ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : สยาม - ราชเทวี

เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : สยาม – ราชเทวี

เปิดประตู-รับรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนสร้างสรรค์ที่ซุกซ่อนไว้ใจกลางกรุงเทพฯ


เมื่อพูดถึง ‘สยาม – ราชเทวี’ สิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงย่อมเป็นภาพของทำเลทองระดับพันล้านซึ่งเป็นจุดนัดพบสำคัญของเหล่าวัยรุ่นมาแล้วทุกยุคทุกสมัย จากการเติบโตของห้างสรรพสินค้า ครีเอทีฟสเปซ ร้านค้าและร้านอาหาร ที่ผลัดเปลี่ยนกันทั้งเปิดขึ้นใหม่และล้มหายตายจากไปอย่างรวดเร็ว ขนาดที่ว่าถ้าคุณไม่ได้แวะมาที่สยามสักหนึ่งปี กลับมาอีกทีอาจจำที่นี่แทบไม่ได้แล้ว


ท่ามกลางบรรยากาศที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วในระดับวินาที สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้คือที่นี่ยังมีชุมชนหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ใจกลางพื้นที่ไม่ต่างจากไข่แดงท่ามกลางไข่ขาว โดยรักษาความสงบ วิถีชีวิต และบรรยากาศที่เนิบช้าเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ราวกับว่านาฬิกาของชุมชนแห่งนี้เดินคนละ Speed กับพื้นที่โดยรอบ และชุมชนที่ว่านี้ก็คือ ‘ชุมชนบ้านครัว’ นั่นเอง


อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของชุมชนบ้านครัว รวมถึงแผนในการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างไข่แดงและไข่ขาว ภายในงาน Bangkok Design Week ในครั้งนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ชวนไปตามหาคำตอบกับ ‘อาจารย์อ้น-ธนสาร สุทธาบัณฑิตพงศ์’ และ ‘อาจารย์มาร์ค-ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์’ ตัวแทนจากเครือข่ายนักพัฒนาเมืองและชุมชนบ้านครัว และ ‘คุณแอน-อิสริยา ปุณโณปถัมภ์’ ตัวแทนจากสถาบันอาศรมศิลป์ ผู้ร่วมกันเป็นแกนนำในการเป็น Co-host ประจำย่าน สยาม – ราชเทวี 


ความสงบนิ่งของวิถีมุสลิมเชื้อสายจาม ท่ามกลางย่านที่เปลี่ยนแปลงทุกวินาที


สถานที่ที่เป็นจุดศูนย์กลางในการออกแบบเทศกาล Bangkok Design Week ย่านสยาม – ราชเทวีในครั้งนี้ คือ 

‘ชุมชนบ้านครัว’ ชุมชนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายจาม ซึ่งอาจารย์อ้นและอาจารย์มาร์คให้คำนิยามว่าเป็น ‘ชุมชนไข่แดงท่ามกลางไข่ขาว’ ที่นอกจากจะมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและอัตลักษณ์ที่ชัดเจนแล้ว ที่นี่ยังสามารถคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าผ่านความเปลี่ยนแปลงทั้งทางวัฒนธรรมและกายภาพมาแล้วหลากหลายรูปแบบ


“บ้านครัวมีฐานความเป็นชุมชนเก่าแก่ริมคลองแสนแสบที่แข็งแรง มีประวัติศาสตร์อยู่เดิม คือเป็นกองอาสาจามที่อพยพมาจากกัมพูชาตั้งแต่สมัยอยุธยา และมาตั้งรกรากอยู่ริมคลองแสนแสบใกล้กับจิม ทอมป์สัน โดยชุมชนบ้านครัวก็เป็นแหล่ง Supply ผ้าไหมที่ทอผ้าเป็นผืนให้ทางจิม ทอมป์สันมานานแล้ว เลยมีประวัติศาสตร์ชุมชนที่เกี่ยวพันกับการทอผ้าอยู่เดิม


เดิมชุมชนเป็นชุมชนใหญ่ชุมชนเดียว แต่กายภาพมีการตัดคลองแสนแสบ และตัดถนนบรรทัดทอง ปัจจุบันก็เลยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ชุมชนบ้านครัวตะวันตก บ้านครัวเหนือ บ้านครัวใต้ ตามถนนกับคลองที่ตัด การพัฒนาทำให้ชุมชนเขาถูกแบ่งแยกออกไป แถมยังอยู่คนละเขตอีกต่างหาก” 


“เราสนใจบ้านครัวในฐานะที่เป็นไข่แดงท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง คือเป็นชุมชนที่มีระดับความเร็ว ช้ากว่าสิ่งแวดล้อมโดยรอบ คือสยามมีรถไฟฟ้า มีย่านพาณิชยกรรม มีกิจกรรมที่มีคนต่างชาติเข้าไปในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ แต่ทำไมความเปลี่ยนแปลงด้านนอกทำอะไรเขาไม่ได้เลย เหมือนจะเป็นที่นาฬิกาของชุมชนเดินคนละสปีดกับพื้นที่โดยรอบ เราเลยสนใจว่าทำไมพื้นที่ตรงนี้มันปิดตัว และมีความเปลี่ยนแปลงช้ากว่า” 


เปิดบ้านสู่การเป็นครัวอาหารฮาลาลใจกลางกรุง


จากความสนใจแรกเริ่มในครั้งนั้น สู่แรงบันดาลใจในการเข้ามาเรียนรู้และทำความรู้จักกับชุมชนบ้านครัวอย่างจริงจัง อาจารย์ทั้งสองพบว่าสิ่งที่ทำให้บ้านครัวกลายมาเป็นชุมชนที่ปิดตัวและแยกตัวเองห่างจากโลกภายนอก มีปัจจัยสำคัญอยู่สองประเด็นด้วยกัน คือความไม่ชัดเจนของที่อยู่อาศัย และแง่มุมทางศาสนา


“พอเข้าไปศึกษาจริงๆ เราเลยได้รู้ว่าชุมชนตรงนี้เป็นชุมชนที่มีความเทาๆ คือมีสภาพแบบกึ่งแออัดและเป็นชุมชนดั้งเดิมผสมอยู่ ก็คือจะมีบ้านเช่าอยู่พอสมควร และบ้านบางส่วนก็จะมีเรื่องของความไม่ถูกต้องเรื่องของที่อยู่อาศัย คือการไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง ประกอบกับพื้นที่ชุมชนที่มีลักษณะเป็นพื้นที่เอกชนคั่นกับพื้นที่ของกรมธนารักษ์เล็กๆ น้อยๆ ทำให้การพัฒนายังคงไว้ได้อยู่เพราะว่ามันไม่ใช่พื้นที่แปลงใหญ่ผืนเดียวที่ใครจะซื้อไปได้


และอีกส่วนหนึ่งก็คือการที่บ้านครัวเป็นสังคมมุสลิม ซึ่งมีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเป็นระบบปิด มีปฏิสัมพันธ์กับคนศาสนาอื่นได้ลำบาก และไม่ได้สะดวกมากนัก เนื่องจากมีข้อห้ามทางศาสนาและระเบียบปฏิบัติที่ค่อนข้างเคร่ง เมื่อมาผสมรวมกับพื้นที่ที่เป็นที่ปิด เป็นตรอกซอยแคบ ที่นี่เลยเหมือนตัดขาดจากโลกภายนอก”


เมื่อได้โจทย์ที่สำคัญมาแล้ว ทางทีมก็ตัดสินใจลองเข้าไปพูดคุยกับเครือข่ายที่ทำงานอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนานอย่างสถาบันอาศรมศิลป์ จึงได้ทราบว่าความพยายามในการเปิดย่านให้เชื่อมต่อกับพื้นที่พาณิชยกรรมภายนอก เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเล็กๆ ภายในชุมชนนั้นเริ่มต้นขึ้นหลายปีมาแล้ว


“ทางอาศรมศิลป์ที่ทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัย เขาทำมา 4-5 ปีแล้ว คือพยายามเปิดพื้นที่และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจให้เขาเห็น เช่น ทำอาหารขาย Grab การเอาเรื่องของวัฒนธรรมมาต่อยอดทางเศรษฐกิจ หลักๆ จะเป็นเรื่องอาหาร และบางพื้นที่ยังมีไปถึงการทำโฮมสเตย์เลย”


