็นดีไซเนอร์ที่ทำเฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ และของตกแต่งบ้าน ซึ่งในปีนี้เรามีการพูดคุยกันว่าลองมามองกันไหมว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า งานออกแบบของแต่ละคนจะมีแนวโน้มเป็นยังไง มีความแตกต่างจากปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน” โดยมุมมองต่อคำว่า ‘อนาคต’ ในการจัดแสดงงานโชว์เคสครั้งนี้ ทางสมาคมฯ ไม่ได้มุ่งไปที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการผลิตสุดล้ำเกินจินตนาการแต่อย่างใด แต่พวกเขากลับคิดในอีกแง่มุมว่า ในยุคสมัยที่ความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง สินค้าแฮนด์เมดที่เกิดจากการประดิษฐ์ด้วยมือของมนุษย์อย่างพิถีพิถัน สามารถจับต้องได้และเต็มไปด้วยความรู้สึก มีที่มาที่ไป มีเรื่องราวเบื้องหลังผลงาน น่าจะมีคุณค่าทางใจและสร้างมูลค่าได้มากกว่าสินค้าที่ผลิตครั้งละจำนวนมาก ๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม
แข่งขันด้วยอัตลักษณ์ไทยที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้
“แนวคิดที่เป็นจุดเชื่อมโยงของแต่ละแบรนด์ในสมาคมของเราคือ เรามองอนาคตข้างหน้าว่าเป็นการเติบโตของงานคราฟต์ การใช้วัสดุท้องถิ่น วัสดุรีไซเคิล วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ของไทยได้ ในอนาคตเทรนด์เหล่านี้น่าจะเติบโตมากขึ้นในวงการออกแบบ เราจึงพยายามสะท้อนเรื่องราวของงานฝีมือจากช่างท้องถิ่น ให้คนหันกลับมาคิดถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น”
นอกจากนี้ป๋องยังขยายความเพิ่มเติมว่า คงยากที่นักออกแบบไทยจะแข่งขันกับประเทศโซนยุโรปด้วยนวัตกรรมการผลิตที่ล้ำหน้า เพราะทางนั้นเขามีความพร้อมด้านงานวิจัยและเทคโนโลยีมากกว่าหลายเท่าตัว แต่เราก็มีจุดแข็งและจุดเด่นแบบไทย ๆ ที่โดดเด่นบนเวทีระดับโลกได้เช่นกัน
“จุดแข็งและจุดเด่นของงานเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในเมืองไทยที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้คือเรื่องของงานสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น งานที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ความเป็นไทย เป็นพวกงานที่ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์เข้ากับงานฝีมือและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยแนวคิดในการออกแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เทียบกับหลาย ๆ ประเทศต้นทุนการผลิตของไทยอาจจะสูงกว่า แต่สิ่งที่ทำให้ลูกค้ายอมรับคือฝีมือและเอกลักษณ์ของช่างท้องถิ่นไทยที่ช่างฝีมือชาติอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้”
พื้นที่ปล่อยของทดลองทำสิ่งใหม่
“งานโชว์เคสเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้แต่ละแบรนด์ได้ปล่อยของและใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ โดยสามารถเลือกทำสิ่งที่แตกต่างออกไปจากสินค้าปกติที่เคยทำขายก็ได้ เช่น แบรนด์เฟอร์นิเจอร์อาจจะหันมาทำของตกแต่ง หรือทำเฟอร์นิเจอร์แนวทดลองเพื่อการใช้ชีวิตแบบมีระยะห่างในยุคหลังโควิด เป็นการมองไปสู่อนาคตข้างหน้าว่าสินค้าที่ทำออกมาต้องตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไป”
“ครั้งนี้เรามีสตูดิโอส่งผลงานมาเข้าร่วมประมาณเกือบ 30 แบรนด์ บางแบรนด์เน้นเรื่องการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ ไม้พื้นถิ่นของไทย บางแบรนด์ใช้วัสดุที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน เช่น วัสดุรีไซเคิล เศษวัสดุเหลือใช้จากโรงงาน ผลงานที่นำมาจัดแสดงค่อนข้างหลากหลาย เป็นงานที่แต่ละสตูดิโอสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่เพื่องานนี้โดยเฉพาะ มีทั้งเฟอร์นิเจอร์เพื่อการใช้งาน เฟอร์นิเจอร์เพื่อการตกแต่ง โคมไฟ งานกึ่งอินสตอลเลชัน เฟอร์นิเจอร์กลางแจ้ง เฟอร์นิเจอร์สำหรับพื้นที่สาธารณะ บางแบรนด์ที่ทำจิวเวลรี่เขาก็นำจิวเวลรี่มาดัดแปลงเป็นงานตกแต่งภายใน”
สัมผัสประวัติศาสตร์ในโรงพิมพ์เก่า
สถานที่จัดงาน Future Paradise คือตึกเก่าบริเวณถนนบำรุงเมืองที่เคยเป็นโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจมาก่อน นอกจากความเหมาะสมในแง่ของพื้นที่ที่สามารถจัดแสดงงานเฟอร์นิเจอร์ได้เป็นอย่างดีแล้ว ที่นี่ยังมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาน่าสนใจหลายประการ โดยภายในนิทรรศการจะมีส่วนที่บอกเล่าเรื่องราวของโรงพิมพ์แห่งนี้ด้วย “ตึกนี้มีความพิเศษตรงที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และสามารถเชื่อมโยงกับคอนเซปต์อดีต ปัจจุบัน อนาคต ที่ทางกลุ่มของเราพยายามนำเสนอ ผลงานออกแบบของเราเน้นการพูดถึงอนาคต แต่มาจัดแสดงอยู่ในตึกเก่าที่เป็นตัวแทนของอดีต ซึ่งเราพยายามเชื่อมโยงว่าก่อนที่จะเดินทางไปสู่อนาคต เราต้องมองย้อนดูอดีตก่อน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตย่อมส่งผลถึงปัจจุบัน และขณะเดียวกันสิ่งที่เราทำในปัจจุบันมันก็จะส่งผลถึงอนาคต”
ป๋องกล่าวทิ้งท้ายถึงการจัดแสดงงานโชว์เคสที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า “แม้ทุกวันนี้เราแทบไม่ต้องพูดคุยกันแบบเจอหน้าแล้ว แต่มันมีช่องว่างเล็ก ๆ ในความรู้สึกที่เราอยากให้คนมาสัมผัสชิ้นงานที่ไม่สามารถแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัล เป็นงานคราฟต์ที่ทุกคนควรมาสัมผัสในสถานที่จริง มาแบ่งปันความรู้สึกร่วมกัน ซึ่งเรามองว่าในอนาคตคนจะโหยหาความรู้สึกเหล่านี้กันมากขึ้น” มาร่วมสัมผัสงานคราฟต์ท่ามกลางบรรยากาศตึกเก่าในอดีตที่จะพาเรามองไกลไปสู่อนาคตกันได้ที่นิทรรศการ Future Paradise โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 11.00-22.00 น.
Name : อมรเทพ คัชชานนท์
Tel. : 0868984635
LINE ID : pongo28
The Design & Objects Association
Website : designandobjects.com
Facebook : facebook.com/TheDesignAndObjectsAssociation