ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

‘เทศกาล’ ช่วยขับเคลื่อนเมืองให้ดีขึ้นได้จริงหรือ?

เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

หลายคนที่ติดตาม Bangkok Design Week มาตลอด อาจมีคำถามอยู่ในใจว่า ‘การจัดเทศกาล’ ที่เกิดขึ้นในทุกปี นอกจากช่วยแต่งเติมชีวิตชีวาให้กับเมืองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายในชุมชนในช่วงเวลาที่จัดงานแล้ว ยังมีประโยชน์อะไรอีก?


ก่อนจะเดินทางไปถึง Bangkok Design Week ในปีนี้ เราขอชวนมาทำความรู้จักกับคำว่า ‘Festivalisation’ หรือการนำแนวคิดและวิธีสร้างประสบการณ์แบบเทศกาลมาใช้ในการขับเคลื่อนเมือง โดยมีเป้าหมายคือสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนหลังจบเทศกาล โดยไม่ใช่เพียงอีเวนต์รายครั้งที่จัดแล้วจบไป แต่ช่วยจุดประกายให้ผู้คนและย่านเกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมต่อในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่ Bangkok Design Week ทำมาโดยตลอด


‘เทศกาล’ ช่วยปลุกชีวิตพื้นที่ทิ้งร้างด้วยเรื่องราวใหม่

หนึ่งในวิธีการของเทศกาลคือสร้างประสบการณ์ใหม่ให้พื้นที่เดิม หลายปีที่ผ่านมามีพื้นที่มากมายในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ แต่กลับถูกปล่อยละเลยไว้อย่างน่าเสียดาย หนึ่งในนั้นคือหอเก็บน้ำประปาแห่งแรกในประเทศไทยบริเวณแยกแม้นศรีที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 20 ปี ทว่าพื้นที่แห่งนี้กลับมีคุณค่าน่าสนใจอย่างมากในเชิงประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม 


โปรเจกต์ ‘ประปาแม้นศรี’ โดยกลุ่ม Urban Ally เปิดพื้นที่ให้คนในย่านและนอกย่านได้มามีปฏิสัมพันธ์กัน และใช้แนวคิด Festivalisation ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่พื้นที่สาธารณะในเมืองที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม โปรเจกต์นี้นอกจากจะทำให้พื้นที่ทิ้งร้างได้รับการปลุกชีวิตขึ้นมาใหม่ในช่วงวันงาน ยังทำให้หลายคนเห็นศักยภาพของพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ในฐานะหมุดหมายสำหรับการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมกรุงเทพกลางแปลง ที่นอกจากจะช่วยดึงดูดผู้คนและเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับย่านแล้ว ยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างความผูกพันระหว่างคนกับเมืองได้มากทีเดียว


‘เทศกาล’ ช่วยเชื่อมต่อคน เพื่อขับเคลื่อนคุณค่าในย่าน

หัวใจของการจัดเทศกาลคือการเป็นพื้นที่สื่อกลางที่เชื่อมโยงผู้คนหลากหลาย ทั้งนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ รวมทั้งผู้คนที่ใช้ชีวิตในย่าน มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นำไอเดียเหล่านั้นไปสร้างคุณค่าให้ย่าน และทำให้ย่านต่างๆ เริ่มต้นขับเคลื่อนพื้นที่ของตัวเองในระยะยาว 


อย่างเช่นย่าน ‘ปากคลองตลาด’ ที่เดิมทีเป็นที่รู้จักในฐานะย่านขายดอกไม้ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจารย์หน่อง-ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้พื้นที่นี้เป็นโจทย์สำหรับวิชาอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและพัฒนาชุมชน และมีการก่อตั้งเพจ Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ ไว้อยู่แล้ว เมื่อมีการจัดเทศกาลจึงเป็นโอกาสดีในการนำโปรเจกต์ดังกล่าวมาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Design Week เพื่อต่อยอดการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบพัฒนาเมืองกับชุมชน จนเกิดเป็น ‘ปากคลอง Pop-Up’ ที่มีการจัดแสดงงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ อาทิ ศิลปะจัดวาง นิทรรศการภาพถ่าย สื่อผสมจากเทคโนโลยี AR โดยมีจุดประสงค์เพื่อดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาชมงานออกแบบ แล้วแวะซื้อดอกไม้จากร้านค้าในปากคลองตลาดกลับไป เปิดความเป็นไปได้ และสร้างคุณค่าใหม่ ที่ทำให้ย่านนั้นเชื่อมโยงกับผู้คนได้หลากหลายมิติมากกว่าแค่พื้นที่การค้า


‘เทศกาล’ ช่วยระดมไอเดีย ทำเมืองให้น่าอยู่ขึ้น

เป้าหมายของ Bangkok Design Week ไม่ใช่เทศกาลที่มอบแค่ความสนุกสนานและประสบการณ์ที่น่าประทับใจเท่านั้น แต่เทศกาลยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้บทสนทนาเรื่องการออกแบบและพัฒนาเมือง ขยายวงออกไปไกลว่าแค่ในวงการออกแบบ และทำให้ประเด็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบถูกเข้าถึงได้ง่ายจากคนหลากหลาย


