ย่านสร้างสรรค์อารีย์-ประดิพัทธ์
เผยแพร่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
เปิดย่านสร้างสรรค์…พื้นที่จัดแสดงหลักของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563
ทำไม – ที่ไหน – อย่างไร กับ 4 ย่านสร้างสรรค์ใหม่ของกรุงเทพฯ
หากคุณคือคนเจเนอเรชันก่อน อารีย์-ประดิพัทธ์ อาจมีความหมายเทียบเท่าย่านที่อยู่อาศัยของเหล่าข้าราชการที่ใช้ชีวิตอยู่ใกล้สถานที่ทำการของรัฐ บ้างนึกถึงความเป็นย่านพักแรมของนักเดินทางต่างชาติด้วยทำเลที่อยู่ไม่ไกลนักจากดอนเมือง ขณะที่หลายคนย้อนถึงภาพอันรุ่งเรืองของย่านธุรกิจเก่าแก่และห้างร้านที่มีสินค้าครบครันไม่แพ้ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ในวันนี้
ปัจจุบันย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก การมาถึงของระบบสัญจรแบบรางอย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส ทำให้พื้นที่นี้ถูกเปลี่ยนผ่านทั้งในเชิงการใช้งานและปัญหาอันท้าทายของย่านที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งคอนโดมีระดับโรงแรมสมัยเก่าที่กลายเป็นโฮลเทลดีไซน์เก๋หรือบ้านพักอาศัยเงียบสงบกลายเป็นแหล่งรวมของบรรดานักออกแบบและสร้างสรรค์หลากหลายสาขาที่รวมตัวกันเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวเชิงบวกให้กับย่านที่กำลังมีสีสันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้ ส่วนหนึ่งของ “อารีย์-ประดิพัทธ์” จะกลายเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานสำคัญของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 ทุกปัญหากำลังถูกบอกเล่าและแก้ไขด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ โดยกลุ่มนักสร้างสรรค์ที่รวมตัวกันมาสร้างผลงานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และความเคลื่อนไหวที่จะคลี่คลายความเก่าและใหม่ในบรรยากาศย่านนี้ให้กับผู้มาเยือน
เปิดยุทธศาสตร์พื้นที่อารีย์-ประดิพัทธ์
- พื้นที่เชิงกายภาพ : อารีย์-ประดิพัทธ์เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันมีถนนพหลโยธินและถนนพระราม 6 เป็นถนนหลักที่วิ่งคู่ขนานผ่านทั้งสองพื้นที่ สัดส่วนของการใช้ประโยชน์ที่ดินมากกว่า 70% เป็นที่อยู่อาศัย รองลงมาเป็นสำนักงาน และพื้นที่ราชการ
- การเข้าถึง : ถนนพหลโยธินเป็นถนนสายสำคัญที่มีความสำคัญระดับเมืองเชื่อมต่อตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัย ยาวไปจนถึงเส้นรังสิต จึงเป็นเส้นทางสัญจรที่มีการผ่านไปมามาก และมีความเชื่อมต่อในระดับเมืองสูง สามารถเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอารีย์ และสถานีสะพานควายที่ช่วยกระจายคนให้มาสู่ย่าน
- อุตสาหกรรมฮอตในย่าน
1. อุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มร้านอาหารและคาเฟ่ 38%
2. อุตสาหกรรมสถาปัตยกรรม 15.20%
3. อุตสาหกรรมการแพทย์แผนไทย 11.20%
4. อุตสาหกรรมออกแบบ 8.00%
โจทย์ใหม่ของอารีย์-ประดิพัทธ์
ถ้าเราอยากให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราดี ก็ต้องเริ่มต้นจากยูนิตที่เล็กที่สุด นั่นก็คือ “ตัวเราเอง” ขณะที่การสร้าง “ย่าน” ให้สร้างสรรค์ก็เช่นกันที่ต้องประกอบไปด้วยความร่วมมือร่วมใจของ “คนทุกคน” ในย่าน โดยหากสำรวจและวิเคราะห์ว่าในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์มีอะไรที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนบ้าง นอกจากเรื่องความหลากหลายของผู้คนในแง่ของอาชีพและทักษะความสามารถแล้ว สิ่งที่ที่นี่ยังขาดก็คือ การสั่งสมความรู้และการรวมกลุ่มกันนั่นเอง
นอกจากนี้ความเป็นย่านร้านอาหาร คาเฟ่สุดฮิปสายกิน ดื่ม เที่ยว และการเป็นชุมทางของอร่อยแนวสตรีทฟู้ดที่ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางไปเยือนแบบไม่ขาดสาย ยังได้กระตุ้นให้เกิดความพยายามลดขยะอาหารและการใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือก ส่วนการเดินทางเข้าตรอกซอกซอยจำนวนมากก็ต้องอาศัยการบูรณาการรถสาธารณะที่ยังขาดการจัดระเบียบ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่รอการแก้ไขเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทั้งการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม
