แนวคิด Regenerative งานออกแบบดีๆ ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ โดย Ctrl+R Collective
ในขณะที่การออกแบบและสร้างสรรค์เป็นไปเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ อีกด้านหนึ่งเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกการสรรค์สร้างล้วนใช้ต้นทุนมาจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วเราจะหาสมดุลที่ดีต่อเราและดีต่อโลกได้อย่างไร?Ctrl+R Collective คือชื่อกลุ่มนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขาอาชีพที่ชวนคุณมาหาคำตอบนั้น ด้วยความสนใจที่มีร่วมกันในแนวคิด Regenerative Design หรือการออกแบบเชิงปฏิรูปฟื้นฟู ซึ่งต่อยอดมาจากแนวคิดเรื่องความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นคืนสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อให้เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานออกแบบสุดเจ๋งที่แสดงตัวอย่างให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ใหม่ๆ อะไรบ้างในการรักษ์โลกไปพร้อมๆ กับการใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์ เยล-อัญญา เมืองโคตร นักออกแบบที่ยึดหลักการออกแบบเชิงหมุนเวียนและเชี่ยวชาญด้านวัสดุชีวภาพ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการรวมตัวกันว่า “Ctrl+R Collective เกิดขึ้นมาจากโปรเจกต์ที่เยลกำลังทำสตาร์ตอัปไมซีเลียม (Mycelium) เส้นใยจากเห็ดราร่วมกับเพื่อน แล้วอยากเอามาโชว์ในงาน Bangkok Design Week จึงพกไอเดียนี้มาเสนอ พี่อิ๊บ-คล้ายเดือน สุขะหุต และพี่โต๋-นุติ์ นิ่มสมบุญ ผู้ก่อตั้งพื้นที่เพื่อจิตใจและสิ่งแวดล้อมที่สมดุลอย่าง Slowcombo เพื่อขอใช้สถานที่ พอฟังแล้วทั้งสองเก็ตและอินไปกับเรา จึงได้พื้นที่เป็นห้องนิทรรศการบนชั้นสาม ที่ใหญ่มากจนไม่สามารถจัดแสดงแค่งานเดียวได้ จากตรงนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เยลไปชวนคนที่มีมายด์เซ็ตเดียวกันมารวมกลุ่ม โดยไม่ได้คิดภาพเลยว่าการรวมตัวจะใหญ่ขนาดนี้ แต่เพราะประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่เลยมีพาร์ตเนอร์สนใจอยากเข้าร่วมกับเราเยอะ อย่างเช่นเราได้ GroundControl มาเป็นมีเดียพาร์ตเนอร์ แล้วเขาก็ชวนศิลปิน MY MAYO และ Pineapple Print Press Studio มาจัดกิจกรรมกับเราด้วย” นิทรรศการที่รวมทุกมิติของ ‘การออกแบบ × สิ่งแวดล้อม’ ตลอดหนึ่งเดือนเต็ม!ท็อท-ธรัฐ หุ่นจำลอง ผู้ร่วมก่อตั้ง Wasteland และมีความสนใจขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการอาหารและเครื่องดื่มรวมถึงอุตสาหกรรมบริการ คือหนึ่งในกำลังสำคัญของโปรเจกต์ Regenerative Commodities – Exhibition & Experiences เขาอธิบายเสริมว่า “สมาชิกตั้งต้นของ Ctrl+R Collective มีทั้งหมด 8 คน จุดประสงค์หลักในการรวมตัวก็เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเราตั้งใจนำเสนอสิ่งที่คนทั่วไปเห็นทุกวัน พวกวัสดุที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่ถูกมองข้ามไปในมุมของสิ่งแวดล้อม” “เรามาเทคโอเวอร์พื้นที่ทั้งสามชั้นของ Slowcombo จัดงานหนึ่งเดือนเต็มตั้งแต่ 27 มกราคม ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2567 ชั้นแรกเน้นเรื่องการสร้างประสบการณ์เป็นหลัก มีเวิร์กช็อป เวทีเสวนา แล้วก็เป็นห้องโชว์เคสของพาร์ตเนอร์และสปอนเซอร์ เช่น โรงแรมศิวาเทลที่ยกพืชพรรณจากสวนลอยฟ้ามาจัดเวิร์กช็อปเบลนด์ชาและแชร์ประสบการณ์การจัดการขยะอาหารที่เขาทำมาเป็นสิบปีแล้ว หรือ Practika ที่ทำเฟอร์นิเจอร์จากการอัปไซเคิลวัสดุ ชั้นสองเป็นโซนที่แบ่งเป็นห้องของ Conscious Fashion Mini Market ที่รวมสินค้าแฟชั่นที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม มี Soho House มาจัดมุม Regenerative Community Corner และนิทรรศการ The Future of Shopping Bag โดยห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล”“ส่วนชั้นสามเป็นโชว์เคสของพวกเรา Ctrl+R Collective ซึ่งเราตั้งใจจะทำงานด้านนี้กันต่อไปเรื่อยๆ หลังงานนี้สิ้นสุดลงด้วย ไม่ได้มารวมตัวกันแค่ในช่วงเทศกาล ส่วนตัวผมไม่ได้เป็นดีไซเนอร์ก็เลยทำวิจัยเกี่ยวกับ Food Literacy เพื่อให้คนสนใจประเด็นนี้และเข้าใจว่ากระบวนการผลิตอาหารเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม สังคม ศิลปะ วัฒนธรรมยังไงได้บ้าง ไม่ใช่แค่ว่ากินแล้วดีหรือไม่ดี” ร่วมสร้างสรรค์งานออกแบบที่ดีต่อโลกใบนี้ ฟ้าใส-หัสมา จันทรัตนา นักออกแบบที่สนใจการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงบวก อาสาพาเราเดินชมนิทรรศการ Regenerative Commodities บนพื้นที่ชั้นสาม และอธิบายถึงแนวคิดในการออกแบบชิ้นงานที่ให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้อย่างน่าสนใจว่า “เราและเพื่อนๆ ทดลองใช้วัสดุและวิธีการผลิตหลายแบบ อย่างเช่น Mycelium Unites! เป็นผลงานของคุณเยลกับคุณจีโน่-มาฆวีร์ สุขวัฒโน ที่ทำร่วมกับ Mush Composites ในนิทรรศการนี้จะได้เห็นขั้นตอนการเพาะไมซีเลียมซึ่งใช้ผลผลิตที่เหลือจากการเกษตรเป็นสารตั้งต้น ซึ่งเราจะโชว์กระบวนการงอกของเห็ดราและผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็นวัสดุคอมโพสิตที่น้ำหนักเบา ทนไฟ นำไปใช้กับงานตกแต่งภายใน ทำเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านได้” “ส่วนของคุณอาย-ไอริณ ปุรสาชิต เป็นการนำขยะจากอุตสาหกรรมดอกไม้มาทำเป็นภาชนะใส่ดอกไม้ด้วยวิธีการผลิตหลากหลายรูปแบบ แล้วก็จะมีการจัดเวิร์กช็อปร่วมกับ Pica สอนทำเครื่องเขียนจากวัสดุธรรมชาติด้วย และของฟ้าใสเองเป็นงาน Installation ที่โชว์กระบวนการกู้คืนวัสดุกลับมา ซึ่งเรานำเศษวัสดุเหลือทิ้งหลังจากการก่อสร้าง พวกเศษหิน อิฐ ดิน ทราย ปูน มาทำเป็น Biomaterials หรือวัสดุชีวภาพ เพื่อพูดถึงมุมมองที่มีต่อวัสดุก่อสร้างในปัจจุบันว่าเราจะสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการนำสิ่งเหล่านี้มาทำอะไรได้บ้าง” ทางด้านของท็อทได้ช่วยเล่าเสริมเกี่ยวกับผลงานของอุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี แฟชั่นดีไซเนอร์ที่ผลักดันเรื่องสโลว์แฟชั่น ผ่านการเป็นผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ไว้ดังนี้ “ผลงานในโปรเจกต์นี้คุณอุ้งเขาสำรวจเรื่องเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งย้อมด้วยสีที่สกัดจากก้อนหินและดินจากลุ่มแม่น้ำภาคเหนือ โดยมีการสอดแทรกวัฒนธรรมชุมชนและชนเผ่าต่างๆ ไว้ในผลงาน รวมถึงมีการเลือกใช้สีและดีไซน์ที่ช่วยส่งเสริมเรื่อง Mindfulness และมีการจัดเวิร์กช็อปสอนสกัดสีจากวัสดุธรรมชาติด้วย” ผลงานอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ EXTRUDE จาก MORE แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่นำวัสดุเหลือใช้มาสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้ใช้ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน ซึ่งอัน-อภิสรา ห่อไพศาล สมาชิก Ctrl+R Collective และดีไซน์ไดเรกเตอร์ของแบรนด์อธิบายว่า “เราทำการแปรรูปพอลิเมอร์และพลาสติกรีไซเคิลให้คนรู้สึกสนใจอยากใช้งานมากขึ้น โดยนำขวดน้ำพลาสติกของใกล้ตัวที่คนทั่วไปใช้กันอยู่ทุกวันมาแยกสีแล้วทดลองขึ้นรูปเป็นท่อทรงกระบอก ที่นำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น ประกอบเป็นชั้นวางของ โคมไฟ ผนังกั้นห้อง และเก้าอี้สตูล” ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของ Regenerative Commodities – Exhibition & Experiences เท่านั้น หากต้องการเปิดประสบการณ์ใหม่เกี่ยวกับงานออกแบบที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างความเปลี่ยนแปลง และทำความรู้จัก Ctrl+R Collective ให้มากขึ้น สามารถติดตามพวกเขาได้ทาง www.facebook.com/ctrlr.collective–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
mapmap GO! แผนที่เดินเท้าเพื่อทุกคนที่อยากสนิทกับเมืองมากขึ้น
