The Shophouse 1527 x Labyrinth Cafe แล็บลิ้นคาเฟ่
เผยแพร่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
แวะเที่ยว New Kid on the (Old) Block
The Shophouse 1527 x Labyrinth Cafe แล็บลิ้นคาเฟ่
อาร์ตสเปซแห่งใหม่ใจกลางสามย่าน
ใครจะคิดว่าตึกแถวร้างที่ซ่อนตัวอยู่ในจุดอับสายตาบนถนนพระรามสี่ จะกลับมามีชีวิตอีกครั้งในฐานะ “อาร์ตสเปซ” แห่งใหม่ในสามย่าน ที่ชื่อ The Shophouse 1527 โดยการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ในสามย่านมาเป็นต้นทุนการสร้างสรรค์โปรเจ็กต์สุดเท่ที่มีเรื่องราวรอการค้นพบมากมายขนาดนี้…
“นโยบายที่เราได้ยินมาคือเขาอยากเปลี่ยนสามย่านให้เป็นย่านการศึกษา ซึ่งระหว่างที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะกลายไปเป็นอะไร แต่ตึกแถวที่เหลืออยู่นี้อาจเป็นโซนสุดท้ายที่จะโดนทุบในอีก 2 ปี ด้วยระยะเวลาที่ก็ไม่กดดันเรามากเท่าไร เราเองก็พบว่ามันเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ เลยชวนเพื่อน ๆ กลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบที่รู้จักและสนใจในเรื่องเดียวกันมาดูห้องเช่าที่ว่างอยู่ แล้วทุกคนก็ตัดสินใจเช่าตึกพร้อม ๆ กันเพื่อสร้างโปรแกรมกันคนละแบบ เราเช่าตึกแถวหมายเลขที่ 1527 ให้เป็น The Shophouse 1527 เป็นพื้นที่ทดลองชั่วคราว นำเสนอนิทรรศการเชิงประสบการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องย่าน ที่มีทั้งผู้คน พื้นที่ และสังคมอยู่รวมกัน และด้วยความที่ตึกอยู่ในสามย่าน เราจึงดึงคอนเทนต์ของสามย่านที่เกิดจากการเล่าและเก็บข้อมูลของคนในพื้นที่จริงๆ มาใช้ในการสร้างสรรค์นิทรรศการ” คุณโจ-ดลพร ชนะชัย ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Cloud-floor กล่าว
เรื่องราวใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม คือคอนเทนต์ที่เล่าได้ไม่รู้จบ
The Shophouse 1527 เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมเมื่อปีที่ผ่านมา ตึกหน้ากว้าง 4 ม. ลึก 14 ม. ถูกเปลี่ยนจากตึก 3 ชั้นเป็น 2 ชั้น ด้วยการทุบฝ้าเพดานเปิดพื้นที่ระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 แต่องค์ประกอบโดยรวมยังคงเสน่ห์ความดิบแบบตึกแถว เก่ารวมทั้งร่องรอยต่างๆ ในตึกไว้เหมือนเดิม “ในช่วงรื้อถอน เราก็พยายามเก็บรวบรวมข้อมูลของสามย่านให้มากที่สุด อย่างเช่นร่องรอยของผู้อยู่อาศัยเดิมตามจุดต่าง ๆ ของตึก ซึ่งปลุกเรื่องราวความทรงจำและวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยเกิดขึ้นในตึกมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นแรงบันดาลใจสู่นิทรรศการแรกในชื่อ “Resonance of Lives at 1527” เราเล่าเรื่องราววิถีชีวิตเดิมของผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ผ่านร่องรอยต่างๆ ของตึกแถวกับการเข้ามาของเรา ทั้งเรื่องการรีโนเวทและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ เป็นความโชคดีที่ที่นี่เป็นตึกที่มีเจ้าของมือเดียว อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่จนถึงรุ่นลูก เท่าที่ทราบ ครอบครัวเขาอยู่ที่นี่มานานกว่า 50 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่มีร่องรอยเยอะขนาดนี้”
นิทรรศการถัดมาเป็นนิทรรศการต่อเนื่องจากนิทรรศการแรก นำเสนอเรื่องราวและความเชื่อต่างๆ ของสามย่านผ่านความทรงจำของเจ้าของดั้งเดิมเช่นกัน เช่น ศาลเจ้า การแสดงงิ้ว ต้นไทรศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ โดยเล่าผ่านหนังสือพิมพ์ที่ผลิตขึ้นมาเอง และนำเสนอด้วยวิธีการเล่าที่แตกต่างกันไปตามเนื้อหา โดยมีทาง soi | ซอย มาช่วยออกแบบการนำเสนอเนื้อหาให้ เช่น เรื่องศาลเจ้าถูกเล่าผ่านการเสี่ยงเซียมซี เป็นต้น
