ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : อารีย์-ประดิพัทธ์

เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

รู้จักย่านสร้างสรรค์ ก่อนงาน BKKDW2024 : อารีย์-ประดิพัทธ์

ถักทอสายสัมพันธ์ ผ่านพื้นที่สร้างสรรค์ที่ทำให้คน-ธรรมชาติ-เมือง ได้อยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออารี


เมื่อพูดถึงย่าน ‘อารีย์-ประดิพัทธ์’ สิ่งแรกที่อาจ pop-up ขึ้นมาในหัวของใครหลายคนอาจเป็นภาพลักษณ์ของการเป็นย่านศูนย์รวมคาเฟ่สุดชิคที่อัดแน่นอยู่ทุกหัวมุมถนน ย่านออฟฟิศและที่พักอาศัยของกลุ่มหนุ่มสาววัยทำงาน รวมถึงร้านค้า ร้านอาหาร และกิจการสร้างสรรค์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบรับกับความต้องการอย่างไม่หยุดยั้ง


แต่เมื่อได้มาคุยกับ ‘คุณอรุณี อธิภาพงศ์’ ผู้ร่วมก่อตั้ง AriAround แพลตฟอร์มสร้างสรรค์แห่งย่านอารีย์ และ Co-Host ผู้ร่วมจัดงาน Bangkok Design Week ย่านอารีย์ เราก็พบว่าสำหรับคนในพื้นที่แล้ว อารีย์ยังมีเสน่ห์และอัตลักษณ์ในแง่มุมอื่นๆ อีกมากมายที่พวกเขาอยากจะนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นที่เกี่ยวพันกับการใช้พื้นที่ย่าน การเป็นศูนย์รวมหน่วยงานราชการสำคัญและถิ่นฐานของข้าราชการ ขุนนางและชนชั้นนำในอดีต สถาปัตยกรรมโบราณ ไปจนถึงการเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติในเมืองซึ่งทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัย


อารีย์แบบที่คนในย่านมุ่งสร้างสรรค์จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และสิ่งเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานในเทศกาล Bangkok Design Week อย่างไรบ้าง ชวนมาค้นหาคำตอบไปด้วยกันในบทความนี้


ย่านใจกลางเมือง ที่ ‘เพื่อนบ้าน’ มาสานสัมพันธ์กันผ่านพื้นที่สาธารณะ


สำหรับคุณอรุณี เสน่ห์ของ ‘อารีย์’ คือการเป็นย่านใจกลางเมืองที่ยังคงมีความเป็น neighborhood อยู่อย่างเต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัยเดิม เจ้าของกิจการหน้าใหม่ เครือข่ายเพื่อสังคม กลุ่ม expat หรือแม้แต่หน่วยงานราชการ


“โดยธรรมชาติคนในย่านจะรู้จักกัน มีความเป็น neighborhood สูงมากๆ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันเพื่อพัฒนาย่านก็จะมีหลายกลุ่ม เช่น เพื่อนบ้านอารีย์, People of Ari หรือแม้แต่ AriAround เอง เรามีการพบเจอกัน มี connection กัน เวลามีอะไรก็จะช่วยเหลือกันตลอด แบ่งแชร์กันว่าคิดว่าโปรเจกต์นี้เหมาะกับคนไหนก็แบ่งกันไป


ในอดีตแถวนี้ถือเป็นเมืองใหม่ ก็จะมีบ้านใหญ่ๆ ในสมัยจอมพล ป. อยู่เยอะ มีหมู่บ้านพิบูลที่เป็นหมู่บ้านจัดสรรแห่งที่สองของประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อประมาณ 80-90 ปีที่แล้ว มีบ้านใหญ่ๆ สูงๆ ของชนชั้นขุนนาง ราชการอยู่เยอะ จะเห็นได้จากซอยเล็กๆ แถวนี้ก็จะเป็นชื่อพวกคนสำคัญซะเยอะ


แล้วในย่านนี้จะมีศูนย์ราชการเยอะ ไม่ว่าจะเป็นกรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงการคลัง การคลังทั้งหลาย พวกราชการแผ่นดิน กรมธนารักษ์ แล้วก็ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ หรือกรมที่เพิ่งออกใหม่เกี่ยวกับ Climate Change สรรพากรก็อยู่แถวนี้ 


คนทั่วไปส่วนใหญ่จะมาเจอกันตามสวนสาธารณะ ซึ่งในอารีย์เรามีพื้นที่ทางธรรมชาติอยู่เยอะ กรมประชาสัมพันธ์ก็แบ่งพื้นที่ให้เขตพญาไทใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ ให้เขตพญาไทดูแลพื้นที่ตรงนี้ คนก็ออกมาออกกำลังกายเยอะ เป็นสวนที่คนเดินรอบสวนได้ ทั้งเดิน ทั้งวิ่ง มีสนามเทนนิส มีเตะบอล มีคนที่มาเป็นประจำจนจำกันได้ คนที่เก่งเทนนิสก็จะสอนกันไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร ใครเข้าไปก็จะสอนให้ คนที่ไปก็เลยจะรู้จักกัน มีความถ้อยทีถ้อยอาศัย เราเข้าไปชวนคุย มีทั้ง family หรือ expat ที่มาทำงานชั่วคราวก็อยู่ที่นี่กัน”


