ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

เมืองสร้างเรา - เราสร้างเมือง

เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

เมืองสร้างเรา – เราสร้างเมือง :

เมื่อเมืองทำให้เราป่วย เครียด เหงา เราจะทำอะไรได้บ้าง ?


เวลาเดินทางไปต่างประเทศ หรือมีโอกาสได้พบเจอผู้คนจากเมืองอื่นๆ ในโลก เคยสงสัยมั้ยว่า ทำไมคนจากต่างเมือง ถึงได้มีวิถีชีวิต บุคลิก หรือมุมมองความคิดแตกต่างกันอย่างเหลือเชื่อ


ทำไมคนเมืองนี้ถึงดูแข็งแรง สุขภาพกายดีกว่าเราที่อายุเท่ากันแบบถนัดตา ทำไมคนบางเมืองถึงดูสุขภาพจิตดี มีอารมณ์ขัน ในขณะที่คนกรุงเทพฯ อย่างเราทั้งเครียดทั้งเหงา หรือทำไมคนบางเมืองใส่ใจกับบางเรื่อง ที่คนในเมืองของเราอาจไม่เคยให้ความสำคัญ


ก่อนเดินทางไปถึงเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2567 เราอยากชวนมองเส้นความสัมพันธ์ระหว่าง ‘คน’ และ ‘เมือง’ ผ่าน 3 เรื่องราวที่ฉายให้เห็นว่า เมืองสร้างเรามากกว่าที่เราคิด เพราะเมืองไม่ใช่แค่พื้นที่ใช้ชีวิต แต่เมืองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดรูปแบบความคิด วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ เศรษฐกิจ และสังคม และในทางกลับกัน คนก็มีบทบาทสำคัญในการร่วมก่อร่างสร้างเมืองให้ดีขึ้นได้เช่นกัน 


เราจะถอดบทเรียนเหล่านี้มาเปลี่ยนแปลงเมืองที่เราอยู่อย่าง ‘กรุงเทพมหานคร’ ให้ดีต่อกาย ดีต่อใจ และน่าอยู่มากขึ้นได้อย่างไร ?


สุขภาพดีได้ ด้วยการเปลี่ยนเมือง

ทำไมฉันถึงป่วยบ่อย เพราะสุขภาพไม่ดี หรือเมืองมันไม่ดีกันแน่นะ ? ตั้งแต่เราลืมตาตื่น เรากำลังสูดหายใจเอาอากาศของเมือง เดินไปทำงานบนฟุตบาธของเมือง ขากลับบ้านแวะพักผ่อนในสวนสาธาณะของเมือง ในหนึ่งวัน ร่างกายของเราปฏิสัมพันธ์กับเมืองมากกว่าที่คิด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า เมืองคือปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ในการกำหนดสุขภาพกายของคนอยู่


หลายปีก่อน เมืองบาร์เซโลนา (Barcelona) ประเทศสเปน เคยประสบปัญหามลภาวะทางอากาศจนส่งผลกระทบให้สุขภาพของคนในเมืองย่ำแย่ หลากหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนในย่าน Eixample จึงลุกขึ้นปักหมุดให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นภายในระยะเวลาสิบปี ด้วยการสร้างจัตุรัสสาธารณะ 21 จุด ให้ชาวเมืองทุกคนเข้าถึงสวนสาธารณะขนาดเล็กได้ในระยะทางไม่เกิน 200 เมตร


นอกจากเปลี่ยนเมือง ยังเปลี่ยนที่คนด้วยการส่งเสริมให้คนเดินเท้าและปั่นจักรยานแทนการใช้รถยนต์ นอกจากจะทำให้มลภาวะลดลง ยังเอื้อให้คนมีสุขภาพกายที่ดีขึ้นผ่านการเดินและพื้นที่ออกกำลังกายที่เพียงพอ สิ่งที่ตามมาก็คือสุขภาพกายและใจดีขึ้น ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันมากขึ้น และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจตามมา โดยโครงการนี้คาดว่าจะสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2030 ต้องลองติดตามกันดูว่าเมืองที่เปลี่ยนไป จะเปลี่ยนผู้คนให้สุขภาพกายดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง


ทำเมืองที่รักคน ทำคนให้รักเมือง

สัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ ‘ความเหงา’ เป็นภัยคุกคามทางสาธารณสุขของโลก แล้วเราเคยสังเกตมั้ยว่า เมืองที่เราอยู่ สัมพันธ์กับความโดดเดี่ยว ความเครียด และสุขภาพใจของเราในภาพรวมยังไง ? 


สิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่พร้อมด้วยจุดแข็งเรื่องเศรษฐกิจและนวัตกรรม แถมยังพร้อมด้วยผังเมืองที่เอื้อให้สุขภาพกายแข็งแรง แต่กลับกัน สิ่งที่ขาดหายไปเมืองนี้คือการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนและความผูกพันระหว่างคนกับเมือง ด้วยความที่กิจกรรมส่วนใหญ่ในเมืองเน้นหนักไปที่เรื่องเศรษฐกิจ และไม่มีวัฒนธรรมร่วมให้คนในเมืองรู้สึกเชื่อมโยงกัน ซึ่งปรากฎการณ์นี้กำลังส่งผลกับสุขภาพใจของคนในเมืองอย่างช้าๆ 


โครงการ Loveable Singapore Project จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างความผูกพันระหว่างคนกับคน และคนกับเมืองให้แข็งแรง ผ่านคอนเซ็ปต์ที่ว่า “เราจะส่งต่อความรักให้กับเมืองได้อย่างไร” ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนทุกช่วงวัยได้มีช่วงเวลาดีๆ ผ่านหลากหลายกิจกรรมที่สร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้เกิดขึ้นในเมือง เช่น นิทรรศการในตึกเก่าที่จัดแสดงสิ่งของแห่งความทรงจำที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงจากรุ่นสู่รุ่น, การจัดเวิร์กช็อปด้านการออกแบบในชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนกันว่า “เรารักอะไรในสิงคโปร์ และอะไรที่จะทำให้เรารักเมืองนี้มากขึ้น” 


โปรเจคต์นี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนในเมืองเริ่มมองเห็นความสัมพันธ์ต่อกันและต่อเมือง ที่ในระยะยาวอาจต่อยอดให้เกิดวัฒนธรรมที่แข็งแรงและส่งผลดีกับสุขภาพใจของคนได้ไม่มากก็น้อย


คนต่อยอด เมืองเติบโต ด้วยการออกแบบ

เมื่อเราอยู่ในเมืองที่ดีพร้อมทั้งกายและใจ สเต็ปต่อไปคือการต่อยอดให้ทั้งเราและเมืองเติบโตขึ้น และหนึ่งหัวใจสำคัญที่จะทำให้เมืองไปได้ไกลขึ้น คือ ‘การออกแบบ’


เมืองอะซาฮิกาวา (Asahikawa) ประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นจากการมีชื่อเสียงด้านป่าไม้เป็นทุนเดิม และนำการออกแบบมาส่งเสริมจุดแข็งนี้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ภายใต้แนวคิด Forest of Design เช่น จัดการแข่งขันออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากไม้เพื่อกระตุ้นให้คนในเมืองเห็นความเป็นไปได้ของอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือจัดพื้นที่สร้างเป็นวิทยาเขตศึกษางานออกแบบใจกลางเมือง เพื่อบ่มเพาะคนในเมืองให้มีพื้นฐานความคิดด้านการออกแบบและเห็นคุณค่าของป่าไม้ไปด้วยกัน 


ทั้งหมดนี้ทำให้อะซาฮิกาวาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาการออกแบบ ในปี 2019 และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่คนที่สนใจด้านการออกแบบและงานไม้จากทั่วโลกต้องเข้าไปศึกษา


จาก 3 เรื่องราวของเมืองที่ทำให้กายดี เมืองที่ทำให้ใจดี และเมืองที่ไปได้ไกลขึ้นด้วยการออกแบบ สิ่งหนึ่งที่ทุกเมืองมีเหมือนกันคือการที่ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และผู้คนในเมืองต่าง ‘ขยับ’ และลงมือทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน 


หากคุณมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมืองน่าอยู่’ ยิ่งขึ้นกว่าเดิม เตรียมพลังความคิดสร้างสรรค์ไว้ให้พร้อม Bangkok Design Week ในฐานะแพลตฟอร์มทางความคิดสร้างสรรค์และการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านเมือง (Festivalisation) ขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้คนและหน่วยงานต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมพัฒนาเมืองในแบบที่เราอยากใช้ชีวิตไปด้วยกัน ซึ่งทุกคนสามารถลงมือทำได้โดยริเริ่มจากสิ่งเล็กๆ รอบตัว เพียงแค่ปรับเปลี่ยนมุมมองและมีความตั้งใจอยากช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่มากขึ้นกว่าเดิม เท่านี้คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’ ได้แล้ว


Bangkok Design Week 2024

Livable Scape

คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

27 Jan – 4 Feb 2024


#BKKDW2024

#BangkokDesignWeek

#LivableScape

แชร์