โปรเจกต์ Re-Vendor เจริญกรุง 32 โมเดลทดลองการจัดการสตรีทฟู้ดริมทางย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอยเจริญกรุง 32 ที่นำทีมโดย Cloud-floor (คลาวด์ฟลอร์) บริษัทสถาปนิกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ ใช้โอกาสของเทศกาลชักชวน Stakeholders ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสตรีทฟู้ดเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ ตัวแทนเทศกิจ ตัวแทนผู้ค้า และตัวแทนผู้ซื้อ และนำไอเดียจากทุกฝ่ายมาสร้างเป็นโมเดลทดลองในซอยเจริญกรุง 32 ช่วงที่มีการจัดเทศกาล คนที่แวะมาเที่ยวในเทศกาลก็มีโอกาสได้ทดลองผลงานต้นแบบและให้ฟีดแบ็กเพื่อปรับปรุงโปรเจกต์ให้ดียิ่งขึ้น เทศกาลจึงช่วยสร้างการมีส่วนร่วมให้ไอเดียการพัฒนาเมือง ไม่ได้จบอยู่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้


‘เทศกาล’ ฟื้นฟูภูมิปัญญาใกล้สูญหาย ให้กลับมาเข้าถึงง่าย

คุณค่าอย่างหนึ่งที่แฝงอยู่ในการจัดเทศกาลคือ การทำให้มรดกทางวัฒนธรรมภายในชุมชนที่ใกล้สูญหายไปตามกาลเวลากลับมาเป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกครั้ง เช่น กิจกรรมของกลุ่ม Sense of Nang Loeng ที่นำละครชาตรี ศิลปะการละครอันทรงคุณค่าของชุมชนตลาดนางเลิ้ง ตลาดบกแห่งแรกของไทยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจัดแสดงในรูปแบบร่วมสมัย เพื่อรื้อฟื้นอัตลักษณ์ย่านนางเลิ้งที่เป็นบ้านครูดนตรีไทยและคณะละครในอดีตขึ้นมาใหม่ และดึงดูดความสนใจให้คนรุ่นใหม่หันมาทำความรู้จักนางเลิ้งในอีกแง่มุมหนึ่งกันมากขึ้น


ทั้งยังมีการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะให้กลายเป็นนิทรรศการชั่วคราว และต่อยอดชื่อเสียงในด้านอาหารอร่อยของดีประจำย่าน โดยเชิญนักออกแบบและนักสร้างสรรค์มืออาชีพเข้ามาร่วมคิดร่วมลงมือทำไปพร้อมๆ กับคนในชุมชน  เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินท้องถิ่นและบรรดาพ่อค้าแม่ค้าได้มีช่องทางแสดงออก มีโอกาสหารายได้ ทั้งในระหว่างเทศกาลและต่อยอดไปสู่การทำโปรเจกต์พัฒนาชุมชนในระยะยาว ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม


‘เทศกาล’ สร้างเครือข่าย เชื่อมนักสร้างสรรค์มาจอยกัน

การจัดเทศกาลยังเป็นเวทีสำคัญให้คนทำงานสร้างสรรค์ทุกวงการได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการอัพเดตเทรนด์และแนวคิดใหม่ๆ ทิศทางการออกแบบในอนาค หรือโปรเจกต์ที่น่าสนใจที่นักออกแบบแต่ละคน/สตูดิโอกำลังทำ นำไปสู่การสร้างเครือข่าย เรียนรู้ และต่อยอดความร่วมมือในอนาคต


สิ่งสำคัญคือ Bangkok Design Week ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงนักออกแบบเท่านั้น แต่คนทั่วไปก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เทศกาลจึงช่วยทำให้องค์ความรู้และความเคลื่อนไหวในวงการออกแบบกระเพื่อมไกลออกไปสู่สังคมวงกว้าง เมื่อเกิดความรู้และความเข้าใจมากขึ้น การออกแบบและการสร้างสรรค์จึงไม่ใช่เรื่องของแค่คนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนในสังคมสามารถร่วมกันคิด-ร่วมกันทำได้


นี่คือผลลัพธ์ส่วนหนึ่งที่เกิดจากแนวคิดการจัดเทศกาลที่ Bangkok Design Week พยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอด รวมถึงในปี 2024 ที่จะถึงนี้ เราจึงกลับมาพร้อมกับธีม ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ ซึ่งอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันประกอบสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมืองที่น่าอยู่’ กว่าที่เคย ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หากมีใจอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเมือง เราเชื่อว่าทุกคนสามารถเริ่มลงมือทำได้จากเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว


Bangkok Design Week 2024

Livable Scape

คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

27 Jan – 4 Feb 2024


#BKKDW2024

#BangkokDesignWeek

#LivableScape

แชร์