สมดุลของการเติบโต VS ตัวตน


ภายใต้การเติบโตและขยายตัวของอารีย์ นอกจากความคึกคักครึกครื้นที่มาพร้อมการเปิดตัวของกิจการใหม่ๆ มากมายแล้ว สิ่งที่โตขึ้นตามก็คือค่าครองชีพภายในย่านที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนเก่าแก่ในย่านหลายคนจึงค่อนข้างจะเป็นกังวลกับการเข้ามาของคนกลุ่มใหม่ๆ เพราะกลัวว่าตัวตนของความเป็นอารีย์ที่พวกเขาคุ้นเคยมานานจะจางหายไปตามกาลเวลา (และราคาที่ดิน)


“พวกเขาจะมีความแบบ เอ๊ะ คนใหม่เข้ามาจะมาทำอะไร จะมาสร้างสิ่งใหม่ไหม คนที่อยู่เดิมจะมีความรู้สึกกลัวของเดิมมันหาย กลัวค่าเช่ามันแพงขึ้น แล้วร้านเดิมๆ ที่เคยกินมันก็จะหายไป


เอาจริงๆ ก่อนที่มันจะบูมแบบทุกวันนี้ พื้นที่นี้มีความเป็นย่านของ Creative People มานานแล้ว คือตั้งแต่ปี 90 ในตอนนั้นก็จะมีกลุ่มคนที่ทำงานสร้างสรรค์ พวกศิลปินดีไซเนอร์มาอยู่เยอะ เพราะสมัยนั้นที่นี่ค่าที่มันยังถูกอยู่และอยู่ใกล้เมือง ทั้งพี่โน้ต Dude Sweet หรือ DuckUnit ก็มีออฟฟิศก็อยู่แถวนี้ เขาก็จะมีความรู้สึกว่า เออ มันถูกดี แต่พอไปๆ มาๆ ร้านที่เขาเคยกินประจำมันก็อยู่ไม่ได้ ค่าเช่ามันก็ค่อยๆ แพงขึ้น เขาก็รู้สึกเดือดร้อน” 


พัฒนาพื้นที่การใช้ชีวิต ผ่านสายตาชาวอารีย์ที่อยู่อาศัยจริง


เพื่อให้การเติบโตของย่านเป็นไปในแนวทางที่ไม่ทำร้ายคนในพื้นที่ แต่สนับสนุนวิถีชีวิตเดิมที่มีอยู่แล้ว สิ่งที่ Ari Around และเครือข่ายตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นในย่านจึงเน้นไปที่การทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในพื้นที่ในการใช้ชีวิตหลักของย่านอย่าง ‘สวนสาธารณะกรมประชาสัมพันธ์’ 


“ประเด็นคือเราต้องการให้มีการทำงานกับพื้นที่ข้างในที่คนอารีย์ใช้งานอยู่จริงๆ ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด เพราะอย่าง Bangkok Design Week ปีก่อนๆ งานก็จะค่อนข้างเน้นการกระจายไปตามคาเฟ่ แต่สุดท้ายแล้วเอาจริงๆ คนที่อยู่ในย่านไปนั่งตามคาเฟ่น้อยมาก คือเขาก็จะมีพื้นที่ใช้ชีวิตของเขาอยู่ในสวน คนสูงอายุก็จะวิ่งรอบตรงนั้นเป็นปกติ


ซึ่งธีมหลักๆ ของเมืองน่าอยู่ที่เรามองเห็นคือ เราอยากให้คนทั้งหมดทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่หลากหลายช่วงวัย มองเห็นความเป็นไปได้ในการใช้พื้นที่สาธารณะที่มีอยู่แล้วในย่านอารีย์มากขึ้น ผ่านการเติมความคิดสร้างสรรค์เข้าไป เช่น อยากให้มองว่าสวนเป็นได้มากกว่าแค่พื้นที่วิ่งออกกำลังกาย ได้เห็นโพเทนเชียลของการใช้พื้นที่ในรูปแบบอื่น เพราะว่าปกติเขาจะแค่วิ่ง แต่มันจะมีพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้เช่นตรงกลาง เขาจะวิ่งแค่รอบๆ สวน แต่ตรงกลางที่เป็นสวนเป็นต้นไม้ที่มันสามารถนั่งได้ เขาจะไม่ค่อยเข้าไปใช้กัน แล้วถ้าเกิดมันมีการใช้พื้นที่มากขึ้น มันก็จะมี attention ไปตรงส่วนนี้มากขึ้น เพราะเขายังไม่เห็นความเป็นไปได้ เราก็เลยจะพยายามดึงความเป็นไปได้มาแสดงให้คนเห็น เพื่อกระตุ้นให้เขาได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นว่าตรงนี้มันควรจะพัฒนาไปเป็นอะไร”


