PATTANI DECODED 2024
Made in Pattani
Made in Pattani
งาน Pattani Decoded 2024 ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จัดทำโครงการ Made in Pattani ที่เชื้อเชิญ 10 ผู้ประกอบการร้านค้าเก่าแก่ในย่านมาทำงานร่วมกับนักสร้างสรรค์ทั้งในและนอกพื้นที่โดยใช้เครื่องมืองานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาต่อยอดบนพื้นฐานของทักษะดั้งเดิมและเอกลักษณ์ของพื้นที่
สำหรับ Key Visual ของ Made in Pattani พัฒนามาจากคาแรคเเตอร์อันเป็นมิตรแต่รอบรู้ในเกร็ดรายละเอียดประวัติศาสตร์เมืองอย่างลึกซึ้งของคุณอรรถพร อารีหทัยรัตน์ หรือที่รู้จักในชื่อครูมะ ครูเกษียณที่ผันตัวมาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์แห่งย่าน อา-รมย์-ดี ครูมะเป็นคนที่เกิดและเติบโตในย่านนี้มาตั้งแต่เด็ก รุ่มรวยด้วยมิตรทั้งในและนอกพื้นที่ ครูมะบอกเสมอว่าหน้าที่ของครูมะคือบอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองแห่งนี้แก่ผู้คนที่มาเที่ยวในย่าน
บริษัท ปัตตานีขนส่ง จำกัด เปิดดำเนินกิจการมามากกว่า 60 ปี ในอดีตเส้นทางเดินรถซึ่งเป็นที่จดจำของผู้คนคือเส้นทางระหว่างเมืองปัตตานี - นราธิวาส - สุไหงโกลก ด้วยรถบัสสีน้ำเงินแถบขาว กาลเวลาผันเปลี่ยนทำให้ผู้คนใช้บริการรถขนส่งสาธารณะลดลงไปมาก เป็นความท้าทายของระบบการขนส่งสาธารณะในทุกจังหวัดในประเทศไทย
เรื่องราวที่น่าสนใจของร้านขนมบ้านบุหงาคือความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและเป็นธุรกิจที่ทำอย่างต่อเนื่องมาถึงสี่ชั่วอายุคน บล็อกทำขนมเปียนาของทางร้านคือรูปแบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาจากความภาคภูมิใจของตระกูล รวมทั้งกระบวนการทำขนมที่รักษาขนบมาอย่างต่อเนื่อง
ร้านหนังสือชื่อโมฮัมหมัดอิดรีสอัฟคานเปิดหน้าวัดตานีมาร่วมร้อยปี เจ้าของรุ่นแรกเดินทางมาจากเมืองมัรดาน มาเสื่อผืนหมอนใบเหมือนคนจีนสมัยก่อน ปัจจุบันมี ฮารูน เบ็ญราฮีม ลูกหลานของชาวปากีสถานรุ่นที่ 4 ผู้สืบทอดร้านโมฮัมหมัดอิดรีสอัฟคานที่อยู่คู่ถนนปัตตานีภิรมย์มาเกือบหนึ่งร้อยปี
อรรถพร อารีหทัยรัตน์ หรือที่รู้จักในชื่อครูมะ ทำหน้าที่เป็นไกด์กิตติมศักดิ์แห่งย่าน อา-รมย์-ดี ครูมะเป็นคนที่เกิดและเติบโตในย่านนี้มาโดยตลอด “ผมเติบโตในย่านเมืองเก่าแห่งนี้ตั้งแต่เด็ก คบหากับเพื่อนทุกศาสนา และคลุกคลีกับผู้คนในย่านชุมชนจีนจนบ่อยครั้งเพื่อนๆให้ฉายาผมว่า มะ เตาะแป๊ะ ตอนนี้ผมทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานีแก่คนที่มาเที่ยวในย่าน ”
ชูโชติ เลิศลาภลักขณา ช่างซ่อมพระแห่งร้านหย่งชาง กิ้มซิ้น บอกเล่าถึงโชคชะตาชีวิตที่ถูกลิขิตไว้ให้ทำหน้ที่ซ่อมพระ “เราผูกพันกับพระมาตั้งแต่เด็ก เวลาที่เรารู้สึกว่าเราไม่เหลือใครแต่เราเหลือพระ บางทีสิ่งนี้เกิดจากความบังเอิญแต่เรากลับรู้สึกว่าเป็นพระท่านบันดาลให้”
กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบางปูอเมซิ่ง มีการบริหารจัดการรายได้ที่น่าสนใจ คือ เงินที่ได้มา จะแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกจะทำการให้แก่คนที่ขับเรือ ส่วนที่สองให้แก่เยาวชนที่ทำหน้าที่ดูแลนักท่องเที่ยว และส่วนสุดท้ายจะเข้าสู่กองกลางเพื่อนำไปพัฒนาชุมชน ซึ่งในโครงการก็จะประกอบไปด้วยการล่องเรือชมป่าชายเลน ชมความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศในชุมชน ซึ่งคนที่ทำหน้าที่ในการขับเรือนั้นก็เป็นชาวบ้านในชุมชนที่ก่อนหน้านี้พวกเขาประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน แต่เนื่องด้วยปัญหาต่างๆเช่น การจับสัตว์ทะเลได้น้อยลงเนื่องจากปัญหาความเค็มของน้ำลดลง ทำให้พวกเขามีรายได้ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัว ซึ่งเมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้นก็ทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม
กางเกงจีนป้าหนุ่ยเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2526 เริ่มต้นจากการเปิดร้านจัดของส่งขึ้นเรือประมงที่จอดลอยลำอยู่หลังบ้าน ของที่ส่งประกอบไปด้วยของสด ของชำต่างๆ เสื้อผ้าและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกางเกงจีนหรือกางเกงเลที่หลายคนอาจะคุ้นเคยมากกว่า ในช่วงเวลาที่จัดของส่งเรือป้าหนุ่ยก็ใช้เวลานี้เรียนรู้การตัดเย็บกางเกงจีน ฝีมือการตัดกางเกงของป้าหนุ่ยเป็นที่เลื่องลือไม่เพียงเฉพาะในหมู่ชาวประมงแต่ยังได้นิยมจากคนอีกหลายวงการ