ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

ปลุกพลังบวกผ่านงานออกแบบ Visual Identity ใน Bangkok Design Week 2022

เผยแพร่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

Key Visual คือส่วนสำคัญในการสร้างภาพจำและสื่อสารแนวคิดเบื้องหลังของ Bangkok Design Week มาตลอดทุกปี แต่สำหรับปีนี้ที่ผู้คนยังคงบอบช้ำและเมืองยังคงซบเซาจากวิกฤติโควิด-19 อีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ Key Visual ต้องช่วย “ปลุกพลังบวก” ให้บรรยากาศที่แสนห่อเหี่ยวของปีที่ผ่านมากลับคืนสู่ความสดใสอีกครั้ง

 

เป็ด-ภาคภูมิ ลมูลพันธ์ คือนักออกแบบกราฟิกที่ทางเทศกาลฯ มอบหมายให้เขารับผิดชอบโจทย์นี้ ก่อนหน้านี้เป็ดเคยไปใช้ชีวิตและทำงานกับบริษัทกราฟิกดีไซน์ในประเทศญี่ปุ่นนานถึง 12 ปี ก่อนจะบินกลับมาก่อตั้งสตูดิโอออกแบบของตัวเองในประเทศไทยในชื่อ Routine Studio และฝากผลงานในหลากหลายวงการอย่าง ปกหนังสือ อาคิเต็กเจอ, Untitled Case และอีกหลายเล่มจากสำนักพิมพ์ Salmon Books, โปสเตอร์ภาพยนตร์ Snap, ผลงานออกแบบ Visual Identity ให้หลากหลายเทศกาล เช่น Taiwan Documentary Film Festival in Thailand 2021 หลายคนจดจำงานกราฟิกของเป็ดได้จากความมีชีวิตชีวา สีสัน และจังหวะกราฟิกที่สนุก บวกการออกแบบคาแรกเตอร์ที่น่ารักละมุนใจ และนั่นคือเหตุผลที่เทศกาลฯ เลือกให้เขาเป็นผู้ออกแบบ Key Visual ชุบชูใจคนในปีนี้

 

แม้จะยืนระยะในวงการกราฟิกดีไซน์มายาวนาน แต่การได้มีส่วนร่วมกับ Bangkok Design Week 2022 ก็ยังสร้างความตื่นเต้นกับเจ้าตัวไม่น้อย เพราะการสื่อสารแนวคิด “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” ออกมาเป็นภาพให้นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ไปจนถึงคนทั่วไปเข้าใจก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่เบา

 

เริ่มต้นจากปลุกพลังความสดใส

2 ปีที่ผ่านมาปัญหาโควิด-19 อยู่กับคนทั่วโลก ทำให้นักสร้างสรรค์หมดไฟจะสรรค์สร้างอะไรกันไปไม่น้อย ทั้งทีมงานเทศกาลฯ และเป็ดจึงเห็นตรงกันว่า เราต้องมอบความหวังและกระตุ้นบรรยากาศที่เหมาะกับการสร้างสรรค์ให้กลับมาเป็นอันดับแรก

 

“ตอนที่ได้รับแจกโจทย์ ได้รู้ธีมงานในปีนี้ก็คือ Co With Creation และเป้าหมายของเทศกาลฯ ที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดบรรยากาศสร้างสรรค์ เราก็มาทำการบ้าน คิดว่าทำอะไรกับงานได้บ้าง พอคิดจากชื่อที่อยากให้คนมาร่วมงาน นึกถึงประเด็น ‘การเชื่อมโยง’ และ ‘การช่วยเหลือกัน’ ในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะฝั่งนักสร้างสรรค์ ชุมชน หรือฝั่งธุรกิจเอง ก็เลยอยากสร้างงานที่คนดูสามารถเห็นความหลากหลายใน Main Visual ของงาน”

 