mapmap GO! แผนที่เดินเท้าเพื่อทุกคนที่อยากสนิทกับเมืองมากขึ้น เวลาอยากเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง คนส่วนใหญ่มักค้นหาเส้นทางผ่านกูเกิลแมป ที่ช่วยพาเราไปถึงสถานที่นั้นโดยไม่หลง และแนะนำวิธีการพาเราไปถึงจุดหมายให้เร็วที่สุด แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเดินทางอันรวดเร็วที่ทำให้เราโฟกัสเพียงต้นทางกับปลายทาง ก็อาจทำให้เราพลาดการทำความรู้จักเส้นทางนั้นอย่างใกล้ชิดไปโดยปริยาย รวมถึงไม่อนุญาตให้เราสนใจและดื่มด่ำสิ่งที่อยู่ระหว่างทางมากนัก ด้วย Pain point นี้ที่ลงล็อกเหมาะเจาะกับยุคสมัยที่คนหันมาสนใจสำรวจเมืองที่ตัวเองอยู่มากขึ้น แผนที่เดินเท้า mapmap GO! จึงเกิดขึ้นเพื่อเขย่ามุมมองของคุณที่มีต่อเมืองให้เปลี่ยนไปกว่าจะมาเป็น mapmap GO! mapmap GO! เกิดจากความร่วมมือระหว่าง mor and farmer กลุ่มนักออกแบบที่นำข้อมูลวิจัยมาสร้างเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลและสื่อใหม่เพื่อปรับปรุงเมืองให้ดีขึ้น และ Refield Lab กลุ่มภูมิสถาปนิกที่สนใจการวางแผนและออกแบบพื้นที่ โดยเชื่อมโยงความรู้ด้านงานออกแบบเข้ากับการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ mor and farmer และภาคีเครือข่าย ได้พัฒนาแพลตฟอร์มชื่อ mapmap ขึ้นมาเป็นฐานข้อมูล เพื่อทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานครในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียว โดยนำฐานข้อมูลมาวิเคราะห์หาพื้นที่ที่มีศักยภาพและวางแนวทางในการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ หลังจากรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่มาได้จำนวนหนึ่ง พวกเขาก็เริ่มเกิดความคิดอยากเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ออกไปให้ผู้คนรับรู้ในวงกว้าง แต่ถ้านำข้อมูลจำนวนมหาศาลออกมากางแบบทื่อๆ คงยากที่จะดึงดูดความสนใจของคนทั่วไปได้ ทีมงานจึงสรุปย่อข้อมูลเหล่านั้นออกมาเป็นแผนที่กระดาษขนาดใหญ่ที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลส่งเสริมการเดินเท้าสำรวจ ‘บางกอกใหญ่’ ย่านต้นแบบที่เลือกมาเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อบอกเล่าถึงเส้นทางน่าเดินสำหรับนักเดินท่องเมืองที่สนใจเรื่องราวเชิงลึก และร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมเดินย่านกับ mapmap GO! ขึ้น ในช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ‘บางกอกใหญ่’ ย่านนำร่องที่รุ่มรวยด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์เมื่อถามว่าทำไมจึงเลือกย่านบางกอกใหญ่มาเป็นพื้นที่นำร่อง ทีมงานได้อธิบายเหตุผลประการแรกไว้อย่างน่าสนใจว่า ย่านบางกอกใหญ่เป็นพื้นที่เมืองเก่าที่มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ทั้งโบราณสถาน วัดเก่าแก่ และชุมชนดั้งเดิมกระจายตัวอยู่มากมาย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สีเขียวอย่าง สวนบางกอกใหญ่ สวนสาธารณะใจกลางฝั่งธนฯ ที่มีร่องสวนอยู่ในนั้นด้วย และสวนลุงสรณ์ สวนเกษตรของปราชญ์ชุมชนที่เป็นต้นแบบของแหล่งอาหารใกล้บ้าน จัดว่าเป็นอีกหนึ่งย่านที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสำรวจวิถีชีวิตชุมชน ส่วนเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ เนื่องจากมีภาคีเครือข่ายที่เคยทำงานร่วมกัน ทั้งกลุ่มยังธน CROSSs and Friends และชุมชนภายในย่าน ซึ่งสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การลงพื้นที่พูดคุยกับวินมอเตอร์ไซค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นทางลับประจำย่าน การเยี่ยมชมพื้นที่เกษตรและพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ชวนเดินเท้าสำรวจบางกอกใหญ่จุดประสงค์หลักของ mapmap GO! คือการเชิญชวนทุกคนมาเดินเท้าสำรวจเมืองศึกษารายละเอียดที่ซุกซ่อนอยู่ โดยในแผนที่จะสอดแทรกข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์และคุณค่าย่านนั้นๆ เอาไว้ด้วย ทั้งในแง่มุมของชุมชนและตลาด ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมเมื่อเราเริ่มสัมผัสเมืองในระดับที่ใกล้ชิดขึ้น เราก็จะได้เห็นสิ่งที่อาจไม่เคยเห็นในชีวิตประจำวันที่รีบเร่ง ประสบการณ์ที่เราได้จากการเดินเท้า จึงอาจนำไปสู่การตั้งคำถามที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาเมืองในแมปยังมีการแนะนำ 5 เส้นทางไว้เป็นไอเดียให้สามารถเลือกหรือลองออกแบบเส้นทางเดินเท้าในแบบของตัวเอง ได้แก่เส้นทางที่ 1 “นิเวศเกษตรร่องสวน” สำรวจความสัมพันธ์ของสายน้ำกับพื้นที่เกษตรกรรมในย่านเส้นทางที่ 2 “ลัดเลาะริมแม่น้ำ” เส้นทางริมน้ำที่เดินเล่นจากถนนจรัญสนิทวงศ์ไปถึงวัดอรุณได้เส้นทางที่ 3 “วัดวาอาราม” เส้นทางสำรวจวัดและศาสนสถานสำคัญที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เส้นทางที่ 4 “พิพิธภัณฑ์ชีวิต” พาชมงานศิลปะและพิพิธภัณฑ์ภายในย่าน ไปจนถึงตลาดของกินขึ้นชื่อเส้นทางที่ 5 “บางกอกใหญ่ใหญ่” สำรวจบางกอกใหญ่ทั้งเขตเพื่อเข้าใจภาพรวมของย่านในหนึ่งวัน โดยเส้นทางเหล่านี้ทีมงานลงพื้นที่เดินสำรวจมาแล้วทั้งหมด ข้อมูลในแผนที่จึงมีทั้งมิติทางสิ่งแวดล้อม จุดหมายปลายทางที่ควรแวะ รวมถึงแนะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเดินเท้า เช่น สิ่งกีดขวางที่เป็นอุปสรรค เส้นทางที่มีร่มเงาไม้ เส้นทางเลียบชายคลองใกล้ชิดธรรมชาติ พื้นที่ที่อากาศร้อนควรหลีกเลี่ยง เส้นทางที่มีไฟส่องสว่างริมถนนเพิ่มความปลอดภัยในยามค่ำคืน และในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา mor and farmer และ Refield Lab ได้จัดกิจกรรมชวนเดินสำรวจย่านบางกอกใหญ่ ด้วยแผนที่ mapmap GO! โดยเน้นไฮไลต์อย่างสวนเกษตร วัดเก่าแก่สมัยอยุธยา และชุมชนตลาด เพื่อชวนผู้คนมาทำความรู้จักย่านนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง นอกจากนี้ทีมงานยังอยากฟังเสียงตอบรับจากคนที่มาร่วมทดลองใช้แผนที่ว่าได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพื่อนำความคิดเห็นไปพัฒนาโปรเจกต์ต่อไป รวมถึงต้องการสร้างบทสนทนาชวนคิดชวนคุยระหว่างทาง ซึ่งหากเป็นไปได้ในอนาคตทีมงานก็อยากจัดโปรแกรมพิเศษให้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตมาร่วมเดินด้วย เพื่อรับรู้ปัญหาของพื้นที่ร่วมกันและนำไปสู่การแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม พวกเขาทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความเชื่อว่า การมีข้อมูลที่ดีจะช่วยให้นักพัฒนามองเห็นศักยภาพและปัญหาของเมืองได้ตรงจุด สามารถวางแผนฟื้นฟูเมืองให้น่าอยู่น่าเดินเที่ยวเล่นต่อไปได้ในอนาคต ส่วนการชวนคนจากภายนอกเข้ามาทำความรู้จักพื้นที่และซึมซับวิถีชีวิตของคนในย่าน ก็สามารถกระตุ้นการมีส่วนร่วมและขยายเครือข่ายไปสู่การทำโปรเจกต์ใหม่ๆ ร่วมกันในอนาคตได้ โดยแผนที่ลักษณะนี้สามารถนำไปปรับใช้กับย่านอื่นๆ ที่มีความน่าสนใจในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย แต่ยังไม่ถูกค้นพบหรือยังไม่ได้รับการสื่อสารนำเสนอออกไปให้แพร่หลายในวงกว้างดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/CANCommunityActNetwork –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
เปิดบ้านศาลพระภูมิ นิทรรศการเวรี่ไทยที่อยากชวนตั้งคำถามถึงการเป็นเจ้าของพื้นที่
‘เปิดบ้านศาลพระภูมิ’ นิทรรศการเวรี่ไทยที่อยากชวนตั้งคำถามถึงการเป็นเจ้าของพื้นที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้ People of Ari กลุ่มนักสร้างสรรค์ประจำย่านอารีย์ นำเรื่องราวของ ‘ศาลพระภูมิ’ ที่เราคุ้นเคยมาบอกเล่าในมุมมองใหม่ โดยชวนแก่น – สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ ศิลปินเจ้าของเพจ Uninspired by Current Events ผู้สร้างงานศิลปะแนว 3D เนื้อหาเสียดสีสถานการณ์บ้านเมืองอย่างเฉียบคมมาร่วมเป็นดีไซเนอร์ จำลองศาลพระภูมิขนาดยักษ์ขึ้นมาในบ้านเก่าของอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และได้กลุ่มละคร AT Theatre มาเปิดการแสดงพิเศษ เพื่อพาคนดูก้าวเข้าไปสู่โลกอีกมิติหนึ่ง เปียโน – ธันยพร รักษ์เถา คิวเรเตอร์จาก People of Ari บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ว่า “People of Ari เป็นโรงละครและครีเอทีฟสเปซที่ต่อยอดมาจาก Yellow Lane ซึ่งเราอยากแบ่งปันสเปซในการทำงานศิลปะให้เกิดขึ้นในย่านอารีย์ และเรามองหาศิลปินหลายๆ แขนงอยู่ตลอดเวลา แล้วเราชอบงาน Politic ที่มีความเสียดสีเบาๆ ดูมีชั้นเชิง เลยติดต่อพี่แก่นไปว่าสนใจอยากร่วมงานด้วย”ระดมไอเดียก่อร่างสร้างศาลพระภูมิหลังจากนั้นก็นำมาสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกัน โดยแก่นสนใจภูมิหลังของสถานที่ในแง่ที่เคยเป็นบ้านของอดีตนายกรัฐมนตรี และในอดีตอารีย์ก็เคยได้ชื่อว่าเป็นย่านที่อยู่อาศัยของขุนนางและชนชั้น ก่อนจะกลายมาเป็นย่านสุดชิคแบบทุกวันนี้ “อารีย์เป็นย่านที่ค่อนข้างจะถูก Gentrification ไปแล้ว มีฝรั่ง Expat มาอยู่เยอะ เลยคิดว่าเรื่องราวของศาลพระภูมิน่าจะตอบโจทย์ หนึ่งคือมันแมสมาก มันเวรี่ไทยในมุมของ Expat แต่เขาอาจจะยังสงสัยว่าสิ่งที่เห็นมาตลอดคืออะไร เลยอยากให้เขาได้มารับประสบการณ์นอกเหนือจากสิ่งที่คุ้นเคยในประเทศนี้ ขณะเดียวกันมันก็ทำงานกับสถานที่ที่เป็นบ้านของคนเก่าคนแก่ ในทางฟังก์ชั่นมันก็คล้ายๆ กับศาลพระภูมิในตัวของมันเองอยู่แล้ว” “เบื้องหลังก็มีการพูดคุยกันหลายแง่มุมว่า เราจะเล่าเรื่องศาลพระภูมิในแง่ไหน เราจะเสียดสีแค่ไหน เราจะพูดถึงชนชั้นปกครองหนักแค่ไหน สุดท้ายงานที่ออกมาคือการมองศาลพระภูมิตามธรรมชาติ เช่น การที่ของไหว้บางชิ้นเละเทะเน่าเสียไปตามธรรมชาติ เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เราอยากมองสิ่งนี้ตามความเป็นจริง ไม่ได้เอามาทำในลักษณะของการล้อเลียน ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นบทสนทนาที่น่าสนใจกว่า” “นอกจากนี้ไอเดียบางส่วนก็มาจากดีไซน์วีคปีที่แล้ว เราแวะมาเดิน Yellow Lane แล้วเห็นงาน The Forbidden Marsh ที่ให้คนลุยน้ำได้ เลยอยากทำนิทรรศการที่ใช้สเปซได้คุ้มแบบนั้นบ้าง ก็ออกมาเป็นศาลพระภูมิแบบ Immersive ที่คนดูสามารถมีส่วนร่วมและหยิบจับชิ้นงานมาไหว้ขอพรได้ ขณะเดียวกันก็อยากให้ภาพรวมดูเหมือนงานที่ปกติเราทำลงเพจด้วย” โดยงานนี้ได้ ลูกตาล – สรวรรณ บุญยะพุกกะนะ มาเป็นโปรดิวเซอร์ในการผลิตชิ้นงาน เพื่อทำให้ภาพร่างสำเร็จออกมาเป็นองค์ประกอบต่างๆ ภายในศาลพระภูมิที่จับต้องได้ “พี่เขาดีไซน์มายังไงเราก็ยึดตามนั้นไว้ก่อนเลย แล้วมาดูว่าจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ของบางอย่างมีวิธีประดิษฐ์อยู่แล้วในสเกลเล็ก ถ้าจะทำให้เป็นสเกลใหญ่ต้องหาวัสดุที่แตกต่างออกไปเพื่อให้สามารถคงตัวคงรูปได้มากขึ้น แล้วก็เอาพวกเท็กซ์เจอร์มาเลือกกับพี่ๆ อีกทีว่าใช้กระดาษอันนี้ภาพที่ออกมาจะเหมือนของจริงไหม ต้องให้คนหยิบจับแล้วไม่เสียหายง่าย อย่างดอกไม้ก็จะใช้กระดาษว่าวกับกระดาษไขแบบขุ่นมาทำ” ซึ่งเปียโนช่วยเสริมว่านอกจากความสวยงามสมจริงแล้ว อีกประเด็นที่ทีมให้ความสำคัญคือการหาจุดสมดุลที่ลงตัวระหว่างการทำงานให้ตรงตามโจทย์การดีไซน์และเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นโฟมเป็นวัสดุที่ราคาถูกมากแต่ยากต่อการนำไปรีไซเคิล ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นแทนสร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อตั้งคำถามกับ ‘การเป็นเจ้าของที่’นอกจากเป็นนิทรรศการแล้ว บ้านศาลพระภูมิยังถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า ด้วยการเป็นฉากของการแสดงแบบ Interactive ภายใต้คอนเซปต์ไอเดียเดียวกันแต่เล่าเรื่องราวในมิติที่ลึกขึ้น และในระหว่างเทศกาลกิจกรรมหลักของ People of Ari อย่างการแสดงดนตรีและการเต้นสวิงก็ยังคงดำเนินไปภายใต้ฉากศาลพระภูมิ โดยออกัส – ปวริศร กิจวานิชรุ่งเรือง หนึ่งในทีมผู้สร้างสรรค์การแสดงขยายความเพิ่มเติมว่า “โจทย์หลักคือเราอยากให้เป็นการแสดงที่คนดูสามารถมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับศาลพระภูมิขนาดใหญ่ได้ เราเลยให้นักแสดงและคนดูรับบทเป็นของถวายที่เห็นกันบ่อยๆ อย่างไก่ ม้าลาย และนางรำ โดยนักแสดงคือของถวายที่อยู่มานานกว่า เขาเลยเป็นแคนดิเดตที่จะได้รับเลือกให้เป็นเจ้าที่คนต่อไป ส่วนคนดูคือของถวายที่มาใหม่ ซึ่งหลักๆ เราต้องการพูดถึงประเด็นการเป็นเจ้าของพื้นที่” ส่วนในพาร์ตของการแสดงดนตรีและกิจกรรมอื่นๆ เมี่ยง – ปานมาศ ทองปาน คิวเรเตอร์จาก People of Ari ช่วยเล่าเสริมดังนี้ “People of Ari จัดกิจกรรมดนตรีเป็นประจำอยู่แล้ว ช่วงที่มีนิทรรศการเราจึงพยายามคิวเรตธีมหรือเลือกกิจกรรมให้ส่งเสริมการเล่าเรื่องด้วย อย่าง Jazz Night ที่อยู่ในบ้านศาลพระภูมิก็จะเป็นเพลงแจ๊สที่มีกลิ่นอายเข้ากับนิทรรศการ ซึ่งงานอื่นๆ ของ People of Ari ก็มีจุดประสงค์ประมาณนี้ นอกจากนิทรรศการที่เป็นอีเวนต์หลักแล้ว เราอยากให้เซตติ้งถูกใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างความหมายอื่นให้กับการแสดงที่จัดขึ้นในพื้นที่เดียวกันด้วย เราเลยวางตัวเองเป็น Theatre เพื่อให้ตอบรับกับจุดประสงค์หลายๆ อย่างในการใช้การพื้นที่”ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/peopleofaribkk–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
Community Vibes คุยกับคนรุ่นใหม่จากย่านนางเลิ้ง
Community Vibes คุยกับคนรุ่นใหม่จากย่านนางเลิ้ง ที่ใช้การออกแบบ ‘จูนคลื่น’ ให้ชุมชนดั้งเดิม ศิลปะร่วมสมัย และผู้ชมงานแฮปปี้ไปด้วยกัน‘ย่านนางเลิ้ง’ คือชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีเรื่องราวน่าสนใจซุกซ่อนอยู่มากมาย ในอดีตย่านนี้เคยเป็นศูนย์กลางความเจริญ โดยมีตลาดนางเลิ้งเป็นตลาดบกแห่งแรกของไทย นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของละครชาตรีที่เป็นตำนานคู่ย่าน โดยมีบ้านครูดนตรีไทยและคณะละครในอดีตรวมตัวกันอยู่หลายแห่ง ทว่าเมื่อเวลาผันผ่าน บทบาทความสำคัญของนางเลิ้งกลับเลือนรางจางหาย จนเกิดคำถามว่าเราจะทำอย่างไรให้ผู้คนรับรู้เสน่ห์ของย่านเก่าและหันมาร่วมกันพัฒนาย่านให้น่าอยู่ไปพร้อมๆ กับรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้ไม่ให้สูญหายตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จึงชวน น้ำมนต์-นวรัตน์ แววพลอยงาม ผู้นำชุมชนรุ่นใหม่แห่งย่านนางเลิ้งที่ขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนด้วยศิลปะมานานหลายปี มาร่วมสร้าง Community Vibes กระบวนการจูนคลื่นให้ตรงกันระหว่างชุมชนและเทศกาล หาจุดบรรจบที่ลงตัวระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับศิลปะร่วมสมัย โดยน้ำมนต์วางเป้าหมายไว้ง่ายๆ ว่าดีไซน์วีกที่นางเลิ้งจะต้องทำให้ทุกคนแฮปปี้ ทั้งชุมชน ศิลปิน และผู้เข้าชมงาน เรียนรู้อดีต พัฒนาปัจจุบัน เพื่อสร้างอนาคตให้นางเลิ้ง “ก่อนน้ำมนต์เกิด นางเลิ้งเคยเป็นย่านที่เจริญรุ่งเรืองเหมือนสยามสแควร์ของคนยุคนี้ ตลาดเปิดทั้งวันทั้งคืนไม่เคยหลับ เราเติบโตมากับเรื่องเล่าเหล่านี้ ส่วนยุคที่น้ำมนต์เกิดอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคมืด ตลาดซบเซา ศูนย์ราชการย้ายออกไป โรงหนังที่มีความทรงจำของผู้คนมากมายถูกปิด แล้วเราเติบโตมาในครอบครัวที่คุณแม่เป็นผู้นำชุมชน คนนางเลิ้งส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิมผู้คนรู้จักกันหมด เวลามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นคนในชุมชนจะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อบ้านเกิดตามสไตล์ของตัวเอง ทุกคนทำงานเพื่อชุมชน ไม่ได้มาอาศัยอยู่เพื่อทำงานเก็บเงินเลิกงานกลับเข้าบ้าน” “แล้วก็ส่งต่อมาถึงยุคที่น้ำมนต์เริ่มเข้ามาทำงานชุมชนจริงจัง ประมาณปี 2007 เราตั้งกลุ่มชื่อ อีเลิ้ง (E-Lerng) ชวนเพื่อนๆ ศิลปินทั้งไทยและต่างชาติมาช่วยกันทำโปรเจกต์ โดยที่เรายังไม่รู้ว่านางเลิ้งจะอยู่หรือไปจากการถูกไล่ที่รื้อถอน แต่ชุมชนก็พยายามสร้างโซเชียลมูฟเมนต์ให้คนรู้สึกหวงแหนนางเลิ้งร่วมกัน สิบกว่าปีที่แล้วคนยังไม่ค่อยเก็ตว่างานชุมชนคืออะไร แต่พอมีการจัดเทศกาล มีศิลปินทำงานชุมชน มีการท่องเที่ยวชุมชน ก็ทำให้คนเข้าใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น เด็กๆ รุ่นใหม่เริ่มสนใจคำว่าชุมชน เริ่มเป็น Active Citizen ทุกวันนี้ยังไม่ได้ฟันธงว่าชุมชนนางเลิ้งจะได้อยู่ต่อไปไหม แต่น้ำมนต์คิดว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น คนเริ่มเห็นความสำคัญของชุมชนเก่าในประเทศไทยมากขึ้น เริ่มเห็นภาพว่าการพัฒนากับการเก็บรักษาต้องทำคู่กันยังไงจากบทเรียนของหลายๆ ชุมชนที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่านางเลิ้งจะต้องอยู่แบบห้ามเปลี่ยนแปลง แต่น้ำมนต์คิดว่าการพัฒนาควรทำคู่ไปกับการเก็บรักษาบางอย่างไว้” ต่อมาน้ำมนต์ได้ก่อตั้ง COMMUNITY LAB ขึ้นมา เป็นองค์กรที่ทำงานด้านศิลปะเชิงพัฒนาสังคมซึ่งต่อยอดมาจากอีเลิ้ง โดยเพิ่มเติมระบบการจัดการฐานข้อมูลทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อทำหน้าที่บันทึกอดีต ขับเคลื่อนปัจจุบัน และรวบรวมทรัพยากรไว้สำหรับอนาคต ซึ่งน้ำมนต์อธิบายเพิ่มเติมว่า “น้ำมนต์ทำงานชุมชนและอีกพาร์ตหนึ่งก็เป็นศิลปิน เราเลยสนใจประวัติศาสตร์ที่ค่อยๆ หายไปในแต่ละย่าน และอยากทำแพลตฟอร์มที่เก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงการศึกษาวิจัย ยกตัวอย่างเช่น เราใช้เทคโนโลยี 3D สแกน เก็บท่ารำของครูนางรำชาตรีแบบดั้งเดิมคนสุดท้ายไว้ ใครอยากทำโปรเจกต์เกี่ยวกับละครชาตรีก็มาศึกษาข้อมูลได้ เรามีฐานข้อมูล 12 ท่ารำที่หมุนดูได้ 360 องศาเลย”ปรับจูนสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชนกับศิลปะร่วมสมัย ส่วน Community Vibes คือโปรแกรมทดลองที่น้ำมนต์ออกแบบขึ้นโดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Local Studio, COMMUNITY {art} LAB และ Immersive Exhibition ซึ่งน้ำมนต์เล่าถึงแต่ละส่วนไว้อย่างน่าสนใจ “ส่วนแรก Local Studio จะมีโปรแกรมทัวร์เดินชุมชนลัดเลาะตรอกซอกซอย พากินอาหารร้านคุณป้าคนนั้นคนนี้ มีเวิร์กช็อปต่างๆ ที่ศิลปินสามารถใช้โปรแกรมเหล่านี้ได้ ศิลปินบางคนอยากทำเรื่องละครชาตรีมากเลย หรือสนใจการทำบาตรพระแบบดั้งเดิมในชุมชนบ้านบาตร ถ้าไม่มีคอมมูนิตี้คอยซัพพอร์ต เขาอาจจะเข้ามาเดินถ่ายรูปกลับไปมโนที่บ้าน ซึ่งผลงานมันอาจจะไม่สามารถดึงสกิลของศิลปินออกมาได้เท่าที่ควร