ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลกทำให้เราต้องค้นหาไอเดีย สร้างโอกาสและทางรอด รวมถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อรับมือและดำเนินชีวิตได้ตามความปกติ (ใหม่)
หนึ่งในนั้นคือการค้นหาความเป็นไปได้ของ ’วัสดุ’ เครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดขยะและปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะด้วยการนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุดตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากในประเทศไทยมาพัฒนา รวมถึงการนำขยะเหลือใช้ในชีวิตประจำวันและจากอุตสาหกรรมมาสร้างเป็นวัสดุใหม่ที่รักษ์โลก ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างคุณภาพของสังคมและสุขภาพชีวิตที่ดี
ร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับนวัตกรรมวัสดุและเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนในหัวข้อ ‘Material Futures 2022 วัสดุเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน’ ผ่านทอล์กต่อไปนี้
1. Bioleather แผ่นหนังทดแทนจากข้าว ทางเลือกของหนังสัตว์ที่ได้จากการพัฒนาแผ่นเซลลูโลสชีวภาพทางการแพทย์และเส้นใยอาหารที่กินได้
วิทยากร: คุณสมบัติ รุ่งศิลป์ กรรมการ บริษัทไทยนาโนเซลลูโลส จำกัด
2. Biomaterials การสร้างสรรค์และต่อยอดขยะเศษอาหารจากชุมชนให้เป็นงานศิลปะ งานฝีมือ และงานออกแบบที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ร่วมกับองค์กร Materiom ของประเทศอังกฤษ
วิทยากร: คุณอัญญา เมืองโคตร ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์โครงการ Regen Districts
3. Green Rock วัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ นวัตกรรมใหม่จากวัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมสำหรับใช้ทดแทนหินบดหรือทรายธรรมชาติที่เป็นส่วนผสมของคอนกรีต ลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก
วิทยากร : ดร. พิทักษ์ เหล่ารัตนกุล หัวหน้าทีมวิจัยวิศวกรรมเซรามิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช.
4. Future Glass แก้วจากขี้เถ้าแกลบและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อีกหนึ่งทางเลือกทดแทนแก้วทำจากทราย
วิทยากร : คุณภัทรพล จันทร์คำ R&D และ Design Director, OUK Studio