เมื่อภายในชุมชนเคยมีการริเริ่มเอาไว้อยู่แล้ว การชวนมาร่วมในเทศกาล Bangkok Design Week จึงไม่ใช่เรื่องยาก และเป้าหมายที่เครือข่ายนักพัฒนาเมืองและชุมชนบ้านครัวอยากพาชุมชนที่เคยปิดตัวอย่างสงบนี้ไปถึงให้ได้ผ่านการเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้ คือการเปลี่ยนให้ ‘บ้านครัว’ กลายมาเป็นครัวอาหารมุสลิมใจกลางเมืองที่สำคัญของกรุงเทพฯ ให้ได้


“เราอยากทำให้การเปลี่ยนแปลงภายนอกเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เขารู้สึกได้โอกาสทางเศรษฐกิจ และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย (Housing) ให้ถูกต้อง นี่คือโจทย์ที่ใหญ่ที่สุด แต่ในเชิงกระบวนการ เราจะหยิบเรื่องอาหารมุสลิมซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนอยู่มาใช้


คนภายนอกก็จะมีแหล่งอาหารเพิ่ม คนมุสลิมก็จะมีแหล่งอาหารขนาดใหญ่อยู่ใกล้ๆ ย่านใจกลางเมือง นักท่องเที่ยว คนแถวนั้น ก็จะมีแหล่งอาหารอยู่ไม่ไกล รวมถึงยังเป็นโอกาสที่ทำให้ทุกคนได้สังเกตและเข้าใจเพื่อนบ้านรอบตัวที่อาจจะมีวิถีชีวิต ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเราด้วย”


เติมความร่วมสมัยในชุมชนเดิม สัมผัสตำนานดั้งเดิมในพื้นที่ใหม่


เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ทางทีมอธิบายว่าสิ่งที่พวกเขาอยากทำให้เกิดขึ้นภายในเทศกาล Bangkok Design Week คือ ‘กระบวนการแลกเปลี่ยนถ่ายเทวัฒนธรรม’ ระหว่างชุมชนดั้งเดิมภายในย่านอย่างชุมชนบ้านครัว และโลกภายนอก โดยเฉพาะพื้นที่สร้างสรรค์ที่เป็นศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่อย่าง GalileOasis


 “อย่างที่บอกว่าเราสนใจแง่มุมความช้าและความเร็ว ความเก่าและความใหม่ที่มันเชื่อมโยงกับบ้านครัวและพื้นที่รอบๆ ในครั้งนี้เราเลยพยายามมาคิดว่าแล้วการถ่ายเทกันระหว่างบ้านครัวกับพื้นที่ใหม่ๆ ที่มันเดินทางด้วยคนละสปีด มันจะทำงานผ่านดีไซน์วีคยังไง เราก็เลยไปชวน GalileOasis ซึ่งเป็น Lifestyle & Art Space สมาชิกใหม่ของย่านที่กำลังฮิตมากๆ มาคุยกัน


สิ่งที่เราพบก็คือในช่วงเวลาแค่ปีกว่าๆ ที่มาอยู่ที่นี่ เขาเองก็พยายามมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน และพยายามที่จะเป็นเพื่อนบ้านใหม่ที่ดีอยู่ตลอด เราก็เลยรู้สึกว่า GalileOasis เป็นสเปซที่ทำให้คนใหม่ๆ เข้ามาในย่านนี้ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของที่นี่ บางทีเขาอาจจะไม่เคยรับรู้เลยก็ได้ว่ามันมีชุมชนในลักษณะนี้อยู่ เราเลยจะหยิบยืมองค์ประกอบบางอย่างของชุมชนบ้านครัว เข้ามาใส่ใน GalileOasis และเอาลักษณะบางอย่างของการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่เป็นสมัยใหม่ใส่เข้าไปในชุมชนบ้านครัว คือพยายามจะสร้างการรับรู้ที่มันถ่ายเทกันระหว่างการปรากฏตัวของโลกอีกหนึ่งใบในสเปซนั้น