ขณะเดียวกันข้อมูลที่เขามีอย่างจำกัดก็ไม่ได้มาจากรากวัฒนธรรมจริงๆ ของชุมชน น้ำมนต์เลยอยากคิดโปรแกรมที่ทำให้ผลงานในดีไซน์วีกดีทั้งต่อตัวศิลปินเอง ดีทั้งต่อชุมชน และตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของเทศกาล” “ส่วนที่สอง COMMUNITY {art} LAB เป็นสเปซห้องแอร์เย็นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก FREC Bangkok หลังจากศิลปินได้แรงบันดาลใจมาแล้วก็มาทำงานตรงนี้จะได้ไม่รบกวนชุมชน เพราะพวกศิลปินส่วนใหญ่ทำงานกันดึกถึงสี่ห้าทุ่ม โดยกลุ่มเป้าหมายแรกคือเราอยากดึงคนรุ่นใหม่ที่ทำงานสายศิลปะมาร่วมโปรเจกต์ ซึ่งได้น้องๆ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เข้ามาทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มแรก แล้วพอเราเปิดตัวโปรเจกต์ออกไปก็มีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่อยากเข้าร่วมทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้เราเห็นว่านักออกแบบหรือศิลปินเขาต้องการพื้นที่แบบนี้ในการสร้างผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้น” “ส่วนที่สาม Immersive Exhibition จะสัมพันธ์กับสองส่วนแรก คือการจัดแสดงผลงานของศิลปินโดยมีคนในชุมชนคอยให้คำแนะนำ อย่างศิลปินกลุ่มหนึ่งเดินเข้าไปสลัมแล้วเห็นว่ามีบ้านหนึ่งแบ่งโซนบ้านด้วยกองผ้า เขาสนใจเล่าเรื่องนี้ โลเคชันจัดแสดงงานก็ควรอยู่ใกล้ในสลัม COMMUNITY LAB จะช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดแสดงงาน ช่วยจูนการทำงานระหว่างศิลปินกับชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดข้อขัดแย้ง”“เรานำโมเดลนี้มาทำงานในฐานะผู้นำชุมชน ไม่ได้ทำในฐานะนักออกแบบ เราอยากให้คนในชุมชนได้มีโอกาสคิวเรตงานร่วมกับศิลปิน น้ำมนต์คิดว่าการมีโปรแกรมแบบ Community Vibes ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างคนในกับคนนอก ระหว่างเทศกาลกับชุมชน มันน่าจะดีต่อทุกฝ่าย” น้ำมนต์กล่าวทิ้งท้ายไว้ถึงความสำคัญของ ‘การจูนคลื่น’ ที่เธอกำลังขับเคลื่อนและอยากส่งต่อแนวคิดให้ชุมชนอื่นที่มีนิเวศการอยู่อาศัยใกล้เคียงกับนางเลิ้งสามารถนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/communitylab.co–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
Academic Program - เล่าเรื่องย่านให้เพื่อนบ้านรู้
Academic Program “เล่าเรื่องย่านให้เพื่อนบ้านรู้” พื้นที่ปล่อยของที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน ทุกๆ ปีเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จะมี Academic Program ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาหลากหลายสาขาวิชา ได้มาร่วมปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์และส่งต่อไอเดียในการพัฒนาเมืองด้วยการออกแบบในหัวข้อที่สอดคล้องกับธีมในแต่ละปี โดยมีนักสร้างสรรค์มืออาชีพมากประสบการณ์คอยช่วยดูแล สนับสนุน และให้คำปรึกษา โดยในปีนี้ทาง Cloud-floor (คลาวด์ฟลอร์) บริษัทสถาปนิกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ รับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์หลักประจำโครงการ เราจึงชวน ฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย ผู้ร่วมก่อตั้ง Cloud-floor มาพูดคุยถึงกระบวนการและผลงานน่าสนใจที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลที่ผ่านมา“โจทย์ของ Academic Program ในปีนี้คือ ‘เล่าเรื่องย่านให้เพื่อนบ้านรู้’ เราเลยชวนนักศึกษา 10 กลุ่มมาร่วมทำโปรเจกต์ Storytelling 10 โปรแกรม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของย่านหัวลำโพง นางเลิ้ง และบางโพ ในแง่มุมที่คนนอกอาจจะยังไม่เคยรับรู้หรือช่วยขยายสิ่งที่เคยถูกบอกเล่าไปแล้วให้มีความพิเศษมากขึ้น ซึ่งเราทำการคัดเลือกย่านที่อยากนำเสนอร่วมกับ CEA โดยเลือกจากพื้นที่ที่คิดว่า Academic Program น่าจะเข้าไปช่วยส่งเสริมคอนเทนต์ในย่านนั้นๆ ที่เพิ่งเข้าร่วมดีไซน์วีกได้ไม่นาน ยังมีโปรแกรมหรือชิ้นงานไม่เยอะมาก”เรียนรู้แบบ ‘ข้ามศาสตร์’ เห็นโลกมากกว่าแค่สิ่งที่เรียน นอกจาก Cloud-floor ที่เป็นคิวเรเตอร์หลักแล้ว งานนี้ยังได้รับความร่วมมือจากนักสร้างสรรค์หลายวงการทั้งช่างภาพ ผู้กำกับภาพยนตร์ แฟชั่นดีไซเนอร์ และสตูดิโอออกแบบมัลติมีเดีย ที่มาร่วมเป็นเมนเทอร์ให้กับเหล่านักศึกษาด้วย ซึ่งฟิวส์อธิบายว่า “เรามีความรู้สึกว่าการเรียนรู้ข้ามศาสตร์จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เลยคุยกับทาง CEA ว่าอยากนำเสนอกระบวนการทำงานที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลองเอาความสามารถที่เรียนจากคณะมาผสมผสานกับศาสตร์อื่นที่ไม่ได้มีอยู่ในภาควิชา เราเลยไปชวนนักสร้างสรรค์มืออาชีพในสาขาต่างๆ มาเป็นเมนเทอร์จับคู่ทำงานร่วมกับนักศึกษา เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้านักศึกษาคณะสถาปัตย์ได้ทำงานร่วมกับแฟชั่นดีไซเนอร์หรือผู้กำกับภาพยนตร์ ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้เอาความรู้มาผสมกัน เมนเทอร์ที่มาแชร์ประสบการณ์ก็จะได้เรียนรู้จากน้องๆ ด้วย” “เราอยากให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่และทำงานร่วมกับชุมชน อยากให้เขาได้รับประสบการณ์ในการจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมที่จับต้องได้ ปีนี้เลยวางกรอบเอาไว้ว่า Academic Program จะไม่ใช่งานที่อยู่แค่ในกระดาษ แต่จะถูกนำเสนอออกมาในเชิงกายภาพจริงๆ นี่คือสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ แต่เราไม่ได้กำหนดว่าผลงานจะต้องเป็นอะไร อันนี้ขึ้นอยู่กับประเด็นที่เขาพบเจอจากกระบวนการลงพื้นที่และทำงานกับเมนเทอร์ เขาจะนำเสนอในมุมมองที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชน หรือนำเสนอสิ่งที่ตรงกันข้ามก็ได้ อาจจะไม่ได้พูดถึงความน่าอยู่เสมอไป แต่เราอยากให้โปรเจกต์นี้เป็นเสียงสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของเมือง เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้พิจารณาว่าพื้นที่ชุมชนตรงนั้นควรพัฒนาในแง่มุมไหน โปรเจกต์นี้อาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาของสิ่งที่เป็นอยู่ เพราะนักศึกษาไม่ได้มีอำนาจในการแก้ปัญหานั้นโดยตรง แต่เขาสามารถเล่าเรื่องเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ เล่าถึงสิ่งที่คนในชุมชนอยากเล่า หรือเล่าเรื่องเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบริบทในชีวิตประจำวันของแต่ละพื้นที่” สร้างคุณค่าให้พื้นที่ด้วยเรื่องราวเล็กๆ ที่จับใจ“เสียงตอบรับหลังจัดแสดงงานค่อนข้างหลากหลาย แต่โดยรวมเรียกได้ว่าเกินคาดครับ ตัวอย่างเช่นโปรเจกต์ ‘Voice หัวลำโพง’ ที่จัดแสดงในโรงแรมสเตชั่น มีหลายคนบอกว่าเรื่องที่นำมาเล่ามันสะท้อนถึงความเป็นชุมชนโดยไม่ได้ปรุงแต่ง ผลงานนี้เป็นการรวบรวมเสียงของคนในชุมชนว่าหลังจากสถานีรถไฟย้ายไปอยู่บางซื่อ การที่ชุมชนหัวลำโพงมีทางด่วนตัดผ่าน หรือมีสถานีรถไฟใต้ดิน MRT เข้ามาตั้ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันอย่างไรทั้งแง่บวกและแง่ลบ เป็นการเล่าเรื่องของชุมชนที่ไม่ได้นำเสนอแต่ด้านดี เรานำเสนอว่าความจริงคืออะไร ให้คนได้พิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงของเมืองไม่ได้มีแต่ข้อดีหรือข้อเสียเสมอไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนมีหลายด้านนะ อยู่ที่ว่าเราได้ฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนครบถ้วนแล้วหรือยัง” “หรืออีกโปรเจกต์หนึ่งคือการถ่ายรูปชุดแฟชั่นของคนในชุมชน แล้วถามว่าเสื้อผ้าที่ใส่ทุกวันนี้มีความสำคัญกับเขาอย่างไร เสื้อตัวนี้มีความประทับใจยังไง เป็นแง่มุมน่ารักๆ ของคนในพื้นที่ ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในเชิงมิติต่างๆ และคนภายนอกก็รับรู้เรื่องราวของหัวลำโพงมากขึ้น เป็นการแสดงความเข้าใจผ่านการเล่าเรื่องชีวิตประจำวันในเชิงคุณค่าต่างๆ” “ส่วนย่านนางเลิ้งก็มีกิจกรรม ‘ลาน-รื่น-เลิ้ง’ ที่นักศึกษาเขาเห็นว่าในอดีตนางเลิ้งเคยเป็นย่านเอนเตอร์เทนเมนต์ มีบ้านเต้นรำหรือชื่อทางการคือโรงเรียนสามัคคีลีลาศ เป็นโรงเรียนสอนเต้นรำให้เซเลบฯ และดาราสมัยก่อน แต่ปัจจุบันบ้านไม้หลังนี้ผุพังไปแล้ว เขาเลยอยากชวนครูที่เคยสอนเต้นรำมารื้อฟื้นความทรงจำ และเปิดสอนอีกครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ บนดาดฟ้าโรงเรียน เป็นกิจกรรมที่น่ารักและมีคุณค่าทางจิตใจ” “กระบวนการตรงนี้จะทำให้นักศึกษาเขามีความละเอียดอ่อนในการทำงานมากขึ้น โดยเมนเทอร์ก็จะนำประสบการณ์มาช่วยสอนว่า เวลาลงพื้นที่พูดคุยกับคนในชุมชนมีสิ่งไหนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ควรพูดคุยแบบไหนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญแทบจะที่สุดเลย