Heart Matters – เมืองดีต่อใจ ใส่ใจผู้คน กิจกรรมหลากหลาย วัฒนธรรมแข็งแรง
เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว
Heart Matters – เมืองดีต่อใจ ใส่ใจผู้คน กิจกรรมหลากหลาย วัฒนธรรมแข็งแรง
เรื่อง : ออพพอร์ทัส | ภาพปก : Urban Ally
เมือง ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ หรือพื้นที่ทางกายภาพเท่านั้น เมืองยังเป็นสถานที่ที่ครบเครื่องด้วยความหลากหลายของคนและวัฒนธรรม ตลอดมาตั้งแต่อดีตที่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีในการสื่อสารที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ตลอดเวลา แต่ความสำคัญของความใกล้ชิดในมิติทางสัมพันธ์ยังคงมีความสำคัญ ความใกล้ชิด (Proximity) นั้นแบ่งได้เป็นสองประเภท ความใกล้ชิดทางกายภาพ (Operational Proximity) เกิดขึ้นเมื่อผู้คนอยู่ใกล้ชิดกันในความเป็นจริง และความใกล้ชิดเชิงความสัมพันธ์ (Relational Proximity) ที่แม้ผู้คนไม่ได้อยู่ใกล้กันแต่รู้สึกใกล้ชิดกันและห่วงใยกัน เมื่อสองเงื่อนไขมาเจอกันนั้น จะก่อให้เกิด ความสัมพันธ์ของความห่วงใย (Relationships of care) และอาจกล่าวได้ว่าความใกล้ชิดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของความห่วงใย (Proximity is Precondition of care)
การสร้างเมืองที่สนับสนุนและสร้างสรรค์กิจกรรมร่วมกันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะความใกล้ชิดที่เกิดขึ้นนั้นจะสร้างความสัมพันธ์และความรู้สึกห่วงใยระหว่างคนในเมือง (Proximity & Care) ได้มากขึ้นอีกด้วย
ความใกล้ชิดไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะในระยะทาง และไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะกับคนในระยะใกล้ตัว แต่ทุกส่วนของเมืองที่มีคนอาศัยอยู่สามารถเปิดโอกาสให้เกิดความใกล้ชิดและสนับสนุนการช่วยเหลือในทุกสถานการณ์ เช่นพื้นที่สวนสาธาณะที่เปิดโอกาสให้คนที่อาศัยอยู่ใกล้กันมาออกกำลังกายและทำความรู้จักกัน หรือพื้นที่ว่างของชุมชน ที่เด็กๆ มาเล่น ออกกำลังกายกัน หรือแม้แต่จะกลายเป็นพื้นที่จัดงานประจำปีของชุนนั้นๆ และช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้ ดังนั้นการจัดกิจกรรมหรือนิทรรศการที่เชื่อมโยงกลุ่มคนและส่งเสริมความสัมพันธ์เป็นหนึ่งในวิธีที่เราสามารถสร้างความใกล้ชิดในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Bangkok Design Week 2024 จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความใกล้ชิดระหว่างคนในเมือง โดยนักออกแบบสามารถนำเสนอกิจกรรมและนิทรรศการที่ส่งเสริมให้ชาวเมืองมีโอกาสในการปฏิสัมพันธ์และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันในรูปแบบต่างๆ นอกจากจะเป็นเทศกาลที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจและสนุกได้ แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนได้แบ่งปันความคิดและความสร้างสรรค์แบบใหม่ๆ ในเมืองที่เติบโตมากขึ้นทุกวันอีกด้วย
ตัวอย่าง เทรนด์การศึกษารายกรณี ผลงานออกแบบที่ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ของคนในเมือง
1. งานออกแบบส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเมือง
The Goods Line
ASPECT Studios ร่วมมือกับ CHROFI เปลี่ยนเส้นทางรถไฟที่ไม่ได้ถูกใช้งานให้กลายเป็น The Goods Line ซึ่งตั้งอยู่บนจุดเชื่อมต่อเมืองในใจกลางซิดนีย์ พื้นที่ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้ทำหน้าที่เป็น
“วิทยาเขตสาธารณะ” ที่เชื่อมโยงพื้นที่สำคัญๆ ของเมืองเข้าด้วยกันอย่างราบรื่น ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมชุมชนผ่านศิลปะ วัฒนธรรม และการศึกษา
แนวทางใหม่ของนักออกแบบเกี่ยวกับการออกแบบ “ชานชาลา” ที่แตกต่างกันไปตามทางเดินรถไฟยกระดับ โดยนำเสนอพื้นที่ที่ปรับเปลี่ยนได้เพื่อส่งเสริมการใช้งานหลากหลาย ทั้งกิจกรรมทางวัฒนธรรม การพักผ่อนหย่อนใจ และการเรียนรู้ ด้วยการตีความประวัติศาสตร์ของรางรถไฟใหม่และผสมผสานวัสดุที่เกี่ยวข้องกับทางรถไฟ เช่น คอนกรีต เหล็ก และไม้ โครงการนี้ไม่เพียงแต่ระลึกถึงอดีตเท่านั้น แต่ยังสร้างเอกลักษณ์ที่สดใหม่ให้กับบริเวณนี้ด้วย
