The Making of ศาลา คอย(ล์)เย็น

เผยแพร่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ศาลา คอย(ล์)เย็น | Stay Cool Pavilion
ออกแบบโดย Nikken Sekkei Thailand / ออกแบบแสงโดย NULTY
“เราหยิบยืมวัสดุดั้งเดิมมาทำงานร่วมกับเทคโนโลยี BIOSKIN ที่มีต้นแบบอยู่แล้ว หรือพูดง่ายๆ ว่า อิฐดินเผากำลังเป็นตัวแทนของการใช้เทคโนโลยีท่อเซรามิก ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ สภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศแบบไทย ทั้งในแง่การออกแบบ การใช้งาน”
แนะนำแนวคิดของโปรเจ็กต์ที่ออกแบบสำหรับงานบางกอกดีไซน์วีคปีนี้
เรามองว่า Resurgence คือ การฟื้นฟู การกลับมาของสิ่งต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์ วิกฤตปัญหาโลกร้อน วิกฤตธรรมชาติ โดยเฉพาะปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง (Heat Island Effect) ในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและยังไม่ได้รับการแก้ไข เราจึงเลือกประเด็นนี้มาเป็นโจทย์ตั้งต้น ทั้งยังมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ผ่านการเลือกวัสดุที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เสมือนตัวทดลอง ว่าจะมีเครื่องมือใดบ้างที่สามารถลดปัญหาเกาะความร้อนได้บ้าง นี่อาจเป็นจุดเล็กๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนวิธีคิด หรือมุมมองต่อสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วรอบตัว
นอกจากนี้ยังได้แรงบันดาลใจจากโปรเจ็กต์จริงที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วของ Nikken Sekkei อย่างอาคาร NFB Osaki Building (Sony City Osaki) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดย Facade ของอาคารถูกออกแบบให้มีท่อเซรามิกชนิดพิเศษสร้างให้เกิดการไหลเวียนของน้ำฝน ตัวท่อจะมีรูพรุนค่อนข้างมาก เมื่อน้ำฝนไหลไปตามท่อจะเกิดระเหยของน้ำ ทำให้อุณหภูมิบน Facade ลดลง สามารถคืนความชื้นให้กับชั้นบรรยากาศ และกลับเข้าสู่วัฏฐจักรของน้ำในธรรมชาติ ทำให้ตัวอาคารเองที่เป็นจุดเล็กๆ ในเมือง มีส่วนในการช่วยลดสภาวะปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง (Heat island Effect) และช่วยลดอุณภูมิของพื้นที่โดยรอบได้ จึงนำมาประยุกต์เข้ากับแนวคิดของงานและพาวิลเลียนที่จะเกิดขึ้น ช่วยให้เรามองเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่เดิม และสร้างให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในแง่การใช้ประโยชน์และสร้างประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับผู้ชมงาน
เลือกหยิบจับไอเดียจากมาจากไหน แรงบันดาลใจ ต้นทุนทางความคิด
