ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : เกษตรฯ - บางบัว

เผยแพร่เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : เกษตรฯ – บางบัว

“ร่วมมือกับเพื่อนบ้าน สร้างสรรค์ย่านเรียนรู้ให้น่าอยู่สำหรับทุกคน”


“มอเกษตร’ ใหญ่เหมือนมีเมืองทั้งเมืองอยู่ข้างในเลย!” คือคำนิยามที่หลายคนมักจะมีเมื่อพูดถึง ‘ย่านเกษตร’ แต่นอกจากเมืองทั้งเมืองที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยแล้ว สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้คือพื้นที่รายรอบยังมีชีวิตและความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบดำเนินอยู่ควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนต่างๆ ที่อยู่คู่กับมหาวิทยาลัยมาอย่างยาวนาน หรือย่านที่อยู่อาศัยและกิจการที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทั้งนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยที่เพิ่มจำนวนขึ้น


ในฐานะ Co-host น้องใหม่ของวงการย่านสร้างสรรค์ที่ร่วมจัดงาน Bangkok Design Week ปีนี้เป็นปีที่สอง ‘คณะก่อการย่านเกษตร’ มองความท้าทายและโอกาสในการทำงานกับพื้นที่ย่านเอาไว้อย่างไร มาร่วมหาคำตอบไปด้วยกัน


เมืองและมหาวิทยาลัยที่หลอมรวมกันอย่างกลมกลืน


คณะก่อการย่านเกษตรอธิบายว่าถึงแม้ ‘ย่านเกษตรฯ – บางบัว’ จะเริ่มต้นขึ้นมาโดยมีพื้นที่หลักอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่สิ่งที่พวกเขาค้นพบหลังจากที่ทำงานในพื้นที่ คือชุมชนและรูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆ ที่ฟอร์มตัวขึ้นโดยรอบ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการมีอยู่ของมหาวิทยาลัยอย่างมีนัยสำคัญ


“นอกจากโซนมหาวิทยาลัยแล้ว เรายังมองไปว่ารอบๆ เกษตรมันมีชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนที่เผลอๆ อยู่มาก่อนเกิดเกษตรด้วยซ้ำ ส่วนมากจะอยู่ตามริมคลอง อย่างบางเขนจะมีชุมชนริมน้ำต่างๆ อยู่เยอะ เช่น ชุมชนบางบัว ชุมชนบึงกุ่ม ชุมชนโรงสูบ ที่อยู่กับมหาวิทยาลัยมานานมาก


นอกจากนี้ตั้งแต่มีบ้านบุคลากรต่างๆ เข้ามา พอเราได้ลงไปศึกษาชุมชน ก็ได้พบว่า คนที่อยู่ในชุมชนก็เป็นพนักงานที่ทำงานซัพพอร์ตมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ภารโรงไปจนถึงอาจารย์ แล้วก็มีกิจการต่างๆ ที่ซัพพอร์ตคนกลุ่มนี้ เช่น ร้านอาหารและคาเฟ่ต่างๆ เกิดขึ้นมาด้วย เราก็เลยมองว่ามันเป็นความสัมพันธ์หนึ่งในพื้นที่ที่น่าสนใจ”


อีกหนึ่งสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นโอกาสของย่านเกษตร คือตำแหน่งที่ตั้งที่ครอบคลุมพื้นที่การเดินทางสัญจรสำคัญภายในเมืองหลากหลายรูปแบบ


“นอกจากเรื่องของชุมชนแล้ว ที่เราสนใจคือเกษตรยังเป็น hub ของ transit หลายๆ ทาง เช่น รถไฟฟ้า 2 สาย เกษตรจะอยู่ตรงกลาง หรือท่ารถที่กระจายไปสู่เมืองต่างๆ หลายๆ เมือง มองว่าเป็นพื้นที่ตรงกลางแบบหนึ่ง มองว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ภาพรวมเราจึงมองว่าเกษตรมันมีหน้าตาประมาณนี้” 


อัตลักษณ์ที่รอวันสร้าง


เมื่อย่านเกษตรเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ที่บรรจุทั้งมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบหลากหลายชุมชนไว้ด้วยกัน หนึ่งในความท้าทายของคณะก่อการย่านเกษตร จึงเป็นการหาคำนิยามให้กับย่าน ว่าอะไรกันแน่คือ ‘อัตลักษณ์’ ของย่านเกษตร


“จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังตอบได้ไม่ชัดว่าย่านเกษตรมีอัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์แบบไหน มันไม่ได้เห็นชัดเจนเหมือนย่านพระนครที่มีอาคารเก่า หรือปากคลองตลาดที่มีดอกไม้ อย่างเกษตรถ้าพูดถึงสิ่งที่เห็นด้วยตามันจะยังไม่ค่อยเห็น