“ส่วนตัวมองว่าสามย่านมีเรื่องเล่าได้เป็นร้อย ตอนแรกเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพื้นที่เลย แต่พอมาได้ยินและเห็นทุก ๆ อย่าง ก็คิดว่าน่าสนใจและน่านำมาเล่าต่อ สามย่านอาจเป็นหนึ่งในโมเดลที่ย่านอื่น ๆ สามารถนำไปเป็นต้นแบบได้ เช่น เป็นกลุ่มของชุมชนที่อยู่กันแบบมีพาณิชยกรรมด้านล่างของตึก ส่วนด้านบนเป็นที่พักอาศัย ย่านนี้ยังมีสถาปัตยกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและความเชื่ออยู่ในพื้นที่ โมเดลแบบนี้เกิดขึ้นในหลายย่านของกรุงเทพฯ เลยคิดว่าถ้าทำที่สามย่านเป็นตัวอย่างให้ดูว่ามันเล่าได้กี่แบบ ย่านอื่น ๆ ก็อาจนำโมเดลนี้ไปใช้ในย่านได้ บางลำภูก็อาจเล่าคล้าย ๆ กัน แต่วิธีการเลือกเนื้อหาอาจได้มาคนละแบบก็ได้ เคยคุยกันว่าสามย่านเป็นเรื่องราวของความปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นในทุกวัน มีความเป็นชีวิตประจำวันสูงมาก ถ้าไม่สังเกต จะไม่เห็นอะไรสักอย่าง แต่ถ้าสังเกตเห็น มันก็น่าสนใจมากทีเดียว”
สินทรัพย์ที่ดี จุดเด่นที่ทำให้สามย่านแตกต่างจากย่านอื่นๆ
ภาพจำของสามย่านที่หลายคนนึกถึงอาจเป็นแหล่งรวมศูนย์การค้าหรือร้านอาหารรสเด็ดมากมาย แต่คุณโจยังมองเห็นเสน่ห์อีกข้อหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม “สามย่านมีสินทรัพย์ที่ดี ทั้งในแง่ของผู้คนและพื้นที่ มีสเปซที่ซ่อนตัวอยู่ซึ่งเราต้องเข้าไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ก่อน มีวัฒนธรรมที่แสดงออกมาในแง่ของสถาปัตยกรรม เช่น ศาลเจ้า ถ้าไม่ได้ไปดู จะไม่รู้เลยว่ามี แต่ถ้าให้เล่าเรื่องราวสินทรัพย์ในย่านนี้ มันเล่าได้ไม่รู้จบ เป็นการผสมผสานของของเก่ากับของใหม่เข้าด้วยกันจริงๆ และด้วยความที่เป็นย่านที่อยู่ใกล้กับจุฬาฯ มันจึงเคลื่อนไหวด้วยพลังเด็กรุ่นใหม่เยอะกว่าในที่อื่น ๆ เคยได้ยินว่ามหาวิทยาลัยเป็นแกนนำสำคัญที่จะช่วยสั่งสมสินทรัพย์เชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ นี่จึงเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนได้อีกทางหนึ่ง”
Photo credit: facebook.com/theshophouse1527
เสิร์ฟเครื่องดื่มแกล้มด้วยเรื่องเล่าของชาวสามย่าน
ชั้นล่างของ The Shophouse 1527 ในวันนี้ คือ Labyrinth Cafe แล็บลิ้นคาเฟ่ คาเฟ่ที่มาพร้อมคอนเซปต์ slow bar และบาร์ขนาดยาวเสิร์ฟเครื่องดื่มรสชาติแสนพิเศษ ส่วนชั้น 2 เป็นแกลเลอรีที่จัดนิทรรศการหลักไปแล้ว 2 ครั้ง ทุกครั้งที่มีการจัดแสดงนิทรรศการ The Shophouse 1527 และร้านกาแฟจะทำงานร่วมกันเพื่อนำเสนอสเปเชียลดริงก์ที่เข้ากับนิทรรศการนั้น ๆ ให้แก่ผู้ร่วมงานด้วย “เราต้องหาพาร์ตเนอร์ที่ใช่และเข้ากับเราให้เจอ เขามองเหมือนเราว่าการดื่มกาแฟก็เป็นประสบการณ์การทดลองอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นกาแฟที่ขายคือจึงไม่ใช่แบบชงแล้วมาเสิร์ฟเลย แต่มีการพูดคุย และอะไรอื่นๆ เขาจึงเป็นเหมือนหนึ่งในนิทรรศการที่พูดได้และพูดเก่งของเรา (หัวเราะ) ทีมเขามีหลายคน มีสอนถ่ายภาพด้วย เข้าใจมุมของการทดลองและศิลปะอยู่แล้ว เราเลยรู้สึกว่าโชคดีที่เจอและเป็นพาร์ตเนอร์กัน”
ปัจจุบันผู้คนที่แวะเวียนไปเยี่ยมเยียน The Shophouse 1527 มีทั้งกลุ่มคนทำงานสายออกแบบ สายครีเอทีฟ ตลอดจนนักศึกษา “เราอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่การแสดงออกของศิลปะในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายกว่าคำว่า “อาร์ต” มันอาจเป็นการนำเสนอความสร้างสรรค์ในด้านใดก็ได้ เราอยากสร้างบรรยากาศของการสร้างสรรค์ให้ต่างไปจากเดิม เรายังเปิดกว้างกับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ ให้สามารถใช้พื้นที่ในการแสดงออกได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องเป็นคอนเทนต์ที่เหมาะกับพื้นที่ของเรา นี่จึงอาจเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ทดลองที่รอเด็กรุ่นใหม่ซึ่งอาจยังไม่มีกำลังในการลงทุนมากพอ ให้มาร่วมเติมเต็ม นำเสนอคอนเทนต์ของเขาออกมาในเชิงกายภาพให้มากขึ้นได้”
#SamyanCreativeDistrict #CreativeDistrictofBKKDW
#BKKDW2020