จากโจทย์ต้นทางความคิด อันดับแรกคือ ปัญหาเกาะความร้อน และความร้อนเป็นสิ่งที่คนไทยสัมผัสได้ใกล้ชิดอยู่แล้ว พอเห็นเทคโนโลยีนี้ เราจึงเริ่มมองหาว่า มีวัสดุตัวไหนบ้างที่ผลิตหรือใช้กันมานานในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณย่านเจริญกรุงที่มักพบเห็นกระเบื้อง อิฐดินเผาในอาคารเก่ารอบๆ ย่าน จากการลองผิดลองถูก จนพบว่า อิฐดินเผาตอบโจทย์ค่อนข้างมาก และนิยมใช้เป็นส่วนโครงสร้างของอาคารที่ใช้งานกันมาตั้งอดีต หากเราหาวิธีประกอบด้วยระบบใหม่ๆ ไม่ให้เหมือนต้นแบบ มาประยุกต์ให้ใกล้เคียงและสื่อสารกับพื้นที่มากกว่า
กล่าวโดยสรุปคือ เราหยิบยืมวัสดุดั้งเดิมมาทำงานร่วมกับเทคโนโลยี BIOSKIN ที่มีต้นแบบอยู่แล้ว หรือพูดง่ายๆ ว่า อิฐดินเผากำลังเป็นตัวแทนของการใช้เทคโนโลยีท่อเซรามิก ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ สภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศแบบไทย ทั้งในแง่การออกแบบ การใช้งาน รวมทั้งความยั่งยืน
ขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ ย่านที่จัดแสดง วัสดุที่เลือกใช้ มีความพิเศษอย่างไร ความยากง่าย ความท้าทายในการติดตั้งผลงาน
ไม่ง่ายเลยทีเดียว เพราะเราเริ่มตั้งต้นทดลองจากการใช้ “กระเบื้องอิฐดินเผา” มาก่อน แต่ในหลายๆ เงื่อนไข กระเบื้องเองไม่ได้ทำหน้าที่ของโครงสร้างและการรับน้ำหนักขนาดนั้น รวมทั้งเป็นวัสดุที่มีข้อจำกัดในการหาซื้อในท้องตลาดตามจำนวนที่ต้องการ ก่อนจะมาสรุปเป็น “อิฐดินเผา” ที่เราใช้ในพาวิลเลียน เพราะมองว่าเป็นวัสดุก่อสร้างพื้นถิ่นที่หาได้ง่ายในประเทศสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับเทคโนโลยีท่อเซรามิก BIOSKIN นอกจากนั้นยังพบว่าเป็นวัสดุที่มีการใช้งานในงานสถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่โบราณ และสามารถพบเห็นได้ในอาคารเก่าย่านเจริญกรุงและโดยทั่วไป
แม้ว่าเราจะเลือกใช้ “อิฐดินเผา” เป็นวัสดุหลัก แต่ระหว่างทางก็มีการทดลองกับอิฐหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ความพยายามติดต่อผู้ผลิตอิฐดินเผาที่เป็นเจ้าท้องถิ่นในย่าน แต่ก็พบข้อจำกัด เช่น ตัวโมลขึ้นรูปไม่สามารถตอบโจทย์ด้านขนาด และจำนวนการผลิตที่มีไม่เพียงพอ จึงขยับมาใช้ผู้ผลิตที่มีวัสดุเพียงพอต่อการใช้งาน แต่ยังคงเน้นย้ำผู้ผลิตที่อยู่ในประเทศ เพราะต้องการสนับสนุนวัสดุของท้องถิ่นเท่าที่เป็นไปได้มากที่สุด นอกจากนี้ในช่วงแรกๆ ยังทดลองใช้อิฐที่มีอุณหภูมิการเผาต่ำกว่าปกติ เรียกว่า วัสดุที่มี Defect ในแง่ปฏิกริยาเคมีแล้ว มักจะทำให้วัสดุเกิดรูพรุนมากกว่าปกติ และอุ้มน้ำได้มาก เราจึงทดลองนำอิฐที่ไม่ผ่าน QC ของโรงงานมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ ตอนแรกที่เราลองติดต่อโรงงานไป พบว่าส่วนใหญ่โรงงานจะนำอิฐที่ไม่ได้คุณภาพเหล่านี้ไปทิ้ง ไปถมที่ ทำให้ไม่เหลือมาใช้งานได้ มีการศึกษาต่อไปว่า ถ้าสามารถนำวัสดุดังกล่าวมาใช้ใหม่ได้จริงๆ ก็จะช่วยนำวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าได้อีกครั้ง นอกจากนี้ยังมองว่า หากเราเลือกวิธีการใช้งานวัสดุอย่างเหมาะสม นอกจากวัสดุจะสามารถถูกนำกลับมาใช้ซ้ำได้แล้ว อิฐดินเผาเหล่านี้อาจยังสามารถช่วยควบคุมอุณหภูมิและลดความร้อนภายในอาคารได้ แม้ว่าอิฐอาจไม่มีคุณสมบัติที่เป็นรูพรุนมากเท่ากับท่อเซรามิกของ BIOSKIN แต่ก็สามารถดูดซับน้ำได้บางส่วน และอนุญาตให้เกิดการระเหยของน้ำได้เช่นกัน รวมถึงการใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอิฐดินเผาได้ด้วยอีกทาง
