ส่งต่อแรงบันดาลใจในการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ผ่าน Key Visual ของ BKKDW2024
เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว
ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ทุกปี ‘Key Visual’ ถือเป็นประตูด่านแรกในการสื่อสารแนวคิดและหัวใจสำคัญออกไปสู่ผู้คนในวงกว้างผ่านการออกแบบกราฟิกและงานภาพ ซึ่งในปีนี้ผู้ที่รับบทบาทสำคัญนี้คือ DUCTSTORE the design guru สตูดิโอออกแบบที่ขับเคลื่อนวงการกราฟิกไทยมากว่า 22 ปี และสร้างสรรค์ผลงานสำคัญระดับประเทศมาแล้วมากมาย เช่น JORAKAY PAVILION ASA 2023 ที่คว้ารางวัล Golden Pin Design Award สาขา Spatial Design จากประเทศไต้หวัน, Key Visual งานสถาปนิก’65, Key Visual งานสถาปนิก’67 รวมถึงเป็นเจ้าของ IAMEVERYTHING สื่อเกี่ยวกับงานดีไซน์ แฟชั่น และครีเอทีฟไลฟ์สไตล์
งานกราฟิกที่เรียบเท่แต่แฝงไว้ซึ่งความจัดจ้านและลูกเล่นสะดุดตาภายใต้ธีม ‘Livable Scape’ ในปีนี้มีที่มาอย่างไร วันนี้เราขอชวนมาฟัง หมู-นนทวัฒน์ เจริญชาศรี หัวเรือใหญ่ของสตูดิโอ เล่าเรื่องราวเบื้องหลังการออกแบบ Key Visual ประจำปีนี้ ตั้งแต่มุมมองที่เขามีต่อเมืองกรุงเทพฯ, บทบาทของนักสร้างสรรค์ ไปจนถึงการผสานแนวคิด Graphitecture หรือ Graphic + Architecture ต่อยอดไอเดียจนกลายเป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกสู่สายตานักออกแบบและผู้มาร่วมงานทุกคนในปีนี้
เพราะ ‘ครีเอทีฟ’ ของคนตัวเล็กๆ ช่วยพัฒนาเมืองในภาพใหญ่
“Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี เป็นการพูดถึงภาพรวมของเมือง การพัฒนาเมือง การวางผังเมือง การใช้ชีวิตในเมือง เราต้องการสื่อสารว่าอยู่ที่ไหนคุณก็ทำงานสร้างสรรค์ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ย่านเจริญกรุงที่เป็นพื้นที่หลักในการจัดงานหรืออยู่ย่านใจกลางเมือง งานครีเอทีฟสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่
เรามองว่าครีเอทีฟคือสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ การที่คนจะครีเอทีฟได้ต้องเริ่มจากการไม่ถูกบังคับ คนที่ไม่ได้ทำงานออกแบบหรืองานครีเอทีฟในเชิงวิชาชีพ เขาสามารถมีความครีเอทีฟในชีวิตประจำวันได้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งของ Bangkok Design Week คือเราอยากจุดประกายให้คนทั่วไปมี Creative Thinking โดยไม่จำเป็นต้องทำงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความคิดสร้างสรรค์ก็ได้ ไม่ว่าจะลงมือทำอะไร ค้าขายอะไร แต่งตัวยังไง เดินทางไปไหน เราใช้ความครีเอทีฟกับเรื่องเหล่านี้ได้ทั้งหมด
ธีมในปีนี้เราจึงพยายามสื่อสารในลักษณะของการเชิญชวนให้คนลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างในแง่ปัจเจกก็ได้ แล้วพอคนลงมือทำกันเยอะๆ ก็จะกลายเป็นการพัฒนาเมืองในภาพใหญ่”
จับแผนที่กรุงเทพฯ มาบอกเล่าความซับซ้อนแต่สนุก!