เช่น พอเราอยู่ใน GalileOasis เราสามารถรับรู้การมีอยู่ของชุมชนบ้านครัวได้อย่างไร ซึ่งแต่เดิมเขาไม่ได้รับรู้หรอก เขาก็จะมากินกาแฟ ถ่ายรูป แล้วกลับไป เหมือนกับว่ามันเป็น theme park อันหนึ่งของการท่องเที่ยวที่คนมาและจากไป ซึ่งเราพยายามที่จะทำภาพสะท้อนบางอย่างของพื้นที่บ้านครัวให้เข้าไปใน GalileOasis เพื่อทำให้คนรับรู้ถึงการ coexist การอยู่ร่วมกันของลักษณะบุคลิกอื่นที่มีอยู่ในย่านที่ปรากฏตัวเข้ามาในพื้นที่ที่เขาสนใจ คนที่มาก็จะสัมผัสถึงความเป็นชุมชนมุสลิม ในขณะเดียวกันคนในชุมชนมองกลับไปก็อาจจะมองเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น”


ชวนแลกเปลี่ยนมุมมองของ ‘บ้านเรา’ และ ‘บ้านเพื่อน’


“โดยพื้นฐานเรารู้จักโลกมุสลิมน้อยมาก ได้ยินแต่ว่ามีกำแพงบางอย่างที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องทำแบบนั้นแบบนี้ หรือมีข้อกำหนดต่างๆ ผมคิดว่าตัวผมเองก็มารู้จักกับโลกของมุสลิมตอนที่เข้ามาทำงานนี้นี่เอง แล้วก็มองเห็นว่ามีความท้าทายหลายระดับมาก”


ความท้าทายหลักของการทำงานกับชุมชนที่วิถีชีวิตมีความเกี่ยวพันกับหลักศาสนาคือการบาลานซ์การสร้างความเป็นไปได้ในการเกิดสิ่งใหม่ในพื้นที่โดยไม่ยัดเยียดและทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิม ซึ่งอาจนำไปสู่แรงต้านและความรู้สึกไม่สบายใจในการทำงานร่วมกัน โปรแกรมที่เกิดขึ้นในงาน Bangkok Design Week ในครั้งนี้จึงถูกคิดโดยไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการผสานแนวคิดเก่า-ใหม่เข้าด้วยกัน แต่อาจารย์มองว่าเป็นการทำให้ชุมชนบ้านครัว และ GalileOasis มองเห็นอีกฝ่ายเป็น ‘เพื่อนบ้าน’ ที่เราสามารถแวะเวียนไปทักทายได้เป็นครั้งคราว และกลับบ้านได้ทุกเมื่อยามที่เริ่มรู้สึกไม่สบายใจ


“ตอนพยายามดีไซน์โปรแกรม เราไม่ได้มองว่าชุมชนกับ GalileOasis ต้องผสานเป็นเนื้อเดียวกัน แต่อยากให้เป็นเหมือนกับว่าเรามี ‘บ้านเรา’ และ ‘บ้านเพื่อน’ คือเราไม่ต้องอยากไปก็ได้ หรือเพื่อนไม่ต้องอยากมาบ้านเราก็ได้ เพราะว่าบ้าน 2 หลังไม่มีทางทุบรวมเป็นหลังเดียวได้อยู่แล้ว แต่ว่าจะทำยังไงให้บ้านเราและบ้านเพื่อนอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวได้ยาวๆ” 


โดยภายในงานก็จะมีตั้งแต่ เวิร์กช็อป, การจัดทริป, ตลาดอาหาร, นิทรรศการ ฯลฯ ที่สามารถแบ่งโครงสร้างง่ายๆ ได้เป็นการนำวิถีชีวิตแบบบ้านครัวออกมาทดลองตีความใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นที่ GalileOasis และการนำความคิดสร้างสรรค์เข้าไปทำงานร่วมกับพื้นที่ย่านซึ่งจะเกิดขึ้นภายในชุมชน


