Design Matters – เมืองออกแบบดี คือ อย่างไร
เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว
Design Matters – เมืองออกแบบดี คือ อย่างไร
เรื่อง : ออพพอร์ทัส
การออกแบบ (v.) ในนิยาม เป็นกระบวนการในการวางแผนและตัดสินใจว่าสิ่งนั้นจะมีหน้าตาและการทำงานเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่มักมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง
การออกแบบที่ดีอาจกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการในการวางแผนและตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาของผู้คนและบริบทนั้น เพราะฉะนั้นงานออกแบบที่ดีในบริบทหนึ่งอาจไม่ใช่งานออกแบบที่ดีสำหรับอีกบริบทหนึ่งก็เป็นได้ หัวใจสำคัญและเป็นจุดตั้งต้นของงานออกแบบที่ดีจึงมักเริ่มต้นจากการหาโจทย์ที่เฉพาะเจาะจงกับผู้คนและบริบทนั้นให้เจอ
เมืองออกแบบดี จึงน่าจะเป็นเมืองที่ใช้กระบวนการออกแบบเข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองหรือย่านนั้นๆ เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัย เอื้อต่อความอยู่ดีและให้ความพึงพอใจแก่ผู้คนในสังคม
โจทย์ของการออกแบบเมืองจำเป็นต้องเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้คนในสังคม ต่างจากการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ที่ผ่านมาการออกแบบชุมชนเมืองจึงมีวิธีการหลายหลาย ตั้งแต่การศึกษาจิตวิทยาเกี่ยวกับธรรมชาติความต้องการที่มนุษย์ส่วนใหญ่มีเหมือนกันที่มีสาระสำคัญว่าด้วย สภาพแวดล้อมที่ตอบสนองพฤติกรรมของมนุษย์ (Sociogenic Environment) ตลอดจนการวางกระบวนการออกแบบชุมชนเมือง อย่างเป็นระบบ
ยกตัวอย่างโจทย์การออกแบบเมือง
หากลองตั้งโจทย์การออกแบบเมือง โดยยกตัวอย่างความต้องการของกลุ่มคนที่เข้ามาให้ความเห็นในเวิร์คชอปย่านพระนคร เกาะรัตนโกสินทร์ และวิเคราะห์ตามทฤษฎีความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ สรุปความได้ว่า
ทุกกลุ่มต้องการสิ่งที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานด้านกายภาพ (Physiological needs) อย่างความสะดวกสบายในการเดินทาง มีที่จอดรถเพียงพอ มีความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว (Safety & security needs) โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่ต้องการการเข้าถึงพื้นที่ เพิ่มโอกาสในการค้าขาย และการยอมรับของชุมชน (Affiliation needs) ส่วนนักท่องเที่ยวต้องการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ (Cognitive needs) ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวอย่างของข้อคำนึงถึงในการออกแบบสภาพแวดล้อมเมืองให้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม
หัวใจในการพัฒนาพื้นที่ ชุมชนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
หากเราเริ่มจากทำความเข้าใจในผู้คนและบริบทนั้นอย่างลึกซึ้ง ตีความปัญหาและความต้องการ ศึกษาข้อมูลและสามารถสรุปออกมาได้เป็นโจทย์และเป้าหมายในการออกแบบเมืองได้แล้ว ถือว่าเป็นขั้นแรกของกระบวนการออกแบบและเป็นหัวใจในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมือง ขั้นตอนการพัฒนาแนวคิดเพื่อสร้างคำตอบหรือทางเลือกในการแก้ปัญหาก็จะสอดคล้องกับความต้องการของผู้คนในสังคม
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมืองออกแบบดีแล้ว คงต้องกลับไปถามความเห็นของผู้คนในพื้นที่นั้น ว่าหลังจากออกแบบเมืองแล้ว เมืองตอบโจทย์ของผู้อยู่ไหม ถ้าดีควรทำต่อไปหรือถ้าไม่ดีควรปรับปรุงตรงไหน อย่างไร
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เป็นโอกาสในการเชิญชวนทุกคนมาลงมือเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมือง ‘น่าอยู่’ ‘น่าลงทุน’ และ ’น่าเที่ยว’ ที่ ‘น่ารัก’ กับทั้งผู้คนในเมือง นักลงทุน และผู้มาเยี่ยมเยือน โดยที่ไม่ได้อยู่แค่ในทฤษฎี แต่ลงมือทำได้จริง ไม่ว่าใครก็เริ่มต้นทำได้
เพราะคนยิ่งทำ เมืองยิ่งน่าอยู่ ชีวิตยิ่งดี
อ้างอิง
1) กำธร กุลชล (2545) การออกแบบชุมชนเมืองคืออะไร- การติดตามหาคำตอบในรอบ 40 ปี. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
2) Oxford Advanced Learner’s Dictionary England (2000) : Oxford University Press.
3) Lang, J. (1994) Urban Design; The American Experience. Van Nostrand Reinhold, New York.
4) The Stanford d.school Bootcamp Bootleg (HPI). (2010). An Introduction to Design Thinking. Retrieve from https://dschool.stanford.edu/resources/design-thinking-bootleg
Bangkok Design Week 2024
Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
hard matters . heart matters . design matters
27 Jan – 4 Feb 2024
#BKKDW2024
#BangkokDesignWeek
#LivableScape