รู้จัก “หมู่บ้านนักออกแบบ” ใจกลางกรุงภายในซ. ประดิพัทธ์ 17 คือที่ตั้งของ “33 Space” กลุ่มอาคารหลากรูปแบบ ตั้งแต่ตึกสูงลดหลั่นลงมาเหลือเพียงสตูดิโอห้องกระจกสี่เหลี่ยมสีขาวโล่งกับที่รวมกลุ่มกันเหมือนหมู่บ้านย่อม ๆ ของคนทำงานสายออกแบบกว่า 57 สตูดิโอ ทั้งสถาปัตยกรรม กราฟิก สิ่งพิมพ์ เทคโนโลยีอย่าง Data Science IT หรือ Service Design รวมไปถึงกลุ่มผู้พัฒนาแอปพลิเคชันที่สำคัญพื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่พื้นที่เกิดขึ้นตามกระแส แต่ตั้งขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว เริ่มต้นจากกลุ่มสถาปนิกและเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสอาชีพสายออกแบบในแต่ละยุคสมัยที่นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สะท้อนให้เห็นภาพความหลากหลายของบุคลากรที่มีศักยภาพทั้งทักษะและการรวมกลุ่มกันทำงาน
โดยภายในเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2563 นี้ คุณจะได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียน “หมู่บ้านนักออกแบบ” แห่งนี้ เพื่อทำความรู้จักกับหลากหลายสตูดิโอที่จะเปิดบ้านต้อนรับผู้มาเยือน และร่วมกิจกรรมสนุกๆ สุดสร้างสรรค์อีกมากมายที่มีเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือการพัฒนาพื้นที่ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเหมาะที่จะเป็นพื้นที่ในการใช้ชีวิตของผู้คนในย่านอย่างแท้จริง
เปิดลิสต์กิจกรรมเด็ดย่านอารีย์-ประดิพัทธ์
เทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020) ได้คัดสรรให้ “อารีย์-ประดิพัทธ์” เป็นอีกหนึ่งพื้นที่หลักในการจัดแสดงผลงานที่น่าสนใจและหากคุณคือคนหนึ่งที่สนใจย่านนี้ อยากทำความรู้จัก หรือแม้แต่อยากมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมเนียน หรือไปอยู่เป็นชาวอารีย์-ประดิพัทธ์ในอนาคต กิจกรรมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การทำงาน การกิน และการเดินทาง น่าจะช่วยให้คุณตัดสินใจอะไรๆ ได้เร็วขึ้น และดียิ่งขึ้นเช่นกัน
1. ทำงานในย่าน (Work) :
พบกับกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลของนักสร้างสรรค์ในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ในรูปแบบแพลต์ฟอร์มออนไลน์ที่เรียกว่า “Tinker Potform” Index บอกข้อมูลและรายงานความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพื่อให้นักออกแบบในพื้นที่ได้รู้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และร่วมมือกันอย่างไรได้บ้าง
รวมถึงเพื่อสื่อสารให้คนภายนอกได้รู้จักนักออกแบบในพื้นที่อีกด้วยพร้อมกิจกรรม “เปิดหม้อ” (Open Pot) ที่จะพาไปแวะเวียนทำความรู้จักสตูดิโอต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด
2. กินอยู่ในย่าน (Food) :
ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์เป็นย่านที่ขึ้นชื่อเรื่องคาเฟ่และร้านอาหารที่มีมากกว่า 300 ร้านค้า รวมถึงร้านสตรีทฟู้ดจำนวนมาก ดังนั้นนอกจากภารกิจตามรอยไป “ชิม” แล้ว
เราอยากชวนคุณมาร่วมตั้งเป้าหมายช่วยให้อารีย์-ประดิพัทธ์เป็น Zero Waste District กับโปรเจ็กต์ “Eats Meet Waste” ที่จะออกแบบวิธีการและเครื่องมือสื่อสารเพื่อลดปริมาณขยะจากร้านค้า รวมไปถึงการนำขยะที่มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ (Design on Waste) ร่วมกับกลุ่มนักออกแบบในย่าน
3. เดินทางในย่าน (Commute) :
หยุดภาพความวุ่นวายในการเดินลัดเลาะเซาะขอบทางในซอยอารีย์ หรือการวนหาที่จอดรถที่หายากยิ่งสิ่งใด กับโปรเจ็กต์สนุกๆ ที่จะจำลองภาพการเคลื่อนที่ของระบบขนส่งสาธารณะประเภทต่าง ๆ ทั้งวินมอเตอร์ไซค์ ตุ๊กตุ๊ก และรถสองแถว บริเวณปากซอยอารีย์ 1 และทดลองเดินทางในย่านด้วยยานพาหนะทางเลือกอย่างสกูตเตอร์ที่เหมาะอย่างยิ่งกับการ Café Hopping ในระยะสั้นๆ ตลอดทั่วทั้งย่าน
เพราะเมืองเป็นเรื่องของเราทุกคนมาจุดประกายไอเดียการพัฒนาพื้นที่ชุมชนที่แม้จะไม่ใช่ย่านประจำถิ่นของเรา แต่ก็สามารถช่วยจุดประกายให้เรานำกลับไปประยุกต์ใช้กับ “แถวบ้าน” เราได้บ้างไม่มากก็น้อย…พบกันที่อารีย์-ประดิพัทธ์ 1-9 กุมภาพันธ์นี้
#CreativeDistrictofBKKDW #BangkokCityOfDesign
#BKKDW2020