เปลี่ยนสวนสาธารณะให้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของทุกคน


สำหรับงาน Bangkok Design Week ปีนี้ คุณอรุณีอธิบายว่าคอนเซปต์ของเทศกาลฯ ในปีนี้คือการเปิดสวนสาธารณะกรมประชาสัมพันธ์ให้กลายเป็น ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของทุกคน’ 


“เราอยากให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่คนในย่านสามารถฝึกฝนตัวเอง explore ตัวเอง และ express ตัวเองได้ ไม่ว่าจะผ่านเครื่องมือไหนๆ เช่น จะมาแสดงงานศิลปะ หรือจะมาโชว์ผลงาน มาขายของ มาจัดนิทรรศการ คือมันเป็นไปได้ไปหมดเลย


แล้วด้วยความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เราก็จะมีการจัดให้สถานที่เป็นแบบ shrine เหมือนเป็นศาลเจ้าเลย แล้วก็เอาพลาสติกรีไซเคิล ที่เราร่วมกับกลุ่ม Less Plastic Thailand เอาพลาสติกรีไซเคิลมาทำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นรูปแบบไหน แต่ก็คือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือมันก็จะรีเลตกับคอนเซปต์ที่เราทำ คือให้คนนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าไอ้ตัวพลาสติกเนี่ยมันก็ไม่ได้เป็นผู้ร้ายเสมอไปถ้าเราจัดการมันได้อย่างถูกวิธี


กิจกรรมอื่นๆ ในย่านก็ยังมีเยอะเหมือนเดิม ปีก่อนก็จะมี kid space เพราะตรงนั้นเป็นสนามเด็กเล่นด้วย ก็จะมีกิจกรรมให้เด็กมาเล่น หรืออย่างคุณตั้มร้านสุขใจ ปีก่อนเขาก็มีการให้ไปเก็บพืชในย่านให้มาทำข้าวยำด้วยกัน ปีนี้เขาอยากชวนคนทำปิกนิก อาจจะมีดนตรี แล้วก็มี cacao ceremony ก็จะมาทำกิจกรรมในพื้นที่เหมือนกัน แล้วก็มีการคุยกันว่าอาจจะทำ tea ceremony ก็จะเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ แบบ sacred space อาจจะเอาพืชที่เก็บในย่านนี่แหละมาทำ tea ceremony ทำให้ดูเป็นเรื่องเป็นราว ในย่านก็มีคนปลูกกระท่อม อาจจะเอามาทำอะไรให้คนคอนเน็กต์กับธรรมชาติ


หรืออย่าง Ari Ecowalk เนี่ยเขาก็มีจัดทุกเดือนอยู่แล้ว แต่ว่าในงานดีไซน์วีค เขาก็อยากทำอะไรที่พิเศษขึ้น คืออยากชวนคนมาเดินสำรวจธรรมชาติในย่านแล้วเอาไปออกแบบเป็นมาสคอตย่านมาประกวดกันต่อไป ซึ่งอันนี้คอนเน็กต์กับ Thinkster ซึ่งออฟฟิศก็อยู่ในย่านเราด้วย”


ไม่เพียงแต่สานสัมพันธ์เฉพาะกับคนในย่านเท่านั้น ในงาน Bangkok Design Week ย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์ ยังมีกิจกรรมอย่าง ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ ทัวร์สุ่มแบบไม่มีไกด์ ที่จะพาคนไม่รู้จักให้กลายมาเป็นเพื่อนกัน ผ่านการเดินสำรวจย่าน ตอกย้ำความเป็นพื้นที่แห่งการผูกมิตรในแบบฉบับอารีย์


พื้นที่สีเขียวในย่านอารีย์จะกลายเป็นอะไรได้อีกบ้าง อย่าลืมตามมาหาคำตอบด้วยกันได้ที่ Bangkok Design Week 2024 ย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์!


รู้จักกับ ‘ย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์’ มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมแนะนำประจำย่าน

Ari Shrine On

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/84480 


ARI ECOWALK – ส่องย่าน สร้างตัวแทนธรรมชาติ

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/85241 


เมืองเล่นได้

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/87412 


Ari Picnic

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program/85246 


คลิกเพื่อดูโปรแกรมทั้งหมดของย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์ ที่นี่:

www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2024/program?nbh=282 


Bangkok Design Week 2024

Livable Scape

คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี

27 Jan – 4 Feb 2024


#BKKDW2024

#BangkokDesignWeek

#LivableScape

แชร์