ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

ข่าว PR งานเปิด

เผยแพร่เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว

เริ่มแล้ว!! “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567”

ชูแนวคิด ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ 

ยกระดับต้นแบบการพัฒนาเมือง กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ



เปิดอย่างเป็นทางการแล้วกับ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567” หรือ “Bangkok Design Week 2024” (BKKDW2024) ภายใต้ธีม ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ใน 15+ ย่านทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมกิจกรรมกว่า 500 โปรแกรม คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 300,000 คน ผ่านงานออกแบบหลากหลายศาสตร์ ซึ่งถูกคิดมาเพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ ‘น่าอยู่’ ‘น่าลงทุน’ และ ‘น่าเที่ยว’ ยิ่งขึ้น พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสร้างต้นแบบการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครต่อไป


โดยในพิธีเปิดเทศกาลฯ (27 มกราคม 2567) ได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นพ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกนายกรัฐมนตรี 


นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และ ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมเปิดงาน


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การได้เห็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และพลังสร้างสรรค์ของคนจากหลากหลายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากกว่า 2,000 คน มาร่วมมือกันจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 7 นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกฝ่ายช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ ด้วยการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม อันจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันของธุรกิจไทยในระดับสากล

“การจัดเทศกาลฯ ในปีที่ 7 นี้ ทำให้เราได้เห็นภาพของการใช้เทศกาลงานออกแบบสร้างสรรค์ เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เติบโตและขยายไปสู่ต่างประเทศ อันจะช่วยสนับสนุนกระบวนการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ทำให้ผู้บริโภคในตลาดโลกมีความสนใจและต้องการซื้อสินค้าและบริการสร้างสรรค์ของไทยมากขึ้น ฉะนั้นงานนี้จะเป็นพลังให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยต่อไป” นายเศรษฐา กล่าว


ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า การจัดเทศกาลฯ ในทุก ๆ ปีที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนำไปสู่การพัฒนาองค์ประกอบสำคัญของการสร้างนิเวศแห่งความสร้างสรรค์ อันได้แก่ ธุรกิจ ผู้คน และพื้นที่ โดยการจัดงานทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1,948 ล้านบาท นอกจากนี้ เทศกาลฯ ยังได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการผลักดันให้กรุงเทพฯ เติบโตในฐานะเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาการออกแบบ หรือ Bangkok City of Design อีกด้วย

“เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงทำหน้าที่เป็น ‘แพลตฟอร์ม’ ที่สื่อสารเรื่อง ‘คน ธุรกิจ ย่าน และเมืองสร้างสรรค์ ไม่ใช่ ‘อีเวนต์’ ที่จัดขึ้นแล้วจบไป แต่มีการนำเสนอความคิดและการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยรวมไอเดียจากนักสร้างสรรค์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้ CEA ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับกรุงเทพมหานคร กับการมอบโจทย์จริง ‘HACK BKK’ เพื่อให้กลุ่มนักสร้างสรรค์ได้ทดลองออกไอเดียแก้ปัญหาเมืองจากโจทย์ที่มีอยู่จริง โดยหวังว่าแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดและปรับใช้งานจริงในเมืองต่อไป” ดร. อรรชกา กล่าวเสริม


ด้านนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ภายใต้แนวคิด ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่กำลังชวนทุกคนมาร่วมกันลงมือทำ เพื่อผลักดันให้เกิดการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยไปสู่ตลาดโลก 

“เทศกาลฯ จึงเป็นเสมือนแหล่งรวมแนวคิดและผลผลิตใหม่ ๆ ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของเมือง ที่เป็นเหมือนวัตถุดิบให้ภาครัฐและเอกชน ได้นำไปส่งเสริมและต่อยอดให้เข้มแข็ง และเมื่อสามารถทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมจะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีพลังดึงดูดผู้คนให้สนใจและกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมต่อตั้งแต่ระดับการค้า การลงทุน ไปจนถึงการเดินทางมาท่องเที่ยวและอยู่อาศัยในประเทศไทยมากขึ้น” นางสาวแพทองธาร กล่าว


“เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567” หรือ “Bangkok Design Week 2024” (BKKDW2024) เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมือง ‘น่าอยู่’ ‘น่าลงทุน’ และ ‘น่าเที่ยว’ ที่ ‘น่ารัก’ กับทั้งผู้คนในเมือง นักลงทุน และผู้มาเยี่ยมเยือน ผ่านหัวใจสำคัญ 3 มิติ ได้แก่

  • Hard Matters เมืองดีต่อกาย กายภาพดี เข้าถึงง่าย เชื่อมโยงผู้คน ให้อยู่สบาย มีสุขภาพดี
  • Heart Matters เมืองดีต่อใจ ใส่ใจผู้คน กิจกรรมหลากหลาย วัฒนธรรมแข็งแรง
  • Design Matters เมืองออกแบบดี ชีวิตดี หัวใจในการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และเศรษฐกิจ


เทศกาลฯ นำเสนอกิจกรรมกว่า 500 โปรแกรมที่ครอบคลุมทั้งในรูปแบบการจัดแสดง (Exhibition) เสวนา (Talk) เวิร์กช็อป (Workshop) อีเวนต์ (Event) ดนตรีและการแสดง (Music & Performing) ทัวร์ (Tour) ตลาด (Market) และโปรโมชัน (Promotion) ใน 15 ย่านและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ (1) เจริญกรุง – ตลาดน้อย (2) พระนคร (3) ปากคลองตลาด (4) นางเลิ้ง (5) เยาวราช (6) หัวลำโพง (7) อารีย์ – ประดิพัทธ์ (8) บางโพ – เกียกกาย (9) วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู (10) เกษตรฯ – บางบัว (11) พร้อมพงษ์ (12) สยาม – ราชเทวี (13) บางกอกใหญ่ – วังเดิม (14) พระโขนง – บางนา (15) บางมด และพื้นที่อื่น ๆ ดังนี้

1. Exhibitor Program ผลงานออกแบบในสาขาที่หลากหลายที่แก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งยังสามารถต่อยอดนำไปใช้ได้จริงอย่าง Special Project: ‘HACK BKK’ โจทย์จริงที่

ท้าทายความสามารถนักออกแบบร่วมกันเสนอแนวทางและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยมีผู้คนเป็นศูนย์กลาง เป็นต้น

2. Academic Program กิจกรรมที่ส่งเสริมการแสดงศักยภาพและเตรียมความพร้อมนิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้ได้ก้าวสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างเต็มตัว

3. Business Program กิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างรายได้และการจ้างงานในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง Partnership Program และ Creative Market & Promotion ตลาดนัดสร้างสรรค์ ทั้งทางออนไซต์และออนไลน์

4. International Program กิจกรรมสร้างเครือข่ายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักออกแบบไทยและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และการเชื่อมต่อเพื่อขยายโอกาสให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย

5. Local Community Program โครงการพัฒนาย่านที่เน้นการลงมือทำร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่

6. Lively Program อีเวนต์สร้างความเคลื่อนไหว เติมเต็มบรรยากาศสร้างสรรค์ และเพิ่มสีสันให้กับพื้นที่ เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้าถึงเทศกาลฯ มากขึ้น ทั้ง Music & Performing Tour และ Open House

แชร์