“Key Visual คือการตีความคอนเซปต์ของงานให้ออกมาเป็นภาษาภาพหรือกราฟิก เป็นการสื่อสารที่เราสามารถซ่อนลูกเล่นบางอย่างให้คนเห็นแล้วคิดตามหรือเอาไปคิดต่อยอดได้”
“เริ่มต้นจากย่านในเมืองของเรามันแทบไม่มีตรงไหนโล่งๆ เลย เอกลักษณ์กรุงเทพฯ คือความ Chaos ความ Massive เมื่อเรามองธีมงานปีนี้ผ่านสายตาสถาปนิกด้วยแนวคิดของกราฟิกแบบ แนวคิด Graphitecture (Graphic + Architecture) หรือการผสานมุมมองแบบกราฟิกและสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกัน เราจึงนำแผนที่กรุงเทพฯ มาออกแบบให้เป็นฟอร์มที่ซ้อนทับ เหลื่อมกัน เกิดเป็นฟอร์มใหม่ มีการเล่นกับ Figure and Ground (การตัดกันของภาพและพื้นหลัง)
พวกเส้นต่างๆ เราต้องการสื่อถึงถนนและย่านที่จัดงาน โดยเริ่มจากไปดูแผนที่แต่ละย่านที่จัดงานก่อนว่าหน้าตาเป็นยังไง แล้วนำมาปรับฟอร์มและวางซ้อนทับลงบนแผนที่กรุงเทพฯ มีการนำองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมในแต่ละย่านเข้ามาประกอบด้วย เพื่อให้คนเห็นแล้วรู้สึกถึงความซับซ้อน ความยุ่งเหยิง รวมถึงเอกลักษณ์ความเป็นย่านนั้นๆ”
“ส่วน Sub Key Visual และเทมเพลตสำหรับสื่อต่างๆ พยายามออกแบบให้คนอื่นเอาไปทำงานต่อได้ง่ายด้วย เลยกำหนดเป็นสี Solid ชัดเจนที่สื่อถึงแต่ละย่าน และมีลูกเล่นให้ดีไซเนอร์คนอื่นๆ เอาไปเล่นต่อได้หลายแบบ คุณสนุกกับมันได้ เล่นกับองค์ประกอบต่างๆ ได้ ไม่ใช่ CI (Corporate Identity) ที่มีกรอบบังคับตายตัว”
เพราะเมืองยังไม่ดี ดีไซน์จึงยิ่งสำคัญ
“ส่วนตัวคิดว่าเมืองที่น่าอยู่ควรเป็นเมืองที่ทุกคนใช้ชีวิตได้สะดวก ไม่ต้องรู้สึกเครียดกับชีวิตประจำวัน โจทย์ Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี จึงเกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้เมืองของเรายังไม่ค่อยดี แต่ถ้าช่วยกันลงมือทำ วันข้างหน้าเมืองจะยิ่งดี เรื่องสาธารณูปโภค ไลฟ์สไตล์ อาชีพ องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้เกี่ยวข้องกันหมด ไม่ใช่แค่ออกแบบเมืองให้สวยแล้วมันจะน่าอยู่ เมืองสวยแต่ไม่สร้างรายได้ ไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ดี ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แบบนี้ก็ไม่ตอบโจทย์ เราอยากอยู่ในเมืองที่ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งรายได้ การเดินทางที่สะดวก และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้”
“กรุงเทพฯ มีความมั่ว ความเละเทะ แต่ก็มีเสน่ห์ในความวุ่นวายของมัน ชีวิตในกรุงเทพฯ คือความดิ้นรน เป็นเมืองที่อยู่แล้วเหนื่อย เวลาจะทำอะไรต้องคิดก่อน จะไปไหนกี่โมงต้องวางแผนล่วงหน้าเผื่อเวลารถติด ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบชิลล์ๆ แต่ถ้ามันดีทุกอย่างแล้วก็คงไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรหรอก การแก้ปัญหาของเมืองก็คือการดีไซน์ ซึ่งก่อให้เกิด Creative Thinking ที่ทำให้เราต้องเอาตัวรอด สิ่งเหล่านี้คือวัตถุดิบที่หยิบจับมาทำงานสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเมืองได้”
“Bangkok Design Week จึงเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นที่ทำให้เมืองเกิดมูฟเมนต์ ทำให้ผู้คนคึกคักตื่นตัว เราว่าการมีอยู่ของสิ่งนี้ดีกว่าไม่มี หลายเมืองในโลกเขาก็มีเทศกาลเกี่ยวกับดีไซน์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่หรือนักออกแบบหน้าใหม่ได้มีพื้นที่แสดงศักยภาพ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดคอมมูนิตี้ ทำให้คนที่อยากพัฒนาเมืองได้มาสร้างเครือข่ายร่วมกัน”
–
Bangkok Design Week 2024
Livable Scape
คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
27 Jan – 4 Feb 2024
#BKKDW2024
#BangkokDesignWeek
#LivableScape