“องค์ประกอบหลาย ๆ อันในงาน เช่น ตัวหนังสือ C O W I T H ที่นำมาทำเป็นภาพ ก็จะมีรูปแบบหลากหลาย แล้วค่อยมาจัดการกับพื้นที่ให้มีความกลมกลืน มีองค์ประกอบย่อย ๆ ที่แสดงการเชื่อมโยงต่อจุดกันในแบบต่าง ๆ เหมือนเป็นพลังงานด้านบวกที่มาสนับสนุนแพลตฟอร์ม Bangkok Design Week ปีนี้”

 

“ซึ่งพอคุยว่าโทนของงานน่าจะไปทางไหน ก็คิดว่าน่าจะอยากได้ความสดใส มีพลังบวกขึ้นมากกว่าปีก่อน ๆ ให้เป็นบรรยากาศที่เชียร์อัพคนที่ชมงาน คิดว่าการสร้างบรรยากาศนี้ก็น่าจะเป็นผลดีกับการสร้างสรรค์ด้วยหลังจากที่ขมุกขมัวกันอยู่นานเพราะโควิด ก็เลยเป็นที่มาของภาพรวมดีไซน์ต่าง ๆ ในโปสเตอร์ คืออยากให้คนดูรู้สึกเฟรช มีความสนุกเข้ามา และเปิดกว้างถ้าหากจะมีการต่อยอดพูดคุยหรือทำงานเรื่องจริงจังอื่น ๆ ”

 

โจทย์เรื่องสีและวัย 

แบบสเก็ตช์ Graphic Elements องค์ประกอบ และชุดสีหลายชุด ก่อนจะเป็น Visual Identity เวอร์ชั่นจริงที่ถูกใช้ใน Bangkok Design Week 2022

 

“สีเหลือง” คือสีที่คนจดจำได้จาก Bangkok Design Week ปีที่ผ่านมา โจทย์ต่อมาคือการสร้างสรรค์ความสดใหม่และสดใส แต่ยังคงไว้ซึ่งสีที่เป็นภาพจำของเทศกาลฯ

 

“ในส่วนของการทำงานเรื่องสีหรือการเลือกสี พอได้รายละเอียดโจทย์มาว่าอยากจะให้งาน On-site ยังคงสีเหลืองเอาไว้ เพราะค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการบอกทิศทาง เลยเริ่มทำงานโดยยึดสีเหลืองเป็นหลัก และมีกรอบที่ใช้ Form ของตัว D จากคำว่า Design เข้าไปสร้างเป็นโลโก้หลักของเทศกาลฯ แล้วค่อย ๆ ปรับหาสีอื่นที่มาเข้าคู่กัน ต้องเป็นสีที่ไม่กวนกันและดูสบายตา คิดว่าเทา-ดำเป็นคู่สีที่ใช้กับเหลืองได้ดี โดยที่มีสีอื่นมาเพิ่มเติมไม่ยากมาก จุดหลักในการทำงานเรื่องสีคือคนดูแวบเดียวแล้วต้องเข้าใจว่าคืองานเดียวกัน ส่วนนี้เป็นงานที่ต้องใช้เวลาและละเอียดไปบ้าง แต่คิดว่าเวลาใช้งานในสถานที่จริงที่เป็นตึกรามบ้านช่อง การเข้าคู่สีต่าง ๆ ที่เลือกไว้น่าจะช่วยให้งานเด่นออกมาได้” 

 

“หนึ่งในโจทย์สำคัญน่าจะเป็นเรื่องของการทำให้งานดูสนุกสดใส แต่ต้องไม่ให้ความรู้สึกเด็กเกินไป เพราะว่า Visual นี้จะถูกเอาไปใช้ประกอบกับงานนิทรรศการของดีไซเนอร์หลากหลายท่านมาก อย่าง Object ต่าง ๆ ในงาน ถึงจะดูเป็นเอกเทศ เป็นคาแรกเตอร์ที่เหมือนมีชีวิตของตัวเองก็จริง แต่การดีไซน์ของเราจะไม่มีการใส่ลูกตาหรือกรอบใบหน้าที่ชัดเจนลงไป พยายามเน้นฟอร์มรูปร่างที่เป็นแนว Geometric ให้ดูเป็นเทศกาลงานดีไซน์อยู่”

