Hard Matters – เมื่อเมืองกายภาพดี คนก็ดี
เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว
Hard Matters – เมื่อเมืองกายภาพดี คนก็ดี
เรื่อง : ออพพอร์ทัส
คนร่วมกันสร้างเมืองและกายภาพเมืองก็ช่วยหล่อหลอมผู้คน เมืองที่น่าอยู่ต่อกายและใจจึงเป็นพื้นที่สังสรรค์ชั้นเลิศของการใช้งานหลากวัย จุดประกายความคิดริเริ่ม และสร้างให้ทุกคนรู้สึกยินดีที่จะอยู่อาศัยใช้ชีวิตในเมือง เมื่อเมืองน่าอยู่ เมืองก็น่ารัก สิ่งเหล่านี้ร่วมฟูมฟักความผูกพันและร่วมสร้างพลเมืองที่เอาใจใส่เมือง
เมืองน่าอยู่และดีต่อกาย
แนวคิดเมืองน่าอยู่ ริเริ่มจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) โดยแต่เดิมใช้คำว่า Healthy city ที่แปลว่า “เมืองสุขภาพดี” หรือ “เมืองสุขภาวะ” แต่เมื่อคำว่าสุขภาพดีนั้นมีความหลากมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และความมั่นคงทางใจ จึงมีการใช้คำว่า “เมืองน่าอยู่” (Livable city) ที่หมายถึง เมืองที่ผู้คนอยู่อาศัยได้ดีทั้งต่อกายและใจ
เมืองกายภาพดี เข้าถึงง่าย เชื่อมโยงผู้คน ให้อยู่สบาย และมีสุขภาพดี กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างเมือง หลัก 10 ประการของเมืองน่าอยู่ [1] ได้แก่
Human scale การออกแบบให้พอดีกับมนุษย์ กระชับ เป็นมิตร เดินเหินได้ดี
Choices ทางเลือกหลากหลายของการอยู่ อาศัย จับจ่าย และพักผ่อนของคนทุกเพศทุกวัย
Mixed-use กิจกรรมผสมผสานอยู่ในย่านเดียวกัน เมืองมีชีวิตและเป็นมิตรที่ดี
Urban centers ซ่อมแซม ฟื้นฟู และเติมเต็มใจกลางเมือง
Vary transport ให้ความสำคัญกับการเดิน ปั่น และขนส่งสาธารณะ
Vibrant spaces ดึงดูดผู้คนให้มาใช้งานพื้นที่สาธารณะ พบปะ ปฏิสังสรรค์ มีส่วนร่วม
Identity สร้างสำนึกต่อถิ่นที่ (Sense of place) มีอัตลักษณ์ สร้างความภูมิใจ
Environment สมดุลระหว่างสิ่งที่มนุษย์สร้างกับธรรมชาติ อนุบาลพื้นที่สีเขียวและแหล่งน้ำ
Landscape การอนุรักษ์ภูมิทัศน์วัฒนธรรม สร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับเมือง
Design matters การออกแบบช่วยเพิ่มความน่าอยู่ สร้างเมืองให้ดี คนก็ดีด้วยคุณภาพชีวิต
เล็ก ๆ ค่อยทำ
แม้ว่าเมืองน่าอยู่จะเกี่ยวข้องกับมิติจำนวนมากของกายภาพเมือง แต่การทำให้เกิดขึ้นจริงนั้นอาจจะเริ่มต้นที่กระบวนการเล็ก ๆ ในพื้นที่เล็ก ๆ เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมสร้างความน่าอยู่ให้เกิดขึ้นในจุดหนึ่ง แล้วเชื่อมโยงไปยังจุดอื่น ๆ ที่มิตรเมืองร่วมทำ ร่วมสะสม ร่วมต่อเนื่อง และเชื่อมโยงจนเป็นโครงข่ายย่านเมืองน่าอยู่
เมืองที่ดีต่อกาย ไม่ได้ชี้วัดจากเพียงแค่ทางกายภาพแต่บ่งชี้ได้ทางใจ
เมืองที่เหมาะสมต่อ “การอยู่” ชี้วัดได้จากปัจจัยภายนอก เช่น สภาพอากาศ คุณภาพของสิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค-สาธารณูปการ ความปลอดภัยและมั่นคง การเข้าถึงสถานที่ดูแลสุขภาพและพื้นที่เรียนรู้
แต่การชี้วัดเมืองน่าอยู่ที่ใกล้ตัวกว่านั้นคือทางใจ ด้วยคำถามง่าย ๆ ที่อาจนำไปสู่การสร้างทางเลือกใหม่ เช่น สิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบ ความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัว การรับรู้ถึงจิตวิญญาณและความเป็นมาของละแวกบ้าน [2] ความรู้สึกเหล่านี้เป็นผลสะท้อนจากการใช้งานกายภาพเมือง
เมืองน่าอยู่ที่ดีต่อกาย จึงควรเริ่มสร้างจากสิ่งเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่ช่วยสร้างความหมายให้แก่คำว่า “น่าอยู่” ให้เกิดการตีความร่วมกันของกลุ่มคนและชุมชนในละแวก ปรับเปลี่ยนสิ่งเดิมหรือที่ใช้งานน้อยให้กลับมาเติมเต็มคุณภาพชีวิต ทั้งพื้นที่ว่างเปล่า ตรอก ซอก ซอย อาคารเก่า พื้นที่ทิ้งร้าง หรือสถานที่ใด ๆ จากนั้นเชื่อมโยงแต่ละสิ่งที่น่าอยู่ด้วยการเข้าถึงกันและกัน ขยายจนเป็นโครงข่ายเมืองที่ดี ให้เกิดขึ้นบนความท้าทายใหม่ของกรุงเทพ
ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ แต่ควรใส่ใจและหาความเป็นไปได้ใหม่ในกายภาพเดิม
น่าอยู่ที่เท่ากัน