สำหรับในการออกแบบพื้นที่การใช้งานภายใน เราก็ไม่ละเลยแม้กระทั่งจุดเล็กๆ ระหว่างการศึกษา ช่วงแรกในการออกแบบพาวิลเลียนมี option หนึ่งเป็นการเข้าออกทางเดียว แต่เราก็ไม่ลืมประเด็นของ COVID-19 จึงถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งเงื่อนไขในการออกแบบ เพื่อสร้างระบบการใช้งานที่มี Circulation ลื่นไหลจึงเลือกให้เป็นการเข้าออกคนละทาง แม้เป็นจุดเล็กแต่เราก็ใส่ใจในประเด็นนี้ นอกเหนือจากนั้น ด้านความปลอดภัย พาวิลเลียนไม่ได้ใหญ่มาก และมีการจำกัดจำนวนผู้ใช้ เป็นพื้นที่เปิด ระบายอากาศได้ดี จึงช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดได้
สรุปความพิเศษของโปรเจ็กต์นี้
ข้อแรก คือ ตอบโจทย์แนวคิดงาน Bangkok Design Week ในปีนี้ เราพยายามสื่อสารเทคโนโลยี BIOSKIN ผ่านวัสดุท้องถิ่นคืออิฐดินเผาที่มีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ผู้เข้าชมพาวิลเลียนได้สัมผัสว่าเทคโนโลยีนี้สามารถมอบความรู้สึกกับผู้ใช้งานได้อย่างไรบ้าง ไม่มากก็น้อย จากการทดลองของเรา ซึ่งยังไม่มั่นใจว่าผลลัพธ์จะเป็นไปตามต้นแบบที่เคยเกิดขึ้นจริงมากน้อยแค่ไหน
ข้อสอง อย่างที่เล่าไปคือ เทคโนโลยี BIOSKIN จะพยายามเป็นจุดเล็กๆ จุดนึงที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้นึกถึงเรื่อง เกาะความร้อนเมือง (Heat island Effect) ให้มากขึ้น และเริ่มมองหาสิ่งที่ใกล้ตัวอยู่แล้วมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อลดปัญหาเกาะความร้อนในอนาคตได้ไม่มากก็น้อย
ผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ผู้เข้าชมงานได้รับกลับไปหลังจากได้สัมผัสประสบการณ์จากผลงาน
จุดมุ่งหมายของ “ศาลาคอย(ล์)เย็น” คือ ความตั้งใจที่จะสื่อสารและเป็นตัวแทนที่แสดงออกถึงแนวทางในการออกแบบและโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นจริง ผ่านการเปลี่ยนมุมมองวัสดุที่นิยมใช้อยู่ในท้องถิ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพาวิลเลียนนี้จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้ความรู้สึกสบายแก่ผู้ใช้งาน และคืนความชื้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยการปรับเปลี่ยนมุมมอง วิธีการก่อสร้าง รูปแบบที่มีความยืดหยุ่นและความหลากหลายในการใช้งาน
โดยเรายังคาดหวังว่าผู้ที่เข้ามาชมงานจะสามารถรับรู้ผ่านสิ่งที่เราออกแบบ ที่สำคัญคือผู้ชมสามารถจับประเด็นและสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อต่อยอดกับสิ่งรอบๆ ตัว เพราะสิ่งที่เราสื่อสารคือ เรากำลังหยิบจับวัสดุใกล้ตัวมาผสมผสานกับเทคโนโลยี นั่นหมายความว่า ผู้ที่มาชมงานสามารถมองหาวัสดุอื่นๆ ที่ใกล้ตัวผู้ชมงานมากขึ้นไปอีก มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้