กิจกรรมส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นที่ GalileOasis


“โปรแกรม​โยคะสำหรับผู้หญิงมุสลิม จริงๆ แล้วเป็นข้อสงสัย เราคุยกันว่า มันมีลานกีฬาพัฒน์ เราก็เห็นวัยรุ่นมาวิ่งอยู่ แต่ผมไม่เห็นผู้หญิงมุสลิมออกกำลังกายเลย สุดท้ายก็ได้มารู้ว่ามันมีประเด็นว่าผู้หญิงมุสลิมไม่สามารถถอดฮิญาบออกต่อหน้าคนที่ไม่ใช่คนในครอบครัวได้เลย และพอไปทานอาหารก็มีขนม ของกินเยอะมาก มันอุดมสมบูรณ์มาก อาหารรสชาติหวาน มีโอกาสที่ทำให้เพิ่มน้ำหนักได้มาก ก็เลยมีไอเดียว่าอยากสร้างให้มีพื้นที่ที่ผู้หญิงมุสลิมสามารถมาออกกำลังกายได้ เป็นฟิตเนสสำหรับผู้หญิง ซึ่งก็เป็นโปรแกรมที่เรารู้สึกว่าท้าทาย


หรือว่าอีกอันที่เป็นโปรแกรมที่เกี่ยวกับการนวด เป็นการสัมผัส การแตะตัวกันที่ท้าทายในเชิงที่ว่าชุมชนมุสลิมค่อนข้างมีระยะห่างระหว่างบุคคลสูง เขาไม่ได้แตะตัวกันง่ายๆ ก็เป็นความท้าทายว่าถ้าเราลองทำให้เกิดขึ้น คนในบ้านเองเขาจะสัมผัสกันแบบไหนบ้าง เขากอดกันมั้ย ให้ความรักกันมั้ย เราก็มองว่าถ้ามีกิจกรรมนวดผ่อนคลายแบบนี้ มันอาจจะทำให้ช่องว่างระหว่างวัยจากช่วงอายุที่หลากหลายในชุมชนลดลง และมีการถ่ายทอดความรู้สึกที่ดีต่อกันผ่านการสัมผัส ทำลายข้อกำหนดบางอย่างของศาสนาไปบ้าง แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ 


แล้วก็จะมีเวิร์กช็อปภาษาอารบิกร่วมสมัยที่เราพยายามเปิดพื้นที่ให้กับคนข้างนอกเข้าไปทำเวิร์กช็อปเขียนตัวอักษรอารบิก คือตอนที่เราเห็นข้อมูล เรารู้สึกว่าตัวอักษรอารบิกมันสวยมากในเชิงกราฟิก และในต่างประเทศมีการพัฒนาตัวอักษรนี้ไปในเชิงกราฟิกดีไซน์เยอะมาก ก็จะมีคนในชุมชนบ้านครัวที่เป็นศิลปินไปสอนเวิร์กช็อปที่ GalileOasis ด้วยตัวเอง”


กิจกรรมส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นที่ ชุมชนบ้านครัว 


“อาหารกับการท่องเที่ยว อันนี้เป็นสิ่งที่ชุมชนอยากทดลองทำที่สุด สิ่งที่คุยกันแล้วชุมชนสนใจมากๆ คือการทำเวิร์กช็อปอาหารกับคนในชุมชนที่เป็นสูตรโบราณ ได้แก่ เวิร์กช็อปเนื้อสะเต๊ะ สูตรโบราณดั้งเดิม, เวิร์กช็อปปั้นกะหรี่ปั๊บ, การตีแผ่นโรตี ทางชุมชนอยากให้คนที่มาได้ทดลองทำ และอยากทดลองทำ cuisine หรือ chef table ในบ้านครัวด้วย มี 3 หลังที่สนใจมากอยากลองทำ