นักสร้างสรรค์ผลิตผลงานเพื่อชาวเมือง แล้วถ้าแต่ละคนแตกต่างกันล่ะ เราจะรังสรรค์ความน่าอยู่ให้คนทั้งมวลได้อย่างไร
เมืองเป็นพื้นที่ชุมนุมทางความคิด การใช้งาน และความต้องการของคนต่างเพศ ต่างวัย ต่างสังคม ความ “น่าอยู่” และ “กายดี” ของเมืองจึงต้องตอบสนองคนทุกคนอย่างเท่าเทียม (Inclusiveness) เห็นความสำคัญในความหลากหลายของมนุษย์ สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงสิ่งบริการต่าง ๆ ใส่ใจกลุ่มเปราะบางดีเท่ากับการต่อยอดกลุ่มที่เข้มแข็ง ทุกคนเท่าเทียมกันการอยู่ในเมือง
เมืองน่าอยู่ที่เท่ากัน คือการเชื้อเชิญให้ทุกคนเข้าถึงเมืองกายภาพดี ร่วมมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งเด็ก หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย ได้รับประสบการณ์ที่ดีกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมือง ได้ใช้งานพื้นที่สาธารณะที่มีชีวิต เดินเท้าเข้าถึงได้ นั่งพัก เอนหลัง และชื่นชมกิจกรรมเมือง ที่เปิดให้คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยมีประสบการณ์ได้อย่างเท่าเทียม [3] [4]
ดีไซน์ความใกล้ ใส่ใจสารทุกข์สุขดิบ
เมืองน่าอยู่แล้วรักเลยไหม เส้นแบ่งบาง ๆ ของคำตอบคือ “ความใกล้” สิ่งที่จะบ่มเพาะให้คนได้ประโยชน์จากเมืองน่าอยู่คือการเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นได้ในระยะทางประจำวัน เมืองพอดี (City of proximity) คือกุญแจสำคัญของการทำให้เมืองกายดีที่น่าอยู่ และเท่าเทียมกับคนทุกกลุ่ม ความใกล้ก็คือระยะทางการเข้าถึงสิ่งบริการ สิ่งอำนวยความสะดวก กิจกรรม พื้นที่ และแหล่งชุมนุมชน ที่ทุกคนเข้าถึงได้ในละแวกบ้าน ด้วยการเดินเท้าชีวิตประจำวันทั่วไปของพวกเขาเอง
งานออกแบบที่ถูกออกแบบให้อยู่ใกล้ จึงเป็นวิสัยทัศน์ที่ช่วยให้ทุกคนมีสิทธิอย่างเท่ากัน ยุติธรรม มีคุณภาพ และมีสุขภาพดี มิติของความใกล้ยังเป็นการแทรกแซงและหนุนเสริมคุณภาพชีวิตเมือง ให้เมืองน่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน
เพราะอยู่ใกล้จึงเท่าเทียม เมืองน่าอยู่ที่ลดทอนลงเป็นพื้นที่น่าอยู่ที่อยู่ใกล้ ๆ ตัว ความน่าอยู่ที่พบเจอได้ตั้งแต่หน้าบ้าน ซอย ชุมชน ละแวกบ้าน ย่านและเมือง การใส่ใจสารทุกข์สุขดิบ มีสินค้า บริการ กิจกรรมที่ตอบทุกความต้องการ ส่งเสริมการเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เชื่อมโยงผู้คนหลากหลายให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เกิดการแลกเปลี่ยน ลงมือทำสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัว ให้กรุงเทพมหานครเป็น “เมืองกายดีที่น่าอยู่”
คนยิ่งทำ เมืองยิ่งน่าอยู่ ชีวิตยิ่งดี เราจึงชักชวนทุกคนมาร่วมทำเมืองให้ดี ทำทีละเล็ก เชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายที่น่าอยู่ สร้างความเท่าเทียม ให้เมืองดีต่อกายเป็นบ่อเกิดของความรักที่ทุกคนอยากเอา “ใจ” ใส่ลงใน “เมือง”
อ้างอิง
[1] American Institute of Architects (AIA). (2023). 10 Principles for Livable Communities. Retrieved from https://modestoartmuseum.files.wordpress.com/2017/04/liv_10principles_flyer-1.pdf
[2] Oxford Big Ideas Humanities. (2023). Unit 2 Place and liveability: Liveable cities. Retrieved from https://www.oup.com.au/__data/assets/pdf_file/0030/58179/Chapter-5-Liveable-cities.pdf
[3] Cities for All. (2019). Inclusive and Accessible Cities. Retrieved from https://www.uclg.org/sites/default/files/inclusive_accessible_cities_policypaper.pdf
[4] Asian Development Bank. (2022). Inclusive Cities: Urban Area Guideline. Retrieved from https://www.adb.org/sites/default/files/publication/776806/inclusive-cities-urban-area-guidelines.pdf
Bangkok Design Week 2024
Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี
hard matters . heart matters . design matters
27 Jan – 4 Feb 2024
#BKKDW2024
#BangkokDesignWeek
#LivableScape