สิ่งนี้ก็เลยเป็นหนึ่งในโจทย์ที่เรากำลังพยายาม explore อยู่ แต่ถึงแม้จะยังหาอัตลักษณ์ที่ชัดเจนไม่ได้ เราก็ตั้งใจว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นก็จะเป็นการซัพพอร์ตชุมชน และซัพพอร์ตคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ถ้าได้ทำต่อไปเรื่อยๆ วันนึงเราก็อาจจะหาเจอก็ได้ว่าเกษตรที่ทุกคนอยากเล่าเป็นแบบไหนกันแน่”


เชื่อมต่อทั้งย่านให้กลายเป็นเพื่อนบ้านใน Kaset Neighborhood


คณะก่อการย่านเกษตรเล่าย้อนไปถึงประสบการณ์ในการจัดงาน Bangkok Design Week ปีก่อนว่าสิ่งที่พวกเขาปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญคือการที่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงชุมชนต่างๆ ตลาด และมหาวิทยาลัย ให้มามีส่วนร่วมกับกระบวนการได้เท่าที่ควร ในปีนี้พวกเขาเลยตั้งเป้าหมายหลักเป็นการดึงคนในพื้นที่ให้มามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างให้คนกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันนี้มีความเป็น ‘เพื่อนบ้าน’ กันจริงๆ มากขึ้น


“เราตั้งชื่อเล่นของธีมงานย่านเกษตรในครั้งนี้ว่า Kaset Neighborhood หรือ เกษตรเพื่อนบ้าน เพราะเรามองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน รวมทั้งคนที่อยู่รอบๆ ว่าจริงๆ เกษตรเป็นย่านที่มีหอพักเยอะมาก มีคนเข้ามาอยู่เพื่อทำงาน อยู่เพื่อเรียน หรือชุมชนที่อาจจะเคยเจอกันหรือไม่เจอกัน เรารู้สึกว่าอยากจะดึงชุมชนเหล่านี้ให้รู้สึกถึงความเป็นเพื่อนบ้านต่อกันมากขึ้น รู้สึกเป็นมิตรกัน


เราคิดว่าการสร้างความรู้สึกของการเป็นเพื่อนบ้านจะทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้นจริงๆ แล้วมันเกิดจากประเด็นเล็กๆ อย่างเช่น บางทีนิสิตมีการจัดกิจกรรมอยู่ข้างๆ ชุมชนใกล้เคียงก็อาจยังมีความไม่เข้าใจหรือเข้ามามีส่วนร่วม คือชุมชนไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนบ้านกันเท่าไหร่ เราเลยอยากสร้างโมเมนต์นี้ สร้างความรู้สึกนี้ให้เกิดขึ้นแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป”


เกษตรแฟร์ที่เป็นของคนในย่าน


สำหรับงาน Bangkok Design Week ในปีนี้ กิจกรรมหลักของย่านเกษตรคือการทำตลาดซึ่งเป็นศูนย์รวมตัวผู้ประกอบการ และสินค้าต่างๆ โดยพวกเขาให้คำนิยามว่าอยากให้เป็นเหมือน ‘งานเกษตรแฟร์ของคนในย่าน’ ที่เลือกมาแล้วว่าคนมาออกร้านจะเป็นคนในย่านและกิจการในย่านมากกว่าร้านดังหรือแบรนด์ใหญ่จากพื้นที่อื่นๆ


“พูดตรงๆ ว่าหากมองเผินๆ อาจจะคล้ายกับเกษตรแฟร์ที่เป็นงานเฟสติวัล แต่หนึ่งในความต่างคือเราอยากจะ curate คนที่มาขาย และมาเข้าร่วมให้ค่อนข้างเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่นี้จริงๆ หรือว่ามีส่วนร่วมในพื้นที่นี้จริงๆ ซึ่งเราตั้งเป้าหมายว่าเป็นคนที่ขายอาหารลึกๆ อยู่ในชุมชน ซึ่งปกติถ้าเรามาอยู่ในที่หนึ่งเราอาจจะใช้เวลานานหน่อยในการค้นพบร้านเหล่านี้ และเขาเองก็ไม่ได้โปรโมตตัวเอง ไม่ได้ลงใน Grab ด้วยซ้ำ ก็จะเข้าถึงยาก ซึ่งร้านเหล่านี้ก็เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ด้วย ราคาก็อาจจะไม่ได้แพงด้วย เรามองเป็นในเชิงการซัพพอร์ตเศรษฐกิจระดับย่าน และในงานก็อาจจะมีกิจการเชิง art and craft เข้ามาเสริมด้วย เราอยากมองเข้าไปในรายย่อยมากกว่า ก็เลยจะต่างกับเกษตรแฟร์ที่ส่วนมากเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่