มีไอเดียการทดลอง เครื่องแกงส้มเขมร แกงชื่อแปลกๆ หลายแกง ที่เราไม่ค่อยรู้จัก เลยรู้สึกว่าชุมชนมีความสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็น DIY ได้ สามารถทำเป็นแพ็ก ready-to-eat ได้ นอกจากประวัติศาสตร์พื้นที่ สถาปัตยกรรมแล้ว จะมีประวัติศาสตร์อาหารด้วยที่รู้สึกว่าน่าสนใจ มีความแตกต่างทางวัตถุดิบ ที่มา และการถ่ายทอดสูตรที่เป็นรุ่นสู่รุ่น มีคุณค่าบางอย่างที่หากนำไปพัฒนาหรือต่อยอดให้เป็นสินค้า อาจจะไปไกลในระดับที่สามารถเลี้ยงดูชุมชนได้ เป็นความท้าทายของโลกสมัยใหม่ว่าชุมชนจะยอมเปิดเผยสูตรไหม จะทำยังไง ผลิตภัณฑ์นี้จะมีคนช่วยแล้วไปสู่เซเว่นฯ เลยไหม 


แล้วก็จะมีทริปเดินเที่ยวย่าน 2 เส้นทางในธีมประวัติศาสตร์ที่กินได้ โดย route แรกจะเน้นเรื่องประวัติศาสตร์ คือจาก Jim Thompson การทอผ้าไหมของชุมชน แวะไปทานอาหารที่บ้าน 100 ปี ก่อนจะมาจบที่มัสยิดเพื่อเรียนรู้ประวัติเรื่องราวของชุมชน ส่วน route ที่ 2 จะเป็นเรื่องการพัฒนาชุมชน เริ่มต้นที่ลานกีฬาพัฒน์ แลนด์มาร์กติดชุมชนที่ครั้งหนึ่งเคยต้านทางด่วนเอาไว้ได้ เข้ามาบริเวณบ้านเก่า ไปที่มัสยิดและมาจบที่บ้าน 100 ปี และจะมีเรื่องของการฟื้นฟูชุมชนผ่านศิลปะเข้ามาเกี่ยวด้วย โดยจะจบทริปของเส้นทางที่ 2 ด้วยการไปแปะเซรามิกที่ทำงานเศษกระเบื้องแตกที่ผนังบ้านที่ทำผ้าไหมบ้านลุงวิพลเพื่อเล่าเรื่องราวของชุมชน ก็จะเป็น 2 เส้นทางที่เป็นคนละทาง ตั้งใจให้เป็นต้นแบบงาน ให้หลังจบงานชุมชนสามารถนำไปทำทัวร์ต่อเองได้


และสุดท้ายที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ ช่วงดีไซน์วีคจะจัดตรงกับงาน อศบ. ซึ่งเป็นงานใหญ่ของชุมชนที่ 1 ปีจัดหนึ่งครั้งเพื่อระดมทุนการศึกษาให้เด็กที่เรียนที่มัสยิดด้วย เหมือนเป็นวันรวมญาติของบ้านครัว ซึ่งก็สามารถเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตแบบชุมชนแท้ๆ ได้ รวมถึงในชุมชนก็จะมีการใช้ดีไซน์มาปรับปรุงกายภาพพื้นที่ที่เป็นทางผ่านเข้าไปที่งานด้วย ไม่ว่าจะเป็นการติดไฟ, Lighting Installation หรือนิทรรศการที่เล่าเรื่องราวชุมชน ก็อยากชวนให้ลองเข้ามาเที่ยวกัน”


เตรียมตัวเข้ามาสัมผัสกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเปิดบ้านครั้งใหญ่ของชุมชนบ้านครัวได้ที่ Bangkok Design Week 2024 ย่านสยาม – ราชเทวี


รู้จักกับ ‘ย่านสยาม – ราชเทวี’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่าน


สำรับบ้านครัว : มุสลิม มุ-สลิม YOGA

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/72015 


สำรับบ้านครัว : อาราบิก แฮนบุ๊ค

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/89031 


สำรับบ้านครัว : ต้นแบบ เครื่องแกงส้มเขมร พร้อมปรุง

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71250  


สำรับบ้านครัว : ทัวร์ประวัติศาสตร์ทานได้ 01

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71192 


คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านสยาม – ราชเทวี ที่นี่ : 

ย่านสยาม www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=50629 

ย่านราชเทวี www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=84248 


Bangkok Design Week 2024

Livable Scape

คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

27 Jan – 4 Feb 2024


#BKKDW2024

#BangkokDesignWeek

#LivableScape

แชร์