 

ทุกรายละเอียดคือการเล่าเรื่อง

หัวใจของการออกแบบกราฟิกคือการสื่อสารผ่านรูปภาพให้คนเข้าใจ ทั้งสิ่งที่อยู่บนภาพตรง ๆ และเหล่าความหมายที่ซ่อนอยู่ รายละเอียดทุกอย่างที่อยู่ในงานจึงมีเนื้อหาและสิ่งที่จะสื่อสารในตัวเอง

 

“มีการใส่รายละเอียด เพิ่มดีเทลให้งานมี Texture เพิ่มขึ้นกว่าฟอร์มตัวหนังสือเฉย ๆ อย่างตรงตัวอักษร C ก็ทำให้มันเป็นจุด ๆ ที่ดูเชื่อมต่อกันเพื่อล้อกับคอนเซปต์ของงานที่พูดเรื่องการเชื่อมต่อและการช่วยเหลือกัน คือถ้าเอาดีเทลพวกนี้ออกไป งานก็จะดูเหงามาก”

 

“แต่ไม่เชิงว่าคนดูจะต้องมาทำหน้าที่ถอดรหัสอะไรซับซ้อน เราแค่พยายามต่อยอดการทำงานจากภาพนิ่งให้เกิดความเคลื่อนไหวในจินตนาการคนดู และทำให้งานสามารถนำไปใช้ในงานเคลื่อนไหวต่อได้เวลาที่ต้องอยู่ในสื่ออื่น ๆ อย่างสื่อดิจิทัล อย่างส่วนจุดของตัว i ก็เป็นไอเดียออกมาจากกล่อง หรือตัว H ก็มีเส้นตารางขึ้นมาเป็นเเปลนแบบร่างดีไซน์ และที่สำคัญคือเราใส่องค์ประกอบรองที่ลอยไปลอยมา มาช่วยสร้างความเคลื่อนไหวและความรู้สึกให้กับงานด้วย”

 

Co with ความหวัง

บรรยากาศใน Routine Studio ที่เป็ดใช้เป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันกับพาร์ตเนอร์ ยูน-พยูณ วรชนะนันท์ 

 

สิ่งสำคัญที่สุดของคนทำงานก็คือการที่งานประสบความสำเร็จดังความคาดหมาย แต่ความสำเร็จของแต่ละคน รวมถึงแต่ละงานก็ต่างกันออกไป ในมุมของเป็ด ความสำเร็จของงานนี้คือ “พลังงานบวก” ที่เขาอยากส่งต่อให้เพื่อนร่วมวงการและใครก็ตามที่พบเห็น เพราะท้ายที่สุดแล้วสิ่งสำคัญที่คนขาดไม่ได้ ณ เวลานี้ก็คือความหวังว่าจะมีอนาคตที่ดีรออยู่

 

“ปกติเวลาทำงานก็จะมีตั้งเป้าหมายในด้านอารมณ์ไว้เหมือนกัน เช่น อยากให้คนที่เห็นตัวงานเราแล้วเกิดความรู้สึกอะไร อยากให้คนอ่านจำหนังสือเล่มนั้นด้วยความรู้สึกแบบไหน สำหรับงานนี้ก็อยากจะให้เป็นงานที่ทำให้คนมางานหรือคนที่มาร่วมจัดงานได้รู้สึกถึงบรรยากาศแง่บวก ส่งพลังให้มองออกไปข้างหน้า หลังจากที่ทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรนจากเรื่องโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ งานนี้อยากจะชวนคนหันมาเริ่มมองเห็นภาพในอนาคตว่ามันมีอะไรทิศทางไหนที่เราไปกันต่อได้อีก และมีความหวังจากงานดีไซน์ได้บ้าง” 

 

 

ผลงานการออกแบบชิ้นอื่น ๆ ของเป็ด มีทั้งปกหนังสือ สิ่งพิมพ์ ปกซีดี และ Visual Identity

 

#BKKDW2022

#BangkokDesignWeek

#CoWithCreation

แชร์