ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

2 ปีกับโควิด เปลี่ยนชีวิตเรายังไงบ้าง?

เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

มองย้อนกลับไปในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เราทุกคนต่างถูกเงื่อนไขชีวิตบังคับให้ต้องปรับตัวในหลายมิติ เพื่อหาวิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้ พอสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ประชากรโลกเริ่มมีวัคซีนเต็มแขน ไวรัสร้ายก็กลายพันธุ์ส่งเจ้า Omicron มาทักทายให้ชาวโลกได้ตื่นตระหนกอีกระลอก ในภาพรวมจึงยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าท้ายที่สุดแล้วสถานการณ์โรคระบาดนี้จะสิ้นสุดลงที่ตรงไหน แต่สิ่งที่เราทำได้ ณ วันนี้คือการเรียนรู้ที่จะปรับตัวเปลี่ยนแปลงเพื่อเอาชนะความท้าทายของชีวิตวิถีใหม่ที่รออยู่เบื้องหน้า

วันนี้เลยอยากพาทุกคนกระโดดขึ้นไทม์แมชชีนไปรีวิวคร่าวๆ กันสักหน่อยว่าในช่วงเวลาสู้รบ 2 ปีระหว่างชาวโลกและโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2020 ถึงปี 2021 ที่กำลังจะจบลง เกิดวิถีชีวิตใหม่อะไรที่น่าสนใจบ้าง

 

บ้านกลายมาเป็นศูนย์กลางของชีวิต

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงมหึมาที่เกิดในช่วงโควิด-19 คือเราต้องอยู่ติดบ้านกันมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคนจึงหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศภายในบ้านให้น่าอยู่และสอดรับกับวิถีชีวิตของตัวเองยิ่งขึ้น ตลาดสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ เช่น ต้นไม้ในร่ม เทียนหอมบำบัด หรือเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านจึงมียอดขายสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยข้อมูลจาก bangkokbiznews.com ระบุว่าช่วง 2 เดือนที่มีการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวดในปี 2563 ยอดสั่งซื้อสินค้าของอิเกียประเทศไทยเติบโตสูงถึง 320%

 

นอกจากนั้นยังส่งผลให้เกิดคอมมูนิตี้น่าสนใจในโลกออนไลน์ที่เกี่ยวกับการตกแต่งและดูแลบ้าน อย่างกลุ่ม ‘จัดโต๊ะคอม’ และ ‘งานบ้านที่รัก’ สะท้อนให้เห็นว่าหลายๆ ครอบครัวพยายามจัดสรรออกแบบการใช้พื้นที่ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้งาน ‘บ้าน’ ให้ตรงกับความต้องการของชีวิต และเหมาะกับการรับมือสถานการณ์โควิดในรูปแบบของตนเอง

 

ปัญหาทางใจใหญ่ไม่แพ้สุขภาพกาย

ในเดือนสิงหาคม 2564 ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก และพบยอดผู้ติดเชื้อหลักหมื่นรายต่อวัน มีการสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามของกรมสุขภาพจิตมีแนวโน้มเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นสูงถึง 10 เท่า! เมื่อเทียบกับการสำรวจในช่วงแรกที่มีการแพร่ระบาด โดยกรมสุขภาพจิตเผยข้อมูลว่าประชากรไทยมีภาวะเครียดสูง 45.5% เสี่ยงซึมเศร้า 51.5% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 30.6% และมีภาวะหมดไฟ 17.6% สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาสุขภาวะทางใจในคนทุกช่วงวัยเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ในสถานการณ์นี้

        

ทั้งยังมีการสำรวจพบในหลายประเทศว่าพนักงานออฟฟิศเครียดสะสมมากขึ้นจากการ Work From Home ที่มีตารางประชุมออนไลน์แน่นเอี้ยด ชาวออฟฟิศทั้งหลายจึงพยายามมองหาลู่ทางปรับตัวเพื่อการทำงานออนไลน์อย่างเป็นสุขมากขึ้น ซึ่งก็มีแคมเปญน่าสนใจจากเอเจนซี่ TBWA London ที่ออกแบบเว็บไซต์สนุกๆ สีสันจัดจ้านชื่อว่า soundtheexcuse.com ขึ้นมา โดยในเว็บไซต์จะมีเสียงรบกวนหลายรูปแบบ เช่น สัญญาณไฟไหม้ เด็กร้องไห้ ท่อน้ำแตก ฯลฯ ให้คนที่กำลังเครียดกับการประชุมสามารถเปิดดังๆ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างปลีกตัวจากการประชุมชั่วคราวได้ ซึ่งไม่ได้ทำออกมาแค่ขายขำ เพราะจริงๆ แล้วแคมเปญนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง TBWA กับ The Book of Man แพลตฟอร์มสื่อสำหรับผู้ชาย ที่ต้องการสื่อสารว่าหากเริ่มรู้สึกเครียดกับการทำงานจนกระทบสุขภาพจิตก็ควรพักเบรกเป็นระยะๆ ไม่ควรรอให้เกิดผลกระทบทางลบกับตัวเองหรือบริษัทซะก่อน เรียกว่า “พักหายใจ ไหวเมื่อไรก็ไปต่อ” ได้เลย

 

วิถีชีวิตใหม่ส่งผลให้ขยะเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมหนึ่งที่เติบโตอย่างมากในช่วงโควิด-19 คือธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ ความสะดวกที่สร้างปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยมีการเก็บสถิติจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ พบว่า ในเดือนมกราคมถึงเมษายน 2563 ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 60% จึงมีความพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ซึ่งเราคงเห็นผ่านตากันไปบ้างพอสมควรแล้ว

 

ข้ามไปที่วงการยักษ์ใหญ่อย่างวงการแฟชั่นของโลกเองก็มีการพยายามชูประเด็นหลีกเลี่ยง Fast Fashion เพื่อลดขยะเหลือใช้โดยไม่จำเป็น และหันมาคำนึงถึงการซื้อเสื้อผ้ามือสอง มองการใช้งานที่ยั่งยืนของเสื้อผ้ามากยิ่งขึ้น เพราะหนึ่งในปัญหาขยะใหญ่ๆ ของโลกนั้นเกิดจากอุตสาหกรรมที่เป็น Fast Fashion ไม่น้อย ในประเทศไทยเองก็ตื่นตัวเรื่องนี้สักพักแล้วเช่นกัน อย่าง MORELOOP เองก็เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งมั่นสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าเหลือใช้ หรืออย่างเพจ Fashion Revolution Thailand เองก็ชวนให้ทุกคนมา Swap! แลกเปลี่ยนเสื้อผ้าของตัวเองกับคนอื่นเพื่อค้นหาเสื้อผ้าชิ้นโปรดหรือแฟชั่นตัวใหม่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้างขยะใหม่ให้กับโลก

 

วัฒนธรรมคือสินค้าส่งออก

หากพูดถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง แน่นอนว่า Netflix คือเบอร์หนึ่งที่ทุกคนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ โดยมีปรากฏการณ์น่าสนใจในช่วงโควิด-19 คือความโด่งดังไปทั่วโลกของซีรีส์ Squid Game ที่ทำให้เกิดกระแสเกาหลีฟีเวอร์ขึ้นมาอีกระลอกใหญ่ ตอกย้ำศักยภาพของ Soft Power เป็นคลื่นที่แผ่ขยายความนิยมในวัฒนธรรมเกาหลีไปสู่ชาวโลกและยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศเกาหลีอย่างมหาศาล เมนูอาหารเก่าแก่ของเกาหลีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เสื้อผ้าในหนังกลายเป็นแฟชั่นไอเท็มที่คนตามหา แม้แต่เพลงจากการละเล่นเก่าแก่ของเด็กเกาหลีที่ปรากฏในหนังก็กลายเป็นเพลงฮิตที่คนฮัมตามกันได้ทั้งบ้านทั้งเมือง 

 