เราไม่ได้เห็นคนในชุมชนเป็น Object ในการจัดแสดงงาน แต่เรากำลังร่วมกันสร้างคุณค่าให้กับพื้นที่ ซึ่งบางทีมองจากภายนอกอาจไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ที่จับต้องได้ เช่น ไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่คนนอกไม่ค่อยได้สัมผัสคือความรู้สึกของคนในพื้นที่ เพราะมันจับต้องไม่ได้และวัดผลยาก แต่ทุกครั้งที่ทำงานกับชุมชน เราได้เห็นว่าหลายคนเขามีความสุขที่ได้ร่วมทำกิจกรรม ได้เล่าเรื่อง ได้จัดแสดงงาน ฟังแล้วอาจดู Romanticize แต่เป็นเรื่องจริง” ทั้ง 10 โปรแกรม โดย 10 กลุ่มนักศึกษา ประกอบด้วย 1. ย่านหัวลำโพง : การเดินทางของความทรงจำ (Journey Memory) โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ x วีระพล สิงห์น้อย (Fotomomo) ความทรงจำในอดีตที่มิอาจหวนคืน ถูกบันทึกไว้เป็นภาพถ่ายและนำมาออกแบบลายพิมพ์เพื่อพิมพ์ลงบนผ้าฝ้ายเนื้อธรรมชาติด้วยเทคนิค Cyanotype2. ย่านหัวลำโพง : Diito! Hua Lamphong โดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงบูรณาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ x ชยนพ บุญประกอบ ภาพยนตร์สั้นกึ่งทดลองที่นำเสนอเรื่องราว ร่องรอย และการเปลี่ยนผ่าน โดยการมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส 3. ย่านหัวลำโพง : voice หัวลำโพง โดยคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง x Cloud-floor หัวลำโพงเป็นย่านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของเมืองมากที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ เราจึงอยากให้ผู้ชมได้ฟังเสียงของคนในชุมชนและนอกชุมชนเพื่อเปิดมุมมองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้น 4. ย่านหัวลำโพง : 88/610 โดยสาขาครีเอทีฟอาร์ตและกราฟิกครีเอทีฟ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา x ม๊าเดี่ยว-อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ ซีรีส์ภาพถ่ายประกอบคำบอกเล่าและผลงานศิลปะจัดวางที่ชวนผู้คนมาบอกเล่าเรื่องการแต่งตัว เสื้อผ้า ทรงผม เครื่องประดับ ข้าวของเครื่องใช้ ที่แสดงถึงทักษะอาชีพของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 5. ย่านบางโพ : ภาพแปะสลักโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ x วีระพล สิงห์น้อย (Fotomomo) ผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อสื่อสารวิถีชีวิตของอาชีพแกะสลักไม้ที่บางโพ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นย่านแห่งไม้6. ย่านบางโพ : Soul of the Craftsman โดยคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ สาขาสถาปัตยกรรม และสาขาออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ x XD49 นิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของช่างฝีมือบางโพ ที่สะท้อนความแข็งแรงและโดดเด่นของย่าน โดยเล่าผ่านการรับรู้ทั้ง 5 คือ เห็น ฟัง สัมผัส ได้กลิ่น และลงมือทำ7. ย่านนางเลิ้ง : ลาน-รื่น-เลิ้ง (Lan-Ruen-Loeng) โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต x ชยนพ บุญประกอบ เปิดพื้นที่สะท้อนการมีอยู่ของบ้านเต้นรำที่เคยเป็นที่รู้จักของคนในย่าน ให้ผู้คนได้กลับมาร่วมเต้นรำอีกครั้ง และมีการสอนเต้นลีลาศให้เหล่าหนุ่มสาวยุคใหม่ด้วย8. ย่านนางเลิ้ง : นางเลิ้ง รื่นเริง ไม่เลือนราง โดยสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ (หลักสูตรนานาชาติ) CommDe จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย x XD49 พาทุกคนหวนสู่ความรื่นเริงจากย่านบันเทิงเก่า ผ่านตั๋วกระดาษที่เป็นตัวกลางสู่ความบันเทิงและโชว์เรื่องราวประวัติศาสตร์อันน่าจดจำ9. ย่านนางเลิ้ง : จักรวาลกล้วยเเขก โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ x Cloud-floor นำจุดเด่นของถุงกล้วยเเขกเมนูขึ้นชื่อประจำย่าน มาออกเเบบลวดลายเเละลงสีให้สามารถประกอบกันเป็นภาพของย่านโดยมีการใช้สีของนางเลิ้งที่เป็นจุดเด่น 10. ย่านนางเลิ้ง : Scrawl เส้นสมมติ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี x ม๊าเดี่ยว-อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ สื่อสิ่งพิมพ์นับเป็นประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งของนางเลิ้ง ผู้แสดงงานจึงอยากเชิญชวนผู้คนให้มาเขียน วาด ละเลง ปลดปล่อยความรู้สึกและความคิดสร้างสรรค์ออกมาอย่างเต็มที่บนกระดาษแผ่นใหญ่ที่จัดเตรียมไว้–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
เปลี่ยนภาพจำให้กิจการเก่าแก่และตำนานย่านหัวลำโพง โดย CEA x RTUS-Bangkok
เปลี่ยนภาพจำใหม่ให้กิจการเก่าแก่และตำนานคู่ย่านหัวลำโพง ด้วยพลังการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ โดย CEA x RTUS-Bangkok ‘ย่านหัวลำโพง’ เป็นที่รู้จักดีในฐานะที่ตั้งของสถานีรถไฟเก่าแก่ที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ต่อมาเมื่อระบบขนส่งมวลชนของเมืองเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ในฐานะศูนย์กลางการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ก็ค่อยๆ มีบทบาทลดลงในสายตาของคนรุ่นใหม่แต่เรื่องราวของหัวลำโพงยังคงดำเนินต่อไป เบื้องหลังอาคารหัวลำโพงทรงครึ่งวงกลมที่ผู้คนสัญจรผ่านไปมาที่เป็นเสมือนภาพจำของย่าน ยังมีร้านอาหารรสเด็ด ธุรกิจเก่าแก่ที่สานต่อมาหลายรุ่น และงานช่างฝีมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ซุกซ่อนไว้และหลายคนยังไม่เคยเข้าไปทำความรู้จัก ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปีนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จึงร่วมกับกลุ่มเยาวชนริทัศน์บางกอก (ReThink Urban Spaces Bangkok) กลุ่มคนรุ่นใหม่และโฮสต์ประจำย่านหัวลำโพงที่เห็นความสำคัญของย่านนี้ในแง่มุมของการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และแหล่งเรียนรู้ เปิดประตูให้ผู้คนเข้ามาสำรวจและทำความรู้จักพื้นที่แห่งนี้มากกว่าแค่ในมุมของที่ตั้งดั้งเดิมของสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ และหนึ่งในกิจกรรมที่เราอยากหยิบยกมาเล่าถึงคือ Made in Hua Lamphong เพราะย่านหัวลำโพงที่เต็มไปด้วยร้านรวงที่อยู่คู่ชุมชนมานานหลายรุ่น ร้านอาหารเก่าแก่ และงานช่างฝีมือที่หาที่ไหนไม่ได้ เป็นแง่มุมที่หลายคนไม่เคยรู้ โปรเจกต์ Made in Hua Lamphong จึงเกิดขึ้นเพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ ให้คนเกิดภาพจำที่ต่างออกไปต่อหัวลำโพง และเพื่อให้กิจการเก่าแก่เหล่านี้สามารถปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ตามยุคสมัยได้ โดยริทัศน์บางกอกได้คัดสรร 5 ทีมนักสร้างสรรค์ จับมือกับ 6 กิจการดั้งเดิมในพื้นที่หัวลำโพง เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์และเรื่องราวอันทรงคุณค่า ออกมาเป็นงานสร้างสรรค์สุดเจ๋งที่เห็นแล้วชวนให้เราอยากออกไปเดินสำรวจย่านหัวลำโพงขึ้นมาบ้างทันที ทั้ง 5 Collaboration คืออะไรบ้าง ไปดูกันเลย!1. ศิลป์เมือง x ease studioร้านศิลป์เมืองตั้งอยู่บนถนนรองเมือง ผลิต จำหน่ายปลีก-ส่ง รับซ่อม และขายวัสดุเกี่ยวกับร่มแม่ค้าและร่มสนามมานานกว่า 60 ปี แต่ละขั้นตอนทำด้วยมืออย่างพิถีพิถันใส่ใจทุกรายละเอียด และปัจจุบันทางร้านยังรับผลิตร่มให้กับงานอีเวนต์ รวมถึงบริษัททั่วไปที่ต้องการร่มเพื่อการโฆษณาด้วย ในการจับมือกันครั้งนี้ ease studio สตูดิโอออกแบบงานคราฟต์ ที่สนุกกับการเล่นกับวัสดุต่างๆ ด้วยเทคนิคใหม่ ได้นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาร่มแม่ค้าคอลเล็กชันใหม่ ที่มีฟังก์ชันการใช้งานตอบโจทย์มากขึ้น กลายเป็นร่มสีสันสะดุดตาที่มีฐานเป็นขาโต๊ะหรือเก้าอี้ในตัว ช่วยลดภาระในการขนของและเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน แถมยังประกอบง่ายและประหยัดพื้นที่มากกว่าเก่า2. โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง x Ek Thongprasertสำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง ก่อตั้งโดยซินแสเฮียง แซ่โง้ว ในปี พ.