อาจจะชวนเขามาขายในพื้นที่ตลาด ซึ่งเป็นสวนสาธารณะตรงกลางของ community นี้ ให้เขาได้มาเจอกัน และชวนกลุ่มคนต่างๆ ในพื้นที่ ผู้ประกอบการรายย่อยที่อาจจะเพิ่งเริ่ม คนที่อยู่หออยู่คอนโดที่อาจจะเริ่มทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ให้ออกมาขาย ก็หวังว่าทุกคนจะได้มาเจอกัน และแลกเปลี่ยน contact รวมถึงอาจจะมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น การเล่นดนตรี มีการ enjoy กัน มีกิจกรรมประกวดภาพเก่า ให้ทั้งคนในชุมชนและคนที่มีประสบการณ์ร่วมกับเกษตรที่ผ่านมามาแชร์ภาพเก่าๆ ร่วมกัน หรืออาจจะมีกิจกรรมดูหนังกลางแปลง ให้คนในชุมชน walk-in เข้ามาดูได้ไม่ยาก ก็กำลังมองๆ กิจกรรมเหล่านี้อยู่ ซึ่งนำมาสู่การสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อไป


และยังมีกิจกรรมอื่นๆ ของทางมหาวิทยาลัย ที่เป็นเรื่องของการอนุรักษ์บ้านบุคลากรเก่าตั้งแต่ปี 2500 ที่กำลังจะถูกรื้อ จัดโดยอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่กำลังทำเรื่องการอนุรักษ์อยู่ เพราะอาคารนี้จริงๆ ก็อยู่ติดกับชุมชนในพื้นที่ เราเลยอยากทำให้คนทั้งภายในและภายนอกได้เห็นถึงความสำคัญของมันเพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ต่อไป อย่างตรงบางบัวเอง จะเป็นคอนเซปต์เรื่อง Third place – ความเป็นไปได้ใหม่ของการเป็นพื้นที่สันทนาการ ก็จะเป็นกิจกรรมเชิงไลฟ์สไตล์ของพาร์ตเนอร์ คือ ม.ศรีปทุม และ SC ASSET ที่เป็นการจัดแสดง Lighting Installation ตรงนี้ก็จะเป็นอีกกลุ่มกิจกรรมค่อนข้างใหญ่เลยที่มีภาคเอกชนมาร่วมมือในการพัฒนา


เราอยากเห็นความร่วมมือกันและกันของคนในพื้นที่ และอยากเห็นคนที่มาร่วมงานได้มา connect กันมากขึ้น อย่างคนนอกที่เข้าชมงาน BKKDW ก็อาจจะได้มาเจอกับชุมชน ก็อาจจะมี connection ต่อกันที่ไม่ใช่แค่ในย่าน แต่กระจายไปสู่คนจากพื้นที่อื่นหรือนักสร้างสรรค์คนอื่นๆ ในอนาคตที่อาจจะสนใจเข้ามาทำให้เกษตรมีความเป็นย่านสร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อประกาศว่าเกษตรกำลังเปิดรับบางอย่างอยู่ และหวังว่าชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมก็จะได้อะไรกลับไปเช่นกัน”


คณะก่อการย่านเกษตรปิดท้ายว่า การเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมที่หลากหลายเหล่านี้ในพื้นที่เดียว อาจจะกลายมาเป็นอัตลักษณ์ใหม่ของย่านเกษตรในอนาคตก็เป็นได้ แล้วคุณล่ะคิดอย่างไร? มาร่วมสร้างสรรค์คำนิยามใหม่ๆ ให้กับย่านเกษตรได้ที่งาน Bangkok Design Week 2024


รู้จักกับ ‘ย่านเกษตรฯ – บางบัว’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่าน


ตลาดผูกปิ่นโต Fair

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/70548 


BAMBOO MACHE MODULAR

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/87919 


LiVELY STREET FURNITURE 01 by Bangkok City Lab

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program


กาลครั้งหนึ่ง ณ บางเขน

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/70495 


คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านเกษตรฯ – บางบัว ที่นี่ :

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=49824    


Bangkok Design Week 2024

Livable Scape

คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

27 Jan – 4 Feb 2024


#BKKDW2024

#BangkokDesignWeek

#LivableScape

แชร์