ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

The Making of Urban Ally & Humans of Flower Market

เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

The Making of Urban Ally & Humans of Flower Market

ภารกิจของนักวิชาการที่ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ผ่านการพัฒนาย่านพระนครและปากคลองตลาด


คนกลุ่มหนึ่งที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ คืออาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่นำประสบการณ์และความรู้จากการทำวิจัย มาร่วมสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมพัฒนาย่าน ทั้งยังเป็นแกนหลักในการดึงนักศึกษารุ่นใหม่เข้ามาทำงานร่วมกับเทศกาลฯ บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จึงขอพาไปพูดคุยกับอาจารย์พี – ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ Urban Ally ผู้ดูแลโปรเจกต์ ‘มิตรบำรุงเมือง’ และอาจารย์หน่อง – ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ดูแลโปรเจกต์ ‘ปากคลอง Pop-Up | Bangkok Flower Market Festival 2023’ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องเมืองอย่างถึงแก่นมากยิ่งขึ้น


‘มิตรบำรุงเมือง’ กับ 25 กิจกรรมจัดเต็ม

‘มิตรบำรุงเมือง’ คือชื่อโปรเจกต์ของ Urban Ally (เออเบิ้น อัลไล) หรือศูนย์มิตรเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่สร้างสรรค์กิจกรรมหลักกว่า 25 กิจกรรมในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 โดยใช้ 3 พื้นที่หลักบริเวณถนนบำรุงเมืองและชุมชนข้างเคียง ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และหอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร ลานคนเมือง และประปาแม้นศรี รวมแล้วมีนักสร้างสรรค์และทีมงานเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองหลายสิบชีวิต 


ไฮไลต์ที่ใครๆ ต่างอยากไปเช็กอินคือการเปิดพื้นที่ ‘ประปาแม้นศรี’ ให้คนในย่านและนอกย่านได้ชื่นชมความคลาสสิกของสถาปัตยกรรมหอเก็บน้ำเก่าที่ถูกทิ้งร้างมากว่า 20 ปี ทั้งยังมีโครงการน่าสนใจอย่างศิลปินในถิ่นพำนัก (Creators in Residence) ที่เชิญศิลปินและนักออกแบบทั้งในและต่างประเทศ 8 กลุ่ม เข้ามาใช้ชีวิตคลุกคลีกับย่านพระนคร เพื่อสร้างผลงานศิลปะร่วมกับชุมชนในย่านเมืองเก่า และกิจกรรมอื่นๆ น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งดูแลภาพรวมโดยทีม Urban Ally 

 

‘ปากคลอง Pop-Up’ เทศกาลดอกไม้ที่ได้แรงบันดาลใจจากวิถีชุมชน

ส่วนอาจารย์หน่อง – ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ นำข้อมูลและประสบการณ์จากการลงพื้นที่สำรวจย่านปากคลองตลาดมาอย่างต่อเนื่อง มาเรียบเรียงใหม่เพื่อไฮไลต์ความน่าสนใจของตลาดดอกไม้ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยขึ้นมาเป็นย่านเฉพาะกิจ โดยเป้าหมายสำคัญคือการนำเสนออัตลักษณ์ของย่านให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการภาพถ่าย Pop-up จัดแสดงงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากดอกไม้ การนำเทคโนโลยี AR มาทำสื่อ Interactive สีสันสดใส นิทรรศการพับ จับ บัว ที่ทุกคนสามารถร่วมสนุกกับการทดลองพับกลีบบัว และหลังจากชมงานทั่วย่านจนเต็มอิ่มแล้วก็ยังซื้อดอกไม้สวยๆ กลับไปเป็นของตกแต่งบ้านได้ด้วย

 

จุดสมดุลระหว่างการรักษาอัตลักษณ์ของย่านเก่ากับการพัฒนาเมือง

นอกเหนือจากกิจกรรมสนุกๆ ที่จัดขึ้นเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาทำความรู้จักย่านเมืองเก่าแล้ว เรายังอยากรู้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองทั้งสองมีความคิดเห็นอย่างไรกับปรากฏการณ์ City Gentrification ซึ่งใช้อธิบายถึงการเปลี่ยนผ่านภายในย่านเก่าแก่ดั้งเดิม โดยการเข้ามาสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ จากกลุ่มคนที่มีทุนทรัพย์และความคิดสร้างสรรค์ที่เรียกกันว่า Creative Class ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก รวมถึงย่านพระนครของกรุงเทพฯ และเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ท้าทายของการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ให้สามารถรักษาสมดุลระหว่างการรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมของย่านเก่ากับการพัฒนาเมือง

 

“เราอยากให้มองว่าสิ่งนี้มีทั้งด้านดีและด้านลบ” อาจารย์พีตอบก่อนจะอธิบายต่อ “ด้านดีมันกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง Gentrification จะอยู่ในด้านดีก็ต่อเมื่อย่านยังมีความหลากหลายอยู่ ทั้งคนเก่าและคนใหม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ คนไม่ได้แห่แหนกันเข้ามาลงทุนและเปลี่ยนแปลงในเฉพาะบางย่านเยอะเกินไป ถ้าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คนใหม่ค่อยๆ ฝังตัวไปกับคนข้างเคียง ก็จะเกิดกระบวนการที่ทำให้มันผสมผสานกันได้อย่างลงตัวขึ้น แต่ถ้าเกิดการเปลี่ยนรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นเกินไปมีผลร้ายแน่นอน ในมุมมองของนักพัฒนาเมือง พีคิดว่าพระนครใหญ่พอที่จะกระจายผู้คนออกไป ความเปลี่ยนแปลงคงไม่ได้กระจุกตัวอยู่บนถนนเส้นใดเส้นหนึ่งแล้วทำให้อัตลักษณ์หายไปหมด และย่านนี้ปรับตัวง่าย เพราะคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวและเผชิญการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด”