ศ. 2499 ที่อำเภอหาดใหญ่ ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ซอยพระยาสิงหเสนี (ตรอกสลักหิน) และเป็นเพื่อนคู่ใจสายมูมาตั้งแต่รุ่นอากง อาม่า ซึ่งนิยมดูฤกษ์มงคลผ่านปฏิทินจีน ทั้งยังปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยด้วยการทำแอปพลิเคชัน Num Eiang Astrolendar เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ด้านโหราศาสตร์จีนไปยังรุ่นหลาน เหลน โหลน เอก ทองประเสริฐ แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดัง เป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นความสำคัญของโหราศาสตร์จีนในฐานะที่พึ่งทางจิตใจในช่วงเวลาสำคัญของชีวิต เขาจึงร่วมกับธนวัฒน์ คล่องวิชา ทำโปรเจกต์ ‘Only Good Days’ รวบรวมวันมงคลดีๆ ที่การันตีโดยน่ำเอี๊ยงมาออกแบบเป็นปฏิทินแขวนผนังและปฏิทินพกพา ที่มีสีสันสดใส ปรับภาพลักษณ์ให้โดนใจคนรุ่นใหม่ เป็นเสมือนงานศิลปะที่ใช้ตกแต่งห้องได้3. โรงงานกระดาษชัยกิจ x Likaybinderyจุดเริ่มต้นของโรงงานกระดาษชัยกิจมาจากความขยันขันแข็งของอากงใช่กี่ ที่เคยปั่นจักรยานขายส่งกระดาษในย่านยศเส และต่อยอดสู่การเป็นเจ้าของโรงงานกระดาษและโกดังใหญ่ในย่านหัวลำโพง โดยในช่วงแรกอากงใช้ชื่อตนเอง ‘ใช่กี่’ ที่แปลว่า ‘โชคดี’ มาเป็นชื่อกิจการ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อชัยกิจในยุคทายาทรุ่นที่ 2 สินค้าหลักขายดีคือกระดาษสีน้ำเงิน ที่นิยมนำไปใช้ม้วนห่อสำลีเพื่อจำหน่าย รวมถึงห่อสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น ไม้ขีดไฟ เทียน และเสื้อผ้า นอกจากนี้ยังมีกระดาษสีน้ำตาล กระดาษรีมขาว และกระดาษรียูสจากกระดาษข้อสอบ ที่ทางโรงงานนำมาตัดให้ได้ขนาดพอดีและขายต่อให้คนนำไปพับถุงกระดาษ ต่อมาการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้กระดาษได้รับความนิยมน้อยลง โรงงานจึงต้องปิดตัวลงในรุ่นที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2540 แม้ปัจจุบันจะไม่มีโรงงานกระดาษอีกต่อไปแล้ว แต่ทายาทรุ่นที่ 3 ยังคงเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ครอบครัว จึงนำพื้นที่เดิมมาเปิดเป็นร้าน Play Space คอมมูนิตี้ของคนรักกาแฟและงานศิลป์ ซึ่งนำกระดาษสีน้ำเงินมาใช้ห่อแก้วเครื่องดื่ม เพื่อส่งต่อเรื่องราวให้คนได้รู้ว่าย่านหัวลำโพงเคยมีโรงงานกระดาษชัยกิจตั้งอยู่ พันทิพา ตันชูเกียรติ Paper Artist ผู้ร่วมก่อตั้ง Likaybindery ได้มาพบเห็นและสะดุดตากับกระดาษสีน้ำเงินที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวนี้ จึงนำมาใช้ออกแบบเป็นธงราวลายฉลุเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลประจำย่านหัวลำโพง และจัดเวิร์กช็อปทำตัวแสตมป์ให้ทุกคนสามารถสร้างลวดลายบนกระดาษสีน้ำเงินได้ด้วยตนเอง4. บ้านอิตาลี x COTH Studioร้านขายและผลิตอุปกรณ์ประตูที่ในยุคแรกเน้นนำเข้าของตกแต่งประตูแนวยุโรปผ่านชาวอิตาลีท่านหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อร้านว่า ‘บ้านอิตาลี’ ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายของสินค้าที่ประณีตและสวยงาม บางอย่างหาซื้อยากตามท้องตลาดทั่วไปก็สามารถมาซื้อได้ที่ร้านนี้ บ้านอิตาลีจึงมีชื่อเสียงมายาวนานมากกว่า 30 ปี กลุ่มนักออกแบบจาก COTH Studio ซึ่งมีความถนัดในงานโลหะและชื่นชอบเรื่องราวชุมชน จึงนำจุดเด่นเรื่องความใส่ใจและบริการที่เป็นมิตรมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ โดยหยิบเอาสินค้าภายในร้านมาจัดเรียงเป็นงานศิลปะที่สื่อถึงรอยยิ้มพิมพ์ใจ เพื่อแต่งเติมสีสันและชักชวนผู้คนเหลียวมอง และอยากเดินเข้ามาอุดหนุนร้านค้าท้องถิ่นตามย่านชุมชนกันมากขึ้น 5. ขนมผักกาดอาม่าชอเค็งและเบ๊โอชา x Witti Studioเนื่องจากเป็นชุมชนจีนอายุมากกว่าร้อยปี รอบย่านหัวลำโพงจึงเต็มไปด้วยร้านอาหารเก่าแก่ที่เสิร์ฟความอร่อยมายาวนาน ในโปรเจกต์ริเริ่มทดลองพัฒนาย่าน Witti Studio จึงนำทักษะการออกแบบมาช่วยปรับปรุงป้ายชื่อร้านให้ดึงดูดสายตาและสื่อสารถึงความอร่อยดั้งเดิม โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ของแต่ละร้านไว้เป็นอย่างดี ด้วยการนำลายมือเจ้าของร้านมาดัดแปลงเป็น Typo Logo อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ ป้ายเมนู และออกแบบผ้าอเนกประสงค์ที่มีแผนที่นำทางไปตามหาความอร่อยร้านที่เลือกมามี 2 ร้าน ได้แก่ ขนมผักกาดอาม่าชอเค็ง สตรีทฟู้ดรถเข็นของอาม่าสองพี่น้องที่สืบทอดสูตรลับความอร่อยของขนมผักกาดสไตล์แต้จิ๋วมาจากรุ่นแม่ เปิดขายมานานกว่า 40 ปี โดดเด่นที่รสกลมกล่อม กรอบนอกนุ่มใน กลิ่นหอมฟุ้ง และมีเมนูลับอย่างขนมถังแตกที่ไม่ควรพลาดลิ้มลองเช่นกัน ส่วนอีกร้านคือเบ๊โอชา สภากาแฟเก่าแก่อายุกว่า 80 ปีประจำย่านหัวลำโพง มีจุดเริ่มต้นมาจากกาแฟหาบเร่สมัยรุ่นอากง ก่อนจะมาเปิดหน้าร้านขายก๋วยเตี๋ยวเป็ดและเครื่องดื่ม เบ๊โอชาปรับตัวตามยุคสมัยเรื่อยมา จนปัจจุบันมีเมนูกาแฟ น้ำชง น้ำปั่น มากถึง 60 เมนู และมีอาหารเช้าง่ายๆ ให้บริการในราคาย่อมเยาด้วยทั้งหมดนี้คือความตั้งใจที่จะทำให้ชุมชนดั้งเดิมได้สืบทอดภูมิปัญญาไว้ในแบบที่คนรุ่นใหม่ก็เข้าใจและเข้าถึง อยากให้การทำงานร่วมกันระหว่างร้านค้าดั้งเดิมและช่างฝีมือดั้งเดิม ได้ทำให้สินทรัพย์ดีๆ ในพื้นที่มีคนรู้จักมากขึ้น นักออกแบบเองก็ได้ใช้ความเชี่ยวชาญ ร้านค้าดั้งเดิมเองก็ได้มีไอเดียใหม่ๆ เกิดเป็นความเกื้อหนุนกันดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/rtusbangkok–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
‘สำรับบ้านครัว’: เปิดบ้านชุมชนมุสลิมเก่าแก่
‘สำรับบ้านครัว’: เปิดบ้านชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยของอร่อยและประวัติศาสตร์แขกจามไม่ไกลจากแหล่งรวมวัยรุ่นอย่างสยามสแควร์เป็นที่ตั้งของ ‘ชุมชนบ้านครัว’ ชุมชนมุสลิมเก่าแก่เชื้อสายแขกจามอายุกว่า 235 ปี ซึ่งพี่ติ๋ม – สุพิชฌาย์ วงศ์ยุติธรรม ประธานกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบ้านครัว และรองประธานอนุสตรีประจำมัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ ให้คำนิยามชุมชนที่เธออยู่มาตั้งแต่เกิดว่า “พวกเราคือชาวจามและเป็นนักสู้” หากย้อนประวัติศาสตร์กลับไปสมัยต้นรัตนโกสินทร์ บรรพบุรุษของชาวชุมชนบ้านครัวคือ ‘กองอาสาแขกจาม’ ที่ร่วมรบปกป้องดินแดนสยามในสงครามเก้าทัพ จึงได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 1 และเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งถิ่นฐานบริเวณเชิงสะพานเจริญผลมาจนถึงปัจจุบัน เวลาต่อมาชาวชุมชนบ้านครัวต้องลุกขึ้นต่อสู้อีกครั้ง เพื่อปกป้องบ้านของตนจากการถูกเวนคืนพื้นที่สร้างทางด่วนซึ่งยืดเยื้อยาวนานถึง 28 ปี และปัจจุบันพวกเขาก็กำลังต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ที่ค่อยๆ กลืนกินวิถีชีวิตดั้งเดิมให้สูญหาย จึงเกิดเป็นโครงการฟื้นฟูคุณค่าพัฒนาชุมชนที่ทางสถาบันอาศรมศิลป์ทำร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และต่อยอดมาสู่กิจกรรมเปิดบ้านต้อนรับผู้มาเยือนทุกศาสนาทุกความเชื่อที่สนใจศึกษาเรียนรู้อัตลักษณ์ของชาวชุมชนบ้านครัว สัมผัสเสน่ห์ชุมชนเก่าและเรื่องราวเล่าขานกิจกรรม ‘สำรับบ้านครัว’ ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม, สถาบันอาศรมศิลป์, อุทยานการเรียนรู้ TK Park, GalileOasis และชุมชนบ้านครัว โดยมีทั้งหมด 18 โปรแกรมที่นำเสนอทั้งนิทรรศการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม เวิร์กชอปทำอาหาร ทัวร์นำเที่ยว และสำรับอาหารพื้นถิ่นมุสลิมจาม ไฮไลต์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือกิจกรรม ‘เดินเที่ยว…ย้อนรอยตำนานผ้าไหมบ้านครัว’ ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า ยุคแรกเริ่มที่ ‘จิม ทอมป์สัน’ ก่อตั้งธุรกิจผ้าไหม ช่างทอผ้าในชุมชนบ้านครัวคือกำลังสำคัญที่ทำให้ผ้าไหมไทยมีชื่อเสียงโด่งดัง โดยพี่ติ๋มบอกเล่าว่า “ตอนพี่ติ๋มเป็นเด็กเดินไปตรงไหนก็จะได้ยินเสียงกี่กระตุกจากการทอผ้าไหม พายเรือผ่านจะเห็นโรงย้อมตากไหมหลากสีสัน เราเลยนำเรื่องราวนี้กลับมาเล่าใหม่อีกครั้ง พี่ติ๋มดีใจนะที่มีคนมาเดินทัวร์กับเรา แล้วเขากลับมาทำเวิร์กชอปอีก มีคนนึงมาสามวันเลยเขาบอกว่าอาหารอร่อย ผู้คนอบอุ่นน่ารัก เวลาพาเดินทัวร์เราใส่ชุดชาวจามนุ่งผ้าถุงคลุมฮิญาบ ร้องเพลงสนุกสนานเป็นกันเอง แล้วพอเขากลับมาอีกครั้ง เขาก็ใส่ผ้าปาเต๊ะมาให้เข้ากับเราด้วย” “เราต้อนรับทุกคนแบบเป็นธรรมชาติ เล่าประวัติศาสตร์ในสไตล์เรา พาไปกินอาหารและขนมที่ไม่เหมือนที่อื่น มีทั้งข้าวแขก แกงส้มเขมร บอบอสะแด๊ก ก๋วยเตี๋ยวแกง น้ำอินทผลัม” พี่ติ๋มบรรยายถึงเมนูบางส่วนที่จัดเสิร์ฟในช่วงเทศกาล โดยมีการนำเสนอ ‘สำรับบ้านครัว’ ทั้งบริเวณงานระดมทุนการกุศลประจำปีที่มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ เรือนแม่ทรัพย์ ร้านอาหารไทยมุสลิมในเรือนไม้เก่าอายุ 200 กว่าปี ร้านบังมินที่สืบทอดสะเต๊ะสูตรเด็ดกันมานับร้อยปี และร้านอื่นๆ อีกมากมายที่กระจายตัวอยู่ทั่วชุมชนอันรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอาหารแห่งนี้ ส่วนในแง่ของการพัฒนาชุมชน โปรแกรมสำรับบ้านครัวยังมี Youth Photo Exhibition ‘Signature of Bankrua’ ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ The Momentum ชวนเด็กๆ ในชุมชนมาจัดนิทรรศการภาพถ่าย และต่อยอดไปสู่การจัดวงเสวนาเรื่องเล่าหลังภาพถ่าย โดยพี่ติ๋มมองว่ากิจกรรมนี้ไม่ใช่แค่การปลูกฝังให้เยาวชนมีความรู้สึกผูกพันกับชุมชนเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ด้วยว่าเด็กมองภาพชุมชนของตัวเองยังไง ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างกระบวนการส่งต่อชุมชนให้กับคนรุ่นต่อไป เปิดประตูสู่พื้นที่ใหม่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกจากกิจกรรมหลักส่วนใหญ่ที่กระจายตัวอยู่รอบชุมชนบ้านครัวแล้ว ยังมีอีก 4 โปรแกรมที่ขยับขยายมาจัดบริเวณ GalileOasis ครีเอทีฟสเปซเพื่อนบ้านของชุมชน ได้แก่ ตลาดแห่งศรัทธา, เวิร์กชอปสอนเขียนอักษรอารบิก, มุสลิม มุ-สลิม YOGA คลาสโยคะสำหรับคนในชุมชน และนิทรรศการศิลปะ กาล(ะ) | สถาน(ะ) ซึ่งนับเป็นการเชื่อมประสานพื้นที่ทำกิจกรรมที่เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ากับการวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยดา – ณัฐพร ธนะไพรินทร์ ผู้ดูแลกิจกรรมประจำ GalileOasis บอกเล่าถึงการทำโปรเจกต์ร่วมกับชุมชนบ้านครัวว่า “เราอยากให้คนในชุมชนรู้สึกว่าเขาสามารถมาใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ ก่อนหน้านี้เราก็เคยชวนร้านในชุมชนมาขายของในโครงการ แนะนำลูกค้าที่เช่าสถานที่ให้ใช้บริการของว่างจากชุมชน และในดีไซน์วีคเราก็มีตลาดแห่งศรัทธา ซึ่งปกติกาลิเลโอจัดตลาดทุกเดือนอยู่แล้วโดยเปลี่ยนธีมไปไม่ซ้ำกัน เดือนที่มีเทศกาลดีไซน์วีคเราเลยจัดธีม ‘ตลาดแห่งศรัทธา’ เพราะเรามองว่าคนส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านครัวเป็นมุสลิม แต่ละแวกโดยรอบก็มีผู้คนหลายความเชื่อหลายศาสนา เลยลองทำเป็นตลาดที่รวบรวมสินค้าสายมูทุกความเชื่อ และเชิญร้านขนมของพี่ๆ ในชุมชนบ้านครัวเข้าร่วมมาด้วย” “หรืออย่างกิจกรรม มุสลิม มุ-สลิม YOGA เราก็ต้องการเน้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจริงๆ ที่มัสยิดเขามีการออกกำลังกายอย่างโยคะ แอโรบิกกันอยู่แล้ว แต่กลุ่มพี่ๆ ที่มาเข้าร่วมจะค่อนข้างใหม่กับการเล่นโยคะและปกติไม่ค่อยออกกำลังกาย เราเลยอยากชวนเขามายืดเส้นยืดสาย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการออกกำลังกายโดยไม่ขัดต่อหลักศาสนา แล้วเราก็มีเสื่อโยคะให้เขานำกลับไปฝึกต่อที่บ้านด้วย” “ส่วนเวิร์กชอปเขียนอักษรอารบิกจะสอนโดยพี่ป่องจากชุมชนบ้านครัว ซึ่งในมุมนึงวิทยากรเขาก็ได้มาสัมผัสมุมมองใหม่ๆ จากวัยรุ่น ส่วนคนที่มาเรียนก็ได้รู้จักภาษาใหม่ที่ไม่คุ้นเคยและได้ฝึกสมาธิ เพราะพี่ป่องเขาจะสอนตัดสติกเกอร์ด้วย หรือถ้าเป็นคนที่เรียนดีไซน์มาก็สามารถนำสิ่งนี้ไปประยุกต์ใช้กับงานไทโปหรืองานออกแบบอื่นๆ ได้ สามารถมองให้เป็นงานศิลปะได้” ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/BankruaOfficial–Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape
รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : หัวลำโพง
รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : หัวลำโพง“วาดอนาคตย่านสร้างสรรค์รอบสถานีรถไฟใจกลางเมือง จากเรื่องราวในอดีตที่ไม่เคยถูกบันทึก”ใครหลายคนมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เวลา 24 ชั่วโมงในสถานีรถไฟหมุนเร็วกว่าโลกภายนอกมากนักจากบรรยากาศที่พลุกพล่านขวักไขว่ไปด้วยทั้งบรรดานักเดินทางหน้าใหม่ พ่อค้ามือฉมังที่เข้ามาติดต่อธุรกิจใจกลางกรุง ชาวต่างจังหวัดที่เข้ามาตามหาความฝัน และชาวเมืองหลวงที่ต้องลาจากบ้านเกิดไปเรียนหรือทำงานที่อื่น แน่นอนว่า ‘หัวลำโพง’ ก็ปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นอย่างดีมาตลอดกว่า 100 ปีที่ผ่านมาในฐานะ ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ หรือศูนย์กลางการสัญจรที่สำคัญประเทศไทยจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อย่านที่เคยเป็นกำลังสำคัญในการนำพาผู้คนมากมายให้เดินทางเชื่อมถึงกันได้จำเป็นต้องออกเดินทางกับเขาบ้างในวันที่บริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ตามมาหาคำตอบไปด้วยกันกับ ‘คุณมิว-ญาณิน ธัญกิจจานุกิจ’ และ ‘คุณจับอิก-ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์’ สมาชิกกลุ่ม ริทัศน์บางกอก (ReThink Urban Spaces หรือ RTUS) ในฐานะ Co-host ผู้ร่วมจัดงาน Bangkok Design Week 2024 ย่านหัวลำโพงการเดินทางครั้งใหม่ของ ‘อดีตศูนย์กลางการเดินทาง’‘หัวลำโพง’ และซอยพระยาสิงหเสนี คือย่านที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในยุคที่สถานีรถไฟกรุงเทพยังคงเปิดทำการ คุณมิวอธิบายว่าที่นี่เคยเป็นทั้งที่หลับนอนและแหล่งพักท้องของคนเดินทางไกล ซึ่งอัดแน่นไปด้วยลูกค้ามากหน้าหลายตาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาใช้บริการตลอดทั้งวันทั้งคืน“เช่นแบบว่า ถ้านักเดินทางนั่งรถไฟไกลๆ มาจากทางใต้ คนใต้ก็จะบอกกันปากต่อปากว่าในซอยนี้มีร้านอาหารฮาลาลเจ้าอร่อยอยู่นะ หรือว่าในยุคก่อนก็จะมีโรงแรมดังๆ ที่เวลาคนเดินทางไกลมาถึงก็จะมาพักก่อนไปทำธุระในย่านอื่นๆ ในโรงแรมก็จะมีร้านอาหารดังๆ อยู่ข้างใต้ เช่น ข้าวหมูแดงไอเตี้ยไอสูง คนแถวนั้นเขาก็จะเรียกกัน ซึ่งปัจจุบันมันก็หายไปพร้อมกับการตัดทางด่วนและการย้ายสถานีแล้ว” คุณมิวและคุณจับอิกอธิบายต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของหัวลำโพงมีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน หนึ่ง คือการขยายตัวของเมืองที่ส่งผลต่อทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมือง รวมถึงเปลี่ยนผู้ใช้งานหน้าเก่าให้ห่างหาย และ สอง คือสถานการณ์โควิด-19 ที่เหมือนเลือกจังหวะในการเข้ามาซ้ำเติมได้ถูกเวลาซะเหลือเกิน“หัวลำโพงเจอการเปลี่ยนแปลงมาหลายอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนึงคือเจอทางด่วนผ่ากลางชุมชน คือตรงกลางชุมชนก็หายไปเลย กลายเป็นลานปูนใต้ทางด่วน มันก็เกิดผลกระทบครั้งใหญ่ไปรอบหนึ่ง แล้วพอมาเจอโควิด หัวลำโพงก็โดนผลกระทบอีก และมันก็ทำให้ซบเซาลงไปเรื่อยๆเพราะช่วงโควิดที่ผ่านมามันเงียบมาก ยิ่งมาเจอเรื่องย้ายสถานีอีก ร้านค้าก็หาย เขาก็ย้ายรถไฟจำนวนมากไปไว้ที่บางซื่อ พนักงานก็หาย นักเดินทางก็หาย ส่งผลกระทบต่อพื้นที่นี้อย่างมาก เพราะที่หายไปคือคน 2 กลุ่มหลักๆ ที่หล่อเลี้ยงย่านนี้เราเห็นกับตาเลยอย่างช่วงที่ผ่านมามีร้านอาหารฮาลาลร้านหนึ่งถูกปิดตัวไป เพราะรถไฟสายใต้ไม่มาแล้ว จาก 50 กว่าคนต่อวัน เหลือแค่ 5 คน เลยทำให้เขาอยู่ไม่ได้ แล้วต้องปิดตัวลงกลับไปอยู่ต่างจังหวัด พอเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ร้านที่ยังอยู่ก็อยู่ได้แหละ แต่รายได้ก็หายไปมาก” ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่ส่งผลต่อย่านนับครั้งไม่ถ้วน คุณมิวและคุณจับอิกไม่ได้มองว่าเรื่องนั้นเป็นจุดจบ แต่คือการเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่ของย่านหัวลำโพงต้นทุนอันล้ำค่า มาจาก ‘เรื่องราวที่ไม่เคยถูกจดบันทึก’เมื่อลองปรับมุมมองเพียงไม่มาก ด้วยการเปลี่ยนจุดศูนย์กลางของเรื่องเล่ากลับมาสู่สิ่งที่เป็นหัวลำโพงจริงๆ เมื่อสถานีรถไฟย้ายออกไป สิ่งที่พวกเขาได้ค้นพบคือต้นทุนทางสถานที่ตั้งและเรื่องราวมากมายที่ไม่เคยถูกใครจดบันทึก และแน่นอนว่าไม่มีใครเคยบอกเล่าออกไปยังโลกภายนอกเช่นกัน“ตัดเรื่องสถานีรถไฟเดิมออกไปแล้วลองมองแบบ science analysis ในแง่กายภาพคือโลเคชันมันดีมาก นอกจากมันจะอยู่ใกล้หัวลำโพง มันยังอยู่ติดกับ MRT ซึ่ง MRT นี้จะเป็นเหมือนตัวเชื่อมจากเมืองฝั่งจุฬาเป็นต้นไปเข้าไปยังพื้นที่เมืองเก่า เช่น ถ้าจะไปตลาดน้อย เจริญกรุง ก็จะสามารถต่อรถเข้าไปได้ ไปเยาวราชก็ได้ ในแง่ที่ตั้ง มันมีศักยภาพ นอกจากนี้เรายังพบว่าในชุมชนก็ยังมีเรื่องเล่าอื่นๆ อีกเยอะมาก มีคนในชุมชนที่ทำกระดุมจีน พับกระดาษไหว้เจ้า รับจ้างต่างๆ มีการทำโคมเต็งลั้ง มีอะไรอีกเยอะแยะที่มันเป็นเรื่องเล่า มีกิจการที่อยู่รอบๆ ทั้งงานเหล็ก งานคราฟต์ ที่เขาทำนำเข้าเหล็กมาจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นจุดที่ผู้รับเหมาจะมาติดต่อหาลายแปลกๆ นำไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ เราก็เลยได้รู้ว่า หัวลำโพงมันก็มีเรื่องเล่าอีกมากมายที่เราไม่จำเป็นต้องไปเชื่อมโยงกับสถานีรถไฟ และกลุ่มคนกลุ่มเดิมที่ย้ายออกไปแล้วก็ได้”คุณมิวและคุณจับอิกอธิบายว่าการค้นพบใหม่นี้มาพร้อมกับความท้าทายของการต่อสู้กับเวลา เพราะถึงแม้ว่าพวกเขาจะได้เจอเรื่องราวมากมาย แต่หลายเรื่องกำลังใกล้จะกลายเป็นเพียงความทรงจำ“จากที่คุยกันและรวมตัวเป็นเครือข่ายหัวลำโพง เราอยากรีบเก็บข้อมูลก่อนที่มันจะไม่ทันคนรุ่นนี้ เพราะหลายๆ เรื่องเวลาที่เขาเล่ามา มันมักจะจบด้วยคำว่าคนที่ทำสิ่งนี้ได้ไม่อยู่แล้ว เป็นต้น ก็คือเราไม่ทันรุ่นนั้นแล้ว หลายเรื่องมันกลายเป็นเหลืออยู่แค่ในความทรงจำของคนแก่ไปแล้ว ไม่มีการจดบันทึกไว้ด้วย เพราะในยุคก่อน ภาพเก่ามันหายากมากๆ เพราะคนในพื้นที่ก็ไม่ได้มีรายได้มาซื้อกล้องถ่ายภาพ แต่จากที่ไปคุยไปย้อนให้ทุกคนช่วยเล่า มันก็ยังเป็นสิ่งที่น่าเก็บเอาไว้เป็นทุนทางวัฒนธรรมของย่าน และสำหรับรุ่นที่เรายังทันอยู่ เราก็อยากรีบบันทึกเอาไว้และทำเป็นฐานข้อมูล”ฉายแสงให้คนในเห็นคุณค่าของตัวเองผ่านความคิดสร้างสรรค์เมื่อมองเห็นโอกาสในการนำเรื่องราวที่ไม่เคยถูกเล่ากลับมาปรับใช้ ก่อนจะเริ่มทำงานกับใครที่ไหนไกล สิ่งที่คุณมิวและคุณจับอิกมองว่าสำคัญที่สุดคือการฉายไฟให้คนในพื้นที่เริ่มมองเห็นคุณค่าของตัวเองและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่มี เมื่อมองเห็นคุณค่าแล้วจึงจะสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างบทสนทนาและโอกาสใหม่ๆ ในพื้นที่ได้“เหมือนตอนนี้ในพื้นที่ก็ขาด sense of belonging อะไรบางอย่างอยู่เหมือนกัน แต่พอได้เริ่มลงไปทำกิจกรรมที่เป็นเชิง placemaking หรือการลองพูดถึงเรื่องราวเก่าๆ มากขึ้น เราก็เริ่มเห็นบทสนทนาที่ว่า ทำไมเราจะเป็นเหมือนย่านเก่าแก่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ชุมชนเราก็มีความเก่าแก่เหมือนกัน เรามีต้นทุนวัฒนธรรมตั้งเยอะ แต่ทำไมพื้นที่ตรงนี้ไม่ถูกพูดถึงในเชิงวัฒนธรรมเลย เพราะส่วนใหญ่เวลาพูดถึงหัวลำโพงคนจะนึกถึงแต่ส่วนกลาง เราเลยหวังว่า อยาก keep energy แบบนี้ต่อไปให้ได้ ให้ในชุมชนมันมี sense of belonging อะไรบางอย่าง และอยากจะ push ให้ชุมชนไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ มันอาจจะเริ่มต้นจากคนแค่กลุ่มเดียว แต่เรารู้สึกว่ามันจะเป็น snowball effect ที่ช่วยบอกต่อและส่งต่อความรู้สึกแบบนี้ให้กระจายไปสู่คนที่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในชุมชน และหวังว่ามันน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะ 3 ปีนี้แหละ พอคนในชุมชนมองเห็น เราก็จะค่อยมาดูกันต่อว่าเราจะสามารถพูดถึงต้นทุนวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วเอาไปสื่อสารให้เป็นภาพจำให้กับคนนอกยังไงได้บ้าง ว่าหัวลำโพงไม่ได้มีแค่สถานีรถไฟ แต่มีทั้งผู้คนและต้นทุนทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่จะทำให้ย่านถูกพูดถึงใหม่ ว่าหัวลำโพงมันมีมากกว่านั้น”แน่นอนว่า Bangkok Design Week ในครั้งนี้ก็จะเป็นหนึ่งครั้งที่พวกเขาตั้งใจอยากทำให้คนในพื้นที่ได้มองเห็น value ของตนเองมากยิ่งขึ้น “เรามองว่าการจะอยากให้พื้นที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง เขาอาจจะต้องพึ่งพาคนกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้นตามรูปแบบการใช้งานพื้นที่ที่เปลี่ยนไป เลยอยากนำเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคิดความสร้างสรรค์ต่างๆ มาจับกับพื้นที่เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆ เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างคนเจนเก่า เจนใหม่ รวมถึงเด็กที่อาจจะยังไม่ได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดในพื้นที่ ให้ได้มาทำความรู้จักกัน เพื่อให้คนข้างในเข้มแข็งก่อนที่จะออกมาต่อยอดศักยภาพที่ตัวเองมี ให้พื้นที่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง”พร้อมเปิดบ้านแนะนำ ‘หัวลำโพง’ ที่คุณอาจไม่เคยรู้จักใน BKKDW 2024ในงาน Bangkok Design Week ปีนี้ พวกเขามาพร้อมกับธีมง่ายๆ อย่าง ‘การเปิดบ้าน’ เพราะนอกจากการเปิดบ้านจะเป็น Meaning ของการเปิดต้อนรับคนใหม่ๆ และโอกาสใหม่ๆ แล้ว ยังหมายถึงโอกาสแรกในการรวมชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวผ่านการเริ่มเปิดประตูบ้านออกมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนอีกด้วย “เราตั้งใจกันว่าจะมาเปิดบ้านครั้งแรกกัน หลังจากที่มันซบเซาลงไปในช่วงโควิด ดีไซน์วีคปีนี้ในย่านก็มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง เราเลยอยากถือโอกาสนี้ให้ต่างคนได้ต่างโชว์ของที่ตัวเองมี ไม่ว่าจะเป็น Hostel ใหม่ๆ ที่มาเปิด หรือคาเฟ่และสตูดิโอต่างๆ ที่เมื่อก่อนเขาอาจจะจัดดีไซน์วีคเองคนเดียวมาทุกปี แต่ปีนี้จะถือเป็นครั้งแรกที่ทุกคนร่วมกันเปิดบ้านออกมานำเสนอเรื่องราวในภาพใหม่ของความเป็นย่าน มาใส่หมวกย่านหัวลำโพงไปด้วยกัน”“พื้นที่จัดงานจะมีตั้งแต่ MRT ทางออก 3 ตรงข้ามฮ่องกงนูเดิ้ล เข้าไปในซอยพระยาสิงหเสนี ซึ่งซอยนี้จะติดอยู่กับทางด่วนข้างหัวลำโพง เป็นขอบเขตตรงนี้ยาวไปจนถึงใต้ทางด่วน ลอดใต้ทางด่วนไป ทะลุกับอีกฝั่งที่ชิดกับกำแพงที่มีรถไฟ ถนนรองเมือง ไปสุดตรงเส้นหน้าวัดดวงแข เป็นกรอบข้างๆ หัวลำโพง มองเข้าหัวลำโพง จะอยู่ฝั่งขวาคนที่เข้าร่วมก็จะมีตั้งแต่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ที่ทำงานในพื้นที่มา 40 กว่าปีแล้ว ซึ่งปกติทางมูลนิธิจะจัดงานทุกปีอยู่แล้ว แต่ปีนี้ก็ได้ย้ายช่วงเวลาจัดงานให้มาเป็นส่วนหนึ่งของ BKKDW จัดแสดงงานของ 4 ชุมชนที่เขาดูแล เป็นงานฝีมือ งานคราฟต์ในชุมชน โชว์ภาพถ่าย มีกิจกรรมให้เข้าร่วม ดำเนินการโดยกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มรองเมืองเรืองยิ้ม ที่เป็น active citizen ที่บ่มเพาะกันมานาน ซึ่งกลุ่มเด็กเยาวชนเหล่านี้ก็ลุกขึ้นมา take action และสื่อสารเรื่องราวของ 4 ชุมชน ซึ่ง 4 ชุมชนนี้ก็จะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปมีโปรเจกต์ Made in Hua Lamphong ที่เป็นการ Collaboration การทำงานของธุรกิจร้านค้าดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์ในย่านหัวลำโพง 6 ธุรกิจ ทำงานร่วมกับนักออกแบบ 5 สตูดิโอ เพื่อสื่อสารเรื่องราวของดีในย่าน และต่อยอดธุรกิจว่าชุมชนในหัวลำโพงก็มีดีในแบบของตัวเองกลุ่มอื่นๆ ก็จะเน้นไปที่การเปิดบ้านของผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น Play Space Cafe ซึ่งจะมีเครือข่ายชาวช่างภาพ นักถ่ายรูป มาจัดเดินเมือง ถ่ายรูป Nice Photo Walk, C house Hostel เปิดใหม่) ที่เอาโรงงานมุ้งเก่ามารีโนเวตใหม่ อยู่ใกล้ริมทางรถไฟ ที่จะจัดนิทรรศการ ปาจื่อ โหราศาสตร์ เชื่อมโยงกับโหราศาสตร์ น่ำเอี้ยง ที่เป็นต้นทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ตรอกหิน เล่าเกี่ยวกับเรื่องของธาตุในตัวคน และให้เดินในพื้นที่ตามหาพื้นที่ที่เสริมธาตุนั้นๆ โดยในงานก็จะมี Installation Art และ Interactive Art เพื่อกระจายคนเข้าไปในย่าน และเล่าเกี่ยวกับโหราศาสตร์ที่อยู่คู่กับชุมชนจีนนี้ด้วยตรงข้าม C house จะมีสตูดิโอของศิลปินชาวอเมริกันชื่อว่า Coby เขาเป็นคนทำงานเหล็ก ตอนแรกเขาอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเขามีครอบครัว แต่ไม่รู้ว่าติดใจอะไรในพื้นที่นี้ น่าจะเพราะมีงานเหล็กเยอะ เขาเลยมาเปิดสตูดิโอ เช่าบ้านและทำงานเหล็กอยู่ตรงนี้ โดยปกติถ้าเดินผ่านก็จะปิดบ้านทำงานอยู่ในบ้าน แต่ช่วง BKKDW เขาก็จะเปิดบ้านให้คนสามารถเข้าไปชมได้ ใต้บ้านคาเฟ่ ก็จะมีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปวาดรูปแคนวาส กิจกรรมเวิร์กช็อปพาเดิน EcoWalk ไปเก็บใบไม้ต่างๆ มาทำ Eco Printing และทำเครื่องหอม, มีผลงานของ Artist in Residency มาร่วมจัดแสดง มีศิลปินจากฟิลิปปินส์ รัสเซีย เป็นต้น มี Mami Papercraft และ ปิติ Studio ที่จะเปิดในช่วงมกราคม ก็จะใช้โอกาสจัดเวิร์กช็อปครั้งแรก แล้วแสดงงานรวมกัน 2 ศิลปินในตึกเดียวกัน และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายเลย สุดท้ายบริเวณใต้ทางด่วน ก็จะมีนิทรรศการของ ริทัศน์บางกอก ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงจัดกิจกรรม โดยที่เราต้องการเก็บข้อมูลในชุมชน โดยเอาศิลปิน 8 คนเข้ามาในพื้นที่ มาใช้พื้นที่ใต้ทางด่วน และให้เขาได้พูดคุย เก็บข้อมูลกับคนในชุมชนจริงๆ โดยจะให้ประเด็นที่แตกต่างออกไปสำหรับศิลปินแต่ละคน ไปในแนวงานที่เขาถนัด เช่น เรื่องความเชื่อ เรื่องตามหาประตูทางเข้าหินที่หายไปเพราะโดนทุบไปกับทางด่วน เป็นต้น”การเดินทางครั้งใหม่ของอดีตย่านแห่งการเดินทางจะเป็นอย่างไร ตามมาหาคำตอบไปด้วยกันได้ที่ Bangkok Design Week 2024 ย่านหัวลำโพงรู้จักกับ ‘ย่านหัวลำโพง’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่านMade in Hua Lamphongwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/70966 หัวลำโพง ไม่หิวลำพังwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71898 อรุณสวัสดิ์ หัวลำโพงwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/71729 Photo Frame Papercraft Workshopwww.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/92461 คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านหัวลำโพง ที่นี่ : www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=49826 –Bangkok Design Week 2024Livable Scapeคนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี27 Jan – 4 Feb 2024#BKKDW2024#BangkokDesignWeek#LivableScape