ASPECT และ CHROFI ดำเนินการออกแบบ ทำการสร้างแบบจำลอง และได้นำกระบวนการก่อสร้างแบบสำเร็จรูปมาใช้งานเป็นจำนวนมาก ด้วยความทะเยอทะยานของพลเมืองและจุดประสงค์เพื่อสาธารณะ The Goods Line ได้รับการวางแผนและดำเนินการอย่างครอบคลุม แผงคอนกรีตสำเร็จรูป การติดตั้งไฟ การเลือกสรรค์พืชพรรณ หรือแม้กระทั่งเก้าอี้สตูลแต่ละชิ้นได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันจนถึงรายละเอียด ผลผลิตที่ได้นั้นเป็นสถานที่ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมรูปแบบใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสมากมายในการพบปะ เล่น และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเมือง
The goods line ที่มา: https://www.aspect-studios.com/projects/the-goods-line
The goods line ที่มา: https://www.aspect-studios.com/projects/the-goods-line
The goods line ที่มา: https://www.aspect-studios.com/projects/the-goods-line
2. งานออกแบบส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนเก่า
Nantou Old Town Preservation and Regeneration
ต้นปี 2016 ทีมออกแบบและวิจัยของ Urbanus ได้มีส่วนร่วมในโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูหนานโถว ตรงกันข้ามกับตำนานเมืองเซินเจิ้นในฐานะ “หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ” แท้จริงแล้วเมืองเก่าหนานโถวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์นั้นมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้มานานกว่า 1,700 ปี การขยายตัวของเมืองนำไปสู่การบูรณาการของหนานโถวภายในหมู่บ้านในเมือง ก่อให้เกิดรูปแบบของเมืองที่มีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน
Urbanus ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ในขณะเดียวกันก็สร้างชุมชนเมืองที่มีชีวิตชีวาซึ่งมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมท้องถิ่น หนานโถวถูกมองว่าเป็นเมืองมรดกทางประวัติศาสตร์ที่รวบรวมประวัติศาสตร์เกือบสองพันปี โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมและพื้นที่ของเซินเจิ้น หนานโถวกลายเป็นสถานที่หลักในการจัดงาน “2017 Shenzhen-Hong Kong Bi-city Biennale of Urbanism / Architecture” (UABB) ซึ่งแนวคิดเรื่องการแทรกแซงในเมืองสอดคล้องกับการฟื้นฟูเมืองเก่า
การออกแบบที่สำคัญ ได้แก่ “Baode Square” บริเวณนี้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่เปิดโล่งเล็กๆ ในใจกลางเมืองเก่า ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมที่มีชีวิตชีวา ล้อมรอบด้วยอาคารเก่าแก่และโครงสร้างที่อยู่อาศัย มีสนามบาสเก็ตบอลและก่อนหน้านี้มีการใช้งานน้อยในช่วงกลางวันเนื่องจากความร้อน อย่างไรก็ตาม ที่นี่จะมีชีวิตชีวาขึ้นหลังจากฟ้ามืด โดยมีเด็ก ๆ เล่นกันอย่างคึกคักและผู้ใหญ่ก็เข้ารวมกลุ่มกันมากมาย เพิงโลหะสองหลังถูกรื้อออกและแทนที่ด้วยโครงสร้างใหม่ หลังคาได้รับการออกแบบให้มีขั้นบันไดเอียงเพื่อใช้เป็นที่นั่งทั้งสำหรับพักผ่อน ชมการเล่นกีฬา หรือชมการแสดง อาคารต่างๆ ปูด้วยกระเบื้องดินเผาตามที่ถูกออกแบบพิเศษ เพื่อกำหนดขอบเขตของจัตุรัสและเป็นที่ตั้งของศูนย์ข้อมูล ร้านหนังสือ และพื้นที่จัดกิจกรรม ช่วยเพิ่มพื้นที่รวมตัวกันของคนในชุมชน
Baode Square หลังจากการปรับปรุง มุมมองจากทิศใต้ไปทิศเหนือ ที่มา : http://www.urbanus.com.cn/uabb/uabb2017/exhibition-venue-design-concept/?lang=en
Baode Square หลังจากการปรับปรุง มุมมองจากด้านบน ที่มา: http://www.urbanus.com.cn/uabb/uabb2017/exhibition-venue-design-concept/?lang=en
Baode Square ก่อนการปรับปรุง มุมมองจากด้านบน ที่มา: http://www.urbanus.com.cn/uabb/uabb2017/exhibition-venue-design-concept/?lang=en
Bangkok Design Week 2024
Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
hard matters . heart matters . design matters
27 Jan – 4 Feb 2024
#BKKDW2024
#BangkokDesignWeek
#LivableScape