 

อาจารย์หน่องเสนออีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันว่า “ข้อแรกคือคนข้างในต้องได้ประโยชน์ร่วมกับคนข้างนอก ไม่ว่าจะทางสังคม ความรู้สึก เศรษฐกิจ หรือทางกายภาพที่พื้นที่โดยรอบดูดีขึ้น คนในย่านควรจะรู้สึกพราวด์ได้ว่าเขาเป็นคนปากคลองตลาด เดี๋ยวนี้คนมองย่านเราเป็นย่านที่มีไดนามิกแล้วนะ ข้อสองคือยังไงการพัฒนาย่านก็ต้องมีคนข้างนอกเติมสิ่งใหม่ๆ เข้ามา และข้อสามเราควรทำให้ย่านมีคำว่า Sense of Place ที่ชัดเจน เคยมีชาวต่างชาติมาถึงปากคลองตลาดแล้ว แต่ถามแม่ค้าว่า Where is the flower market? เพราะเขาหาความเป็นตลาดดอกไม้ไม่เจอ เลยกลายเป็นโจทย์ว่าเราจะนำอัตลักษณ์ของย่านยังไงให้มีชีวิตชีวามากขึ้น ซึ่งเราก็ต้องดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยคิดว่าจะทำยังไงให้การมาปากคลองตลาดสนุกและสร้างแรงบันดาลใจ ปัจจัยเหล่านี้น่าจะช่วยทำให้การพัฒนาย่านยั่งยืนมากขึ้นในหลายๆ มิติ”

 

บทบาทของการเป็นอาจารย์กับการทำงานพัฒนาเมือง

เมื่อถามว่าบทบาทของการเป็นอาจารย์กับการทำงานพัฒนาเมืองส่งเสริมกันอย่างไรบ้าง อาจารย์หน่องตอบทันทีว่า “ช่วยมากเลยค่ะ ต้องขอบคุณคณะสถาปัตย์ ศิลปากร ที่เปิดกว้างมาก ให้อาจารย์เอา Live Project หรือโปรเจกต์ที่มีชีวิตเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ทำให้เราได้ทั้งความสดใหม่ทางความคิดและกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ การที่เราลงพื้นที่ในฐานะสถาบันการศึกษา เราไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรในปากคลองตลาด การติดต่อประสานงานก็จะเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา และสิ่งที่ย้ำมาตลอดคือเวลานักออกแบบทำงานเพื่อชุมชน เราไม่ได้เป็นเทวดานางฟ้า เราใช้ทักษะและประสบการณ์แบบเดียวกับที่ทำงานให้ลูกค้านั่นแหละ คือนำความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาแก้ปัญหา เป็นการบริหารวิชาชีพ

ที่เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและต่อคนอื่น เราเรียนด้านดีไซน์มาก็เลยพยายามฟื้นฟูย่านด้วยความรู้ที่มี ซึ่งจะสนุกมากเลยถ้าอนาคตมีคนที่มีความรู้หลากหลายสาขาวิชากระโดดเข้ามาช่วยกันพัฒนาพื้นที่ตรงนี้”

 

อาจารย์พีเสริมในประเด็นนี้ว่า “ในฐานะนักวิจัย เราใช้เทคนิคหรือเครื่องมือทางวิชาการในการวิเคราะห์ความเป็นไปของเมือง แต่อีกมุมหนึ่งเราก็เป็นคนชอบเดินสำรวจความเป็นไปในเมืองมากเหมือนกัน ทีนี้พอทำทั้งงานวิจัยและงานออกแบบชุมชนเมืองด้วย การออกมามีประสบการณ์ทำงานร่วมกับชุมชน การสร้างโปรแกรมกิจกรรมให้เมือง การสร้างเครือข่าย การค้นหาเส้นทาง สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ทำงานสร้างสรรค์ที่สามารถเชื่อมโยงกลับไปสู่การสอนและพัฒนามุมมองของเราด้วย หรือแม้กระทั่งการชวนนักศึกษามาทำงานร่วมกัน ก็เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ได้นำประสบการณ์จากการลงพื้นที่มาแมตช์กับองค์ความรู้ในตำรา ช่วยขยายขอบเขตการเรียนรู้ออกไปอีก”


แม้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ภารกิจพัฒนาเมืองของทั้งอาจารย์พีและอาจารย์หน่องยังดำเนินต่อไม่รอแล้วนะ รอติดตามได้เลยว่าในโปรเจกต์ต่อๆ ไป Urban Ally และ Humans of Flower Market จะมีอะไรสนุกๆ ให้พวกเราได้ตื่นเต้นกันบ้าง




Bangkok Design Week 2023

urban‘NICE’zation

เมือง-มิตร-ดี

4 – 12 FEB 2023


#BKKDW2023

#BangkokDesignWeek

#urbanNICEzation

แชร์