เมื่อกระแสการนำเสนอวัฒนธรรมผ่านสื่อกลับมาบูมอีกครั้ง บวกกับการเติบโตของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่โตขึ้นเร็วมากๆ จากสถานการณ์ล็อกดาวน์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (แพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง Disney+ Hotstar มีอัตราการเติบโตสูงถึง 210% ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี!) เราจึงคาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ จะเกิดการแข่งขันกันผลิตสินค้าส่งออกที่ชื่อ ‘วัฒนธรรม’ จากประเทศต่างๆ อย่างดุเดือดแน่นอน

 

โลกเสมือน vs. โลกจริง

การเว้นระยะห่างทางกายทำให้เทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ และการสร้างโลกเสมือนเข้ามามีบทบาทกับชีวิตผู้คนมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างแอปพลิเคชันที่บูมสุดๆ เพราะโควิด-19 คือ Zoom ที่มีอัตราการเติบโตของยอดขายสูงถึง 326% ในปี 2563 และอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ Gather Town โปรแกรมประชุมออนไลน์ที่จำลองบรรยากาศออฟฟิศให้เราสร้าง Avatar เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนร่วมงานได้ นอกจากนี้ยังมีหลายโรงเรียนที่นำ Gather Town ไปดัดแปลงใช้กับการเรียนออนไลน์ด้วย นับเป็นนวัตกรรมการออกแบบที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และส่งเสริมการใช้ชีวิตของผู้คนบนโลกดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

 

และถ้าจำกันได้ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดแรกๆ Animal Crossing เกมแนวจำลองวิถีชีวิตและสร้างชุมชน ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะตอบโจทย์เรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น ทำให้พอคลายเหงาหายคิดถึงเพื่อนไปได้บ้าง ไม่ได้เจอกันในชีวิตจริง อย่างน้อยเจอกันในเกมก็ยังดี แต่ถ้าจะให้สนุกยิ่งไปกว่านั้นก็นัดกันไปเจอในคอนเสิร์ตเลยสิ! เพราะศิลปินฮิปฮอป Travis Scott เขาจัดคอนเสิร์ตเสมือน หรือ Virtual Concert ขึ้นในเกมออนไลน์ Fortnite ช่วงล็อกดาวน์ ช่างเป็นความพีกที่น่าติดตามว่าในอนาคตเราจะข้ามโลกไปทำกิจกรรมร่วมกันที่ไหนได้บ้างโดยไม่จำเป็นต้องขยับตัวออกจากบ้านเลยสักนิด

        

จากสิ่งที่เล่ามาทั้งหมดคงพอทำให้เห็นภาพว่าสถานการณ์ที่ยากลำบากและการพยายามปรับตัวเรียนรู้ชีวิตวิถีใหม่นั้นทำให้เกิดวิสัยทัศน์ใหม่ๆ เกิดงานออกแบบและนวัตกรรมที่มีประโยชน์มากมาย และเชื่อว่าในปี 2022 อันใกล้ที่เราอาจยังต้องอยู่กับโควิด-19 ต่อไปอีกสักพัก ก็น่าจะมีความท้าทายใหม่ๆ ให้เราได้ลองขบคิดสร้างสรรค์ทางออก คงมีเทรนด์ใหม่และนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคตรอให้ค้นพบอยู่อีกไม่น้อย

 

แต่สำหรับใครที่อยากสำรวจความน่าสนใจหรืองานออกแบบใหม่ๆ ในปีนี้ที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อน เตรียมตัวให้พร้อมแล้วมาพบกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ที่รวมงานออกแบบน่าสนใจมากมายภายใต้ธีม ‘Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด’ จะจัดแสดงงานในวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2565 นี้เท่านั้น ห้ามพลาดเลยด้วยประการทั้งปวง!

 

#BKKDW2022

#BangkokDesignWeek

#CoWithCreation    

 

อ้างอิง

https://www.bangkokbiznews.com/business/949194

https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31154

https://www.cnbc.com/2021/04/19/1-in-4-workers-is-considering-quitting-their-job-after-the-pandemic.html

https://www.bbc.com/news/business-56247489

https://www.soundtheexcuse.com

 

 

แชร์